1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗
มิจฉัตตะ - สัมมัตตะ (ความเห็นผิด-ความเห็นถูก)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงมิจฉัตตะ (ความผิด) และ
สัมมัตตะ (ความถูก)
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น
ก็ มิจฉัตตะ เป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งใจผิด
นี้เรียกว่า มิจฉัตตะ
ก็ สัมมัตตะ เป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจชอบ นี้เรียกว่า สัมมัตตะ
.......................................................................................
2
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๖
มิจฉัตตะ ๘ อย่าง สัมมัตตะ ๘ อย่าง
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๘ๆ ที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้วมีอยู่แล พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้ พึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๘ๆ เป็นไฉน
มิจฉัตตะ ๘ อย่าง (ความเป็นสิ่งผิด)
๑. มิจฉาทิฏฐิ [เห็นผิด]
๒. มิจฉาสังกัปปะ [ดำริผิด]
๓. มิจฉาวาจา [วาจาผิด]
๔. มิจฉากัมมันตะ [การงานผิด]
๕. มิจฉาอาชีวะ [เลี้ยงชีวิตผิด]
๖. มิจฉาวายามะ [พยายามผิด]
๗. มิจฉาสติ [ระลึกผิด]
๘. มิจฉาสมาธิ [ตั้งจิตผิด]
สัมมัตตะ ๘ อย่าง
๑. สัมมาทิฏฐิ [เห็นชอบ]
๒. สัมมาสังกัปปะ [ดำริชอบ]
๓. สัมมาวาจา [วาจาชอบ]
๔. สัมมากัมมันตะ [การงานชอบ]
๕. สัมมาอาชีวะ [เลี้ยงชีวิตชอบ]
๖. สัมมาวายามะ [พยายามชอบ]
๗. สัมมาสติ [ระลึกชอบ]
๘. สัมมาสมาธิ [ตั้งจิตชอบ]
.......................................................................................
3
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๕
ธรรม ๑๐ อย่างที่ ควรกำหนดรู้ และ ๑๐ อย่างที่ควรละ
ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน
ได้แก่อายตนะ ๑๐ คือ
นัยน์ตา-รูป
หู-เสียง
จมูก-กลิ่น
ลิ้น-รส
กาย-โผฏฐัพพะ
ธรรม ๑๐ อย่างที่ควรละเป็นไฉน
ได้แก่มิจฉัตตะ* ๑๐ คือ ความเห็นผิดความดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด ความรู้ผิด ความพ้นผิดธรรม
* มิจฉัตตะ = ความผิด ความเป็นสิ่งผิด
.....................................................................................
4
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๑
เพราะความผิดจึงมีการพลาดจากสวรรค์ (มิจฉัตตสูตร)
เพราะอาศัยมิจฉัตตะ
จึงมีการพลาดจากสวรรค์ และมรรคผล
ไม่มีการบรรลุสวรรค์
และมรรคผล
เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล
บุคคล
-ผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด
-ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด
-ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด
-ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด
-ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด
-ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด
-ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด
-ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด
-ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด
เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์ และมรรคผล
.....................................................................................
5
โลกที่กำลังมัวเมา ก็ยังสนใจในธรรมของพระตถาคต
นี้เป็นของน่าอัศจรรย์สี่อย่าง
1.แม้ประชาชนทั้งหลาย พอใจ ยินดี บันเทิง อยู่ ในกามคุณ
ครั้นตถาคตแสดงธรรม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกามคุณ
ประชาชนเหล่านั้นก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง
2.แม้ประชาชนทั้งหลาย พอใจ ยินดี บันเทิง ในการถือตัว ครั้นตถาคตแสดงธรรมที่กำจัดการถือตัว
ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง
3.แม้ประชาชนทั้งหลาย พอใจ ยินดี วุ่นวาย ในความวุ่นวายไม่สงบ ครั้นตถาคตแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบ
ประชาชนเหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง
4.แม้ประชาชนทั้งหลาย ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา เป็นคนบอด ถูกความมืดครอบงำ ครั้นตถาคตแสดงธรรม ที่กำจัดอวิชชา
ประชาชน เหล่านั้น ก็ฟัง เงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟัง เพื่อให้เข้าใจทั่วถึง
คัดย่อจาก หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า 8-9
บาลี พหุธาตุกสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๑/๒๔๕. ตรัสแก่พระอานนท์ ที่เชตวัน
..................................................................................
6
อดีตชาติของพระพุทธเจ้า
เคยทรงบังเกิดเป็นมหาพรหม สักกะ ฯลฯ
ครั้งมีพระชาติเป็น โชติปาลมาณพ
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเจ้ามหาสุทัศน์
ครั้งมีพระชาติเป็น ปุโรหิตสอนการบูชายัญญ์
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเจ้ามฆเทวราช
ครั้งมีพระชาติเป็น มหาโควินทพราหมณ์
ครั้งมีพระชาติเป็นช่างทำรถ
ครั้งมีพระชาติเป็น อกิตติดาบส
ครั้งมีพระชาติเป็น พระจันทกุมาร
ครั้งมีพระชาติเป็น สังขพราหมณ์
ครั้งมี พระชาติเป็น เวลามพราหมณ์
ครั้งมีพระชาติเป็น พระเวสสันดร
ครั้งมีพระชาติเป็น มาตัวคชฎิล
ครั้งมีพระชาติเป็น จูฬโพธิ
ครั้งมีพระชาติเป็น เจ้าชายยุธัญชยะ
(ที่มา : หนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ )
...................................................................................
7
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๒
สังเวชนียสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้
๔ แห่งเป็นไฉน
คือ สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวช แห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า
๑) พระตถาคตประสูติ ณ ที่นี้
๒) พระตถาคตตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้
๓) พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้
๔) พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ* ณ ที่นี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล
* อรหันต์มี 2 ประเภท
1) อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ- ดับก่อนที่ปฏิจสายเกิดของวิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้น
2) สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ- ดับช้ากว่าอนุปทิเสา เพราะปล่อยให้วิญญาณ(ดวงใหม่) ไหลมาตามปฏิจจสายเกิด
....................................................................................
8
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๒
ไม่หวาดเสียว ไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่สะดุ้ง ด้วยถ้อยคำ (อารักขสูตร)
ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน
คือภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า
๑) จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒) จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓) จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔) จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา
ในกาลนั้นเธอย่อมไม่หวาดเสียวไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อมไม่ไป แม้เพราะเหตุแห่งถ้อยคำของสมณะ
....................................................................................
9
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๑
ธรรม ๔ ประการนี้ เธอย่อมไม่กลัวต่อความตาย (อัปปมาทสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ
๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
๑) จงละกายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละกายทุจริต และการเจริญกายสุจริตนั้น
๒) จงละวจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริต และการเจริญวจีสุจริตนั้น
๓) จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละมโนทุจริต และการเจริญมโนสุจริตนั้น
๔) จงละมิจฉาทิฐิ จงเจริญสัมมาทิฐิ และอย่าประมาทในการละมิจฉาทิฐิ และการเจริญสัมมาทิฐินั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อมไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า
..................................................................................
10
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖
สิ่งที่เลิศ ๔ ประการ (ปัญญัติสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบัญญัติซึ่งสิ่งที่เลิศ ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน
๑) บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหู(อสูร) เป็นเลิศบรรดาบุคคลผู้บริโภคกาม
๒)
พระเจ้ามันธาตุราช เป็นเลิศบรรดาผู้ใหญ่ยิ่ง
๓) มาร ผู้มีบาปเป็นเลิศ
๔) พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเลิศในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
.................................................................................
11
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๕
ตถาคตผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร (พรหมจริยสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อลวงประชาชน ก็หามิได้
เพื่อเกลี้ยกล่อมประชาชน ก็หามิได้
เพื่ออานิสงส์ คือ ลาภสักการะ และ ความสรรเสริญ ก็หามิได้
เพื่ออานิสงส์ คือ การอวดอ้างวาทะ ก็หามิได้
เพื่อความปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการดังนี้ ก็หามิได้
โดยที่แท้ ตถาคต อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อสังวร เพื่อละ เพื่อคลาย ความ กำหนัด เพื่อดับกิเลส
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อัน เป็นการละเว้น มีปรกติยังสัตว์ให้หยั่งลงภายในนิพพานเพื่อสังวร เพื่อละ หนทางนี้อันท่านผู้ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง ชนเหล่าใดย่อมดำเนินไปสู่ทางนั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของศาสดา จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
...............................................................................
12
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖
ภิกษุเหล่านั้นแล ชื่อว่านับถือเรา (กุหสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ลวง เป็นผู้กระด้างเป็นคนประจบ มีปรกติวางท่า มีมานะดุจไม้อ้อที่ยกขึ้น เป็นผู้ไม่มั่นคง ภิกษุเหล่านั้น หาใช่เป็นผู้ นับถือเรา ไม่เป็นผู้ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่ลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง เป็นผู้ มั่นคงดี ภิกษุเหล่านั้นแลชื่อว่านับถือเรา ไม่ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ภิกษุเหล่าใด ล่อลวง กระด้าง ประจบ วางท่า มีมานะดุจไม้อ้อ และไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่ ล่อลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
...............................................................................
13
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖
ปัจจัย ๔ อย่างของภิกษุนี้ หาโทษมิได้ (สันตุฏฐิสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้ ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ปัจจัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ
๑)
บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร ทั้งน้อยหาได้ง่าย และหาโทษ มิได้
๒)
บรรดาโภชนะ คำข้าวที่หาได้ด้วยปลีแข็ง ทั้งน้อยหาได้ง่าย และหาโทษมิได้
๓)
บรรดาเสนาสนะ รุกขมูล ทั้งน้อย หาได้ง่ายและหาโทษมิได้
๔)
บรรดาเภสัช มูตรเน่า ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้แล ทั้งน้อย หาได้ง่าย หาโทษมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย อันน้อยและหาได้ง่าย เราจึงกล่าวข้อนี้ว่า เป็นองค์แห่งความเป็นสมณะอย่างหนึ่งของเธอ
เมื่อภิกษุสันโดษด้วยปัจจัยอันหาโทษมิได้ ทั้งน้อยและหาได้ง่าย ปรารภ เสนาสนะ จีวร ปานะ และโภชนะ จิตของเธอก็ไม่คับแค้นไม่กระทบกระเทือนทุกทิศ และธรรมเหล่าใดอันภิกษุนั้นกล่าวแล้ว อนุโลมแก่สมณธรรมธรรมเหล่านั้น อันภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความสันโดษถือเอาโดยยิ่ง
...............................................................................
14
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๐
ผู้ตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ (รูปสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉนคือ
๑) ผู้ถือประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป
๒) ผู้ถือประมาณในเสียง เลื่อมใสในเสียง
๓) ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง
๔) ผู้ถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลกนี้
ก็ชนเหล่าใด ถือประมาณในรูป และ ชนเหล่าใด คล้อยไปตามเสียง ชนเหล่านั้น เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักชนนั้น คือ ย่อมไม่รู้คุณ ภายในของเขา และ ไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นแล เป็นคนเขลา ถูกห้อมล้อมไว้โดยรอบ อันเสียงย่อมพัดไป
อนึ่ง บุคคลไม่รู้คุณภายใน และไม่เห็นข้อปฏิบัติภายนอกของเขา แม้บุคคลนั้นเห็นผลในภายนอก ก็ยังถูกเสียงพัดไป ส่วนบุคคลรู้ทั่วถึงคุณภายใน ของเขา และเห็นแจ้งข้อปฏิบัติภายนอกของเขา บุคคลนั้นเป็นผู้เห็นธรรม อันปราศจากเครื่องกั้น ย่อมไม่ถูกเสียงพัดไป
...............................................................................
15
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๒
ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ (เทวทัตตสูตร)
สมัยหนึ่ง เมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภ พระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ และ การสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าคน เพื่อความพินาศ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นกล้วยย่อมเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน เมื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภสักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้ไผ่ย่อมตกขุยเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภสักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตนเพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้อ้อย่อมผลิดอกเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่ม้าอัศดร ย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อ ย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัศดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัศดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว ฉันนั้น
...............................................................................
16
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘
อคติ ๔ ประการ เป็นไฉน (อคติสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน บุคคล
ย่อมถึง ฉันทาคติ (ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรักใคร่-ชอบใจ)
ย่อมถึง โทสาคติ (ประพฤติล่วงธรรม เพราะความโกรธ)
ย่อมถึง โมหาคติ (ประพฤติล่วงธรรม เพราะความหลง)
ย่อมถึง ภยาคติ (ประพฤติล่วงธรรม เพราะความกลัว)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ ๔ ประการนี้แล
ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนพระจันทร์ข้างแรมฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการ เป็นไฉน บุคคล
ย่อมไม่ถึง ฉันทาคติ (ไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรักใคร่-ชอบใจ)
ย่อมไม่ถึง โทสาคติ (ประพฤติล่วงธรรม เพราะความโกรธ)
ย่อมไม่ถึง โมหาคติ (ไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความหลง)
ย่อมไม่ถึง ภยาคติ (ไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความกลัว)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่ถึงอคติ ๔ ประการนี้แล
ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ยศของผู้นั้น ย่อมเต็มเปี่ยม ดุจพระจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น
.............................................................................
17
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓
คำว่าโลก ในความหมายของตถาคต (โลกสูตร)
(พระสูตรเต็ม)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
โลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว
ตถาคต พรากจากโลกแล้ว
เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว
เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละได้แล้ว
ความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว
ความดับแห่งโลก ตถาคตกระทำให้แจ้งแล้ว
ปฏิปทาอันยังสัตว์ ให้ถึงความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว
ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งโลก ตถาคตทำให้เจริญแล้ว
.................................................................................
18
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๓
เหตุที่เรียกว่าตถาคต (โลกสูตร)
(พระสูตรเต็ม)
ตถาคตได้บรรลุแล้ว เสาะแสวงหาแล้วค้นคว้าแล้วด้วยใจ ตถาคต ตรัสรู้ รูปารมณ์ที่เห็นได้ด้วยจักษุเป็นต้นนั้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต
อนึ่งตถาคตย่อมตรัสรู้ซึ่งราตรีใด และย่อมยังราตรีใดให้ดับ ตถาคต ย่อมกล่าว ย่อมทักทาย ย่อมแสดงออกซึ่งคำใดในระหว่างนี้ คำนั้นทั้งหมด ย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว หาได้เป็นอย่างอื่นไม่ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต
ตถาคตมีปรกติ กล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดกล่าวอย่างนั้น ตถาคต มีปรกติ กล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เป็นผู้อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ ผู้เห็นแจ้งโดยแท้ ยังอำนาจให้เป็นไป เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต
................................................................................
19
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๑๖
คุรุธรรม ๘ ประการ กฎเหล็กสำหรับภิกษุณี
พระผู้มีพระภาคไม่อนุญาตให้มาตุคามบวช (โคตมีสูตร)
อ่านพระสูตรเต็ม P1393
(ย่อ)
1.แม้บวชมานานนับร้อยปีก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ แม้บวชในวันนั้น
2.ต้องไม่จำพรรษาอยู่ในวัดที่มีภิกษุ
3.ต้องไปถามวันอุโบสถ และ รับฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน (ปาติโมกข์)
4.ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายหลังจำพรรษาแล้ว
5.ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่ายเมื่อต้องอาบัติหนัก
6.ต้องเป็นสิกขมานา 2 ปี ก่อนจึงขออุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายได้
7.ต้องไม่บริภาษด่าว่าภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ
8.จะว่ากล่าวตักเตือนภิกษุไม่ได้ แต่ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนภิกษุณีได้
(๑) ภิกษุณี แม้อุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี พึงทำ การกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุแม้อุปสมบทในวันนั้น แม้ธรรมข้อนี้ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่พึงก้าวล่วงตลอดชีวิต ฯ
(๒) ภิกษุณีไม่พึงเข้าจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ แม้ธรรมข้อนี้ ภิกษุณีต้อง สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วงตลอดชีวิต ฯ
(๓) ภิกษุณีต้องแสวงหา ภิกษุผู้ถามถึงการทำอุโบสถ และการเข้าไปรับโอวาท จาก ภิกษุสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน แม้ธรรมข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือบูชา ไม่พึง ก้าวล่วงตลอดชีวิต ฯ
(๔) ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในอุภโตสงฆ์ด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ ด้วยได้เห็น ได้ฟัง และรังเกียจ แม้ธรรมข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วง ตลอดชีวิต ฯ
(๕) ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้ว พึงประพฤติมานัตปักษ์หนึ่ง ในอุภโตสงฆ์ แม้ธรรม ข้อนี้ ภิกษุณี ต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วงตลอดชีวิต ฯ
(๖) ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทา ในอุภโตสงฆ์ เพื่อนางสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้ว ในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปี แม้ธรรมข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วง ตลอดชีวิต ฯ
(๗) ภิกษุณีต้องไม่ด่า ไม่บริภาษภิกษุโดยปริยายใดๆ แม้ธรรมข้อนี้ภิกษุณีต้อง สักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงก้าวล่วงตลอดชีวิต ฯ
(๘) ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ ไม่ห้ามภิกษุว่ากล่าว ตักเตือน ภิกษุณี แม้ธรรมข้อนี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่พึงก้าว ล่วงตลอดชีวิต
..............................................................................
20
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๔
ความฉิบหาย ๑๑ อย่าง (เพยสนสูตร)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
ความฉิบหาย ๑๑ อย่างเป็นไฉน คือ
๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
๔. เป็นผู้เข้าใจว่าได้บรรลุในสัทธรรม
๕.
เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
๘. บอกลาสิกขาเวียนมาเพื่อหินภาพ
๙. ถูกต้องโรคอย่างหนัก
๑๐. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
๑๑. เป็นผู้หลงใหลทำกาละ
๑๒. เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก
ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุใด ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความฉิบหาย ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้
...............................................................................
21
พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๙
สติ สัมปชัญญะ (มหาปรินิพพานสูตร)
อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะ ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อม
พิจารณาเห็นกาย ในกายอยู่
พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่
พิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่
พิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่
(มีสติอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม - สติปัฎฐาน ๔)
เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา(ความโลภ)และโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ ประกอบด้วย สัมปชัญญะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัว
ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูดการนิ่ง
(รู้สึกตัวทั่วพร้อมในทุกอิริยาบถ)
อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุสาสนี ของเรา สำหรับเธอ
...............................................................................
22
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๘
(พระสูตรเต็ม)
การก้าวลงสู่ครรภ์ของสัตว์ ๔ เหล่า
(พระสารีบุตรกล่าวองค์คุณของพระศาสดาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา)
เหล่าที่ 1 สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-ไม่รู้สึกตัว ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัว อยู่ในครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัว คลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๑
เหล่าที่ 2 สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัว ก้าวลงสู่ครรภ์มารดาอย่างเดียว
-ไม่รู้สึกตัว อยู่ในครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัว คลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการ ก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๒
เหล่าที่ 2 สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัว ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-รู้สึกตัว อยู่ในครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัว คลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๓
เหล่าที่ 4 สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัว ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-รู้สึกตัว อยู่ในครรภ์มารดา
-รู้สึกตัว คลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ในการก้าวลงสู่ครรภ์
...............................................................................
23
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า 70 page
อะไรหนอเป็นรสอร่อยในโลก (ทรงตริตรึกเพื่อตรัสรู้)
ภิกษุ ท.! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังเป็น โพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ นั่นเทียว ได้เกิดความปริวิตกขึ้นว่า
อะไรหนอเป็น รสอร่อย ในโลก?
อะไรเป็น โทษ ในโลก?
อะไรเป็น อุบายเครื่องออก ไปจากโลก?
ภิกษุ ท. ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
- สุขโสมนัส ที่ปรารภโลกเกิดขึ้นนี่เอง เป็นรสอร่อยในโลก
- โลกที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทรมานมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดานี่เอง เป็นโทษในโลก
- การนําออกและการละเสียสิ้นเชิงซึ่งความกําหนัด ด้วยอํานาจความเพลิน ในโลก นี่เอง เป็นอุบายเครื่องออกไปจากโลก ได้
ภิกษุ ท. ! ตลอดเวลาเพียงไร ที่ เรายังไม่รู้จักรสอร่อยของโลกว่าเป็น รสอร่อย ยังไม่รู้จักโทษของโลกว่าเป็นโทษ ยังไม่รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นอุบาย เครื่องออก ตามที่เป็นจริง ตลอดเวลาเพียงนั้น เรายังไม่รู้สึกว่าได้ตรัสรู้ พร้อมเฉพาะ ซึ่ง อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณ พราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์.
ภิกษุ ท. ! เมื่อใดแล เราได้รู้จักรสอร่อยของโลกว่าเป็นรสอร่อยรู้จักโทษ ของโลกว่าเป็นโทษ รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นอุบายเครื่องออก ตามที่เป็นจริง ด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเรารู้สึกว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งอนุตตรสัมมา สัมโพธิญาณ ในโลก พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณ พราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์.
ก็แหละ ญาณทัศนะ เครื่องรู้เครื่องเห็นเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่าความหลุดพ้น ของเราไม่กลับกําเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพเป็นที่เกิดใหม่มิได้มีอีก ดังนี้
(ญาณทัศนะ คือญาณที่รู้ว่าอะไรเป็นรสอร่อย อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นอุบายเครื่องออก)
...............................................................................
24
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘ - หน้าที่ ๑๙๒
เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
ตถาคตพ้นแล้วจากขันธ์ ๕ ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป
(ตรัสกับวัจฉะปริพาชก)
วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด รูปนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา
ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป
มีคุณอันลึก อันใครๆประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก
เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้
บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด ... เพราะสัญญาใด ... เพราะสังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด ... วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา
...............................................................................
25
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๖
จูฬวัจฉโคตตสูตร
วัจฉะปริพาชกถามพระพุทธเจ้า สวรรค์และที่สุดแห่งทุกข์
ข้าแต่พระโคดม คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์* ไม่ได้
เมื่อตายไป ย่อมทำที่สุดทุกข์(อรหันต์) ได้หรือ? ดูกรวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ยังละสังโยชน์ของ คฤหัสถ์ไม่ได้แล้ว เมื่อตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้นั้น ไม่มีเลย
-------------------------------------------------------------------
ข้าแต่พระโคดม ก็คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ ของคฤหัสถ์ไม่ได้ เมื่อตายไป เข้าถึงโลกสวรรค์ได้ มีอยู่หรือ? ดูกรวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ละสังโยชน์ ของคฤหัสถ์ ยังไม่ได้ เมื่อตายไป ได้ไปสวรรค์นั้น ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย เท่านั้น โดยที่แท้มีอยู่มากทีเดียว
-------------------------------------------------------------------
ข้าแต่ท่านพระโคดม อาชีวกบางคน เมื่อตายไปจะทำที่สุดทุกข์(อรหันต์) ได้หรือ? ดูกรวัจฉะ อาชีวกบางคนเมื่อตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้นั้น ไม่มีเลย
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อาชีวกบางคน เมื่อตายไป จะไปสวรรค์ได้หรือ?
ดูกรวัจฉะ แต่ภัทรกัปนี้ไปได้เก้าสิบเอ็ดกัปที่เราระลึกได้
เราจักได้รู้จักอาชีวกบางคน ที่ไปสวรรค์หามิได้
นอกจากอาชีวกคนเดียว ที่เป็น กรรมวาที กิริยาวาที
(เชื่อเรื่องกรรม ว่าทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลของกรรมหรือการกระทำนั้นๆ)
-------------------------------------------------------------------
ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนั้น ลัทธิของเดียรถีย์เป็นอันสูญ โดยที่สุดจาก คุณเครื่องไปสู่สวรรค์น่ะซี
อย่างนั้นวัจฉะ ลัทธิของเดียรถีย์นี้ เป็นอันสูญโดยที่สุด แม้จากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์
* (จาก ฉบับมหาจุฬาฯ : สังโยชน์ของคฤหัสถ์ ในที่นี้หมายถึง ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ข้าทาส บริวาร และกามคุณ ๕ ประการ
อันเป็นเหตุผูกพันและรักใคร่)
...............................................................................
26
(ธรรมที่น่าอัศจรรย์ในธรรมวินัยนี้ /
-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๐๗/๑๑๐.)
อสูรชื่นชมมหาสมุทร 8 อย่าง และธรรมที่น่าอัศจรรย์ 8 อย่าง
1.มหาสมุทรลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนเหวไม่
ธรรมวินัยนี้มีการศึกษา กระทำ และปฏิบัติไปตามลำดับมิใช่ว่าจะมีการบรรลุโดยตรง
2.มหาสมุทรเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่ล้นฝั่ง
สาวกทั้งหลายของเรา ไม่ล่วงสิกขาบท ที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต
3.มหาสมุทรไม่เกลื่อนด้วยซากศพ และคลื่นย่อมซัดเอาซากศพเข้าหาฝั่ง
บุคคลผู้ทุศีล มีสมาจารไม่สะอาด สงฆ์ย่อม ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
4.แม่น้ำสายใหญ่เช่นคงคา ยมุนา เมื่อไหลไปถึงมหาสมุทรย่อมเปลี่ยนชื่อเดิม
วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เมื่อออกบวชย่อมละนามและโคตรเดิม
5.แม่น้ำทุกสายและสายฝนจากอากาศตกลงสู่มหาสมุทร แต่ก็มิได้เต็ม
แม้ภิกษุเป็นอันมากจะปรินิพพาน แต่นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็ม
6.มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม
ธรรมวินัยมีรสเดียว คือวิมุตติรส นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา
7.มหาสมุทรมีรัตนะมาก คือแก้ว มุกดา มณี ไพฑูรย์ เงิน ทอง ทับทิม มรกต
ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากคือ สติปัฏฐาน๔ สัมมัปปธาน๔ อิทธิบาท๔ อินทรีย์๕ พละ๕ โพชฌงค์๗ มรรคมีองค์๘
8.สมุทรเป็นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่เช่น ปลาติมิ ปลาติมิงคลา อสูร นาค คนธรรพ์
ธรรมวินัยนี้เป็นที่อาศัยของสิ่งชีวิตใหญ่ๆ คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ รวมทั้งผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยะทุกระดับ
(อ่านพระสูตรเต็ม )
...............................................................................
27
ทิฏฐิ 10 อย่างของปริพาชก ที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธ
(1) โลกเที่ยง
(2) โลกไม่เที่ยง
(3) โลกมีที่สุด
(4) โลกไม่มีที่สุด
(5) ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น
(6) ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง
(7) สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่
(8) สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป ไม่มีอยู่
(9) สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ ก็มี ไม่มีอยู่ ก็มี
(10) สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่
นั้น เป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็น ที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไป กับด้วยทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วย ความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทเพื่อสงบ ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรวัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวง เช่นนี้.
ก็ความเห็นอะไรๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ?
ดูกรวัจฉะ ก็คำว่าความเห็นดังนี้นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว
ดูกรวัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า
ดังนี้ รูป /ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป/ ดังนี้ ความดับแห่งรูป
ดังนี้ เวทนา /ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา/ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา
ดังนี้ สัญญา /ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา /ดังนี้ความดับแห่งสัญญา
ดังนี้ สังขาร /ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร /ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร
ดังนี้ วิญญาณ /ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ /ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ
เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะ คลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญ ทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเราว่าของเรา และความถือตัวอันนอน อยู่ในสันดานทั้งปวง
(พ้นวิเศษแล้วในความยึดมั่นใน รูป เวทนา วัญญา สังขาร วิญญาณ หรือพ้นแล้วจาก
ขันธ์ทั้ง ๕)
อ่านพระสูตรเต็ม
...............................................................................
28
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘ - ๑๙๒
อัคคิวัจฉโคตตสูตร / เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
ผู้หลุดพ้นจะไม่เกิดในที่ไหน คำว่าเกิดก็ไม่ควร (ถาม)
ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดใน ที่ไหน? ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ?
ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ?
ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร
ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ?
ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร
พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้น วิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า
ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร
...............................................................................
29
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘ - ๑๙๒
อัคคิวัจฉโคตตสูตร / เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
ตถาคตพ้นแล้วจากขันธ์ ๕ ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป
วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ เพราะรูปใด รูปนั้น ตถาคต ละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้น ต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับ ว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก
เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่า ไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้
บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะ เวทนาใด ... เพราะสัญญาใด ... เพราะสังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด..
วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอด ด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่า วิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก
...............................................................................
30
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๑ - หน้าที่ ๓๙๕
ปัญหาที่พระศาสดาไม่ทรงพยากรณ์
(วัจฉปริพาชกทูลถามปัญหากับพระศาสดา)
วัจฉะปริพาชก โลกเที่ยงหรือ
ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์
วัจฉะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ
ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์
ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมตามเห็น จักษุ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคตย่อมพิจารณาเห็น จักษุ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เพราะเหตุนั้นเมื่อตถาคตถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า โลกเที่ยง ก็ดี ฯลฯสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้ก็ดี
...............................................................................
31
กุตุหลสาลาสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๒๗-๔๒๙
ทรงบัญญัติความเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มีอุปาทานเท่านั้น
ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้น แก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ (ทรงบัญญัติภพใหม่ของผู้ยังไม่สิ้นอุปาทาน จะไม่บัญญัติผู้ที่สิ้นอุปาทาน)
ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหาลุกโพลงไม่แม้ฉันใด ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้น แก่คนที่ยังมีอุปาทาน หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทาน มิได้ ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ ก็พระโคดมผู้เจริญจะทรงบัญญัติอะไรแก่เปลวไฟนี้ ในเพราะเชื้อเล่า
พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ เราย่อมบัญญัติ เชื้อคือ ลมนั้น ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น
ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด สัตว์ย่อมทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึง กายอันใดอันหนึ่งด้วย ก็พระโคดมผู้เจริญ จะทรงบัญญัติอะไรแก่สัตว์นี้ ในเพราะ อุปาทานเล่า
พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่ง ด้วย เราย่อมบัญญัติอุปาทาน คือ ตัณหานั่นแล
ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้นตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น
............................................................................
32
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๘ (อ่านพระสูตรเต็ม)
เหตุแห่งความเสื่อม 7 ประการของภิกษุ
1. เป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้าง
2. เป็นผู้พอใจในการคุย
3. เป็นผู้พอใจในการนอน
4. เป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน
5. เป็นผู้มีความปรารถนาอันเลวทราม ลุแก่อำนาจ
6. เป็นผู้มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนเกลอชั่ว
7. เป็นผู้หยุดเลิกเสียในระหว่าง เนื่องจากได้บรรลุคุณวิเศษสักเล็กน้อยแล้ว
...............................................................................
33
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๘ (อ่านพระสูตรเต็ม)
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม 7 ประการ ของภิกษุ (แบบที่หนึ่ง)
1. จะพร้อมเพรียงกันเข้าประชุม จักหมั่นประชุมกันเนืองๆ
2. จะพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม จักพร้อมเพรียงกัน
3. จะไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอน สิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
4. จะสักการะเคารพนับถือบูชา ภิกษุเถระ ที่มีพรรษาและบวชนาน เป็นผู้นำสงฆ์
5. จะไม่ลุอำนาจแก่ตัณหา ซึ่งเป็นตัวเหตุก่อให้เกิดภพใหม่
6. จะมีใจจดจ่อในเสนาสนะป่า
7. จะตั้งสติไว้อย่างมั่นเหมาะ ว่าขอมีเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน มีศีลเป็นที่รัก
...............................................................................
34
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๘ (อ่านพระสูตรเต็ม)
การเป็นอยู่ที่ไม่เสื่อม 7 ประการ ของภิกษุ (แบบที่สอง)
1. ไม่เป็นผู้พอใจในการทำงานก่อสร้าง
2. ไม่เป็นผู้พอใจในการคุย
3. ไม่เป็นผู้พอใจในการนอน
4. ไม่เป็นผู้พอใจในการจับกลุ่มคลุกคลีกัน
5. ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาอันเลวทราม ไม่ลุอำนาจแก่ความปรารถนา อันเลวทราม
6. ไม่เป็นผู้มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนเกลอชั่ว
7. ไม่เป็นผู้หยุดเลิกเสียในระหว่าง เนื่องจากได้บรรลุคุณวิเศษสักเล็กน้อยแล้ว
...............................................................................
35
หนังสือพุทธวจนเรื่อง "สัตว์" หน้า 179 /-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๘๓/๒๕๘.
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน เวทนา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สังขารทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน วิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่ได้มี ดังนี้
...............................................................................
36
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๗๗ (พระสูตรเต็ม P1338)
ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป
อุปมา ใบไม้ ต้นไม้ ดิน
- ตัดใบไม้ กิ่งไม้ในชมภูทวีป (ทั้งโลก) มารวมกันว่านี่เป็นมารดาของมารดา
จนไม้ หมดป่า แต่สายป่านเครือญาติยังไม่สิ้น
- ปั้นดินเท่าเม็ดกระเบา ว่านี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดา
จนดินหมด ทั้งปฐพี (ทั้งโลก) ความเป็นบิดาของบิดา..ก็ยังไม่สิ้น
- ชัดท่อนไม้ไปในอากาศ บ้างก็ตกเอาโคนลง เอาปลายลง เอากลางลง ไม่แน่นอน เพราะสังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
(ลูกกระเบา)
อุปมา น้ำตา น้ำนม โลหิต กระดูกคนตาย
- น้ำตาของสัตว์ ที่เคยไหลจากสิ่งพลัดพราก มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่
- น้ำนมมารดาที่สัตว์เคยดึ่มกิน มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่
- เลือดเคยไหลจากการถูกฆ่าตัดคอ สมัยเกิดสัตว์และมนุษย์ มากกว่าน้ำใน มหาสมุทรทั้ง 4
- กระดูกของคนๆหนึ่งที่ตายไป เมื่อรวมกันตลอด 1กัป ใหญ่กว่าเขาเวลปุลละ
สัตว์ไม่เคยเกิดเป็น บิดา มารดา และบุตร หาได้ไม่ง่ายเลย
- สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นมารดา..หาได้ไม่ง่ายเลย
- สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบิดา..หาได้ไม่ง่ายเลย
- สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่ชาย น้องชาย ..หาได้ไม่ง่ายเลย
- สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่หญิง น้องหญิง ..หาได้ไม่ง่ายเลย
- สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบุตร..หาได้ไม่ง่ายเลย
- สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นธิดา (ลูกผู้หญิง)..หาได้ไม่ง่ายเลย
อุปมา ภูเขา นคร
- ภูเขาหิน กว้างยาวสูง ด้านละ1 โยชน์ 100 ปีลูบด้วยผ้า1 ครั้ง จนหินราบไป กัปก็ยังไม่สิ้น
- นครทำด้วยเหล็ก กว้างยาวสูง ด้านละ 1 โยชน์ บรรจุเมล็ดผักกาด ทุก100 ปี มีบุรุษหยิบออก 1 เมล็ด จนหมด กัปก็ยังไม่สิ้น
อุปมากัปที่ล่วงไป
- สาวก 4 รูป อายุ 100 ปี ระลึกชาติได้วันละ1 แสนกัปตลอด100 ปี กัปก็ยังไม่สิ้น
- กัปที่ล่วงไป มากกว่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา
เห็นคนพิการ คนมีทุกข์ เราก็เคยเป็นเช่นนั้นมาแล้ว
- เห็นคนพิการ พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยพิการเช่นคนๆนั้นมาแล้ว
- เห็นใครมีสุข ก็พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยสุขเช่นคนๆนั้นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าในอดีตก็ล่วงลับไปแล้วในกัปนี้
- กกุสันธ ปรินิพพานแล้ว มนุษย์ยุคนี้อายุ 4 หมื่นปีก็ทำกาละไปแล้ว ภูเขาปาจีนวังส ก็หายไป เพียงเท่านี้ก็เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่าย
- โกนาคมนะ ปรินิพพานแล้ว มนุษย์ยุคนี้อายุ 3 หมื่นปีก็ทำกาละไปแล้ว ภูเขาวงกฏ ก็หายไป เพียงเท่านี้ก็เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่าย
- กัสสป ปรินิพพานแล้ว มนุษย์ยุคนี้อาย 2 หมื่นปีก็ทำกาละแล้ว ภูเขาสุปัสส ก็หายไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็เพียงพอเพื่อ ความเบื่อหน่าย
- ตถาคต ก็จะปรินิพพาน มนุษย์ยุคนี้อาย 100 ปี ก็จะ ต้องทำกาละ ภูเขาเวลปุลละ ก็ไม่เที่ยง เพียงเท่านี้ก็เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่าย
...............................................................................
37
มหานามสูตร : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก ๑๙๕-๑๙๗
(อ่านพระสูตรเต็ม P1624)
ด้วยเหตุเท่าไร ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๑) ตนเองถึงพร้อมด้วยศรัทธา แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา
๒) ตนเองถึงพร้อมด้วยศีล แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยศีล
๓) ตนเองถึงพร้อมด้วยจาคะแต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วย จาคะ
๔) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อเห็นภิกษุ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ในการเห็นภิกษุ
๕) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อฟังสัทธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ในการฟังสัทธรรม
๖) ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่ตนฟังแล้วได้ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพื่อการทรงจำ
๗) ตนเองเป็นผู้พิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนฟังแล้ว แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นพิจารณา..
๘) ตนเองรู้ทั่วถึงธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นปฏิบัติธรรม
...............................................................................
38
มหานามสูตร : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก ๑๙๕-๑๙๗
(อ่านพระสูตรเต็ม P1624)
บุคคลเช่นใดชื่อว่าเป็นอุบาสก และเช่นใดเป็นอุบาสกผู้มีศีล
-เมื่อใดแล บุคคลถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุ มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุบาสก
-เมื่อใดแล อุบาสก งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจาก อทินนาทาน งดเว้นจากกาเม สุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ อุบาสก ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล
...............................................................................
39
สมัยตถาคตเป็นขัตติยราช มีทรัพย์มากมาย แต่ละอย่างๆ มีถึง 84,000 (โคมยสูตร)(อ่านพระสูตรเต็ม P1628)
1.มีนคร ๘๔,๐๐๐ นคร
2.มีปราสาท ๘๔,๐๐๐
3.มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐
4.มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐
5.มีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก
6.มีม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว
7.มีรถ ๘๔,๐๐๐ คัน
8.มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง
9.มีหญิง ๘๔,๐๐๐
10.มีกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ เป็นเหล่าอนุยนต์
11.มีแม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว
12.มีผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ
13.มีสำรับ ๘๔,๐๐๐ ใส่อาหาร
มีบรรดามหานคร ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้น เราครองนครเดียว เท่านั้น คือกุสาวดีราชธานี
บรรดาปราสาท ๘๔,๐๐๐ เราครองปราสาทเดียว เท่านั้น คือ ธรรมปราสาท
บรรดาเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ เราครอง หลังเดียว คือ เรือนยอดมหาพยูหะ
บรรดาบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ เราใช้ บัลลังก์เดียว เท่านั้น คือ บัลลังก์ที่ทำด้วยงา
บรรดาช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก ช้างที่เราทรง เชือกเดียว เท่านั้น คือ พระยาช้าง
บรรดาม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว แต่ ม้าที่เราทรง หนึ่งม้า เท่านั้น คือ วลหกอัสสวราช
บรรดารถ ๘๔,๐๐๐ รถที่เราทรง คันเดียว เท่านั้น คือ รถเวชยันต์
บรรดาหญิง ๘๔,๐๐๐ นาง หญิงที่เรายกย่องมี คนเดียว เท่านั้น คือ นางกษัตริย์
บรรดาผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ ผ้าที่เรานุ่งห่มมี คู่เดียว คือ ผ้าเปลือกไม้ เนื้อละเอียด
บรรดาสำรับ ๘๔,๐๐๐ สำหรับ ซึ่ง แต่ เราบริโภค สำรับเดียว เท่านั้น
ดูกรภิกษุ สังขารทั้งปวงนั้นเป็นอดีต ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ด้วยประการ ดังนี้แล สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายทั้งปวงเว้นจากลมอัสสาสะอย่างนี้แล. ก็ลักษณะอันไม่เที่ยงนี้ ควรทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเพียงไร ในสังขารทั้งปวง.
...............................................................................
40
มหาปทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑ (พระสูตรเต็ม P335)
พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ที่ล่วงลับไปแล้ว
1. พระนามว่า วิปัสสี ย้อนไป 91 กัป (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 80,000 ปี)
2. พระนามว่า สิขี ย้อนไป 31 กัป (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 70,000 ปี)
3. พระนามว่า เวสสภู ในกัปที่ 31 (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 60,000 ปี)
4. พระนามว่า กกุสันธะ กัปปัจจุบัน (ภัททกัป) (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 40,000 ปี)
5. พระนามว่า โกนาคมนะ กัปปัจจุบัน (ภัททกัป) (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 30,000 ปี)
6. พระนามว่า กัสสปะ กัปปัจจุบัน (ภัททกัป) (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 20,000 ปี)
7. พระนามว่า โคดม กัปปัจจุบัน (ภัททกัป) (ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 100 ปี)
(พระพุทธเจ้าในอนาคต พระเมตไตรย ประมาณ
ช่วงพระชนมายุ 80,000 ปี)
(ดูตารางเพิ่มเติม P335)
...............................................................................
41
อริยะบุคคล 4 จำพวก หลังทำกาละในภพมนุษย์แล้ว ไปเกิดในภพไหน
(ดูเพิ่มเติม เรื่องบุคคล 9 จำพวก P1613)
...............................................................................
42
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า 826
กาม เป็นของต่ำ เป็นของชาวบ้าน ไม่ใช่ของพระอริยะ
บุคคลไม่พึงตามประกอบซึ่ง กามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของ ชนชั้นบุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงตาม ประกอบซึ่ง อัตตกิลมถานุโยคอันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
ธรรมใดซึ่งเป็นการตามประกอบซึ่งโสมนัส ของผู้มีสุขอันเนื่อง เฉพาะ อยู่ด้วยกาม เป็นการกระทำต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของ พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ธรรมนั้น ประกอบด้วยทุกข์ ประกอบด้วยความ คับแค้น ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ประกอบด้วยความเผาลน เป็นมิจฉาปฏิปทา (เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา)
(ความพอใจอย่างยิ่งที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือความกำหนัดไปตามอำนาจ ความตริตรึก นั่นแหละคือ กามของคนเรา)
...............................................................................
43
ปัญจกังคสูตร : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๓๗ (พระสูตรเต็ม)
กามคุณ(กามสุขัลลิกานุโยค) กามสุข (สุขัลลิกานุโยค) เป็นไฉน
กามคุณ
ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ
รูป ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ชวนให้ กำหนัด
เสียง ที่พึงรู้แจ้งด้วยโสตะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้ กำหนัด
กลิ่น ที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้ กำหนัด
รส ที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ชวนให้ กำหนัด
โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
กามคุณ ๕ เหล่านี้แล
กามสุข
ดูกรอานนท์ สุขโสมนัส ย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัย กามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่า กามสุข
(ความชุ่มอยู่ในกามสุข เรียกว่า กามสุขัลลิกะ
การประกอบตนอยู่ในกามสุขัลลิกะ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
จัดเป็นอันตะฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าศึกแก่ มัชฌิมาปฏิปทา)
...............................................................................
44
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า 831 (พระสูตรเต็ม)
การประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังเกี่ยวพันด้วยเมถุน
(กามสุขัลลิกานุโยค หรือเมถุนสังโยค ๗)
สมณะหรือพราหมณ์ บางคนปฏิญญา ตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุน กับมาตุคาม ก็จริงแล
1.แต่เขายินดีการลูบคลำ การนวด การอาบ การถูตัว ที่ได้รับจากมาตุคาม
2.แต่เขายังพูดจาซิกซี้ เล่นหัว สัพยอก กับมาตุคาม
3.แต่เขายังสบตา ต่อตา กับมาตุคาม
4.แต่เขายังชอบเสียงของมาตุคาม หัวเราะ พูดจา ขับร้อง ร้องไห้อยู่ก็ดี
5.แต่เขาชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่าที่เคยหัวเราะ เล้าโลม เล่นหัวกัน กับมาตุคาม
6.แต่เขาเห็นพวกคหบดีได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ ก็ปลาบปลื้ม ยินดี
7.แต่เขาประพฤติพรหมจรรย์โดยปรารถนาเพื่อไปเป็นเทพยดา พวกใดพวกหนึ่ง
...............................................................................
45
รายละเอียดของสัญญา (แบบย่อ)
สัญญา ๖
(๑) สัญญาในรูป (รูปสัญญา)
(๒) สัญญาในเสียง (สัททสัญญา)
(๓) สัญญาในกลิ่น (คันธสัญญา)
(๔) สัญญาในรส (รสสัญญา)
(๕) สัญญาในโผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)
(๖) สัญญาในธรรม (ธัมมสัญญา)
(อ่านเพิ่มเติม P1100 )
สัญญา ๗
(๑) อสุภสัญญา
(๒) มรณสัญญา
(๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
(๔) สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
(๕) อนิจจสัญญา
(๖) อนิจเจทุกขสัญญา
(๗) ทุกเขอนัตตสัญญา
(อ่านเพิ่มเติม P1165 )
สัญญา ๑๐
(๑) อนิจจสัญญา พิจารณาว่า รูป เวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง
(๒) อนัตตสัญญา พิจารณาว่า จักษุ-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น..เป็นอนัตตา
(๓) อสุภสัญญา พิจารณากายนี้นั่นแล เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ
(๔) อาทีนวสัญญา กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก มีอาพาธต่างๆ คือ โรคต่างๆ
(๕) ปหานสัญญา กามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินดี ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
(๖) วิราคสัญญา ธรรมชาตินั่นสงบประณีต เป็นที่ระงับสังขาร เป็นที่สละคืนอุปธิ
(๗) นิโรธสัญญา ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิ เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นที่ดับไม่เหลือ
(๘) สัพพโลเกอนภิรตสัญญา การกำหนดหมาย ในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
(๙) สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา การกำหนดหมาย ในความไม่น่าปรารถนาในสังขาร
(๑๐) อานาปานัสสติ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง เป็นผู้มีสติหายใจออกหายใจเข้า
(อ่านเพิ่มเติม P157 )
...............................................................................
46
ปฏิจจสมุปบาทแต่ละอาการ (แบบย่อ)
ชรา มรณะ
ชรา ความแก่ ความคร่ำคร่า มีฟันหลุด มีผมหงอก มีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปๆ แห่งอายุความแก่รอบแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลายในกายเหล่านั้น
มรณะ การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากสัตว์นิกายนั้น
ชาติ
การเกิด การกำเนิดการก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏ ของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตว์นิกายนั้น ๆ
ภพ
คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
อุปาทาน
อุปาทาน ๔ อย่าง คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
ตัณหา
ตัณหา ๖ หมู่ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฎฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
เวทนา
เวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่ เวทนาอันเกิดจากสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ผัสสะ
ผัสสะ ๖ หมู่ คือ ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สฬายตนะ
อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
สฬายตนะคือ อายตนะภายใน กระทบกับอายตนะภายนอก (ตา+รูป หู+เสียง...)
นามรูป
นาม คือ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ
รูป คือ มหาภูตธาตุสี่ (ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม)
นามรูป คือ องค์ประกอบของขันธ์ ๕
วิญญาณ หมู่วิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
สังขารทั้งหลาย
สังขาร ทั้งหลาย ๓ อย่างคือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร
อวิชชา
ความไม่รู้ ในทุกข์
ความไม่รู้ ในเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความไม่รู้ ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ความไม่รู้ ในข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
...............................................................................
47
ปวารณาสูตรที่ ๗ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๓๑
พระผู้มีพระภาคกล่าวชมพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีปัญญามาก
สารีบุตร
เธอเป็นบัณฑิต
เธอเป็นผู้มีปัญญามาก
เธอเป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา
เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาสยายกิเลสได้
สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยัง จักร อันพระราชบิดา ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด
สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมยัง ธรรมจักร อันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง
(สารีบุตรสมควรได้ ธรรมจักร อันยอดเยี่ยมจากพระผู้มีพระภาค)
...............................................................................
48
การเกิดของมนุษย์
และของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์
-บาลี มู. ม. ๑๒/๔๘๗/๔๕๒.
ภิกษุทั้งหลาย เพราะการประจวบพร้อมแห่ง ปัจจัย ๓ ประการ การก้าวลงสู่ครรภ์ ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ย่อมมีขึ้น
ในกรณีนี้ คือ
(1) มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
(2) แต่มารดาไม่มี ระดู
(3) คันธัพพะ (สัตว์ที่จะปฏิสนธิในครรภ์) ก็ยังไม่ได้เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะแล้ว การก้าวลงสู่ ครรภ์ของสัตว์
ผู้เกิดในครรภ์ ก็ยังมีไม่ได้ก่อน
ในกรณีนี้ แม้มารดาบิดอยู่ร่วมกัน มารดาก็มีระดู แต่คันธัพพะยังไม่เข้าไปตั้งอยู่ เฉพาะแล้ว การก้าวลงสู่ครรภ์ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ยังมีไม่ได้ก่อนอยู่นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกาลใด
(1) มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย
(2) มารดามีระดูด้วย
(3) คันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่เฉพาะแล้ว (สะเปิร์ม หรือเชื้ออสุจิ)
ด้วยการก้าวลง สู่ครรภ์ ของสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ย่อมมี เพราะการประจวบพร้อม แห่งปัจจัย ๓ ประการ ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมบริหารซึ่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์นั้นด้วยท้อง ตลอดเวลา ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้างด้วยความวิตกกังวลอันใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก
ภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมคลอดซึ่งทารกนั้น โดยกาลอันล่วงไป ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง ด้วยความวิตกกังวลอันใหญ่หลวง เป็นภาระหนัก เลี้ยงแล้วซึ่ง ทารกอันเป็นผู้เกิดแล้วนั้น ด้วยโลหิตแห่งตน
ภิกษุทั้งหลายในอริยวินัย สิ่งที่เรียกว่า โลหิตนั้นหมายถึงน้ำนมแห่งมารดา
...............................................................................
49
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 158
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ย่อมปรุงแต่งให้เกิด กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร
ดูก่อนอานนท์ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นเทียว
ธรรมชาติทางฝ่ายจิต
ย่อมปรุงแต่งให้เกิด
1. กายสังขาร (อำนาจที่ทำให้เกิดการเป็นไปทางกาย)
2. วจีสังขาร (อำนาจที่เกิดการเป็นไปทางวาจา)
3. มโนสังขาร (อำนาจที่เกิดการเป็นไปทางใจ)
ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อัน เป็นภายในเกิดขึ้น
1.
โดยตนเองบ้าง
2. โดยอาศัยการกระตุ้นจาก ผู้อื่นบ้าง
3. โดยรู้สึกตัวอยู่บ้าง
4. โดยไม่รู้สึกตัวอยู่บ้าง
ดูก่อนอานนท์ อวิชชา เป็นตัวการ ที่แทรกแซงแล้ว ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ดูก่อนอานนท์ เพราะความจางคลายดับไปไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว
1. กาย วาจา มโน นั้น ย่อมไม่มี เพื่อความเป็นปัจจัยให้สุข และทุกข์ อันเป็นภายในเกิดขึ้น
2. สัญเจตนา (ความจงใจ ความตั้งใจ)
-
ในฐานะที่เป็น เขต (ที่เกิดที่งอกแห่งสุขและทุกข์ในภายใน) ก็ดี
-
ในฐานะที่เป็น วัตถุ (ที่ตั้งที่อาศัยแห่งสุข และทุกข์ในภายใน) ก็ดี
-
ในฐานะ อายตนะ (ปัจจัยโดยตรงแห่งสุข และทุกข์ในภายใน) ก็ดี
-
ในฐานะ ที่เป็น อธิกรณะ (เครื่องมือกระทำให้เกิดสุข และทุกข์ใน ภายใน) ก็ดี
ย่อมไม่มีเพื่อความเป็นปัจจัยให้สุข และทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น ดังนี้ แล
...............................................................................
50
วิภังคสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก ฉบับหลวง หน้า ๒
ก็นามรูปเป็นไฉน
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม
มหาภูตรูป ๔(ดิน น้ำ ไฟ ลม) นี้เรียกว่ารูป
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้(ก็) เรียกว่ารูป (อุปาทานรูป)
นามและรูป ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูป
|