เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ               

 
พระสูตรสั้น พระสูตรโดยย่อ
  พระสูตรสั้น ชุด1 ทางลัด.. คลิกดูพระสูตรที่เป็นตัวเลข
 
  (คลิก)
S1-01 อภิภายตนะ ๖ เป็นไฉน (มีอำนาจเหนืออายตนะทั้ง6)
S1-02 ฐานะ ๕ ประการ ที่ไม่อาจได้ตามที่ปราถนา (อย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย อย่าสิ้นไป อย่าวินาศเลย )
S1-03 การแสดงธรรมที่ถูกต้อง (ให้คนเข้าใจไม่ใช่ให้เลื่อมใส)
S1-04 คุณสมบัติผู้ที่ได้โสตาปัตติผล (มีกำลังที่จะมาฟังธรรม)
S1-05 อานิสงส์ จริญอานาปานสติสมาธิ (กาย-ตา ไม่ลำบาก)
S1-06 ปฏิจจสมุปบาทกฎธรรมชาติสูงสุด คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา
S1-07 แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติว่าบัญญัติ (เถระวิปริต)
S1-08 เราถูกจิตคดโกงหลอกลวง (จิตไม่ใช่ของเรา)
S1-09 ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน (ประพฤติ กาย วาจา ใจ สุจริต)
S1-10 เลื่อมใสตถาคตย่างยิ่ง (ตถาคเต เอกนฺตคโต)
   
S1-11 สมณสากยปุตติยะที่แท้จริง (มีความศรัทธาอย่างมั่นคง)
S1-12 อานาปานสติ คือวิหารธรรม (ตถาคตวิหาร)
S1-13 ศรัทธา 12 ประการ (ศรัทธา เข้าหา นั่งใกล้ เงี่ยโสต..)
S1-14 อุปาทานในขันธ์5 (สังโยชน์ ฉันทราคะ)
S1-15 สังขต อสังขต (ธรรมชาติที่ปรุงแต่งได้ และไม่ได้)
S1-16 บุคคล 3 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก (รอยขีดบนแผ่นหิน)
S1-17 ม้าอาชาไนย 4 ประเภท (เห็นเงาปฎัก)
S1-18 ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ (คูถ แม้นิดเดียว..)
S1-19 ที่สุดแห่งทุกข์ (เห็นอยู่ ย่อมเบื่อหน่าย)
S1-20 สักแต่ว่า... (นัยที่ ๑) ตรัสกับพาหิยะ
   
S1-21 อย่าตำหนิธรรมของตถาคตเด็ดขาด (นรก)
S1-22 การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้น เป็นไปไม่ได้
S1-23 ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔”
S1-24 กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย (กายนี้เป็นกรรมเก่า)
S1-25 ปัพพตสูตร อายุของกัปนานแค่ไหน (อุปมาลูบหินแท่งทึบ)
S1-26 การรู้สึกพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้ว (ภพใหม่ไม่บังเกิดอีกต่อไป)
S1-27 มิจฉาทิฏฐิเรื่องกรรม ๔ แบบ (กรรม สุขทุกข์ ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นบันดาล)
S1-28 กรรมดับไปเพราะผัสส (กรรมเกิดเพราะผัสสะ ดับเพราะผัสสะ)
S1-29 การทำงานของจิต (วิญญาณอาศํย "รูป" ตั้งอยู่ )
S1-30 การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด (ประพฤติธรรม..)
   
S1-31 ประโยชน์ของการฟังธรรม (มีอุปการะมากคุณต่อการทรงจำ)
S1-32 กุศลกรรมบถ 10 (ทางกาย 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3)
S1-33 ข้อแตกต่าง อรหันต์สัมมาสัมพุทธะ กับอรหันต์ (มรรคานุคา)
S1-34 คนฟังธรรมมี 3 พวก (จำได้ จำไม่ได้เหมือนถั่วงาร่วง)
S1-35 ความเป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
S1-36 ความยาก 3 สิ่งที่เสมอกัน เกิดตถาคต เกิดมนุษย์ ศาสนาแผ่..
S1-37 เศษดินปลายเล็บ (ฟังคำตถาคตเนืองๆ)
S1-38 ฟังธรรมก่อนตาย(ผัคคุณสูตร) ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 5ข้อ
S1-39 ลักษณะการพูดของตถาคต (เรื่องจริง แท้ ประกอบประโยชน์)
S1-40 จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยรู้อริยสัจ ทุกข์ เหตุเกิด เหตุดับ วิธีดับทุกข์
 
ต่อชุด 2
 
 


พระสูตรสั้น ชุด1



1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ อภิภายตนะ ๖ เป็นไฉน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย
มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์
ย่อม
ไม่เกิดขึ้น แก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า อายตนะนี้เราครอบงำแล้ว
อายตนะนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าเป็น อภิภายตนะ ฯลฯ
(อกุศลบาปไม่เกิด เพราะครอบงำอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ได้แล้ว)


ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย
มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์
ย่อมเกิดขึ้น
แก่ภิกษุในศาสนา
นี้ เพราะได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า อายตนะนี้เราครอบงำแล้ว
อายตนะนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็น อภิภายตนะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะเหล่านี้ เรากล่าวว่า อภิภายตนะ ๖

(เมื่อรู้แจ้งแล้ว ก็ครอบงำอายตนะได้ บาปอกุศล จึงไม่สามารถทำอะไรได้)

คลิกดูพระสูตรเต็ม


2
ฐานะ ๕ ประการ
(อย่าแก่เลย อย่าเจ็บ อย่าตาย ...)

ภิกษุ ท. !
ฐานะ ๕ ประการเหล่านี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทพ มารพรหม
หรือใครๆ ในโลก ไม่พึงได้ตามปรารถนา มีอยู่.
ห้าประการเหล่าไหนเล่า ?
ห้าประการคือ สมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม
หรือใครๆในโลกไม่อาจได้ตามปรารถนาว่า
      สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา  อย่าแก่เลย,
      สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา  อย่าเจ็บไข้เลย,
      สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา  อย่าตายเลย,
      สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา  อย่าสิ้นไปเลย,
      สิ่งที่มีความวินาศเป็นธรรมดา  อย่าวินาศเลย ดังนี้.



3
การแสดงธรรมที่ถูกต้อง คือ

การแสดงธรรม ให้คนเข้าใจ ไม่ใช่ให้คนเลื่อมใส สามารถนำไปปฏิบัติได้
(การแสดงธรรมเพื่อให้คนเลื่อมใส เป็นการแสดงธรรมที่ไม่บริสุทธิ์
(การแสดงธรรมเพื่อให้คนเข้าใจ เป็นการแสดงธรรมที่บริสุทธิ์)



4

คุณสมบัติผู้ที่ได้โสตาปัตติผล


กำลังของโสตาปัตติผล (ทิฏฐิอารียา หรือ ทิฏฐิอันเป็นอริยะ)
1
มีกำลังที่จะมาฟังธรรม อันบัณฑิตแสดงอยู่
2
มีกำลังทีจะรู้พร้อมเฉพาะ ซึ่งอัตถะ ซึ่งธรรมะ
ได้ความปราโมทย์ อันเกิดแต่ธรรม (มีกำลังที่จะเข้าใจ)



5

อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ

[๑๓๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยัง
มิได้ตรัสรู้ ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วย วิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก จักษุไม่ลำบาก และจิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า แม้กายของเรา
ไม่พึงลำบาก จักษุของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ทีปสูตร



6
ปฏิจจสมุปบาทในฐานะกฎธรรมชาติสูงสุด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม
จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา (ธัมมัฏฐิตตา)
คือความเป็นกฏตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา)
คือความที่เมื่อสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งสิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา)

ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น
ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดง
ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง
ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ และได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า



7
ผู้ที่แสดงสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติว่าบัญญัติ
ภิกษุเถระผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริต
(แสดงกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ผิดแนวไปจากคำสอน)

“ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป
เมื่อมีการกระทำสามอย่างนี้แล้ว จะได้ชื่อว่าเป็น
ผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสียทำมหาชนให้หมดสุข
ทำไปเพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล
แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

การกระทำสามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่าง คือ

(๑) ทำการชักชวนมหาชนใน กายกรรม
อันผิดแนวแห่งการทำที่สุดทุกข์ในพระ ศาสนา.

(๒) ทำการชักชวนมหาชนใน วจีกรรม
อันผิดแนวแห่งการทำที่สุดทุกข์ในพระ ศาสนา.

(๓) ทำการชักชวนมหาชนใน การบำเพ็ญทางจิต
อันผิดแนวแห่งการทำที่สุด ทุกข์ในพระศาสนา.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป เมื่อมีการกระทำสามอย่าง เหล่านี้ เข้าแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสียทำมหาชนให้หมดสุข ทำไปเพื่อ ความฉิบหายแก่มหาชนไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แต่เป็นไปเพื่อ ความทุกข์ ทั้งแก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล”.



8
เราถูกจิตคดโกงหลอกลวง

เราถูกจิตนี้ คดโกง หลอกลวง มาตลอดกาลยาวนาน เราคิดว่าเรามีจิต และคิดว่าจิตนี้เป็นเรา แท้จริงแล้ว จิต ไม่ไช่ของเรา

เราคิดว่าจิตของเราดี แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ดีเลย โทษ หรือ อาทินว ของมันคือ มันดับไปได้ มันไม่ได้เป็นของถาวร

" ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรียกกันว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้างนั้น ดวงหนึ่ง เกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวันตลอดคืน "

แสดงว่าจิตมีการเกิด-ดับตลอด แต่เราไม่รู้สึกถึงการเกิด-ดับ เพราะการเกิด-ดับ มันไวมาก พระศาสดาให้เราเห็นอะไร.. ให้เราเห็นการเปลี่ยนของจิต

พระองค์ตรัสว่า นี่เป็นความรู้ของอริยะ ปุถุชนจะไม่ทราบ ไม่เข้าใจ ความรู้ตรง นี้ พระองค์เรียกว่าเป็นความรู้อันประเสริฐ เป็นความรู้อันเป็นอริยะ ไม่เนื่องด้วย ปุถุชน

อริยะบุคคลก็คือ รู้ข้อธรรมอันประเสริฐ อันเป็นหนทางเข้าถึงความไม่ตาย
แก้ปัญหาความแก่ เจ็บ ตาย ได้



9

ฤกษ์ดี ยามดี ในแบบพุทธวจน

ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริตด้วยกาย
ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า
เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์ทั้งเหล่านั้น.

สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง
เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.

สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา
ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น
เวลาเย็นก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น.

สัตว์ทั้งหลาย ประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี
และบูชาดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย.



10
เลื่อมใสอย่างยิ่ง


ตถาคเต เอกนฺตคโต อภิปฺปสนฺโน
(ตะ ถา คะ เต - เอ กัน ตะ คะ โต - อะ ภิป ปะ สัน โน)
เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในส่วนเดียวต่อพระตถาคต



11
สมณสากยปุตติยะที่แท้จริง

วาเสฏฐะทั้งหลาย พวกเธอแล มีชาติต่างกัน มีนามต่างกัน
มีโคตรต่างกัน มีสกุลต่างกัน ออกบวชจากเรือน
เป็นผู้หวังเกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว

เมื่อถูกเขาถามว่า พวกท่าน เป็นใคร พวกเธอก็ปฏิญาณว่า
เราทั้งหลาย เป็นสมณสากยปุตติยะ ดังนี้

วาเสฏฐะ. ท. อนึ่ง ศรัทธาของผู้ใดแล
ตั้งมั่นในตถาคต ฝังลงรากแล้วดำรงอยู่ได้มั่นคง
อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆในโลกก็ตาม
ไม่ชักนำไปทางอื่นได้

ผู้นั้นควรจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรส
เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม
.



12
อานาปานสติ คือวิหารธรรม

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้เราเอง เมื่อยังไม่ตรัสรู้ ก่อนการตรัสรู้
ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นอันมาก.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ เป็นอันมาก
กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน” ดังนี้แล้วไซร้

อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.



13
ศรัทธา 12 ประการ
(พระสูตรชุดเต็ม การตามรู้ความจริง)

1 ต้องเป็นผู้มีศรัทธา
2 แล้วมีการเข้าไปหา
3 แล้วเข้าไปนั่งใกล้
4 แล้วเงี่ยโสตลงฟัง
5 แล้วก็ให้ฟังซึ่งธรรม
6 แล้วให้ทรงจำธรรมนั้นไว้
7 แล้วให้เอาไปใครครวญเนื้อธรรมที่ตนทรงจำไว้
8 ธรรมทั้งหลายจะทนต่อการเพ่งพิสูจน์
9 ฉันทะ ความพอใจจึงจะเกิดขึ้น
10 ผู้มีฉันทะ ย่อมมีอุตสาหะความเพียรพยายาม
11 แล้วย่อมพิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรม (หาความพอดีในการปฏิบัติ)
12 แล้วตั้งตนไว้ในธรรม

พระองค์เปรียบเหมือนแม่ไก่ที่กกลูก เมื่อถึงเวลาลูกไก่ก็จะออกมาเอง
การตามรู้ซึ่งความจริง (สจฺจานุโพโธ) ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๕/๖๕๕-๖๕๗.



14
อุปาทาน

สังโยชน์ อุปาทาน ฉันทราคะ ความเพลิน นันทิ
สังโยชน์ คือตัวที่สร้างการเกิด และสร้างภพ

สังโยชน์ = ละนันทิ (ไม่ไปเพลิน)
สังโยชน์เกิดได้มีได้ก็เพราะฉันทราคะ
ฉันทราคะ ก็คือ ตัวสังโยชน์ ก็คือตัวความเพลิน ก็คือตัวอุปาทาน

พระองค์ตรัสว่า ความเพลินใด ความเพลินนั้นก็ คือ อุปาทาน
พระองค์ตรัสว่า อุปาทาน คือ ฉันทราคะ
สิ่งอันเป็นที่ตั้งของอุปาทาน คือ ขันธ์ห้า
พระองค์ตรัสว่า ฉันทราคะ คือ สังโยชน์

ดังนั้นสังโยชน์ที่แปลว่าเครื่องผูกให้สัตว์ติดอยู่ในภพ
ก็คือฉันทราคะ ก็คืออุปาทาน ก็คือความเพลิน อันเดียวกันหมดเลย
ดังนั้นเมื่อผู้มีพระภาคให้ละความเพลิน ก็คือการให้ละอุปาทาน
หรือ ให้ละฉันราคะ หรือ การละสังโยชน์โดยตรงนั่นเอง



15
สังขต - อสังขต

(ระบบธรรมชาติที่ปรุงแต่งได้ และปรุงแต่งไม่ได้)

สังขต(ระบบที่ปรุงแต่งได้/ระบบสังสารวัฏ) และ
อสังขต (ระบบที่ปรุงแต่งไม่ได้)
ภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะ แห่งสังขตธรรม 3 อย่าง เหล่านี้ มีอยู่

สามอย่างอย่างไรเล่า สามอย่างคือ:
1 อุปฺปาโท ปญฺญายติ
มีการเกิดปรากฏ
2 วโย ปญฺญายติ
มีการเสื่อมปรากฏ
3 ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ
เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ
(เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้ว)
ภิกษุทั้งหลาย สามอย่างเหล่านี้แล คือสังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

ภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่
สามอย่างอย่างไรเล่า สามอย่างคือ
1 น อุปฺปาโท ปญฺญายติ
ไม่ปรากฏมีการเกิด
2 น วโย ปญฺญายติ
ไม่ปรากฏมีการเสื่อม
3 น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ
เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

ภิกษุทั้งหลาย สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.



16
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก


๓ จำพวกเป็นไฉน คือ
  ๑ บุคคลผู้เปรียบด้วย
รอยขีดที่แผ่นหิน
  ๒ บุคคลผู้เปรียบด้วย
รอยขีดที่แผ่นดิน
  ๓ บุคคลผู้เปรียบด้วย
รอยขีดที่น้ำ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหินเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคน ในโลกนี้ โกรธเนืองๆ
ทั้งความโกรธของเขานั้นนอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก
เปรียบเหมือนรอยขีดที่แผ่นหิน ไม่ลบเลือนเร็วเพราะลมหรือน้ำ
ย่อมตั้งอยู่ยั่งยืนแม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้นก็นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก
นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นหิน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดินเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โกรธเนืองๆ
แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก เปรียบ
เหมือนรอยขีดที่แผ่นดิน ลบเลือนไปโดยเร็วเพราะลมและน้ำ ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืน
แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นไม่นอนเนื่องอยู่ในสันดานนานนัก
นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่แผ่นดิน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ
แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คง
สมานไมตรี กลมเกลียว ปรองดองกันอยู่
เปรียบเหมือนรอยขีดที่น้ำ
จะขาดจากกันก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้จะถูกว่าด้วยคำหนักๆ แม้จะถูกว่าด้วยคำหยาบๆ
แม้จะถูกว่าด้วยคำที่ไม่พอใจ ก็คงสมานไมตรีกลมเกลียว
ปรองดองกันอยู่ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เปรียบด้วยรอยขีดที่น้ำ

ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคล 3 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก



17
ม้าอาชาไนย 4 ประเภท


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ 4 จำพวกนี้
มีปรากฏอยู่ในโลก 4 จำพวกเป็นไฉน คือม้าอาชาไนย ตัวเจริญบางตัวในโลกนี้ พอเห็นเงาปฏักเข้า ก็ย่อมสลดถึงความสังเวช ว่าวันนี้นายสารถีผู้ฝึกม้า จักให้ เราทำเหตุอะไรหนอ เราจักตอบแทนแก่เขาอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลายม้าอาชาไนยตัวเจริญบางตัวในโลกนี้แม้เห็นปานนี้ก็มี
นี้เป็นม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ 1 ที่ปรากฏอยู่ในโลก”

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบ

ม้าอาชาไนยจำพวกที่
1 ว่าพอเห็นเงาปฎักของนายสารถีผู้บังคับม้า ก็ย่อม สำเหนียกรับรู้ว่าจะต้องทำการใดเพื่อสนองแก่นายสารถีโดยไม่ต้อง
รอให้นาย สารถีเอาปฎักมาแทงหลัง ดุจบุคคลบางคน ที่เพียงรู้ข่าวคนอื่น ได้รับความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย ก็เร่งขวนขวายทำความดีเพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นหลีกหนีไม่พ้น

ม้าอาชาไนยจำพวกที่ 2
คือม้าอาชาไนยที่แม้เห็นเงาปฎักก็หาได้ยำเกรง ต้องรอให้นายสารถี เอาปฎักแทง ทะลุขุมขนเสียก่อน จึงค่อยสำเหนียกรับรู้ว่าจะต้องทำการใดเพื่อสนองแก่นายสารถี

ดุจบุคคลบางคนที่ต่อเมื่อได้เห็นบุคคลอื่นได้รับความทุกข์ หรือถึงแก่ความตาย ไปต่อหน้า จึงจะเร่งขวนขวายทำความดี เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นหลีกหนีไม่พ้น

ม้าอาชาไนยจำพวกที่ 3
ก็คือม้าอาชาไนยที่แม้เห็นเงาปฎักนายสารถีก็ไม่รู้สึกรู้สา แม้ถูกปฎักแทงทะลุ ขุมขน ก็ยังไม่สำเหนียก นายสารถีต้องเอาปฎัก แทงทะลุไปถึงเนื้อจึงยอม สลด จดจำ กระทำตามที่นายสารถีบัญชา

ดุจบุคคลบางคนที่รอให้เห็นญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดของตนได้รับความทุกข์
หรือถึงแก่ความตายเสียก่อน เขาจึงจะยอมเร่งสร้างบุญสร้างกุศล เพราะรู้ว่าสิ่ง เหล่านั้นหลีกหนีไม่พ้น

ม้าอาชาไนยจำพวกที่ 4
คือม้าอาชาไนยที่เห็นเงาปฎักก็ไม่กลัว ถูกแทงไปถึงขุมขนก็ไม่ตระหนัก
นายสารถีแทงปฎักทะลุไปถึงเนื้อก็ยังไม่ทำตามจนกระทั่งปลายปฎักทะลุไปถึง กระดูกจึงค่อยสลดลง

ดุจบุคคลที่ได้ข่าวเรื่องความทุกข์ความตายของคนอื่นก็เฉยๆ เห็นความทุกข์ ความตายของคนอื่นก็เฉยๆ เห็นญาติพี่น้อง คนใกล้ตน ประสบความทุกข์ เผชิญความตายก็ยังไม่นำพา กระทั่งความทุกข์นั้นมาถึงตนเอง พร้อมความ ตาย ที่กำลังคืบคลานมาหาอยู่เบื้องหน้า จึงเร่งสร้างบุญสร้าง กุศลเพราะรู้ว่า สิ่งเหล่านั้นหลีกหนีไม่พ้น



18
ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ


ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้มีประมาณน้อยชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้



19
ที่สุดแห่งทุกข์


สัมมา ปัสสัง นิพพินทะติ
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย

นันทิกขะยา ราคักขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ

ราคักขะยา นันทิกขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ

นันทิราคักขะยา จิตตัง สุวิมุตตันติ วุจจะติ.
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ กล่าวได้ว่า “จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี”

นะติยา อะสะติ อาคะติคะติ นะ โหติ
เมื่อความน้อมไป ไม่มี, การมาและการไป ย่อมไม่มี

อาคะติคะติยา อะสะติ จุตูปะปาโต นะ โหติ
เมื่อการมาและการไป ไม่มีการเคลื่อนและการเกิดขึ้น ย่อมไม่มี

จุตูปะปาเต อะสะติ เนวิธะ นะ หุรัง นะ ุภะยะมันตะเร:
เมื่อการเคลื่อนและการเกิดขึ้น ไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้
ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง

เอเสวันโต ทุกขัสสะ,
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.



20
สักแต่ว่า... (นัยที่ ๑)

พาหิยะ !
เมื่อใดเธอเห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น
ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง
ได้กลิ่น, ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส
ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว
เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี.

เมื่อใด “เธอ” ไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้
ไม่ปรากฏในโลกอื่น ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.



21
อย่าตำหนิธรรมของตถาคตเด็ดขาด

ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้
ว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ
พอแก่ความเป็นอริยะของพระสมณโคดมไม่มี
พระสมณโคดมทรงแสดงธรรม ที่ประมวลมาด้วยความตรึก
ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง

ดูกรสารีบุตรผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย
ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้

ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ ถึงพร้อมด้วยศีล
ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึง พร้อมด้วยปัญญา
พึงกระหยิ่มอรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด

ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น
ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย
ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้.



22
การพ้นทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้น เป็นไปไม่ได้


ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องทำพื้นฐานราก ในเบื้องล่างของเรือนดอก แต่ฉันจักทำตัวเรือนข้างบนได้”ดังนี้ นี่ไม่เป็นฐานะ ที่จักมีได้ฉันใด ข้อนี้ก็ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันนั้น

คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องรู้จักความจริงอันประเสริฐ
คือความจริงเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้ เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์
และเรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์นั้นดอก แต่ฉันจักทำความ สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ โดยถูกต้อง” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! และเปรียบเหมือนผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันต้องทำฐาน- ราก ของเรือนตอนล่างเสียก่อน จึงจักทำตัวเรือนข้างบนได้” ดังนี้ นี่เป็นฐานะที่จัก มีได้ ฉันใด ข้อนี้ก็เป็นฐานะที่จักมีได้ ฉันนั้น

คือข้อที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าวว่า “ฉันครั้นรู้ความจริงอันประเสริฐ คือความจริง เรื่องทุกข์, เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับไม่เหลือของทุกข์ และเรื่องทาง ดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือของทุกข์ นั้นแล้ว จึงจักทำความสิ้นสุดแห่ง ทุกข์ได้ โดยถูกต้อง” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็น จริงว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ”ดังนี้เถิด.



23
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า
“เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔”

ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้
ทำให้เราเศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้.

ข้อนี้ เป็นธรรมที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ เราอาศัยซึ่งอะไรเล่า
จึงกล่าวแล้วอย่างนี้ ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยซึ่งธาตุทั้งหลาย ๖ ประการ
(อายตนะ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
การก้าวลงสู่ครรภ์ ย่อมมี
เมื่อการก้าวลงสู่ครรภ์ มีอยู่ นามรูป ย่อมมี
เพราะมี นามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมี สฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมี ผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.



24
ภิกษุทั้งหลาย ! กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย
และ ทั้งไม่ใช่ของบุคคลเหล่าอื่น.


ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย
พึงเห็นว่า เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น
เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
ย่อมทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท นั่นเทียว
ดังนี้ว่า “ด้วยอาการอย่างนี้

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป



25
ปัพพตสูตร อายุของกัป

[๔๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระ ภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่ง นานเพียงไรหนอแล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี
หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ

ภิ. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

[๔๓๐] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุเหมือนอย่างว่า
ภูเขาหินลูกใหญ่ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่งไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้ว ปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง ภูเขาหิน ลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไปสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัป หนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนาน อย่างนี้แล

บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่ พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อ หน่าย ในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ



26
การรู้สึกพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้ว
รู้กฏธรรมชาติ : รู้ว่า เกิด แก่ เจ็บตาย ความโศก ความเศร้า เป็นธรรมดา

ภิกษุ ท.! ก็เมื่อเราเป็นผู้มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา
มีความโศกเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ด้วยตน ก็รู้จักโทษ แห่งสิ่ง ที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โศก เศร้าหมองเป็นธรรมดา.

ครั้นรู้แล้ว จึงได้แสวงหานิพพาน อันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่โศก ไม่เศร้า หมองเป็นธรรมดา อันไม่มีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่า อันเกษมจากโยคธรรม.

เราก็ได้บรรลุพระนิพพานนั้น.

อนึ่ง ปัญญาเครื่องรู้เครื่องเห็นได้เกิดแก่เราว่า "ความหลุดพ้นของเราไม่กลับ กำเริบ การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพเป็นที่เกิดใหม่มิได้มีอีก" ดังนี้.



27
มิจฉาทิฏฐิเรื่องกรรม ๔ แบบ

กรรมและสุขทุกข์ ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นบันดาล
กรรมและสุขทุกข์ ไม่ได้เกิดจากตัวเองบันดาล
กรรมและสุขทุกข์ ไม่ได้เกิดจากผู้อื่นและตนเองบันดาล
กรรมและสุขทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆโดยปราศจากเหตุผล

นิทานสัมภวะ(แดนเกิด)แห่งกรรมทั้งหลายเกิด จากผัสสะ
และกัมมนิโรธ(ความดับกรรม)แห่งกรรมทั้งหลาย
ย่อมมีเพราะความดับไปแห่งผัสสะ



28
กรรมดับไปเพราะผัสสะ

นิทานสัมภวะ(แดนเกิด)แห่งกรรมทั้งหลายเกิดจากผัสสะ และกัมมนิโรธ (ความดับกรรม)แห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับไปแห่งผัสสะ


29
การทำงานของจิต


วิญญาณจะไปตั้งอาศํยอยู่ใน 4 ธาตุ
ตัว 4 ธาตุนี้พระพุทธเจ้าจะเรียกว่า "อารมณ์"

วิญญาณอาศํย "รูป" ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มี "รูป"เป็นอารมณ์
มี "รูป" เข้าไปตั้งอาศัย มีนันทิเข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้

วิญญาณอาศัย "เวทนา" ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มี "เวทนา" เป็นอารมณ์ มี "เวทนา" เข้าไปตั้งอาศัย มีนันทิเข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้

วิญญาณอาศํย "สัญญา" ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มี "สัญญา" เป็นอารมณ์ มี "สัญญา" เข้าไปตั้งอาศัย มีนันทิเข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้

วิญญาณอาศัย "สังขาร" ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มี "สังขาร" เป็นอารมณ์ มี "สังขาร" เข้าไปตั้งอาศัย มีนันทิเข้าไปซ่องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ได้



30
การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด

การบูชา เคารพ ตถาคตอันสูงสุดก็คือ
ประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม

ปฎิบัติชอบยิ่ง ปฎิบัติตามธรรมอยู่

ผู้ใดทำอย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้นับถือบูชาตถาคต
ด้วยการบูชาอันสูงสุด



31
ประโยชน์ของการฟังธรรม


การฟังธรรม เป็นธรรมมีอุปการะมากคุณต่อการทรงจำ
การทรงจำ เป็นธรรมมีอุปการะคุณต่อการใคร่ครวญธรรม

ผู้ใดมีจิตฝังลงไปอย่างติดต่อสม่ำเสมอไม่ขาดตกบกพร่อง
ในความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำผลที่เขาหวังได้คืออรหันต์ในปัจจุบัน



32
กุศลกรรมบถ 10


กายกรรม 3 ประการ
1. ไม่ฆ่าหรือทำลายชีวิตผู้อื่น
2. ไม่ลักขโมย หรือยึดเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม 4 ประการ
4. ไม่พูดเท็จ
5. ไม่พูดส่อเสียด
6. ไม่พูดคำหยาบคาย
7. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

มโนกรรม 3 ประการ
8.
ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
9.
ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
10.
เห็นชอบตามคลองธรรม (สัมมาทิฏฐิ)



33
ข้อแตกต่างระหว่างอรหันต์สัมมาสัมพุทธะ
กับ อรหันต์ผู้ปัญญาวิมุติ

ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้คนรู้ ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าว กันแล้ว

ตถาคต
เป็นมัคคัญญู (รู้มรรค)
เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค)
เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค).

ภิกษุทั้งหลาย !
ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้

เป็นมัคคานุคา(ผู้เดินตามมรรค)
เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกัน เป็นความมุ่งหมายที่แตก ต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันต สัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์.



34
คนฟังธรรมมี 3 พวก

แบบที่ 1 ฟังธรรม เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จำไม่ได้เลย

แบบที่ 2 ฟังได้ และจำได้ทั้งหมด แต่พอลุกจากอาสนะที่นั่ง ลืมหมด
เหมือนถั่วงา ที่วาง บนตัก พอลุกก็ร่วงกราว

แบบที่ 3 ฟังได้ จำได้ ทั้งหมด



35
ความเป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่าเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ

ภิกษุ ท. ! แม้พระเจ้าจักรพรรดิได้ครองความเป็นใหญ่ยิ่งแห่งทวีปทั้งสี่ เบื้องหน้า จากการตายเพราะการแตกทำลายแห่งกาย อาจได้เข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เป็น สหายอยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถูกแวดล้อมอยู่ด้วย หมู่ นางอัปษร ในสวนนันทวัน ท้าวเธอเป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วย กามคุณทั้งห้า อันเป็นของ ทิพย์อย่างนี้ก็ตาม,

แต่กระนั้น ท้าวเธอก็ยังรอดพ้นไปไม่ได้จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัย แห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วิ นิบาต.

ภิกษุ ท. ! ส่วนอริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ แม้เป็นผู้ยังอัตตภาพ ให้พอเป็นไป ด้วย คำข้าว ที่ได้มาจากบิณฑบาตด้วยปลีแข้งของตนเอง พันกายด้วยการ นุ่งห่ม ผ้าปอนๆไม่มีชาย ,

หากแต่ว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วย ธรรม ๔ ประการ เธอก็ยังสามารถ รอดพ้น เสียได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจาก อบาย ทุคติ วิ นิบาต.

ภิกษุ ท. ! ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ? สี่ ประการ คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในองค์พระพุทธเจ้า . . ในองค์พระธรรม . . ในองค์พระสงฆ์ . . เป็นผู้ประกอบ พร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลาย ชนิดเป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า ฯลฯ ดังนี้.


36
ความยาก 3 สิ่งที่เสมอกัน
(P176 ฉบับหลวง)

1 การเกิดของตถาคตสัมมาสัมพุทธะ
2 การได้อัตภาพเป็นมนุษย์
3 การที่ศาสนาแผ่ไพศาลไปทั่วโลก

ความยาก : ทรงอุปมาเปรียบเหมือนเต่าตาบอดที่เจอแอกไม้ไผ่

(อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้าที่ ๑๔๙๖)

โอกาสแห่งโยคกรรมในการเห็นอริยสัจ บัดนี้ถึงพร้อมแล้ว

        ภิกษุ ท. !  ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็น อันเดียวกัน ทั้งหมด บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก (ไม่ไผ่?) ซึ่งมีรูปรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก ลมตะวันตก พัดให้ลอยไปทางทิศ ตะวันออก ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้.

ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ.

ภิกษุ ท. !  เธอ ท. จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นสักครั้งหนึ่ง  จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า !  ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น”.

ภิกษุ ท. ! 
ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ ใครๆจะพึงได้ความเป็นมนุษย์
ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะจะเกิดขึ้นในโลก
ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก

ภิกษุ ท. !  แต่ว่า บัดนี้ ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไป ทั่วโลกแล้ว.

ภิกษุ ท. !  เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ ว่า “นี้ ทุกข์ นี้ เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ ความดับแห่งทุกข์ นี้หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔.



37
เคล็ดลับ ในการเป็นเศษดินปลายเล็บ


ฟังคำตถาคตเนืองๆ จนคล่องปาก ขึ้นใจ (จะพูดตามได้ นึกตามได้ด้วยใจ)
แทงตลอดอย่างดีด้วยทิฐิ (เข้าใจในบทพยัญชนะนั้นๆที่ตนเองทรงจำไว้ได้)

ด้วยเหตุอันนี้ ศาสดาของเรายืนยันว่า ถึงแม้เขาจะมีสติหลงลืมทำกาละ
ก็ยังได้ไปเกิดเป็นเทวดา และในภพของเทวดานั้น เขาจะบรรลุธรรม (สำเร็จเป็นอรหันต์)

..............................................................................

อามกธัญญเปยยาล จตุตถวรรคที่ ๑๐
ว่าด้วยสัตว์ผู้มีการทำต่างๆ กัน (เศษดินปลายฝุ่น)

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายพระนขา แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มาแล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน  ฝุ่นเล็กน้อย ที่เราช้อนไว้ในปลายเล็บ กับแผ่นดินใหญ่นี้ ไหนจะมากกว่ากัน?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แผ่นดินใหญ่นี้แลมากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่ พระผู้มีพระภาคทรงช้อนไว้ที่ปลาย พระนขา มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนไว้ที่ปลาย พระนขา(เล็บ) ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว

ดูกรภิกษุทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ที่จุติในพวกมนุษย์แล้ว กลับมาเกิดในพวกมนุษย์ มีน้อย โดยที่แท้สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้ว
กลับไปเกิดในในนรก ไปเกิดเป็นสัตว์ เดรัจฉาน  ไปเกิดในเปรตวิสัย มีมากกว่า
------------------------------------------------------------------------------

เศษดินปลายเล็บ (ย่อจากพระสูตรเต็ม
)

1.มนุษย์ ตายแล้วไปไหน
   มาเกิดเป็นมนุษย์ มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   มาเกิดเป็นเทวดา มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   ไปเกิดในนรก-สัตว์เดรัจฉาน-เปรตวิสัย มีมากกว่า (เท่าดินในปฐพี)

2.เทวดา ตายแล้วไปไหน
   มาเกิดเป็นเทวดา มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   มาเกิดเป็นมนุษย์ มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   ไปเกิดในนรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า (เท่าดินในปฐพี)

5.เปรตวิสัย ตายแล้วไปไหน
   มาเกิดเป็นมนุษย์ มีน้อย
   มาเกิดเป็นเทวดา มีน้อย
   ไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า (เท่าดินในปฐพี)

4.สัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วไปไหน
   มาเกิดเป็นมนุษย์ มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   มาเกิดเป็นเทวดา มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   ไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า (เท่าดินในปฐพี)

3.สัตว์นรก ตายแล้วไปไหน
   มาเกิดเป็นมนุษย์ มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   มาเกิดเป็นเทวดา มีน้อย (เท่าเศษดินปลายเล็บ)
   ไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรตวิสัย มีมากกว่า (เท่าดินในปฐพี)

อ่านพระสูตรเต็ม



38
ฟังธรรมก่อนตาย(ผัคคุณะสูตร)

ผัคคุณสูตร
อานิสงส์ของการได้ฟังธรรมในกาละอันควร คือในเวลาใกล้ตาย
คนที่ใกล้ตายจะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ สังโยชน์คือเครื่องร้อยรัด

มีสังโยชน์ 10 อย่าง(สังโยชน์เบื้องต่ำ5 และสังโยชน์เบื้องสูง 5)
ปุถุชนมี 10 อย่าง (ยังละอะไรไม่ได้เลย)
โสดาบัน ละได้ 3 อย่าง ( สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส )
สกทาคามี ละได้ 3 อย่าง (แต่ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง)
อนาคามี ละได้ 5 อย่าง (ละสังโยชน์เบื้องต่ำ)
อรหันต์ ละได้ 10 อย่าง (ละได้ทั้งหมด ทั้งสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 และเบื้องสูง 5 )

ถ้าได้ฟังธรรมตถาคตในกาละอันควร
พระองค์ยืนยันว่าคนๆนั้นจะละสังโยชน์ 5 ได้
ผลที่เห็นคือ ผู้ตายผิวพรรณผ่องใส ผิวเหลืองเป็นสีขมิ้น
เนื้อตัว นิ้ว แขนขา ขยับได้เเหมือนคนปกติ
ผิวหนังยังนิ่ม แม้ผ่านมาถึง 7 วัน และไม่มีกลิ่น
แม้ไม่ได้ฉีดยา

....................................................

สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์
หรือกิเลส เครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง คือ

สังโยชน์ 10 (แบบย่อ)

เบื้องต่ำ
1. สักกายทิฏฐิ - คิดว่ากายนี้เป็นของเรา
2. วิจิกิจฉา - สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาส - งมงายในคำสอนของลัทธิอิ่น
4. กามราคะ- ติดใจในกามคุณทั้ง5
5. ปฏิฆะ - มีความกระทบทางใจ


เบื้องสูง
6. รูปราคะ - ติดในใน รูปฌาน
7. อรูปราคะ - ติดในใน อรูปฌาน
8. มานะ - ถือตัว ยึดมั่นในตัวตน
9. อุทธัจจะ -ฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา - ความไม่รู้จริง


39
ลักษณะการพูดของตถาคต


ราชกุมาร ! ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็น ที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รัก ที่พึง ใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะเพื่อกล่าววาจานั้น.
ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.



40
จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอ เป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม

ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น ในความจริงอันประเสริฐ สี่ประการ ด้วยปัญญา อันรู้ เฉพาะตามที่เป็นจริง ความจริงอันประเสริฐ สี่ประการอะไรเล่า ?


สี่ประการคือ
      ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์
      ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์
      ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
      และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่อง กระทำ ให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.


มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.