1
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า488
ธรรมหมวดละหก ๖ หมวด เป็นสิ่งที่ควรรู้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมอันมีความ ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในเบื้องปลาย แก่พวกเธอทั้งหลาย จักประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง กล่าวคือ ธรรมหมวดละหก ๖ หมวด
๑. อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๒. อายตนะภายนอก ๖
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์
๓. วิญญาณ ๖ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา.. กาย.. มโน..
๔. ผัสสะ ๖ ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
๕. เวทนา ๖ เวทนาที่เกิดจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
๖. หมู่แห่งตัณหา ๖
๑. รูปตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดรูป เป็นอารมณ์]
๒. สัททตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดเสียง เป็นอารมณ์]
๓. คันธตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดกลิ่น เป็นอารมณ์]
๔. รสตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดรส เป็นอารมณ์]
๕. โผฏฐัพพตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดโผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์]
๖. ธัมมตัณหา [ตัณหาที่เกิดขึ้น ยึดธรรม เป็นอารมณ์]
ก็เมื่อความเกิดก็ดี ความเสื่อมก็ดี ของธรรมหมวดละหก ๖ หมวด ปรากฏอยู่
เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลาย(ทั้ง ๖ หมวด) จึงเป็นอนัตตา.......................................................................................
2
สัมมสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้า ๑๐๙
ชรามรณะ ใครเป็นผู้กระทำให้เกิด และเกิดมาได้อย่างไร
(พระมหาโกฏฐิตะสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร)
พระสารีบุตรตอบคำถามพระมหาโกฏฐิตะถึงการเกิดขึ้นแห่งชรามรณะ
1. ชรามรณะ เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำเอง ก็ไม่ใช่
2. ชรามรณะ เป็นสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำ ก็ไม่ใช่
3. ชรามรณะ เป็นสิ่งที่ทั้งบุคคลกระทำ และบุคคลอื่นกระทำ ก็ไม่ใช่
4. ชรามรณะ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกกระทำทั้งสองฝ่าย ก็ไม่ใช่
แต่ว่า เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ
(กรณีแห่ง ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ ก็มีเหตุปัจจัย ทำให้เกิด เช่นเดียวกับ ชรามรณะ)
.......................................................................................
3
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 573
ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะความเกิดขึ้นแห่งนันทิ
(ตรัสกับปุณณะ)
รูป ทั้งหลายที่เห็นด้วย ตา อันเป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ เป็นที่ยั่วยวน ชวนให้รัก เป็นที่เขาไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้อมใจ มีอยู่ ถ้าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญสยบมัวเมาในรูปนั้น ไซร้ เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาในรูปนั้นอยู่ นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น เรากล่าวว่า ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์มีได้ เพราะความเกิดขึ้นแห่งนันทิ ดังนี้
เสียง ทั้งหลายที่ได้ยินด้วย หู ...
กลิ่น ทั้งหลายที่ดมด้วย จมูก ...
รส ทั้งหลายที่ลิ้มด้วย ลิ้น ...
โผฏรัพพะ ทั้งหลายที่ถูกต้องด้วย กาย ...
ธัมมารมณ์ ทั้งหลายที่รู้แจ้งด้วย ใจ ….
(ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลินในอายตนะภายนอกทั้ง๖ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์)
.....................................................................................
4
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก ๑๗๒-๑๗๓
มลทิน ๘ ประการ (มลสูตร)
มลทิน ๘ ประการเป็นไฉน
๑. มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
๒. เรือนมีความไม่หมั่นเป็นเป็นมลทิน
๓. ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ
๔. ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา
๕. ความประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง
๖. ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้
๗. อกุศลธรรมที่ลามกเป็นมลทินแท้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๘. มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้น คือ อวิชชา
.....................................................................................
5
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 598
การอยู่อย่างมีเพื่อนสอง
ดูก่อนมิคชาละ รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีรูปน่ารัก เป็นที่ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ย้อมใจ มีอยู่
ถ้าหากว่าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมาซึ่งรูป นั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญสยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่นั่นแหละ
นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อนันทิ มีอยู่ สาราคะ (ความกำหนัดกล้า) ย่อมมี
เมื่อ สาราคะ มีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี
ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์-ด้วยอำนาจ แห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง
(ในกรณีแห่งเสียง กลิ่น รส สัมผัสด้วยผิวกาย และธัมมารมณ์ ก็มีนัยะอย่างเดียวกัน)
..................................................................................
6
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 599
การอยู่อย่างมีเพื่อนคนเดียว
ดูก่อนมิคชาละ รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ เป็นรูปที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีรูปน่ารัก เป็นที่ เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ย้อมใจ มีอยู่
ถ้าหากว่าภิกษุย่อม ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมาซึ่งรูป นั้นอยู่นั่นแหละ
นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมดับ
เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่ สาราคะ (ความกำหนัดกล้า) ย่อมไม่มี
เมื่อสาราคะ ไม่มีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมไม่มี
ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่ง ความเพลิดเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว
(ในกรณีแห่งเสียง กลิ่น รส สัมผัสด้วยผิวกาย และธัมมารมณ์ ก็มีนัยะอย่างเดียวกัน)
...................................................................................
7
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า 1142
เวทนาที่ควรเสพ และเวทนาที่ไม่ควรเสพ
โสมนัสที่ไม่ควรเสพ
โสมนัสใดเมื่อเสพอยู่ ทำให้อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม
โสมนัสที่ควรเสพ
โสมนัสใดเมื่อเสพอยู่ ทำให้อกุศลเสื่อม กุศลเจริญ
โสมนัสที่มีวิตกมีวิจาร และโสมนัสที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
โสมนัสที่ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เป็นโสมนัสที่ประณีตกว่า
กรณีแห่ง โทมนัสและอุเบกขา ก็ตรัสไว้อย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่ง โสมนัส
ที่กล่าวว่า ไม่ควรเสพเพราะทำให้อกุศลเจริญ หมายถึงเวทนาที่เกิดจากการครองเรือน
ที่กล่าวว่า ควรเสพเพราะทำให้กุศลเจริญ หมายถึงเวทนาที่อาศัยเนกขัมมะ ไม่ข้องกับเรือน
ที่กล่าวว่า มีวิตกวิจาร หมายถึงเวทนาที่เกิดจากการ ปฏิบัตินับตั้งแต่ปฐมฌานลงมา
ที่กล่าวว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร หมายถึงเวทนาที่เกิดจากการปฏิบัตินับตั้งแต่ทุติยฌานขึ้นไป
ถ้าบุคคลเกี่ยวข้องกับ เวทนาทั้งสามนี้ อย่างถูกต้อง การทำความเพียรเพื่อละอกุศล และเจริญกุศล จักเป็นไปโดยง่าย
....................................................................................
8
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 622
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง อาหารของอวิชชา
ที่สุดในเบื้องต้นของอวิชชา ย่อมไม่ปรากฏ
ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี แต่ว่า อวิชชาเพิ่งมีต่อภายหลัง
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อ ไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ย่อม ไม่มีสัทธา
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อไม่มีสัทธา ย่อมทำให้ อโยนิโสมนสิการบริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่ออโยนิโสมนสิการบริบูรณ์ ย่อม ไม่มีสติสัมปชัญญะ
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะ ย่อม ไม่สำรวมอินทรีย์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อไม่สำรวมอินทรีย ย่อมทำให้ ทุจริต ๓ บริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อทุจริต ๓ บริบูรณ์ ย่อมทำ นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อนิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ ย่อมทำ อวิชชา บริบูรณ์
เปรียบเหมือนเมื่อฝนหนัก ๆ ตกลงบนภูเขา น้ำฝนนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมทำซอกเขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลายให้เต็ม
ครั้นซอกเขาซอกผา และลำห้วยทั้งหลายเต็มแล้ว
ย่อมทำบึงน้อยทั้งหลาย ให้เต็ม
บึงน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำบึงใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม
บึงใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำน้อยทั้งหลายให้เต็ม แม่น้ำน้อยทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำแม่น้ำใหญ่ทั้งหลายให้เต็ม
แม่น้ำใหญ่ทั้งหลายเต็มแล้ว ย่อมทำมหาสมุทรสาครให้เต็ม
....................................................................................
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 628
9
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง อาหารของวิชชาและวิมุตติ
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อคบสัปบุรุษ ย่อมได้ ฟังพระสัทธรรม
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อได้ฟังพระสัทธรรม ย่อมทำให้ สัทธา
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อเกิดความสัทธา ย่อมทำ โยนิโสมนสิการ
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อทำโยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นผู้ มีสติสัมปชัญญะ
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อม สำรวมอินทรีย์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อสำรวมอินทรีย์ ย่อม ทำสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อสุจริต ๓ บริบูรณ์ ย่อม ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ ย่อม ทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
(เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี)
เมื่อโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ ย่อม ทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
..................................................................................
10
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 631
เครื่องสนุกสนานชอบใจของพระตถาคต
กุณฑลิยปริพพาชก ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้ชอบเที่ยวไปตามหมู่บริษัทในอารามต่างๆ. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าเสร็จ ภัตตกิจในเวลาเช้าแล้ว หลังจากเวลาแห่ง ภัตแล้ว กิจเป็นประจำวันของข้าพเจ้า คือ เที่ยวไปจากอารามนั้นสู่อารามนี้จาก อุทยานนั้นสู่อุทยานนี้.
ในที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งๆ เป็นผู้มีการเปลื้องวาทะ แก่กันและ กัน ว่าอย่างนี้ ๆ เป็นเครื่องสนุกสนานชอบใจ (อานิสงส์) ก็มี มีการติเตียนกันเมื่อกล่าว กถา นั้น ๆ อยู่ เป็นเครื่องสนุกสนานชอบใจก็มี ก็พระสมณะโคดมเล่าเป็นผู้อยู่ ด้วยการมีอะไรเป็นเครื่อง สนุกสนาน ชอบใจ?
ดูก่อนกุณฑลิยะ ตถาคตอยู่ด้วยการมีผลแห่งวิชชา และวิมุตติ เป็นเครื่องสนุกสนาน ชอบใจ
.................................................................................
11
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 631
ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญแล้วทำวิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา และ วิมุตติให้บริบูรณ์
ดูก่อนกุณฑลิยะ สติปัฏฐาน ๔ ประการ แล
ก็ธรรมเหล่าไหนเล่าที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน๔ บริบูรณ์
สุจริต ๓ ประการ แล
ก็ธรรมเหล่าไหนเล่าที่บุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร แล
ก็อินทรีย์สังวรที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไรเล่าจึงจะทำสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์
ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปที่น่าพอใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่เพ่งเล็ง ด้วยความโลภ ไม่หวังจะเอามาทะนุถนอม ไม่ทำราคะให้เกิดขึ้น กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ ตั้งมั่น ดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้วในภายใน
อนึ่งเธอ เห็นรูปที่ไม่น่าพอใจด้วยจักษุแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เงอะงะ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วย โทสะ มีใจอันความ โกรธไม่ครอบงำแล้ว มีจิตไม่มาดร้ายแล้ว กายของเธอก็คงที่จิต ก็คงที่ ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้วในภายใน. (ในกรณีแห่งเสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ตรัสไว้มีนัยเดียวกัน)
...............................................................................
12
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 635
นิพพานคือที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
อุณณาภพราหมณ์ ทูลถามว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ อย่างเหล่านี้ มีวิสัยต่างกันมีโคจรต่างกัน ไม่เสวยโคจร และวิสัยของกันและกัน
ห้าอย่างคือ จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นปฏิสรณะ (ที่แล่นไปสู่) ของอินทรีย์เหล่านั้น อะไรย่อมเสวยซึ่งโคจร และ วิสัย ของอินทรีย์เหล่านั้น
ดูก่อนพราหมณ์ ...ใจ เป็นปฏิสรณะของอินทรีย์เหล่านั้น
ใจ ย่อมเสวยซึ่งโคจรและวิสัยของอินทรีย์เหล่านั้น
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นปฏิสรณะของใจ
ดูก่อนพราหมณ์ สติ แล เป็นปฏิสรณะของใจ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นปฏิสรณะของสติ
ดูก่อนพราหมณ์ วิมุตติ แล เป็นปฏิสรณะของสติ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นปฏิสรณะของวิมุตติ
ดูก่อนพราหมณ์ นิพพาน แล เป็นปฏิสรณะของวิมุตติ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเป็นปฏิสรณะของนิพพาน
ดูก่อนพราหมณ์ แล่นเตลิดเลยไปเสียแล้ว ไม่อาจถือเอาที่สุดแห่งปัญหาเสียแล้ว เพราะว่า พรหมจรรย์ นั้น เขาอยู่ประพฤติกัน มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็น เบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด
...............................................................................
13
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 636
บุคคลย่อมรู้ตามซึ่งสัจจธรรม (ตามรู้ความจริง) ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้าน หรือในนิคม แห่งใดแห่งหนึ่ง. คหบดี หรือ คหบดีบุตร ได้เข้าไปใกล้ภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญ ดูอยู่ในใจ เกี่ยวกับธรรม ๓ ประการ คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ ทั้งหลาย
ลำดับนั้น เขา
(๑) ปลูกฝังศรัทธาลงไปในภิกษุนั้น ครั้นมีสัทธาเกิดแล้ว
(๒) ย่อมเข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว
(๓) ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ครั้นเข้าไปนั่งใกล้แล้ว
(๔) ย่อมเงี่ยโสตลง ครั้นเงี่ยโสตลง
(๕) ย่อมฟังซึ่งธรรม ครั้งฟังซึ่งธรรมแล้ว
(๖) ย่อมทรงไว้ซึ่งธรรม
(๗) ย่อมใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรม ทั้งหลาย อันตนทรงไว้แล้ว เมื่อใคร่ครวญ ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมอยู่
(๘) ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อความเพ่งพินิจ เมื่อการทนต่อการเพิ่งพินิจของ ธรรมมีอยู่
(๙) ฉันทะ ย่อมเกิดขึ้น ผู้มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว
(๑๐) ย่อมมี อุสสาหะครั้นมีอุสสาหะแล้ว
(๑๑) ย่อม พิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรม ครั้นมีความสมดุลย์แห่งธรรมแล้ว
(๑๒) ธรรมเป็นเครื่องตั้งมั่น ย่อมตั้งมั่น เขาผู้มีตนส่งไปแล้วอย่างนี้อยู่
ย่อม กระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ ด้วย (นาม) กายด้วย
ย่อม แทงตลอดซึ่งธรรมนั้นแล้วเห็นอยู่ด้วยปัญญาด้วย
ดูก่อนภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สัจจานุโพธ* (การรู้ตามซึ่งสัจจธรรม) ย่อมมีได้ บุคคล ย่อมรู้ตาม ซึ่งสัจจธรรมได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเราบัญญัติซึ่ง สัจจานุโพธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ แต่ว่า สัจจานุปัตติ (การบรรลุซึ่งสัจจธรรม) ยังมิได้มี ดังนี้
*(สจฺจานุโพโธ)
...............................................................................
14
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 651
ความพอใจในอรหัตตผลย่อมมีได้ เพราะกระทำโดยลำดับ
(ปฏิจจสมุปบาท แห่ง บรมสัจจะ)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้
เพราะการศึกษา โดยลำดับ
เพราะการกระทำ โดยลำดับ
เพราะการปฏิบัติ โดยลำดับ
เป็นอย่างไรเล่า?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลในกรณีนี้
เป็นผู้มีสัทธาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าไปหา
เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้
เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ
ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ย่อมได้ฟังธรรม
ครั้นฟังแล้ว ย่อมทรงจำธรรมไว้
ย่อมใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้
เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ธรรมทั้งหลายย่อมทน ต่อการเพ่งพิสูจน์
เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด
ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อมมีอุตสาหะ
ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อมใช้ดุลยพินิจ (เพื่อหาความจริง)
ครั้นใช้ดุลยพินิจ (พบ)แล้ว ย่อมตั้งตนไว้ในธรรมนั้น
ผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง บรมสัจจ์ ด้วยกายด้วย ย่อมเห็นแจ้งแทง ตลอดซึ่ง บรมสัจจ์ นั้น ด้วยปัญญาด้วย
...............................................................................
15
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 653
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย
(ปฏิจจสมุปบาท แห่ง สุวิมุตตจิต)
ภิกษุเห็นจักษุอันไม่เที่ยงนั่นแล ว่าไม่เที่ยง
ความเห็น เช่นนั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ ของเธอนั้น
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย (สมฺมา ปสฺสํ นิพฺพินฺทติ)
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ (นนฺทิกฺขยา ราคกฺขโย)
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ (ราคกฺขยา นนฺทิกฺขโย)
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ กล่าวได้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ดังนี้ (นนฺทิราคกฺขยา จิตฺตํ สุวิมุตฺตนฺติ วุจฺจติ)
(ในกรณีแห่งอายตนะภายในที่เหลืออีก ๕ คือ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน และใน กรณีแห่ง อายตนะ ภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็ตรัส อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุ ทุกประการ)
(อีกนัยหนึ่งซึ่งตรัสไว้ในที่อื่น)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจง กระทำโยนิโสมนสิการ ซึ่งจักษุ และจงพิจารณาเห็น ความที่จักษุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ตามที่เป็นจริง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ เมื่อกระทำโยนิโสมนสิการซึ่งจักษุ และพิจารณาเห็นความที่จักษุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ตามที่เป็นจริงอยู่ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทะ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ กล่าวได้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ดังนี้
(ในกรณีแห่งอายตนะภายในที่เหลืออีก ๕ และในกรณีแห่งอายตนะภายนอก ๖ ก็ตรัส อย่างเดียวกันกับ ในกรณีแห่งอายตนะภายในคือจักษุ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ทุกประการ)
...............................................................................
16
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 654
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
(ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การปรินิพพานเฉพาะตน)
รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั้น ไม่ใช่ของเรา
ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา
เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้
(กรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกับรูปทุกประการ)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้
ปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่มี
เมื่อ ปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี อปรันตานุทิฏฐิทั้งหลาย ย่อมไม่มี
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าย่อมไม่มี
เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ
ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต)
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง
เมื่อไม่หวาดสุดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว
เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จ แล้ว กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้
.............................................................................
17
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 656
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การดับอุปาทานสี่
อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
สี่อย่างเป็นอย่างไรเล่า? สี่อย่างคือ
กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน
ก็อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้
มีอะไรเป็นนิทาน (ต้นเหตุ)
มีอะไรเป็นสมุทัย (เครื่องก่อขึ้น)
มีอะไรเป็นชาติกะ (เครื่องทำให้เกิด)
มีอะไรเป็นปภวะ (แดนเกิด)
อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ มีตัณหาเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็ตัณหา
มีอะไร เป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะ เป็นปภวะ
ตัณหา มีเวทนาเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะ เป็นปภวะ
เวทนา มีผัสสะเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็ผัสสะนี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะเป็นปภวะ
ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นนิทาน ...ฯลฯ....
ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะเป็นปภวะ
สฬายตนะ มีนามรูปเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็นามรูปนี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะเป็นปภวะ
นามรูป มีวิญญาณเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัย เป็นชาติกะ
วิญญาณ มีสังขารเป็นนิทาน ...ฯลฯ...
ก็สังขารทั้งหลาย เหล่านี้ มีอะไรเป็นนิทาน เป็นสมุทัยเป็นชาติกะ เป็นปภวะ
สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นนิทาน เป็นสมุทัยเป็นชาติกะ เป็นปภวะ
ในกาลใดแล อวิชชาภิกษุละได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้น เพราะความสำรอกออกโดยไม่เหลือแห่งอวิชชาเพราะวิชชาเกิดขึ้น
เธอย่อมไม่ยึดมั่น ซึ่งกามุปาทาน
เธอย่อมไม่ยึดมั่น ซึ่งทิฏฐุปาทาน
เธอย่อมไม่ยึดมั่น ซึ่งสีลัพพัตตุปาทาน
ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งอัตตวาทุปาทาน
เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น เธอย่อมไม่สะดุ้ง
เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ดังนี้
.................................................................................
18
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 658
เมื่อการเคลื่อนและการเกิดขึ้นไม่มี นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์
(ปฏิจจสมุปบาท แห่ง ความสิ้นสุดของโลก)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงชักชวนภิกษุทั้งหลายด้วย ธัมมิกถา อันเนื่องเฉพาะด้วย นิพพาน ได้ทรงเห็นว่าภิกษุทั้งหลายสนใจฟังอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสพระพุทธอุทานนี้ขึ้น ในเวลานั้น ว่า -
ความหวั่นไหว ย่อมมีแก่บุคคลผู้อัน ตัณหาและ ทิฏฐิ อาศัยแล้ว
(นิสฺสิตสฺส จลิตํ)
ความหวั่นไหว ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อัน ตัณหาและ ทิฏฐิ ไม่อาศัยแล้ว
(อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ)
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ปัสสัทธิ (ความสงบจากกิเลส) ย่อมมี
(จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ)
เมื่อปัสสัทธิมี นติ (ความน้อมไป) ย่อมไม่มี
(ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ)
เมื่อนติไม่มี อาคติคติ (การมาและการไป) ย่อมไม่มี
(นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ)
เมื่ออาคติคติไม่มี จุตูปปาตะ (การเคลื่อนและการเกิดขึ้น) ย่อมไม่มี
(อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ)
เมื่อจุตูปปาตะไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี ในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลก ทั้งสอง นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ (เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส) ดังนี้ แล
................................................................................
19
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 644
ปฏิจจสมุปบาทแห่งการอยู่ ด้วยความประมาทของอริยสาวก
อริยสาวกนั้น ยินดีอยู่แต่ในธรรมเพียงเท่านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อปวิเวก(ที่สงัด)ในกลางวัน เพื่อปฏิสัลลาณะ (ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท) ในกลางคืน
เมื่ออริยสาวกนั้น เป็นผู้ประมาทแล้วอย่างนี้อยู่ ปราโมทย์ย่อมไม่มี
เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติก็ไม่มี
เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิก็ไม่มี
เมื่อปัสสัทธิไม่มี ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ผู้มีทุกข์ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น
เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้น ย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท
(แม้อริยสาวกผู้ได้ความเป็นโสดาบัน
สกทาคามี และอนาคามี ก็พยายามให้ยิ่งขึ้นไป ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท)
..............................................................................
20
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 654
ปฏิจจสมุปบาท แห่ง การปรินิพพานเฉพาะตน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น นั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณี แห่งรูป ทุกประการ).
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อบุคคลเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบ ตรงตามที่เป็นจริง อยู่อย่างนี้ ปุพพันตานุทิฏฐิ๑ ทั้งหลาย ย่อมไม่มี เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิ ทั้งหลายไม่มี อปรันตานุทิฏฐิ๒ทั้งหลาย ย่อมไม่มี
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี
เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี จิตย่อมจางคลายกำหนัดในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต)
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง
เมื่อไม่หวาดสุดุ้ง ย่อมปรินิพพาน(ดับรอบ) เฉพาะตนนั่นเทียว.
เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้.
๑. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ใน เบื้องต้น หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของ อดีต
๒. ความเห็นที่ปรารภขันธ์ใน เบื้องปลาย หรือความเห็นที่เป็นไปในส่วนของ อนาคต
...............................................................................
21
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 665
สัมมาทิฏฐิ คือทิฏฐิที่ปราศจาก
อัตถิตา(ความมี) และ นัตถิตา (ความไม่มี)
สัมมาทิฏฐิ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอพระเจ้าข้า?
ดูก่อนกัจจานะ สัตว์โลกนี้ อาศัยแล้วซึ่ง ส่วนสุดทั้งสอง โดยมาก คือส่วนสุดว่า อัตถิตา (ความมี) และส่วนสุดว่า นัตถิตา (ความไม่มี)
ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดว่า นัตถิตา ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริง ซึ่งธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งโลก
ดูก่อนกัจจานะ ส่วนสุดว่า อัตถิตา ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้เห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริง ซึ่งธรรมคือความดับไม่เหลือแห่งโลก
ดูก่อนกัจจานะ สัตว์โลกนี้โดยมาก ถูกผูกพันแล้ว ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน ด้วยทิฏฐิ แต่ อริยสาวกนี้ ไม่เข้าถึง ไม่ถือเอา ไม่ถึงทับ ซึ่งตัณหา และ อุปาทาน อันเป็น เครื่อง ถึงทับแห่งใจ อันเป็นอนุสัยแห่งทิฏฐิว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่สงสัย ย่อมไม่ลังเล ในข้อที่ว่า เมื่อจะเกิด ทุกข์เท่านั้น ย่อมเกิดขึ้น เมื่อจะดับ ทุกข์เท่านั้น ย่อมดับ ดังนี้.
ญาณในข้อนี้ ย่อมมีแก่อริยสาวกนั้น โดยไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น
ดูก่อนกัจจานะ สัมมาทิฏฐิ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล
...............................................................................
22
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 667
ไม่มีตนเอง ไม่มีผู้อื่นที่ก่อทุกข์
ความทุกข์เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำ เอง หรือพระเจ้าข้า?
อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย กัสสปะ
ความทุกข์เป็นสิ่งที่บุคคลอื่นกระทำให้หรือพระเจ้าข้า?
อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย กัสสปะ
ความทุกข์เป็นสิ่งที่บุคคลกระทำเองด้วยและบุคคลอื่นกระทำให้ด้วย หรือพระเจ้าข้า?
อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย กัสสปะ
ความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำเองหรือใครทำให้เกิดขึ้นได้หรือพระเจ้าข้า?
อย่ากล่าวอย่างนั้นเลย กัสสปะ
ความทุกข์ไม่มีหรือพระเจ้าข้า?
ดูก่อนกัสสปะ มิใช่ความทุกข์ไม่มี ที่แท้ ความทุกข์มีอยู่
ถ้าอย่างนั้นพระโคดมผู้เจริญ ย่อมไม่รู้ไม่เห็นความทุกข์กระมัง?
ดูก่อนกัสสปะ เราจะไม่รู้ ไม่เห็นความทุกข์ ก็หามิได้. เราแล ย่อมรู้ย่อมเห็น ซึ่งความทุกข์
ตถาคตย่อมแสดงธรรม โดยสายกลาง ไม่เข้าไปหา ส่วนสุดทั้งสอง๑ นั้น คือตถาคต ย่อมแสดงดังนี้ว่า
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็น ปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ...
๑ (ความมี - ความไม่มีตัวตน)
...............................................................................
23
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 688
โลกายตะ ๔ ชนิด ที่ทรงปฏิเสธ
(ตรัสกับพราหมณ์)
๑) สิ่งทั้งปวงมีอยู่
๒) สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่
๓) สิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน
๔) สิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นต่างกัน
ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคต ย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้น คือตถาคต ย่อมแสดงดังนี้ว่า เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้
* คัมภีร์โลกายตะ หมายถึงคัมภีร์ ที่ว่าด้วยศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่น โดยการอ้างทฤษฎี และประเพณี ทางสังคม มาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรม แต่อย่างใด
...............................................................................
24
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 805
ธรรมไหลไปสู่ธรรม โดยไม่ต้องมีใครเจตนา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อมีศีลสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า อวิปปฏิสาร จงบังเกิดแก่เรา
เมื่อมีศีลสมบูรณ์แล้ว อวิปปฏิสาร (ความไม่ร้อนใจ) ย่อมเกิด (เอง)
เมื่อไม่มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ) ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า ปราโมทย์ จงบังเกิดแก่เรา
เมื่อไม่มีวิปปฏิสาร ปราโมทย์ ย่อมเกิด (เอง)
เมื่อปราโมทย์แล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า ปีติ จงบังเกิดแก่เรา
เมื่อปราโมทย์แล้ว ปีติ ย่อมเกิด (เอง)
เมื่อมีใจปีติแล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า กายของเรา จงรำงับ
เมื่อมีใจปีติแล้ว กายย่อมรำงับ (เอง)
เมื่อกายรำงับแล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า เราจงเสวยสุขเถิด
เมื่อกายรำงับแล้ว ย่อมได้เสวยสุข (เอง)
เมื่อมีสุข ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า จิตของเราจงตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ (เอง)
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า เราจงรู้จงเห็น ตามที่เป็นจริง
เมื่อจิต ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้ ย่อมเห็น ตามที่เป็นจริง (เอง)
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า เราจงเบื่อหน่าย
เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่ เป็นจริง ย่อมเบื่อหน่าย (เอง)
เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า เราจงคลายกำหนัด
เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัด (เอง)
เมื่อจิตคลายกำหนัดแล้ว ก็ไม่ต้องทำเจตนาว่า เราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะ
เมื่อคลายกำหนัดแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่ง วิมุตติญาณทัสสนะ (เอง)
...............................................................................
25
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า 812
ธรรมสองอย่างที่ภิกษุพึงเข้าใจตรงกัน คืออายตนะ และปฏิจจ
(เพื่อความยั่งยืนของศาสนาและความสุขของมหาชน)
ธรรมสองอย่าง อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ ดีแล้ว มีอยู่ อันพุทธบริษัททั้งหลาย (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ทั้งปวงนั่นเทียว พึงทำ สังคีติ* ในธรรมสองอย่างนั้น ไม่พึงวิวาทกันในธรรมสองอย่างนั้น โดยประการ ที่พรหมจรรย์ (ศาสนา) นี้ จะพึงมั่นคง ตั้งอยู่นาน
*(คือสอบสวน จนเป็นที่เข้าใจตรงกันทุกคน แล้วช่วยกันสาธยาย เพื่อทรงจำไว้อย่างมั่นคง)
ข้อนั้นจะพึงเป็นไป
เพื่อหิตสุข (ความสุข) แก่มหาชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก
เพื่อประโยชน์หิตสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมสองอย่างนั้นคืออะไรเล่า ? ธรรมสองอย่างนั้นคือ
๑) อายตนกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ
๒) ปฏิจจสมุปปาทกุสลตา - ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท
...............................................................................
26
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๘
มิจฉาปฏิปทา - สัมมาปฏิปทา ของคฤหัสถ์
ปฏิปทาสูตรที่ ๒ ว่าด้วยญายธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญ มิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยัง ญายธรรม (ความถูกต้องเหมาะสม) อันเป็นกุศล ให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งใจมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทา ของ คฤหัสถ์หรือบรรพชิตคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรม อันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความ ปฏิบัติผิด เป็นตัวเหตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญ สัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความ ปฏิบัติชอบ เป็นตัวเหตุ ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน? ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจมั่นชอบ นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญสัมมาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความ ปฏิบัติชอบ เป็นตัวเหตุ
...............................................................................
27
...............................................................................
28
...............................................................................
29
...............................................................................
30
...............................................................................
31
............................................................................
32
...............................................................................
33
...............................................................................
34
...............................................................................
35
...............................................................................
36
...............................................................................
37
...............................................................................
38
...............................................................................
39
...............................................................................
40
...............................................................................
41
...............................................................................
42
...............................................................................
43
...............................................................................
44
...............................................................................
45
...............................................................................
46
...............................................................................
47
...............................................................................
48
...............................................................................
49
...............................................................................
50
|