เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ        

 
พระสูตรสั้น พระสูตรโดยย่อ
  พระสูตรสั้น ชุด7 ทางลัด.. คลิกดูพระสูตรที่เป็นตัวเลข
 
1 (คลิก)
S7- 181 ปฏิจจ-ทำให้อยู่เหนือความมี และความไม่มีของสิ่งทั้งปวง.. สิ่งทั้งปวง มีอยู่หรือหนอ? นี้เป็นส่วนสุด (มิใช่ทางสายกลาง)
S7- 182 ไม่มีผู้นั้น หรือผู้อื่น ในปฏิจจ- ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย (ผล) ...นี้เป็นส่วนสุด (ไม่ใช่สายกลาง) ที่หนึ่ง
S7- 183 กายนี้ไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงกระแสปฏิจจ- กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
S7- 184 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในกพฬีการาหารแล้วไซร้, วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้
S7- 185 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ กรรม 6 อย่าง เจตนาเป็นกรรม..เหตุเกิด..ความมีประมาณต่างๆ..วิบากแห่งกรรม.. ความดับ.. ข้อปฏิบัต
S7- 186 อุเบกขาที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ตรัสกับจอมเทพ โดยพิจารณาจาก อกุศลธรรม และกุศลธรรมที่เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง
S7- 187 เพราะมีสิ่งที่ไม่ตาย สิ่งที่ตายจึงมีทางออก สิ่งซึ่งมิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง นั้นมีอยู่
S7- 188 หตุแห่งความเสื่อม และความตั้งมั่น แห่งพระสัทธรรม ภิกษุเล่าเรียนมาผิด ผู้ว่ายาก ไม่อดทน เป็นผู้มักมาก ประพฤติย่อหย่อน
S7- 189 เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ ...ความหลุดพ้นแห่งจิต(สำรอกราคะได้) และ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา(สำรอกอวิชชาได้)
S7- 190 วิบากกรรมอย่างเบาของผู้ทุศีล ปาณาติบาต อย่างเบาอายุสั้น ทำมากย่อมเป็นไปเพื่อนรก-กำเนิดดิรัจฉาน
2  
S7- 191 อนุสัย ๗ ๑.กามราคะ ๒.ปฏิฆะ ๓.ทิฏฐิ ๔.วิจิกิจฉา ๕.มานะ ๖.ภวราคะ ๗.อวิชชา
S7- 192 อุบาสกจัณฑาล ผู้ไม่มีศรัทธา ทุศีล นับถือโกตุหลมงคล เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม แสวงหาผู้ควรรับทักษิณานอกศาสนานี้ 
S7- 193 อุบาสกรัตนะ ผู้มีศรัทธา มีศีล ไม่นับถือโกตุหลมงคล เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ไม่แสวงหาผู้ควรรับทักษิณานอกศาสนานี้ 
S7- 194 กรรมที่ทำให้ไม่ตกต่ำ พ.ทรงเล่าว่าในชั้น อภัสรพรหม เป็นสักกะจอมเทพถึง 36 ครั้ง อันเนื่องจาก ทาน-ทมะ- สัญญมะ
S7- 195 ความเพียร-สิ้นกิเลสก็แล้วกัน อุปมาเหมือนด้ามมีดที่สึกไป ไม่สนใจว่าสึกวันนี้ หรือเมื่อวาน สึกไปเท่าใด
S7- 196 ความเพียร - หากประพฤติถูกต้อง จะหวังผลหรือไม่หวังผล ย่อมได้รับผล อุปมาคั้นเมล็ดงาบนราง ย่อมได้น้ำมันงา
S7- 197 ทุกข์ - พระพุทธองค์ คือผู้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์ อุปมากระแสนํ้าเป็นชื่อ ตัณหา.. สิ่งน่ารักน่าเพลินใจ เป็นชื่อแห่งอายตนะหกใน
S7- 198 โลก คือ ทุกข์ .. ทรงรอบรู้โลก (อริยสัจ) เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ได้ชัดเจนแล้ว ตถาคตถอนตัว ออกได้แล้วจากโลก
S7- 199 ใบไม้ในกำมือ - สิ่งที่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากยิ่งกว่ามากนัก
S7- 200 ขันธ์ 5 -เหตุปัจจัยของขันธ์ 5 ก็เป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยเพื่อการเกิดขึ้นของรูป ก็เป็นอนัตตา แล้วรูปจักเป็นอัตตาได้อย่างไร
3  
S7- 201 ขันธ์ 5 เป็นทั้งผู้ฆ่าและผู้ตาย..ยึดถือในรูปมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี ผู้ตายก็จะมี ว่าโรค หัวฝี ลูกศร.. ทุกข์เกิดแล้ว
S7- 202 สังฆสามัคคี ตรัสไว้กับพระอุบาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม แสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าเป็นวินัย
S7- 203 ปาริจริยานุตตริยะ (การบำรุงที่ดี-การบำรุงที่เลว) บำรุงสมณะผู้เห็นผิดบำรุงที่เลว บำรุงผู้ศรัทธาตถาคตบำรุงที่เยี่ยม
S7- 204 พหูสุตคือใคร.. บัณฑิตผู้มีปัญญามากคือใคร.. มีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส คือใคร คือผู้รู้ ผู้ศึกษาในอริยสัจสี่
S7- 205 แสดงสิ่งที่พระองค์บัญญัติ ว่าบัญญัติ แสดงตรงกันข้ามย่อมเสวยนรก 1กัป ผู้ใดแสดงได้ตรงจริง จะประสบบุญเป็นอันมาก
S7- 206 ทรงขอให้สาวกเป็นธรรมทายาท(รับมรดกธรรม) อย่าเป็นอามิสทายาท(รับมรดกสิ่งของ) 
S7- 207 ภิกษุทุกวรรณะ เป็นสมณสากยะปุตติยะโดยเสมอกัน เหมือนแม่น้ำที่มีชื่อต่างกัน เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทรย่อมทิ้งชื่อเดิ
S7- 208 ลาภ ยศ สรรเสริญ อุปมาเหมือนอุจจาระปัสสาวะ ที่ขับออกแล้ว (จึงไม่ควรรับเอามาแปดเปื้อนอีก)
S7- 209 ทรงมีความสุข ยิ่งกว่ามหาราช แม้ 7วัน 7 คืน.. คือความสุขในวิหารธรรม
S7- 210 มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ เป็นผู้ตามเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา..
4  
S7- 211 อย่าฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายพระ.. ผู้ใดฆ่าสัตว์มีชีวิตอุทิศตถาคตหรือสาวก ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก
S7- 212 บางคราวทรงมีปีติเป็นภักษา เหมือนพวกอาภัสสรเทพ ... มารได้ดลใจให้ชาวบ้านไม่ถวายบิณฑบาต
S7- 213 การรู้อริยสัจ รีบด่วนกว่าการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะ ต้องใช้..ฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ
S7- 214 ใครชม ใครติ ตถาคตและสาวก อย่าดีใจ อย่าขุ่นเคืองใจ อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย
S7- 215 มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง คือ..พิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม (สติปัฏฐาน ๔)
S7- 216 การเกิดของวิญญาณ คือการเกิดของทุกข์ สุขใดๆที่อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น สุขนี้แลเป็นรสอร่อย(อัสสาทะ)ของวิญญา
S7- 217 สัญโญชน์และที่ตั้งแห่งสัญโญชน์.. รูปเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะใดเข้าไปมีอยู่ในรูป ฉันทราคะนั้นคือตัวสัญโญชน์
S7- 218 สังโยชน์เจ็ด ๑.กามราคะ ๒.ความโกรธ ๓.เห็นผิด ๔.ลังเลสงสัย ๕.ความสำคัญตน ๖.ความกำหนัดในภพ ๗.อวิชชา
S7- 219

อสังขาร-สสังขารปรินิพพายี บุคคล๔จำพวก ๑.สสังขารก่อนตาย ๒.สสังขาร-หลังตาย ๒.อสังขารก่อนตาย ๔.อสังขาร-หลังตาย

5  
S7- 220 เมื่อวิญญาณไม่มีที่ตั้งย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง...รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว
S7- 221

นิรยสูตร อุบาสกผู้ทำผิดศีล 5 เหมือนถูกนำมาวางไว้ ในนรก ..ผู้งดทำ เหมือนถูกเชิญมาอยู่ในสวรรค์

S7- 222 วรสูตร ภัยเวร ๕ ประการ ของผู้ทุศีลย่อมเข้าถึงนรก ของผู้มีศีลย่อมเข้าถึงสุขคติ
S7- 223 วณิชชสูตร อาชีพต้องห้าม 1 ค้าขายศาตรา 2 ค้าขายสัตว์ 3 ค้าขายเนื้อสัตว์ 4 ค้าขายน้ำเมา 5 ค้าขายยาพิษ
S7- 224 ปิงคิยานีสูตร : รัตนะ ๕ เป็นไฉน พระพุทธเจ้า-ผู้ถ่ายทอดคำสอน-อริยะบุคคล4จำพวก-ผู้เดินมรรค(ผู้ปฏิบัติ)-ผู้กตัญญูกตเวที
S7- 225 วาจาสูตร(วาจาถูกต้อง) : ถูกกาละ กล่าวคำสัจจริง วาจาอ่อนหวาน ประกอบด้วยประโยชน์ เมตตาจิต
S7- 226 กุลสูตร (อานิสงส์ 5ประการ ภิกษุเข้าสู่เรือน)ได้เกิดในสวรรค์ เกิดในสกุลสูง(มนุษย์) มีเกียรติยศชื่อเสียงโภคทรัพย์มาก
S7- 227 สุวิทูรสูตร (สิ่งที่ไกลแสนไกล 4 อย่าง) : ฟ้ากับแผ่นดิน มหาสมุทรฝั่งนี้-โน้น พระอาทิตย์ขึ้น-ตก ธรรมของสัตบุรุษ-อสัตบุรุษ
S7- 228 อิริยาปถบรรพ เดินก็รู้ว่าเดิน..กายตั้งไว้ด้วยอาการอย่างได ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้น..มีสติรู้ว่ากายมีอยู่ เพียงอาศัยการระลึกเท่านั้น
S7- 229 สัมปชัญญบรรพ ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าวการถอย มีสติรู้ตัวว่ากายมีอยู่ เพียงสักว่า อาศัยระลึกเท่านั้น
S7- 230 อายตบรรพ (อายตนะภายใน-ภายนอก การเกิดขึ้นของสังโยชน์)
 
ต่อชุด 8
 
 


181

ปฏิจจสมุปบาท ทำให้อยู่เหนือความมี และความไม่มีของสิ่งทั้งปวง
(ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า61)

ชาณุสโสณิพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! สิ่งทั้งปวง มีอยู่หรือหนอ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ดูก่อนพราหมณ์! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวง มีอยู่ ดังนี้
นี้เป็นส่วนสุด* (มิใช่ทางสายกลาง) ที่หนึ่ง


(*) คำว่า "ส่วนสุด" ในกรณีอย่างนี้ หมายถึง ทิฏฐิ หรือความคิดเห็นที่แล่นไป สุดเหวี่ยง ในทิศทางใดทางหนึ่ง มีลักษณะเป็นความสำคัญมั่นหมาย ในลักษณะ ที่เป็นตัวเป็นตน หรือตรงกันข้าม.

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีหลักธรรมของพระองค์ ที่ไม่แล่นไปสุดเหวี่ยงหรือสุดโต่ง อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตรัสลงไปในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่า 'เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ' ในลักษณะที่ทยอย ๆ กันไปไม่มีสิ่งใดเกิดหรือดับได้ โดยลำพังตัวมันเอง ดังนั้น จึงไม่มีทิฏฐิว่า "สิ่งทั้งปวงมีอยู่" หรือว่า "สิ่งทั้งปวงไม่มี"
.

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ก็สิ่งทั้งปวง ไม่มีอยู่หรือ?
ดูก่อนพราหมณ์! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวง ไม่มีอยู่ ดังนี้
นี้ เป็นส่วนสุด (มิใช่ทางสายกลาง) ที่สอง

ดูก่อนพรหมณ์! ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปหา ส่วนสุดทั้งสองนั้น คือตถาคต ย่อมแสดงดังนี้ว่า เพราะมี อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ..ฯลฯ...

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขุโทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับ แห่งสังขาร เพราะมี ความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ...ฯลฯ

เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้

พราหมณ์นั้น กล่าวสรรเสริญพระธรรมโอวาทนั้นแล้ว ประกาศตนเป็นผู้รับนับถือ พระพุทธ-ศาสนา จนตลอดชีวิต ดังนี้ แล.


182


ไม่มีผู้นั้น หรือผู้อื่น ในปฏิจจสมุปบาท
(ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า62)

ครั้งหนึ่ง ที่พระเชตวัน พราหมณ์คนหนึ่งได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลถามว่า 

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ! ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย (ผล) ดังนั้นหรือพระเจ้าข้า?"


พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสตอบว่า "ดูก่อนพราหมณ์! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า ผู้นั้นกระทำ ผู้นั้นเสวย (ผล) ดังนี้
นี้เป็นส่วนสุด (ไม่ใช่สายกลาง) ที่หนึ่ง

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ก็ผู้อื่นกระทำ  ผู้อื่นเสวย (ผล) หรือพระเจ้าข้า?" 

ดูก่อนพราหมณ์! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า "ผู้อื่นกระทำ ผู้อื่นเสวย (ผล)" ดังนี้ นี้เป็นส่วนสุด (ไม่ใช่สายกลาง) ที่สอง

ดูก่อนพราหมณ์! ตถาคต ย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสอง นั้น คือตถาคต ย่อมแสดงดังนี้ว่า เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...ฯลฯ... เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ความอาการอย่างนี้

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่ง สังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ..ฯลฯ เพราะมีความดับ แห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้

พราหมณ์นั้น กล่าวสรรเสริญพระธรรมโอวาทนั้นแล้ว ประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้รับนับถือพระพุทธศาสนา จนตลอดชีวิต ดังนี้ แล


.............................................................................................................................................................

183


กายนี้ไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงกระแสปฏิจจสมุปบาท
(ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์หน้า 64)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย และทั้งไม่ใช่ของบุคคลเหล่าอื่น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!

กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทำไว้ในใจ โดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้
เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.
เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป 


ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ...ฯลฯ...เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นทั่นเทียว จึงมีความดับแห่ง สังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ...ฯลฯ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ-โทมนัสอุปายาส ทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้แล.

..............................................................................................................................................

184

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร
ปฐมธรรม หน้า ๓๐๘ (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๑/๒๔๘

         ภิกษุทั้งหลาย ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก) ในกพฬีการาหาร (อาหารคือคำข้าว) แล้วไซร้ วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้

ในกพฬีการาหารนั้น
วิญญาณ ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในที่ใด
การหยั่งลงแห่ง นามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น

การหยั่งลงแห่ง นามรูป ไม่มีในที่ใด
ความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น

ความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด
การบังเกิดใน ภพใหม่ ต่อไป ย่อมไม่มี ในที่นั้น

การบังเกิดใน ภพใหม่ ต่อไป ไม่มีในที่ใด
ชาติชรามรณะ ต่อไป ย่อมไม่มีใน ที่นั้น

ชาติชรามรณะ ต่อไป ไม่มีในที่ใด
ภิกษุทั้งหลาย เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่มีโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น” ดังนี้....

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอด หรือศาลาเรือนยอดที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ หรือใต้ก็ตาม เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก ครั้นพระอาทิตย์ขึ้นมา แสงสว่าง แห่งพระอาทิตย์ส่องเข้าไปทางหน้าต่างแล้ว จักตั้งอยู่ที่ส่วนไหน แห่งเรือนนั้นเล่า ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างในทาง ทิศตะวันตก พระเจ้าข้า

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ ณ ที่ไหน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า”

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหน ?“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏในน้ำ พระเจ้าข้า”

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ?“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า”

ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้นแล ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก) ในกพฬีการาหารแล้วไซร้วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ใน กพฬีการาหารนั้น วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในที่ใด การหยั่งลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น การหยั่งลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด การบังเกิดในภพใหม่ ต่อไปย่อมไม่มีในที่นั้น การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด ชาติ ชรามรณะต่อไป ย่อมไม่มี ในที่นั้น ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด

ภิกษุทั้งหลาย เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่มีโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น” ดังนี้....

ปฐมธรรม หน้า ๓๐๘
(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๑/๒๔๘

  ปฏิจจสมุปบาท แบบย่อ (สายเกิด)
1. อวิชชาเกิด      -> สังขารทั้งหลายเกิด
2. สังขารเกิด       -> วิญญาณเกิด
3. วิญญาณเกิด    -> นามรูปเกิด
4. นามรูปเกิด      -> สฬายตนะเกิด
5. สฬายตนะเกิด -> ผัสสะเกิด
6. ผัสสะเกิด      -> เวทนาเกิด
7. เวทนาเกิด      -> ตัณหาเกิด
8. ตัณหาเกิด      -> อุปาทานเกิด
9. อุปาทานเกิด   -> ภพเกิด
10. ภพเกิด        -> ชาติเกิด
11. ชาติเกิด       -> ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เกิด


..............................................................................................................................................

185

สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “กรรม” 6 อย่าง

1) ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ...

2) ภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิด (นิทานสัมภวะ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ.

3) ภิกษุทั้งหลาย ความมีประมาณต่างๆ (เวมัตตตา) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย
กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาใน นรก มีอยู่
กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาใน
กำเนิดเดรัจฉาน มีอยู่
กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาใน
เปรตวิสัย มีอยู่
กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาใน
มนุษยโลก มีอยู่
กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาใน
เทวโลก มีอยู่...

4) ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า(3) ?
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่า มีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากใน ทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากใน อุปะปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากใน อปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก) ...

5) ภิกษุทั้งหลาย ความดับแห่งกรรม เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ความดับแห่งกรรม ย่อมมี เพราะความดับแห่ง ผัสสะ

6) อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม (กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา) ได้แก่ สิ่งเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

  แบบย่อ (กรรม 6 อย่าง)
1) เจตนา คือกรรม คือ การกระทำทาง กาย วาจา ใจ
2) เหตุเกิดแห่งกรรม คือ ผัสสะ
3) กรรม ทำให้เข้าถึง นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวโลก
4) วิบากแห่งกรรมมีผล ใน ทิฏฐธรรม(ทันควัน) อุปะปัชชะ(ถัดมา) อปรปริยายะ(ถัดมาอีก)
5) ความดับแห่งกรรม คือ ผัสสะ
6) อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม

ปฐมธรรม  หน้า ๑๑๔
(ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ.  ๒๒/๓๖๕/๓๓๔ : คลิกดูพระสูตร


..............................................................................................................................................

186

อุเบกขาที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

อุเบกขา
โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ที่กล่าวถึงอุเบกขา ดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในอุเบกขาทั้ง ๒ นั้น

บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม อุเบกขาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

บุคคลพึงทราบอุเบกขาอันใดว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น อุเบกขาเห็นปานนี้ ควรเสพ

ในอุเบกขาทั้ง ๒ นั้น ถ้าอุเบกขาอันใด มีวิตกมีวิจาร อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่วิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า

อุเบกขา ไม่ควรเสพ เสพแล้ว อกุศลเจริญ กุศลเสื่อม   มีวิตกวิจาร (ยังไม่ปราณีต)
  ไม่มีวิตกวิจาร ปราณีตกว่า
อุเบกขา ควรเสพ เสพแล้ว อกุศลเสื่อม กุศลเจริญ   มีวิตกวิจาร (ยังไม่ปราณีต)
  ไม่มีวิตกวิจาร ปราณีตกว่า

(ตรัสกับจอมเทพ ใน สักกปัญหสูตร อ่านพระสูตรเต็ม)


..............................................................................................................................................

187

เพราะมีสิ่งที่ไม่ตาย สิ่งที่ตายจึงมีทางออก

(ถ้ามีสิ่งนั้น)
ภิกษุ ท. ! สิ่งซึ่งมิได้เกิด (อชาตํ) มิได้เป็น (อภูตํ) มิได้ถูกอะไรทำ (อกตํ) มิได้ถูกอะไรปรุง (อสงฺขตํ) นั้น มีอยู่

(ถ้าไม่มีสิ่งนั้น)
ภิกษุ ท. ! ถ้าหากว่า สิ่งที่มิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง จักไม่มีอยู่แล้วไซร้ การรอดออกไปได้สำหรับสิ่งที่เกิด ที่เป็นที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง ก็จักไม่ปรากฏ

(เพราะเหตุว่ามีสิ่งนั้น)
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุที่มีสิ่ง ซึ่งมิได้เกิด มิได้เป็น มิได้ถูกอะไรทำ มิได้ถูกอะไรปรุง นั่นเอง การรอดออกไปได้สำหรับสิ่งที่เกิด ที่เป็น ที่ถูกอะไรทำ ที่ถูกอะไรปรุง จึงได้ปรากฏอยู่

(ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายที่ตรัสไว้เป็นคาถา)

ใคร ๆ ไม่ควรเพลิดเพลิน ต่อสิ่งซึ่งเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ไม่ยั่งยืน ปรุงแต่งเพื่อชราและมรณะ เป็นรังโรค เป็นของผุพัง มีอาหารและเนตติ (ตัณหา) เป็นแดนเกิด.

ส่วนการออกไปเสียได้จากสิ่ง (ซึ่งเกิดแล้วเป็นต้น) นั้นเป็นธรรมชาติอันสงบ ไม่เป็นวิสัยแห่งความตรึก เป็นของยั่งยืน ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้นพร้อม ไม่มีโศก ปราศจากธุลี เป็นที่ควรไปถึง เป็นที่ดับแห่งสิ่งที่มีความทุกข์เป็นธรรมดา เป็นความเข้าไปสงบรำงับแห่งสังขารเป็นสุข ดังนี้.

- อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๕๗/๒๒๑.

.............................................................................................................................................................

188

กล่าวโดยสรุป ความเสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม

(1.) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนพระสูตรอันเรียนกันมาผิดลำดับ ด้วยบทและ พยัญชนะที่ตั้งไว้ผิด แม้อรรถแห่งบท และพยัญชนะที่ตั้งไว้ผิด ย่อมมีนัยผิดไปด้วย
(2.) ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นผู้ว่า ยาก เป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
(3.) ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุนั้นไม่บอก พระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นมรณภาพลง พระสูตรย่อมมีรากขาดสูญ ไม่มี ที่พึ่งอาศัย
(4.) ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพระเถระเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติ ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการ ก้าวลง ทอดธุระในวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึง ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลัง ย่อมดำเนินตามอย่าง ภิกษุเหล่านั้น

กล่าวโดยสรุป ความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม

(1.) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรอันเรียนกันมาดี ด้วยบท และ พยัญชนะ อันตั้ง ไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ย่อมมีนัยดี ไปด้วย
(2.) ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมอันทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ อดทน รับคำ พร่ำสอน โดยเคารพ
(3.) ภิกษุเหล่าใดเป็นพหูสูต เล่าเรียนนิกาย ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ภิกษุเหล่านั้น บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้น มรณภาพลง พระสูตรย่อมไม่ ขาดมูลเดิม ยังมีที่พึ่งอาศัย
(4.) ภิกษุผู้เป็นพระเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการก้าวลง เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง  หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลัง ย่อมดำเนิน ตามอย่างภิกษุ เหล่านั้นแม้หมู่ชนผู้เกิดมาภายหลังเหล่านั้น

.............................................................................................................................................................

189

เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ

      [๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่าง เป็นไฉน คือ สมถะ ๑  วิปัสสนา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
สมถะ
ที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้

วิปัสสนา ที่อบรมแล้ว ย่อมเสวย ประโยชน์อะไร  ย่อมอบรมปัญญา
ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์ อะไร ย่อมละอวิชชาได้

      [๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือ ปัญญาที่ เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แลดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะ สำรอกราคะ ได้จึงชื่อว่า เจโตวิมุตติ
เพราะ สำรอกอวิชชาด้จึงชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ

เจโตวิมุตติ - ความหลุดพ้นแห่งจิต
การหลุดพ้นจากกิเลส ด้วยอำนาจการฝึกจิต หรือด้วยกำลังสมาธิ (แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ต้องเกิดปัญญาวิมุตติ จึงจักทำให้เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้ อีกต่อไป เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติ อันละเอียดประณีต)

ปัญญาวิมุตติ - ความหลุดพ้นด้วยปัญญา
ความหลุดพ้นที่บรรลุ ด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล และทำให้ เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป


 สมถะ


สมถะ ที่เจริญแล้ว ย่อมอบรมจิต
        จิต ที่อบรมแล้ว ย่อมละราคะ
                 สำรอก ราคะ ได้ เจโตวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งจิต)

 วิปัสสนา

วิปัสสนา ที่อบรมแล้ว ย่อมอบรมปัญญา
       ปัญญา อบรมแล้ว ย่อมละอวิชชา
              สำรอก อวิชชา ได้ ปัญญาวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งปัญญา)
  
 

.............................................................................................................................................................

190

วิบากกรรมอย่างเบาของผู้ทุศีล
อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๕๑/๑๓๐.
พุทธวจน : จากพระโอษฐ์ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ

วิบากกรม อย่างหนัก-อย่างเบา ของผู้ทุศีล
    โทษอย่างหนัก โทษอย่างเบา
1 ฆ่าสัตว์ นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย อายุสั้น
2 ลักทรัพย์
นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย เสื่อมจากทรัพย์สมบัติ
3 ประพฤติผิดในกาม นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย ถูกก่อเวรด้วยศัตรู
4 พูดโกหก นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย ถูกกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำไม่จริง
5

พูดยุยงให้แตกกัน

นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย แตกแยกจากมิตร
6 พูดคำหยาบ นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย ได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ
7 พูดเพ้อเจ้อ นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย วาจาไม่เป็นที่เชื่อถือ
8 ดึ่มสุราเมรัย นรก เดรัจฉาน เปรตวิสัย เป็นบ้า


ภิกษุ ท. ! ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ มีอายุสั้น

ภิกษุ ท. ! อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ (ทรัพย์สมบัติ)

ภิกษุ ท. ! กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไป เพื่อก่อเวรด้วยศัตรู.

ภิกษุ ท. ! มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อ การถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.

ภิกษุ ท. ! ปิสุณวาท (คำยุยงให้แตกกัน) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งปิสุณวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อ การแตกจากมิตร.

ภิกษุ ท. ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อ การได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.

ภิกษุ ท. ! สัมผัปปลาวาท (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อวาจา ที่ไม่มีใครเชื่อถือ.

ภิกษุ ท. ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย.
วิบากแห่งการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือวิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า

อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๕๑/๑๓๐.


.............................................................................................................................................................

191

อนุสัย ๗
พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๘๘ ข้อที่ ๓๔๑-๓๔๒.

๑.กามราคะ  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกำหนัดในกาม)
๒.ปฏิฆะ  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกระทบกระทั่งแห่งจิต)
๓.ทิฏฐิ  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความเห็น)
๔.วิจิกิจฉา  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความสงสัย)
๕.มานะ  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความถือตัว)
๖.ภวราคะ  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกำหนัดในภพ)
๗.อวิชชา  (สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความไม่รู้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ อย่างนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอนุสัย ๗ อย่างนี้แล ฯลฯ

.............................................................................................................................................................

192

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกจัณฑาล 
-บาลีปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๐/๑๗๕.

ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้จัณฑาล เศร้าหมอง และน่ารังเกียจธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ 
(1) เป็นผู้ไม่มีศรัทธา 
(2) เป็นผู้ทุศีล 
(3) เป็นผู้ถือโกตุหลมงคล เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม 
(4) แสวงหาผู้ควรรับทักษิณา*ภายนอกศาสนานี้ 
(5) ทำการสนับสนุนในที่นอกศาสนานั้น 

ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นอุบาสกผู้จัณฑาล เศร้าหมอง และน่ารังเกียจ.
* ทักษิณา หมายถึง ของถวายพระ สิ่งของทำบุญ
.............................................................................................................................................................

193

ผู้จัดว่าเป็นอุบาสกรัตนะ
-บาลีปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๓๐/๑๗๕.

ภิกษุทั้งหลาย ! อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริกธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไร คือ 
(1) เป็นผู้มีศรัทธา 
(2) เป็นผู้มีศีล 
(3) ไม่เป็นผู้ถือโกตุหลมงคล เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล 
(4) ไม่แสวงหาผู้ควรรับทักษิณา
* ภายนอกศาสนานี้ 
(5) ทำการสนับสนุน ในศาสนานี้

ภิกษุทั้งหลาย!อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นอุบาสกรัตนะ อุบาสกปทุมอุบาสกบุณฑริก.

.............................................................................................................................................................

194

กรรมที่ทำให้ได้รับผลเป็นความไม่ตกต่ำ

หนังสือเรื่องกรรม -กรรม พุทธวจน หัวข้อ 25 (ปุญญวิปากสูต)

ภิกษุทั้งหลาย ! แ ต่ ชา ติ ที่ แ ล้ ว มา แ ต่ อ ดี ต ตถาคตได้เคยเจริญเมตตา ภาวนา ตลอด ๗ ปี  จึงไม่เคยมาบังเกิดในโลกมนุษย์นี้ตลอด ๗ สังวัฏฏกัป และ วิวัฏฏกัปป์

ในระหว่างกาล อันเป็น สังวัฏฏกัปป์ นั้น เราได้บังเกิดใน อาภัสสรพรหม.
ในระหว่างกาล อันเป็น วิวัฏฏกัปป์ นั้น เราก็ได้อยู่พรหมวิมานอันว่างเปล่าแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกัปป์นั้น เราได้เคยเป็นพรหม ได้เคยเป็นมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครครอบงำได้ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจ สูงสุด

ภิกษุทั้งหลาย !
เราได้เคยเป็นสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งเทวดา นับได้ ๓๖ ครั้ง เราได้เคยเป็นราชา จักรพรรดิผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นพระราชา โดยธรรม มีแว่นแคว้นจดมหาสมุทรทั้งสี่ เป็นที่สุด

เป็นผู้ชนะแล้วอย่างดี มีชนบทอันบริบูรณ์ประกอบด้วยแก้วเจ็ดประการ นับด้วยร้อยๆ ครั้ง ทำไมจะต้องกล่าวถึงความเป็นราชา ตามธรรมดาด้วย

ภิกษุทั้งหลาย ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรมอะไรของเราหนอ ที่ทำให้เราเป็นผู้มีฤทธิ์มากถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ ในครั้งนั้นๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ผลวิบากแห่งกรรม ๓ อย่างนี้แล ที่ทำให้เรามีฤทธิ์มาก ถึงอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงอย่างนี้

วิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง ในครั้งนั้น คือ

ผลวิบากแห่งทาน (การให้) ๑
ผลวิบากแห่งทมะ (การบีบบังคับใจ) ๑
ผลวิบากแห่งสัญญมะ (การสำรวมระวัง) ๑


ดังนี้.


.............................................................................................................................................................

195

สิ้นกิเลสก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร

จากหนังสือ ปฏิบัติ สมถะวิปัสสนา-พุทธวจน หัวข้อ 147

ภิกษุทั้งหลาย. เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อม ปรากฏแก่นายช่างไม้ หรือ ลูกมือนายช่างไม้ แต่เขา ไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของ เราสึกไป เท่านี้ เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อ วานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีด สึกไปเขาก็ รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย.เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวาน สิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไป นั่นเทียว

.............................................................................................................................................................

196

หากประพฤติถูกต้อง จะหวังผลหรือไม่หวังผล ย่อมได้รับผล 
จากหนังสือ ปฏิบัติ สมถะวิปัสสนา-พุทธวจน หัวข้อ 148

ภูมิชะ. ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งที่มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติชอบ มีสัมมาสมาธิ ถ้าแม้ทำความหวังแล้ว ประ พฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ทำ ความไม่หวัง แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ทำทั้ง ความหวังและความไม่หวัง แล้วประพฤติ พรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวังก็มิใช่ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถ บรรลุผล นั่นเพราะเหตุไร

ภูมิชะ เพราะเขาสามารถบรรลุผลได้โดยอุบายแยบคาย

ภูมิชะ. เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการน้ำมัน แสวงหาน้ำมันจึงเที่ยวเสาะหาน้ำมัน เขาเกลี่ยงาป่นลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นเรื่อยไป ถ้าแม้ทำความหวัง แล้วเกลี่ยงาป่นลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้ว คั้นเรื่อยไป เขาก็สามารถได้น้ำมัน ถ้าแม้ทำความไม่หวัง แล้วเกลี่ยงาป่นลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นเรื่อยไป เขาก็สามารถได้น้ำมันถ้าแม้ทำทั้งความหวัง และความไม่หวัง แล้วเกลี่ยงาป่นลง ในราง ประพรมด้วยน้้นแล้วคั้นเรื่อยไป เขาก็สามารถได้น้ำมันถ้าแม้ทำความหวังก็มิใช่ ความไม่หวัง ก็มิใช่ แล้วเกลี่ยงาป่นลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้วคั้นเรื่อยไป เขาก็สามารถได้น้ำมัน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร 

ภูมิชะ. เพราะเหตุแห่งการได้น้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยวิธีแยบการ ที่แยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น

(ทรงให้อุปมาโดยทำนองนี้อีกสามข้อ คือบุรุษผู้ต้องการน้ำนม รีดน้ำนมจากแม่โค ลูกอ่อน บุรุษผู้ต้องการเนย ปั้นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อ แล้วบุรุษผู้ต้องการ ไฟสีไฟ จากไม้แห้ง ก็ย่อมได้ผลตามที่ตนต้องการ แม้จะทำความ หวัง หรือความไม่หวัง ก็ตามผลนั้นๆ ก็ย่อมมีให้เอง เพราะได้มีการทำที่ถูกต้องลงไปแล้ว).

.............................................................................................................................................................

197

พระพุทธองค์ คือผู้ทรงชี้ให้รู้จักทุกข์ 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ (ตอน1) หน้า 50 (ภาคนำตอน3)

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง ว่ายล่องกระแสแม่น้ำลงไปเพราะเหตุสิ่งที่น่ารัก น่าเพลินใจ. บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนฝั่ง เห็นบุรุษผู้นั้นแล้วร้องบอกว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านย่อมว่ายล่องตามกระแสแม่น้ำ เพราะเหตุสิ่ง ที่น่ารักน่าเพลินใจโดยแท้ แต่ว่า ทางเบื้องล่าง มีห้วงน้ำ ประกอบด้วยคลื่น ประกอบด้วยน้ำวน มียักษ์มีรากษส ซึ่งเมื่อท่านไปถึงแล้ว จักต้องตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย” 

ภิกษุ ท. บุรุษผู้ว่ายล่องตามกระแสนั้น ครั้นได้ฟังแล้ว ก็พยายามว่ายกลับทวน กระแสทั้งด้วยมือและด้วยเท้าทั้งหลาย

ภิกษุ ท. คำอุปมานี้ เราผูกขึ้น เพื่อให้รู้เนื้อความ นี้เป็นเนื้อความ คือ 

คำว่า กระแสแม่นํ้า เป็นชื่อแห่ง
ตัณหา
คำว่า สิ่งน่ารักน่าเพลินใจ เป็นชื่อแห่ง
อายตนะหกในภายใน
คำว่า ทางเบื้องล่างมีห้วงนํ้า เป็นชื่อแห่ง
โอรัมภาคิยสังโยชน์ห้า
คำว่า คลื่น เป็นชื่อแห่ง
ความโกรธและความคับแค้น
คำว่า นํ้าวน เป็นชื่อแห่ง
กามคุณห้า
คำว่า ยักษ์และรากษส เป็นชื่อแห่ง
มาตุคาม
คำว่า ทวนกระแส เป็นชื่อแห่ง
เนกขัมมะ
คำว่า พยายามด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งการ
ปรารถความเพียร
คำว่า บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนฝั่ง เป็นชื่อแห่ง
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ดังนี้

.............................................................................................................................................................

198

ทรงรอบรู้โลก (อริยสัจ)
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ (ตอน1) หน้า 57 (ภาคนำตอน3)

ภิกษุ ท. ! โลก (คือทุกข์) เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ได้ชัดเจนแล้ว ตถาคตถอนตัว ออกได้แล้วจากโลก เหตุให้เกิดโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคต ละได้ขาดแล้ว ความดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคตได้กระทำให้แจ้งแล้ว และ ทางดำเนินให้ถึงความ ดับไม่เหลือของโลก เป็นสิ่งที่ตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้ว อันตถาคตได้ทำให้มีขึ้น แล้ว. 

สิ่งใดที่โลกพร้อมด้วย เทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ และเทวดาพร้อมทั้งมุนษย์ ได้เห็นแล้ว ฟังแล้วดม ลิ้ม สัมผัสแล้ว รู้แล้ว ถึงแล้ว แสวงแล้ว เที่ยวไปตามแล้วด้วยใจ สิ่งนั้นตถาคตรอบรู้ ได้ชัดเจนแล้ว ทั้งหมด เหตุนั้นจึงได้มีคำกล่าวว่า “ตถาคต” ดังนี้. 

.............................................................................................................................................................

199

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคนำ (ตอน1) หน้า 60 (ภาคนำ)
สิ่งที่ไม่ทรงนำมาสอน มีมากยิ่งกว่ามากนัก

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ที่ สีสปาวัน ใกล้กรุงโกสัมพี. ทรงกำใบ "สีสปา" ขึ้นหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสถามหมู่ภิกษุ ว่า

ใบ "สีสปา" ที่ทรงกำนี้ กับ ที่อยู่บนป่าโน้น ไหนจะมากกว่ากัน.

เมื่อภิกษุกราบทูลว่า ที่อยู่บนป่าโน้นมากกว่ามากแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุ ท. ! ฉันใด ก็ฉันนั้น สิ่งที่ยังอยู่มากกว่ามาก ก็คือสิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว แต่ไม่นำมาสอนพวกเธอ ทั้งหลาย

เพราะเหตุไรเราจึงไม่สอนสิ่งนั้นแก่พวกเธอเล่า? เพราะว่าสิ่ง ๆ นั้น ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้น ของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อม เพื่อความหน่าย ทุกข์ ความคลายกำหนัดความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่สอนสิ่งนั้น แก่พวกเธอทั้งหลาย. 

เปรียบเทียบกับ ฉบับหลวง

  พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๓๔

  สีสปาสูตร
  เปรียบสิ่งที่ตรัสรู้มีมากเหมือนใบไม้บนต้น

         [๑๗๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี
  ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียก
  ภิกษุทั้งหลาย มา แล้วตรัสถามว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ
  ที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน?

        ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์ มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่าพระเจ้าข้า....

.............................................................................................................................................................

200

เหตุปัจจัยของ ขันธ์ 5 ก็เป็นอนัตตา 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า 246

ภิกษุ ท. ! รูป เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของรูป ก็เป็นอนัตตา 
รูป ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร


ภิกษุ ท. ! เวทนา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของเวทนา ก็เป็นอนัตตา 
เวทนา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! สัญญา เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของสัญญา ก็เป็นอนัตตา 
สัญญา ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้วจักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัยเพื่อการบังเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย ก็เป็นอนัตตา 
สังขาร ที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร  

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ เป็นอนัตตา. 
ถึงแม้เหตุ แม้ปัจจัย เพื่อการบังเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เป็นอนัตตา 
วิญญาณที่เกิดจากเหตุปัจจัย อันเป็นอนัตตาแล้ว จักเป็นอัตตาได้อย่างไร แล.

.............................................................................................................................................................

201

เบญจขันธ์เป็นทั้งผู้ฆ่า และผู้ตาย 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า 246

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนกล่าวกันว่า มารมาร ดังนี้ เขากล่าวกันว่า มาร เช่นนี้มีความหมายเพียงไรพระเจ้าข้า? 

ราธะ !
เมื่อความยึดถือในรูปมีอยู่
มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี.
เมื่อความยึดถือในเวทนามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในสัญญามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในสังขารทั้งหลายมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี
เมื่อความยึดถือในวิญญาณมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมี หรือผู้ตายก็จะมี

ราธะ ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ เธอพึงเห็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารทั้งหลายก็ดี และวิญญาณก็ดี ว่าเป็นมาร ว่าเป็นผู้ให้ตาย ว่าผู้ตาย ว่าโรค ว่าหัวฝี ว่าลูกศร ว่าทุกข์ และว่าทุกข์ที่เกิดแล้ว

บุคคลเหล่าใดเห็นขันธ์ทั้งห้าในลักษณะเช่นนี้ บุคคลเช่นนั้นชื่อว่าเห็นอยู่ โดยชอบแล

.............................................................................................................................................................

202

สังฆสามัคคี ตรัสไว้กับพระอุบาลี
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒

 

ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
...ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า เป็นธรรม
...ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่า เป็นวินัย
...ย่อมแสดงคำตถาคตภาษิตไว้ว่า ภาษิตไว้
...ย่อมแสดงกรรมอันตถาคตประพฤติมาแล้ว ว่าประพฤติมา
...ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า เป็นสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้

อานิสงส์ของการกระทำเช่นนี้ ย่อมได้บุญอันประเสริฐ ย่อมตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่เสื่อมจากธรรมอันเกษมจากโยคะ ย่อมบรรเทิงในสรวงสวรรค์ตลอดกัปฯ
ในทางตรงกันข้าม ภิกษุที่แสดงสิ่งตรงกันข้าม ย่อมได้รับผลชั่วร้าย ย่อมไหม้ในนรก ตลอดกัป ฯ

.............................................................................................................................................................

203

การบำรุงที่ดี-การบำรุงที่เลว (ปาริจริยานุตตริยะ)

...ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุง สมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่า การบำรุงนี้นั้น เป็นการบำรุงที่เลว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอด เยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุต ตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๙๖ – ๒๙๙/๓๐๑.

.............................................................................................................................................................

204

พหูสุต คือ
ผู้รู้อรรถรู้ธรรมแห่งคาถาแม้เพียงสี่บท(อริยสัจสี่) แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นั่นแหละควรจะเรียกว่า เป็น พหูสูตผู้ทรงธรรม

บัณฑิตผู้มีปัญญามาก คือ ..
ผู้มีปัญญาเครื่องเจาะแทงกิเลส คือ ..

มีการศึกษา แล้วแทงตลอดซึ่งเนื้อความแห่งสัจจะนั้น เห็นด้วยปัญญาอยู่ ว่า
     อย่างนี้ เป็นความทุกข์
     อย่างนี้เป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์
     อย่างนี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
     อย่างนี้ เป็นหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

.............................................................................................................................................................

205

แสดงสิ่งที่พระองค์บัญญัติ ว่า บัญญัติ
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒

ดูกรอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ (คัดย่อบางส่วน)
1. ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่า เป็นธรรม
2. ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่า เป็นวินัย
3. ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตตรัสไว้ ว่าตถาคตตรัสไว้
4. ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตประพฤติมา ว่าตถาคตประพฤติมา
5. ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติ ว่าเป็นสิ่งที่ตถาคตบัญญัติ
6. ย่อมแสดงอาบัติว่า เป็นอาบัติ
ฯลฯ

ผู้ใดแสดงตรงกันข้ามกับที่พระองค์ได้แสดงไว้ ย่อมได้รับผลชั่วร้าย ย่อมไหม้ในนรก ตลอดกัปฯ ส่วนผู้ใดแสดงได้ถูกต้องตรงจริงกับสิ่งที่บัญญัติ จะประสบบุญเป็นอันมาก

.............................................................................................................................................................

206

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า331-332

ทรงขอให้สาวกเป็นธรรมทายาท อย่าเป็นอามิสทายาท 

         ภิกษุ ท.!  เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท (คือรับมรดกธรรม) ของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาท (คือรับมรดกสิ่งของ) เลย ความที่ควรจะเป็นห่วงของเรา ในเธอทั้งหลายมีอยู่ว่า "ทำอย่างไรเสีย สาวกทั้งหลายของเราก็คงจะ เป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท" ดังนี้

         ภิกษุ ท.!  ถ้าพวกเธอเป็นอามิสทายาทไม่เป็นธรรมทายาทของเราแล้ว เธอทั้งหลายก็จะถูกเขาตราหน้าว่า "สาวกทั้งหลายของพระศาสดา เป็นอามิส ทายาทอยู่โดยปรกติ หาได้เป็นธรรมทายาทไม่เลย" ดังนี้ แม้เราเองก็จะถูกเขาพา กันโทษว่า "สาวกทั้งหลายของพระศาสดา ล้วนแต่เป็นอามิสทายาทกันเป็นปรกติ หาได้เป็นธรรมทายาทไม่เลย" ดังนี้  

         ภิกษุ ท.! ถ้าพวกเธอพากันเป็นธรรมทายาทของเรา และไม่เป็นอามิส ทายาทแล้วไซร้ เธอทั้งหลายก็จะได้รับการยกย่องว่า "สาวกของพระศาสดาล้วน แต่เป็นธรรมทายาทกันอยู่โดยปรกติ หาได้เป็นอามิสทายาทไม่" ดังนี้ แม้เราเอง ก็ จะได้รับการยกย่องว่า "สาวกของพระศาสดา ล้วนแต่พากันเป็นธรรมทายาท ทั้งนั้น หาได้เป็นอามิสทายาทไม่เลย" ดังนี้ด้วยเหมือนกัน  

         ภิกษุ ท.! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายจงพากันเป็นธรรมทายาท ของเราเถิดอย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย ความที่ควรจะเป็นห่วงของเรา ในเธอ ทั้งหลายมีอยู่ว่า "ทำอย่างไรเสียสาวกทั้งหลายของเรา จงเป็นผู้เป็นธรรมทายาท เถิด อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย" ดังนี้

.............................................................................................................................................................

207

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า335-336
ภิกษุสาวกทุกวรรณะ เป็นสมณสากยะปุตติยะ โดยเสมอกัน


          ภิกษุ ท.!  เช่นเดียวกับที่แม่น้ำใหญ่ ๆ เช่นแม่น้ําคงคา ยมุนา อจิรวตี สรภู มหี แม่น้ําทั้งหมดนี้ ครั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้ว ย่อมทิ้งชื่อเดิมของตน ย่อมถึงการ เรียกชื่อใหม่ว่า "มหาสมุทร" เหมือนกันหมดฉันใด 
          ภิกษุ ท.!  วรรณะทั้งสี่นี้ก็อย่างเดียวกัน จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ เวสส์ หรือ สูทท์ ก็ตาม เมื่อคนเหล่านั้น ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละทิ้ง ชื่อเดิม ชื่อสกุลเดิมของตนสิ้น ย่อมถึงการเรียกชื่อใหม่ว่า"พวก สมณสากยปุตติยะ เหมือนกันหมดโดยแท้ " 

          ข้อที่ถึงการเรียกชื่อใหม่ว่า "สมณสากยปุตติยะ" เสมอกันหมดนี้แล เป็นสิ่งที่ น่าอัศจรรย์ ไม่น่าจะเป็นได้ เป็นสิ่งที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้ ซึ่งเมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ ซึ่งข้อนี้ ย่อมเกิดความพอใจอย่างยิ่งในธรรมวินัยนี้ ทรงให้ถือว่า สาวก ท.เป็นบุตร ของพระองค์ 
          ภิกษุ ท.! เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การถูกขอ มีฝุามืออันชุ่มแล้ว ตลอดเวลา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในครั้งสุดท้าย เป็นหมอผู้ทําการผ่าตัดไม่มี หมออื่นยิ่งกว่า เธอ ท. เป็นบุตรแห่งเรานั้น เป็นโอรสที่เกิดแล้วจากปาก เกิดโดยธรรม อันธรรมเนรมิต แล้ว เป็นธรรมทายาท มิใช่อามิสทายาท

.............................................................................................................................................................

208

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า353-355
ลาภยศสรรเสริญ อุปมาเหมือนอุจจาระปัสสาวะ ที่ขับออกแล้ว

            นาคิตะ ! เราอย่าต้องเกี่ยวข้องกับยศเลย ยศก็อย่ามาเกี่ยวข้องกับเราเลย

            นาคิตะ ! พวกคนที่ไม่อาจจะได้ตามปรารถนา ไม่อาจจะได้โดยง่าย โดยสะดวก ซึ่งเนกขัมมสุข ปวิเวกสุข อุปสมสุข สัมโพธสุข ดังที่เราได้ตามปรารถนา ได้โดยง่าย โดยสะดวก ก็พึงยินดีมิสุข (สุขอันเกิดจากท่อปัสสาวะ) มิทธสุข (สุขของ คนนอนซบ) สุขอันเกิดจากลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ ต่อไปเถิด
  
            นาคิตะ ! อุจจาระปัสสาวะ ย่อมมีจากสิ่งที่บุคคลกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว นั้นคือสิ่งไหลออกของสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้วลิ้มแล้ว
  
           นาคิตะ ! โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รัก แปรปรวนไปโดยประการอื่น นั้นคือสิ่งไหลออกของความแปรปรวนแห่งสิ่งเป็นที่รัก 
 
           นาคิตะ ! เมื่อบุคคลตามประกอบซึ่งอนุโยคในอสุภนิมิต ความเป็น ของ ปฎิกูล ในอสุภนิมิตย่อมปรากฏขึ้น นั้นคือสิ่งไหลออกแห่งการอนุโยคในอสุภนิมิต

          นาคิตะ ! เมื่อบุคคลตามเห็นอยู่ซึ่งความไม่เที่ยงในผัสสายตนะ ๖ ความเป็น ของปฎิกูลในผัสสะ ย่อมปรากฏขึ้น นั่นคือสิ่งไหลออกแห่งการตามเห็น ความไม่ เที่ยงในผัสสายตนะ
   
          นาคิตะ ! เมื่อบุคคลตามเห็นอยู่ซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป ใน อุปาทานขันธ์ทั้งห้า ความเป็นของปฎิกูลในอุปาทาน ย่อมปรากฏขึ้น นั่นคือสิ่ง ไหลออกแห่งการตามเห็นความตั้งขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ดังนี้ 

.............................................................................................................................................................

209


อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 356-367
ทรงมีความสุข ยิ่งกว่ามหาราช (ตรัสกับนิครนถ์)

"พระโคดมผู้มีอายุ ! พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งมคธ มีความอยู่เป็นสุข กว่าพระสมณ โคดม หรือว่าพระสมณโคดมมีความอยู่เป็นสุขกว่า?" 

นิครนถ์ ท.!  ถ้าอย่างนั้นเราขอถามกลับแก่ท่านทั้งหลาย. ท่าน ท.เห็นว่าควรตอบให้ ถูกต้องอย่างไร ก็จงตอบอย่างนั้นเถิด เราถามท่านทั้งหลายว่าท่านมี ความเห็น อย่างไร คือพระจ้าพิมพิสารราชาแห่งมคธ สามารถทำกายมิให้หวั่นไหว ทำวาจา ให้ สงบเงียบเสวยความสุขอย่างเดียวล้วน อยู่ตลอดเวลา๗ วัน ๗ คืนได้หรือไม่?

"พระโคดมผู้มีอายุ ! ข้อนั้นหามิได้เลย."  

นิครนถ์ ท.! พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งมคธ สามารถทํากายมิให้หวั่นไหว ทําวาจาให้ สงบเงียบ เสวยความสุขอย่างเดียวล้วน อยู่ตลอดเวลา ๖ วัน ๖ คืน, ..๕ วัน ๕ คืน, ..๔ วัน ๔ คืน, ๓ วัน ๓ คืน, ..๒ วัน ๒ คืน,..๑ วัน ๑ คืน, ได้หรือไม่?  

"พระโคดมผู้มีอายุ ! ข้อนั้นหามิได้."  

นิครนถ์ ท.! เราแล สามารถเพื่อทํากายมิให้หวั่นไหว ทําวาจาให้สงบเงียบ เสวยความ สุขอย่างเดียวล้วน อยู่ตลอดเวลา ๑ วัน ๑ คืน, หรือ ๒ วัน ๒ คืน, ๓ วัน ๓ คืน, ๔ วัน ๔ คืน, ๕ วัน ๕ คืน, ๖ วัน ๖ คืน,หรือ ๗ วัน ๗ คืน เป็นกําหนดได้ตามปรารถนา
 
นิครนถ์ ท.! เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจะเข้าใจ อย่างไร?

พระเจ้าพิมพิสารราชา แห่งมคธมีวิหารธรรมเป็นสุขกว่าเรา หรือว่าเรามีวิหารธรรม เป็นสุข กว่าพระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งมคธ? 

"พระโคดมผู้มีอายุ! ถ้าเป็นอย่างนี้พระสมณโคดมเป็น ผู้มีวิหารธรรม เป็นสุขกว่า"

.............................................................................................................................................................

210

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 358
มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ (คือสติปัฏฐาน ๔)

         อานนท์ !  สมัยใด  ตถาคตเข้าสู่เจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำนิมิต ทั้งปวงไว้ในใจดับเวทนาบางพวกเสีย แล้วแลอยู่ อานนท์ ! สมัยนั้น ความผาสุก ยิ่งนัก ย่อมมีแก่ตถาคต

        อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น เธอ ท. จงเป็นผู้มีตนเป็นประทีป มีตนเป็น สรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ : มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่น เป็นสรณะ อยู่เถิด.

        อานนท์ ! อย่างไรเล่า  เรียกว่าภิกษุผู้มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะไม่มี สิ่งอื่นเป็นสรณะ : มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่?

          อานนท์ ! ภิกษุ ท ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ ตามเห็นซึ่งกายในกาย เป็นผู้ตาม เห็นซึ่งเวทนาในเวทนา ท. มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นําออกซึ่งอภิชฌาและ โทมนัสในโลก เป็นอยู่ เป็นผู้ ตามเห็นซึ่งจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นําออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลกเป็นอยู่ เป็นผู้ ตามเห็นซึ่งธรรมในธรรม ท. มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ นําออกซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก เป็นอยู่. 

           อานนท์ ! อย่างนี้แล  ภิกษุชื่อว่ามีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะไม่มีส่ง อื่นเป็นสรณะ : มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่

.............................................................................................................................................................

211

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 360-361
อย่าฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายพระ

          ชีวกะ ! ผู้ใด ทําการฆ่าสัตว์มีชีวิต อุทิศตถาคต หรือสาวกของตถาคต อยู่แล  ผู้นั้นย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก โดยฐานะ ๕ ประการ

คือ ข้อที่บุคคลนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านจงไปนําสัตว์ชื่อนั้นมา" ดังนี้ เขาย่อมประสบสิ่งที่มิใช่ บุญเป็นอันมาก

โดยฐานะที่หนึ่งนี้ สัตว์นั้น เมื่อเขาผูกคอนํามาอยู่ ย่อมเสวยซึ่งทุกข์ โทมนัส บุคคลนั้น ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก

โดยฐานะที่สองนี้ บุคคลนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านจงไป จงเตรียมซึ่งสัตว์มีชีวิต" ดังนี้ เขาย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก

โดยฐานะที่สามนี้ สัตว์นั้นเมื่อถูกเตรียมอยู่  ย่อมเสวยซึ่งทุกข์โทมนัส บุคคลนั้นย่อม ประสบสิ่งที่มิใช่บุญ เป็นอันมาก

โดยฐานะที่สี่นี้ บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมยังตถาคตหรือสาวก ของตถาคตให้ยินดี ด้วยสิ่ง อันเป็นอกัปปิยะ เขาย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญอันเป็นอันมาก

โดยฐานะที่ห้านี้ ชีวกะ ! ผู้ใดทําการ ฆ่าสัตว์มีชีวิต อุทิศตถาคต หรือสาวก ของตถาคตอยู่ ผู้นั้น ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นมาก โดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล.
 
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ! ไม่เคยมีแล้ว พระเจ้าข้า!  พระเจ้า ! ภิกษุ ท. ย่อมฉันอาหารอันสมควรหนอ พระเจ้าข้า !

ภิกษุ ท. ย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้ หนอ...".

.............................................................................................................................................................

212

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 363
บางคราวทรงมีปีติเป็นภักษา เหมือนพวกอาภัสสรเทพ 

          สมัยหนึ่ง เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านปัญจสาลพราหมณคาม ในคราว นักขัตตฤกษ์ แจกของขวัญแก่เด็ก ๆ มารได้ดลใจให้ชาวบ้านไม่ถวายบิณฑบาต จนต้องเสด็จกลับมาบาตรเปล่า แล้วมารยังมาดักเยาะเย้ยพระองค์ว่า "กลับเข้าไปอีก ทีซี่ เราจักทําให้ท่านได้ บิณฑบาต"

          ตรัสตอบกับมารดังนี้ว่า
          มารมาขัดขวางตถาคตอยู่ ประสบสิ่งอันมิใช่บุญเสียแล้ว  

          ดูก่อนมาร !ท่านเข้าใจว่าบาปจะไม่ให้ผลดังนั้นหรือ พวกเราอยู่เป็นสุขดีหนอ
เมื่อเราไม่มีความกังวลใจเลย เราจักมีปีติเป็นภักษา เหมือนพวกอาภัสสรเทพ 
 
          ลําดับนั้น มารผู้มีบาป รู้สึกว่าพระผู้มีพระภาครู้กําพืดเราเสียแล้ว พระสุคต รู้กําพืดเราเสียแล้ว มีทุกข์โทมนัส อันตรธานไปแล้วในที่นั้นนั่นเอง 

.............................................................................................................................................................

213

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๙๘
การรู้อริยสัจ รีบด่วนกว่าการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะ

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อไฟลุกโพลงๆอยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี บุคคลนั้นควรจะทำอย่างไร ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อไฟลุกโพลง ๆ อยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี เพื่อจะดับเสียซึ่งไฟ ที่เสื้อผ้าก็ดี ที่ศีรษะก็ดี สิ่งที่บุคคลนั้นพึงกระทำโดยยิ่งก็คือ ฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ (เพื่อจะดับไฟนั้นเสีย).”

ภิกษุทั้งหลาย ! (แม้กระนั้นก็ดี) วิญญูชนจะไม่ใส่ใจ จะไม่เอาใจใส่กับเสื้อผ้าก็ดี ศีรษะก็ดีที่ไฟกำลังลุกโพลงอยู่ ; แต่จะรู้สึกว่า สิ่งที่ควรกระทำโดยยิ่ง ก็คือฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ขะมักเขม้น) อัปปฏิวานี (ไม่ถอยหลัง) สติ และ สัมปชัญญะ เพื่อรู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ตนยังไม่รู้เฉพาะ.

อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่อง กระทำให้รู้ว่า “ทุกข์เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
………………………………………………………………………………..

ภิกษุนั้น พึงกระทำ(ดับความโกรธ)ซึ่ง
      ฉันทะ (ความพอใจ)
      วายามะ (ความพยายาม)
      อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ความขะมักเขม้น)
      อัปปฏิวานี (ความไม่ถอยหลัง)

      
สติและสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้าเพื่อละเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น

………………………………………………………………………………..

214

ใครชม ใครติ ตถาคตและสาวก อย่าดีใจอย่าขุ่นเคืองใจ
อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย

พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร เรื่องสุปปิยปริพาชก กับ พรหมทัตตมานพ


ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จดำเนินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมือง นาฬันทา (นาลันทา) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป แม้ สุปปิยปริพาชก ก็ได้เดินทางไกล ระหว่าง กรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา พร้อมด้วย พรหมทัตตมาณพ ผู้ อันเตวาสิก*. ได้ยินว่าในระหว่าง ทางนั้น.
*อันเตวาสิก แปลว่าศิษย์ผู้อยู่กับอาจารย์ (คือพรหมทัตตมาณพ เป็นศิษย์ของ สุปปิยปริพาชก)

สุปปิยปริพาชก กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์ และอันเตวาสิกทั้งสองนั้น มีถ้อย คำเป็นข้าศึกแก่กัน โดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ
(อาจารย์กล่าวติพระพุทธเจ้า แต่ศิษย์กลับกล่าวชม)

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปประทับแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทยาน อัมพลัฏฐิกาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แม้สุปปิยปริพาชก ก็ได้เข้าพักแรม ราตรีหนึ่ง ใกล้พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา กับพรหมทัตตมาณพ ผู้อันเตวาสิก ได้ยินว่าแม้ ณ ที่นั้น สุปปิยปริพาชก ก็กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์ และ อันเตวาสิก ทั้งสองคนนั้น มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กัน(ตรงกันข้ามกัน) โดยตรงฉะนี้

ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง นั่งประชุมกันอยู่ ณ ศาลานั่งเล่น เกิดสนทนากันว่า ท่านทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาค ผู้รู้เห็นเป็นพระอรหันตส สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงทราบความที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้เป็น อย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงสุปปิยปริพาชกผู้นี้ กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตนาณพ อันเตวาสิกของสุปปิย ปริพาชกกล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และ อันเตวาสิกทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กัน โดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาค และ ภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น แล้วเสด็จไป ยัง ศาลา นั่งเล่น ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลายบัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่พวกเธอ พูด ค้างไว้ เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ณ ที่นี้ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้น ณ เวลาใกล้รุ่ง นั่งประชุมกัน อยู่ที่ศาลานั่งเล่น เกิดสนทนากันขึ้นว่า

ท่านทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ นั้น ทรงทราบความที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงสุปปิยปริพาชกนี้ กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชม พระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย อาจารย์ และอันเตวาสิก ทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็นข้าศึกแก่กัน โดยตรง ฉะนี้เดินตามพระผู้มีพระภาค และภ ิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ พระพุทธเจ้าข้า เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้าพูดค้างไว้ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจ ในคนเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายจัก ขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่ เธอ ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เป็นแน่ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลาย จักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคน เหล่านั้น เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้ละหรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความ ไม่เป็นจริงว่านั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเรา ทั้งหลาย และคำนั้นจะหาไม่ได้ ในเราทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ เธอทั้งหลาย ไม่ควร เบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าว ชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์

ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น อันตรายจะ พึง มีแก่เธอทั้งหลายเพราะเหตุนั้นเป็นแน่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็น โดยความเป็นจริงว่า นั่นจริงแม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั่น มีประมาณ น้อยนักแล ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคตจะพึงกล่าว ด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก
เป็นเพียงศีลนั้น เป็นไฉน?

ถ้าภิกษุจะกล่าวชมตถาคตพึงชมว่า
     ตถาคตละการฆ่าสัตว์ พูดเท็จ... (จุลศีล)
     เว้นขาดจากการพรากพืชคาม.. (มัชฌิมศีล)
     เว้นขาดจากติรัจฉานวิชา.... (มหาศีล)

อ่านพระสูตรเต็ม จุลศีล มัชฉิมศีล มหาศีล

.............................................................................................................................................................

215

มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง 
มหาปรินิพพานสูตร ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ ๗๙


ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ฯ

ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง  มิใช่มี สิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
   ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
   พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่
   พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
   พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

(สติปัฏฐาน ๔)

เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่งฯ

.............................................................................................................................................................

216

การเกิดของวิญญาณเท่ากับการเกิดของทุกข์
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) ภาค1  หน้า 207

ภิกษุ ท. ! การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การเกิดโดยยิ่ง และ ความปรากฏของวิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก วิญญาณทางลิ้นวิญญาณทางกาย และวิญญาณทางใจ ใด ๆ นั่นเท่ากับ เป็นการเกิดขึ้นของทุกข์, เป็นการตั้งอยู่ของสิ่งซึ่งมีปกติเสียดแทงทั้งหลาย, และเป็นความปรากฏของชรา แล ะมรณะ แล.

ข้อควรกำหนดเกี่ยวกับ วิญญาณ
ภิกษุ ท. ! สุขโสมนัส ใด ๆ ที่อาศัย วิญญาณ แล้วเกิดขึ้น
สุขโสมนัสนี้แล เป็น รสอร่อย (อัสสาทะ) ของวิญญาณ
วิญญาณ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาด้วยอาการใดๆ
อาการนี้แล เป็น โทษ (อาทีนพ) ของวิญญาณ
การนำออกเสียได้ ซึ่งความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจในวิญญาณ
การละเสียได้ ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในวิญญาณ
ด้วยอุบายใด ๆ อุบายนี้แล เป็น เครื่องออกพ้นไปได้ (นิสสรณะ)จากวิญญาณ.

.............................................................................................................................................................

217

สัญโญชน์และที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ 
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) ภาค1  หน้า 227
(ความยึดถือหรือเครื่องร้อยรัดจิต)

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ (สญฺโญชนิยธมฺม) และตัวสัญโญชน์ พวกเธอทั้งหลาย จงฟังข้อนั้น

ภิกษุ ท. ! สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์เป็นอย่างไร ? 
และ ตัวสัญโญชน์ เป็นอย่างไรเล่า ? 

ภิกษุ ท. ! รูป (กายเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะ(ความกำหนัดเพราะพอใจ) ใด เข้าไปมีอยู่ในรูปนั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ในรูปนั้น 

ภิกษุ ท. ! เวทนาเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะใด เข้าไปมีอยู่ในเวทนานั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ ในเวทนานั้น 

ภิกษุ ท. ! สัญญาเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะใด เข้าไปมีอยู่ในสัญญานั้น ฉันทราคะนั้น คือ ตัวสัญโญชน์ ในสัญญานั้น 

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะใด เข้าไปมีอยู่ใน สังขารทั้งหลายเหล่านั้น ฉันทราคะนั้น คือตัวสัญโญชน์ ในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น 

ภิกษุ ท. ! วิญญาณเป็นสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะใดเข้าไปมีอยู่ในวิญญาณ นั้น ฉันทราคะนั้น คือ ตัวสัญโญชน์ ในวิญญาณนั้น

ภิกษุ ท. ! ขันธ์เหล่านี้ เรียกว่า สิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฉันทราคะนี้เรียกว่า ตัวสัญโญชน์ แล

.............................................................................................................................................................

218

สังโยชน์เจ็ด
สตฺตก. อํ. ๒๓/๗-๘/๘-๙

ภิกษุ ท. ! สัญโญชน์ (สิ่งผูกพัน) ๗ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
เจ็ดอย่าง อย่างไรเล่า ? เจ็ดอย่าง คือ

๑ อนุนยสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ กามราคะ เป็นเหตุให้ติดตาม)
๒ ปฏิฆสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ ความโกรธไม่ได้อย่างใจ)
๓ ทิฏฐิสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ ความเห็นผิด)
๔ วิจิกิจฉาสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ ความลังเลสงสัย)
๕ มานสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ ความสำคัญตน)
๖ ภวราคสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ ความกำหนัดในภพ)
๗ อวิชชาสัญโญชน์ (สังโยชน์คือ อวิชชา)
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล คือสัญโญชน์ ๗ อย่าง.

ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่ง สัญโญชน์ ๗ อย่าง.
เจ็ดอย่างเหล่าไหนเล่า ?

ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่ง
อนุนยสัญโญชน์ ๑ ปฏิฆสัญโญชน์ ๑ ทิฏฐิสัญโญชน์ ๑ วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ๑ มานสัญโญชน์ ๑ ภวราคสัญโญชน์ ๑ อวิชชาสัญโญชน์ ๑.

ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่งสัญโญชน์ ๗ อย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุ ท. ! เมื่อใดแล, อนุนยสัญโญชน์ก็ดี ปฏิฆสัญโญชน์ก็ดี ทิฏฐิสัญโญชน์ก็ดี วิจิกิจฉาสัญโญชน์ก็ดี มานสัญโญชน์ก็ดี ภวราคสัญโญชน์ก็ดี อวิชชาสัญโญชน์ก็ดี เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว มีรากเง่าอันตัดขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป  

ภิกษุ ท. ! เมื่อนั้น, ภิกษุนี้ เราเรียกว่า “ตัดตัณหาได้แล้ว รื้อถอนสัญโญชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะรู้จักหน้าตาของมานะอย่าง ถูกต้องแล้ว” ดังนี้แล.

..............................................................................................................................

เปรียบเทียบกับ สังโยชน์ 10
สังโยชน์ ๑๐

โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ อย่าง
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความสงสัย)
๓. สีลัพตปรามาส (ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรต)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจด้วยอำนาจแห่งกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดแก้แค้นผู้อื่น)

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องบน) ๕ อย่าง
๑. รูปราคะ (ความติดใจอยู่ในรูปธรรม)
๒. อรูปราคะ (ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม)
๓. มานะ (ความสำคัญว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
๔. อุทธัจจะ (ความคิดพล่าน)
๕. อวิชชา (ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง)

.............................................................................................................................................................

219

อสังขารปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน
ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตหน้า๑๕๑

[๑๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก

๔ จำพวกเป็นไฉนคือ

1 บางคนเป็น สสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วย ต้องใช้ความเพียร ในปัจจุบัน
2 บางคนเมื่อ กายแตก จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี
3 บางคนเป็น อสังขารปรินิพพายี จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียร ในปัจจุบัน
4 บางคน เมื่อกายแตกจึงเป็น อสังขารปรินิพพายี

เป็นสสังขาร ก่อนกายแตก (เป็นในปัจจุบัน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็น สสังขารปรินิพพายี ในปัจจุบันอย่างไร 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่า ไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง และ มรณสัญญาของเธอตั้งอยู่ดีแล้วในภายใน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้อยู่ คือ ศรัทธา หิริ โอตัปปะ วิริยะ ปัญญาทั้งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์  ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอย่อมเป็นสสังขารปรินิพพายีในปัจจุบันเทียว เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้ แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็น สสังขารปรินิพพายี ในปัจจุบัน อย่างนี้แล

เป็นสสังขาร หลังกายแตก (เป็นหลังกายแตกทำลาย)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตก จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี อย่างไร  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม ฯลฯ อินทรีย์ ๕ ประการคือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ...ของเธอปรากฏว่าอ่อน เธอเมื่อกายแตกจึงเป็น สสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเมื่อกายแตก จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี อย่างนี้แล ฯ
(ความต่างเป็นเพราะ ความแก่-อ่อน ของอินทรีย์)

.......................................................................................................................

เป็นอสังขาร ก่อนกายแตก (เป็นในปัจจุบัน)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็น อสังขารปรินิพพายี ในปัจจุบันอย่างไร  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน เธออาศัยธรรมเป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการนี้ คือ ศรัทธา ... ปัญญา อินทรีย์๕ ประการนี้ คือสัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่าแก่กล้า เธอเป็นอสังขารปรินิพพายีในปัจจุบัน เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้แก่กล้า ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเป็น อสังขารปรินิพพายี ในปัจจุบัน อย่างนี้แล ฯ

เป็นอสังขาร หลังกายแตก (เป็นหลังกายแตกทำลาย)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็น อสังขารปรินิพพายีอย่างไร  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ บรรลุทุติยฌานฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯบรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ แต่อินทรีย์ ๕ ประการนี้คือ สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ของเธอปรากฏว่า อ่อน เธอเมื่อกายแตกจึงเป็น อสังขารปรินิพพายี เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้อ่อน ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลเมื่อกายแตกจึงเป็น อสังขารปรินิพพายี อย่างนี้แล
(ความต่างเป็นเพราะ ความแก่-อ่อน ของอินทรีย์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

คลิก



.............................................................................................................................................................

220

เมื่อวิญญาณไม่มีที่ตั้ง
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗-๖๘/๑๐๖-๑๐๗.

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าราคะ(ความกำหนัด)ในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว

เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง

เพราะหลุดพ้นไปก็ตั้งมั่น เพราะตั้งมั่นก็ยินดีในตนเอง เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวก็นิพพานเฉพาะตน

ย่อมรู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก" ดังนี้

.............................................................................................................................................................

221

นิรยสูตร
ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้า ๑๘๓

[๑๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกนำมา
วางไว้ในนรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นผู้ดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ดูกรภิกษุทั้งหลายอุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
เหมือนถูกนำมาวางไว้ ในนรก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหมือนถูกเชิญมาอยู่ใน
สวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสก ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เหมือนถูกเชิญมาอยู่ในสวรรค

.............................................................................................................................................................

222

เวรสูตร
ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้า ๑๘๓

   ภัยเวร ๕ ประการ ผู้ไม่ละภัยเวร* ผู้ละภัยเวร*
  ๑.ฆ่าสัตว์
  ๒.ลักทรัพย์
  ๓.ประพฤติผิดในกาม
  ๔.พูดเท็จ
  ๕.ดื่มน้ำเมา-เมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ย่อมเข้าถึง นรก
ย่อมเข้าถึง นรก
ย่อมเข้าถึง นรก
ย่อมเข้าถึง นรก ย่อมเข้าถึง นรก
ย่อมเข้าถึง สุคติ
ย่อมเข้าถึง สุคติ
ย่อมเข้าถึง สุคติ
ย่อมเข้าถึง สุคติ
ย่อมเข้าถึง สุคติ
* ทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ     

[๑๗๔] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรคฤหบดี อุบาสกไม่ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้ทุศีล ด้วยย่อมเข้าถึง นรกด้วย

ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑.การฆ่าสัตว์
๒.การลักทรัพย์
๓.การประพฤติผิดในกาม
๔.การพูดเท็จ
๕.การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ไม่ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้ทุศีลด้วย ย่อมเข้าถึง นรกด้วย ฯ

ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการ เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้า ถึง สุคติด้วย ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน คือ การฆ่าสัตว์ ฯลฯ การดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ละภัยเวร ๕ ประการนี้แล เราเรียกว่าผู้มีศีลด้วย ย่อมเข้าถึง สุคติด้วย

ดูกรคฤหบดี อุบาสกผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบัน ทั้งใน สัมปรายภพ ย่อมเสวยทุกขโทมนัสใด แม้ทางจิตเพราะเหตุฆ่าสัตว์ อุบาสกผู้ งดเว้นจาก ปาณาติบาต ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ย่อมไม่ เสวยทุกขโทมนัสนั้น

แม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ย่อมสงบระงับด้วยประการ ฉะนี้ อุบาสกผู้ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดในกาม ...พูดคำเท็จ ... ดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรใด ทั้งในปัจจุบัน และใน สัมปรายภพ ย่อมเสวย ทุกขโทมนัสใดแม้ทางจิต เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

อุบาสกผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมไม่ประสบภัยเวรนั้น ทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ย่อมไม่เสวยทุกข โทมนัสนั้น แม้ทางจิต ภัยเวรนั้น ของอุบาสกผู้งดเว้น จากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย อันเป็น ที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมสงบระงับด้วยประการฉะนี้ ฯ

นรชนใดย่อมฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก คบชู้ภรรยาของผู้อื่น กล่าวคำเท็จ และประกอบ การดื่มสุราเมรัยเนืองๆ นรชนนั้นไม่ละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียกว่าเป็นผู้ทุศีล มีปัญญาทราม ตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรก

นรชนใดไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ในโลก ไม่คบชู้ ภรรยาของ ผู้อื่น ไม่กล่าวคำเท็จ และไม่ประกอบการดื่มสุราและเมรัย นรชนนั้นละเวร ๕ ประการแล้ว เราเรียกว่าเป็นผู้มีศีลมีปัญญา เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ

.............................................................................................................................................................

223

วณิชชสูตร อาชีพต้องห้าม
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้า ๑๘๖

[๑๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ

๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑ การค้าขายศาสตรา
๒ การค้าขายสัตว์
๓ การค้าขายเนื้อสัตว์
๔ การค้าขายน้ำเมา
๕ การค้าขายยาพิษ

ดูกรภิกษุทั้งหลายการค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ฯ

.............................................................................................................................................................

224

ปิงคิยานีสูตร :  รัตนะ ๕ เป็นไฉน
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๒๑๒ -๒๑๓

   บุคคลผู้เป็นรัตนะ ๕ คือ
   1.การเกิดของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
   2.ผู้ประกาศคำสอน หรือผู้ถ่ายทอดคำสอนของตถาคต
   3.ผู้รู้แจ้งในธรรมของตถาคต(อริยบุคคล4 จำพวก)
   4.ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม(ปฎิบัติเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด)
   5.กตัญญูกตเวทีบุคคล

            [๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ เฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ เจ้าลิจฉวีบางพวกเขียวมีวรรณะเขียว มีผ้าเขียว มีเครื่องประดับเขียว บางพวกเหลือง มีวรรณะเหลือง มีผ้าเหลือง มีเครื่องประดับเหลือง บางพวกแดง มีวรรณะแดงมีผ้าแดง มีเครื่องประดับแดง บางพวกขาว มีวรรณะขาว มีผ้าขาว มีเครื่องประดับขาว พระผู้มีพระภาคทรงรุ่งเรืองกว่าเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น โดยพระวรรณะและพระยศ

ครั้งนั้น ปิงคิยานีพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทาง ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เนื้อความแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรปิงคิยานี จงแจ่มแจ้งกะท่านเถิด ครั้งนั้นปิงคิยานีพราหมณ์ ได้ชมเชย ต่อ พระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาโดยย่อว่า เชิญท่านดูพระอังคีรส ผู้ทรงรุ่งโรจน์อยู่ เหมือนดอกบัวชื่อโกกนุท มีกลิ่นหอม ไม่ปราศจากกลิ่น บานอยู่ ณ เวลาเช้า และ เหมือนพระอาทิตย์เปล่งรัศมีอยู่บนท้องฟ้า ฉะนั้น ฯ


ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้ให้ปิงคิยานีพราหมณ์ห่มผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ ผืน ปิงคิยานีพราหมณ์ ได้ทูลถวายให้พระผู้มีพระภาค ครองผ้าอุตราสงค์ ๕๐๐ผืนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า

ดูกรเจ้าลิจฉวี ความปรากฏขึ้นแห่งรัตนะ ๕ หาได้ยากในโลก

รัตนะ ๕ เป็นไฉน คือ

พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ๑
บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้ว ๑
บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว อันผู้อื่นแสดงแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑
(ตถาคต-ผู้ถ่ายทอดบอกสอน-อริยะบุคคล4จำพวก-ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือผู้เดินมรรค-ผู้กตัญญูกตเวที)

ดูกรเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ความปรากฏแห่งรัตนะ ๕ ประการนี้แล หาได้ยากในโลก ฯ
จบสูตรที่ ๕


.............................................................................................................................................................

225

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๒๑๕

วาจาสูตร

[๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิตไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน

องค์ ๕ประการเป็นไฉน คือ
วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑
เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑
เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน ฯ


226

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๒๑๖

กุลสูตร (อานิสงส์ ภิกษุเข้าสู่สกุลใด)

  อานิสงส์ 5 ประการ เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล จิตของพวกมนุษย์ย่อม
  เลื่อมใส สกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้สัตว์
    1.เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์
    2.เป็นไปพร้อมเพื่อไปเกิดในสกุลสูง
    3.เป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ (เกียรติยศสูง)
    4.เป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก
    5.เป็นผู้มีปัญญามาก

[๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล จิตของพวกมนุษย์ย่อมเลื่อมใส เพราะเห็นท่านสมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทา ที่ยังสัตว์ให้ เป็นไปพร้อม เพื่อสวรรค์

สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อมลุกรับ (ต้อนรับ) กราบไหว้ ให้อาสนะ (ที่นั่ง) สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ ให้เป็นไปพร้อม เพื่อเกิดในสกุลสูง

สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อมกำจัดมลทิน คือความตระหนี่ สมัยนั้นสกุลนั้นชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทา ที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่(เกียรติยศสูง)

สมัยใดเมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ย่อมจัดของถวายตามสติกำลัง สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ให้เป็นไปพร้อม เพื่อความเป็นผู้มี โภคทรัพย์มาก

สมัยใด เมื่อบรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุลพวกมนุษย์ ย่อมไต่ถาม สอบสวน ย่อมฟังธรรม สมัยนั้น สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติปฏิปทาที่ยังสัตว์ ให้เป็นไปพร้อมเพื่อความ เป็นผู้ มีปัญญามาก โดยฐานะ ๕ ประการ ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย สมัยใด บรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปหาสกุล พวกมนุษย์ในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก โดยฐานะ ๕ ประการนี้ ฯ

.............................................................................................................................................................

227

ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๕๐

สุวิทูรสูตร (สิ่งที่ไกลแสนไกล 4 อย่าง)

  สิ่งที่อยู่ไกลแสนไกลกัน 4 อย่าง
    1. ฟ้า กับ แผ่นดิน
    2. ฝั่งนี้ และ ฝั่งโน้นแห่งสมุทร
    3. พระอาทิตย์ยามขึ้น และ ยามอัสดงคต
    4. ธรรมของสัตบุรุษ และ ธรรมของอสัตบุรุษ (ผู้ประพฤติธรรม)

[๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ นี้

๔ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฟ้ากับแผ่นดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๑
ฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งสมุทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๒ พระอาทิตย์ยามขึ้นและยามอัสดงคต นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล ประการที่ ๓
ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกล
ประการที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการนี้แล ฯ

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทร ก็ไกลกัน พระอาทิตย์ ส่องแสงยามอุทัยกับยามอัสดงคต ไกลกัน บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของ สัตบุรุษ กับธรรมของ อสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมของสัตบุรุษ มั่นคงยืดยาว ย่อมเป็นอย่างนั้นตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่ ส่วนการสมาคม ของอสัตบุรุษ ย่อมจืดจางเร็ว

เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษ จึงไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ ฯ

.............................................................................................................................................................

228

พระไตรปิฎกไทย(ฉบับหลวง)๑๐/๒๑๗/๒๗๕-๒๗๖

อิริยาปถบรรพ

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อม
พิจารณา เห็นกาย ในกายภายในบ้าง
พิจารณา เห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง
พิจารณา เห็นกาย ในกายทั้งภายใน ทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณา เห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในกายบ้าง
พิจารณา เห็นธรรม คือความเสื่อม ในกายบ้าง
พิจารณา เห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อม ในกายบ้าง

ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่น อยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบอิริยาปถบรรพ
.............................................................................................................................................................

229

พระไตรปิฎกไทย(ฉบับหลวง)๑๐/๒๑๗/๒๗๕-๒๗๖

สัมปชัญญบรรพ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุย่อม ทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ใน การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อม
พิจารณา เห็นกาย ในกายภายในบ้าง
พิจารณา เห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง
พิจารณา เห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณา เห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณา เห็นธรรม คือความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณา เห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้นทั้ง ความเสื่อมในกายบ้าง

ย่อมอยู่อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิ ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่

จบสัมปชัญญบรรพ

.............................................................................................................................................................

230
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ ๒๒๕

อายตบรรพ
(อายตนะภายใน-ภายนอก การเกิดขึ้นของสังโยชน์)


[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน และภายนอก ๖

ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออายตนะภายใน และภายนอก ๖ อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อม รู้จักนัยน์ตา รู้จักรูป และ รู้จักนัยน์ตาและรูปทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของสังโยชน์

อนึ่ง
สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้น ด้วยประการใดย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
สังโยชน์ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

ภิกษุย่อม รู้จักหู รู้จักเสียง ...
ภิกษุย่อม รู้จักจมูก รู้จักกลิ่น ...
ภิกษุย่อม รู้จักลิ้น รู้จักรส ...   
ภิกษุย่อม รู้จักกาย รู้จักสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ...
ภิกษุย่อม รู้จักใจ รู้จักธรรมารมณ์ และ รู้จักใจและธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น อันเป็นที่อาศัยบังเกิดของ สังโยชน์

อนึ่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย สังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น ด้วยสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อม
พิจารณา เห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง  
พิจารณา เห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณา เห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้ง  ภายนอกบ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
พิจารณา เห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้างย่อมอยู่

อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่  ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อายตนะภายใน และภายนอก ๖ อยู่ ฯ

จบอายตบรรพ