เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ        

 
พระสูตรสั้น พระสูตรโดยย่อ
  พระสูตรสั้น ชุด8 ทางลัด.. คลิกดูพระสูตรที่เป็นตัวเลข
 
1 (คลิก)
S8-231 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน .. พิจารณาเห็นจิตในจิต จิตมีราคะก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ .. มีสติสักแต่ว่ารู้
S8-232 สังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป : กิ่งไม้ใบไม้ว่าเป็นมารดาของมารดา.. ปั้นดินเท่าลูกกระเบา.. น้ำตาที่เคยไหล.. น้ำนมที่เคยดึ่ม
S8-233 ความนานของกัป เขาหินแท่งทึบ นครทำด้วยเหล็ก สาวก4 รูประลึกอดีต เมล็ดทรายแม่น้ำคงคา ซัดท่อนไม้ กระดูกสัตว์ที่ล่วงไป
S8-234 สงสารนี้กำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เห็นคนมือเท้าไม่สมประกอบ เห็นใครมีสุขมีบริวาร .. เราก็เคยเป็นเช่นนั้นมาแล้ว
S8-235 เวปุลลปัพพตสูตร อุปมาพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ในกัปนี้ 3 พระองค์นิพพานไปแล้ว ภูเขาสูงยุคนั้นๆก็หายไปแล้ว
S8-236 กาลทานสูตร ๕ ประการ ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นตน.. แก่ผู้จะไป..ให้ทานสมัยข้าวยาก... ให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล.. ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล
S8-237 สัทธานิสังสสูตร สัปบุรุษ..ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อน.. เข้าหาผู้ศรัทธาก่อน. ต้อนรับผู้ศรัทธาก่อน..แสดงธรรมแก่ผู้ศรัทธาก่อน
S8-238 ติรัจฉานกถาสูตร ติรัจฉานกถา เธอจงอย่าพูดเรื่องราชา โจร เรื่องรบ ญาติ ยาน ชนบท สตรี เรื่องล่วงลับ ความเจริญ-เสื่อม
S8-239 ความเพียรอันไม่ถอยกลับ หนัง เอ็น กระดูก .. เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไป ถ้ายังไม่บรรลุเราจักไม่หยุดความเพียรนั้น
S8-240 ตัณหาสูตร อาการของจิต จากตัณหา-อุปาทาน เพราะมีตัณหาจึงมีการแสวงหา-ปริเยสนา มีการแสวงหาจึงมีการได้-ลาภา
2  
S8-241 กำเนิด ๔ (ลักษณะของการเกิด) การเกิดของสัตว์ในคติ 5 เกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในเถ้าไคล เกิดผุดขึ้น(โอปปาติกะ)
S8-242 ถุงลม ภิกษุในกรณีนี้ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรมเราเรียกว่า ผู้มากด้วยปริยัติ (นักเรียน) ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม)
S8-243 พระเจ้ามหาสุทัสสนะ (พระเจ้าจักรพรรดิ์) ทรงเล่าให้อานนท์ฟังว่า เมืองดอน อดีตเคยเป็นเมืองที่มั่งคั่งของมหาสุทัสสนะ
S8-244 ควัมปติสูตร ผู้เห็นทุกข์ ชื่อว่าเห็นใน สมุทัย นิโรธ มรรค (เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเห็นที่เหลือทั้งหมด)
S8-245 จิตเกิดดับตลอดเวลา จิตเหมือนวานร ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวันตลอดคืน
S8-246 มารทูลให้นิพพาน ท่านผู้มีบาป! เราจักไม่ปรินิพพานก่อน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก.. อุบาสิกา ผู้เป็นสาวก สาวิกา ยังไม่เป็นผู้ฉลาด
S8-247 ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรม อันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่น จะรู้ตาม"
S8-248 พรหมอาราธนา พรหมรู้วาระจิตของ พ.หลังตรัสรู้ ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม จึงอุทานว่า “ผู้เจริญ ! โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ
S8-249 ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า ตรัสกับสหัมบดีพรหม เราได้เห็นสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตา น้อยบ้าง มากบ้าง เหมือนบัว 3 เหล่า
S8-250 ทรงแสดงธรรม เพราะเห็นแก่สัตว์บางพวก...ได้ฟังธรรมของตถาคตจึงเข้ามาสู่ธรรมนี้ได้ ถ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมไม่อาจ
3  
S8-251 ผิวพรรณพระผู้มีพระภาคผุดผ่องดั่งทอง ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ราตรีที่ตรัสรู้ และราตรีที่ปรินิพพาน
S8-252 เถรสูตร บวชนาน มีศีล มีสุตตะ จำปาติโมกข์ ฉลาดในอธิกรณ์ ฟังธรรม สันโดษ สำรวมกาย มีฌาน4 รู้แจ้งเจโต-ปัญญาวิมุตติ
S8-253 สมณสัญญาสูตร สมณสัญญา ๓ ประการ อันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์
S8-254 ปฏิจฉันนสูตร ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
S8-255 สุขที่แท้จริง สุขของภิกษุ สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน..
S8-256 ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ (ภัทเทกรัตตสูตร) ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วก็เป็นอันละไปแล้ว 
S8-257 บุคคลไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน (ภัทเทกรัตตสูตร) ไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง....
S8-258 พุทธประวัติเรื่องย่อ จากพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ โพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิตลงสู่ครรภ์มารดา โพธิสัตว์เหยียบพื้นดินด้วยผ่าเท้า
S8-259 ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มี ๕ อย่าง มีสติ ก้าวไป ถอยกลับ ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ อธิษฐานการงาน
S8-260 ความเพียรอันไม่ถอยกลับ “หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไป ก็ตามที ถ้ายังไม่ลุ.. จะไม่หยุด..
4  
S8-261 ปุริสลักษณะ 32 ประการ (แยกตามอวัยวะ) ลักษณะของมหาบุรุษ แบบย่อ
S8-262 ที่สุดแห่งโลก กายนี้คือที่สุดโลก ซึ่งสัตว์จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัตินั้น ใครๆ อาจถึงที่สุดโลกด้วยการไป ได้หรือไม่?
S8-263 เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นพระพุทธองค์ ดูก่อนวักกลิ ! ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม
S8-264 ปฏิจจสมุปบาท อธิบายแต่ละอาการ ชรามรณะเป็นอย่างไรเล่า? ชรา-ความแก่ คร่ำคร่าความสิ้นไปแห่งอินทรีย์ในสัตว์นิกายนั้นๆ
S8-265 ปฏิจจสมุปบาท แบบย่อ สายเกิด-สายดับ 11 อาการ นับจาก สังขารทั้งหลายไปจบที่ ชรามรณะ
S8-266 การอาบน้ำในศาสนา ท่านพระโคดมจะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา เพื่อจะสรงสนานหรือ.. ประโยชน์อะไรด้วยน้ำ จะทำอะไรกับเราได้
S8-267 การเสด็จสุทธาวาส (ชั้นเทวดาที่พระองค์ไม่เคยเสด็จ) หมู่เทวดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ในเทพนิกายนั้นได้เข้ามาหาเรา
S8-268 นางวิสาขา สนทนากับ ธรรมทินนาภิกษุณี จูฬเวทัลลสูตร(เรื่องสมาธิและสังขาร)
S8-269 การนอน ๔ แบบ และ ตถาคตไสยท่านอนของตถาคต
S8-270 รูปไม่เที่ยง ตรัสกับปัจจวัคคีย์ จนสิ้นอาสวะ
5  
S8-271 เปรต21 ชนิด (คัดย่อ) มีแต่ร่างกระดูก หรือก้อนเนื้อ ชิ้นเนื้อ เป็นร่างชาย ร่างหญิง มีขนเป็นเข็ม ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้งจิกกิน
S8-272 ปฏิจฉันนสูตร สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ และ สิ่ง ๓ อย่างนี้ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
S8-273 ความมืดบอดของโลก เมื่อตถาคตไม่เกิดขึ้น ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ยังไม่บังเกิดขึ้นในโลก แสงสว่างอันใหญ่หลวงย่อมไม่มี
S8-274 กสิณสูตร (กสิณ๑๐)ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณนีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ วิญญาณ
S8-275 ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ธาตุ 18 อย่าง ธาตุ 6 อย่าง ธาตุ 3 อย่าง ธาตุ 2 อย่าง
S8-276 ความยึดถือ ๒ อย่าความยึดถือด้วยตัณหา คือ รูป เสียง กลิ่น รส : ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ความเห็นสุดโต่
S8-277 เรื่องเรียนคัมภีร์โลกายตะ ห้ามภิกษุเรียนคัมภีร์ทางโลก ห้ามศึกษาเรื่องทางโลก
S8-278 เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา ภิกษุไม่พึงเรียน ไม่พึงสอน ดิรัจฉานวิชา รูปใดสอนต้องอาบัติทุกกฏ ฯ                      
S8-279 มุจจลินทนาคราช นาคราชพันล้อมกายพระพุทธเจ้า ๗ รอบแผ่แม่เบี้ยเหนือพระเศียร ครบ๗ วันจึงแปลงร่างเป็นคน จากนั้นก้มกราบ
S8-280 ตลอดวัฏฏสงสาร พระองค์ไม่เคยทรงบังเกิด ในชั้นสุทธาวาส หากได้ไปเกิดก็จะปรินิพพานในภพนั้น ไม่มีโอกาสสอนมนษย์
   
ต่อชุด 9
 
 


231

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๗๗

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


         [๑๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือ
จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ชัด ว่า จิตมีโทสะ หรือ
จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโทสะ หรือ
จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมี โมหะ หรือ
จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือ
จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตเป็นมหรคต
จิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ชัดว่า จิตไม่เป็นมหรคต
จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า หรือ
จิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า จิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
จิตตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตตั้งมั่น หรือ
จิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัดว่า จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตหลุดพ้น หรือ
จิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า จิตยังไม่หลุดพ้น
ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อม
พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง
พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้น ในจิตบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่

อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่าจิตมีอยู่
ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว แล้วไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่.

.......................................................................................
232

อุปมา ความนานของสังสารวัฏ ที่สัตว์ต้องท่องเที่ยวไป
(คัดย่อ จากพระสูตรชุดเต็ม)


ติณกัฏฐสูตร .. อุปมา เหมือนบุรุษตัดใบไม้กิ่งไม้ ในชมภูทวีปนี้มารวมกัน ทำให้เป็นมัดๆละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็น มารดาของเรา แม้ตัดไม้หมดทั้งป่า ความเป็นมารดา ของมารดา..ของมารดา...ของมารดา...โดยลำดับก็ยังไม่หมดสิ้นไป

ปฐวีสูตร.. เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา สมมติว่านี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดา ของบิดาของเรา...โดยลำดับ บิดาของบิดา แห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป

อัสสุสูตร.. น้ำตาที่หลั่งไหลคร่ำครวญร้องไห้ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ กับน้ำใน มหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน

ขีรสูตร .. น้ำนมมารดา ที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาในสังสารวัฏได้ดื่มแล้ว กับน้ำใน มหาสมุทรทั้ง ๔ ไหนจะมากกว่ากัน

....................................................................................

233

ความยาวนานของ กัป
(คัดย่อ จากพระสูตรชุดเต็ม)

ปัพพตสูตร.. ภูเขาหินลูกใหญ่ ยาวโยชน์หนึ่ง กว้างโยชน์ สูงโยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรงเป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้น กาสี มาปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไปสิ้นไป กัปหนึ่งก็ยังไม่หมดไป สิ้นไป

สาสปสูตร.. นครที่ทำด้วยเหล็ก ยาวโยชน์ ๑ กว้างโยชน์ ๑ สูงโยชน์ ๑ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด บุรุษพึงหยิบเอา เมล็ดพันธุ์ผักกาดออก 1 เมล็ด ทุกร้อยปี เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นพึงถึงความสิ้นไป กัปหนึ่งก็ยังไม่หมดไป สิ้นไป

สาวกสูตร.. มีสาวก ๔ รูปในศาสนานี้ มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิต ๑๐๐ ปี หากภิกษุ เหล่านั้นพึงระลึกถอยหลังไปได้วันละแสนกัป ตลอด 100 ปี (จนทำกาละ กัปที่ท่าน เหล่านั้นยังระลึกไม่ถึง ก็ยังมีอยู่อีก)

คงคาสูตร.. กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเมล็ดทราย ในแม่น้ำ คงคา เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว ไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ

ทัณฑสูตร.. ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวตกลงทางโคน บางคราว ตกลงทางขวาง บางคราวตกลง ทางปลาย ก็ฉันนั้นแล บางคราวเคลื่อนจากโลกอื่น สู่โลกนี้ บางคราวเคลื่อนจากโลกอื่นสู่โลกนี้

ปุคคลสูตร...เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีร่างกระดูก กองกระดูก ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึง เป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป (กองกระดูกมีมากกว่า)

...................................................................................

234

สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
(คัดย่อ จากพระสูตรชุดเต็ม)

เธอทั้งหลายเห็นบุรุษ ผู้มีมือ และเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐาน ในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์ เห็นปานนี้มาแล้ว

เธอทั้งหลายเห็นบุคคล ผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ พึงลง สันนิษฐานว่า เราทั้งหลายก็เคย เสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้

(ตรัสกับภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป ... ทรงอุปมาหลายเรื่อง ต่อมาสำเร็จ เป็นอรหันต์ทั้งหมด)

โลหิตที่หลั่งไหลของพวกเธอ จากการถูกตัดศรีษะ
ผู้ท่องเที่ยวไปมา มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔

1. เมื่อเธอเกิดเป็นโค ซึ่งถูกตัดศีรษะตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหล มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔

2. เมื่อเธอเกิดเป็นกระบือ ซึ่งถูกตัดศีรษะ ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหล ออกนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔

3. เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นแกะ.. เกิดเป็นแพะ... เกิดเป็นเนื้อ...เกิดเป็นสุกร ... เกิดเป็นไก่ ...ก็เช่นกัน

4. เมื่อพวกเธอถูกจับตัดศีรษะ โดยข้อหาว่าเป็นโจรฆ่าชาวบ้าน ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออก นั่นแหละมากกว่า ...

5. เมื่อพวกเธอถูกจับตัดศีรษะ โดยข้อหาว่าประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละ มากกว่าน้ำ ในมหาสมุทรทั้ง ๔

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ... พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

สัตว์ที่ไม่เคยเป็น มารดา บิดา พี่หญิง น้องหญิง บุตร ธิดา โดยกาลนานนี้ มิใช่ หาได้ง่ายเลย

....................................................................................

235

เวปุลลปัพพตสูตร (พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ในกัปนี้)
(คัดย่อ จากพระสูตรชุดเต็ม)

พวกเธอจงดูเถิด เขานั้นอันตรธานไปแล้ว
มนุษย์เหล่านั้นทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ก็ปรินิพพานแล้ว
ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีจะเบื่อหน่ายในสังขาร คลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น
พระพุทธเจ้า
ในกัปนี้
ชื่อ
หมู่มนุษย์
ภูเขา อายุมนุษย์ ขึ้น-ลงเขา
กกุสันธ ติวรา ปาจีนวังสบรรพต 40,000 ปี ขึ้น 4 วัน ลง 4 วัน
โคมาคมนะ โรหิตัสสะ วงกฏบรรพต 30,000 ปี ขึ้น 3 วัน ลง 3 วัน
กัสสป สุปปิยา สุปัสสบรรพต 20,000 ปี ขึ้น 2 วัน ลง 2 วัน
ตถาคต มาคธ เวลปุลลบรรพต 100 ปี ขึ้น-ลง เพียงครู่เดียว

สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กกุสันธ หมู่มนุษย์ ติวรา มีอายุประมาณ 4 หมื่นปี
ขึ้น ปาจีนวังสบรรพต เป็นเวลา ๔ วันลง ๔ วัน พวกเธอจงดูเถิด ภูเขานั้นอันตรธาน ไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ก็ปรินิพพานแล้ว

สมัยพระผู้มีพระภาค โกนาคมนะ หมู่มนุษย์ชื่อว่า โรหิตัสสะ มีอายุประมาณ 3 หมื่นปี
ขึ้น วงกฏบรรพต เป็นเวลา ๓ วันลง ๓ วัน พวกเธอจงดูเถิดภูเขานี้อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นทำกาละแล้ว และพระผู้มีพระภาคฯก็ปรินิพพานแล้ว

สมัยพระผู้มีพระภาค กัสสป หมู่มนุษย์ชื่อ สุปปิยา มีอายุประมาณ 2 หมื่นปี ขึ้น สุปัสสบรรพต เป็นเวลา ๒ วันลง ๒ วัน พวกเธอจงดูเถิด ภูเขานี้อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นกระทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ หมู่มนุษย์มีชื่อว่า มาคธ มีอายุเพียง 100ปี หมู่มนุษย์ชื่อมาคธ ขึ้น เวปุลลบรรพต เพียงครู่เดียว ลงก็เพียงครู่เดียว และบัดนี้ี้ ตถาคต อุบัติขึ้นแล้วในโลก.. ภิกษ ท. ชื่อเขาบรรพตนี้ก็จักอันตรธาน หมู่มนุษย์เหล่า นี้ก็จักทำกาละ และเราก็จักปรินิพพาน

ภิกษุ ท. ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีจะเบื่อหน่ายในสังขาร พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อ จะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ


......................................................................................

236
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๓๖

กาลทานสูต

         [๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้

๕ ประการเป็นไฉน คือ
   ทายกย่อมให้ทานแก่ ผู้มาสู่ถิ่นของตน
   ทายกย่อมให้ทานแก่ ผู้เตรียมจะไป
   ทายกย่อมให้ทานใน สมัยข้าวแพง
   ทายกย่อมให้ ข้าวใหม่แก่ ผู้มีศีล
   ทายกย่อมให้ ผลไม้ใหม่แก่ ผู้มีศีล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน๕ ประการนี้แลฯ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจาก ความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้า ทั้งหลาย

ผู้ปฏิบัติซื่อตรงผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใสทักขิณาทาน จึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนา หรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญเพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทาน ในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก ฯ

...............................................................................

237
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๓๗

สัทธานิสังสสูตร

         [๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ
๕ ประการเป็นไฉน คือ สัปบุรุษผู้สงบในโลกทุกๆ ท่าน

1 เมื่อจะ อนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธา (ตถาคต) ก่อนผู้อื่น ย่อมไม่อนุเคราะห์ ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น

2 เมื่อจะ
เข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธา ก่อนผู้อื่น

3 เมื่อจะ
ต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่ต้อนรับผู้ไม่มีศรัทธา ก่อนผู้อื่น

4 เมื่อจะ
แสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ผู้ ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น

5 กุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อไปแล้ว
ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่ง ของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของชน เป็นอันมาก คือ ภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกาฯ ต้นไม้ใหญ่ สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้น แข็งแรง มีรากมั่นคงสมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย ฝูงนกย่อม อาศัย ต้นไม้นั้นซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุขผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัย ร่มเงา ผู้ต้องการผลก็ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด

ท่านผู้ปราศจากราคะปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขตในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้างสุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้นเหมือนกัน

ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเครื่องบรรเทา ทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาเข้าใจทั่วถึงธรรม นั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมด อาสว กิเลส ปรินิพพาน

.................................................................................

238
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๔๑๗

ติรัจฉานกถาสูตร
ว่าด้วยการพูดติรัจฉานกถา

          [๑๖๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงอย่าพูด ดิรัจฉานกถา” ซึ่งมีหลายอย่าง คือพูด เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะถ้อยคำนี้
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา

ข้อนั้นเพราะเหตุไร? 
เพราะถ้อยคำนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น
ย่อมไม่เป็นไปเพื่อ ความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำ ความเพียรเพื่อรู้ ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา.

.....................................................................................

239
บาลี ทุก. อํ. ๒๐/๖๔/๒๕๑.

ความเพียรอันไม่ถอยกลับ

ภิกษุทั้งหลาย. เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียร อันไม่ถอยกลับ
ด้วยการตั้งจิตว่า

หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่
เนื้อและเลือดในสรีระ
จักเหือดแห้งไปก็ตามที

ประโยชน์ใด อันบุคคลจะพึงบรรลุได้ ด้วยกำลัง
ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ

ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มีดังนี้
.

ดูพระสูตรเต็ม

..........................................................................

240
ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต หน้า ๓๒๓

ตัณหาสูตร

         [๒๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม อันมีตัณหาเป็นมูล ๙ ประการ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันมีตัณหาเป็นมูล ๙ ประการเป็นไฉน

๑.การแสวงหาเพราะอาศัยตัณหา
๒.การได้เพราะอาศัยการแสวงหา
๓.การวินิจฉัยเพราะอาศัยการได้
๔. ฉันทราคะเพราะอาศัยการวินิจฉัย
๕.ความหมกมุ่นเพราะอาศัยฉันทราคะ
๖. ความหวงแหนเพราะอาศัยความหมกมุ่น
๗. ความตระหนี่เพราะอาศัยความหวงแหน
๘. การจัดการอารักขาเพราะอาศัยความตระหนี่  
๙. ธรรมอันเป็นบาปอกุศลหลายประการ คือ การจับท่อนไม้ จับศาตราการทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท กล่าววาจาส่อเสียดว่ามึงๆ และพูดเท็จย่อมเกิดขึ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมมีตัณหาเป็นมูล ๙ ประการนี้แล ฯ

…………………………………………………………………………

๙ อาการของจิต จากตัณหาไปอุปาทาน

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง ๙ อย่าง อย่างไรเล่า ?

๙ อย่าง คือ
๑. เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา)
๒.เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ)
๓.เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย)
๔.เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค)
๕.เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ)
๖.เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห)
๗.เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ)
๘.เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมี การหวงกั้น (อารกฺโข)
๙.เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจาก การหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ)

...............................................................................
241

กำเนิด ๔ (ลักษณะของการเกิด)
มู. ม. ๑๒/๑๔๖/๑๖๙.

สารีบุตร ! กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้มีอยู่.
๔ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-

(๑) อัณฑชะ กำเนิด (เกิดในไข่)

(๒) ชลาพุชะ กำเนิด (เกิดในครรภ์)

(๓) สังเสทชะ กำเนิด (เกิดในเถ้าไคล) (ซากศพเน่า ขนมบูดน้ำครำ)

(๔) โอปปาติกะ กำเนิด (เกิดผุดขึ้น) (เทวดา สัตว์นรก มนุษย์ เปรตบางพวก)

สารีบุตร ! ก็อัณฑชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชำเเรกเปลือกเเห่งฟองเกิด นี้เรียกว่า อัณฑชะกำเนิด.

สารีบุตร ! ชลาพุชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ชำเเรกใส้ (มดลูก) เกิด นี้เราเรียกว่า ชลาพุชะกำเนิด.

สารีบุตร ! สังเสทชะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล (ของสกปรก) นี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด.

สารีบุตร ! โอปปาติกะกำเนิด เป็นอย่างไรเล่า ?
เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก เเละเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด.

สารีบุตร ! เหล่านี้เเล กำเนิด ๔ ประการ.

...................................................................................

242
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 104

ภิกษุถุงลม

  1. ปริยัติธรรม (การศึกษา การอ่าน)
  2. การแสดงธรรม (นักแต่ง/นักการบัญญัติ)
  3. การสาธยายธรรม (นักสวด)
  4. ความคิดพล่านไปในธรรม (นักคิด)
  (พระสูตรนี้ พระศาสดาต้องการให้ภิกษุเป็นธรรมวิหารี ด้วยคือผู้อยู่ด้วยธรรม /ผู้ปฎิบัติ/    ผู้หลีกเร้น/ ผู้หาความสงบในใจ )

ภิกษุ ! ภิกษุในกรณีนี้ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ เธอใช้เวลาทั้งวันให้เปลืองไป ด้วยการเรียนธรรมนั้น ต้องเริดร้าง จากการหลีกเร้น ไม่ประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจในภายใน. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้มากด้วยปริยัติ (นักเรียน) ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม).

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุแสดงธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนมา แก่คนอื่น โดยพิสดาร เธอใช้เวลาทั้งวัน ให้เปลืองไป ด้วยการบัญญัติธรรมนั้น ต้องเริดร้าง จากการหลีกเร้น ไม่ประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจ ในภายใน. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้มากด้วยการ บัญญัติ (นักแต่ง) ยังมิใช่ธรรมวิหารี(ผู้อยู่ด้วยธรรม).

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุทำการสาธยายธรรม ตามที่ได้ฟังได้เรียนมา โดยพิสดาร เธอใช้เวลาทั้งวัน ให้เปลืองไปด้วยการสาธยายนั้น ต้องเริดร้าง จากการหลีกเร้น ไม่ประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจ ในภายใน. ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้มากด้วยการสวด(นักสวด) ยังมิใช่ธรรมวิหารี(ผู้อยู่ด้วยธรรม).

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุคิดพล่านไป ในธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนมา เธอใช้เวลา ทั้งวันให้เปลืองไป ด้วยการคิดพล่านในธรรมนั้น ต้องเริดร้าง จากการหลีกเร้น ไม่ประกอบซึ่งธรรมเป็น เครื่องสงบใจในภายใน. ภิกษุนี้เราเรียกว่าผู้มากด้วยการคิด (นักคิด)ยังมิใช่ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม).

....................................................................................

243

พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
(พระเจ้าจักรพรรดิ์)
(พระอานนท์ทูลต่อพระศาสดาว่า กุสินาราเป็นเมืองเล็ก ไม่ควรปรินิพพานที่เมืองนี้)

         [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพีเมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ ปรินิพพาน ในเมืองเหล่านี้เถิด

กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น จักกระทำการบูชาพระสรีระ ของพระตถาคต ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย

ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมือง ที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย

ดูกรอานนท์ อาลกมันทาราชธานี แห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี ราชธานีก็ฉันนั้น เหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย

กุสาวดีราชธานี มิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่มจงเคี้ยวกิน

......................................................................................
244
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๔๓๒

ควัมปติสูตร
ผู้เห็นทุกข์ ชื่อว่าเห็นใน สมุทัย นิโรธ มรรค



         [๑๗๑๑] เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระควัมปติเถระ ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ผมได้ฟังมา ได้รับมาในที่เฉพาะ พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า

ผู้ใดย่อม เห็นทุกข์ ผู้นั้นชื่
อว่า ย่อมเห็นแม้ ทุกขสมุทัย แม้ทุกขนิโรธ แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ผู้ใดย่อม เห็นทุกขสมุทัย ผู้นั้นชื่อว่า
ย่อมเห็นแม้ทุกข์ แม้ทุกขนิโรธ แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ผู้ใดย่อม เห็นทุกขนิโรธ ผู้นั้นชื่อว่า
ย่อมเห็นแม้ทุกข์ แม้ทุกขสมุทัย แม้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ผู้ใดย่อม เห็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ผู้นั้นชื่อว่า
ย่อมเห็นแม้ทุกข์ แม้ทุกขสมุทัย แม้ทุกขนิโรธ.

.....................................................................................
245

จิตเกิดดับตลอดเวลา จิตเหมือนวานร

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด

ร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่ง มหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืน และกลางวัน ก็ฉันนั้นแล ฯ

.....................................................................................

246

มารทูลให้นิพพาน
๑. บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๓๑/๑๐๒.

         อานนท์ ! ครั้งหนึ่งเมื่อเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ต้นไทรอเป็นที่พักร้อนของเด็กเลี้ยงแพะ เมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ๆ มารผู้มีบาปได้เข้ามาหา เราถึงที่นั้น ยืนอยู่ในที่ควรแล้วกล่าวกะเราว่า

“ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานเถิด บัดนี้เป็นเวลาสมควรปรินิพพาน ของพระผู้มีพระภาคแล้ว”.

เราได้กล่าวกะมารนั้นว่า

ท่านผู้มีบาปเราจักไม่ปรินิพพานก่อน ตลอดกาลที่ ภิกษุ...ภิกษุณี... อุบาสก.. อุบาสิกา ผู้เป็นสาวก (และสาวิกา) ของเรายังไม่เป็นผู้ฉลาด
………………………………………………………………………

ตรัสแก่พระอานนท์ ที่ปาวาลเจดีย์ ยังไม่ได้รับคำแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า ยังไม่เป็น พหุสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมควรแก่ธรรม ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติตามธรรม, ยังต้องเรียน ความรู้ของอาจารย์ตนต่อไปก่อน จึงจักบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นซึ่งพระสัทธรรม จนข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้น ให้ราบเรียบโดยธรรมแล้ว แสดงธรรมประกอบด้วยความน่าอัศจรรย์ได้

ท่านผู้มีบาป ! และเราจักไม่ปรินิพพานก่อน ตลอดกาลที่พรหมจรรย์ (คือศาสนา) นี้ ยังไม่ตั้งมั่น รุ่งเรืองแผ่ไพศาล เป็นที่รู้จักแห่งชนมาก เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ ท. สามารถประกาศได้ด้วยดี”

....................................................................................
247

ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม
บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๑/๕๐๙. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร.

        ราชกุมาร ! ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็น ธรรมอันลึก สัตว์อื่นเห็นได้ยาก ยากที่สัตว์อื่น จะรู้ตาม เป็นธรรมระงับและประณีต ไม่เป็นวิสัย ที่จะหยั่งลงง่าย ๆ แห่งความตรึก เป็นของละเอียดเป็นวิสัยรู้ได้เฉพาะ บัณฑิต ก็สัตว์เหล่านี้ มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในอาลัยเพลิดเพลินแล้ว ในอาลัย

สำหรับสัตว์ผู้มีอาลัยเป็นที่ยินดี ยินดีเพลิดเพลินในอาลัยนั้น ยากนักที่จะเป็นปฏิจจ สมุปบาทอันมีสิ่งนี้(คือมีอาลัย) เป็นปัจจัยยากนักที่จะเห็นธรรมเป็นที่สงบระงับ แห่ง สังขารทั้งปวง คือธรรมอันถอนอุปธิทั้งสิ้น ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับโดยไม่เหลือ และนิพพาน.

หากเราพึงแสดงธรรมแล้วสัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึง ข้อนั้นจักเป็นความเหนื่อยเปล่าแก่เรา เป็นความลำบาก แก่เรา.”

โอ, ราชกุมาร ! คาถาอันอัศจรรย์เหล่านี้ที่เราไม่เคยฟังมาแต่ก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง แก่เราว่า

“กาลนี้ ไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุได้แล้วโดยยาก.

ธรรมนี้,สัตว์ที่ถูกราคะโทสะรวบรัดแล้ว ไม่รู้ได้โดยง่ายเลย. สัตว์ที่กำหนัดด้วยราคะ ถูกกลุ่มมืดห่อหุ้มแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันให้ถึงที่ทวนกระแส อันเป็นธรรมละเอียด ลึกซึ้ง เห็นได้ยากเป็นอณู” ดังนี้.

.....................................................................................

248

พรหมอาราธนา
บาลี ม.ม. ๑๓/๔๖๒/๕๑๐. ตรัสแก่โพธิราชกุมาร.

         ราชกุมาร ! ครั้งนั้น ความรู้สึกข้อนี้ ได้บังเกิดขึ้นแก่ สหัมบดีพรหม เพราะเธอรู้ความ ปริวิตกในใจของเราด้วยใจ.

ความรู้สึกนั้นว่า “ผู้เจริญ ! โลกจักฉิบหายเสียแล้วหนอ ผู้เจริญ ! โลกจักพินาศ เสียแล้วหนอ เพราะเหตุที่จิตแห่งพระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อ ความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม” ดังนี้

ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมได้อันตรธานจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเรา รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขนออกแล้วงอเข้าเท่านั้น

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ แล้วกล่าวคำนี้กะเราว่า

“พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงแสดงธรรมเถิด สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย ก็มีอยู่ เขาจักเสื่อม เสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม. สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้”ดังนี้

ราชกุมาร ! สหัมบดีพรหมได้กล่าวคำนี้แล้ว ยังได้กล่าวคำอื่นสืบไปอีก(เป็นคาถา)ว่า

“ธรรมไม่บริสุทธิ์ ที่คนมีมลทิน ได้คิดขึ้นได้มีปรากฏอยู่ในแคว้นมคธแล้ว สืบมา แต่ก่อน ขอพระองค์จงเปิดประตูนิพพานอันไม่ตาย. สัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรม ที่พระองค์ ผู้ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้วเถิด. คนยืนบนยอดชะง่อนเขา เห็นประชุมชน ได้โดยรอบ ฉันใด

ข้าแต่พระผู้มีเมธาดี ! ผู้มีจักษุเห็นโดยรอบ ! ขอพระองค์จงขึ้นสู่ปราสาท อันสำเร็จ ด้วยธรรม จักเห็นหมู่สัตว์ผู้เกลื่อนกล่นด้วยโศก ไม่ห่างจากความโศก ถูกชาติชรา ครอบงำ ได้ฉันนั้น.

จงลุกขึ้นเถิด พระองค์ผู้วีระ !ผู้ชนะสงครามแล้ว ! ผู้ขนสัตว์ด้วยยานคือเกวียน ! ผู้ไม่มีหนี้สิน ! ขอพระองค์จงเที่ยวไปในโลกเถิด. ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมีเป็นแน่” ดังนี้.

..............................................................................................
.
249

ทรงเห็นสัตว์ดุจดอกบัว ๓ เหล่า ตรัสแก่โพธิราชกุมาร
บาลี. ม.ม. ๑๓/๔๖๓/๕๑๑.

         ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของ สหัมบดีพรหมแล้ว และ เพราะอาศัย ความกรุณาในสัตว์ ท. เราตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักขุแล้ว.

เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่ เราได้เห็นสัตว์ ท. ผู้มีธุลีในดวงตาเล็กน้อย บ้าง มีมากบ้าง ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง อาจสอนให้รู้ ได้ ง่ายบ้าง ยากบ้าง และบางพวกเห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในหนอง บัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก

ดอกบัว
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในนํ้า
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นนํ้า
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นนํ้า อันน้ำไม่ถูกแล้ว มีฉันใด ราชกุมาร !

เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น. ราชกุมาร !

ครั้งนั้น เราได้รับรองกะ สหัมบดีพรหม ด้วยคำ (ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า “ประตูแห่ง นิพพาน อันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด

ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีตที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ท.” ดังนี้.

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่าตนเป็นผู้ได้โอกาสอันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้วเพื่อแสดงธรรม จึงไหว้เรากระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้น นั่นเอง.

.........................................................................................

250

ทรงแสดงธรรมเพราะเห็นความจำเป็นของสัตว์บางพวก

๑. บาลี ติก. อํ. ๒๐/๑๕๒/๔๖๑. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.

         ภิกษุ ท. ! (พวก1) บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม ได้ฟัง หรือไม่ได้ ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ก็หาเข้ามาสู่คลอง แห่ง กุศลธรรมได้ไม่ (อินทรีย์อ่อน แม้จะเห็นตถาคต ได้ฟังธรรม ก็ไม่เข้ามาสู่ธรรมวินัย)

แต่บุคคลบางคนในโลกนี้(พวก2) ได้เห็นหรือไม่ได้เห็นตถาคตก็ตาม ได้ฟังหรือไม่ได้ ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็ตาม ย่อมเข้ามา สู่คลองแห่งกุศลธรรม ทั้งหลายได้โดยแท้ (อินทรีย์แก่กล้ามาก แม้จะเห็นหรือไม่เห็น ฟังหรือไม่ได้ฟัง ก็เข้ามา สู่ธรรมวินัยอยู่แล้ว)

ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้(พวก3) ต่อเมื่อได้เห็นตถาคต หรือ ได้ฟังธรรมวินัยที่ ตถาคต ประกาศแล้ว จึงเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้ ถ้าไม่ได้เห็น ตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมไม่ เข้ามาสู่คลอง แห่ง กุศลธรรมทั้งหลายได้เลย (บุคคลที่รอโอกาส เมื่อเห็นตถาคตก็จะเข้ามาหา ไม่เห็นก็ จะไม่เข้ามาหา พระองค์เล็งเห็นประโยชน์ในบุคคลเหล่านี้ เพราะยังต้องการตถาคตเป็นที่พึ่ง)

ภิกษุ ท. ! ในบุคคล ๓ ประเภทนั้น มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งต่อเมื่อได้เห็นตถาคต หรือได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว จึงจะเข้ามาสู่คลองแห่งกุศลธรรม ทั้งหลาย ได้ ถ้าไม่ได้เห็นตถาคต หรือไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว ย่อมไม่เข้ามา สู่คลองแห่งกุศลธรรมทั้งหลายได้เลย.

เราเพราะเห็นแก่บุคคลประเภทนี้แหละ จึงอนุญาตให้มีการแสดงธรรม. และเพราะ อาศัยบุคคลประเภทนี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรม แก่บุคคลประเภท อื่นด้วย.

ฟังคลิป นาที่ที่ 1.15

....................................................................................

251
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ ๘๗ -๑๑๑

มหาปรินิพพานสูตร (๑๐)


ผิวพรรณพระผู้มีพระภาคผุดผ่องดั่งทอง
ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ
ราตรีที่ตรัสรู้ และ ราตรีที่ปรินิพพาน

         [๑๒๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ได้น้อมคู่ผ้า เนื้อละเอียดมีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนั้นเข้าไปสู่พระกาย ของ พระผู้มีพระภาค ผ้าที่ท่านพระอานนท์ น้อมเข้าไปสู่พระกายของ พระผู้มีพระภาค นั้น ย่อมปรากฏดัง ถ่านไฟที่ปราศจากเปลวฉะนั้น

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคยมีมามีแล้ว พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก คู่ผ้าเนื้อ ละเอียด มีสีดังทองสิงคี ซึ่งเป็นผ้าทรงนี้ ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่พระกาย ของพระผู้มี พระภาคย่อมปรากฏ ดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ฯ
(ผ้าสีดั่งมองเนื้อดีที่ปุกกุสะ ถวาย เป็นจีวรผืนสุดท้าย ที่พระผู้มีพระภาคใช้ห่มจนปรินิพพาน)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ในกาลทั้งสอง กายของตถาคต ย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก ในกาลทั้งสองเป็นไฉน

คือ ในราตรีที่ ตถาคต ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑
ในราตรีที่ตถาคต ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสส นิพพานธาตุ ๑

ดูกรอานนท์ในกาลทั้งสองนี้แล กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ฉวีวรรณ ผุดผ่องยิ่งนัก

ดูกรอานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ แล ความปรินิพพานของตถาคตจักมีใน ระหว่าง ไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันอันเป็นที่แวะพักของ มัลลกษัตริย์ ทั้งหลาย ในเมืองกุสินารา


.........................................................................................
252

เถรสูตร
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๑๗๑

  ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
  1. บวชมานาน
  2. มีศีลสมาทานศึกษา
  3. สั่งสมสุตตะ
  4. จำปาติโมกข์ได้ จำแนกด้วยดี วินิจฉัยได้
  5. ฉลาดระงับอธิกรณ์
  6. รักการฟังธรรมและการแสดงธรรม
  7. รักสันโดษ
  8. เป็นผู้สำรวมอินทรีย์
  9. ได้ฌาน4 ได้ไม่ยาก
 10.ได้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติ


         [๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

1. ภิกษุเป็นเถระรัตตัญญ บวชมานาน

2. เป็นผู้มีศีลสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

3. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลางงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

4. จำปาติโมกข์ทั้งสองด้วยดีโดยพิสดาร จำแนกด้วยดี ให้เป็นไปได้ด้วยดี วินิจฉัย ได้แล้ว โดยสูตรโดยอนุพยัญชนะ ๑

5. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น ๑

6. เป็นผู้ใคร่ธรรมรักการฟังธรรม การแสดงธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรม อันยิ่งใน วินัยอันยิ่ง ๑

7. เป็นผู้ สันโดษ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมี ตามได้ ๑

8. เป็นผู้ ประกอบด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ แม้นั่งในละแวก บ้าน ก็ สำรวมแล้วด้วยดี

9. เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็น เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

10. ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้ ฯ

...........................................................................................
253

สมณสัญญาสูตร
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๑๘๐

         [๑๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการ อันภิกษุเจริญแล้วทำ ให้มากแล้ว ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์

สมณสัญญา ๓ ประการเป็นไฉน

คือ สมณสัญญาว่า
๑. เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
๓. มรรยาทอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมยังธรรม ๗ ประการให้บริบูรณ์

ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน

คือ ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำติดต่อเป็นนิตย์
๑. เป็นผู้มีความประพฤติติดต่อเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย
๒. เป็นผู้ไม่โลภมาก
๓. เป็นผู้ไม่พยาบาท
๔. เป็นผู้ไม่ถือตัว
๕. เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา
๖. เป็นผู้มีการพิจารณาในปัจจัยทั้งหลายอันเป็นบริขาร แห่งชีวิตว่า ปัจจัยเหล่านี้ มี ประโยชน์เช่นนี้ แล้วจึงบริโภค
๗. เป็นผู้ปรารภความเพียร

ดูกรภิกษุทั้งหลายสมณสัญญา ๓ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมยัง ธรรม๗ ประการนี้ให้บริบูรณ์ ฯ

.......................................................................................

254

ปฏิจฉันนสูตร
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต


         [๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้
ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ
๑. มาตุคาม(สตรี) ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผยไม่งดงาม
๒. มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง
๓. มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้
เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
๑. ดวงจันทร์ เปิดเผย จึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
๒. ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
๓. ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ

................................................................................

255

สุขที่แท้จริง สุขของภิกษุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องสุขของภิกษุ มีอธิบายอย่างไร
(บรรลุ ฌาน๑ ฌาน๒ ฌาน๓ ฌาน๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน 

มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแก่วิเวกอยู่ บรรลุทุติยฌาน

มีความ ผ่องใส แห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขามีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน

ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
นี้แลเป็นอธิบายในเรื่องสุขของภิกษุ ฯ

(สุขใน ฌาน 1 - 4)


.............................................................................

256

ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ (ภัทเทกรัตตสูตร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้า หน้าที่ ๒๖๕

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว 
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง 
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว 
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง 

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ 
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด 
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ 
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง 
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่นั้น 
ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ 
มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวัน และกลางคืน 
นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

(ดูพระสูตรเต็ม P829)


................................................................................
257

บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร (ภัทเทกรัตตสูตร)
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้า หน้าที่ ๒๖๕

เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ  ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ 
ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมไม่เล็งเห็น รูป โดยความเป็น อัตตา บ้าง 
ไม่เล็งเห็นอัตตา ว่ามีรูปบ้าง 
ไม่เล็งเห็นรูป ในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตา ในรูปบ้าง 

ย่อมไม่เล็งเห็น เวทนา โดยความเป็น อัตตา บ้าง 
ย่อมไม่เล็งเห็น สัญญา โดยความเป็น อัตตา บ้าง 
ย่อมไม่เล็งเห็น สังขาร โดยความเป็น อัตตา บ้าง 
ย่อมไม่เล็งเห็น วิญญาณ โดยความเป็น อัตตา บ้าง 

(ดูพระสูตรเต็ม P829)


..................................................................................

258
(ดูฉบับเต็ม พระไตรปิก ฉบับหลวง)
(พุทธประวัติจากพระโอษฐ์)

พุทธประวัติเรื่องย่อ

1) โพธิสัตว์เกิดใน “สากยะตระกูล” นครของเราชื่อ กบิลพัสดุ์
2) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า
3) บิดาเป็นราชาชื่อ สุทโธทนะ มารดาชื่อ มายาเทวี ครองเรือน ๒๙ ปี
4) สมัยยังเป็นโพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมดำรงอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต
5) โพธิสัตว์ มีสติ รู้ตัวจุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
6) เมื่อก้าวลงสู่ครรภ์แห่งมารดา แผ่นดินย่อมหวั่นไหว ย่อมสั่นสะเทือน
7) เมื่อกำลังก้าวลงสู่ครรภ์มารดา เทวดาทำการอารักขาในทิศทั้งสี่
8) ในกาลนั้น มารดาฯย่อมเป็นผู้มีศีล5 ครบถ้วน
9) มารดาฯไม่คิดกามคุณในบุรุษ และบุรุษย่อมไม่คิดด้วยจิตกำหนัด
10) มารดาแห่งโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีอาพาธ มีความสุข ไม่อ่อนเพลีย
11) มารดาฯแลเห็นโพธิสัตว์ผู้นั่งอยู่ในครรภ์ อวัยวะน้อยใหญ่สมบูรณ์
12) มารดาฯ อุ้มครรภ์ไว้สิบเดือนเต็ม มารดาแห่งโพธิสัตว์ ยืนคลอด
13) เกิดแสงสว่างเนื่องด้วยการประสูติ โอฬารจนหาประมาณมิได้
14) เกิดแผ่นดินไหว โพธิสัตว์ มีสติสัมปชัญญะขณะออกจากท้องมารดา
15) เมื่อออกจากท้องแห่งมารดา เทวดาเข้ารับก่อน มนุษย์เข้ารับต่อภายหลัง
16) เมื่อออกมาจากท้องมารดา เทพบุตรทั้งสี่ รับเอามาวาง ตรงหน้าแห่งมารดา
17) เทพบุตรทั้งสี่ทูลว่า บุตรอันมีศักดาใหญ่ของแม่เจ้าเกิดแล้ว
18) โพธิสัตว์ผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ด้วยเสมหะ ด้วยเลือด
19) ปรากฎท่อธารจากอากาศ เย็นท่อหนึ่ง ร้อนท่อหนึ่ง ใช้ในกิจเนื่องด้วยประสูติ
20) โพธิสัตว์คลอดแล้วเหยียบพื้นดินด้วยผ่าเท้า มีพระพักตร์ทางทิศเหนือ
21) โพธิสัตว์ก้าวไป ๗ ก้าว มีฉัตรสีขาวกั้นอยู่เบื้องบน เหลียวดูทิศทั้งหลาย
22) โพธิสัตว์กล่าวอาสภิวาจา ว่าเราเป็นผู้เลิศแห่งโลก.. ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
22) โพธิสัตว์ เป็นผู้ประกอบด้วย มหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ
23) ประสูติได้ ๗ วัน มารดาสวรรคต เข้าถึงเทวนิกาย ชั้นดุสิต

....................................................................................
259

ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ

อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มีเท่าไร ?

“มี ๕ อย่าง พระเจ้าข้า !”

ดีละ ดีละ อานนท์ ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงทรงจำฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติที่ ๖ นี้ไว้ คือ ภิกษุในกรณีนี้

1. มีสติก้าวไป
2. มีสติถอยกลับ
3. มีสติยืนอยู่
4. มีสตินั่งอยู่
5. มีสติสำเร็จการนอนอยู่
6. มีสติอธิษฐานการงาน

อานนท์ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ สติสัมปชัญญะ

ฟังจากคลิป อนุนสสติ

....................................................................................

260

ความเพียรอันไม่ถอยกลับ

ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอัน ไม่ถอยกลับ
(ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า

“หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่
เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไป ก็ตามที
ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง
ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ
ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี
” ดังนี้.


ดูพระสูตรเต็ม


.....................................................................................

261

ปุริสลักษณะ 32 ประการ (แยกตามอวัยวะ)

กาย
1. กาย- กายตรงเหมือนกายพรหม
2. กาย- กายท่อนบนเหมือนกายของราชสีห์
3. กาย- ความสูง เท่ากับ 1 วาพอดี
4. กาย- เนื้อเต็ม 7 แห่ง บ่าทั้งสอง หลังมือ หลังเท้า และคอ
5. กาย- เนื้อแผ่นหลังเต็ม ไม่มีร่องเหมือนคนทั่วไป
6. กาย- ยืนไม่ย่อตัวลง ปลายนิ้วยาวถึงเข่า

ฟัน
7. ฟัน- มีฟัน ๔๐ ซี่
8. ฟัน- มีเขี้ยวสีขาวงาม
9. ฟัน- มีฟันชิดเป็นระเบียบ 
10. ฟัน- มีฟันเรียบเสมอกัน

เท้า
11. เท้า- ใต้ฝ่าเท้า มีจักร มีซี่กำ ข้างละพันมีกง มีดุมบริบูรณ์
12. เท้า- ฝ่าท้าเรียบเท่ากัน
13. เท้า- ส้นเท้ายาว
14. เท้า- ส้นเท้าสูง เมือนสังข์คว่ำ

ขน
15. ขน-รูขุมขน มีขน 1 เส้น
16. ขน-ปลายขน ช้อนขึ้นเวียนขวา สีดุจดอกอัญชัน
17. ขน-ขนระหว่างคิ้วมีสีขาว อ่อนนุ่มเหมือนสำลี

ตา
18. ตา-ตาดำเข้มเป็น สีนิล
19. ตา-ตาดุจตาวัว

ผิว
20. ผิว-ผิวงาม มีสีดุจทองคำ
21. ผิว-ผิวละเอียด มีสีดุจสีทอง

มือ
22. มือ-ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อ่อนนุ่ม
23. มือ-ลายมือ ลายฝ่าเท้า มีลายดุจตาข่าย

อื่นๆ
24. ศรีษะ- ศรีษะรับกับรูปหน้า
25. คอ-ลำคอกลมเท่ากัน
26. คาง- มีคางดุจราชสีห์
27. ลื้น- มีลิ้นกว้างใหญ่
28. นิ้ว- นิ้วมือ นิ้วเท้า ยาวเสมอกัน ไม่เหลื่อมเหมือนคนทั่วไป
29. อวัยวะพศ-องคชาติซ่อนในฝัก
30. หน้าแข้ง- เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
31. เสียง- สุรเสียงดุจเสียงพรหม สำเนียงเหมือน นกกรวิก
32. ประสาท- มีประสาทรับรสอันเลิศ

........................................................................................

262

การสนทนาเรื่อง ที่สุดโลก

ภิกษุ ท. ! เมื่อคืนนี้ ราตรีล่วงไปมากแล้ว เทวบุตรชื่อ โรหิตัสส์ มีวรรณะ อย่างยิ่ง ส่องเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างอย่, ได้เข้ามาหาเราถึงที่อาศัย ไหว้เราแล้วยืน อยู่ ณ ที่ข้างหนึ่ง. ได้กล่าวกะเราว่า "พระองค์ ! ในที่สุดโลกแห่งใด ซึ่งสัตว์จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัตินั้น ใคร ๆ อาจ เพื่อจะรู้ จะเห็น จะถึงที่สุดโลก แห่งนั้น ด้วยการไป ได้หรือไม่?"

ภิกษุ ท. ! เทวบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า "แน่ะเธอ ! ที่สุดโลก ซึ่งสัตว์ จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัตินั้น เรากล่าวว่า ใครๆ ไม่อาจรู้ ไม่ อาจเห็น ไม่อาจถึงที่สุดโลกนั้นด้วยการไปได้เลย"

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวดังนี้แล้ว เทวบุตรนั้นได้กล่าวสืบไปว่า "พระองค์ ! อัศจรรย์จริง ไม่เคยมีเลย คือคําที่พระองค์ตรัสนี้. ข้าแต่พระองค์ ! ในกาลก่อนข้า พระองค์เป็นฤาษี ชื่อโรหิตัสส์ ผู้โภชบุตร มีฤทธิ์ไปได้โดยอากาศ.

ความรวดเร็วของ ข้าพระองค์ เช่นเดียวกับลูกธนูของอาจารย์ ผู้คล่องแคล่ว ลือชา ในการยิงธนูขนาดหนัก สามารถยิงถูกขนทรายได้ในระยะ อุสุภ* หนึ่ง ที่ยิงตลอด เงา แห่งตาล๑ โดยขวางด้วยลูกศรอันเบาปลิวฉะนั้น.  การก้าวเท้าของข้าพระองค์ (ก้าวหนึ่งมีระยะไกล)ประมาณเท่า จากสมุทรฟากตะวันออก ถึงสมุทรฟาก ตะวันตก
* (อศุภ หมายถึงมาตราวัดความยาว ของอินเดียโบราณ)

ข้าแต่ พระองค์! เมื่อประกอบด้วยความรวดเร็วและการก้าวไกลถึงเช่นนี้ ข้าพระองค์เกิด ความปรารถนาว่า เราจักถึงที่สุดโลก ด้วยการไปให้จงได้. ข้าพระองค์จึงงดการ บริโภค การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม งดการถ่ายอุจจาระป๎สสาวะ งดการหลับ อัน เป็นเครื่องบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยเสีย มีอายุ มีชีวิต ๑๐๐ ปี ก็เดินทางทั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกเลย ได้ตายเสียในระหว่าง. 

ข้าแต่พระองค์ ! อัศจรรย์ จริง, ไม่เคยมีเลย, คือคําที่พระองค์ตรัสว่า "เรากล่าวว่าใครๆ ไม่อาจรู้อาจเห็น อาจถึงที่สุดโลก ด้วยการไปได้เลย"ดังนี้" 

ภิกษุ ท.! เราได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า "แน่ะเธอ ! ที่สุดโลกแห่งใด อัน สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เราไม่กล่าวการรู้ การเห็นการถึงที่สุด โลกนั้น เพราะการไป.  แน่ะเธอ! เรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ก็จะยังไม่กล่าว การกระทำ ที่สุดแห่งทุกข์.  แน่ะเธอ! ในร่างกาย ที่ยาววาหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสัญญา และใจ นี่เอง เราได้บัญญัติโลก เหตุเกิดของโลกความดับไม่มี เหลือของโลก และทางให้ถึง ความดับไม่มีเหลือของโลกไว้" ดังนี้.

....................................................................................

263

เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นพระพุทธองค์

         พระสารีบุตรได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ก็แลคำนี้เป็นคำที่พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท


อย่าเลย วักกลิ ! ประโยชน์อะไร ด้วยการเห็นกายเน่านี้.
ดูก่อนวักกลิ ! ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม.
ดูก่อนวักกลิ ! เพราะว่า เมื่อเห็นธรรมอยู่ ก็คือเห็นเรา เมื่อเห็นเราอยู่ ก็คือเห็นธรรม


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ แต่ถ้าเธอนั้น มากไปด้วย อภิชฌา มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาทประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกล จากเรา แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้น โดยแท้.

เพราะเหตุไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เพราะว่าภิกษุนั้น ไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา
แล้วได้ตรัสไว้ โดยนัยตรงกันข้ามจากภิกษุ นี้คือตรัสเป็นปฏิปักขนัย โดยนัยว่าแม้จะ อยู่ห่างกันร้อยโยชน์ถ้ามีธรรมเห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นพระองค์

...................................................................................

264
ปฏิจจสมุปบาท แต่ละอาการ (โดยย่อ)

ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า?
ชรา- ความแก่ คร่ำคร่า ผมหงอก หนังเหี่ยว ความสิ้นไปแห่งอินทรีย์ในสัตว์นิกายนั้นๆ
มรณะ- การจุติ ความเคลื่อน การแตกสลาย การหายไป การตาย การทำกาละ

ชาติ เป็นอย่างไรเล่า?
การเกิด การก้าวลงสู่ครรภ์ การบังเกิด ความปรากฏของขันธ์ การที่สัตว์ได้อายตนะ

ภพ เป็นอย่างไรเล่า?
ภพ ๓ : กามภพ รูปภพ อรูปภพ

อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? 
อุปาทาน ๔ : กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน

ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า? 
ตัณหา ๖ : รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฎฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
(ตัณหาในอายตนะทั้ง ๖ รูป เสียง กลิ่น รส..)  

เวทนา เป็นอย่างไรเล่า?
เวทนา ๖ : จักขุสัมผัสชาเวทนา โสต.. ฆาน.. ชิวหา.. กาย.. มโนสัมผัสสชาเวทนา 
(ตัณหาในอายตนะทั้ง ๖ รูป เสียง กลิ่น รส..)

ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า?
ผัสสะ ๖ หมู่ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัสส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส 

สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า?
จักข์วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ 

นามรูป เป็นอย่างไรเล่า?
นาม : เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ 
รูป : มหาภูตทั้งสี่ รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ (ดิน น้ำ ไฟ ลม)

วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า?
จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโน-

สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า?
๓ อย่าง คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

อวิชชา เป็นอย่างไรเล่า?
ไม่รู้อริยสัจ๔ : ความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ในความดับ ไม่รู้ทางดำเนิน-

...................................................................................
265

ปฏิจจสมุปบาท
แบบย่อ

ทุกขสมุทยอริยสัจ(ปฏิจจสายเกิด)
1. อวิชชาเกิด -> สังขารทั้งหลายเกิด
2. สังขารเกิด -> วิญญาณเกิด
3. วิญญาณเกิด -> นามรูปเกิด
4. นามรูปเกิด -> สฬายตนะเกิด
5. สฬายตนะเกิด -> ผัสสะเกิด
6. ผัสสะเกิด -> เวทนาเกิด
7. เวทนาเกิด -> ตัณหาเกิด
8. ตัณหาเกิด -> อุปาทานเกิด
9. อุปาทานเกิด -> ภพเกิด
10. ภพเกิด -> ชาติเกิด
11. ชาติเกิด -> ชรามรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เกิด
ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

(การนับเริ่มนับจาก การเกิดของสังขารทั้งหลาย ไปจบที่ ชรา-มรณะ
หรือนับจาก ชรามรณะ ไปจบที่สังขารทั้งหลาย รวม 11อาการ)

ทุกขนิโรธอริยสัจ (ปฏิจจสายดับ)
อวิชชาดับ -> สังขารดับ
สังขารดับ -> วิญญาณดับ
วิญญาณ ดับ -> นามรูปดับ
นามรูปดับ -> สฬายตนะดับ
สฬายตนะดับ -> ผัสสะดับ
ผัสสะดับ -> เวทนาดับ
เวทนาดับ -> ตัณหาดับ
ตัณหาดับ -> อุปาทานดับ
อุปาทานดับ -> ภพดับ
ภพดับ -> ชาติดับ
ชาติดับ -> ชรามรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ดับ
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้

...................................................................................
266

การอาบน้ำในศาสนา - พราหมณ์บรรลุอรหันต์

         [๙๘] ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาค จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ท่านพระโคดมจะเสด็จไปยัง แม่น้ำพาหุกา เพื่อจะสรงสนานหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกาจักทำประโยชน์อะไรได้

     สุ. ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่งชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา.

     ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ สุนทริกภารทวาช พราหมณ์ด้วยพระคาถา ทั้งหลายว่า

คนพาล มีกรรมดำ แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำ สุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำ พาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชน ผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย

ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ

ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มี ความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำ ในท่าคยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้. (หากเป็นผู้มีศีล การดึ่มน้ำในแม่น้ำก็ไม่มีผลใดๆ)

สุนทริกพราหมณ์บรรลุอรหันต์

         [๙๙] ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน คนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด

พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้ บรรพชา อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด สุนทริกภารทวาช พราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านพระภารทวาชะ

ครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล.
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๕๐

...................................................................................

267
อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า 383-384

การเสด็จสุทธาวาส

  พระศาสดาหายตัวไปพบกับเทวดาชั้นสุทธาวาส ซึ่งเป็นชั้นที่พระองค์ไม่เคยมาเกิด
  (แม้อดีตชาติ) จึงเสด็จไปปรากฎที่ชั้น อวิหา (ชั้นต่ำสุดของสุทธาวาส)   เหล่าเทวดาชั้นนี้ ได้เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตว่าชื่ออะไร โคตร ปัญญา วิมุตติ   ให้พระพุทธเจ้าฟัง จากนั้น เทวดาชั้น อวิหา ได้พากันไปยังชั้นที่สูงกว่าคือ อตัปปา   สุทัสสา สุทัสสี จนถึงชั้นสูงสุด คือ อกนิฏฐา

         ภิกษุ ท. ! ในกาลครั้งหนึ่งเราพักอยู่ ณ ควงพญาไม้สาละ ป่าสุภวัน ในเขต อุกกัฏฐนคร

เมื่อเราเร้นอยู่ ณ ที่นั้น ได้เกิดความคิดขึ้นในใจว่าภพเป็นที่กำเนิด ที่เราไม่เคยกำเนิดนั้น(ไม่เคยไปเกิด) ไม่หาได้ง่าย ๆ เลย นอกจากชั้นสุทธาวาสประเภทเดียว

ถ้ากระไร เราพึงไปหาพวกเทพชั้นสุทธาวาสเถิด

ลำดับนั้น เราได้ออกจากควงพญาไม้สาละ ป่าสุภวันในเขตอุกกัฏฐนคร ไปปรากฏอยู่ ในหมู่เทวดา ชั้นอวิหา รวดเร็วเท่าเวลาที่บุรุษแข็งแรง เหยียดแขนออกแล้วงอเข้า เท่านั้น

ภิกษุ ท. ! หมู่เทวดานับร้อยนับพันเป็นอันมาก ในเทพนิกายนั้นได้เข้ามาหาเรา ครั้นไหว้แล้ว ยืนอยู่ที่ควร. (พวกเทพชาวสุทธาวาสชั้นนั้น ได้ทูลเล่าเรื่องการ บังเกิดขึ้น ในโลก ของบรรดาพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ว่า มีชาติ ชื่อ โคตร ศีล ธรรม ปัญญา วิหารธรรม และวิมุตติเป็นต้น ว่าเป็นอย่างนั้น ๆ. แล้วเล่าถึงความที่ตนเอง ได้เคยประพฤติ พรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ จึงได้มีการคลายความพอใจ ในกามทั้งหลาย ได้มาบังเกิดในพรหมวิมานนั้น ๆ)

ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น
เราพร้อมด้วยเทวดาชั้นอวิหา ได้พากันไปยังสุทธาวาส ชั้นอตัปปา
เราพร้อมด้วยเทวดาทั้งสองชั้น ได้พากันไปยังสุทธาวาสชั้นสุทัสสา
เราพร้อมด้วยเทวดาทั้งสามชั้นนั้น ได้พากันไปยังสุทธาวาสชั้นสุทัสสี
และรวมพร้อมกันทั้งหมด ไปยังสุทธาวาสชั้นสุด คืออกนิฏฐาแล้ว

(เทพเหล่านั้นได้กล่าวเล่าข้อความกราบทูลพระองค์ ถึงเรื่องพระพุทธเจ้า บรรดาที่ ล่วงไปแล้ว และเล่าถึงการประพฤติพรหมจรรย์ของตน ในชาติที่พบพระพุทธเจ้านั้น ทำนองเดียวกันทุกชั้น)
.................................................................................................

สรุป การเสด็จสุทธาวาส (มีเทวดาชั้นล่างๆ พาเสด็จขึ้นไปชั้นบน จนถึงชั้นสูงสุด)
พระพุทธเจ้า > อวิหา(ต่ำสุด ชั้นที่๑ )
พระพุทธเจ้า + เทวดาชั้นอวิหา >
อดัปปา
พระพุทธเจ้า + เทวดาชั้นอวิหา + อดัปปา > สุทัสสา
พระพุทธเจ้า + เทวดาชั้นอวิหา + อดัปปา + สุทัสสา > สุทัสสี
พระพุทธเจ้า + เทวดาชั้นอวิหา + อดัปปา+ สุทัสสา + สุทัสสี > อกนิฏฐา (สูงสุด ชั้นที่ ๕)

  (สูงกว่าพรหมคือ เทวดาชั้น อรูปภพ)  
  เทวดาชั้นพรหม มี 5 ชั้นหลัก (นับทุกชั้นมี 14 ชั้น)
ชั้นที่ 5 สุทธาวาส อกนิฏฐา พรหมชั้นสูงสุด
สุทัสสี  
สุทัสสา  
อตัปปา  
อวิหา <- พระพุทธหายตัวมาปรากฎที่ชั้นนี้
ชั้นที่ 4 เวหับผละ    
ชั้นที่ 3 สุภกิณหะ สุภกิณหะ  
อัปปมาณสุภา  
ปริตสุภา  
ชั้นที่ 2 อาภัสระ อาภัสรา  
อัปปมาณาภา  
ปริตตภา  
อาภา  
ชั้นที่ 1 พรหมกายิกา   พรหมชั้นต่ำสุด
  (ชั้นต่ำกว่าพรหมคือ เทวดาชั้นกามภพ)  
   


......................................................................................

268
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๘๙-๓๙๐ ข้อที่ ๕๐๘-๕๐๙

จูฬเวทัลลสูตร
(เรื่องสมาธิและสังขาร)
การสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปีติ
นางวิสาขา สนทนากับ ธรรมทินนาภิกษุณี (ธ)

         สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่ กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น วิสาขอุบาสกเข้าไปหาธรรมทินนาภิกษุณี ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง วิสาขอุบาสกครั้นนั่งแล้ว ได้ถามธรรมทินนา ภิกษุณีว่า

วิ.ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็ธรรมอย่างไร เป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใด เป็นนิมิตของสมาธิธรรมเหล่าใด เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การทำให้สมาธิเจริญ เป็นอย่างไร ?

ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ความที่จิตมีอารมณ์อย่างเดียว เป็นสมาธิ
สติปัฏฐาน ๔ เป็นนิมิตของสมาธิ
สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ
ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ เป็นการทำให้สมาธิเจริญ

วิ.ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขารมีเท่าไร ?
ธ.ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ สังขารเหล่านี้มี ๓ ประการ คือ ‪‎กายสังขาร วจีสังขาร ‪‎จิตตสังขาร

วิ.ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร ?

ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็น กายสังขาร
วิตกและวิจารเป็น วจีสังขาร
สัญญาและเวทนาเป็น จิตตสังขาร

วิ.ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เหตุไร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าจึงเป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร ?

ธ. ดูกรวิสาขะผู้มีอายุ
1) ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย ฉะนั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็น กายสังขาร

2) บุคคลย่อมตรึกย่อมตรองก่อนแล้วจึงเปล่งวาจา ฉะนั้นวิตกและวิจาร จึงเป็น วจีสังขาร

3) สัญญาและเวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ฉะนั้นสัญญาและเวทนา จึงเป็น จิตตสังขาร.

.......................................................................................

269
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๒๓๐

ตถาคตไสยา ท่านอนของตถาคต

         [๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไสยา (การนอน) ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ
   ๑. เปตไสยา (นอนแบบเปรต หรือแบบคนตาย..นอนหงาย)
  
 ๒. กามโภคีไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม..ตะแคงซ้าย)
 
  ๓. สีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์..ตะแคงขวาสอดหางระหว่างโคนขา)
   
๔. ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต.. ตะแคงขวาเท้าเหลื่อมซ้อนกัน หลับในสมาธิ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ เปตไสยา เป็นไฉน คนตายโดยมากนอนหงายนี้ เราเรียกว่า เปตไสยาฯ (ท่านอนของเปรต/คนตาย)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ กามโภคีไสยา เป็นไฉน คนบริโภคกามโดยมาก นอนตะแคง ข้างซ้าย นี้เราเรียกว่า กามโภคีไสยาฯ (มักมากในกาม)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สีหไสยาเป็น ไฉน สีหมฤคราช ย่อมสำเร็จการนอน ข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า สอดหางเข้าในระหว่างโคนขา มันตื่นขึ้น แล้วยืดกายเบื้องหน้า แล้ว เหลียวดูกายเบื้องหลัง ถ้ามันเห็นความผิดแปลก หรือความละปรกติแห่งกาย มันย่อมเสียใจด้วยเหตุนั้นถ้ามันไม่เห็นอะไรผิดปรกติ มันย่อมดีใจด้วยเหตุนั้น นี้เรา เรียกว่าสีหไสยา ฯ (นอนอย่างราชสีห์)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ ตถาคตไสยา เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เราเรียกว่า ตถาคตไสยา (นอนแบบตถาคต)

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไสยา(การนอน) ๔ อย่างนี้แล ฯ

ท่านอน ตถาคตไสยา


......................................................................................

270

ลำดับการสาธยายธรรมกับภิกษุ จากเริ่มต้นจนสิ้นอาสวะ

ตรัสกับปัญจวัคคีย์

ช่วงที่1 (พิจารณาความไม่เที่ยง -เป็นทุกข์ -ไม่ใช่ตัวตนของเรา)

พวกเธอสำคัญความนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า.

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา?
ข้อนั้น ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า.

(จากนั้นพระพุทธเจ้าไล่เรียงไปจนครบทุกอายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
.............................................................................................

ข่วงที่2 (ตรัส ให้พิจารณาโดย ยถาภูตญาณทัสสนะ หรือ ให้เห็นตามความเป็นจริง )

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใด อย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่ารูป

เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์มีใจยินดี เพลิดเพลินภาษิตของผู้มีพระภาค.

ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

.......................................................................

271
เปรต21 ชนิด(คัดย่อ)
อัฏฐิสังขลิกเปรต

(อ่านพระสตูจรเต็ม อัฏฐิสังขลิกเปรต )


(1) อัฏฐิสังขลิกเปรต
 มีแต่ร่างกระดูก ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง
สัตว์นั้น เคยเป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี่เอง

(2) มังสเปสิเปรต มีแต่ชิ้นเนื้อลอย ไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุมพากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดไปมา
สัตว์นั้น
เคยเป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(3) มังสปิณฑเปรต มีแต่ก้อนเนื้อ ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว นกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้งยื้อแย่งสะบัดไปมาเปรตนั้น ร้องครวญคราง
สัตว์นั้น เคยเป็นพรานนก อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(4) นิจฉวิเปรต  เปรตชาย ไม่มีผิวหนัง ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้งยื้อแย่ง เปรตร้อง ครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าแกะ อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

5) เรื่องอสิโลมเปรต  มีขนเป็นดาบ ลอยไปในเวหาส์ ดาบเหล่านั้นของมันหลุดลอยขึ้นไปแล้วตกลงที่กายของมันเอง เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าสุกร อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(6) สัตติโลมเปรต มีขนเป็นหอก ลอยไปในเวหาส์ หอกเหล่านั้นของมันหลุดลอยขึ้นไปแล้วตกลงที่กายของมันเอง เปรตนั้นร้องครวญคราง
 สัตว์นั้นเคยเป็นพรานเนื้อ อยู่ในพระนครราชคฤห์นี่เอง

(7) อุสุโลมเปรต มีขนเป็นลูกศร ลอยไปในเวหาส์ ลูกศรนั้นของมัน หลุดลอยขึ้นไปแล้วตกลงที่กายของมันเอง เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็นเพชฌฆาต อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(8) เรื่องสูจิโลมเปรต  มีขนเป็นเข็ม ลอยไปในเวหาส์ เข็มเหล่านั้นของมันหลุดลอยขึ้นไปแล้ว ตกลงที่กายของ มันเอง เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็นนายสารถี อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(9) เรื่องสูจกเปรต  มีขนเป็นเข็ม ลอยไปในเวหาส์ เข็มเหล่านั้นของมันทิ่มเข้าไป ในศีรษะ แล้วออกทางปาก ทิ่มเข้าไปในปาก แล้วออกทางอก เข็มออกทางอก ทิ่มเข้าไปในอก แล้วออกทางปาก ทิ่มเข้าไปในปากแล้วออกทางอก ทิ่มเข้าไปในอก แล้วออกทางท้อง ทิ่มเข้าไป ในท้อง แล้วออกทางขาทั้งสอง ทิ่มเข้าไปในขาทั้งสอง แล้วออกทางแข้งทั้งสอง ทิ่มเข้าไปในแข้งทั้งสอง แล้วออกทางเท้าทั้งสอง เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้น เคยเป็นคนส่อเสียด อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(10) กุมภัณฑเปรต* มีอัณฑะโตเท่าหม้อ ลอยไปในเวหาส์ เปรตนั้นแม้เมื่อเดินไปย่อมยกอัณฑะ เหล่านั้น แหละขึ้นพาดบ่าเดินไป แม้เมื่อนั่งก็ย่อมนั่งบน อัณฑะเหล่านั้นแหละ ฝูงแร้งเหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรตนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้น เคยเป็นผู้พิพากษาโกงชาวบ้าน อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(11) คูถนิมุคคเปรต เปรตชาย ผู้จมอยู่ในหลุมคูถท่วมศีรษะ
สัตว์นั้นเคยเป็นชู้กับภรรยาของชายอื่น อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(12) คูถขาทิเปรต เปรตชาย ผู้จมอยู่ในหลุมคูถท่วมศีรษะ กำลังเอามือ ทั้งสองกอบคูถกิน
สัตว์นั้นเคยเป็นพราหมณ์ผู้ชั่วช้า

(13) นิจฉวิตถีเปรต เปรตหญิง ไม่มีผิวหนัง ลอยไปในเวหาส์ ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับ โดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดอยู่ไปมาเปรตหญิงนั้นร้องครวญคราง
เปรตหญิงนั้นเคย เป็นหญิงประพฤตินอกใจสามี

(14) มังคุลิตถีเปรต*
เปรตหญิง มีรูปร่างน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ลอยไปในเวหาสฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรต หญิงนั้นอยู่ไปมา เปรตหญิงนั้ นร้องครวญคราง
เปรตหญิงนั้นเคย เป็นแม่มดอยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง (พ่อมด แม่มด หมอดู อิกฺขณิโก-กา ตุลฺยา)

(15) โอกิลินีเปรต เปรตหญิง มีร่างกายถูกไฟลวก มีหยาดเหงื่อไหลหยด มีถ่านเพลิง โปรยลง ลอยไปใน เวหาส เปรตหญิงนั้นร้องครวญคราง
เปรตหญิงนั้นเคย เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากาลิงคะ นางเป็นคนขี้หึง ได้เอากระทะเต็มด้วยถ่านเพลิง คลอกสตรีร่วมพระสวามี

(16) อสีสกพันธเปรต เปรตมีศีรษะขาด ลอยไปในเวหาส ตาและปากของมันอยู่ที่อกฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรต นั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็น เพชฌฆาตผู้ฆ่าโจร ชื่อทามริกะ อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(17) ภิกษุเปรต ภิกษุเปรต ลอยไปในเวหาส สังฆาฏิ บาตร ประคตเอวและร่างกายของมันถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้องครวญคราง
ภิกษุเปรตนั้นเคย เป็นภิกษุผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสป

(18) ภิกษุณีเปรต ภิกษุณีเปรตลอยไปในเวหาส สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของ มันถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้อง ครวญคราง
สัตว์นั้นเคยเป็นภิกษุณีผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

(19) สิกขมานาเปรต ลอยไปในเวหาส สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกาย ของมัน ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้อง ครวญคราง
สิกขมานาเปรตนั้น เคยเป็นสิกขมานาผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสป

(20) สามเณรเปรต สามเณรเปรตลอยไปใน เวหาส สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมัน ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้องครวญ คราง
สามเณรเปรตนั้นเคยเป็นสามเณรผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสป

(21) สามเณรีเปรต  สามเณรีเปรตลอยไปใน เวหาส สังฆาฏิ บาตร ประคตเอว และร่างกายของมัน ถูกไฟติดลุกโชน เปรตนั้นร้องครวญ คราง
สามเณรี เปรตนั้น เคยเป็นสามเณรีผู้ลามก ในศาสนาของพระกัสสป

.......................................................................................

272
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร หน้าที่ ๒๗๐

ปฏิจฉันนสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

๓ อย่างเป็นไฉน คือ
   มาตุคาม ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผยไม่งดงาม ๑
   มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง ๑
   มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง

๓ อย่างเป็นไฉน คือ
   ดวงจันทร์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑
   ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑
   ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ

....................................................................................
273

ความมืดบอดของโลก มีตลอดเวลาที่พระตถาคตไม่เกิดขึ้น

ภิกษุ ท.! ตลอดกาลเพียงใด ที่ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ยังไม่ บังเกิดขึ้นในโลก
ความปรากฏแห่งแสงสว่างอันใหญ่หลวง ความส่องสว่าง อันใหญ่หลวง ก็ยังไม่มี
ตลอดกาลเพียงนั้น.

ในกาลนั้น มีอยู่แต่ความมืด เป็นความมืด ซึ่งกระทำความบอด กลางคืน กลางวัน ก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหรือ กึ่งเดือน ก็ไม่ปรากฏ ฤดูหรือปี ก็ไม่ปรากฏก่อน.

ภิกษุ ท.! แต่ว่าในกาลใด ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์บังเกิดขึ้นในโลก ในกาลนั้น
ความปรากฏ แห่งแสงสว่างอันใหญ่หลวง ความส่องสว่าง อันใหญ่หลวง ย่อมมี.

ในกาลนั้น ย่อมไม่มีความมืด อันเป็นความมืดซึ่งกระทำความบอด ลำดับนั้น กลางคืน กลางวัน ย่อมปรากฏ. เดือนหรือกึ่งเดือน ย่อมปรากฏ ฤดูหรือปี ย่อมปรากฏ นี้ฉันใด

ภิกษุ ท.! ข้อนี้ ก็ฉันนั้น : ตลอดกาลเพียงใด ที่ตถาคตผู้อรหันต- สัมมาสัมพุทธะ
ยังไม่บังเกิดขึ้นในโลก ความปรากฏแห่งแสงสว่างอันใหญ่หลวง ความส่องสว่าง อันใหญ่หลวง ก็ยังไม่มี ตลอดกาลเพียงนั้น. ในกาลนั้น มีอยู่

แต่ความมืด เป็นความมืดซึ่งกระทำความบอด. การบอก การแสดง การบัญญัติ
การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนกแจกแจง การกระทำให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่ง อริยสัจทั้งสี่ ก็ยังไม่มีก่อน.

ภิกษุ ท.! แต่ว่า ในกาลใดแล ตถาคตผู้อรหันต สัมมาสัมพุทธะ บังเกิดขึ้นโลก
ในกาลนั้น ความปรากฏแห่งแสงสว่าง อันใหญ่หลวง ย่อมมี.

ในกาลนั้น ย่อมไม่มีความมืด อันเป็นความมืดซึ่ง กระทำความบอด ลำดับนั้น ย่อมมีการบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก แจกแจง การกระทำให้เข้าใจได้ง่าย ซึ่งอริยสัจ ทั้งสี่. ซึ่งอริยสัจทั้งสี่อย่างไรเล่า ? คือซึ่งทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

    ภิกษุ ท.! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง กระทำโยคกรรมเพื่อให้รู้ว่า" นี้ ทุกข์ นี้ ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" ดังนี้เถิด.

- มหาวาร. ส์. ๑๙/๕๕๓/๑๗๒๑.

........................................................................................

274
กสิณสูตร (กสิณ๑๐)

      [๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
๑.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปฐวีกสิณ ในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาปริมาณมิได้
๒.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อาโปกสิณ ...
๓.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง เตโชกสิณ ...
๔.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วาโยกสิณ ...
๕.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง นีลกสิณ ...
๖.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง ปีตกสิณ ...
๗.บุคคลผู้หนึ่งย่อมชัดซึ่ง โลหิตกสิณ ...
๘.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง โอทาตกสิณ ...
๙.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง อากาสกสิณ ...
๑๐.บุคคลผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่ง วิญญาณกสิณ ในเบื้องบน เบื้องต่ำเบื้องขวาง ไม่มีสอง หาปริมาณมิได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการนี้แล ฯ

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๔
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต หน้าที่ ๔๓


....................................................................................

275
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุ 18 อย่าง ธาตุ 6 อย่าง ธาตุ 3 อย่าง ธาตุ 2 อย่าง


ธาตุนี้มี ๑๘ อย่าง
ธาตุคือจักษุ รูป จักษุวิญญาณ/ ธาตุคือโสต เสียง โสตวิญญาณ/ ธาตุคือฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ/ ธาตุคือชิวหา รส ชิวหาวิญญาณ/ ธาตุคือกาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ/ ธาตุคือมโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ

ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ
ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อวิชชา
ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ ธาตุคือ กาม เนกขัมมะ พยาบาท ความไม่พยาบาท ความเบียดเบียน ความไม่เบียดเบียน

ธาตุนี้มี ๓ อย่าง
 ได้แก่ ธาตุคือกาม ธาตุคือรูป ธาตุคืออรูป

ธาตุนี้มี ๒ อย่าง
 คือ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ

(อ่านพระสูตรเต็ม)

..........................................................................................

276
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส

ว่าด้วยความยึดถือ ๒ อย่าง

(พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา)

         [๕๖] คำว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นหมู่สัตว์ ผู้ดิ้นรนอยู่ในเพราะวัตถุ ที่ยึดถือว่า ของเรา มีความว่า ความยึดถือว่าของเรา ได้แก่ความยึดถือว่าของเรา ๒ อย่าง คือ ความยึดถือว่าของเรา ด้วยตัณหา ๑ ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ ๑.

ความยึดถือว่าของเราด้วยตัณหาเป็นไฉน? วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วนเป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือเอาว่าของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหา มีประมาณ เท่าใด ย่อมยึดถือว่าของเรา ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านั้น ว่าสิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา สิ่งมีประมาณเท่านี้ของเราสิ่งของๆ เรามีประมาณเท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องลาด เครื่องนุ่งห่มทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา นา ที่ดิน เงิน ทอง บ้าน นิคมราชธานี แว่นแคว้น ชนบท ฉางข้าว คลังเป็นของๆ เรา ย่อมยึดถือว่า เป็นของเรา แม้ซึ่งแผ่นดินใหญ่ ทั้งสิ้น ด้วยสามารถแห่งตัณหา ตลอดถึงตัณหาวิปริต ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความถือว่าของเราด้วยตัณหา.

     ความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิ มีวัตถุ ๑๐อันตคาหิกาทิฏฐิ มีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ ความไปคือทิฏฐิ รถเลี้ยวคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องประกอบคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่นความยึดถือ ทางผิด คลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิเดียรถี ความถือโดยแสวงหาผิด ความถือวิปริตความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือแน่นอน ว่าจริง ในสิ่งที่ไม่จริงอันใด เห็นปานนี้ และทิฏฐิ ๖๒ มีประมาณเท่าใด นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าของเราด้วยทิฏฐิ.

.............................................................................................

277
ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๔๕

เรื่องเรียนคัมภีร์โลกายตะ

  ทรงห้ามภิกษุสอน หรือศึกษาคัมภีร์ทางโลก (คัมภีร์โลกายตะ)
  คัมภีร์โลกายตะ คือการเรียนการสอนเรื่องทางโลกที่ไม่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ หรือ
  เพื่อการหลุดพ้น เช่น เรียนการทำเดรัจฉานวิชา วิชาดูหมอ ดูดวง การศึกษาทางโลก
  เช่น โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ การทำยาสมุนไพร แพทย์พื้นบ้าน
  ผู้ใดเรียน หรือ สอน ปรับอาบัติทุกกฎ

        [๑๘๑] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ เรียนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่งโทษ   ติเตียนโพนทะนาว่า ... เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม

ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นคัมภีร์โลกายตะ ว่ามีสาระ จะพึงถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้หรือ
ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ภ. อันผู้ที่เห็นธรรมวินัยนี้ว่ามีสาระ จะพึงเล่าเรียนคัมภีร์โลกายตะหรือ
ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนคัมภีร์โลกายตะ
รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฏ


[๑๘๒] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่ง  โทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ...
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแก่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนคัมภีร์ โลกายตะ รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ

.....................................................................................

278
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๔๕


เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา 

        [๑๘๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ เรียนดิรัจฉานวิชา ...
ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉาน วิชา รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

         [๑๘๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบ  ทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉาน  วิชา รูปใดสอนต้องอาบัติทุกกฏฯ

........................................................................................

279
มุจจลินทกถา
เรื่องมุจจลินทนาคราช
(นาคราชพันล้อมกายพระพุทธเจ้า)


         [๕] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้ อชปาลนิโครธเข้าไปยังต้นไม้มุจจลินท์ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวย วิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด ๗ วัน.

          ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด๗ วัน. ครั้งนั้น มุจจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน ได้แวดวงพระกาย พระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ ได้แผ่พังพาน (แผ่แม่เบี้ย) ใหญ่เหนือพระเศียรสถิต อยู่ ด้วย หวังใจว่า ความหนาว ความร้อน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่ง เหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียน พระผู้มีพระภาค.

          ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่งปราศ จากฝนแล้ว จึงคลายขนดจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงรูปของตน เป็นเพศมาณพ(คน) ได้ยืนประคองอัญชลีถวาย มนัสการพระผู้มีพระภาค ทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มี พระภาค.

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่าดังนี้:-

พุทธอุทานคาถา
           ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่ พยาบาท คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความปราศจากกำหนัด คือ ความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัด อัสมิมานะ เสียได้นั่นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง.

....................................................................................

280
ตลอดวัฏฏสงสารของพระองค์
ไม่เคยทรงบังเกิด ในชั้นสุทธาวาส

(การท่องเที่ยว- การบังเกิด- การอยู่ในอาศัย- ในชั้นสุทธาวาส จะไม่มีโอกาสมาเกิดในโลกมนุษย์ เพราะจะปรินิพพานในภพนั้น เหตุเพราะ หลังกายแตกดับก็จะปรินิพพาน จะไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป)


สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ”. สารีบุตร !  ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยว มาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนาน นั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่ในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราท่องเที่ยวไปในหมู่เทพเหล่าสุทธาวาส ก็จะไม่พึงมา สู่โลกนี้ได้เลย. (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้เพราะการอุบัติ (บังเกิด)”. สารีบุตร !  ก็การบังเกิดที่เราไม่เคยบังเกิด มาแล้ว แต่หลัง ตลอดกาล ยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่การบังเกิด ในหมู่เทพ ชั้นสุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราบังเกิดในหมู่เทพชั้น สุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).

สารีบุตร !  สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีถ้อยคำมีความเห็นว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ เพราะภพเป็นที่อยู่อาศัย.  สารีบุตร !  ก็ภพที่เราไม่เคยอยู่อาศัยมาแล้วแต่หลัง ตลอดกาลยืดยาวนานนั้น หาได้ไม่ง่ายเลย เว้นเสียแต่การอยู่อาศัยในหมู่เทพชั้น สุทธาวาส. สารีบุตร ! ถ้าเราอยู่อาศัยในหมู่เทพชั้น สุทธาวาส ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้ ได้เลย (ย่อมปรินิพพานในภพนั้น).