เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ        

พระสูตรสั้น (โดยย่อ)
  พระสูตรสั้น ชุด13  
  (คลิก)
S13-1 ปัจจัยที่ทำให้สัตว์ต้องไปนรกหรือสวรรค์ หลังกายแตก ทำแต่สุจริตไม่ทำทุจริต ย่อมไปสวรรค์... ทำสุจริตไม่ทำทุจริต ย่อมไปนรก2
S13-2 โทษในปัจจุบัน โทษในภพหน้า เป็นไฉน โทษในปัจจุบันถูกลงโทษด้วยกฎหมาย โทษในภพหน้า เมื่อตายไป เข้าถึงอบาย-นรก
S13-3 ความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างเป็นไฉน ๑) ความเพียรเพื่อทำให้เกิดจีวรบิณฑบาตหรือเข้ามาบวช ๒) ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิ
S13-4 ธรรมฝ่ายดำ ๒ อย่าง ธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่าง คือ หิริ กับ โอตัปปะ นี้เป็นธรรมคุ้มครองโลก หากไม่บัญญัติมนุษย์จะสำส่อนเยี่ยงสัตว์
S13-5 บทพยัญชนะ ที่ตั้งไว้ดี-ตั้งไว้ไม่ดี อรรถที่นำมาดี-นำมาไม่ดี
S13-6 คนพาล ๒ จำพวก กับ บัณฑิต ๒ จำพวก เป็นไฉน
S13-7 คน ๒ จำพวก กล่าวตู่- ไม่กล่าวตู่ ตถาคต
S13-8 ดอกไม้เทวดา ปาริฉัตตกสูตร เมื่อบานเทวดาชั้นดาวดึงส์จะพากันกีใจ เมื่อบานเต็มที่จะแผ่ไปได้ ๕๐ โยชน์ ส่งกลิ่นไป ๑๐๐ โยชน์
S13-9 นับอายุ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงอุปสมบท
S13-10 โลภะ โทสะ โมหะ คือเหตุเกิดของกรรม กรรมใดกระทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง กรรมนั้นเป็นอกุศล เป็นทุกข์
S13-11 ให้ทานกับผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ (โสดาบัน) มีผลมากกว่าให้ทานด้วยถาดเงินถาดทอง
S13-12 สัญญาอบรมวิมุตติ ๕ อย่าง อนิจจสัญญา อนิจเจ ทุกขสัญญา ทุกเข อนัตตสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา
S13-13 เพราะความไม่รู้ เหตุเกิด ความดับ และปฏิปทา.ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ..เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิหลายอย่าง
S13-14 ธรรมที่เป็นอกุศล และธรรมที่เป็นกุศล
S13-15 อริยะบุคคล ๔ อีกนัยยะหนึ่ง สมณะมจละ(ผู้ไม่หวั่นไหว) สมณะบุณฑริก(บัวขาว) สมณะปทุมะ(บัวชมพู) สมณะสุขุมาล
S13-16 คนดุร้าย-คนสงบเสงี่ยม (ตรัสกับคามณี) บุคคลที่ยังละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้ นับได้ว่าเป็นคนดุร้าย ละได้แล้วเป็นคนสงบเสงี่ยม
S13-17 ภิกษุติดลาภสักการะ อุปมาเหมือน สุนัขจิ้งจอกเป็นโรคเรื้อน (สิคาลสูตร)
S13-18 ภิกษุติดลาภสักการะ อุปมาเหมือน ลมเวรัมภา ซัดนกที่บินอยู่ในอากาศ (เวรัมภสูตร)
S13-19 เทวดาหลายองค์ ๑๐ องค์บ้าง ..๖๐ องค์บ้าง ยืนอยู่แม้ปลายเหล็กแหลม แต่ไม่เบียดกัน
S13-20 ทรงแสดงธรรมด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ดุจ พญาสัตว์ชื่อ สีหะ ตะครุบเหยื่อ
S13-21 อสัตบุรุษ ย่อมไม่รู้ ทั้งอสัตบุรุษและสัตบุรุษ ส่วน สัตตบุรุษ ย่อมรู้ทั้งสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
S13-22 นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ กับ ภิกษุในธรรมวินัยผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
S13-23 เราไม่กล่าวสิ่งที่ทำให้อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม.. จะกล่าวแต่สิ่งที่ทำให้ อกุศลธรรมเสื่อมไปและกุศลธรรมเจริญขึ้น
S13-24 บุคคลที่สะดุ้งกลัวต่อความตาย และไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นไฉน
S13-25 สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ ชื่อว่ากล่าวจริง ไม่ใช่กล่าวเท็จ
S13-26 ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึง ความเป็นเทพ (สงัดจากกาม ได้สมาธิ ฌาน1-4)
S13-27 ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึง ความเป็นพรหม (เจริญพรหมวิหาร มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา )
S13-28 ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงขั้น อเนญชา (ได้สมาธิชั้นอรูป)
S13-29 ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึง ความเป็นอริยะ (รู้ชัดตามความเป็นจริงใน อริยสัจสี่)
S13-30 เมื่อตั้งใจฟังธรรม กามฉันทะย่อมไม่มี โพชฌงค์ ๗ ย่อมเจริญ
S13-31 ทรงขนานนามพระองค์เองว่า “ตถาคต”
S13-32 เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”
S13-33 อกุศลวิตก ๓ อย่าง คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก แก้ได้ด้วยสติปัฏฐาน ๔
S13-34 ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ ๑.ภวทิฏฐิ (เห็นว่าภพมีอยู่ เห็นอัตตาเป็นของเที่ยงแท้) ๒.วิภวทิฏฐิ (เห็นว่าภพไม่มี เห็นว่าอัตตาไม่เที่ยง)
S13-35 อนุปาทาปรินิพพาน เป็นอย่างไร เธอละอนุสัยคือ มานะ ภวราคะ อวิชชา เมื่อละได้แล้วย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญา..
S13-36 อริยสาวก ย่อมทำอะไรให้พินาศ ย่อมไม่ก่อ ย่อมละทิ้ง ย่อมไม่ถือมั่น ย่อมเรี่ยราย ย่อมไม่รวบรวม ย่อมทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลง
S13-37 ความแตกต่าง คนพาล กับ บัณฑิต (คนพาลบริโภคกาม บัณฑิตไม่บริโภคกาม)
S13-38 วิธีละ ราคะ โทสะ โมหะ
S13-39 ข้อปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง อกุศลสังกัปปะ
S13-40 ข้อปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง กุศลสังกัปปะ
S13-41 ธรรม ๘ ประการ นี้ ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญุ (สูตร ๑) สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก ติเตียนผู้เป็นที่รัก มุ่งลาภ สักการะ ไม่มีความละอาย
S13-42 ธรรม ๘ ประการ นี้ ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญุ (สูตร ๒) มุ่งความมีชื่อเสียง ไม่รู้จักกาล ไม่รู้จักประมาณ ไม่สะอาด พูดมาก มักด่าบริภาษ
S13-43 ม้าของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ กับ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ (อาชานิยสูตร)
S13-44 อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการ (ยาคุสูตร)
S13-45 โทษเพราะไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ (ทันตกัฏฐสูตร)
S13-46 อานิสงส์เพราะเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ (ทันตกัฏฐสูตร)
S13-47 โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับที่ยาว ๕ ประการนี้ (คีตสูตร)
S13-48 โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะนอนหลับ ๕ ประการ (มุฎฐัสสติสูตร)
S13-49 อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะนอนหลับ ๕ ประการ (มุฎฐัสสติสูตร)
S13-50 วิญญาณ ๖
ต่อชุด 14
 


1

เหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์ต้องไปนรก หรือ โลกสวรรค์ หลังกายแตกทำลาย


       บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมทำแต่ กายทุจริต มิได้ทำ กายสุจริต
ย่อมทำแต่ วจีทุจริต มิได้ทำ วจีสุจริต
ย่อมทำแต่ มโนทุจริต มิได้ทำ มโนสุจริต

เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย (ทำทั้งทุจริต และสุจริต)
สัตว์บางพวกใน โลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก

      ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมทำแต่ กายสุจริต มิได้ทำ กายทุจริต
ย่อมทำแต่ วจีสุจริต มิได้ทำ วจีทุจริต
ย่อมทำแต่ มโนสุจริต มิได้ทำ มโนทุจริต

เพราะกระทำด้วย เพราะไม่กระทำด้วย (ทำแต่สุจริต แต่ไม่ทำทุจริต)
สัตว์บางพวก ในโลกนี้ เมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(ปฐมปัณณาสก์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒)


.......................................................................................

2

โทษที่เป็นไปในปัจจุบัน โทษที่เป็นไปในภพหน้า เป็นไฉน

         โทษ ๒ อย่างนี้โทษ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
    ๑) โทษที่เป็นไป ในปัจจุบัน
    ๒) โทษที่เป็นไป ในภพหน้า

         ก็โทษที่เป็นไปในปัจจุบันเป็นไฉน บุคคลบางคน ในโลกนี้ เห็นโจรผู้ ประพฤติ ความชั่ว พระราชาจับได้แล้ว รับสั่งให้ทำกรรมกรณ์ นานาชนิด คือเฆี่ยน ด้วยหวายบ้าง เฆี่ยนด้วย เชือกบ้าง ทุบด้วยไม้ตะบองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูก บ้าง ....

         เพราะบาปกรรม เช่นใดเป็นเหตุ โจรผู้ทำความชั่ว จึงถูกพระราชาจับแล้ว ทำกรรมกรณ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ฯลฯ เอาดาบตัดหัวเสียบ้าง ก็ถ้า เรานี้แหละ จะพึงทำบาปกรรมเช่นนั้น ก็พึงถูก พระราชาจับแล้ว ทำกรรมกรณ์นานา ชนิด คือ เอาหวายเฆี่ยนบ้าง ฯลฯ เอาดาบตัดหัวเสียบ้าง ดังนี้ เขากลัวต่อโทษ ที่เป็น ไปในปัจจุบัน ไม่เที่ยวแย่งชิงเครื่องบรรณาการของคนอื่น

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโทษที่เป็นไปในปัจจุบัน

         ก็โทษที่เป็นไปในภพหน้าเป็นไฉน บุคคลบางคน ในโลกนี้ สำเหนียก ดังนี้ ว่า วิบากอันเลวทรามของ กายทุจริต เป็นโทษที่บุคคล จะพึงได้ในภพหน้า โดยเฉพาะ วิบาก อันเลวทรามของ วจีทุจริต เป็นโทษที่บุคคล จะพึงได้ในภพหน้า โดยเฉพาะ วิบากอันเลวทรามของ มโนทุจริต เป็นโทษที่บุคคล จะพึงได้ในภพหน้า โดยเฉพาะ

         ก็ถ้าเราจะพึง ประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติ ทุจริตด้วยใจ ทุจริตบางข้อนั้น พึงเป็นเหตุให้เรา เมื่อแตกกายตายไป เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้ เขากลัวต่อโทษที่เป็น ไปในภพหน้า จึง
๑) ละกายทุจริต เจริญกายสุจริต
๒) ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต
๓) ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต บริหารตน ให้สะอาด

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโทษเป็นไปในภพหน้า

(ปฐมปัณณาสก์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒)


.......................................................................................

3

ความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างเป็นไฉน

         ในโลกมีความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง
๑) ความเพียรเพื่อทำให้เกิดจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน ปัจจัย เภสัชบริขาร ของคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน (คือการเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย)

๒) ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิ ทั้งปวง ของผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิต (บวชแล้วทำ ความเพียรจนสละคืนอุปธิได้)

         บรรดาความเพียร ๒ อย่างนี้ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิ ทั้งปวง เป็นเลิศ

(ปฐมปัณณาสก์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒)

.....................................................................................
4

ธรรมฝ่ายดำ ๒ อย่างธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่าง

ธรรมฝ่ายดำ ๒ อย่างนี้ คือ
๑) อหิริกะ
๒) อโนตตัปปะ

ธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่าง คือ
๑) หิริ
๒) โอตตัปปะ

ธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้ ย่อมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง เป็นไฉน คือหิริ ๑ โอตตัปปะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้แล ถ้าธรรมฝ่าย ขาว ๒ อย่างนี้ ไม่พึง คุ้มครองโลก ใครๆ ในโลกนี้ จะไม่พึงบัญญัติ ว่ามารดา ว่าน้า ว่าป้า ว่าภรรยาของ อาจารย์ หรือว่าภรรยาของครู โลกจักถึงความ สำส่อนกัน เหมือนกับ พวกแพะ พวกแกะ พวกไก่ พวกหมูพวกสุนัขบ้าน และพวก สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมฝ่ายขาว ๒ อย่างนี้ ยังคุ้มครองโลก อยู่ ฉะนั้น โลก จึงบัญญัติคำว่ามารดา ว่าน้าว่าป้า ว่าภรรยาของอาจารย์ หรือว่า ภรรยา ของครูอยู่



.....................................................................................

5

บทพยัญชนะ ที่ตั้งไว้ดี-ไม่ดี อรรถที่นำมาดี-ไม่ดี

         ธรรม ๒ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อความฟั่นเฟือนเลือนหายแห่งสัทธรรม คือ
   ๑) บทพยัญชนะ ที่ตั้งไว้ไม่ดี
   ๒) อรรถ ที่นำมาไม่ดี

แม้เนื้อความ แห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ก็ย่อมเป็นอันนำมาไม่ดี

         ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหาย แห่งสัทธรรม คือ
   ๑) บทพยัญชนะ ที่ตั้งไว้ดี
   ๒) อรรถที่นำมาดี

แม้เนื้อความ แห่ง บทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดีแล้ว ก็ย่อมเป็นอันนำมาดี

..................................................................................

6

คนพาล ๒ จำพวก กับ บัณฑิต ๒ จำพวก เป็นไฉน

คนพาล ๒ จำพวก ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ
๑) คนที่ไม่เห็นโทษ โดยความเป็นโทษ
๒) คนที่ไม่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ

บัณฑิต ๒ จำพวก ๒ จำพวก เป็นไฉน คือ
๑) คนที่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ
๒) คนที่รับรองตามธรรม เมื่อผู้อื่นแสดงโทษ


...................................................................................

7

คน ๒ จำพวก กล่าวตู่- ไม่กล่าวตู่ ตถาคต

คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ ตถาคต คือ
๑) คนเจ้าโทสะ ซึ่งมีโทษอยู่ภายใน
๒) คนที่เชื่อ โดยถือผิด

คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ ตถาคต คือ
๑) คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตมิได้ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้
    ว่า ตถาคต ได้ภาษิตไว้ ได้ตรัสไว้
๒) คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตภาษิตไว้ ตรัสไว้
    ว่า ตถาคตมิได้ ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้

คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมไม่ กล่าวตู่ ตถาคต คือ
๑) คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตมิได้ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้
    ว่า ตถาคตมิได้ภาษิตไว้ มิได้ตรัสไว้
๒) คนที่แสดงสิ่งที่ตถาคตภาษิตไว้ ตรัสไว้
    ว่า ตถาคตภาษิตไว้ ตรัสไว้


....................................................................................

8

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๙๔

ปาริฉัตตกสูตร


            [๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ แห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ มีใบเหลือง
สมัยนั้น ทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ต้น ปาริฉัตตกพฤกษ์ ใบเหลือง ไม่นานเท่าไร ก็จักผลัดใบใหม่

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ผลัด ใบใหม่
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจว่า เวลานี้ ต้นปาริฉัตตกพฤกษ์ กำลังผลัดใบ ใหม่ ไม่นานเท่าไรก็จักผลิดอกออกใบ

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดาชั้น ดาวดึงส์ ผลิดอกออกใบแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์ ผลิดอกออกใบแล้ว ไม่นานเท่าไร ก็จัก เป็นดอกเป็นใบ

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของเทวดา ชั้นดาวดึงส์ เป็นดอกเป็นใบแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ปาริฉัตตกพฤกษ์เป็นดอก เป็นใบแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จัก เป็นดอกตูม

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ ของเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็น ดอกตูมแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่า เวลานี้ ปาริฉัตตกพฤกษ์ดอกออกตูมแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จัก เริ่มแย้ม

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ ว่าเวลานี้ ปาริฉัตตกพฤกษ์เริ่มแย้มแล้ว ไม่นานเท่าไรก็จักบานเต็มที่

สมัยใด ปาริฉัตตกพฤกษ์ของ เทวดาชั้นดาวดึงส์ บานเต็มที่แล้ว
สมัยนั้น เทวดาชั้นดาวดึงส์พากันดีใจ เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วย กามคุณ ๕ บำรุงบำเรอ อยู่ตลอดระยะ ๕ เดือนทิพย์ ณ ควงแห่งไม้ปาริฉัตตกพฤกษ์

ก็เมื่อ ปาริฉัตตกพฤกษ์ บานเต็มที่แล้ว

แผ่รัศมีไปได้ ๕๐ โยชน์ (800 กม) ในบริเวณรอบๆ
จะส่งกลิ่นไปได้ ๑๐๐ โยชน์ (1600 กม.) ตามลม
อานุภาพของ ปาริฉัตตกพฤกษ์ มีดังนี้

(พระผู้มีพระภาค เปรียบดอกปาริฉัตตกพฤกษ์ ว่าเป็นอริยสาวก P1366 )



....................................................................................
9
นับอายุ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงอุปสมบท
(พระกุมารกัสสปเป็นตัวอย่าง)


          [๑๔๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระกุมารกัสสปมีอายุครบ ๒๐ ปีทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้ อุปสมบท. ต่อมาท่านได้มีความดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี ภิกษุไม่พึงอุปสมบทให้ ก็เรามีอายุครบ ๒๐ ทั้งอยู่ในครรภ์ จึงได้อุปสมบท จะเป็นอัน อุปสมบทหรือไม่หนอ.

          ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

          พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตดวงแรกใดเกิดแล้ว ในอุทรมารดา วิญญาณ ดวงแรกปรากฏแล้ว อาศัยจิต ดวงแรก วิญญาณดวงแรกนั้น
นั่นแหละเป็นความเกิดของสัตว์นั้น

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบท กุลบุตร
มีอายุครบ ๒๐ ปี ทั้งอยู่ในครรภ์


..................................................................................

10
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๔๙

โลภะ โทสะ โมหะ คือเหตุเกิดของกรรม
(นิทานสูตรที่ ๑)


         [๕๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เกิด กรรม ๓ อย่าง เป็นไฉน  คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วย ความโลภ เกิดแต่ความโลภ มีความโลภ เป็นเหตุมีความโลภเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไป เพื่อความดับกรรม

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วย ความโกรธ เกิดแต่ความโกรธ มีความโกรธ เป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศลกรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้น มีทุกข์ เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อ ความดับกรรม

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วย ความหลง เกิดแต่ความหลง มีความหลง เป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์ เป็นผลกรรมนั้น เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อ ความดับกรรม


.................................................................................

11

พระไตรปิฎกฉบับหลวง พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ หน้าที่ ๓๑๕-๓๑๗
(เวลามสูตร)

ให้ทานกับผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิ (โสดาบัน) มีผลมาก

 

ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ ได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ

1.ให้ถาดทอง เต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด
2.ให้ถาดรูปิยะ เต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด
3.ให้ถาดสำริด เต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด
4.ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง ..ฯลฯ
5.ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง ..ฯลฯ
6. ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม..ฯลฯ
7 ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล..ฯลฯ
8 ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว ..ฯลฯ
9 ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด ..ฯลฯ

คหบดี!  ทานที่บุคคลถวายให้ผู้ถึงพร้อมด้วย ทิฏฐิ (โสดาบัน) ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว (ทั้ง9 รายการ)


...............................................................................

12

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๖

สัญญาอบรมวิมุตติ ๕ อย่าง

      ๑. อนิจจสัญญา
[สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นว่าเป็นของ ไม่เที่ยง]
      ๒. อนิจเจ ทุกขสัญญา
[สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นว่า เป็นทุกข์ ในสิ่งที่ไม่เที่ยง]
      ๓. ทุกเข อนัตตสัญญา
[สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณา เห็นว่า ไม่ใช่ตน ในสิ่งที่เป็นทุกข์]
      ๔. ปหานสัญญา
[สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นว่าควรละเสีย]
      ๕. วิราคสัญญา
[สัญญาที่เกิดขึ้นในญาณเป็นเครื่องพิจารณาเห็นความคลายเสียซึ่งความกำหนัด]

      ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมมีประเภทละ ๕ๆ เหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว พวกเราทั้งหมด ด้วยกันพึงสังคายนา ไม่พึงแก่งแย่งกันในธรรมนั้นการที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย


...............................................................................
13

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒

เพราะความไม่รู้ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิหลายอย่าง
(ตรัสกับ วัจฉโคตรปริพาชก)

          ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้ทิฏฐิหลายอย่าง เหล่านี้ เกิดขึ้นในโลกว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มี ที่สุดบ้าง ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็นอย่างอื่นสรีระ ก็เป็นอย่างอื่นบ้าง สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิด อีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มีบ้าง สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้บ้าง?

ดูกรวัจฉะ เพราะความไม่รู้
ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ
ในเหตุเกิด แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ
ในความดับ แห่งรูป แห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ
ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับ แห่งรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ


         จึงเกิดทิฏฐิหลายอย่างเหล่านี้ขึ้นในโลกอย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง.

          ดูกรวัจฉะ ข้อนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้ทิฏฐิหลายอย่างเหล่านี้เกิดขึ้น ในโลกว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง.


...............................................................................
14

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๔

ธรรมที่เป็นอกุศลและกุศล

ดูกรวัจฉะ
๑) โลภะ เป็นอกุศล อโลภะ เป็นกุศล
๒) โทสะเป็นอกุศล อโทสะเป็นกุศล
๓) โมหะ เป็นอกุศล อโมหะเป็นกุศล

ดูกรวัจฉะ
๑) ปาณาติบาตแล เป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นกุศล
๒) อทินนาทานเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากอทินนาทานเป็นกุศล
๓) กาเมสุมิจฉาจารเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นกุศล
๔) มุสาวาทเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากมุสาวาทเป็นกุศล
๕) ปิสุณาวาจาเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นกุศล
๖) ผรุสวาจาเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากผรุสวาจาเป็นกุศล
๗) สัมผัปปลาปะเป็นอกุศล เจตนาเครื่องงดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นกุศล
๘) อภิชฌาเป็นอกุศล อนภิชฌาเป็นกุศล
๘) พยาบาทเป็นอกุศล อัพยาบาทเป็นกุศล
๑๐) มิจฉาทิฏฐิเป็นอกุศล สัมมาทิฏฐิเป็นกุศล

ดูกรวัจฉะ
เพราะตัณหา อันภิกษุละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว มีประโยชน์ของตนถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ.


...............................................................................
15
(หนังสือสกทาคามี-พุทธวจน)

อริยะบุคคล ๔ อีกนัยยะหนึ่ง

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๑๖/๘๘.

ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกอะไรบ้าง คือ
(1) สมณะมจละ (สมณะผู้ไม่หวั่นไหว)
(2) สมณะบุณฑริก (บัวขาว)
(3) สมณะปทุมะ (บัวชมพู)
(4) สมณะสุขุมาล (ผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ)

ก็สมณะผู้ไม่หวั่นไหว (มจละ) เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น โสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป มีความไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะตรัสรู้ได้ในกาลเบื้องหน้า

ก็สมณะบุณฑริก (บัวขาว) เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น สกทาคามี เพราะ สังโยชน์ ๓ สิ้นไปและเพราะราคะโทสะ โมหะเบาบาง จะมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่ง ทุกข์ได้

ก็สมณะปทุมะ (บัวชมภู) เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น โอปปาติกะ(อนาคามี) เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลก นั้นเป็นธรรมดา

ก็สมณะสุขุมาล(ผู้ละเอียดอ่อน..) เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (อรหันต์) อันหาอาสวะมิได้ พราะความสิ้นไปแห่งอาสวะ ทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันย่งิ เองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่


...............................................................................

16

คนดุร้าย- คนสงบเสงี่ยม
(ตรัสกับคามณี)
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๓๗๖/๕๘๖.

(คนดุร้าย)
บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังละราคะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละราคะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่ว ให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้น จึงถึงความนับว่า เป็นคนดุร้าย.

บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังละโทสะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละโทสะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้น จึงถึงความนับว่า เป็นคนดุร้าย.

บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังละโมหะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละโมหะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้น จึงถึงความนับว่า เป็นคนดุร้าย.

นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้บุคคลบางคนในโลกนี้ จึงถึงความนับว่า เป็นคน ดุร้าย

(คนสงบเสงี่ยม)
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ละราคะได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละราคะได้ คนอื่น จึงยั่วให้โกรธไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้นจึงถึงความนับว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม.

บุคคลบางคนในโลกนี้ ละโทสะได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละโทสะได้ คนอื่น จึงยั่วให้โกรธไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้น ผู้นั้นจึงถึงความนับว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม.

บุคคลบางคนในโลกนี้ ละโมหะได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละโมหะได้ คนอื่นจึงยั่ว ให้โกรธไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ด้วยเหตุนั้น ผู้นั้นจึงถึงความนับว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม.

นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้บุคคลบางคนในโลกนี้จึงถึงความนับว่า เป็นคน สงบเสงี่ยม.


.............................................................................

17
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๓

สิคาลสูตร
(ภิกษุติดลาภสักการะ เหมือนสุนัขจิ้งจอกเป็นโรคเรื้อน)

           [๕๕๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ... ได้ตรัสว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า

           [๕๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ ซึ่งอยู่ในกลางคืน ตลอดถึงเช้าตรู่หรือหนอ

           ภิ. เห็นพระเจ้าข้า

           พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้น เป็นโรคอุกกรรณ์ [โรคเรื้อน] อยู่บนบก ก็ไม่สบาย อยู่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดินยืน นั่ง นอน ในที่ใดๆ ก็ไม่สบายเป็นทุกข์ในที่นั้นๆ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน อันลาภสักการะ และชื่อเสียงครอบงำ ย่ำยีจิตแล้วอยู่ที่เรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่ที่โคนไม้ ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดินยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียงทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึง ศึกษาอย่างนี้แหละ


.................................................................................
18
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๔

เวรัมภสูตร
(ภิกษุติดลาภสักการะ อุปมาเหมือนลมเวรัมภา ซัดนกที่บินอยู่ในอากาศ)

           [๕๕๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ... ได้ตรัสว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า

           [๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลมชื่อว่า เวรัมภา* พัดอยู่ในอากาศ เบื้องบน ซัดนก ที่บินอยู่ในอากาศนั้น เมื่อมันถูกลมเวรัมภาซัดเท้าไปข้างหนึ่ง ปีกไปข้างหนึ่ง ศีรษะ ไปข้างหนึ่ง ตัวไปข้างหนึ่ง
* ลมบ้าหมู

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันลาภ สักการะ และชื่อเสียงครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว เวลาเช้านุ่งแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากายวาจา จิต ไม่ดำรงสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคามที่นุ่งห่มผ้าลับๆ ล่อๆในบ้านหรือนิคมนั้น

           ครั้นเห็นแล้ว ราคะย่อมครอบงำจิต เธอมีจิตอันราคะครอบงำแล้ว ย่อมลาสิกขา สึกออกมา ภิกษุพวกหนึ่งเอาจีวรของเธอไป พวกหนึ่งเอาบาตร พวกหนึ่งเอาผ้านิสีทนะ พวกหนึ่งเอากล่องเข็ม เปรียบดังนกถูกลมเวรัมภาซัดไป ฉะนั้น

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะและชื่อเสียงทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ

................................................................................

19
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๐
ดูพระสูตรเต็ม P1411

เทวดาหลายองค์ยืนอยู่แม้ปลายเหล็กแหลม แต่ไม่เบียดกัน


          ดูกรสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลม จดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐องค์บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน

          
ดูกรสารีบุตร ก็เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่าจิตอย่างนั้น(จิตที่เสมอกัน) ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิตอันเทวดาเหล่านั้น อบรมแล้ว (อบรมธรรมของตถาคต) ในภพนั้น แน่นอน

          ดูกรสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้

          ดูกรสารีบุตร ก็จิตอย่างนั้น(จิตที่เสมอกัน) ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ ในโอกาส แม้เท่าปลายเหล็ก แหลม จดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน เทวดาเหล่านั้น ได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้น แหละสารีบุตร เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ

..............................................................................
20
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า 256-257

ทรงแสดงธรรมด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

ภิกษุ ท.! พญาสัตว์ชื่อ สีหะ ออกจากถ้ําที่อาศัยในเวลาเย็น เหยียดยืดกาย แล้วเหลียวดูทิศทั้งสี่โดยรอบ บันลือสีหนาทสามครั้งแล้ว ก็เที่ยวไปเพื่อหาอาหาร.


ราชสีห์นั้น
เมื่อตะครุบช้าง ก็ตะครุบด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่หละหลวม.

เมื่อตะครุบควายป่า ก็ตะครุบด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่หละหลวม.
เมื่อตะครุบวัว ก็ตะครุบด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่หละหลวม.
เมื่อตะครุบเสือดาว ก็ตะครุบด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่หละหลวม.
แม้ที่สุดแต่เมื่อตะครุบ สัตว์เล็ก ๆ เช่นกระต่ายและแมวก็ตะครุบด้วยความ ระมัดระวัง อย่างยิ่ง ไม่ หละหลวม
.

เพราะเหตุไรเล่า?

เพราะราชสีห์นั้นคิดว่าเหลี่ยมคูของราชสีห์อย่าได้เสื่อมเสียไปเสียดาย ดังนี้.

ภิกษุ ท.!  ก็ คำว่า ราชสีห์ ๆ นี้เป็นคำแทนชื่อตถาคต ผู้อรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วย ตนเอง ด้วยเหมือนกัน การแสดงธรรมแก่บริษัทนั่นแหละ คือการบันลือสีหนาทของ ตถาคต

ภิกษุ ท.!

เมื่อตถาคตแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ก็แสดงด้วยความระมัดระวัง อย่างยิ่ง ไม่หละหลวม
เมื่อแสดงแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ก็แสดงด้วยความ ระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่หละหลวม.
เมื่อแสดงแก่อุบาสกทั้งหลาย ก็แสดงด้วย ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่หละหลวม.
เมื่อแสดงแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ก็แสดง ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่หละหลวม.
แม้ที่สุดแต่เมื่อแสดงแก่ปุถุชนชั้นต่ำ ทั่วไป เช่นแก่คนขอทาน หรือพวกพราน ทั้งหลาย ก็ย่อมแสดงด้วยความระมัดระวัง อย่างยิ่งไม่หละหลวมเลย.


เพราะเหตุไรเล่า?

ภิกษุ ท.! เพราะเหตุว่า ตถาคตเป็นผู้ หนักในธรรม เป็นผู้เคารพต่อธรรม ดังนี้.

...............................................................................

21
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๒
ข้อ [๑๘๗]
ดูพระสูตรเต็ม P1602#7

อสัตบุรุษ จะพึงรู้ อสัตบุรุษ ด้วยกันได้หรือ
(ตรัสกับ วัสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ )

          [๑๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทก นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ ของแคว้น มคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

         ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ อสัตบุรุษ ด้วยกันได้หรือ หนอ ว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อที่ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ อสัตบุรุษ ด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส ที่จะเป็นได้เลย

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อสัตบุรุษจะพึงรู้สัตบุรุษได้หรือหนอว่าท่านผู้นี้เป็น สัตบุรุษ  พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่ อสัตบุรุษ จะพึงรู้ สัตบุรุษ ว่า ท่านผู้นี้เป็น สัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส จะพึงเป็นได้

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษ พึงรู้ สัตบุรุษ ด้วยกันได้หรือหนอ แล ว่าท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ พ. ดูกรพราหมณ์ ข้อที่ สัตบุรุษ พึงรู้ สัตบุรุษ ด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตบุรุษ พึงรู้ อสัตบุรุษ ได้หรือหนอว่า ท่านผู้นี้ เป็น อสัตบุรุษ  พ. ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อที่สัตบุรุษพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะ เป็นโอกาสที่มีได้

          ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ข้อที่พระโคดมตรัส ชอบแล้วว่า ข้อที่อสัตบุรุษจะพึงรู้อสัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็น อสัตบุรุษ ดังนี้ ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่อสัตบุรุษ จะพึงรู้สัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้ ก็ไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นได้ ข้อที่สัตบุรุษจะพึงรู้ สัตบุรุษด้วยกันว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ ดังนี้เป็นฐานะเป็น โอกาสที่มีได้ และข้อที่ สัตบุรุษ จะพึงรู้อสัตบุรุษว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดังนี้ ก็เป็นฐานะเป็นโอกาสที่มีได้


...............................................................................
22
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๑๑ ข้อ [๑๘๑]
ดูพระสูตรเต็ม P1602#1

นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ กับภิกษุในธรรมวินัย

นักรบประกอบด้วยองค์ ๔ ผู้ควรแก่พระราชา
๑) นักรบในโลกนี้เป็นผู้ฉลาด
๒) เป็นผู้ยิงได้ไกล
๓) เป็นผู้ยิงได้เร็ว
๔) ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้

ภิกษุในธรรมวินัย กับธรรม ๔ ประการ
๑) เป็นผู้ฉลาดในฐานะ ...
มีศีล สมาทานในสิกขาบททั้งหลาย
๒) เป็นผู้ยิงได้ไกล...
เห็นว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตน
๓) เป็นผู้ยิงได้เร็ว ..
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ เหตุเกิด เหตุดับ ปฏิปทา..
๔) ทำลายข้าศึกหมู่ใหญ่ได้ ...
ทำลายอวิชชากองใหญ่เสียได้


...............................................................................
23
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก
หน้าที่ ๑๖๖

เราจะไม่กล่าวในสิ่งที่ทำให้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
(เราจะกล่าวแต่สิ่งที่ทำให้ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น)

          [๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาป สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสการพราหมณ์ผู้เป็น มหาอำมาตย์ ในแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะ อย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนเห็นว่า เราเห็นอย่างนี้โทษ แต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนได้ฟังมาว่า เราได้ฟังมาอย่างนี้โทษ แต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนทราบ (ทางจมูก ลิ้น กาย) ว่า เราทราบอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งย่อมกล่าวสิ่งที่ตนรู้แจ้ง(ทางใจ) ว่า เรารู้แจ้งอย่างนี้ โทษแต่การพูดนั้นไม่มี

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์
เราไม่กล่าวสิ่งที่เห็น (ทางตา) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่เห็นทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟัง (ทางหู) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่ได้ฟังทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าว สิ่งที่ทราบ
(จมูก ลิ้น กาย) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่ทราบทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

เราไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้ง (ทางใจ) ทั้งหมดว่า ควรกล่าว
และ ไม่กล่าวสิ่งที่รู้แจ้งทั้งหมดว่า ไม่ควรกล่าว

          ดูกรพราหมณ์ แท้จริง
เมื่อบุคคลกล่าวสิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรากล่าว สิ่งที่ได้เห็นเห็นปานนั้นว่า ไม่ควรกล่าว

แต่เมื่อบุคคลกล่าว สิ่งที่ได้เห็นอันใด อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวสิ่งที่ได้เห็น เห็นปานนั้นว่า ควรกล่าว



...............................................................................
24

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๗ ข้อ [๑๗๕]
ดูพระสูตรเต็ม
P1602#4

บุคคลที่สะดุ้งกลัวต่อความตาย และไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย เป็นไฉน

บุคคลสะดุ้งกลัวต่อความตาย
- เพราะยังมีความทะยานอยากในกาม ยังกำหนัด พอใจในกาม
- เพราะยังทยานอยากในกาย ยังกำหนัด พอใจ ในกาย ..
- เพราะทำแต่บาปกรรมที่เศร้าหมอง ไม่ได้ทำความดี ..
- เพราะยังเคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม

บุคคลไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย
- เพราะปราศจากความทะยานอยาก ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ในกาม
- เพราะปราศจากความอยาก ปราศจากความหนัด ปราศจากความพอใจ ในกาย
- เพราะทำแต่ความดี ไม่ได้ทำบาปที่เศร้าหมอง
- เพราะไม่เคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม


...............................................................................
25
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๖๙ ข้อ [๑๘๕]
ดูพระสูตรเต็ม P1602#5

สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ ชื่อว่ากล่าวจริง ไม่ใช่กล่าวเท็จ

1.สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
2.กามทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
3.ภพทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ
4.เราย่อมไม่มีในอะไรๆ เราย่อมไม่มีในความเป็นอะไรๆของใครๆ ...ชื่อว่ากล่าวจริงมิใช่กล่าวเท็จ


...............................................................................
26

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖

ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นเทพ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม ฯลฯ
บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ
บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ
บรรลุตติยฌาน ฯลฯ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ

(บรรลุ ฌาณ ๑-ฌาณ ๔)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าถึงความเป็นเทพ


...............................................................................

27
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖

ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม

ภิกษุในธรรมวินัย นี้

มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

มีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างเบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุก สถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นพรหม



...............................................................................
28
พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖

ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงขั้น อเนญชา


ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้น อเนญชา

  -เพราะล่วงรูปสัญญา โดยประการทั้งปวง
  -เพราะดับสิ้นปฏิฆสัญญา
  -เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา บรรลุอากาสานัญจายตน ด้วยบริกรรม ว่าอากาศไม่มีที่สุด
  -เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน ด้วยบริกรรมว่าวิญญาณไม่มีที่สุด
 -เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยบริกรรมว่า อะไรๆ ไม่มี
 - เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตน

   อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงชั้นอเนญชา (สมาธิชั้น อรูปสัญญา)



...............................................................................

29

พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๗๖

ภิกษุอย่างไร จึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความจริงว่า
  นี้ทุกข์
  นี้ทุกขสมุทัย
  นี้ทุกขนิโรธ
  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (รู้ชัดอริยสัจ
)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุจึงชื่อว่าถึงความเป็นอริยะ


...............................................................................

30

เมื่อตั้งใจฟังธรรม กามฉันทะย่อมไม่มี
โพชฌงค์ ๗ย่อมเจริญ
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๓๔/๔๙๒.

ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกตั้งใจ ใส่ใจ รวมเข้าไว้ด้วยใจทั้งหมด เงี่ยโสต ลงฟังธรรม สมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ย่อมไม่มีแก่เธอ โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเจริญ บริบูรณ์.

ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ อะไรบ้างย่อมไม่มีแก่เธอคือ
๑) กามฉันทนิวรณ์ ย่อมไม่มี
๒) พยาบาทนิวรณ์ ย่อมไม่มี
๓) ถีนมิทธนิวรณ์ ย่อมไม่มี
๔) อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ย่อมไม่มี
๕) วิจิกิจฉานิวรณ์ ย่อมไม่มี

ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ.

ในสมัยนั้น โพชฌงค์ ๗ อะไรบ้าง ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ คือ
๑) สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
๒) ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
๓) วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
๔) ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ บริบูรณ์
๕) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
๖) สมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
๗) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

...............................................................................

31
ทรงขนานนามพระองค์เองว่า “ตถาคต”
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๑๗/๑๖.

ตถาคตบังเกิดขึ้นในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบเอง
ถึงพร้อมด้วยวิชชา และ จรณะ
เป็นผู้ดำเนินไปดี
เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้ตื่นแล้ว
เป็นผู้จำแนกธรรม

ตถาคตนั้น
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
สอนโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์
พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ให้รู้แจ้งตาม

ตถาคตนั้น
แสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
ประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

............................................................................

32

เหตุที่ทำให้ทรงพระนามว่า “ตถาคต”
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๐/๒๓, -บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.

ภิกษุทั้งหลาย !

โลกเป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงเป็น ผู้ถอนตนจากโลก ได้แล้ว

เหตุให้เกิดโลก เป็นสภาพที่ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงละเหตุ ให้เกิดโลกได้แล้ว

ความดับไม่เหลือของโลก เป็นสภาพ ที่ตถาคต รู้พร้อม เฉพาะแล้ว ตถาคตจึงทำให้แจ้งความดับไม่เหลือ ของโลกได้แล้ว

ทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลก
เป็นสิ่งที่ตถาคตรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ตถาคตจึงทำให้เกิดมีขึ้นได้แล้ว ซึ่งทางให้ถึงความดับไม่เหลือของโลกนั้น

ภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะอันใด ที่พวกมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก มาร พรหม ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-พราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ได้เห็น ได้ฟัง ได้ดมลิ้ม สัมผัส ได้รู้แจ้ง ได้บรรลุ ได้แสวงหา ได้เที่ยวผูกพันติดตามโดยน้ำใจ อายตนะนั้น ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”

ภิกษุทั้งหลาย ! ในราตรีใด ตถาคตได้ตรัสรู้ และในราตรีใด ตถาคตปรินิพพาน ในระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออกซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมด ย่อมมีโดยประการเดียวกันทั้งสิ้น ไม่แปลกกันโดยประการอื่น เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”

ภิกษุทั้งหลาย ! ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มาร พรหม ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์ ตถาคตเป็นผู้เป็นยิ่ง ไม่มีใครครอบงำ เป็นผู้เห็นสิ่งทั้งปวงโดยเด็ดขาด เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด (โดยธรรม)แต่ผู้เดียว เพราะเหตุนั้น จึงได้นามว่า “ตถาคต”

...............................................................................
33

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๐-๙๒

อกุศลวิตก ๓ แก้ได้ด้วยสติปัฏฐาน ๔

             อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ
๑) กามวิตก
๒) พยาบาทวิตก
๓) วิหิงสาวิตก

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญ อนิมิตตสมาธิ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้แล ย่อมดับโดยไม่เหลือ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิมิตตสมาธิควรแท้ ที่จะเจริญจนกว่าจะละ อกุศลวิตก นี้ได้. อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก


...............................................................................
34
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๐-๙๒

ทิฏฐิ ๒ อย่าง

             ทิฏฐิ ๒ อย่างนี้ คือ
๑) ภวทิฏฐิ*
๒) วิภวทิฏฐิ
(*เห็นว่าภพมีอยู่ เห็นอัตตาว่าเป็นของเที่ยงแท้)

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นในทิฏฐิ ๒ อย่างนั้น ดังนี้ว่า เรายึดถือสิ่งใด ในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นมีอยู่บ้างไหม? เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เราเรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย

(เมื่อภวทิฏฐิมีอยู่ ย่อมยึดในรูป เวทนา..ว่า ภพพึงมีแก่เรา ว่าภพเป็นของเรา)

            เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อยึดถือ พึงยึดถือรูปนั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือเวทนานั้นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือสัญญานั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือ สังขารนั่นเอง เมื่อยึดถือ พึงยึดถือวิญญาณนั้นเอง ภพพึงมีแก่เรา เพราะอุปาทาน เป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และ อุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้ ด้วยประการอย่างนี้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา?
ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ. เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

...............................................................................
35
อุปมาช่างตีเหล็ก -บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๗๑/๕๒

อนุปาทาปรินิพพาน เป็นอย่างไร

          ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนี้คือ ย่อมได้ความวางเฉยว่า

         ถ้ากรรมในอดีต ไม่ได้มีแล้วไซร้ อัตภาพในปัจจุบัน ก็ไม่พึงมีแก่เรา
         ถ้ากรรมในปัจจุบัน ย่อมไม่มีไซร้ อัตภาพในอนาคต ก็จักไม่มีแก่เรา

         เบญจขันธ์ที่กำลังเป็นอยู่ ที่เป็นมาแล้ว เราย่อมละได้ เธอย่อมไม่กำหนัด ในเบญจขันธ์ อันเป็นอดีต ไม่ข้องอยู่ในเบญจขันธ์ อันเป็นอนาคต ย่อมพิจารณา เห็นบท อันสงบระงับ อย่างยิ่งด้วยปัญญาอันชอบ ก็บทนั้นแล อันภิกษุนั้น ทำให้แจ้งแล้ว โดยอาการทั้งปวง 

         อนุสัย คือมานะ อนุสัย คือภวราคะ อนุสัย คือ อวิชชา
        เธอก็ละได้แล้ว โดยอาการทั้งปวง เธอย่อมกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

        ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อนุปาทาปรินิพพาน.


...............................................................................
36
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๘

อริยสาวก ย่อมทำอะไรให้พินาศ ย่อมไม่ก่ออะไร?

ย่อมทำอะไร ให้พินาศ ย่อมไม่ก่ออะไร?
ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้พินาศ
ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ย่อมละทิ้งอะไร ย่อมไม่ถือมั่นอะไร?
ย่อมละทิ้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

ย่อมเรี่ยรายอะไร ย่อมไม่รวบรวมอะไรไว้?
ย่อมเรี่ยรายรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ
ย่อมไม่รวบรวมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

ย่อมทำอะไรให้มอด ย่อมไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น?
ย่อมทำรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้มอด
ย่อมไม่ก่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ลุกโพลงขึ้น.

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น.
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว.

รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี


...............................................................................
37
-บาลี ทุก อํ. ๒๐/๘๖/๒๘๓.

คนพาล กับ บัณฑิต

พราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปีหรือ ๑๐๐ ปี โดยกำเนิดก็ดี
-แต่เขายังบริโภคกาม
-อยู่ในท่ามกลางกาม
-ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา
-ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่
-ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม
เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้

พราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่ม มีผมดำสนิท ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย
-แต่เขาไม่บริโภคกาม
-ไม่อยู่ในท่ามกลางกาม
-ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา
-ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน
-ไม่ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม
เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ทีเดียว

...............................................................................
38
วิธีละ ราคะ โทสะ โมหะ
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๒๕๖/๕๐๘.

หตุปัจจัยที่ทำให้ ราคะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
คำตอบพึงมีว่า
สุภนิมิต (สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่างาม)
วิธีละ คือ อสุภนิมิต (สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าไม่งาม)

เหตุปัจจัยที่ทำให้ โทสะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
คำตอบพึงมีว่า ปฏิฆนิมิต (สิ่งที่ทำให้รู้สึกกระทบกระทั่ง)
วิธีละคือ เมตตาเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิตอันประกอบอยู่ด้วยเมตตา)

เหตุปัจจัยที่ทำให้ โมหะ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
คำตอบพึงมีว่า อโยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยไม่แยบคาย)
วิธีละ คือ โยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยแยบคาย)


...............................................................................

39

ข้อปฏิบัติเพื่อความดับแห่งอกุศลสังกัปปะ
-บาลี ม. ม. ๑๓/๓๔๙/๓๖๔.
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๗ ข้อ [๓๖๔]

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็น อกุศล (อกุศลสังกัปปะ) เป็นอย่างไร ช่างไม้
ความดำริใน กาม
ความดำริใน พยาบาท
ความดำริใน วิหิงสา (ความเบียดเบียน)
เหล่านี้เรา กล่าวว่าความดำริอันเป็นอกุศล.

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นอกุศลนี้ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิด แม้เหตุให้เกิดแห่งความ ดำริอันเป็นอกุศลนั้น เรากล่าวแล้วว่า มีสัญญาเป็นเหตุให้เกิด

ก็สัญญาเป็นอย่างไร แม้สัญญาก็มีมาก หลายอย่าง นานาประการ สัญญาใด
เป็นสัญญาใน กาม
เป็นสัญญาใน พยาบาท
เป็นสัญญาใน วิหิงสา

ความดำริอันเป็น อกุศลนี้ มีสัญญาเป็น เหตุให้เกิด.

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็น อกุศล เหล่านี้ ดับไม่เหลือในที่ไหน แม้ความดับแห่ง ความดำริอันเป็นอกุศลนั้น เราก็กล่าวไว้แล้ว ช่างไม้ ในกรณีนี้ ภิกษุเพราะสงัด จากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ ความดำริอันเป็นอกุศลเหล่านี้ ย่อมดับไม่เหลือใน ปฐมฌานนั้น.1

1.(ข้อสังเกตแม้ในปฐมฌานก็สามารถละ อกุศลสังกัปปะ ทั้ง ๓ อย่างได้–ผู้รวบรวม)

ช่างไม้ ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ อันเป็น อกุศล ช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภ ความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อความไม่บังเกิดแห่ง อกุศลธรรม อันเป็นบาปทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น.. เพื่อละอกุศลธรรม อันเป็นบาปทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว …
เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่ง กุศลธรรม ทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด …
เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้นความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ บังเกิดขึ้นแล้ว

ช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล(ปฐมฌาน) ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ อันเป็นอกุศล.

...............................................................................
40

ข้อปฏิบัติเพื่อความดับแห่ง กุศลสังกัปปะ
-บาลี ม. ม. ๑๓/๓๔๙/๓๖๔.
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๗ ข้อ [๓๖๕]

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็น กุศล เป็นอย่างไร ช่างไม้
ความดำริใน เนกขัมมะ
ความดำริใน ความไม่พยาบาท
ความดำริใน อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
เหล่านี้เรา กล่าวว่า ความดำริอันเป็นกุศล.

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็นกุศลนี้ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดแม้เหตุให้เกิด แห่งความดำริ อันเป็น กุศลนั้นเรากล่าวแล้วว่ามีสัญญาเป็นเหตุให้เกิด ก็สัญญาเป็นอย่างไร แม้ สัญญาก็มีมากหลายอย่าง นานาประการ สัญญาใด
เป็นสัญญาใน เนกขัมมะ
เป็นสัญญาใน ความไม่พยาบาท
เป็นสัญญาใน อวิหิงสา

ความดำริอันเป็นกุศลนี้ มีสัญญาเป็นเหตุให้เกิด.

ช่างไม้ ก็ความดำริอันเป็น กุศล เหล่านี้ ดับไม่เหลือในที่ไหน แม้ความดับ แห่งความดำริ อันเป็นกุศลนั้น เราก็กล่าวไว้แล้ว ช่างไม้ ในกรณีนี้ ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดอันจากสมาธิแล้วแลอยู่ ความดำริอันเป็นกุศลเหล่านี้ ย่อมดับไม่เหลือในทุติยฌานนั้น

ช่างไม้ ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ อันเป็นกุศล ช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภ ความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้
เพื่อความไม่บังเกิดแห่ง อกุศลธรรม อันเป็นบาปทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น..
เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว …
เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่ง กุศลธรรม ทั้งหลายที่ ยังไม่ได้บังเกิด …
เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มเปี่ยมแห่ง กุศลธรรม ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น แล้ว

ช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล (ทุติยฌาน) ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งความดำริ อันเป็นกุศล (ดับความคิดที่เป็นกุศล)


...............................................................................
41

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙
อัปปิยสูตรที่ ๑

ธรรม ๘ ประการ นี้ ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญของภิกษุ (สูตร ๑)

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
๑) เป็นผู้สรรเสริญผู้ไม่เป็นที่รัก
๒) ติเตียนผู้เป็นที่รัก
๓) มุ่งลาภ
๔) มุ่งสักการะ
๕) ไม่มีความละอาย
๖) ไม่มีความเกรงกลัว
๗) มีความปรารถนาลามก
๘) มีความเห็นผิด

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
๑) เป็นผู้ไม่ สรรเสริญผู้ที่ไม่เป็นที่รัก
๒) ไม่ติเตียนผู้ไม่เป็นที่รัก
๓) ไม่มุ่งลาภ
๔) ไม่มุ่ง สักการะ
๕) มีความละอาย
๖) มีความเกรงกลัว
๗) มักน้อย
๘) มีความเห็นชอบ


...............................................................................
42 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๐
อัปปิยสูตรที่ ๒

ธรรม ๘ ประการ นี้ ย่อมไม่เป็นที่สรรเสริญของภิกษุ (สูตร ๒)

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
๑) เป็นผู้มุ่งลาภ
๒) มุ่งสักการะ
๓) มุ่งความมีชื่อเสียง
๔) ไม่รู้จักกาล
๕) ไม่รู้จักประมาณ
๖) ไม่สะอาด
๗) ชอบพูดมาก
๘) มักด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์

ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของเพื่อนพรหมจรรย์

ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน
๑) ไม่เป็นผู้มุ่งลาภ
๒) ไม่เป็นผู้มุ่งสักการะ
๓) ไม่เป็นผู้มุ่งความมีชื่อเสียง
๔) เป็นผู้รู้จักกาล
๕) เป็นผู้รู้จักประมาณ
๖) เป็นคนสะอาด
๗) ไม่ชอบพูดมาก
๘) ไม่ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์


...............................................................................
43
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๑

ม้าของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ กับ ธรรม ๕ ประการของภิกษุ (อาชานิยสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าทรง ย่อมถึงความนับว่าเป็นราชพาหนะ

องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
๑) ความซื่อตรง
๒) ความวิ่งเร็ว
๓) ความอ่อนนุ่ม
๔) ความอดทน
๕) ความเสงี่ยม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยตัวเจริญของพระราชา ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมควรแก่พระราชาควรเป็นม้าทรง ย่อมถึงการนับว่า เป็นราชพาหนะ

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน
๑) ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ
๒) ควรแก่ของต้อนรับ
๓) ควรแก่ของทำบุญ
๔) ควรกระทำอัญชลี
๕) เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า


...............................................................................
44
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๔

อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการ (ยาคุสูตร)
๑) บรรเทาความหิว
๒) ระงับความระหาย
๓) ยังลมให้เดินคล่อง
๔) ชำระลำไส้
๕) เผาอาหารเก่าที่ยังไม่ย่อย


...............................................................................
45


โทษเพราะไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ (ทันตกัฏฐสูตร)
๑) ตาฟาง
๒) ปากเหม็น
๓) ประสาทที่นำรสอาหารไม่หมดจดดี
๔) เสมหะย่อมหุ้มห่ออาหาร
๕) อาหารย่อมไม่อร่อยแก่เขา


...............................................................................
46

อานิสงส์เพราะเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ (ทันตกัฏฐสูตร)
๑) ตาสว่าง
๒) ปากไม่เหม็น
๓) ประสาทที่นำรสอาหารหมดจดดี
๔) เสมหะย่อมไม่หุ้มห่ออาหาร
๕) อาหารย่อมอร่อยแก่เขา


...............................................................................
47

โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับที่ยาว ๕ ประการ (คีตสูตร)
๑) ตนเองย่อมกำหนัดในเสียงนั้นบ้างผู้อื่น ย่อมกำหนัดในเสียงนั้นบ้าง
๒) พวกคฤหบดีย่อมยกโทษว่า พวกสมณศากยบุตรเหล่านี้ ย่อมขับเหมือนพวกเราขับบ้าง
๓) เมื่อภิกษุพอใจกระทำเสียง
๔) ความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมมีบ้าง
๕) ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเป็นแบบอย่างบ้าง


...............................................................................
48

โทษแห่งภิกษุผู้ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะนอนหลับ ๕ ประการ (มุฎฐัสสติสูตร)
๑) ย่อมหลับเป็นทุกข์
๒) ย่อมตื่นเป็นทุกข์
๓) ย่อมฝันลามก
๔) เทวดาย่อมไม่รักษา
๕) น้ำอสุจิย่อมเคลื่อน


...............................................................................
49
อานิสงส์แห่งภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะนอนหลับ ๕ ประการ
๑) ย่อมหลับเป็นสุข
๒) ย่อมตื่นเป็นสุข
๓) ย่อมไม่ฝันลามก
๔) เทวดาย่อมรักษา
๕) น้ำอสุจิย่อมไม่เคลื่อน


...............................................................................
50
 วิญญาณ ๖ 

๑. จักขุวิญญาณ (รู้แจ้งทางตา เช่นตาเห็นรูป)
๒. โสตวิญญาณ (รู้แจ้งทางหู เช่นหูได้ยินเสียง)
๓. ฆานวิญญาณ (รู้แจ้งทางจมูก เช่นจมูกได้กลิ่น)
๔. ชิวหาวิญญาณ (รู้แจ้งทางลิ้น เช่นลิ้นได้ลิ้มรส)
๕. กายวิญญาณ (รู้แจ้งการสัมผัสกาย เช่นรู้สึกสัมผัสทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (รู้แจ้งทางธรรมารมณ์ เช่นรู้สุข-ทุกข์-อทุกขมสุข/ สัญญา สังขาร)

 


 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์