คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งแรก
[พ.ศ.๒๕๐๒]
พระพุทธศาสนาทั้งแท่ง มียอดสุด คือ อริยสัจ ๔. หลักธรรมทุก ๆ อย่าง สงเคราะห์รวมลงได้ ในอริยสัจ ๔. ข้อปฏิบัติทุก ๆ ข้อ ก็มีเพื่อรู้ อริยสัจ ด้วยปัญญา. ครั้นรู้ อริยสัจ ด้วยปัญญาถึงที่สุดแล้ว หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นผู้ที่ทำที่สุดแห่งความทุกข์ให้ปรากฏได้ และพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด ไม่กลับเป็นทุกข์อีกต่อไป เพราะจิตหลุดพ้นจากสิ่งที่เคยยึดถือ.
ผู้ที่รู้อริยสัจได้ โดยตนเอง อย่างแตกฉาน และสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ด้วย เรียกว่าพระสัมมา สัมพุทธเจ้า. ผู้ที่รู้เอง แตกฉานเฉพาะเท่าที่ทำตัวเองให้หลุดพ้นได้ แต่สอนผู้อื่นให้รู้ตามไม่ได้เพราะ ไม่สามารถในการทรมานผู้ฟัง เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า.
ผู้ที่ได้ฟังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วรู้ตามได้ เรียกว่า พระอนุพุทธเจ้า หรือ พระอริยสาวก. ทั้ง ๓ จำพวกนี้ก็ล้วนแต่ เพราะรู้ อริยสัจ ๔ด้วยปัญญา. อริยสัจ ๔ จึงคือ ยอดธรรม. การรู้ อริยสัจ ก็คือ ยอดแห่งพรหมจรรย์. และการประพฤติเพื่อให้รู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา ก็คือ ยอดแห่งการประพฤติทั้งหลาย.ในโลกนี้ หรือในโลกไหน ๆ กี่พันโลกก็ตาม ไม่มีอะไรดีไปกว่า “ความพ้นทุกข์.” ความพ้นทุกข์มีได้ เพราะรู้ อริยสัจทั้ง ๔ อย่างสมบูรณ์ คือ รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือของทุกข์ และทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ นั่นเอง.
อริยสัจทั้ง ๔ อย่างนี้ จึงเป็นความรู้ที่ควรศึกษาสำหรับการมีชีวิตอยู่ ยิ่งกว่าความรู้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเพียงการหลอกล่อให้ชีวิตเพลินไปวันหนึ่ง ๆหาได้สำรอกทุกข์ พร้อมทั้งรากเชื้อของมันออกจากดวงจิตของมนุษย์ได้ไม่.เจ้าหน้าที่กองตำราของคณะธรรมทาน ได้พยายามค้นเรื่องอริยสัจมาเป็นเวลานาน ด้วยความลำบากอย่างยิ่ง ในการค้นและการนำมาจัดเข้าลำดับให้ถูกต้อง ปะติดปะต่อกันจนตลอดเรื่องเป็นเรื่อง อริยสัจจากพระโอษฐ์ ฉบับที่สมบูรณ์.
คณะธรรมทาน ได้เริ่มพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นพ.ศ.๒๕๐๐
จัดเย็บเล่มภาค ๑-๒ ไว้ตอนหนึ่งแล้ว. มาบัดนี้ภาค ๓ - นิโรธอริยสัจ
เสร็จลง จึงได้จัดเย็บเล่มไว้อีกตอนหนึ่ง. ส่วนภาค ๔ - มรรคอริยสัจ
และ ภาคสรุปท้าย จะได้จัดพิมพ์ต่อไป.
ธรรมโฆษณ์
โดย
ท่านพุทธทาส ภิกขุ
สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี
.............................................................................................................................................................
คำอนุโมทนา
ขออนุโมทนา ในกุศลเจตนาครั้งนี้ เป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้สร้างเหตุปัจจัยอันเป็นไปเพื่อความเจริญ และความมีอายุยืนยาวแห่งพุทธวจน ด้วยการสืบสายถ่ายทอดคำสอนที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง ในส่วน อริยสัจสี่ อันเป็นชั้นโลกุตตระ สู่เทคโนโลยีอนาคฅ สมดังพุทธประสงค์ ที่ต้องการให้มีผู้นำคำสอนของพระองค์ไปศึกษาประพฤติปฏิบัติ เพ่งพิสูจน์ ข้ออรรถข้อธรรม
เพื่อให้เห็นแจ้งเป็นปัจจัตตัง และขยันในการถ่ายทอด บอกสอนกันรุ่นต่อรุ่น สืบ ๆ กันไปด้วยเหตุปัจจัย ที่คณะศิษย์งานธรรมทุก ๆ ท่านได้มุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจตรวจแก้ ปรับปรุง ต่อยอดผลงานอันเป็นนอมตะงานธรรมการแปลพระไตรปิฎกจากพระบาลีเดิมโดยตรง เฉพาะในส่วนพุทธวจนที่ไม่ ปะปนความเห็นผู้ใด ซึ่งได้มาด้วยประสบการณ์จากการประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ด้วยความมานะบากบั่นที่ต่อเนื่องยาวนาน และ การศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดลออ ของท่านพุทธทาส ประกอบกับคณะสหายธรรมของท่านนั้น
จึงขอให้คณะศิษย์ และผู้สนับสนุนทุนทรัพย์ อีกทั้ง ผู้ได้ศึกษาทุกท่าน ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จยังพระนิพพาน สมดังความปรารถนา ตามกำลังและเหตุปัจจัยที่ได้สร้างมาอย่างดีแล้ว ด้วยเทอญ.
พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
มิถุนายน ๒๕๕๓
หนังสือ พุทธวจน ๒
.............................................................................................................................................................
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคปลาย)
จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสร้างเหตุให้พระสัทธรรมตั้งมั่นด้วยวิธีและรูปแบบที่ตรงตามพุทธประสงค์ ตรงตามพุทธบัญญัตินั่นคือ การที่ชาวพุทธทุกๆภาคส่วน ทั้งภิกษุสงฆ์ และฆราวาสพากันสนใจ ศึกษาเล่าเรียน เฉพาะในสิ่งที่เป็นพุทธวจน เป็นพุทธภาษิต เป็นการกลับไปใช้มาตรฐานหลักเดียวอันเดิม ที่ใช้กันในครั้งพุทธกาลเพื่อรักษาความถูกต้องในหลักธรรมวินัย ที่ประกาศโดยพระพุทธเจ้าถือเป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้า ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะกลับมาสู่จิตใจของชาวพุทธอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ และเทวดาทั้งหลายสืบไป
อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคปลาย)
(มี ๒๙ เรื่อง)
หมวดก. ว่าด้วยอุทเทศ-นิทเทศของมรรค
หน้า 822 (อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ)
อุทเทศแห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! หนทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดประการนั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การดำรงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ; อันนี้เราเรียกว่า ความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ .
หน้า 822-1 (อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ)
นิทเทศแห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ก็อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐนี้เอง องค์แปดคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีวะชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร? ภิกษุ ท. ! ความรู้ ในทุกข์ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ใน ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ใน หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร? ภิกษุ ท. ! ความดำริในการออก(จากกาม) ความดำริในการ ไม่พยาบาท ความดำริในการ ไม่เบียดเบียน นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.
ภิกษุ ท. ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการ พูดเท็จ การเว้นจากการ พูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการ พูดหยาบ การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า วาจาชอบ.
ภิกษุ ท. ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑ นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.
ภิกษุ ท. ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! อริยสาวก ในนี้ ละมิจฉาชีพ เสีย สำเร็จความเป็ นอยู่ด้วยสัมมาชีพ นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในศาสนานี้
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้น แห่ง อกุศลธรรม ท. อันลามกที่ยังไม่ได้บังเกิด
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความ เพียร
ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละ เสียซึ่งอกุศลธรรม ท. อันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบัง เกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม ท. ที่ยังไม่ได้บังเกิด
ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความ ยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์
ความเจริญความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรม ท. ที่บังเกิดขึ้นแล้ว.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่าความเพียรชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นกายในกาย อยู่
มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนา ท. อยู่
มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่ว พร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นจิตในจิต อยู่
มีความเพียรเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้
เป็นผู้มีปรกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรม ท. อยู่
มีความเพียรเครื่องเผาบาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ.
ภิกษุ ท. ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในศาสนานี้ เพราะสงัดจากกาม ท.
เพราะสงัดจากอกุศลธรรม ท.
ย่อมเข้าถึง ฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปิติ และสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่.
เพราะวิตกวิจารรำงับลง
เธอเข้าถึง ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายในให้สมาธิ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่
เพราะปิติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุข ด้วย นามกาย
ย่อมเข้าถึง ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉย อยู่ได้มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” แล้วแลอยู่.
เพราะละสุข และทุกข์เสียได้ และเพราะ ความดับ หายแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน
เธอย่อม เข้าถึง ฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ และ ไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขา แล้วแลอยู่.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่าสัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
หน้า 825 (อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ)
ข้าศึกของมัชฌิมาปฏิปทา (อัฏฐังคิกมรรค)
ภิกษุ ท. ! มีสิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่ง (อนฺตา) อยู่ ๒ อย่าง ที่ บรรพชิตไม่ควรข้องแวะด้วย.
สิ่งที่แล่น ดิ่งไปสุดโต่งนั้นคืออะไร ? คือ การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย (กามสุขัล ลิกานุโยค) อันเป็นการกระทำที่ยังต่ำ เป็นของชาวบ้าน เป็นของชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของ พระอริยเจ้า
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และ การประกอบความเพียรในการทรมานตน ให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ สองอย่างนี้แล.
ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อ
ปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติ ทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ความรู้อันยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.
ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ไม่ดิ่งไปหาที่สุดโต่ง สองอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางนั้น คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบอยู่ด้วย องค์แปดประการ นี่เอง.
แปดประการคืออะไรเล่า? คือ
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง)
สัมมาสังกัปปะ (ความดำริที่ถูกต้อง)
สัมมาวาจา (การพูดจาที่ถูกต้อง)
สัมมากัมมันตะ (การทำงานที่ถูกต้อง)
สัมมาอาชีวะ (การดำรงชีพที่ถูกต้อง)
สัมมาวายามะ (ความพากเพียรที่ถูกต้อง)
สัมมาสติ(ความระลึกที่ถูกต้อง)
สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง).
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
หน้า 826-1 (อ้างอิงเลขหน้าตามหนังสือ)
อีกนัยหนึ่ง (ตามบาลีอรณวิภังคสูตรมัชฌิมนิกาย)
[ตอนอุทเทศ]
บุคคลไม่พึงตามประกอบซึ่ง กามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็น ของชาวบ้านเป็นของชนชั้นบุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่พึงตามประกอบซึ่ง อัตตกิลมถานุโยคอันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
ส่วนข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน กล่าวคือ.
ควรรู้จักการกระทำที่เป็นการเชิดชู (อุสฺสาทน) และการกระทำ ที่เป็นการขับไล่ไสส่ง (อปสาทน). ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงกระทำการแกล้งเชิดชู ไม่พึงกระทำการขับไล่ไสส่ง พึงแสดงแต่ที่เป็นธรรมเท่านั้น.
ควรรู้จักวินิจฉัยในกรณีแห่งความสุข ครั้นรู้แล้ว พึงตามประกอบซึ่งความสุขในภายใน. ไม่ควรกล่าวรโหวาทะ (การกล่าวในที่ลับหลัง) ที่ไม่ควรกล่าว ไม่ควรกล่าวอติขีณวาท (การกล่าวใส่หน้า) ที่ไม่ควรกล่าว ไม่ควรกล่าวอย่างรีบร้อนจนปากสั่นเสียงสั่น ไม่พึงยึดถือภาษาพูดของชาวเมือง ไม่เพิกถอนโลกสมัญญา (ภาษาพูดของชาวโลก) ดังนี้. นี้คือหัวข้อ (อุทฺเทศ) แห่งอรณวิภังคะ (การแยกธรรมอันไม่เป็นข้าศึก ออกเสียจากธรรมที่เป็นข้าศึก).
หน้า 827
[ตอนนิทเทส]
ธรรมใดซึ่งเป็นการตามประกอบซึ่งโสมนัส ของผู้มีสุขอันเนื่อง เฉพาะอยู่ด้วยกาม เป็นการกระทำต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ธรรมนั้น ประกอบด้วยทุกข์ ประกอบด้วยความคับแค้น ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ประกอบด้วยความเผาลน เป็นมิจฉาปฏิปทา (เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).
ธรรมใดไม่เป็นการตามประกอบ ซึ่งการตามประกอบด้วยโสมมัส ของผู้มีสุขอันเนื่องเฉพาะอยู่ด้วยกาม อันเป็นการประกอบด้วยโสมนัสซึ่งต่ำทรามเป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ธรรมนั้น ไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา (ไม่เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).
ธรรมใด เป็นการตามประกอบในการทำตนให้ลำบาก (อตฺตกิลม ถานุโยค)อันเป็นการกระทำที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ธรรมนั้น ประกอบด้วยทุกข์ ประกอบด้วยความคับแค้น ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ประกอบด้วยความเผาลน เป็นมิจฉาปฏิปทา (เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).
ธรรมใด ไม่เป็นการตามประกอบ ซึ่งการตามประกอบในการทำตนให้ลำบาก อันเป็นการตามประกอบที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ธรรมนั้น ไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา (ไม่เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).
คำใด ที่เรากล่าวแล้วว่า “บุคคลไม่พึงตามประกอบซึ่งกามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็ นของชาวบ้าน เป็ นของคนชั้นบุถุชน มิใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงตามประกอบซึ่งอัตตกิลมถานุโยค อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์” ดังนี้ คำนั้นเรา อาศัยเหตุผล (ดังกล่าวข้างบน) นี้ กล่าวแล้ว.
ก็คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ต่อไปนี้เป็นข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา) ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน” ดังนี้นั้น (คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาในที่นี้) เรากล่าวแล้วหมายถึงอะไร ? หมายถึง อริยอัฎฐังคิกมรรคนี้ นั้นเทียว กล่าวคือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ....
ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทานี้ ใด. อันเป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ธรรม(มัชฌิมาปฏิปทา) นั้น เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า ธรรมไม่เป็นข้าศึก(อรณ) .
หน้า 829
อีกนัยหนึ่ง
ภิกษุ ท. ! ปฏิปทา ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า ?สามอย่างคือ อาคาฬหปฏิปทา (ปฏิปทาเปียกแฉะ) นิชฌามปฏิปทา (ปฏิปทาไหม้เกรียม) มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! อาคาฬหปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ว่า “โทษในกามทั้งหลายไม่มี” ดังนี้เขาย่อมถึงความจมอยู่ในกามทั้งหลาย : นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา (มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา).
ภิกษุ ท. ! นิชฌามปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเปลือยกาย มีมรรยาทอันปล่อยทิ้งเสียแล้วเป็นผู้ประพฤติ เช็ดอุจจาระของตนด้วยมือ ถือเป็นผู้ไม่รับอาหารที่เขาร้องเชิญว่าท่านผู้เจริญจงมา ไม่รับอาหารที่เขาร้องนิมนต์......ฯลฯ....
(รายละเอียดต่อไปจากนี้ มีอีกมากดูจากข้อความในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่หัวข้อว่า “ทรงประพฤติอัตตกิลมถานุโยค” ที่หน้า ๕๖-๕๘ จนถึงคำว่า------เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการลงสู่แม่น้ำเวลาเญ็นเป็นครั้งที่สามบ้าง เราประกอบตามซึ่งความเพียรในการทำ (กิเลสในกายให้เหือดแห้ง ด้วยวิธีต่างๆ เช่นนี้ด้วยอาการนี้อยู่.) ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา (มิใช่มัชฌิมาปฏิปทา).
ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ ย่อมเจริญสัมมาวาจา ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ ย่อมเจริญสัมมาวายามะ ย่อมเจริญสัมมาสติ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ : นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แลปฏิปทา ๓ อย่าง.
(อาคาฬหปฏิปทาและ นิชฌามปฏิปทา สองอย่างนี้ แม้มีชื่อต่างจากกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค ก็ต่างกันสักว่าชื่อ ส่วนใจความเป็นอย่างเดียวกัน. ทั้งสองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อมัชฌิมาปฏิปทา จึงนำมากล่าวไว้ในที่นี้ ในฐานะเป็นข้าศึกของมัชฌิมาปฏิปทา).
หน้า 831
ลักษณะอีกปริยายหนึ่งแห่งกามสุขัลลิกานุโยค
พราหมณ์! ในกรณีนี้ ผู้ที่เรียกตนเองว่าสมณะหรือพราหมณ์ บางคนปฏิญญา ตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนกับมาตุคามก็จริงแล แต่ว่าเขายินดีการลูบคลำ การนวดฟั้น การอาบ การถูตัว ที่ได้รับจากมาตุคาม.เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการบำเรอเช่นนั้นจากมาตุคาม. ....เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธ์ิ ยังประกอบการเกี่ยวพันด้วยเมถุน
........บางคน.... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม และไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้นเป็นต้น จากมาตุคาม แต่เขายังพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคาม. เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการบำเรอเช่นนั้น จากมาตุคาม. .... เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบการเกี่ยวพันด้วยเมถุน.
....บางคน... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม และไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้น เป็นต้น จากมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคาม.แต่เขายังสบตาต่อตากับมาตุคาม แล้วปลาบปลื้มยินดีด้วยการทำเช่นนั้น ....
เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบการเกี่ยวพันด้วยเมถุน
..........บางคน..... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม และไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้น เป็นต้น จากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการสบตาต่อตา กับมาตุคาม แต่เขายังชอบเสียงของมาตุคาม ที่หัวเราะอยู่ก็ดี พูดจาอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ตาม นอกกำแพงก็ตาม แล้วปลาบปลื้มยินดีด้วยการฟังเสียงนั้น ....เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบเกี่ยวพันด้วยเมถุน.....
......บางคน..... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม และไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้น เป็นต้น จากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่น หัวสัพยอกกับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการสบตาต่อตากับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการฟังเสียงของมาตุคาม แต่เขาชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่า ที่เคยหัวเราะ เล้าโลม เล่นหัวกันกับมาตุคามแล้วก็ปลาบปลื้มยินดีด้วยการเฝ้าระลึกเช่นนั้น. ....เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบเกี่ยวพันด้วยเมถุน.....
......บางคน..... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม และไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้น เป็นต้น จากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอกกับมาตุคามทั้งไม่ยินดีในการสบตาต่อตากับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการฟังเสียงของมาตุคามและทั้งไม่ชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่า ที่เคยหัวเราะ เล้าโลม เล่นหัวกันกับมาตุคาม แต่เขาเห็นพวกคหบดีหรือบุตรคหบดีอิ่มเอิบด้วยกามคุณ ได้รับการ บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ก็ปลาบปลื้มยินดีด้วยการได้เห็นการกระทำเช่นนั้น ....เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบเกี่ยวพันด้วยเมถุน.....
.....บางคน..... ไม่เสพเมถุนกับมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบคลำ การนวดฟั้นเป็นต้น จากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตาต่อตากับมาตุคาม ไม่ยินดีในการฟังเสียงของมาตุคาม ไม่ชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่า ที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัว กับ มาตุคาม และทั้งไม่ยินดีที่จะเห็นพวกคหบดี หรือบุตรคหบดีอิ่มเอิบด้วยกามคุณ แล้วตนพลอยนึก ปลื้มใจด้วยก็ตาม แต่เขาประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนา เพื่อไปเป็นเทพยดา พวกใดพวกหนึ่ง ด้วยอธิฐานว่า “ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง” ดังนี้. ....
เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบเกี่ยวพันด้วยเมถุน. .... (การปฏิบัติ ๗ ประการนี้ เรียกโดยทั่วไปว่า เมถุนสังโยค แต่เพราะมีลักษณะเป็น กามสุขัลลิกานุโยค จึงนำมาใส่ไว้ในหมวดนี้).
833
สิ่งที่เรียกว่ากามคุณและกามสุข
อานนท์ ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ ห้าอย่างอย่างไรเล่า? ห้าอย่างคือ รูปอันพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงอันพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ .... กลิ่นรู้อันพึงแจ้งด้วยฆานะ .... รสอันพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะ อันพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล ชื่อว่า กามคุณ ๕
อานนท์ ! สุขโสมนัสอันใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เกิดขึ้น สุข-โสมนัสอันนั้น เรียกว่า กามสุข(ความชุ่มอยู่ในกามสุข เรียกว่ากามสุขัลลิกะ การประกอบตนอยู่ในกามสุขัลลิกะ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค จัดเป็นอันตะฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าศึกแก่ มัชฌิมาปฏิปทา)
834
สุขัลลิกานุโยค ๒ แบบ
ก. สุขัลลิกานุโยคของมิจฉาทิฏฐิ
จุนทะ ! อาจจะมีปริพาชกผู้เป็นลัทธิอื่นทั้งหลาย กล่าวกะพวก เธออย่างนี้ ว่า “พวกสมณศากยปุตติย์อยู่กันอย่างตามประกอบด้วยสุขัลลิกานุโยค (ประกอบตนให้ชุ่มอยู่ด้วยความสุข)” ดังนี้.
จุนทะ ! เมื่อปริพาชกผู้เป็นลัทธิอื่นกล่าวอยู่อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวกะเขาว่า “อาวุโส! สุขัลลิกานุโยค ชนิดไหนกัน? ก็สุขัลลิกานุโยคมีอยู่มาก หลายอย่างหลายประการ” ดังนี้.
จุนทะ! สุขัลลิกานุโยค๔อย่าง เหล่านี้ เป็นการกระทำที่ตํ่าทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของชนชั้น บุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับความสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน สี่ อย่าง อย่างไรเล่า? สี่อย่างคือ คนบางคนในกรณีนี้ เป็นคนพาลฆ่าสัตว์มีชีวิตแล้วเลี้ยงตัวเอง ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคข้อที่ ๑.
จุนทะ!ข้ออื่นยังมีอีก : คนบางคนในโลกนี้ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้วเลี้ยงตัวเอง ให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยค ข้อที่ ๒.
จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : คนบางคนในกรณีนี้ กล่าวเท็จแล้วเลี้ยงตัวเองให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคข้อที่ ๓.
จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : คนบางคนในกรณีนี้อิ่มเอิบเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้าให้เขาบำเรอ
อยู่ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคข้อที่ ๔”
835
ข. สุขัลลิกานุโยคของสัมมาทิฏฐิ
จุนทะ! อาจจะมีปริพาชกผู้เป็นลัทธิอื่นทั้งหลาย กล่าวกะพวกเธออย่างนี้ ว่า “พวกสมณศากยปุตติย์อยู่กันอย่างตามประกอบด้วย สุขัลลิกานุโยค๔อย่างเหล่านั้น (เป็นแน่)” ดังนี้ พวกเธอพึงกล่าว กะ เขาว่า หาใช่อย่างนั้นไม่. ปริพาชกเหล่านั้น ไม่ได้กล่าวแก่พวกเธอโดยชอบ แต่กล่าวตู่พวกเธอด้วยคำไม่จริงไม่แท้.
จุนทะ! สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่าง เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความหน่ายความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อ ความดับ ความเข้าไปสงบรำงับ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว. สี่อย่างเหล่าไหนเล่า?
จุนทะ! สี่อย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรม ท. จึง บรรลุฌานที่ ๑ อันมีวิตกวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่หนึ่ง
จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึง บรรลุณานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใส แห่งใจในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียว ไม่มีวิตกวิจารมีแต่ปิติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่สอง
จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปิติ จึงอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้ อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่สาม
จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัส ท. ในกาลก่อนจึง บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความมีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้ว แลอยู่ :
นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่สี่ จุนทะ! สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ....ฯลฯ.... เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว.
จุนทะ! นั่นแหละ คือฐานะที่มีอยู่ คือฐานะที่ปริพพาชกผู้เป็น ลัทธิอื่น ท. จะกล่าวอย่างนี้ ว่า “พวกสมณศากยปุตติย์อยู่กันอย่างประกอบด้วยสุขัลลิกานุโยค๔อย่างเหล่านี้” ดังนี้. พวกเธอพึงกล่าว กะเขาว่า อย่างนั้นถูกแล้ว ปริพพาชกเหล่านั้นกล่าวกะพวกเธออยู่อย่างถูกต้องจะกล่าวตู่พวกเธอ ด้วยคำไม่จริง
ไม่แท้ ก็หามิได้.
836
ผลแห่งสุขัลลิกานุโยคของสัมมาทิฏฐิ
จุนทะ! อาจจะมี ปริพพาชก ผู้เป็นลัทธิอื่นทั้งหลาย กล่าวกะ พวกเธออย่างนี้ ว่า “อาวุโส! เมื่อท่านทั้งหลายตามประกอบอยู่ซึ่ง สุขัลลิกานุโยค ๔อย่างเหล่านี้ ท่านหวังผลอะไรหวังอานิสงส์ อะไร”. เมื่อพวกเขากล่าวอย่างนี้ เธอพึงกล่าวตอบเขาว่า “อาวุโส! พวกเราตามประกอบอยู่ซึ่ง สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างเหล่านี้หวังผล ๔ อย่าง หวังอานิสงส์ ๔ อย่าง.
สี่อย่าง อย่างไรเล่า? สี่อย่างในกรณีนี้ คือ ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็น โสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า : นี้เป็น ผลที่หนึ่ง เป็นอานิสงส์ที่หนึ่ง.
อาวุโส! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นธรรมชาติเบาบางเป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ : นี่เป็น ผลที่สอง เป็นอานิสงส์ที่สอง.
อาวุโส ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ในเบื้องต่ำทั้งห้าอย่าง เป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) มีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา : นี้เป็น ผลที่สาม เป็นอานิสงส์ที่สาม.
อาวุโส ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ : นี้เป็น ผลที่สี่ เป็นอานิสงส์ที่สี่.
อาวุโส ! เราทั้งหลายตามประกอบซึ่งสุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างเหล่านี้อยู่ เพราะหวังผล ๔ อย่างเหล่านี้” ดังนี้.
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า คำว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" กับคำว่า "สุขัลลิกานุโยค" มิใช่คำเดียวกัน และมีความหมายแคบกว่ากัน คือกามสุขัลลิกานุโยคนั้น มุ่งความสุขเกิดแต่กามอย่างเดียว ส่วน สุขัลลิกานุโยคนั้น รวมเอาความสุขของคนบาปก็ได้ ของคนบริโภคกามก็ได้ ของคนมีความสุข เกิดจาก ฌานหรือสมาธิก็ได้. กล่าวได้ว่า มีความหมายกว้างกว่ากามสุขัลลิกานุโยค สามเท่าตัว เป็นอย่างน้อย).
837
ตโปชิคุจฉิวัตร
เปรียบเสมือนการขี่ขอนสดท่อนกลมข้ามแม่นํ้า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการรื้อถอนซึ่งโอฆะโดยข้อปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม๒อย่างคือด้วยสีลวิสุทธิ์และด้วยตโปชิคุจฉะ (การเกียจกันบาปด้วยตบะ). ข้าแต่พระงอค์ผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไร?”.
สาฬหะเอ๋ย ! เรากล่าวสีลวิสุทธิ์ ว่าเป็นองค์แห่งสามัญญปฏิบัติองค์ใดองค์หนึ่ง ส่วนสมณพราหมณ์ พวกที่เป็นตโปชิคุจฉวาท (การสอนเกียจกันบาปด้วยตบะ) มีตโปชิคุจฉะเป็นสาระ เกลือกกลั้วพัวพันอยู่ในตโปชิคุจฉะ เป็นพวกที่ไม่สมควรที่จะรื้อถอนซึ่งโอฆะ ถึงแม้สมณพราหมณ์ พวกที่มีกายสมาจาร ไม่บริสุทธิ์ มีวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีมโนสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ พวกนั้นไม่ควรแก่ญาณทัสสนะ และแก่ความรู้พร้อมอันไม่มีอะไรยิ่งกว่า (อนุตฺตรสมฺโพธ).
สาฬหะ ! เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะข้ามแม่น้ำ ถือขวานกุฏฐารีเข้าไปสู่ป่า เห็นต้นสาละใหญ่ ลำต้นตรง ยังหนุ่ม ไม่มีส่วนน่ารังเกียจ เขาตัดต้นไม้นั้นที่โคน แล้วตัดที่ปลาย ริดกิ่งและใบ ออก หมดจด แล้วถากด้วยขวานกุฏฐารี แล้วถากด้วยมีด ขูดด้วยเครื่องขูด ขัดให้เกลี้ยงด้วยก้อนหินกลม แล้วปล่อยลงน้ำ.
สาฬหะ ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : บุรุษนั้นอาจจะข้ามแม่น้ำไปได้หรือหนอ?
“ข้อนั้นหามิได้พระเจ้าข้า !” ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เพราะท่อนไม้สาละนั้นทำบริกรรมถูกต้องแต่ภายนอกภายในไม่ถูกต้อง (สำหรับความเป็นเรือ) เลยสิ่งที่บุรุษนั้นจะหวังได้คือท่อนไม้สาละนั้นจักจมลงบุรุษนั้นจักถึงความพินาศพระเจ้าข้า !”
สาฬหะ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : สมณพราหมณ์พวกที่เป็นตโปชิคุจฉวาท ก็ไม่อาจที่จะถอนซึ่งโอฆะ แม้พวก ที่มีสมาจารไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่ควรแก่ญาณทัสสนะ และแก่อนุตตรสัมโพธะ ฉันนั้นเหมือนกัน. (ต่อไปได้ตรัสข้อความอันเป็นปฏิปักขนัย ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผู้อ่านอาจจะ เปรียบเทียบได้เอง จนตลอดเรื่อง).
หมวด ค. ว่าด้วยลักษณะของมรรค
839
อัฎฐังคิกมรรคในฐานะเป็นทางแห่งอมตะ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มีคำกล่าวกันอยู่ว่า . "อมตะอมตะ (ความไม่ตายๆ)" ดังนี้อมตะเป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า? และหนทางให้ถึงซึ่งอมตะ (อมตคามิมคฺค)คืออะไรพระเจ้าข้า ?”
ภิกษุ ท. ! ความสิ้นแห่งราคะ ความสิ้นแห่งโทสะ ความสิ้นแห่งโมหะ : นี้เรียกว่า อมตะ. อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นแหละ คือหนทางให้ถึงซึ่งอมตะ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
839-1
อัฏฐังคิกมรรค มีกระแสไหลไปสู่นิพพาน
ภิกษุ ท. ! มหานทีไรๆเหล่านี้ คือแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหี แม่น้ำทั้งหมดนั้น ลาดไปทางปราจีนทิศ (ทิศตะวันออก) เอียงไปทางปราจีนทิศ เงื้อมไปทางปราจีนทิศ ฉันใด
ภิกษุ ท. !ภิกษุ เจริญกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ ย่อมเป็ นผู้มีความลาด ไปทาง นิพพาน เอียงไปทางนิพพาน เงื้อมไปทางนิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจริญกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ อย่างไรเล่า จึงเป็นผู้มีความลาด ไปทาง นิพพาน เอียงไปทางนิพพาน เงื้อมไปทางนิพพาน?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ ....สัมมาสังกัปปะ.... สัมมาวาจา .... สัมมากัมมันตะ .... สัมมาอาชีวะ .... สัมมาวายามะ ....สัมมาสติ ....สัมมาสมาธิ ชนิดที่ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความสละลง
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจริญกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดอยู่ อย่างนี้แล จึงเป็นผู้มีความลาดไปทาง นิพพาน เอียงไปทางนิพพาน เงื้อมไปทางนิพพาน.
(คำว่า เจริญกระทำให้มากซึ่งองค์มรรค ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ เป็นต้นดังที่กล่าวข้างบนนั้น ในบางสูตรตรัสว่า เจริญกระทำให้มากซึ่งองค์มรรคชนิดที่ มีการนำออกซึ่ง ราคะ - โทสะ โมหะ เป็นปริโยสาน ดังนี้ก็มี -๑๙/๕๒/๒๐๕
ในบางสูตรตรัสว่า ชนิดที่ มีการหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็ นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตะเป็ นปริโยสาน ดังนี้ก็มี -๑๙/๕๕/๒๒๐
และในบางสูตรตรัสว่า ชนิดที่ ลาดไปสู่นิพพาน เอียงไปสู่นิพพาน เงื้อมไปสู่นิพพาน ดังนี้ก็มี -๑๙/๕๘/๒๓๖คำ
ที่ว่า ลาด เอียง เงื้อม ไปทางทิศปราจีนนั้น ในบางสูตรทรงใช้คำว่า ลาด เอียง เงื้อม ไปสู่สมุทร ก็มี - ๑๙/๕๐๕๔๕๗๖๐/๑๙๗๒๑๒๒๒๗๒๔๓).
840
อัฏฐังคิกมรรคในฐานะหนทางให้ถึงจุดหมาย
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่น จะพึงถามเธอทั้ง หลายอย่างนี้ว่า “อาวุโสท.! ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อประโยชน์อะไรกัน?” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พวกเธอพึงพยากรณ์แก่เขาว่า “อาวุโส ท.! เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อประโยชน์แก่การ สำรอกซึ่งราคะ (ราควิราคตฺถํ)”. [และยังมีในสูตรอื่นที่ตรัสว่า : -
เพื่อประโยชน์แก่การ ละสังโยชน์ (สญชนปหานตฺถํ) ดังนี้ก็มีเพื่อประโยชน์แก่การ ถอนอนุสัย (อนุสยสมุคฺฆาตนตฺถํ) ดังนี้ก็มี;เพื่อประโยชน์แก่การ กำหนดรู้ความที่สัตว์ ต้องเดินทางไกลด้วย อวิชชา(อทฺธานปริญญตถํ) ดังนี้ก็มี
เพื่อประโยชน์แก่ความ สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวานํ ขยตฺถํ) ดังนี้ก็มี เพื่อประโยชน์แก่การ ทำให้แจ้งซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ (วิชฺชาวิมุตฺ ติผลสจฺฉิกิริยตฺถํ) ดังนี้ก็มี
เพื่อประโยชน์แก่การ รู้การเห็น (ญาณทสฺสนตฺถํ) ดังนี้ก็มี เพื่อประโยชน์แก่การ ดับเย็นในทิฏธรรม เพราะไม่ยึดมั่น (อนุปาทา ปรินิพฺพานตถํ) ดังนี้ก็มี].
ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์อื่น จะพึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า “อาวุโสท. ! มรรคมีหรือปฏิปทามีหรือเพื่อการสำรอกซึ่งราคะ?”
ภิกษุ ท. ! เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พวกเธอพึงพยากรณ์ แก่เขาว่า มรรคมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่เพื่อการ สำรอกซึ่งราคะ.
ภิกษุ ท. ! มรรคนั้นเป็นอย่างไร ปฏิปทานั้นเป็นอย่างไร เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ? อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้ นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ :
ภิกษุ ท. ! นี้แลมรรค นี้แลปฏิปทา เพื่อการสำรอกซึ่งราคะ.(ข้อความสองย่อหน้าข้างบนนี้ มีต่อท้ายหลักธรรมที่เป็นจุดหมายของ พรหมจรรย์ตามรายนามที่กล่าวไว้ข้างบนทุกๆข้อ เช่นข้อว่า "เพื่อประโยชน์แก่การละสังโยชน์" เป็นต้นผู้ศึกษาพึงกำหนดเอาเอง).
842
อัฏฐังคิกมรรคทำหน้าที่ เสมือนหนึ่งเสวียนรองก้นหม้อ
ภิกษุ ท. ! หม้อ ที่ไม่มีเสวียนรองรับ ย่อมหมุนกลิ้งไปได้ง่าย หม้อที่มีเสวียนรองรับ ย่อมหมุนกลิ้ง ไปได้ยาก ข้อนี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! จิตที่ไม่มีเชิงรองรับ ย่อมหมุนไปได้ง่าย จิตที่มีเชิงรองรับ ย่อมหมุน ไปได้ยาก ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นเชิงรองรับของจิต? อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้เอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้คือ เชิงรองรับของจิต.
842-1
อัฏฐังคิกมรรค เป็นยอดแห่งสังขตธรรมทั้งปวง
ภิกษุ ท. ! สังขตธรรมทั้งหลาย มีประมาณเท่าใด อริยอัฏฐังคิกมรรคเรากล่าวว่า เป็นธรรม เลิศกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น.
ภิกษุ ท. ! ชนเหล่าใด เลื่อมใสแล้ว ในอริยอัฏฐังคิกมรรค ชนเหล่านั้น ชื่อว่า เลื่อมใสแล้วในธรรม อันเลิศ. วิบากที่เลิศ ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ แล.
842-2
อัฏฐังคิกมรรค คือหนทางเก่าที่ทรงพบใหม่
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษเที่ยวไปในป่าทึบ เกิดรอยทางซึ่ง เคยเป็นหนทางเก่า ที่มนุษย์ แต่กาลก่อน เคยใช้เดินแล้ว. บุรุษนั้นจึงเดินตาม ทางนั้นไป เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนคร ซึ่งเป็นราชธานีโบราณอันมนุษย์ทั้งหลายแต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว เป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยสวนสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ สมบูรณ์ด้วยสระโบกขรณี มีซากกำแพงล้อม มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์.
ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น บุรุษนั้นเข้าไปกราบทูลแจ้งข่าวนี้แก่พระราชา หรือแก่มหาอำมาตย์ของ พระราชาว่า
"ขอท้าวพระกรุณาจงทรงทราบเถิด : ข้าพระเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ ได้เห็นรอยทาง ซึ่งเคยเป็น หนทางเก่า ที่มนุษย์แต่กาลก่อนเคยใช้เดินแล้ว. ข้าพเจ้าได้เดินตามทางนั้นไป เมื่อเดินไปตาม ทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครซึ่งเป็นราชธานีโบราณ อันมนุษย์ ท. แต่กาลก่อนเคยอยู่อาศัยแล้ว เป็นที่อันสมบูรณ์ด้วยสวน สมบูรณ์ด้วยป่าไม้ สมบูรณ์ด้วยสระโบกขรณี มีซากกำแพงล้อม มีภูมิภาคน่ารื่นรมย์. ขอพระองค์จงปรับปรุงสถานที่นั้นให้เป็นนครเถิด พระเจ้าข้า !" ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ลำดับนั้น พระราชาหรืออำมาตย์ของพระราชานั้น จึงปรับปรุงสถานที่นั้นขึ้นเป็นนคร. สมัยต่อมา นครนั้นได้กลายเป็นนครที่มั่งคั่งและรุ่งเรือง มีประชาชนมาก เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์ ถึงแล้วซึ่งความเจริญไพบูรย์ นี้ฉันใด ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : เราได้เห็นแล้วซึ่งรอยทางเก่า ที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรง ดำเนินแล้ว.
ภิกษุ ท. ! ก็รอยทางเก่า ที่เคยเป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เคยทรงดำเนินแล้ว นั้นเป็นอย่างไรเล่า? นั่นคือ อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเทียว ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! นี้แล รอยทางเก่าที่เป็นหนทางเก่า อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เคยทรงดำเนินแล้ว. เรานั้น เมื่อดำเนินไปตามแล้วซึ่งหนทางนั้นอยู่เราได้รู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งชรามรณะ ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุ ถึง ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ
(ข้อความต่อไปนี้ ได้ตรัสถึง ชาติ - ภพ - อุปาทาน - ตัณหา - เวทนา - ผัสสะ - สฬายตนะ -นามรูป - วิญญาณ - สุดลงเพียง - สังขาร (แต่ละอย่าง) โดยอาการทั้งสี่ ดังที่ได้ตรัสในกรณีแห่งชรามรณะ เหมือนกันทุกตัวอักษร เว้นแต่ชื่อของตัวปฏิจจสมุปปันธรรมนั้นๆเท่านั้น).
ภิกษุ ท. ! เรานั้น ครั้นรู้ยิ่งเฉพาะแล้วซึ่งหนทางนั้น ได้บอก แล้วแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย.
ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์นี้ ที่เรากล่าวบอกแล้วนั้น ได้เป็น พรหมจรรย์ตั้งมั่น และรุ่งเรืองแล้ว เป็นพรหมจรรย์แผ่ไพศาล เป็นที่รู้แห่งชนมากเป็นปึกแผ่นแน่นหนา จนกระทั่งเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย สามารถประกาศได้ด้วยดีแล้ว ดังนี้.
844
อัฏฐังคิกมรรค
ในฐานะเป็นหนทางแห่งการกำหนดรู้ทุกข์
ภิกษุ ท. ! ถ้าปริพพาชกเดียรถีย์อื่นถามเธออย่างนี้ ว่า “มรรคมีไหมปฎิปทามีไหมเพื่อกำหนดรู้ ซึ่งทุกข์?” เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเธอพึงตอบแก่ปริพพาชกเดียรถีย์อื่นเหล่านั้น ว่ามรรคมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ เพื่อกำหนดรู้ซึ่ง ทุกข์นั้น.
ภิกษุ ท. ! มรรคเป็นอย่างไร ปฏิปทาเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดรู้ ซึ่งทุกข์นั้น? มรรคมีองค์แปด อันประเสริฐนี้ กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิมีอยู่ ภิกษุ ท. ! นี้แลมรรค นี้แลปฏิปทา เพื่อกำหนดรู้ ซึ่งทุกข์ นั้น.
ภิกษุ ท. ! เมื่อเธอถูกถามอย่างนั้นแล้ว พึงพยากรณ์แก่ปริพพาชกเดียรถีย์อื่นเหล่านั้น อย่างนี้.
845
มัชฌิมาปฏิปทา
ในฐานะเหตุให้เกิดจักษุและญาณเพื่อนิพพาน
ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) อันเป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้ เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ ความตรัสรู้พร้อมเพื่อนิพพาน นั้นเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลางนั้น คือ ข้อปฏิบัติเป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบอยู่ด้วยองค์ แปดประการนี่เอง ได้แก่
845-1
สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ : ภิกษุ ท. ! นี้แล คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ทรงตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติ ทำให้เกิดจักษุ ทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.
846
มัชฌิมาปฏิปทา ๓ ลำดับ
ก. มัชฌิมาปฏิปทา (พื้นฐานทั่วไป)
ภิกษุ ท. ! มีสิ่งที่แล่นดิ่งสุดโต่งอยู่สองอย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะด้วย สิ่งที่แล่นดิ่งไปสุดโต่ง นั้น คืออะไร? คือ การประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ในกามทั้งหลาย (กามสุขัลลิกานุโยค) อันเป็นการ กระทำที่ยังต่ำ เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และ การประกอบความเพียรในการทรมาณตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง) ที่ไม่ดิ่งไป หาสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็ นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิด ญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่งเพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.
ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. !มัชฌิมาปฏิปทานั้น คือข้อปฏิบัติอันเป น หนทางอันประเสริฐ ประกอบอยู่ด้วยองค์แปดประการ นี้แล กล่าวคือ
ความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)
ความดำริถูกต้อง (สัมมาสังกัปโป)
การพูดจาที่ถูกต้อง (สัมมาวาจา)
การทำงานที่ถูกต้อง (สัมมากัมมันโต)
การอาชีพที่ถูกต้อง (สัมมาอาชีโว)
ความพากเพียรที่ถูกต้อง(สัมมาวายาโม)
ความรำลึกที่ถูกต้อง (สัมมาสติ)
ความตั้งใจมั่นคงที่ถูกต้อง(สัมมาสมาธิ).
ภิกษุ ท. ! นี้แล มัชฌิมาปฏิปทานั้น.
847
ข. มัชฌิมาปฏิปทา(ในความหมายชั้นกว้าง)
. . . .ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ.... มีปกติ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ.... มีปกติ ตามเห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ มีปกติ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ....เพื่อละ อกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ....เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ....เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือนความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญอิทธิบาท อันประกอบ พร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอันอาศัยฉันทะเป็นปธานกิจ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยวิริยะเป็นปธานกิจ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยจิตตะเป็นปธานกิจ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบพร้อมด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง มีสมาธิอาศัยวิมังสาเป็นปธานกิจ (กิจในที่นี้คือ กิจเกี่ยวกับการระวัง การละการทำให้เกิดมี และการรักษา).
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ ย่อมเจริญวิริยินทรีย์ย่อมเจริญสตินทรีย์ ย่อมเจริญ สมาธินทรีย์ ย่อมเจริญปัญญินทรีย์.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัทธาพละ ย่อมเจริญวิริยพละย่อมเจริญสติพละ ย่อมเจริญ สมาธิพละ ย่อมเจริญ ปัญญาพละ.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญปิติสัมโพชฌงค์ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ ย่อมเจริญสัมมา-สังกัปปะ ย่อมเจริญสัมมาวาจา ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ ย่อมเจริญสัมมาวายามะ ย่อมเจริญสัมมาสติ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.
(มัชฌิมาปฏิปทาตามที่ทรงแสดงไว้ในสูตรนี้ เห็นได้ว่า ทรงแสดงส่วนสุดสองข้างไว้ด้วย อาฬหปฏิปทา คือความตกไปในกาม และนิชฌามปฏิปทา คือ วัตรปฏิบัติของอเจลกะซึ่งเรียกกัน โดยทั่วๆไปว่า อัตตกิลมถานุโยค หรือตปัสสีวัตร ซึ่งมีรายละเอียด หาดูได้ในหนังสือ พุ. โอ. ที่หน้า ๕๖ - ๕๗. ในที่นี้ จะเห็นได้ว่า โพธิปักขิยธรรม ทั้งสามสิบเจ็ดข้อนั่นแหละคือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือถึงกับจะกล่าว ได้ว่า ข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมกันแล้วเรียกได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ พรหมจรรย์ทั้งสิ้น นั่นแหละคือ มัชฌิมาปฏิปทา).
849
ค. มัชฌิมาปฏิปทา (ในความหมายชั้นลึก)
(หลักเกณฑ์นี้ อาศัยพระบาลีที่ตรัสโต้ตอบแก่บุคคลผู้มาทูลถาม ซึ่งส่วนมากเป็นพราหมณ์ ได้ถามเรื่อง สิ่งตรงข้ามที่แยกกันเป็นคู่ๆ เช่นว่า สิ่งทั้งปวงมี หรือไม่มี สิ่งทั้งปวงเหมือนกัน หรือ ต่างกัน ตนเอง หรือผู้อื่นเป็นผู้กระทำหรือเสวยผล การกล่าวลงไปว่า สิ่งนั้นๆเป็นอย่างนั้น โดย ส่วนเดียว หรือว่าเป็น อย่างอื่นจากความเป็นอย่างนั้นโดยส่วนเดียว ดังนี้เป็นต้น.
พระองค์ ตรัสตอบ โดยสายกลาง (มชฺเฌน) ไม่ยอมรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยพระบาลีว่า "เอเต เต พฺราหฺมณ อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺเฌน ตถาคโต ธมฺมํ เทเสติ ฯลฯ" ).
พราหมณ์ ! ตถาคต ย่อม แสดงธรรมโดยสายกลาง (มชฺเฌน) ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้น คือตถาคตย่อมแสดงดังนี้ว่า :-“เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
เพราะมี สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวทุกขะโทมนัสสะอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียวจึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นเอง ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสสะอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น. :
ความดับลงแหง่ กองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้.
(คำว่า มชฺเฌน โดยพระบาลีข้างบนนี้ ก็คือคำว่า ชฌิมาปฏิปทา นั้นเองมัชฌิมาปฏิปทา จึงได้แก่ กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ดังที่กล่าวแล้วในสูตรนี้ ซึ่งทำให้ไม่อาจกล่าวสิ่งใดๆโดยความเป็น อย่างใดอย่าง หนึ่ง โดยส่วนเดียว ที่เรียกว่าส่วนสุดข้างหนึ่งๆ.รายละเอียดเกี่ยวกับสุดโต่งเป็นคู่ๆนี้ หาดูได้จากหนังสือ พุ. โอ.ตั้งแต่หน้า ๒๔๗ ถึงหน้า๒๕๒.อยากจะแนะว่า ในการศึกษาเรื่อง มัชฌิมาปฏิปทานั้น ควรจะ ศึกษา มัชฌิมาปฏิปทาชั้นพื้นฐานทั่วไปคืออัฏฐังคิกมรรค เป็นลำดับแรก. แล้วศึกษามัชฌิมาปฏิปทาใน ความหมายชั้นลึกคือปฏิจจสมุปบาท เป็นลำดับสุดท้าย มิฉะนั้น จะลำบาก).
851
ลักษณะหนทางแห่งความหมดจด
ทางมีองค์แปด เป็นทางอันประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย.
บทแห่งอริยสัจสี่ ประเสริฐกว่าบททั้งหลาย.
วิราคธรรม ประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย.
ผู้มีพุทธจักษุ ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้าทั้งหลาย.
นี่แหละทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ ทางอื่นมิได้มี.
เธอทั้งหลาย จงเดินตามทางนั้น อันเป็นที่หลงแห่งมาร เธอทั้งหลายเดินตามทางนั้นแล้ว จักกระทำ ที่สุดแห่งทุกข์ได้. ทางเราบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย เพื่อการรู้จักการถอนซึ่งลูกศร ความเพียร เป็นกิจอัน เธอทั้งหลายพึงกระทำ ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอก (วิธีแห่งการกระทำ).
ผู้มุ่งปฏิบัติแล้วย่อมพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลาย ทั้งปวงไม่เที่ยง” เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ : นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.
เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์” เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่าย ในสิ่ง ที่เป็นทุกข์ : นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “ธรรมทั้ง หลาย ทั้งปวง เป็นอนัตตา”เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ : นั่นแหละเป็นทางแห่ง ความหมดจด.
852
ลำดับการปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
ภิกษุ ท. ! เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตต ผล ด้วยการกระทำอันดับแรก เพียง อันดับ เดียว. ภิกษุ ท.! ก็แต่ว่า การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดย ลำดับ เพราะ การกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ.
ภิกษุ ท. ! ก็การประสพความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการ กระทำ โดยลำดับ เพราะการระทำโดยลำดับเพราะการปฏิบัติโดยลำดับ นั้นเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! บุรุษบุคคลในกรณีนี้ :เป็นผู้ มีสัทธา เกิดขึ้นแล้ว ย่อม เข้าไปหา(สัปบุรุษ) เมื่อเข้าไปหา ย่อม เข้าไปนั่งใกล้ เมื่อเข้าๆไปนั่งใกล้ ย่อม เงี่ยโสตลงสดับ ผู้เงี่ยโสตลงสดับย่อมได้ฟังธรรม ครั้นฟังแล้ว ย่อม ทรงจำธรรมไว้ ย่อมใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรม ทั้งหลายที่ ตนทรงจำไว้ เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่ ธรรมทั้งหลาย ย่อมทน ต่อการ เพ่งพิสูจน์
เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ(ความพอใจ) ย่อมเกิดผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อม มีอุตสาหะครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อม ใช้ดุลยพินิจ (เพื่อหาความจริง)ครั้นใชดุ้ลยพินิจ(พบ)แล้ว ย่อม ตั้งตนไว้ ในธรรม นั้นผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อม กระทำให้แจ้ง ซึ่งบรมสัจจ์ด้วยนามกาย ด้วย ย่อม เห็นแจ้งแทงตลอด ซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา ด้วย.
หมวด ง. ว่าด้วยเหตุปัจจัยของมรรค
854
ธรรมเป็ นรุ่งอรุณแห่งอัฏฐังคิกมรรค
ภิกษุ ท. ! เมื่อดวงอาทิตย์กำลังขึ้น สิ่งที่มาก่อน เป็น นิมิตให้เห็นก่อน คือการขึ้นมาแห่งอรุณ ฉันใด ภิกษุ ท. ! เมื่อมีการเกิดขึ้นแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรคของภิกษุ สิ่งที่มาก่อน เป็นนิมิตให้เห็นก่อน คือ กัลยาณมิตตตา(ความเป็นผู้กัลยาณมิตร) ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุ ท. ! นี้คือความหวังของภิกษุผู้มีกัลยามิตร คือเธอจักเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรคได้ จักกระทำให้ มาก ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคได้.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรค ย่อมกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรคได้ ชนิดไหนกันเล่า?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ .... สัมมาสังกัปปะ .... สัมมาวาจา ....สัมมากัมมันตะ .... สัมมาอาชีวะ .... สัมมาวายามะ .... สัมมาสติ ....สัมมาสมาธิ. ชนิดที่ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสลัดลง.
ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรคย่อมกระทำให้มากซึ่ง อริยอัฏฐังคิกมรรค ได้ อย่างนี้แล.
[ในตำแหน่งแห่ง กัลยาณมิตตตา ในฐานะเป็นรุ่งอรุณแห่งอัฏฐังคิกมรรค นั้นในสูตรอื่นทรงแสดงไว้ ด้วยธรรมะชื่ออื่นอีกหลายชื่อคือ:-
ศีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) เป็นรุ่งอรุณ
ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ - ความพอใจ) เป็นรุ่งอรุณ
อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความเหมาะสมแห่งตน) เป็นรุ่งอรุณ
ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่เป็นสัมมาทิฏฐิ) เป็นรุ่งอรุณ
อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท) เป็นรุ่งอรุณโยนิโสมนสิการสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย) เป็นรุ่งอรุณ (รวมเป็นเจ็ดอย่างทั้งกัลยาณมิตตา)
และต่อท้ายด้วยคำว่าผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้นย่อมเจริญกระทำให้มากซึ่งองค์แห่งมรรคชนิดอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะเป็นต้น ด้วยกันทั้งนั้น.ในสูตรอื่น ผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้น นอกจากจะเจริญกระทำให้มาก ซึ่ง องค์แห่งมรรคชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความสลัดลง ได้แล้ว ยังสามารถ เจริญองค์มรรค ชนิดที่มีการนำออกซึ่งราคะ - โทสะ-โมหะเป็นปริโยสานได้ ดังนี้ก็มี.
สำหรับ คำว่าธรรม ที่เป็นรุ่งอรุณแห่งการเกิดขึ้นของอัฏฐังคิกมรรค เจ็ด ประการข้างบนนั้น ในสูตรอื่นๆ ไม่เรียกว่า รุ่งอรุณ แต่เรียกว่า เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก (พหุปการธมฺม) เพื่อการเกิดขึ้นแห่ง อัฏฐังคิกมรรค (๑๙/๔๐-๔๒/๑๔๗ - ๑๖๔) ก็มี และในสูตรอื่นๆ เรียกว่าเป็นธรรมะที่ทำอัฏฐังคิกมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทำอัฏฐังคิกมรรคที่เกิดอยู่แล้ว ให้ถึง ความเจริญบริบูรณ์ (๑๙/๔๔-๔๗/๑๖๕-๑๘๒) ก็มี และตอนท้ายสูตร ก็มีต่อท้ายด้วยคำว่า ผู้มีกัลยาณมิตรเป็นต้น ย่อมเจริญกระทำให้มากซึ่งองค์แห่งมรรค ชนิดอาศัยวิเวกเป็นต้น และชนิดที่มี การนำออกซึ่ง ราคะ - โทสะ - โมหะ เป็นปริโยสาน ด้วยกันทั้งนั้น].
855
อัฏฐังคิกมรรคสำเร็จได้ด้วยอัปปมาทยอดแห่งกุศลธรรม
ภิกษุ ท. ! สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี้เท้า มีมากเท้าก็ดี มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็หามิได้ไม่มีสัญญาก็หามิได้ก็ดี มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ย่อม ปรากฏว่าเลิศกว่าบรรดาสัตว์เหล่านั้น. ภิกษุ ท. ! กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรดามี กุศลธรรมทั้ง หลายทั้งปวงนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูล มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง. ความไม่ประมาท ย่อม ปรากฏว่าเป็ นเลิศกว่าบรรดากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้เป็นสิ่งที่ภิกษุ ผู้ไม่ประมาทพึงหวังได้ คือ เธอจักเจริญกระทำให้มาก ซึ่งอริย อัฏฐังคิกมรรค
[ การที่ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งปวง ในสูตรนี้ทรงอุปมาด้วยพระตถาคตเป็นสัตว์เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง. ส่วนในสูตรอื่นอีกมากแห่ง :-
ทรงอุปมาด้วย รอยเท้าช้าง เลิศคือใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย ยอดเรือน เลิศคืออยู่เหนือไม้โครงเรือนทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย รากไม้โกฏฐานุสาริยะ (กลัมพัก?) เลิศกว่ารากไม้ หอมทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย แก่นจันทร์แดง เลิศกว่าไม้แก่นหอมทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย ดอกวัสสิกะ (มะลิ?) เลิศกว่าดอกไม้หอมทั้งหลายดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย ราชาจักรพรรดิ เลิศกว่าพระราชาเมืองขึ้นเมืองออก ทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย แสงจันทร์ เลิศคือรุ่งเรืองกว่าแสงดาวทั้งหลาย ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย แสงอาทิตย์ ภายหลังฝนตกไม่มีเมฆในฤดูสารท แจ่มใสกว่าความแจ่มใสทั้งปวงในอากาศ ดังนี้ก็มี
ทรงอุปมาด้วย ผ้ากาสี เลิศกว่าบรรดาผ้าทอด้วยเส้นด้ายทั้งหลาย ดังนี้ก็มี].
หมวด จ. ว่าด้วยอานิสงส์ของมรรค
857
อัฏฐังคิกมรรค เป็นปฏิปทาเพื่อความเป็นอริยบุคคลสี่
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ภิกษุทั้งหลายย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุเพื่อ จะทำ ให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนา (อันเป็นอิทธิวิธีประการต่างๆ) เหล่านั้นเสียละกระมัง ?”
มหาลิ ! ภิกษุทั้งหลาย ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุเพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งสมาธิ ภาวนา เหล่า นั้น ก็หามิได้ แต่ธรรมะเหล่าอื่นที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า กว่าสมาธิภาวนาเหล่านั้นก็มีอยู่ และ ภิกษุทั้ง หลายพากันประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุเพื่อจะทำให้แจ้ง ซึ่งธรรมทั้งหลายอันยิ่ง กว่า ประณีต กว่าเหล่านั้น.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมทั้งหลายอันยิ่งกว่าประณีตกว่าเหล่านั้นเป็นอย่างไรเล่า?”
มหาลิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็น โสดาบัน เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำ เป็น ธรรมดาเป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า. มหาลิ ! นี้แล ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีต กว่า.
มหาลิ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ราคะ โทสะโมหะ ก็เบาบาง เป็น สกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. มหาลิ ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.
มหาลิ !ข้ออื่นยังมีอีก:ภิกษุ เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งห้าเป็น โอปปาติกะ (อนาคามี) มีการปรินิพพานในภพนั้น ไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา. มหาลิ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า.
มหาลิ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุกระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงแล้วแลอยู่ มหาลิ ! แม้นี้แล ก็เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่า.
มหาลิ ! ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล เป็นธรรมยิ่งกว่าประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายพากันประพฤติ พรหมจรรย์ในเรา เพื่อกระทำให้แจ้ง.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มรรคมีอยู่หรือปฏิปทามีอยู่หรือเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น?”
มหาลิ ! มรรคมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่า นั้น. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มรรคเป็นอย่างไรปฏิปทาเป็นอย่างไรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น?”
อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นแหละ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมา อาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
มหาลิ ! นี้แล มรรค นี้แล ปฏิปทา เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น.
859
อัฏฐังคิกมรรค ในฐานะธรรมเครื่องข้ามฝั่ง
ภิกษุ ท. ! ธรรม ๘ ประการเหล่านี้ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการไปจาก ที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏสงสาร) สู่ที่อันเป็นฝั่ง (นิพพาน). แปดประการ อย่างไรเล่า? แปดประการคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท.! ธรรม ๘ ประการเหล่านี้แล อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อการไปจาก ที่มิใช่ ฝั่ง(วัฏฏสงสาร)สู่ที่อันเป็นฝั่ง (นิพพาน).
859-1
(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานมีน้อยนักหมู่มนุษย์นอกนั้น ย่อมวิ่งเลาะอยู่ตามฝั่ง ในนี่ เอง. ก็ชนเหล่าใดประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วชนเหล่านั้นจักถึง ฝั่งแห่ง พระนิพพานข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก.
จงเป็นบัณฑิตละธรรมดำเสีย แล้วเจริญธรรมขาว จงมาถึงที่ไม่มีนํ้าจากที่มีนํ้า จงละกามเสีย เป็นผู้ ไม่มี ความกังวล จงยินดีเฉพาะต่อพระนิพพานอันเป็นที่สงัด ซึ่งสัตว์ยินดีได้โดยยาก.
บัณทิตพึงชำระตนให้หมดจด จากกิเลสแห่งจิต เหมือนจิตของพวกที่อบรมดีแล้วโดยชอบ ในองค์ แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้พร้อมทั้งหลาย.ชนเหล่าใด ไม่ยึดมั่นแล้ว ยินดีในความสลัดคืนซึ่งความยึดมั่น ไม่มี อาสวะ มีความรุ่งเรืองด้วยปัญญา. ชนเหล่านั้นเป็นผู้ดับเย็น (ปรินิพฺพุตา) ในโลก.
859-2
อัฏฐังคิกมรรค ในฐานะพรหมจรรย์
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงซึ่ง พรหมจรรย์ และ ผลแห่งพรหมจรรย์.
เธอทั้งหลายจงฟัง.ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ เป็นอย่างไรเล่า?
คือ อริยอัฏฐังคิกมรรค นี้ นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่าพรหมจรรย์.
ภิกษุ ท. ! ผลแห่งพรหมจรรย์ เป็นอย่างไรเล่า? คือ โสตาปัตติผลสกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ผลแห่งพรหมจรรย์.
860
อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นกรรมที่สิ้นกรรม
ภิกษุ ท. ! กรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอัน ยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่วกัน.
กรรม ๔ อย่าง อย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ก็มีอยู่.
ภิกษุ ท. ! กรรมดำ มีวิบากดำ เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อม ปรุงแต่ง วจีสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันเป็นไปกับ ด้วย ความเบียดเบียน ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม)ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับ ด้วยความ เบียดเบียน ผัสสะทั้งหลาย อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขาซึ่งเป็น ผู้เข้า ถึงโลกอัน เป็นไปด้วยความเบียดเบียน เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความ เบียดเบียนถูกต้อง แล้ว ย่อม เสวย เวทนา ที่เป็นไปด้วยความเบียดเบียน อัน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกสัตว์ นรก.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมดำ มีวิบากดำ.
ภิกษุ ท. ! กรรมขาว มีวิบากขาว เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขารอันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง วจีสังขาร อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันไม่ เป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร(ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันไม่ เป็นไป กับ ด้วยความเบียดเบียนผัสสะทั้งหลาย ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลก อันไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน เขาอันผัสสะที่ไม่เป็นไปกับด้วย ความเบียด เบียนถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนา ที่ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน อันเป็นสุข โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกเทพสุภกิณหา. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว.
ภิกษุ ท. ! กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในกรณีนี้ ย่อมปรุงแต่ง กายสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน บ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมปรุงแต่งวจีสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมปรุงแต่ง มโนสังขาร อันเป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียน บ้าง
ครั้นเขาปรุงแต่งสังขาร (ทั้งสาม) ดังนี้แล้ว ย่อม เข้าถึงโลก อันเป็นไปกับ ด้วยความเบียด เบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะทั้งหลาย ที่เป็นไป กับด้วยความเบียดเบียน บ้างไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันเป็นไป กับด้วยความเบียด เบียนบ้าง ไม่เป็นไปกับด้วยความเบียดเบียนบ้าง
เขาอันผัสสะที่เป็นไปกับด้วยความ เบียดเบียน บ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้างถูกต้องแล้ว ย่อม เสวยเวทนา ที่เป็นไป กับด้วย ความเบียด เบียนบ้าง ไม่เป็นไปด้วยความเบียดเบียนบ้าง อัน เป็นเวทนาที่เป็นสุขและทุกข์เจือกันดังเช่นพวก มนุษย์ พวกเทพบางพวก พวกวินิบาตบางพวก. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำ ทั้งขาว.
ภิกษุ ท. ! กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม นั้นเป็นอย่างไรเล่า? คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ภิกษุ ท. !นี้เรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้ แล กรรม ๔ อย่าง ที่เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้รู้ทั่วกัน.
863
วิธีพิจารณาเพื่อเลือกศาสดาหรือแนวทางปฏิบัติ
(เมื่อยังหาหลักที่จะปลงศรัทธาความเชื่อลงไปไม่ได้)
กัสสป ! ข้ออื่น ที่เราจะต้องพูดกันอีก มีอยู่ คือวิญญูชนทั้งหลายจงลองหยิบขึ้นมาแยกแยะ จงลอง สอบสวน จงลองซักซ้อม เปรียบเทียบกันระหว่างศาสดากับศาสดา ระหว่างสาวกกับสาวก ว่า ในบรรดา ธรรมทั้งหลายที่ท่านผู้เจริญทั้งสองฝ่ายเหล่านี้ ยอมรับตรงกัน ว่า เป็นกุศล นับเนื่องในกุศล เป็นธรรม ไม่มีโทษ นับเนื่องในธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับเนื่องในธรรมควรเสพ เป็นธรรมควรแก่อริยะ นับเนื่องในธรรมควรแก่อริยะ เป็นธรรมฝ่ายขาว นับเนื่องในธรรมฝ่ายขาว ดังนี้ ธรรมเหล่านี้ทั้งหมดนั้น คนพวกไหนสมาทานประพฤติธรรมเหล่านั้นได้ครบถ้วนไม่มีเหลือ คือจะเป็นพวกสาวกของพระสมณ โคดม หรือจะเป็นพวกสาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นเล่า?
กัสสป ! ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ คือเมื่อวิญญูชนทั้งหลาย ลองหยิบขึ้นมาแยกแยะ ลองสอบสวน ลองซัก ซ้อมดู ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ว่าจะเป็นพวกไหนที่ประพฤติได้หมดจดไม่มีส่วนเหลือ ดังนี้แล้ว วิญญูชนเหล่านั้นก็พากันสรรเสริญพวกเราเป็นส่วนมาก ในข้อนั้น เพราะว่า หนทางมีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ซึ่งผู้ปฏิบัติแล้ว จักรู้ได้เองเห็นได้เอง ว่า “สมณโคดมเปน็ ผู้มีปรกติกล่าวตามกาล (กาลวาที) กล่าว ถูกต้องตามที่เป็นจริง (ภูตวาที) กล่าวโดยอรรถ (อตฺถวาที) กล่าวโดยธรรม (ธมฺมวาที) กล่าวโดยวินัย (วินยวาที)” ดังนี้.
กัสสป ! หนทางนั้นเป็นอย่างไร? ปฏิปทานั้นเป็นอย่างไรเล่า?หนทางนั้นคือ หนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดประการ ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมา กัมมันตะสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
กัสสป ! นี้แลเป็นหนทาง เป็นปฏิปทา ซึ่งผู้ปฏิบัติตามนั้นแล้ว จักรู้ได้เอง จักเห็นได้เองทีเดียด ว่าพระ สมณโคดมเป็นผู้มีปกติกล่าวตามกาลกล่าวถูกต้องตามที่เป็นจริง กล่าวโดยอรรถ กล่าวโดยธรรม กล่าว โดยวินัย ดังนี้.
หมวด ฉ. ว่าด้วยปกิณณกะ
864
อัฏฐังคิกมรรคกับนิพพาน
“พระโคดมผู้เจริญ ! ธรรมเท่าไรหนอที่บุคคลเจริญกระทำให้มากแล้วมีนิพพานเป็นที่ไปมีนิพพานเป็น เบื้องหน้ามีนิพพานเป็นที่สุดจบ ?”
นันทิยะ ! ธรรม ๘ ประการ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นธรรม มีนิพพาน เป็นที่ไป (นิพฺพานคม). มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า(นิพฺพานปรายน) มีนิพพานเป็นที่สุดจบ (นิพฺพาน ปริโยสาน). แปดประการอย่างไรเล่า? แปดประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
นันทิยะ!ธรรมแปดประการเหล่านี้แล อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว มีนิพพานเป็นที่ไป มีนิพพาน เป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุดจบ.
865
โพชฌงค์ในฐานะเป็นมรรค
ภิกษุ ท. ! มรรคใด ปฏิปทาใด เป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งตัณหาพวกเธอจงเจริญซึ่งมรรคนั้นปฏิปทานั้น. ภิกษุ ท. ! มรรคนั้น ปฏิปทานั้น เป็นอย่างไรเล่า? นั้นคือ โพชฌงค์เจ็ด กล่าวคือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ . (ประโยชน์แห่งมรรคและปฏิปทาในสูตรนี้ ทรงแสดงเป็น ความสิ้นแห่งตัณหา ในสูตรอื่นทรงแสดงเป็น ความดับแห่งตัณหา ก็มี).
เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอุทายิทูลถามว่า เจริญโพชฌงค์เจ็ดนั้น ด้วยวิธีอย่างไร?ตรัสว่า :-
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ เจริญสติสัมโพชฌงค์ ....ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ....วิริยะสัมโพชฌงค์ ....ปิติสัมโพชฌงค์ ....ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ....สมาธิสัมโพชฌงค์ ....อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ชนิดที่ อาศัยวิเวกอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์อันไพบูลย์ ถึงซึ่งคุณอันใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีความลำบาก. เมื่อเจริญสติสัมโพชฌงค์ (เป็นต้น) อย่างนี้อยู่ ตัณหาย่อมละไป. เพราะตัณหาละไป กรรมก็ละไป เพราะกรรมละไปทุกข์ก็ละไป.
อุทายิ ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ความสิ้นกรรมย่อมมีเพราะความสิ้นตัณหา ความสิ้นทุกข์ย่อมมี เพราะความ สิ้นกรรม แล.(นอกจากจะทรงแสดงโพชฌงค์เจ็ดในฐานะเป็นมรรคปฏิปทาเพื่อ ความสิ้น ตัณหาเพื่อความดับตัณหา ดังนี้แล้ว ยังทรงแสดงไว้โดยนัยอื่นอีก คือ :- ).
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงมรรคอันเป็นส่วนเจาะแทงกิเลส (นิพฺเพธภาคิย) เธอทั้งหลายจงฟังให้ดี. มรรคอันมีส่วนเจาะแทงกิเลส นั้นเป็นอย่างไรเล่า? คือสัมโพชฌงค์เจ็ด. เจ็ดคืออะไรเล่า? เจ็ดคือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
ตรัสดังนี้แล้ว ท่านอุทายิได้ทูลถามว่า “การเจริญทำให้มาก ซึ่งโพชฌงค์เจ็ด อันมีส่วนแห่งการเจาะ แทงกิเลส นั้นเจริญอย่างชนิดไหนกันเล่า พระเจ้าข้า ?” ตรัสว่า :-
อุทายิ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ ....ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ....วิริยะสัมโพชฌงค์ ....ปิติสัมโพชฌงค์ ....ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ .... สมาธิสัมโพชฌงค์ .... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ชนิดที่ อาศัยวิเวกอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ เป็นโพชฌงค์อันไพบูลย์ ถึงซึ่งคุณอันใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีความลำบาก.
ภิกษุนั้น ด้วยจิตมีสติสัมโพชฌงค์ .....ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ .... วิริยะสัมโพชฌงค์ ....ปิติสัมโพชฌงค์ .....ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ....สมาธิสัมโพชฌงค์ ....อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันเจริญแล้วย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโลภะ อันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย ย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโทสะ อันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย ย่อมเจาะแทง ย่อมทำลาย ซึ่งกองแห่งโมหะอันยังไม่เคยเจาะแทง อันยังไม่เคยทำลาย.
อุทายิ ! โพชฌงค์เจ็ด เจริญอย่างนี้แล ทำให้มากอย่างนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อการเจาะแทงกิเลส แล.
867
ปรารภโพชฌงค์แล้ว มรรคก็เป็นอันปรารภด้วย
ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ ๗ ประการ อันบุคคลใด ใครก็ตาม ปรารภผิดแล้ว อริยมรรค อันเป็นทางให้ถึง ความ สิ้นทุกข์โดยชอบ ของบุคคลเหล่านั้นก็เป็นอันปรารภผิดด้วย.
ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ ๗ ประการ อันบุคคลใด ใครก็ตาม ปรารภถูกต้องแล้ว อริยมรรคอันเป็นทาง ให้ถึง ความสิ้นทุกข์โดยชอบของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภถูกต้องแล้วด้วย.
โพชฌงค์เจ็ดประการ อย่างไรเล่า? เจ็ดประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะ สัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.
ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ ๗ ประการ เหล่านี้ อันบุคคลใด ใครก็ตามปรารภผิดแล้ว อริยมรรค อันเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภผิดแล้วด้วย.
ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ ๗ประการเหล่านี้ อันบุคคลใด ใครก็ตาม ปรารภถูกต้องแล้ว อริยมรรค อันเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภถูกต้องแล้วด้วย.
ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นธรรมเครื่องนำออกอัน ประเสริฐ ย่อมนำบุคคลผู้ประพฤติโพชฌงค์นั้นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ. ย่อมเป็นไปโดยส่วน เดียว เพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับความเข้าไประงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.
868
ปรารภสติปัฏฐานแล้ว มรรคก็เป็นอันปรารภด้วย
ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐาน ๔ อย่าง อันบุคคลใดใครก็ตาม ปรารภผิดแล้ว อริยอัฏฐังคิกมรรค อันเป็นทาง ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภถูกต้องแล้วด้วย.
ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐาน ๔ อย่าง อันบุคคลใดใครก็ตาม ปรารภถูกต้องแล้ว อริยอัฏฐัง คิกมรรคอันเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภ ถูกต้องแล้วด้วย.
สติปัฏฐาน ๔ อย่าง อย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณี นี้ย่อมเป็นผู้มีปกติ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ.... มีปกติ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ.... มีปกติ ตามเห็นจิต ในจิต อยู่เป็นประจำ.... มีปกติ ตามเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.
ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐาน ๔ อย่าง เหล่านี้ อันบุคคลใดใครก็ตามปรารภผิดแล้ว อริยอัฏฐังคิกมรรค อันเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอันปรารภผิดแล้วด้วย.
ภิกษุ ท. ! สติปัฏฐาน ๔อย่างเหล่านี้ อันบุคคลใดใครก็ตามปรารภถูกต้องแล้ว อริยอัฏฐังคิกมรรค อันเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบของบุคคลเหล่านั้น ก็เป็นอัน ปรารภถูกต้องแล้วด้วย.
นิทเทศ๑๓
ว่าด้วยข้อความนำเรื่องมรรค
จบ
871
อุทเทสและนิทเทสแห่งอัฏฐังคิกมรรคแต่ละองค์
ภิกษุ ท. ! เราจัก แสดง จัก จำแนก ซึ่ง อริยอัฏฐังคิกมรรค แก่เธอทั้งหลาย.เธอทั้งหลายจงฟังความข้อนั้น จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์เราจักกล่าว.
ภิกษุ ท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นอย่างไรเล่า? อริยอัฏฐังคิกมรรค ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดำริในการ ออกจากกามความดำริในการ ไม่มุ่งร้าย ความดำริในการไม่เบียดเบียน. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่าสัมมาสังกัปปะ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาวาจา เป็นอย่างไรเล่า? เจตนาเป็นเครื่องเว้น จากการพูดไม่จริง เจตนาเป็นเครื่อง เว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูด เพ้อเจ้อ ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวาจา.
ภิกษุ ท. ! สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไรเล่า? เจตนาเป็น เครื่องเว้นจากการฆ่าเจตนาเป็นเครื่องเว้น จากการถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้วเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์.๑ ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมากัมมันตะ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้า ในกรณีนี้ การเลี้ยงชีวิต ที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาอาชีวะ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาวายามะ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุใน กรณีนี้ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้ เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละ อกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้นย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงาม ยิ่งขึ้น ความ ไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. !อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาสติ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีกิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ ถอนความพอใจและ ความ ไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่อง เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลก ออกเสียได้ ย่อมเป็นผู้พิจารณา เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความ ไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจ และ ความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้ ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสติ.
ภิกษุ ท. ! สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณี นี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัด แล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปิติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลงเข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใส แห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปิติและสุข อันเกิดจาก สมาธิ แล้วแลอยู่
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปิติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวย ความสุข ด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่ง โสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติ บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่าสัมมาสมาธิ.
นิเทศ ๑๔ ว่าด้วย สัมมาทิฏฐิ
(มี ๗๗ เรื่อง)
หมวดก. ว่าด้วยอุทเทศ - วิภาคของสัมมาทิฏฐิ
873
อุทเทศแห่งสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ เป็ นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! ความรู้อันใด เป็ นความรู้ในทุกข์ เป็นความรู้ในเหตุ ให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์ เป็ นความรู้ในทางดำเนิน ให้ถึงความดับแห่งทุกข์.ภิกษุ ท. ! อันนี้เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิ.
873-1
สัมมาทิฏฐิโดยปริยายสองอย่าง
(โลกิยะ - โลกุตตระ)
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท. ! เรากล่าวแม้สัมมาทิฏฐิว่ามีอยู่โดยส่วนสอง คือ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ (สาสว) ๑ เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญญภาคิย) มีอุปธิเป็นวิบาก (อุปธิเวกฺก) ก็มีอยู่สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ (อริย) ไม่มีอาสวะ (อนาสว) เป็นโลกุตตระ (โลกุตฺตร) เป็นองค์แห่งมรรค (มคฺคงฺค) ก็มีอยู่.
…………………………………………………………………………………………..
๑ คำแปลของคำบัญญัติอันลึกซึ่ง เช่นคำว่า สาสว เป็นต้น เหล่านี้ ในที่นี้แปลไว้อย่างย่อๆตามที่เคย แปลกัน บางทีก็แปลอย่างขยายความให้แจ่มแจ้งชัดเจนก็มี ผู้สนใจหาดูได้จากคำแปลของคำเหล่านี้ อันมีอยู่ในหัวข้อว่า "การทำหน้าที่สัมพันธ์กันของบริขารเจ็ด" แห่งหมวดสัมมาสมาธิ แห่งหนังสือเล่มนี้ ที่หน้า ๑๒๘๗ บรรทัดที่แปด ไป.
………………………………………………………………………………………….
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญมีอุปธิเป็ นวิบาก นั้นเป็น อย่างไร เล่า? คือสัมมาทิฏฐิที่ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี(ผล). ยัญที่บูชาแล้ว มี(ผล) การบูชาที่บูชาแล้ว มี(ผล). ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี. โลกนี้ มี. โลกอื่น มี. มารดา มี. บิดา มี.โอปปาติกะสัตว์ มี. สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และ โลกอื่น ด้วยปัญญาโดย ชอบเอง และประกาศให้ผู้อื่นรู้ก็มีอยู่” ดังนี้.ภิกษุ ท. ! นี้คือ สัมมาทิฏฐิ ที่ยังเป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีอุปธิเป็นวิบาก.
ภิกษุ ท. ! สัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระเป็นองค์แห่งมรรค นั้นเป็นอย่าง ไรเล่า? คือสัมมาทิฏฐิที่ได้แก่ ปัญญา ปญั ญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ และ สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นองค์แห่งมรรคของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็น อริยมัคคสมังคี ผู้เจริญอยู่ ซึ่งอริยมรรค. ภิกษุ ท. ! นี้คือสัมมาทิฏฐิ อันเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตตระเป็นองค์แห่งมรรค.
(ผู้ศึกษาพึงสังเกตุให้เห็นว่าสัมมาทิฏฐิๆ คำเดียวกันนี้แยกออกไปได้อย่างตรงกันข้าม คือพวกหนึ่งมี อาสวะ เป็นไปเพื่ออาสวะมีส่วนแห่งบุญอันเป็นอุปธิมีลักษณะเป็นตัวตนหรือเนื่องด้วยตัวตน ส่วนสัมมาทิฏฐิ อีกชนิดหนึ่งนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ไม่มีลักษณะแห่งตัวตนไม่เกี่ยวข้องกับบุญ แถมยังนำไปสู่ โลกุตตระด้วยจึงแบ่งแยกเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิ และโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ ไม่พึงนำไป ปนกัน หรือใช้แทนกัน อย่างที่พูดกันอย่างสะเพร่า หรือหละหลวมจนเข้าใจธรรมะ ในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ขอให้ช่วยกันระวัง ให้มากที่สุด).
หมวด ข. ว่าด้วยลักษณะ – อุปมา - ไวพจน์ของสัมมาทิฏฐิ
875
ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุ ท. ! ภิกษุเห็น จักษุ อันไม่เที่ยงนั่นแล ว่าไม่เที่ยง ความเห็นเช่นนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ (การเห็นอยู่โดยถูกต้อง) ของภิกษุนั้น.
เมื่อเห็นอยู่โดยชอบ ย่อมเบื่อหน่าย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ
กล่าวได้ว่า "จิตหลุดพ้น แล้วด้วยดี" ดังนี้.
(ในกรณีแห่งอายตนะภายนอกในที่เหลืออีก ๕ คือ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโน และในกรณีแห่งอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งจักษุ ทุกประการ).
875-1
ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ(อีกปริยายหนึ่ง)
(ระดับสูงสุด)
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คำที่กล่าวกันว่า“สัมมาทิฏฐิสัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ สัมมาทิฏฐิย่อมมีด้วยเหตุเพียงไรพระเจ้าข้า ?” กัจจานะ!สัตว์โลกนี้ อาศัยแล้วซึ่งส่วนสุดทั้งสองโดยมาก คือส่วนสุดว่าสิ่งทั้งปวงมี (อตฺถิตา) และ ส่วนสุดว่าสิ่งทั้งปวงไม่มี (นตฺถิตา)
กัจจานะ ! เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง ซึ่งธรรมเป็นแดนเกิดขึ้นแห่งโลก (โลกสมุทย) อยู่ ทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีในโลก ย่อมไม่มี.
กัจจานะ ! เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งโลก (โลกนิโรธ) อยู่ ทิฏฐิที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีในโลก ย่อมไม่มี.
กัจจานะ ! สัตว์โลกนี้โดยมาก มีอุปายะ อุปาทานะ และอภินิเวสเป็นเครื่องผูกพัน๑ ส่วนสัมมาทิฏฐินี้ ย่อมไม่เข้าไปหา ย่อมไม่ยึดมั่น ย่อมไม่ตั้งทับ ซึ่งอุปายะและอุปาทานทั้งสองนั้น ในฐานะเป็น ที่ตั้ง ทับเป็นที่ตามนอน แห่งอภินิเวส ของจิต ว่า “อัตตาของเรา” ดังนี้. “ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิด ย่อมเกิด ทุกข์นั่นแหละ เมื่อดับย่อมดับ” ดังนี้ เป็น สัจจะที่ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่สงสัย ไม่ลังเล. ญาณดังนี้นั้น ย่อมมีแก่เขา ในกรณีนี้ โดยไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัยเพื่อความเชื่อ.
กัจจานะ ! สัมมาทิฏฐิ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.(สัมมาทิฏฐิ ชนิดนี้ เป็น สัมมาทิฏฐิระดับ โลกุตตระ คือเป็นไปเพื่อ โลกุตตระ ไม่เป็นไปเพื่ออาสวะ ไม่มีส่วนแห่งบุญ ไม่ค่อยผ่านสายตา ไม่ค่อยผ่านหู ผู้ศึกษาทั่วๆไป).
877
สัมมาทิฏฐิโลกุตตระ นานาแบบ
(ตามคำพระสารีบุตร)
๑. แม้จะเป็นสารีปุตตเถรภาษิต แต่ก็นำมาใส่ไว้ในที่นี้ด้วยเพื่อความสมบูรณ์แห่งการศึกษา เรื่อง สัมมาทิฏฐิ
๒. เป็นตัวอย่างการพูดของสาวกที่ใช้คำพูดของพระพุทธเจ้ามาพูดบอกสอน อธิบาย
๓. ตัวอย่างการเห็นธรรมะแบบต่างๆ โดยใช้หลักอริยสัจจสี่ จนเป็นเหตุให้ได้อริยบุคคลพ้นจากทุกข์)
877-1
ก. หมวดเนื่องด้วยกุศล - อกุศลธรรม
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวก มารู้ชัดซึ่งอกุศลและ อกุศลมูลด้วย มารู้ชัดซึ่งกุศล และกุศลมูลด้วย; แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนิน ไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศล นั้น เป็นอย่างไรเล่า? ท่านผู้มีอายุ ท.! การทำสัตว์มีชีวิต ให้ตกล่วง เป็นอกุศล การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ เป็นอกุศล การประพฤติผิดในกามเป็น อกุศล การกล่าวเท็จ เป็นอกุศล วาจาส่อเสียด เป็นอกุศล วาจาหยาบ เป็นอกุศล การกล่าว เพ้อเจ้อ เป็นอกุศล อภิชฌา เป็นอกุศล พยาบาท เป็นอกุศล มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศล”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า อกุศลมูล นั้น เป็ นอย่างไรเล่า? โลภะ เป็นอกุศลมูล; โทสะ เป็นอกุศลมูล โมหะ เป็นอกุศลมูล. ท่านผู้มีอายุ!เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นอกุศลมูล”.
“ท่านผู้มีอายุ ท.! สิ่งที่เรียกว่า กุศล นั้น เป็นอย่างไรเล่า? ท่านผู้มีอายุ ท.! เจตนาเว้นจาก ปาณาติบาต เป็นกุศล เจตนาเว้นจากอทินนาทาน เป็นกุศล เจตนาเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นกุศล เจตนาเว้นจากมุสาวาท เป็นกุศล เจตนาเว้นจากปิสุณาวาท เป็นกุศล เจตนาเว้นจาก ผรุสวาท เป็นกุศล เจตนาเว้นจากสัมผัปปลาปวาท เป็นกุศล อนภิชฌาเป็นกุศล อัพยาบาท เป็นกุศล สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล. ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่าเป็นกุศล”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า กุศลมูล นั้น เป็ นอย่างไรเล่า?อโลภะ เป็นกุศลมูล อโทสะ เป็นกุศลมูล อโมหะ เป็นกุศลมูล.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหล่านี้ท่านกล่าวว่า เป็นกุศลมูล”.“ท่านผู้มีอายุ ท.! ในกาลใดแล อริยสาวก มารู้ชัดซึ่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งอกุศลมูลอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งกุศลอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งกุศลมูลอย่างนี้ อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่าเรามีเราเป็นได้โดย ประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏธรรมนี้นั่นเทียว
ท่านผู้มีอายุ ท. ! แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”.
878
ข. หมวดเนื่องด้วยอาหารสี่
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่ง อาหารซึ่งเป็นแดนเกิดแห่งอาหาร ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาหาร ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาหาร.ท่านผู้มี อายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ ของเขาดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. !
อาหาร เป็นอย่างไรเล่า?
เหตุเป็นแดนเกิดแห่งอาหาร เป็นอย่างไรเล่า?
ความดับไม่เหลือแห่งอาหาร เป็นอย่างไรเล่า?
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาหาร เป็นอย่างไรเล่า?
ท่านผู้มีอายุ ท. ! อาหาร ๔ อย่าง เหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความ ดำรงอยู่ของภูตสัตว์ทั้งหลาย หรือว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่สัมภเวสีทั้งหลาย.
อาหารสี่อย่าง อย่างไรเล่า? สี่อย่าง คือ
กพฬีการาหาร ที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง (เป็นที่หนึ่ง).
ผัสสาหาร เป็นที่สอง
มโนสัญเจตนาหาร เป็นที่สาม
วิญญาณาหาร เป็นที่สี่.
ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอาหาร ย่อมมีเพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่ง ตัณหา. ความดับไม่เหลือแห่งอาหาร ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่ง ตัณหา.
มรรคอันประกอบด้วยองค์แปด อันประเสริฐนี้นั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่งอาหาร ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ”. ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งอาหาร อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาหารอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งอาหาร อย่างนี้.
อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่าเรามีเราเป็นได้โดย ประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐธรรมนี้ นั่นเทียว.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้เพียงเท่านี้แล อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
880
ค. หมวดเนื่องด้วยอริยสัจสี่
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”“มีอยู่
ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งทุกข์ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ซึ่งความ ดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์. แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์. แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์ แม้ความโศกความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้า เป็นทุกข์. ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้เรียกว่า ทุกข์”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า? ตัณหานี้ใด อันเป็นเครื่องทำให้ มีภพใหม่ อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน เป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่ง ในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้เรียกว่า เหตุเป็นแดน เกิดแห่งทุกข์”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า?ความจางคลายดับไม่เหลือแห่ง ตัณหานี้นั่นเอง เป็นความสละทิ้ง เป็นความสลัดคืน เป็นความปล่อย เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัย ซึ่งตัณหานั้น อันใด; ท่านผู้มีอายุ ท. ! อันนี้ เรียกว่า ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างไรเล่า? มรรคอันประกอบด้วยองค์แปด อันประเสิรฐ นี้นั่นเองได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้เรียกว่า ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งทุกข์ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์ อย่างนี้. อริย-สาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิ และ มานะ ว่าเรามีเราเป็น ได้โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐธรรมนี้ นั่นเทียว.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้เพียงเท่านี้แล อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็ นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของ เขาดำเนินไปตรงเขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
882
ง. หมวดเนื่องด้วยปฏิจจสมุปปันนธรรมตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท
ง. ๑ เกี่ยวกับชรามรณะ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งชรามรณะ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งชรามรณะ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่งชรามรณะ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า?
(ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชรามรณะ โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ.โอ. ที่หน้า ๕๓๓ ตั้งแต่คำว่า ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด......ถึงคำว่า.... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งชรามรณะ อย่าง นี้รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง ชรามรณะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความ ดับไม่เหลือแห่งชรามรณะอย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย.......
(ข้อความต่อไปนี้เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งคำว่า)..... ไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้”.
883
ง. ๒ เกี่ยวกับชาติ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีหรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็น ผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนิน ไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งชาติ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชาติ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. !ชาติเป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งชาติ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือ แห่งชาติ เป็นอย่างไรเล่า?” ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งชาติเป็นอย่างไรเล่า?
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชาติ โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๓ ตั้งแต่คำว่า การเกิด การกำเนิด การก้าวลง. ถึงคำว่า . ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งชาติ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชาติ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่ง ชาติ อย่างนี้. อริยสาวกนั้นละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ..
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
884
ง. ๓ เกี่ยวกับภพ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งภพ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งภพ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวก นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. !ภพ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งภพ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือ แห่งภพ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งภพ เป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับภพ โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดู ได้จากหนังสือ ปฏิจจ.โอ. ที่หน้า ๕๓๓ – ๕๓๔ ตั้งแต่คำว่า ภพทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ....ถึงคำว่า.... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งภพ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งภพ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ….
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก.จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
885
ง. ๔ เกี่ยวกับอุปาทาน
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท .! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอุปาทานซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งอุปาทาน ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขาดำเนิน ไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับอุปาทาน โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๔ ตั้งแต่คำว่าอุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้คือ ....ถึงคำว่า..... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอุปาทาน อย่างนี้รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งอุปาทาน อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับ ไม่เหลือแห่งอุปาทานอย่างนี้.
อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย .....
(ข้อความต่อไปนี้ หมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า) ....ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
886
ง. ๕ เกี่ยวกับตัณหา
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่ง ตัณหาซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง ตัณหา ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุท. ! ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งตัณหา เป็นอย่างไรเล่า? ความดับ ไม่เหลือแห่งตัณหา เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งตัณหาเป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับตัณหาโดยนัยแห่งอริยสัจสี่พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๔ ตั้งแต่คำว่า หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้คือ .. ถึงคำว่า .. ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งตัณหา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งตัณหา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่งตันหา อย่างนี้. อริยสาวกนั้นละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
887
ง. ๖ เกี่ยวกับเวทนา
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้.?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งเวทนาซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง เวทนา ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! เวทนา เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไรเล่า? ความดับ ไม่เหลือแห่งเวทนาเป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งเวทนาเป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเวทนา โดยนัยแห่งอริยสัจสี่พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๕ ตั้งแต่คำว่า หมู่แห่งเวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้คือ .... ถึงคำว่า .... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งเวทนา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนาอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่ง เวทนา อย่างนี้. อริย-สาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย .....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
888
ง. ๗ เกี่ยวกับผัสสะ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรงเขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งผัสสะ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง ผัสสะ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุท. ! ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับ ไม่เหลือแห่งผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่ง ผัสสะเป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับผัสสะ โดยนัยแห่งอริยสัจสี่พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๕ ตั้งแต่คำว่า หมู่แห่งผัสสะทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้คือ .... ถึงคำว่า .... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งผัสสะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งผัสสะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่งผัสสะ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
889
ง. ๘ เกี่ยวกับ สฬายตนะ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งสฬายตนะ ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งสฬายตนะ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งสฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสฬายตนะ โดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๕ ตั้งแต่คำว่าหมู่แห่งสฬายตนะ ทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้คือ .... ถึงคำว่า .... ความระลึก ชอบความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งสฬายตนะ อย่างนี้รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง สฬายตนะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความ ดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย .....
(ข้อความต่อไปนี้เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
890
ง. ๙ เกี่ยวกับนามรูป
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งนามรูปซึ่งเหตุเป็นแดนเกิด แห่งนามรูป ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! นามรูป เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไรเล่า? ความดับ ไม่เหลือแห่งนามรูป เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งนามรูปเป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนามรูปโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๖ ตั้งแต่คำว่า เวทนา สัญญาเจตนา ผัสสะ .... ถึงคำว่า .... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งนามรูป อย่างนี้รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งนามรูป อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่ เหลือแห่งนามรูป อย่างนี้.อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ....
( ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
891
ง. ๑๐ เกี่ยวกับวิญญาณ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งวิญญาณซึ่งเหตุเป็นแดน เกิดแห่งวิญญาณ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรงเขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า?”
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับวิญญาณโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๖ ตั้งแต่คำว่า หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้คือ .... ถึงคำว่า.... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่ง วิญญาณอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง วิญญาณ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความ ดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า).... ไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้.”
892
ง. ๑๑ เกี่ยวกับสังขาร
“ท่านผู้มีอายุท.! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรงเขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้.?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท.! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งสังขาร ซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง สังขาร ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร.
ท่านผู้มีอายุ ท.! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท.! สังขาร เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร เป็นอย่างไรเล่า? ความดับ ไม่เหลือแห่งสังขาร เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขารเป็นอย่างไรเล่า?
(ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสังขารโดยนัยแห่งอริยสัจสี่ พึงดูได้จากหนังสือ ปฏิจจ. โอ. ที่หน้า ๕๓๗ ตั้งแต่คำว่า สังขารทั้งหลาย ๓ หมู่เหล่านี้คือ .... ถึงคำว่า .... ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ).
“ท่านผู้มีอายุ ท.! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งสังขารอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขารอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่ง สังขารอย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
893
ง. ๑๒ เกี่ยวกับ อวิชชา
“ท่านผู้มีอายุท.! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอวิชชาอริยสาวกมารู้ชัด อวิชชา ซึ่งเหตุเป็ นแดนเกิดแห่งอวิชชา ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา.
ท่านผู้มีอายุ ท. !ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! อวิชชา เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งอวิชชา เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา เป็นอย่างไรเล่า?ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา เป็นอย่างไรเล่า ?”
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! อวิชชาคือ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ใน เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ความไม่รู้ ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความไม่รู้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! นี้เรียกว่าอวิชชา”.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา ย่อมมีเพราะ ความก่อขึ้น พร้อมแห่งอาสวะ.ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา ย่อมมีเพราะ ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ. มรรค อันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้นั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือ แห่ง อวิชชา; ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิต ชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่ง อวิชชาอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่ง อวิชชา อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอวิชชาอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับ ไม่เหลือ แห่งอวิชชา อย่างนี้.อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย .....
(ข้อความต่อไปนี้ เหมือนกับข้อความในตอนท้ายแห่งหมวด ก. จนกระทั่งถึงคำว่า ).... ไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
895
ง. ๑๓ เกี่ยวกับ อาสวะ
“ท่านผู้มีอายุ ! ก็ปริยายแม้อย่างอื่นยังมีอยู่หรือที่จะทำให้อริยสาวกเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทิฏฐิของท่าน ดำเนินไปตรงท่านประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรมมาสู่พระสัทธรรมนี้ ?”
“มีอยู่ ท่านผู้มีอายุ ท. ! คือในกาลใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่งอาสวะซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งอาสวะ ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ ซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึง ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้อริยสาวกนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนินไปตรง เขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
ท่านผู้มีอายุ ท. ! อาสวะ เป็นอย่างไรเล่า? เหตุเป็นแดนเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไรเล่า? ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ เป็นอย่างไรเล่า? ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ เป็นอย่างไรเล่า?”
“ท่านผู้มีอายุ ท. ! อาสวะ ๓ อย่างนี้ มีอยู่ คือ กามาสวะ ภวาสวะอวิชชาสวะ .ความก่อขึ้นพร้อม แห่งอาสวะ ย่อมมีเพราะ ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา.ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ ย่อมมี เพราะ ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา.
มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้นั่นเอง เป็น ข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่ง อาสวะได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.“
ท่านผู้มีอายุ ท. ! เมื่อใดแล อริยสาวกมารู้ชัดซึ่ง อวิชชาอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งเหตุเป็นแดนเกิดแห่งอาสวะ อย่างนี้ รู้ชัดซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอาสวะอย่างนี้ รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่ง อาสวะ อย่างนี้. อริยสาวกนั้น ละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนอนุสัยแห่งทิฏฐิและมานะว่าเรามี เราเป็น ได้โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาแล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น เธอกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในทิฏฐิธรรมนี้ นั่นเทียว.
ท่านผู้มีอายุ ท.! ด้วยเหตุแม้เพียงเท่านี้แล อริยสาวกนั้น ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิของเขา ดำเนิน ไปตรงเขาประกอบแล้วด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.”
|