เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ                    

  ปฐมธรรม-พุทธวจน ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
    01 of 4  
 
  ปฐมธรรม พุทธวจน  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
  ๑ ผู้ชี้ขุมทรัพย์ (ผู้ใดชี้โทษ ผู้นั้นชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา) 2  
  ๒ โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก (อุปมาเต่าตาบอด 100 ปี โผล่ขึ้นมาหายใจ1ครั้ง) 4  
  ๓ วิญญาณคือ เหตุแห่งการเกิดขึ้นของสัตว์ (วิญญาณก้าวลงสู่ท้องมารดา นามจึงปรุงตัวขึ้นมาได้) 6  
  ๔ หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง (หน้า-หลัง-ซ้าย-ขวา-บน-ต่ำ) 9  
  ๕ หลักในการใช้จ่ายทรัพย์ (ให้มีรายได้ท่วมรายจ่าย) 17  
  ๖ การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด (ศรัทธาคำสอนตถาคต-มีศีล-จาคะ-ถึงพร้อมด้วยปัญญา) 21  
  ๗ ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ (รักเกิดจากรัก-เกลียดเกิดจากรัก-รักเพราะเกลียด-เกลียดเกิดจากเกลียด) 23  
  ๘ ลักษณะของ “ฆราวาสชั้นเลิศ” (แสวงหาทรัพย์โดยธรรม ทำตนให้สุขอิ่มหนำ ทำบุญ แบ่งปัน 27  
  ๙ หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้ (ขยันในอาชีพ รักษาทรัพย์ มีมิตรดี ไม่ฟุ่มเฟือย 29  
  ๑๐ หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันหน้า (ศรัทธาตถาคต มีศีล จาคะ ปัญญาสัมปทา 34  
  ๑๑ เหตุเสื่อม-เหตุเจริญแห่งทรัพย์ ๔ ประการ (เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา นักพนัน มีมิตรเลว 37  
  ๑๒ อบายมุข ๖ (ดึ่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ชุมนุมคนเมา นักพนัน มิตรชั่ว เกียจคร้าน 40  
  ๑๓ การบริโภคกามคุณทั้ง ๕ อย่างไม่มีโทษ (ทำตัวเหมือนเนื้อป่าไม่ติดบ่วง ไม่เมาหมกในกามคุณ5) 45  
  ๑๔ หลักการพูด (ควรแก่เวลา พูดแต่เรื่องจริง อ่อนหวาน มีประโยชน์ มีเมตาจิต 49  
  ๑๕ ลักษณะการพูดของตถาคต (ประกอบด้วยประโยชน์ วาจาจริง ด้วยประโยชน์ รู้จักกาลอันควร ฯลฯ 51  
  ๑๖ ลักษณะการพูดของสัตบุรุษ (งดพูดสิ่งไม่ดีคนอื่น พูดแต่สิ่งดี.. งดพูดสิ่งดีของตน พูดแต่สิ่งไม่ดี) 53  
  ๑๗ ลักษณะการพูดของอสัตบุรุษ (เผยสิ่งไม่ดีคนอื่น ปิดความดีของคนอื่น ปิดความไม่ดีของตน...) 55  
  ๑๘ อย่าหูเบา (อย่าเชื่อสิ่งที่ฟัง-กระทำตามๆกันมา อย่าเชื่อสียงลือ อ้างปิฏก ใช้ตรรกะ สันนิษฐาน..) 57  
  ๑๙ เข้าใจธรรมเพียงบทเดียวก็เพียงพอ (ธรรมเพียงบทเดียว สามารถบรรลุธรรมได้ 59  
  ๒๐ ให้เป็นผู้หนักแน่น (ทำจิตให้เหมือนธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ 60  
  ๒๑ ลาภสักการะ-เสียงเยินยอ เป็นอันตรายแม้พระอรหันต์ (สุขไม่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้-ต่อการบรรลุ) 63  
  ๒๒ ลักษณะของผู้มีสติและสัมปชัญญะ (สติ-เห็นกาย-เวทนา-จิต-ธรรม..มีสติก้าวเดิน นั่ง ยืน นอน) 65  
  ๒๓ สิ่งที่พระศาสดาถือว่าเป็นความอัศจรรย์ (เห็นเวทนา เห็นสัญญา วิตก มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป 67  
  ๒๔ จิตอธิษฐานการงาน (มีสติ ก้าวไป ถอยกลับ ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ มีสติอธิษฐานการงาน 68  
  ๒๕ การตั้งจิตก่อนนอน (บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอย 69  
  ๒๖ มืดมา..สว่างไป สว่างมาก็ยังคงสว่างไป (จนแต่กายวาจาใจสุจริต - สกุลสูงก็ยังรักษากายวาจาใจ) 70  
  ๒๗ เหตุความสามัคคีและแตกแยก (ละ-กามวิตก พยาปาท วิหิงสา.. ทำ เนกขัมมวิตก อัพยา-วิหิงสา) 73  
  ๒๘ ความอยาก-ตัณหา (เพราะตัณหาจึงเกิดการแสวงหา..เพราะแสวงหาจึงมีการได้ เกิดปลงใจรัก ..) 77  
  ๒๙ กฎธรรมชาติ (เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้เย่อมมี) 79  
  ๓๐ เหตุแห่งการเบียดเบียน (ความอิจฉา (อิสสา) และความตระหนี่ (มัจฉริยะ) นั่นแล) 80  
  ๓๑ ความพอใจใด ความพอใจนั้นคือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ (ฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์) 82  
  ๓๒ ธรรมอันเป็นไปเพื่อความเจริญไม่เสื่อม (ประชุมกันเนืองๆ ประชุมพร้องกัน เลิกพร้อมกัน) 83  
  ๓๓ เหตุให้ศาสนาเจริญ (ภิกษุทรงธรรม-วินัย เป็นคนว่าง่าย คล่องพระสูตร เถระไม่ย่อหย่อนไตรสิกขา) 85  
       
       
       
 
 





หนังสือปฐมธรรม- พุทธวจน

ปฐมธรรม หน้า 2


ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !


น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ
อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม

ยถา กุมฺภกาโร อามเก อามกมตฺเต
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่

นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด.

ปวยฺหปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด

โย สาโร, โส ฐสฺสติ
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช

คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย
เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย

ปฐมธรรม หน้า 4


โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก


ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกัน ทั้งหมด บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก(ไม้ไผ่?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น ลมตะวันออกพัด ให้ลอยไปทางทิศตะวันตก ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทาง ทิศตะวันออก ลมทิศเหนือ พัดให้ลอยไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทาง ทิศเหนือ,อยู่ดัง นี้ ในนำนั้น มีเต่าตัวหนึ่งหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปีมันจะผุดขึ้น มาครั้งหนึ่งๆ

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่า ตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้นสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียง รูเดียวใน แอก นั้น ?

“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้นร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึง ยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียว ในแอกนั้น”

ภิกษุทั้งหลาย ! ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกันที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์ ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะจะเกิดขึ้น ในโลก ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกันที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว จะรุ่งเรืองไปทั่วโลก

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่าบัดนี้ ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้ว ตถาคตผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรือง ไปทั่วโลกแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม
เพื่อให้รู้ว่า
นี้ ทุกข์
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ ความดับแห่งทุกข์
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข” ดังนี้ เถิด.

ปฐมธรรม หน้า 6


วิญญาณคือ เหตุแห่งการเกิดขึ้นของสัตว์


อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ” ดังนี้ เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.

อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ”

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณจักไม่ก้าวลงในท้อง แห่งมารดาแล้วไซร้ นามรูปจักปรุงตัวขึ้นมาในท้องแห่งมารดาได้ไหม ?

“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว จักสลายลงเสียแล้ว ไซร้ นามรูปจักบังเกิดขึ้น เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ?

“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลงเสียแล้วไซร้ นามรูป จักถึงซึ่งความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ บ้างหรือ ?

“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละ คือสมุทัย นั่นแหละคือปัจจัย ของนามรูป นั้นคือ วิญญาณ

อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป” ดังนี้ เช่นนี้แลเป็นคำ ที่เรากล่าว แล้ว

อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับ หัวข้อ ที่เรา กล่าวไว้แล้วว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้ง ที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้ ความ เกิดขึ้น พร้อม แห่งทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม ?

“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหต, นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือ สมุทัย นั่นแหละคือปัจจัยของวิญญาณ นั่นคือ นามรูป.

อานนท์ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง

คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้
คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้
คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้
เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้
ความเวียนว่ายในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้
นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่ เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้
(ของนามรูปกับวิญญาณ นั่นเอง)

ปฐมธรรม หน้า 9


หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อมทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรม ที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”.

คหบดีบุตร !
พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ
พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า)
พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา)
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง)
พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย)
พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ)
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน)

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า (๑)

คหบดีบุตร !
ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ

(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน
(๒) เราจักทำกิจของท่าน
(๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล
(๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท
(๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน

คหบดีบุตร !
ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ

(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ศึกษาศิลปะ
(๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร
(๕) มอบมรดกให้ตามเวลา
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา (๒)

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

(๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ
(๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้
(๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง
(๔) ด้วยการปรนนิบัติ
(๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) แนะนำดี
(๒) ให้ศึกษาดี
(๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง
(๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย
(๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง (๓)

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยาอันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) ด้วยการยกย่อง
(๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น
(๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
(๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้วย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) จัดแจงการงานดี
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
(๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย (๔)

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อ โดย ฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) ด้วยการให้ปัน
(๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ
(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์
(๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน
(๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
(๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย
(๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย
(๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้นปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ (๕)

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายพึงปฏิบัติต่อ โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง
(๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล
(๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้
(๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้
(๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นาย โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
(๒) เลิกงานทีหลังนาย
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด
(๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน (๖)

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อ โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
(๑) ด้วยเมตตากายกรรม
(๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม
(๓) ด้วยเมตตามโนกรรม
(๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ)
(๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐานะ ๖ ประการ คือ
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม
(๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
(๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด
(๖) บอกทางสวรรค์ให้

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น ปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

หลักในการใช้จ่ายทรัพย์ ๔ ประการ


หลักในการใช้จ่ายทรัพย์
๔ ประการ

คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ที่ตน หาได้มาด้วยความเพียร เป็นเครื่อง ลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วย ธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ ๔ ประการ อย่างไรเล่า ?

๔ ประการ ในกรณีนี้ คือ

๑. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มา โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการเลี้ยงตน ให้เป็นสุข อิ่มหนำบริหารตนให้อยู่ เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงมารดาและบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารท่าน ทั้งสอง ให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงบุตรภรรยา ทาสและกรรมกร ชายหญิง ให้เป็นสุข อิ่มหนำบริหารให้อยู่กัน อย่างเป็นสุขโดยถูกต้อง ในการ เลี้ยงมิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุข อิ่มหนำบริหารให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง นี้เป็นการ บริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบ ด้วยเหตุผล (อายตนโส)
คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก

๒. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าว แล้วข้างต้น) ในการปิดกั้นอันตรายทั้งหลาย ทำตนให้สวัสดีจาก อันตราย ทั้งหลายที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็น ที่รักนั้นๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๒ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบ ด้วยเหตุผล.
คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก :

๓. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม (ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ในการกระทำพลีกรรม ๕ ประการ คือ สงเคราะห์ญาติ (ญาติพลี) สงเคราะห์แขก (อติถิพลี) สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ปุพพเปตพลี) ช่วยชาติ(ราชพลี) บูชาเทวดา (เทวตาพลี) นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้ว โดยชอบด้วยเหตุผล.
คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก

๔. อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหามาได้ โดยชอบธรรม (ดังที่กล่าว แล้วข้างต้น) ในการตั้งไว้ซึ่งทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ผู้งดเว้น แล้วจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติ และโสรัจจะผู้ฝึกฝน ทำความ สงบ ทำความดับเย็น แก่ตนเอง อันเป็นทักษิณาทานที่มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุขเป็นผลตอบแทน เป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการบริโภค ทรัพย์ ฐานที่ ๔ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้วบรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วย เหตุผล

คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียร เป็นเครื่อง ลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วย ธรรมได้มา โดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้.

ปฐมธรรม หน้า 21


การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด


ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทน ไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง.

ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ
    ๑. มารดา
    ๒. บิดา

ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับ ประคองบิดา ด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติ ท่านทั้งสองนั้น ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด และท่าน ทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำ ตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย.

ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็น อิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้ การกระทำกิจ อย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?

เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)

ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยศีล)

ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค)

ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา
(ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แลการกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา

ปฐมธรรม หน้า 23


ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ


(๑) ความรักเกิดจากความรัก
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคล คนหนึ่ง มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติ กระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำ ต่อบุคคล ที่เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการ ที่น่าปรารถนาน่ารักใคร่น่าพอใจ” ดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ย่อมทำความรักให้เกิดขึ้น ในบุคคลเหล่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่าความรักเกิดจากความรัก.

(๒) ความเกลียดเกิดจากความรัก
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งเป็นที่ ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคล คนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติ กระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า ปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ พอใจ บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมา อย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำ ต่อบุคคลที่ เราปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการ ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่พอใจ” ดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความเกลียด ให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ความเกลียด เกิดจากความรัก.

(๓) ความรักเกิดจากความเกลียด
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจ ของบุคคล คนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่นมาประพฤติ กระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่า ปรารถนา ไม่น่ารัก ใคร่พอใจ บุคคลโน้นก็จะเกิดความพอใจขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติกระทำ ต่อบุคคลที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ารักใคร่ พอใจ” ดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำ ความรัก ให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย !อย่างนี้แล เรียกว่าความรัก เกิดจากความเกลียด.

(๔) ความเกลียดเกิดจากความเกลียด
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ มีบุคคลซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนารักใคร่พอใจของบุคคล คนหนึ่ง, มีบุคคลพวกอื่น มาประพฤติกระทำต่อบุคคลนั้น ด้วยอาการที่น่า ปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ บุคคลโน้นก็จะเกิดความไม่พอใจ ขึ้นมาอย่างนี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นประพฤติ กระทำต่อบุคคล ที่เราไม่ปรารถนารักใคร่พอใจ ด้วยอาการที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ” ดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมทำความ เกลียดให้เกิดขึ้นในบุคคลเหล่านั้น. ภิกษุทั้งหลาย !อย่างนี้แล เรียกว่าความ เกลียด เกิดจากความเกลียด.

ปฐมธรรม หน้า 27


ลักษณะของ “ฆราวาสชั้นเลิศ”


คหบดี ! ในบรรดากามโภคี (ฆราวาส)เหล่านั้นกามโภคีผู้ใดแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัด (เกินไปจนทรมานตน) ด้วย ครั้นแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรมโดยไม่ เครียดครัด แล้ว ทำตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำด้วย แบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญด้วย ไม่กำหนัด ไม่มัวเมาไม่ลุ่มหลง มีปกติเห็นโทษ มีปัญญา เป็นเครื่องสลัดออก บริโภค โภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่ด้วย

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ ควรสรรเสริญโดย ฐานะทั้งสี่ คือ
ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่หนึ่ง ในข้อที่เขาแสวงหาโภคทรัพย์ โดยธรรมโดยไม่ เครียดครัด
ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สอง ในข้อที่เขาทำตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ
ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สาม ในข้อที่เขาแบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญ
ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สี่ ในข้อที่เขาไม่กำหนัด ไม่มัวเมา ไม่ลุ่มหลง มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่อง สลัดออก บริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้น.

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ควรสรรเสริญโดยฐานะทั้งสี่เหล่านี้.
คหบดี ! กามโภคีจำพวกนี้ เป็นกามโภคีชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นหัวหน้า ชั้นสูงสุด ชั้นบวรกว่ากามโภคีทั้งหลาย เปรียบเสมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้นหัวเนยใส เกิดจากเนยใส หัวเนยใสปรากฏว่า เลิศกว่าบรรดารสอันเกิดจากโคทั้งหลาย เหล่านั้น ข้อนี้ฉันใด กามโภคีจำพวกนี้ ก็ปรากฏว่าเลิศกว่าบรรดากามโภคี ทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้น แล.

ปฐมธรรม หน้า 29


หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้


พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการ เหล่านี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่กุลบุตรในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรม)

๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ
(๑) ความขยันในอาชีพ
(๒) การรักษาทรัพย์
(๓) ความมีมิตรดี
(๔) การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ


(1) ความขยันในอาชีพ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ความขยันในอาชีพ (อุฏฐานสัมปทา)เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ สำเร็จการเป็นอยู่ ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือด้วยกสิกรรม หรือวานิชกรรม

โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอาชีพ นั้นๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องใน อุบายนั้นๆ สามารถกระทำสามารถจัดให้กระทำ.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า ความขยันในอาชีพ.

(2) การรักษาทรัพย์

พ๎ยัคฆปัชชะ
! การรักษาทรัพย์ (อารักขสัมปทา) เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ โภคทรัพย์อันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียร เป็นเครื่อง ลุกขึ้น รวบรวมมา ด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองอย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า “อย่างไรเสียพระราชาจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป โจรจะไม่ปล้นเอาไป ไฟจะไม่ ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาไป ทายาทอันไม่รักใคร่ เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไป”ดังนี้

พ๎ยัคฆปัชชะ
! นี้เรียกว่า การรักษาทรัพย์

(3) ความมีมิตรดี

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ความมีมิตรดี (กัลยาณมิตตตา) เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ อยู่อาศัย ในบ้านหรือนิคมใด ถ้ามีบุคคลใดๆ ในบ้านหรือ นิคมนั้นเป็นคหบดี หรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นคนหนุ่มที่เจริญด้วยศีล หรือเป็นคนแก่ ที่เจริญ ด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วย ปัญญา อยู่แล้วไซร้ กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม สากัจฉาร่วม กับชนเหล่านั้น

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศรัทธาโดยอนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยศรัทธา

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศีลโดยอนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยจาคะโดยอนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย จาคะ เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยอนุรูป แก่บุคคลผู้ถึงพร้อม ด้วยปัญญา อยู่ในที่นั้นๆ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า ความมีมิตรดี

(4) การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ (สมชีวิตา)เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่ง โภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืด เคืองนักโดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการ อย่างนี้” ดังนี้

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนคนถือตาชั่ง หรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า “ยังขาดอยู่ เท่านี้หรือเกินไป แล้วเท่านี้” ดังนี้ฉันใด กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิต อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนักไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเรา จักท่วมรายจ่าย และ รายจ่ายของเราจักไม่ท่วม รายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อยแต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่าง ฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่ากุลบุตรนี้ ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ฉันใด ก็ฉันนั้น

พ๎ยัคฆปัชชะ ! แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่ อย่าง แร้นแค้น แล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไป แห่ง โภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิต อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักไม่ท่วม รายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เราเรียกว่า การดำรงชีวิตสม่ำเสมอ
พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลเป็นธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ สุขของกุลบุตร ในทิฏฐธรรม

ปฐมธรรม หน้า 34

๑๐
หลักการดำรงชีพ เพื่อประโยชน์สุขในวันหน้า


พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ของ กุลบุตร ในเบื้องหน้า (สัมปรายะ)

๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :-
(๑) ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา (สัทธาสัมปทา)
(๒) ความถึงพร้อมด้วยศีล (สีลสัมปทา)
(๓) ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค (จาคสัมปทา)
(๔) ความถึงพร้อมด้วยปัญญา (ปัญญาสัมปทา)


พ๎ยัคฆปัชชะ !
(1) ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา(สัทธาสัมปทา) เป็นอย่างไรเล่า ?


พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
    เป็นผู้ไกลจากกิเลส
    เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ ได้โดยพระองค์เอง
    เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
    เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
    เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
    เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
    เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม
    เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้
พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา

พ๎ยัคฆปัชชะ !
(2) ความถึงพร้อมด้วยศีล (สีลสัมปทา)เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้
    เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต
    เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน
    เป็นผู้เว้นขาดจาก กาเมสุมิจฉาจาร
    เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท
    เป็นผู้เว้นขาดจากสุราเมรย มัชชปมาทัฏฐาน
พยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่าความถึงพร้อมด้วยศีล

พ๎ยัคฆปัชชะ !
(3) ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค (จาคสัมปทา)
เป็นอย่างไรเล่า ?
พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้
    มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
    อยู่ครองเรือน
    มีจาคะ อันปล่อยอยู่เป็น ประจำ 
    มีฝ่ามืออันชุ่มเป็นปกติ
    ยินดีแล้วในการสละ
    ควรแก่การขอ
    ยินดีแล้ว ในการจำแนกทาน
พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค

พ๎ยัคฆปัชชะ !
(4) ความถึงพร้อมด้วยปัญญา (ปัญญาสัมปทา) เป็นอย่างไรเล่า ?

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้
    เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญา เครื่องให้ถึงสัจจะแห่งการเกิดดับ
    เป็นเครื่องไปจากข้าศึก
    เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส
    เป็นเครื่องถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ
พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่า ความถึงพร้อมด้วยปัญญา

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ของกุลบุตร ในเบื้องหน้า

ปฐมธรรม หน้า  37

๑๑
เหตุเสื่อมและเหตุเจริญแห่งทรัพย์
เหตุเสื่อมแห่งทรัพย์ ๔ ประการ


พ๎ยัคฆปัชชะ ! โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้น โดยชอบ…ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ
(๑) ความเป็นนักเลงหญิง
(๒) ความเป็นนักเลงสุรา
(๓) ความเป็นนักเลงการพนัน
(๔) ความมีมิตรสหายเพื่อนฝูงเลวทราม

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนทางน้ำเข้า ๔ ทางทางน้ำออก ๔ ทาง ของบึงใหญ่ มีอยู่ บุรุษปิด ทางน้ำเข้า เหล่านั้นเสีย และเปิดทางน้ำออกเหล่านั้นด้วย ทั้งฝน ก็ไม่ตกลง มาตามที่ควร

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเหอืดแห้งเท่านั้น ที่หวังได้สำหรับบึงใหญ่ นั้น ความเต็มเปี่ยม ไม่มีทางที่จะหวังได้ นี้ฉันใด

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ผลที่จะเกิดขึ้นก็ฉันนั้นสำหรับโภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบ อย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ

(๑) ความเป็นนักเลงหญิง
(๒) ความเป็นนักเลงสุรา
(๓) ความเป็นนักเลงการพนัน
(๔) ความมีมิตรสหายเพื่อนฝูงเลวทราม

เหตุเจริญแห่งทรัพย์ ๔ ประการ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยชอบ…ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ

(๑) ความไม่เป็นนักเลงหญิง
(๒) ความไม่เป็นนักเลงสุรา
(๓) ความไม่เป็นนักเลงการพนัน
(๔) ความมีมิตรสหายเพื่อนฝูงที่ดีงาม

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนทางน้ำเข้า ๔ ทางทางน้ำออก ๔ ทาง ของบึงใหญ่ บุรุษเปิดทางนํ้าเข้าเหล่านั้นด้วย และปิดทางน้ำออกเหล่านั้นเสีย ทั้งฝนก็ตกลง มาตามที่ควรด้วย

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเต็มเปี่ยมเท่านั้นที่หวังได้ สำหรับบึงใหญ่ นั้น ความเหือดแห้งเป็นอันไม่ต้องหวัง นี้ฉันใด

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ผลที่จะเกิดขึ้นก็ฉันนั้นสำหรับโภคทรัพย์ที่เกิดขึ้น โดยชอบ อย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ

(๑) ความไม่เป็นนักเลงหญิง
(๒) ความไม่เป็นนักเลงสุรา
(๓) ความไม่เป็นนักเลงการพนัน
(๔) ความมีมิตรสหายเพื่อนฝูงที่ดีงาม.

ปฐมธรรม หน้า 40

๑๒
อบายมุข ๖ (ทางเสื่อมแห่งทรัพย์ ๖ ทาง)


คหบดีบุตร ! อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ทาง (อบายมุข ๖) คือ

(๑) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์

(๒) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน เป็นทาง เสื่อมแห่ง โภคทรัพย์

(๓) การเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา(สมชฺชาภิจรณ) เป็นทางเสื่อมแห่ง โภคทรัพย์

(๔) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทาง เสื่อมแห่ง โภคทรัพย์

(๕) การประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์

(๖) การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้านเป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์

โทษของอบายมุขแต่ละข้อ

คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท มี ๖ ประการ คือ

(๑) ความเสื่อมทรัพย์อันผู้ดื่มพึงเห็นเอง
(๒) ก่อการทะเลาะวิวาท
(๓) เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
(๔) เป็นเหตุเสียชื่อเสียง
(๕) เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย
(๖) เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการดื่มน้ำ เมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาท.

คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในเวลา กลางคืน มี ๖ ประการ คือ

(๑) ผู้นั้นชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
(๒) ผู้นั้นชื่อว่า ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
(๓) ผู้นั้นชื่อว่า ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
(๔) ผู้นั้นชื่อว่า เป็นที่ระแวงของคนอื่น
(๕) คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฏในผู้นั้น
(๖) เหตุแห่งทุกข์เป็นอันมาก ย่อมแวดล้อมผู้นั้น

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยว ไปในตรอกต่างๆในเวลากลางคืน

คหบดีบุตร ! โทษในการเที่ยวไปในที่ชุมนุม แห่งความเมา มี ๖ ประการ คือ

(๑) รำที่ไหน ไปที่นั่น
(๒) ขับร้องที่ไหน ไปที่นั่น
(๓) ประโคมที่ไหน ไปที่นั่น
(๔) เสภาที่ไหน ไปที่นั่น
(๕) เพลงที่ไหน ไปที่นั่น
(๖) เถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือโทษ ๖ ประการในการเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่ง ความเมา.

คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความ ประมาท มี ๖ ประการ คือ

(๑) ผู้ชนะย่อมก่อเวร
(๒) ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
(๓) ย่อมเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน
(๔) ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งไปพูดในที่ประชุมฟังไม่ขึ้น
(๕) ถูกมิตร อมาตย์หมิ่นประมาท
(๖) ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายนักเลงเล่นการพนัน ไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยาได้

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการ ในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการพนัน อันเป็น ที่ตั้งแห่ง ความประมาท

คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร มี ๖ ประการคือ

(๑) นำให้เป็นนักเลงการพนัน
(๒) นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้
(๓) นำให้เป็นนักเลงเหล้า
(๔) นำให้เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม
(๕) นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า
(๖) นำให้เป็นคนหัวไม้

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือโทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งการคบคน ชั่วเป็น มิตร

คหบดีบุตร ! โทษในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความเกียจคร้าน มี ๖ ประการ คือ

(๑) ชอบอ้างว่า หนาวนัก แล้วไม่ทำการงาน
(๒) ชอบอ้างว่า ร้อนนัก แล้วไม่ทำการงาน
(๓) ชอบอ้างว่า เวลาเย็นแล้ว แล้วไม่ทำการงาน
(๔) ชอบอ้างว่า ยังเช้าอยู่ แล้วไม่ทำการงาน
(๕) ชอบอ้างว่า หิวนัก แล้วไม่ทำการงาน
(๖) ชอบอ้างว่า กระหายนัก แล้วไม่ทำการงาน

เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผลัดผ่อนการงานอยู่อย่างนี้ โภคทรัพย์ที่ยัง ไม่เกิด ก็ไม่ เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึง ความสิ้นไป

คหบดีบุตร ! เหล่านี้แล คือ โทษ ๖ ประการในการประกอบเนืองๆ ซึ่งความ เกียจคร้าน.

ปฐมธรรม หน้า 45

๑๓
การบริโภคกามคุณทั้ง ๕ อย่างไม่มีโทษ

ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณเหล่านี้มี ๕ อย่าง

๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ
รูปที่เห็นด้วยตา เสียงที่ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และ โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยผิวกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด

ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณมี ๕ อย่างเหล่านี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้ แจ่มแจ้งในอุบาย เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทำการบริโภค กามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่ ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลาย พึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศ ย่อยยับแล้ว แต่มาร ผู้มีบาป ต้องการจะทำ ตามอำเภอใจ อย่างใดดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วงนอนจมอยู่ในกองบ่วง ในลักษณะ ที่ใครๆ พึงเข้าใจ ได้ว่ามันจะถึงซึ่ง ความพินาศย่อยยับเป็นไปตาม ความประสงค์ ของพราน ทุกประการ เมื่อพราน มาถึงเข้า มันจะหนีไปไหนไม่พ้น เลย ดังนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ อยู่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้ง ในอุบาย เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์บริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่ ชนเหล่านั้นอันคนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความ พินาศย่อยยับ ไปตามความประสงค์ ของมารผู้มีบาปแต่อย่างใด ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วง แม้นอนจมอยู่บนกองบ่วง มันก็ เป็นสัตว์ ที่ใครๆพึงเข้าใจได้ว่า เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับ ไปตามความประสงค์ของพราน แต่อย่างใด เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหลีกหนี ไปได้ ตามที่ต้องการ ดังนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ภิกษุทั้งหลาย ! (อีกอย่างหนึ่ง) เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง เดินอยู่ ก็สง่างาม ยืนอยู่ก็สง่างาม หมอบอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม

เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้นยังไม่มาสู่ครอง แห่งจักษุของพราน

ข้อนี้ฉันใด


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดแล้วจากกาม และอกุศลธรรม ทั้งหลาย เข้าถึงซึ่ง ปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและ สุขอันเกิดแต่วิเวกแล้ว แลอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอด ไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้ว ซึ่งจักษุแห่งมารไปแล้วสู่ ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน -ตติยฌาน- จตุตถฌาน- อากาสานัญ จายตนะ- วิญญาณัญจายตนะ- อากิญจัญญายตนะ- เนวสัญญานา สัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับ การบรรลุปฐมฌานเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึง สัญญา เวทยิตนิโรธ โดยข้อความสืบต่อไป ว่า)

ภิกษุทั้งหลาย ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่

อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญาอาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอ

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอด ไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้ว ซึ่งจักษุแห่งมารไปแล้ว สู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น ได้ข้ามแล้ว ซึ่งตัณหาในโลก

ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างามนั่งอยู่ ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม

เพราะเหตุไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจ ของมารผู้มี บาป ดังนี้แล.

ปฐมธรรม หน้า 49

๑๔
หลักการพูด


ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็น วาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการ อย่างไรเล่า ?

๕ ประการ คือ
(๑) กล่าวแล้วควรแก่เวลา
(๒) กล่าวแล้วตามสัจจ์จริง
(๓) กล่าวแล้วอย่างอ่อนหวาน
(๔) กล่าวแล้วอย่างประกอบด้วยประโยชน์
(๕) กล่าวแล้วด้วยเมตตาจิต

ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เหล่านี้แล เป็นวาจา สุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิตเป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่ติเตียน

ปฐมธรรม หน้า 51

๑๕
ลักษณะการพูดของตถาคต


ราชกุมาร ! ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็น ที่รักที่พึงใจของผู้อื่นตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่นตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่นตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะ เพื่อกล่าววาจานั้น

ปฐมธรรม หน้า 53

๑๖
ลักษณะการพูดของสัตบุรุษ


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่า เป็นสัตบุรุษ.

๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษในกรณีนี้ แม้มีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ จะกล่าวทำไมถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถามถึง ความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้หลีกเลี้ยวลดหย่อนลง กล่าว ความไม่ดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคน คนนี้ เป็น สัตบุรุษ

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่ถูกใครถามถึง ความดีของ บุคคลอื่น ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ จะต้องกล่าวทำไมถึงเมื่อถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไป ทำให้ไม่หลีก เลี้ยว ลดหย่อน กล่าวความดีของผู้อื่นโดยพิสดารบริบูรณ์. ภิกษุทั้งหลาย !ข้อนี้พึงรู้กัน เถิดว่าคนคนนี้ เป็นสัตบุรุษ

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่มีใครถามถึง ความไม่ดี ของตน ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ ทำไมจะต้องกล่าวถึงเมื่อถูกถามเล่า ก็เมื่อ ถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ไม่นำเอาปัญหาไปหาทาง ทำให้ลดหย่อน บิดพลิ้ว แต่กล่าวความไม่ดีของตนโดยพิสดารเต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้ กันเถิดว่าคนคนนี้เป็นสัตบุรุษ

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้มีใครถามถึง ความดีของตน ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏทำไมจะต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถามเล่า ก็เมื่อถูกใคร ถามถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปกระทำให้ลดหย่อนหลีกเลี้ยวเสีย กล่าวความดีของตนโดยไม่พิสดารเต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม

๔ ประการ เหล่านี้แล เป็นที่รู้กันว่า เป็น สัตบุรุษ

ปฐมธรรม หน้า 55

๑๗
ลักษณะการพูดของอสัตบุรุษ


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็น อสัตบุรุษ.

๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ


(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! อสัตบุรุษในกรณีนี้ แม้ไม่มีใครถามถึง ความไม่ดีของ บุคคลอื่น ก็นำมาเปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อถูกใครถาม  ก็เมื่อถูกใคร ถามถึง ความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำ ให้ไม่มีทางหลีกเลี้ยว ลดหย่อนแล้ว กล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างเต็มที่โดยพิสดาร. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็นอสัตบุรุษ

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ถูกใครถามถึง ความดีขอ งบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใคร ถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อน ไขว้เขว แล้วกล่าว ความดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ถูกใครถามถึง ความไม่ดี ของตน ก็ปกปิดไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม  ก็เมื่อถูก ใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อนไขว้เขว แล้วกล่าว ความไม่ดีของตนอย่างไม่พิสดารเต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีกคือ แม้ไม่มีใครถามถึง ความดีของ ตน ก็นำมาโอ้อวดเปิดเผย จะต้องกล่าวทำไมถึงเมื่อถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถาม ถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่ลดหย่อนหลีกเลี้ยว กล่าวความดี ของตนอย่างเต็มที่โดยพิสดาร. ภิกษทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคนคนนี้เป็น อสัตบุรุษ. ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม

๔ ประการเหล่านี้แล เป็นที่รู้กันว่า เป็น อสัตบุรุษ.

ปฐมธรรม หน้า 57

๑๘
อย่าหูเบา

(๑) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังตามๆ กันมา
(๒) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ากระทำตามๆ กันมา
(๓) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าเล่าลือกันอยู่
(๔) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่ามีที่อ้างในปิฎก
(๕) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่า การใช้เหตุผลทางตรรกคาดคะเน
(๖) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการใช้เหตุผลทางนัยะสันนิษฐาน
(๗) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าการตรึกตามอาการ
(๘) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าทนต่อการเพ่งแห่งทิฏฐิ
(๙) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าฟังดูน่าเชื่อ
(๑๐) อย่าถือเอาว่าจริง เพราะเหตุสักว่าสมณะผู้พูดเป็นครูของตน

ปฐมธรรม หน้า 59

๑๙
เข้าใจธรรมเพียงบทเดียวก็เพียงพอ


คามณิ !
เพราะเหตุว่าถึงแม้เขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดงสักบทเดียว นั่นก็ยังจะเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน

ปฐมธรรม หน้า 60

๒๐

ให้เป็นผู้หนักแน่น


ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน(ปฐวี) เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอ ด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะทั้งหลาย ที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่ กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่

ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาทิ้ง ของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้างทิ้งน้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้สึก อึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น นี้ฉันใด ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอ ด้วยแผ่นดินเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะทั้งหลาย ที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน

ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำ(อาโป) เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอ ด้วยน้ำอยู่ ผัสสะทั้งหลาย ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้ม รุมจิตตั้งอยู่

ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ล้างคูถบ้าง ล้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในนำน้ำ ก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอา รังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น นี้ฉันใด ราหุล !เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำเถิด เมื่อเธออบรม จิตให้เสมอด้วยน้ำอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่า พอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน

ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยไฟ (เตโช) เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอ ด้วยไฟอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้ม รุมจิตตั้งอยู่

ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงไปให้มันไหม้ ไฟก็ไม่รู้สึก อึดอัด ระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น นี้ฉันใด  ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้ เสมอด้วยไฟเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้น แล้วจักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน

ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยลม (วาโย) เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอ ด้วยลมอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุม
จิตตั้งอยู่.

ราหุล ! เปรียบเหมือนลมพัดผ่านไปในของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอา รังเกียจด้วยสิ่งเหล่านั้น นี้ฉันใด  ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอ ด้วยลมเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน

ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศเถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วย อากาศอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้ม รุมจิตตั้งอยู่

ราหุล ! เปรียบเหมือนอากาศ เป็นสิ่งมิได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไรๆ นี้ฉันใด ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วย อากาศ เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน

ปฐมธรรม หน้า 63

๒๑
ลาภสักการะและเสียงเยินยอเป็นอันตรายแม้แต่พระอรหันต์


ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าว “ลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตราย แม้แก่ ภิกษุผู้เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว” ดังนี้

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามขึ้นว่า “ลาภสักการะ และเสียงเยินยอเป็นอันตรายแก่ภิกษ ผู้สิ้นอาสวะแล้วชนิดไรเล่า พระเจ้าข้า ?” ดังนี้

อานนท์ ! เราหาได้กล่าวลาภสักการะ และเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตรายต่อ เจโตวิมุตติอันไม่กลับกำเริบ แล้วไม่

อานนท์ ! แต่เรากล่าวลาภสักการะและเสียงเยินยอ ว่าเป็นอันตรายต่อการ อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้ ซึ่งภิกษุผู้อยู่ ด้วยความไม่ประมาท มีความเพียรเผา กิเลสมีตนส่งไปแล้วในธรรมเครื่องสงบ ได้ลุถึงแล้ว.

อานนท์ ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่าด้วย อาการอย่างนี้

อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น อนึ่งลาภ สักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา” ดังนี้

อานนท์ ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล

ปฐมธรรม หน้า 65

๒๒
ลักษณะของผู้มีสติและสัมปชัญญะ


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสติเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก ออกเสียได้
เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ ...เป็นผู้เห็นจิต ในจิตอยู่เป็น ประจำ... เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้

ภิกษุทั้งหลาย !อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.

ภิกษุทั้งหลาย !ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิบาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ

ปฐมธรรม หน้า 67

๒๓
สิ่งที่พระศาสดาถือว่าเป็นความอัศจรรย์


อานนท์ !เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ เธอพึงจำสิ่ง อันน่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมาแต่ก่อน ของตถาคตข้อนี้ไว้

อานนท์ !ในกรณีนี้คือ
เวทนา เป็นของแจ่มแจ้งแก่ตถาคตแล้วจึงเกิดขึ้น แล้วจึงตั้งอยู่ แล้วจึงดับไป
สัญญา เป็นของแจ่มแจ้งแก่ตถาคตแล้วจึงเกิดขึ้น แล้วจึงตั้งอยู่ แล้วจึงดับไป
วิตก เป็นของแจ่มแจ้งแก่ตถาคตแล้วจึงเกิดขึ้น แล้วจึงตั้งอยู่ แล้วจึงดับไป

อานนท์ ! เธอจงทรงจำสิ่ง อันน่า อัศจรรย์ไม่เคยมีมาแต่ก่อนของตถาคตข้อนี้แล.

ปฐมธรรม หน้า 68

๒๔
จิตอธิษฐานการงาน


อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มีเท่าไร ? “ มี ๕ อย่าง พระเจ้าข้า !”
ดีละ ดีละ อานนท์ ! ถ้าอย่างนั้นเธอจงทรงจำ

ฐานะที่ตั้งแห่ง อนุสสติที่ ๖ นี้ไว้คือ ภิกษุในกรณีนี้
มีสติ ก้าวไป
มีสติ ถอยกลับ
มีสติ ยืนอยู่
มีสติ นั่งอยู่
มีสติ สำเร็จการนอนอยู่
มีสติ อธิษฐานการงาน

อานนท์ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่ง อนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

ปฐมธรรม หน้า 69

๒๕
การตั้งจิตก่อนนอน


อานนท์ !ถ้าเมื่อภิกษุนั้น ... จิตน้อมไปเพื่อ การนอน เธอก็ นอนด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเรา ผู้นอนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ ในกรณีอย่างนี้ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึก ตัวทั่วพร้อม ในกรณีแห่งการนอนนั้น

ปฐมธรรม หน้า 70

๒๖
มืดมา...สว่างไป สว่างมา...ก็ยังคงสว่างไป


มหาราช ! ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืด แล้ว กลับสว่างต่อไป

มหาราช ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเกิดมาภายหลังในตระกูลอันต่ำทราม คือในตระกูลจัณฑาลตระกูลพราน ตระกูลจักสาน ตระกูลทำรถ หรือตระกูล เทหยากเยื่อ ซึ่งเป็นคนยากจน มีข้าวและน้ำน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง มีอาหารและ เครื่องนุ่งห่ม หาได้โดยยาก เขาเป็นผู้มีผิวพรรณทราม ไม่น่าดู เตี้ยค่อม ขี้โรค ตาบอด ง่อยกระจอก มีตัวตะแคงข้าง ไม่ค่อยจะมีข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่มยาน พาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอนที่อยู่ และประทีปโคมไฟ แม้กระนั้น เขาก็ประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ครั้นเขาประพฤติสุจริตด้วย กายวาจา ใจแล้ว ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

มหาราช ! บุรุษพึงขึ้นจากแผ่นดินสู่บัลลังก์ หรือพึงขึ้น จากบัลลังก์สู่หลังม้า หรือพึงขึ้นจากหลังม้าสู่คอช้างหรือพึงขึ้น จากคอช้าง สู่ปราสาท แม้ฉันใด มหาราช ! ตถาคตย่อมกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมย ฉันนั้น
มหาราช ! อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้มืดแล้วกลับสว่างต่อไป

มหาราช ! ก็อย่างไร บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป
มหาราช ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเกิดมาภายหลังในตระกูลสูง คือในสกุล กษัตริย์มหาศาลสกุลพราหมณ์มหาศาล หรือสกุลคหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินพอตัวมีอุปกรณ์แห่งทรัพย์พอตัว มีทรัพย์ และข้าวเปลือกพอตัวเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความ เกลี้ยงเกลาแห่ง ผิวพรรณอย่างยิ่ง ร่ำรวยด้วยข้าว ด้วยน้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอนที่อยู่ และประทีปโคมไฟ เขาย่อมประพฤติ สุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ครั้นเขาประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว ครั้นตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

มหาราช !
บุรุษพึงก้าวไปด้วยดีจากบัลลังก์สู่บัลลังก์ หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากหลังม้าสู่หลังม้า หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากคอช้างสู่คอช้าง หรือพึงก้าวไปด้วยดีจากปราสาทสู่ปราสาท แม้ฉันใด

มหาราช ! ตถาคตย่อมกล่าวว่าบุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น
มหาราช ! อย่างนี้แล บุคคลชื่อว่าเป็นผู้สว่างแล้วคงสว่างต่อไป

ปฐมธรรม หน้า 73

๒๗
เหตุของความสามัคคี และความแตกแยก


ภิกษุทั้งหลาย ! ในทิศใดพวกภิกษุ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความบันเทิงต่อกัน และกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองดูกันด้วย สายตา แห่ง ความรักอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! ทิศนั้น เป็นที่ผาสุกแก่เราแม้ต้องเดินไป (อย่างเหน็ดเหนื่อย) จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่เพียงแต่นึกถึง ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะภิกษุเหล่านั้น ได้ละทิ้งธรรม ๓ อย่าง เสียแล้ว และพากันมาถือ กระทำให้มากในธรรม ๓ อย่าง

ธรรม ๓ อย่าง อะไรบ้างเล่า ที่เธอละทิ้งเสียแล้ว ?|

๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก ความตรึกในกาม
๒. พ๎ยาปาทวิตก ความตรึกในทางมุ่งร้าย
๓. วิหิงสาวิตก ความตรึกที่ก่อให้เกิดความลำบากทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้นละทิ้งเสียแล้ว

ก็ธรรม ๓ อย่าง อย่างไรเล่า ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันมาถือ กระทำเพิ่มพูน ให้มาก ?

๓ อย่าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก ความตรึกในการหลีกออกจากความพัวพันในกาม
๒. อัพ๎ยาปาทวิตก ความตรึกในการไม่ทำความมุ่งร้าย
๓. อวิหิงสาวิตก ความตรึกในการไม่ทำตนและผู้อื่นให้ลำบาก

ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้แล ที่พวกภิกษุเหล่านั้นพากันมาถือ กระทำเพิ่มพูนให้มาก.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในทิศใด พวกภิกษุ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความบันเทิงต่อกัน และกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน เข้ากันและกันได้สนิทเหมือนน้ำนม กับน้ำมองดูกัน และ กันด้วยสายตาแห่งความรักอยู่  ภิกษุทั้งหลาย ! ทิศนั้นเป็นที่ผาสุกแก่เรา แม้ต้องเดินไป (อย่างเหน็ดเหนื่อย) จะป่วยกล่าวไปไยถึงการที่เพียงแต่นึกถึง.
ในกรณีนี้ เราเชื่อแน่แก่ใจว่า เป็นเพราะพวกภิกษุเหล่านั้นได้ละทิ้งธรรม ๓ อย่าง เหล่าโน้นเสียแล้วและพากันมาถือกระทำให้มากในธรรม ๓ อย่างเหล่านี้แทน.

ปฐมธรรม หน้า 77

๒๘
ความอยาก (ตัณหา)


คือ ต้นเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท
เพราะอาศัยตัณหา (ความอยาก) จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา)
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ)
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย)
เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค)
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ)
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห)
เพราะอาศยั ความจับอกจับใจ จึง มี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ)

เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมีการหวงกั้น(อารกฺโข) เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ) กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม การทะเลาะ การแก่งแย่ง

การวิวาทการกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด และการ พูดเท็จทั้งหลาย  ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม ด้วยอาการ อย่างนี้.

ปฐมธรรม หน้า 79

๒๙
กฎธรรมชาติ


อิมัส๎มิง สะติ อิทัง โหติ
เมื่อสิ่งนี้ “มี” สิ่งนี้ ย่อมมี

อิมัสสุปปาทา อิทัง อุปปัชชะติ
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมัส๎มิง อะสะติ อิทัง นะ โหติ

เมื่อสิ่งนี้ “ไม่มี” สิ่งนี้ ย่อมไม่มี

อิมัสสะ นิโรธา อิทัง นิรุชฌะติ

เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

ปฐมธรรม หน้า 80

๓๐
เหตุแห่งการเบียดเบียน


“ข้า แต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! อะไรเป็นเครื่องผูกพันเทวดามนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่)ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มี เวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถ จักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีเบียดเบียนแก่กัน และ กันเล่าพระเจ้าข้า ?”

จอมเทพ ! ความอิจฉา (อิสสา) และความตระหนี่ (มัจฉริยะ) นั่นแล เป็นเครื่อง ผูกพันเทวดา มนุษย์อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย อันมีอยู่เป็นหมู่ๆ (ซึ่งแต่ละหมู่) ปรารถนาอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียน แก่กันและกัน แต่แล้วก็ไม่สามารถจักเป็นผู้อยู่อย่างผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีข้าศึก ไม่มีการเบียดเบียนแก่กันและกันได้

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็ความอิจฉาและความตระหนี่นั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ (นิทาน) มีอะไรเป็นเครื่องก่อขึ้น(สมุทัย) มีอะไรเป็นเครื่องทำให้เกิด (ชาติกะ) มีอะไรเป็นแดนเกิด(ปภวะ)?

เมื่ออะไรมีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่จึงมี ? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ ความอิจฉา และ ความตระหนี่จึงไม่มี พระเจ้าข้า ?”

จอมเทพ ! ความอิจฉาและความตระหนี่นั้นมีสิ่งอันเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก (ปิยาปฺปิย) นั่นแลเป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อสิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักไม่มีอยู่ ความอิจฉาและความตระหนี่ก็ไม่มี.

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ก็สิ่ง เป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้นเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... ? เมื่ออะไรมีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงมี ? เมื่ออะไรไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักจึงไม่มี พระเจ้าข้า ? ”

จอมเทพ ! สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักนั้นมีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นต้นเหตุ ...ฯลฯ... เมื่อฉันทะไม่มีอยู่ สิ่งเป็นที่รักและสิ่งไม่เป็นที่รักก็ไม่มี

ปฐมธรรม หน้า 82

๓๑
ความพอใจใด ความพอใจนั้นคือ เหตุเกิดแห่งทุกข์


“ทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วใน อดีตทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุเพราะว่า ฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ และทุกข์ใดๆ อันจะเกิดขึ้น ใน อนาคตทุกข์ทั้งหมดนั้นก็มีฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ เพราะ ว่า ฉันทะเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์”

ปฐมธรรม หน้า 83

๓๒
ธรรมอันเป็นไปเพื่อความเจริญไม่เสื่อม


(อปริหานิยธรรม)
พราหมณ์ ! ถ้าธรรมทั้ง ๗ อย่างนั้น คงตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี หรือเจ้าวัชชีจัก ตั้งตน อยู่ในธรรมทั้ง ๗ อย่างเหล่านั้นแล้ว พราหมณ์ ! อันนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อ ความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้
(ต่อไปนี้ เป็นตัวธรรมเจ็ดประการที่ตรัสแก่พระอานนท์ ซึ่งวัสสการพราหมณ์ ก็นั่งฟังอยู่ด้วย)

(๑) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชีประชุมกันเนืองๆประชุมกันโดยมาก...

(๒) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชี จะต้องทำ...

(๓) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชีมิได้บัญญัติข้อที่มิได้บัญญัติไว้ มิได้ถอนข้อที่ บัญญัติ ไว้แล้ว,แต่ประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมตามที่ได้บัญญัติไว้...

(๔) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพนับถือ บูชา ท่านที่เป็นประธาน ของเจ้าวัชชี ตั้งใจฟังคำสั่งของท่านผู้นั้น...

(๕) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชี มิได้ลบหลู่ ดูถูกสตรี ที่เป็นเจ้าหญิง หรือกุมารี ในสกุล...

(๖) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพนับถือ บูชา เจดีย์ทั้งภายใน และภายนอก มิได้ปล่อยละเลย ให้ทานที่เคยให้ ให้กิจที่เคยทำแก่เจดีย์ เหล่านั้นและให้พลีกรรมที่ประกอบด้วยธรรม เสื่อมเสียไป...

(๗) อานนท์ ! พวกเจ้าวัชชี เตรียมเครื่องต้อนรับไว้พร้อม เพื่อพระอรหันต์ ทั้งหลาย ว่า“พระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นนี้ ที่มาแล้วพึง อยู่สุขสำราญ เถิด” ดังนี้...

อานนท์ ! เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความเจริญ แก่เจ้าวัชชีอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้.

ปฐมธรรม หน้า 85

๓๓
เหตุให้ศาสนาเจริญ


ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้ย่อมทำ􀄁ให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

๔ ประการ อะไรบ้างเล่า ? ๔ ประการ คือ

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้เล่าเรียนสูตรอันถือกันมา ถูกด้วยบท พยัญชนะที่ใช้กันถูกความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอัน ถูกต้อง เช่นนั้นภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยเหตุ ที่ทำให้เป็นคนว่าง่ายอดทน ยอมรับคำสั่งสอนโดยความเคารพหนักแน่น ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สอง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะ เลือนจนเสื่อมสูญไป

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสูต คล่องแคล่วใน หลัก พระพุทธวจนทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) พวกภิกษุเหล่านั้น เอาใจใส่ บอกสอน เนื้อความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่นๆ เมื่อท่านเหล่านั้น ล่วงลับไป สูตรทั้งหลาย ก็ไม่ขาด ผู้เป็นมูลราก (อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกัน ไปภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง พวกภิกษุผู้เถระ ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้า ไปในกิจแห่งวิเวกธรรม ย่อมปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่ง ที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง พวกภิกษุที่บวชในภายหลัง ได้เห็นพระเถระเหล่านั้น ทำแบบฉบับเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาเป็นแบบอย่าง พวกภิกษุ รุ่นหลัง จึงเป็นพระที่ไม่ทำการสะสมบริกขาร ไม่ประพฤติย่อหย่อนใน ไตรสิกขา ไม่มีจิตตกต่ำ

ด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ มุ่งหน้าไปในกิจแห่งวิเวกธรรมย่อมปรารถความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง

ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็น มูลกรณีที่สี่ ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือน จน เสื่อมสูญไป

ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แลย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไปเลย