เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ                    

  ปฐมธรรม-พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
    03 of 4  
 
  ปฐมธรรม พุทธวจน  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
  ๖๕ วิธีแก้ความหดหู่ 178  
  ๖๖ วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน 180  
  ๖๗ สมาธิภาวนา ๔ ประเภท 184  
  ๖๘ อานุภาพของสมาธิ (นัยที่ ๑) 188  
  ๖๙ อานุภาพของสมาธิ (นัยที่ ๒) 189  
  ๗๐ แม้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่าเป็นที่หลบพ้นภัยจากมาร 190  
  ๗๑ สมาธิระงับความรัก-เกลียดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ 195  
  ๗๒ ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา 197  
  ๗๓ ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน 198  
  ๗๔ อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ ๒ ประการ 200  
  ๗๕ อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย 204  
  ๗๖ เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน 206  
  ๗๗ ลมหายใจก็คือ “กาย” 207  
  ๗๘ ผู้เจริญอานาปานสติย่อมชื่อว่าเจริญกายคตาสติ 209  
  ๗๙ ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ 211  
  ๘๐ การตั้งจิตในกายคตาสติเป็นเสาหลักอย่างดีของจิต 213  
  ๘๑ ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง 218  
  ๘๒ ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมัน 221  
  ๘๓ อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ 223  
  ๘๔ การดำรงสมาธิจิต เมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา 224  
  ๘๕ อานิสงส์แห่งการปฏิบัติสมาธิแบบต่างๆ 229  
  ๘๖ ลักษณะของผู้ที่ง่ายต่อการเข้าสมาธิ 230  
  ๘๗ เจริญสมาธิให้ได้อย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง 232  
  ๘๘ การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิ สำหรับภิกษุบางรูป 234  
  ๘๙ ผลของการกระทำที่ทำได้เหมาะสมกับเวลา 237  
  ๙๐ จงเป็นผู้มีสติคู่กันไปกับสัมปชัญญะ 238  
       
 
 





หนังสือปฐมธรรม- พุทธวจน

ปฐมธรรม หน้า 178

๖๕
วิธีแก้ความหดหู่


ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้นมิใช่กาล เพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาล เพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้นยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

เปรียบเหมือนบุรุษต้องการจะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และ โรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถก่อไฟ ดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้น ได้หรือหนอ ?

“ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า !”.
ฉันนั้นเหมือนกัน...

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตหดหู่
สมัยนั้น เป็นกาล เพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
เป็นกาล เพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
เป็นกาล เพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้นให้ตั้งขึ้นได้ง่าย ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษ ต้องการ จะก่อไฟดวงน้อย ให้ลุกโพลง เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปาก เป่าและไม่โรยฝุ่นในไฟนั้น บุรุษนั้นสามารถ จะก่อไฟดวงน้อยให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือหนอ ? “ ได้ พระเจ้าข้า !”.

ฉันนั้นเหมือนกัน...

ปฐมธรรม หน้า 180

๖๖
วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน


ภิกษุทั้งหลาย !
สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาล เพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มิใช่กาล เพื่อเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ มิใช่กาล เพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้ สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือน บุรุษต้องการ จะดับ ไฟกองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง เอาปากเป่า และไม่โรยฝุ่นลงไปในกองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นสามารถจะดับไฟ กองใหญ่ได้หรือหนอ ?

“ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า !”
ฉันนั้นเหมือนกัน…

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น
เป็นกาล เพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เป็นกาล เพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
เป็นกาล เพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์.

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนบุรุษ ต้องการจะดับไฟ กองใหญ่ เขาจึงใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สด พ่นน้ำ และโรยฝุ่นลงใน กองไฟใหญ่นั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับกองไฟกองใหญ่นั้น ได้หรือหนอ?

“ได้ พระเจ้าข้า !”.

ฉันนั้นเหมือนกัน...
ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าว “สติ” แลว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.

ปฐมธรรม หน้า 184

๖๗
สมาธิภาวนา ๔ ประเภท


ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา ๔ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.

๔ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๔ อย่าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย ! มี สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
๑. ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (ทิฏฐธมฺมสุขวิหาร)
๒. การได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ (ญาณทสฺสนปฏิลาภ)
๓. สติสัมปชัญญะ (สติสมฺปชญฺญ)
๔. ความสิ้นแห่งอาสวะ (อาสวกฺขย)

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไป เพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรม ที่เป็น อกุศลทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่

เพราะความที่วิตกวิจาร ทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใส แห่งใจ ในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ และสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ อนึ่งเพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วย นามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อม กล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่ เพราะละสุขเสียได้ และ เพราะ ละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัส และ โทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อนเข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา อธิษฐาน ทิวาสัญญา ว่ากลางวันฉันใด กลางคืน ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น เธอมีจิตอันเปิดแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่าง ทั่วพร้อม ให้เจริญอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ สมาธิภาวนาอันเจริญกระทำ ให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะ ซึ่งญาณ ทัสสนะ

(๓) ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนาอันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะนั้นเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เวทนา เกิดขึ้น(หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่ม แจ้ง แก่ภิกษุ สัญญาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ)ดับไป ก็เป็นที่ แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ วิตก เกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้ง แก่ภิกษุ ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ สมาธิภาวนาอันเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติ สัมปชัญญะ

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ มีปกติตามเห็นความตั้งขึ้น และเสื่อมไป ในอุปาทาน ขันธ์ทั้งห้า ว่า

รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้
ความดับไปแห่งรูป เป็นอย่างนี้

เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้

สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
ความดับไปแห่งสัญญา เป็นอย่างนี้

สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้น แห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับไปแห่งสังขาร เป็นอย่างนี้

วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ความดับไปแห่งวิญญาณ เป็นอย่างนี้  ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น แห่งอาสวะ

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือ สมาธิภาวนา ๔ อย่าง.

ปฐมธรรม หน้า 188

๖๘

อานุภาพของสมาธิ (นัยที่ ๑)


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีจิต ตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้วย่อมรู้ได้ตามที่เป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า ? รู้ได้ตามเป็นจริง ซึ่ง ความจริงอันประเสริฐว่า“ นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้เป็นทาง ดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเจริญสมาธิเถิด
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นเป็น สมาธิแล้วย่อมรู้ได้ตามที่เป็นจริง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงกระทำความเพียรเพื่อให้รู้ว่า “นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้ เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และ นี้เป็นทาง ดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”ดังนี้เถิด.

ปฐมธรรม หน้า 189

๖๙

อานุภาพของสมาธิ (นัยที่ ๒)


ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีจิต เป็นสมาธิตั้ง มั่นแล้วย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง ก็ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า ?

ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็การเกิดขึ้นแห่งรูป ...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งรูป เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งรูป ความเพลิน(นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในรูป ความเพลินนั้นคือ อุปาทาน เพราะอุปาทานของภิกษุนั้น เป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งเวทนา
... ความเกิดขึ้น พร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งสัญญา
... ความเกิดขึ้น พร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ...ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ
เมื่อภิกษุนั้น เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในวิญญาณ ความเพลินนั้น คือ อุปาทาน
เพราะอุปาทานของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็น ปัจจัยจึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ ความเกิดขึ้นแห่งรูป...แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่ง วิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ความดับแห่งรูป ...แห่งเวทนา...แห่งสัญญา ... แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใน กรณีนี้ ย่อม ไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งอะไรเล่า?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลินย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งรูป เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ซึ่งรูป ความเพลิน (นันทิ) ใด ในรูป ความเพลินนั้น ย่อมดับไป

เพราะความดับแห่งความเพลินของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทานจึงมีความดับแห่งภพ

เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ เพราะมีความดับ แห่งชาติ ชรา มรณะโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น

ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลินย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งเวทนา ... ความดับลง แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลินย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งสัญญา ... ความดับลงแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลินย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย ... ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ย่อมไม่เพลิดเพลินย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ย่อมไม่เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ

เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ซึ่งวิญญาณ ความเพลิน (นันทิ) ใด ในวิญญาณ ความเพลินนั้น ย่อมดับไป

เพราะความดับแห่งความเพลินของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพจึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น 
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ ความดับแห่งรูป ... แห่งเวทนา ...แห่งสัญญา ...แห่งสังขารทั้งหลาย ...แห่งวิญญาณ ดังนี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า 190

๗๐
แม้เพียงปฐมฌาน ก็ชื่อว่าเป็นที่หลบพ้นภัยจากมาร


(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสข้อความปรารภการสงครามระหว่างเทวดากับอสูร ... ถ้าฝ่ายใดแพ้ถูกไล่ติด ตามไปจนถึงภพ เป็นที่อยู่แห่งตน ก็จะพ้นจากการถูกไล่ ติดตาม แล้วตรัสต่อไปอีกว่า )

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในสมัยใดภิกษุสงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมี วิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ! ในสมัยนั้น ภิกษุย่อมคิดอย่าง นี้ว่า “ในการนี้ เรามีตนอันถึงแล้ว ซึ่งที่ต้านทานสำหรับ สัตว์ผู้กลัวอยู่ มารจะไม่ทำอะไรได้”.

ภิกษุทั้งหลาย !แม้มารผู้มีบาป ก็คิดอย่างนี้ว่า “ในการนี้ ภิกษุมีตนอันถึงแล้ว ซึ่งที่ ต้านทานสำหรับสัตว์ ผู้กลัวอยู่ เราจะทำอะไรไม่ได้”....
(ในกรณีแห่งทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานก็ได้ตรัสข้อความ ทำนองเดียวกัน)

ปฐมธรรม หน้า 195

๗๑
สมาธิระงับความรัก-เกลียดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ


ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเกิดอยู่เป็น ๔ ประการ.

๔ ประการอย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ
ความรักเกิดจากความรัก,
ความเกลียดเกิดจากความรัก,
ความรักเกิดจากความเกลียด,
ความเกลียดเกิดจากความเกลียด.
(ดูรายละเอียดได้ในเรื่อง “ว่าด้วยความรัก ๔ แบบ” หน้า ๒๓)
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมี วิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ สมัยนั้น ความรักใด ที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี ความเกลียดใด ที่เกิดจาก ความรัก ความเกลียดนั้นก็ไม่มี ความรักใด ที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี ความเกลียดใด ที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษเข้าถึงทุติยฌาน... ตติยฌาน ... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่ สมัยนั้นความรักใด ที่เกิดจากความรัก ความรักนั้นก็ไม่มี ความเกลียดใด ที่เกิด จากความรัก ความเกลียดนั้น ก็ไม่มี ความรักใด ที่เกิดจากความเกลียด ความรักนั้นก็ไม่มี ความเกลียดใดที่เกิดจากความเกลียด ความเกลียดนั้นก็ไม่มี

ปฐมธรรม หน้า 197

๗๒

ความสำคัญของสมถะและวิปัสสนา


ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา(ความรู้แจ้ง) ๒ อย่างอะไรเล่า?
๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา

ภิกษุทั้งหลาย ! สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
อบรมแล้ว จิตจะเจริญจิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว จะละราคะได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้ แล

ปฐมธรรม หน้า 198

๗๓

ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน


ภิกษุทั้งหลาย ! ค ง ค า น ที ลุ่ม ไ ป ท า ง ทิศตะวันออก ลาดไปทาง ทิศตะวันออก เทไปทางทิศ ตะวันออก ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน ฉันนั้นก็เหมือนกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไป ทางนิพพานลาดไป ทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจาก อกุศลธรรม ทั้งหลาย เข้าถึงปฐม ฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข อันเกิดจาก วิเวกแล้วแลอยู่ เพราะความที่วิตก วิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่อง ผ่องใสใจในภายใน ให้สมาธิ

เป็นธรรมอันเอก ผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ อนึ่ง เพราะความ จางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ และสัมปชัญญะ และ ย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้

เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอย่; เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้เพราะ ความ ดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อนเข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มี สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่

ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล ภิกษุเจริญฌานทั้ง ๔ อยู่ กระทำฌานทั้ง ๔ ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทาง นิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน.

ปฐมธรรม หน้า 200

๗๔
อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ ๒ ประการ


ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติอันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้

ภิกษุไปแล้วสู่ป่าหรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอนั้น มีสติหายใจเข้ามีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า“เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง (สพฺพกายปฏิสํเวที) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ (ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า

เราเป็น ผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ (ปีติปฏิสํเวที) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข (สุขปฏิสํเวที) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร (จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า

เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ (ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต (จิตฺตปฏิสํเวที) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง (อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น (สมาทหํ จิตฺตํ) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า

เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ (วิโมจยํ จิตฺตํ) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า

เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ (อนิจฺจานุปสฺสี) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ (วิราคานุปสฺสี) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า
เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ (นิโรธานุปสฺสี) หายใจเข้า
ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ (ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี) หายใจเข้า ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาผล ๒ ประการ เป็นสิ่งที่หวังได้  คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือว่าถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จักเป็น อนาคามี.

ปฐมธรรม หน้า 204

๗๕

อานาปานสติระงับได้ซึ่งอกุศลทั้งหลาย


(ทรงปรารภเหตุที่ภิกษุทั้งหลายได้ฆ่าตัวตายบ้างฆ่ากันและกันบ้าง เนื่องจากเกิดความ อึดอัดระอา เกลียดกายของตน เพราะการปฏิบัติอสุภภาวนา จึงได้ทรงแสดงอานา ปานสติสมาธิแก่ภิกษุเหล่านั้น)

ภิกษุทั้งหลาย !อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นของ รำงับ เป็นของ ประณีตเป็นของเย็น เป็นสุขวิหาร และย่อมยัง อกุศลธรรมอันเป็นบาป อันเกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป ให้รำงับไป โดยควรแก่ฐานะ

ภิกษุทั้งหลาย !เปรียบเหมือนฝุ่นธุลีฟุ้งขึ้นแห่งเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ฝนหนัก ที่ผิด ฤดูตกลงมา ย่อมทำ ฝุ่น ธุลีเหล่านั้นให้อันตรธานไป ให้รำงับไปได้ โดยควร แก่ฐานะ

ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ก็เป็นของระงับ เป็นของประณีต เป็นของเย็นเป็นสุขวิหาร และย่อมยังอกุศลธรรมอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้น แล้วและเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานไป โดยควรแก่ฐานะได้ ฉันนั้น

ปฐมธรรม หน้า 206

๗๖

เจริญอานาปานสติชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน


ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าภิกษุ เจริญอานาปานสติแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือภิกษุนี้ เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจาก ฌาน ทำตาม คำสอนของพระศาสดาปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่น แคว้นเปล่า ก็จะป่วยกล่าวไปไย ถึงผู้กระทำให้มากซึ่ง อานาปานสติ นั้นเล่า

ปฐมธรรม หน้า 207

๗๗

ลมหายใจก็คือ “กาย”


ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำ กายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า ว่า เรา เป็นผู้ทำ กายสังขารให้รำงับ หายใจออก

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความ เพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลก ออกเสียได้

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกาย อันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็น กายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียร เผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌา และโทมนัสในโลกออกเสียได้

ปฐมธรรม หน้า 209

๗๘
ผู้เจริญอานาปานสติย่อมชื่อว่าเจริญกายคตาสติ


ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้
ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า ว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขาร ให้รำงับ หายใจออก

เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละ ความระลึก และความ ดำริอันอาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความระลึก และความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ ด้วยดี เป็นธรรมเอก ผุดมีขึ้น เป็นสมาธิ อยู่ใน ภายในนั่นเทียว

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ.

ปฐมธรรม หน้า 211

๗๙

ลักษณะของผู้เจริญกายคตาสติ


ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก  ภิกษุ เมื่อเดินอยู่ย่อมรู้ชัด ว่า “เราเดินอยู่” เมื่อยืน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรายืนอยู่” เมื่อนั่ง ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานั่งอยู่” เมื่อนอน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานอนอยู่” เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการ อย่างใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึง กายนั้น ด้วยอาการ อย่างนั้นๆ …

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก  ภิกษุย่อมเป็นผู้มีปกติทำ ความรู้สึกตัวทั่ว พร้อม ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยกลับข้างหลัง. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแลดู ในการเหลียวดู เป็นผู้มีปกติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการคู้ ในการเหยียด (อวัยวะ)

เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการทรงสังฆาฏิบาตร จีวร เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการไป การหยุดการนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละ ความระลึกและ ความ ดำริอันอาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความระลึก และความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ ด้วยดี เป็นธรรม อันเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ใน ภายในนั่นเทียว

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ …

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติ อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลง ในภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันผู้ใด ผู้หนึ่งถูกต้อง ด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่ง ซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายใน ของผู้นั้นฉะนั้น (นอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงการ เจริญอสุภะ ตามที่มีปรากฏ ในมหาสติปัฏฐานสูตร และการเจริญฌานทั้ง ๔ โดยตรัสว่า การกระทำเช่นนี้ ก็เป็นเจริญกายคตาสติเช่นกัน)

ปฐมธรรม หน้า 213

๘๐

การตั้งจิตในกายคตาสติเป็นเสาหลักอย่างดีของจิต


ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตอยู่กับกายภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากิน ต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือเขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียว เส้นหนึ่ง จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก จับลิง มาผูกด้วยเชือก เหนียวเส้นหนึ่งๆ แล้วผูกรวมเข้าด้วยกันเป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิดมีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไป สู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า ครั้นเหนื่อย ล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้น ก็ต้องถูกลากติดตาม ไปตามอำนาจของสัตว์นั้น ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใด ไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูป ที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียง ที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

จมูก ก็จะฉุด เอาภิกษุนั้นไปหากลิ่น ที่นี่น่าสูดดม
กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รส ที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัส ที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็น สิ่ง ที่เธอรู้สึก อึดอัด ขยะแขยง

ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

ปฐมธรรม หน้า 215

ลักษณะของผู้ตั้งจิตอยู่กับกาย
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากิน ต่างกัน มาผูกรวม กัน ด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูก ด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัข จิ้งจอก และ จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียว เส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือ เสาหลักอีกต่อหนึ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้นมีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไป สู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัข จิ้งจอก จะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่าอยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใด ได้อบรมทำให้มากใน กายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูป ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียง ที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รส ที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัส ที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง

ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก” นี้ เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า

กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย
จักเป็นสิ่งที่เราอบรม
กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้
เพียรตั้งไว้เนืองๆ
เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย !พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า 218

๘๑

ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง


ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน  เต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินตามริม ลำธาร ในตอนเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น เช่นเดียวกัน เต่าตัวนี้ได้เห็น สุนัข จิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากิน (เดินเข้ามา) แต่ไกล ครั้นแล้วจึงหดอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะ เป็นที่ ๕ เข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่ง อยู่ แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็น เต่าตัวที่เที่ยวหากิน นั้นแต่ไกลเหมือนกัน

ครั้นแล้วจึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า “เมื่อไรหนอเต่าจักโผล่อวัยวะ ส่วนใด ส่วนหนึ่งออก ในบรรดาอวัยวะทั้งหลายมีศีรษะเป็นที่ ๕ แล้ว จักกัด อวัยวะ ส่วนนั้น คร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้ โอกาสต้องหลีกไปเอง

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น มารผู้ใจบาป ก็คอยช่องต่อพวกเธอทั้งหลาย ติดต่อ ไม่ขาดระยะอยู่ เหมือนกันว่า “ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด

ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัส โผฏฐัพพะด้วยกาย หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว จงอย่าได้ถือเอา โดยลักษณะ ที่เป็นการรวบถือทั้งหมด อย่าได้ถือเอาโดย ลักษณะ ที่เป็นการ แยกถือ เป็นส่วนๆเลย สิ่งที่เป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌา และโทมนัสจะพึงไหล ไปตาม บุคคล ผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ เหล่าใด เป็นเหตุ

พวกเธอทั้งหลาย จงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ พวกเธอทั้งหลาย จงรักษา และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ ทั้งหลายอยู่ ในกาลนั้นมาร ผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอ ทั้งหลาย และจักต้องหลีกไปเอง เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจาก เต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น

เต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด ภิกษุพึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้นเป็นผู้ ที่ตัณหา และทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด เป็นผู้ดับสนิท แล้ว” ดังนี้แล

ปฐมธรรม หน้า 221

๘๒

ให้ตั้งจิตในกายคตาสติเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมัน


ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนหมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า มีนางงามในชนบท พึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้น น่าดูอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ น่าดูอย่างยิ่ง ในการขับร้อง หมู่มหาชน ได้ทราบข่าวว่า นางงามใน ชนบท จะฟ้อนรำขับร้อง พึงประชุมกันยิ่งขึ้นกว่าประมาณ

ครั้งนั้น บุรุษผู้อยากเป็นอยู่ไม่อยากตาย ปรารถนา ความสุขเกลียดทุกข์ พึงมา กล่าวกับ หมู่มหาชนนั้นอย่างนี้ว่า

บุรุษผู้เจริญ ! ท่านพึงนำภาชนะน้ำมัน อันเต็ม เปี่ยมนี้ ไปใน ระหว่าง ที่ประชุมใหญ่กับ นางงามในชนบท และจักมีบุรุษเงื้อดาบตามบุรุษ ผู้นำหม้อน้ำมันนั้นไป ข้างหลังๆ บอกว่า ท่านจักทำน้ำมันนั้นหกแม้หน่อยหนึ่ง ในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาดตกลงไปในที่นั้น ทีเดียว

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน ? บุรุษผู้นั้น จะไม่ใส่ใจ ภาชนะน้ำมันโน้นแล้ว พึงประมาทในภายนอกเทียวหรือ ?

“ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

ภิกษุทั้งหลาย ! เราทำอุปมานี้ เพื่อให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดขึ้น เนื้อความในข้อนี้ มีอย่างนี้ แล คำว่าภาชนะ น้ำมันอันเต็มเปี่ยม เป็นชื่อของกายคตาสติ

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ จักเป็น ของอันเราเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดัง ยานกระทำให้เป็นที่ตั้งกระทำ ไม่หยุด สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า 223

๘๓
อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ


ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด ไม่บริโภคกายคตาสติชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ
ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ
ภิกษุทั้งหลาย !กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ส้องเสพแล้วอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้น ไม่ส้องเสพแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดส้องเสพแล้วอมตะชื่อว่า อันชนเหล่านั้น ส้องเสพแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย !กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้วอมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว

ปฐมธรรม หน้า 224

๘๔
การดำรงสมาธิจิต เมื่อถูกเบียดเบียนทางวาจา


ภิกษุทั้งหลาย ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ
๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ
๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล
๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง
๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย
๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้นในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า“ จิตของเราจัก ไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาปเราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดู เกื้อกูลมีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มี โทสะ ใน ภายในอยู่ จักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่

และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาอันเป็นจิตไพบูลย์ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทแผ่ไปสู่โลก ถึงที่สุด ทุกทิศทางมีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเนียกอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาสีมาเป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่า อย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏ อยู่ได้ แลหรือ ?

“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”

เพราะเหตุไรเล่า ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีรูปไม่ได้ แสดงออก ซึ่งรูป ไม่ได้ ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏ อยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้น จะเป็นผู้มีส่วนแห่งความ ลำบาก คับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำ สำหรับการ กล่าวหา ๕ ประการนั้นเมื่อ เขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใด ประการหนึ่ง อยู่เธอพึง ทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า

จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาปเราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบ ด้วย เมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่ จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยัง บุคคลนั้นอยู่ และจักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวรไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุด ทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้
(คือมีจิตเหมือนอากาศ อันใครๆ จะเขียนให้เป็นรูป ปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น)

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล... (นอกจากนี้ยังทรงอุปมาเปรียบ กับบุรุษถือเอาจอบ และกระทอมาขุดแผ่นดิน หวังจะไม่ให้เป็นแผ่นดินอีก เปรียบกับบุรุษ ถือเอาคบเพลิงหญ้ามาเผา แม่น้ำ คงคา หวังจะให้เดือดพล่านซึ่งเป็นฐานะที่ไม่อาจ เป็นได้)

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า โจรผู้คอยหาช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใคร ด้วยเลื่อย มีด้ามสองข้าง ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตาม คำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น

ภิกษุทั้งหลาย !ในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า

จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบ ด้วยเมตตาไม่มีโทสะในภายใน อยู่ จักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่และจักมี จิตสหรคต ด้วยเมตตา อันเป็น จิตไพบูลย์ ใหญ่หลวงไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุก ทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด

ภิกษุทั้งหลาย !เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการ กล่าวหา เล็กหรือใหญ่ ที่เธอ อดกลั้นไม่ได้อยู่อีกหรือ ?

“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงกระทำ ในใจถึง โอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เป็นประจำเถิด นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล และความสุข แก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน.

ปฐมธรรม หน้า 229

๘๕
อานิสงส์แห่งการปฏิบัติสมาธิแบบต่างๆ


ราหุล ! เธอจง เจริญเมตตาภาวนา เถิด
เมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่
พยาบาท จักละไป

ราหุล ! เธอจง เจริญกรุณาภาวนา เถิด
เมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่
วิหิงสา (ความคิดเบียดเบียน) จักละไป

ราหุล ! เธอจง เจริญมุทิตาภาวนา เถิด
เมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่
อรติ (ความไม่ยินดีด้วยใครๆ)จักละไป.

ราหุล ! เธอจง เจริญอุเบกขา เถิด
เมื่อเธอเจริญอุเบกขาอยู่
ปฏิฆะ (ความหงุดหงิดแห่งจิต) จักละไป

ราหุล ! เธอจง เจริญอสุภะภาวนา เถิด
เมื่อเธอเจริญอสุภะภาวนาอยู่
ราคะ
จักละไป

ราหุล ! เธอจง เจริญอนิจจสัญญาภาวนา เถิด
เมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่
อัส๎มิมานะ (ความสำคัญว่าตัวตนและของตน) จักละไป

ปฐมธรรม หน้า 230

๘๖
ลักษณะของผู้ที่ง่ายต่อการเข้าสมาธิ


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ไม่ควร เพื่อเข้าถึง สัมมาสมาธิ แล้วแลอยู่ ๕ ประการ อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ๕ ประการ คือ
ภิกษุในกรณีนี้
(๑) เป็นผู้ ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย
(๒) ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย
(๓) ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย
(๔) ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย
(๕) ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แลเป็นผู้ไม่ควร เพื่อเข้าถึง สัมมาสมาธิ แล้ว แลอยู่

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุที่ประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ ควร เพื่อเข้าถึงสัมมาสมาธิ แล้วแลอยู่

๕ ประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ๕ ประการ คือ
ภิกษุในกรณีนี้
(๑) เป็นผู้ อดทนต่อรูปทั้งหลาย
(๒) อดทนต่อเสียงทั้งหลาย
(๓) อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย
(๔) อดทนต่อรสทั้งหลาย
(๕) อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล เป็นผู้ควร เพื่อเข้าถึง สัมมา สมาธิ แล้วแลอย่.

ปฐมธรรม หน้า 232

๘๗
เจริญสมาธิให้ได้อย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง


ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ เป็นผู้ควรเพื่อจะได้ ผลกำไร ที่ยังไม่ได้หรือ เพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไป

๓ ประการ อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ
ชาวร้านตลาด ในกรณีนี้ ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุด ในเวลาเช้า ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่าง ดีที่สุด ในเวลากลางวัน ย่อมจัดย่อมทำกิจการงานอย่างดีที่สุด ในเวลาเย็น

ภิกษุทั้งหลาย ! ชาวร้านตลาดที่ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการเหล่านี้แล เป็นผู้ควร เพื่อจะ ได้ ผลกำไรที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำผลกำไรที่ได้รับอยู่แล้ว ให้งอกงามออกไป นี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุ ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้ควร เพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือเพื่อทำกุศลธรรม ที่บรรลุแล้ว ให้งอกงามยิ่งขึ้นไป

๓ ประการ อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ๓ ประการ คือ  
ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเช้า
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลากลางวัน
ย่อมกำหนดสมาธินิมิตโดยเอื้อเฟื้อในเวลาเย็น

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล
ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อจะบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ
หรือเพื่อทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้นไป

ปฐมธรรม หน้า 234

๘๘
การอยู่ป่ากับการเจริญสมาธิ สำหรับภิกษุบางรูป


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ มีความประสงค์ จะเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าหรือ ป่าเปลี่ยว”

อุบาลี ! เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า หรือ ป่าเปลี่ยว อยู่ได้ยาก ปวิเวกทำได้ยาก ความอยู่ คนเดียว เป็นสิ่งที่ยินดี ได้ยาก ป่ามักจะนำไปเสียซึ่งใจ ของภิกษุ ผู้ไม่ได้สมาธิอยู่

อุบาลี ! ผู้ใดพูดว่า “เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ในเสนาสนะ อันสงัดคือป่า หรือป่าเปลี่ยว” ดังนี้

เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลงหรือจิตจักปลิวไป

อุบาลี ! เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ มีอยู่ช้างพลายสูงเจ็ดรัตน์ หรือเจ็ดรัตน์ครึ่ง มาสู่ที่นั้น แล้วคิดว่า “เราจะลง สู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำ ล้างหลังบ้าง ตามปรารถนา” ดังนี้ ช้างนั้น กระทำได้ดังนั้น

เพราะเหตุไร ? อุบาลี ! เพราะเหตุว่า ช้างนั้นตัวใหญ่จึงอาจหยั่งลง ในห้วงน้ำลึกได้

ครั้งนั้น กระต่ายหรือแมวป่า มาเห็นช้างนั้นแล้วคิดว่า “ช้างจะเป็นอะไรที่ไหนมา เราก็จะ เป็นอะไรที่ไหน ไปดังนั้นเราจะลงสู่ห้วงน้ำนี้ แล้วเล่นน้ำ ล้างหูบ้าง เล่นน้ำล้างหลังบ้าง แล้วพึงอาบ พึงดื่ม พึงขึ้นจาก ห้วงน้ำ แล้วหลีกไป ตามปรารถนา” ดังนี้

กระต่ายหรือแมวป่านั้นกระโจนลงสู่ห้วงน้ำนั้น โดยไม่พิจารณา ผลที่มันหวังได้ ก็คือ จมดิ่งลงไป หรือลอยไป ตามกระแสน้ำ.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

เพราะว่ากระต่ายหรือแมวป่านั้นตัวมันเล็กจึงไม่อาจหยั่งลงในห้วงน้ำลึก นี้ฉันใด
อุบาลี ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ ผู้ใดพูดว่า“เราไม่ได้สมาธิ เราจักไปอยู่ใน เสนาสนะ อันสงัด คือป่าหรือ ป่าเปลี่ยว” ดังนี้

เขานั้น พึงหวังผลข้อนี้ คือ จิตจะจมลง หรือจิตจักปลิวไป

(เนื้อความข้อนี้แสดงว่า การออกไปอยู่ป่ามิได้เหมาะสำหรับทุกคน. ผู้ใดคิดว่าจักบรรลุ ปฐมฌาน ทุติยฌาน กระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ อันไม่มี อาสวะ ด้วยเหตุเพียงสักว่า อยู่ป่าอย่างเดียวนั้น ไม่อาจจะสำเร็จได้ เพราะ ไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตามถึงประโยชน์ตน (อนุปฺปตฺตสทตฺถ) ได้ด้วยเหตุสักว่า การอยู่ป่า ดังนั้นพระองค์ จึงตรัสกะภิกษุอุบาลีว่า)

อุบาลี ! เธอ จงอยู่ในหมู่สงฆ์เถิดความผาสุกจักมีแก่เธอผู้อยู่ในหมู่สงฆ์ ดังนี้.

ปฐมธรรม หน้า 237

๘๙
ผลของการกระทำที่ทำได้เหมาะสมกับเวลา


ภิกษุทั้งหลาย ! กาล ๔ ประการนี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ ถึงความสิ้นอาสวะ โดยลำดับ

กาล ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า คือ
๑. การฟังธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสฺสวนํ)
๒. การสนทนาธรรมตามกาล (กาเลน ธมฺมสากจฺฉา)
๓. การทำสมถะตามกาล (กาเลน สมโถ)
๔. การทำวิปัสสนาตามกาล (กาเลน วิปสฺสนา)

ภิกษุทั้งหลาย ! กาล ๔ ประการนี้แล อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้น อาสวะ โดยลำดับ

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนภูเขาน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและห้วยเต็มแล้ว ย่อมยังบึงน้อยให้เต็ม บึงน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังบึงใหญ่ให้เต็ม บึงใหญ่ เต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อย ให้เต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็ม แม้ฉันใดกาล ๔ ประการนี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดย ลำดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ปฐมธรรม หน้า 238

๙๐
จงเป็นผู้มีสติคู่กันไปกับสัมปชัญญะ


ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ นี้เป็น อนุสาสนี ของเรา แก่พวกเธอทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌา และ โทมนัสในโลก

เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก

เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก

เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.

ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลังการแลดู การเหลียวด การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิบาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอนการหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ นี้เป็น อนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.

ความสำคัญของคำพระผู้มีพระภาคเจ้า

ปฐมธรรม หน้า 242