เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ             

  อินทรีย์สังวร - พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
  01 of 3  
 
  อินทรีย์สังวร พุทธวจน       ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
       
  บทนำ    
   “ดูกายดูใจ” “ดูจิต” “ตามดู ตามรู้”    
  “อาการของจิต” เพียงแค่ ๘ คู่อาการเท่านั้น    
       
  ผลเสียของการปล่อยจิตให้เพลินกับอารมณ์ 15  
  ๑. ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓ 16  
  ๒. ไม่อาจที่จะหลุดพ้นไปจากทุกข์ 20  
  ๓. เพลินอยู่กับอายตนะ เท่ากับ เพลินอยู่ในทุกข์ 22  
  ๔. ลักษณะของการอยู่อย่างมีตัณหาเป็นเพื่อน 24  
  ๕. ไม่อาจถึงซึ่ง ความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย 29  
       
  ตัวอย่างพุทธวจน ที่ทรงตรัสไม่ให้ปล่อยจิตให้เพลินกับอารมณ์ 31  
  ๖. ละความเพลิน จิตหลุดพ้น 32  
  ๗. ความพอใจ เป็นเหตุแห่งทุกข์ 33  
  ๘. เมื่อคิดถึงสิ่งใด แสดงว่าพอใจในสิ่งนั้น 34  
  ๙. ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ 35  
  ๑๐. ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด” 37  
  ๑๑. เมื่อมีความพอใจ ย่อมมีตัณหา 39  
  ๑๒. ตัณหา คือเครื่องนำ ไปสู่ภพใหม่อันเป็นเหตุเกิดทุกข์ 41  
  ๑๓. สิ้นความอยาก ก็สิ้นทุกข์ 43  
  ๑๔. มีความเพลิน คือมีอุปาทาน ผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน 45  
  ๑๕. ในอริยมรรคมีองค์ ๘ 49  
  ๑๖. ทรงตรัสว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งกระทำ ” 51  
  ๑๗ ต้องเพียรละความเพลินในทุกๆ อิริยาบถ 54  
       
 
 





บทนำ

มนุษย์เป็นสัตว์ที่สื่อสารกันด้วยระบบภาษาที่ซับซ้อน ทั้งโครงสร้าง และความหมาย วจีสังขาร ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นนั้น มีความวิจิตรเทียบเท่าดุจความละเอียดของจิตทั้งนี้ เพราะจิต เป็นตัวสร้างการหมายรู้ต่างๆ (จิต เป็นเหตุในการเกิดของนามรูป และนามรูป ซึ่งจิตสร้างขึ้นนั้น เป็นเหตุในการดำรงอยู่ได้ของจิต) ถ้อยคำหนึ่งๆ ในภาษาหนึ่งๆ เมื่อนำไปวางไว้ในบริบทต่างๆ กัน ก็มีความหมายต่างกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำหนึ่งๆ ในบริบทเดียวกัน สามารถถูกเข้าใจต่างกัน ในความหมายได้ ขึ้นอยู่กับการหมายรู้เฉพาะของจิตผู้รับสาร ซึ่งก็มีอนุสัย ในการปรุงแต่ง แตกต่างกันไป ความหยาบละเอียดในอารมณ์ อันมี ประมาณต่างๆ แปรผันไปตามการหมายรู้นั้นๆ การสื่อความ ให้เข้าใจตรงกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แม้เรื่องราวในระดับชีวิตประจำวัน แม้ในระหว่างบุคคลที่มี ความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม การผิดใจกัน ที่มีเหตุมาจากการสื่อ ความหมาย ที่ไม่ตรง ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ กับกรณีของ ปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งมีมิติละเอียด ปราณีตที่สุด ในระบบสังขตธรรม ใครเล่าจะมีความสามารถในการบัญญัติระบบคำพูด ที่ใช้ถ่ายทอด บอกสอนเรื่องจิตนี้ ให้ออกมาได้เป็นหลักมาตรฐานเดียว และใช้สื่อเข้าใจ ตรงกันได้ โดยไม่จำกัด กาลเวลา

 “ดูกายดูใจ” “ดูจิต” “ตามดู ตามรู้”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วลีข้างต้นนั้น ถูกใช้พูดกันทั่วไปเป็นปกติในหมู่นักภาวนาปกติ จนเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกมองข้ามเพิกเฉย (take for granted) ไปราวกับว่า ใครๆ ก็รู้กันหมดแล้ว เหมือนคำที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ฯ หากพิจารณาให้ดี จะพบจุดสังเกต ๒ ข้อ

๑. เมื่อถูกถามลงไปในขั้นตอนโดยละเอียด ว่าอะไรอย่างไร เกี่ยวกับ ดูกายดูใจ ดูจิต ฯ คำตอบที่ได้ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือต่างก็อ้างว่า มาจากมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นทางเอก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

๒. ในแง่ของความแตกต่างดังกล่าวนั้น ส่วนมากมักจะบอกกันว่า เป็นเรื่องธรรมดา “แล้วแต่จริต” จะปฏิบัติกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน” เมื่อมาใคร่ครวญ ดูแล้ว จะพบความแปลกประหลาดซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง คือ ทั้ง ๒ ข้อนั้นเป็นสิ่งที่ถูก take for granted อีกเช่นกัน เสมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกัน โดยทั่วไปแล้วว่า การปฏิบัติที่ แตกต่างกันนั้น เป็นเรื่องธรรมดา “แล้วแต่จริต” และ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน” โดยละเลย การทำความเข้าใจ ที่ถูกต้องชัดเจน ว่าอะไรอย่างไรในความแตกต่างนั้น

เหตุการณ์ทั้ง ๒ นี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับอริยสาวก ผู้ประกอบพร้อมด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ผู้ถึงซึ่งศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหว ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงการนับว่าเป็นคนของพระพุทธเจ้า โดยไม่มีข้อสงสัยแล้ว ย่อมที่จะรู้ด้วย อสาธารณญาณ โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก จากใครอื่น ว่าธรรมะที่ถูกบัญญัติ โดยพระพุทธเจ้านั้น จะมีคุณลักษณะคล้องเกลียว เชื่อมโยงเป็นหนึ่ง

“ภิกษุทั้งหลาย ! นับแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณ จนกระทั่งถึง ราตรี ที่ตถาคตปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าว สอน พร่ำสอน แสดงออก ซึ่งถ้อยคำใด ถ้อยคำเหล่านั้น ทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้ โดยประการเดียว ทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย”

ก่อนพุทธปรินิพพาน ทรงรับสั่งไว้กับพระอานนท์เถระว่า ความสอดคล้องเข้ากันเป็นหนึ่ง นี้ให้ใช้เป็นหลักมาตรฐานในการตรวจสอบว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่พระธรรมวินัย (มหาปเทส ๔) ยิ่งไปกว่านั้นทรงระบุไว้ด้วยว่า หากรู้แล้วว่าไม่ใพระธรรมวินัย ให้เราละทิ้ง สิ่งนั้นไปเสีย ความสามารถในการใช้บทพยัญชนะที่มีอรรถะ (ความหมาย) สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวนี้ เป็นพุทธวิสัย มิใช่สาวกวิสัย

ทั้งนี้ เพราะเหตุคือความต่างระดับชั้นกัน ของบารมีที่สร้างสมมา พระตถาคต สร้างบารมี มาในระดับ พุทธภูมิ เพื่อให้ได้มา ซึ่งความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระสาวก สร้างบารมี ในระดับสาวกภมิเพื่อให้ได้มา ซึ่งโอกาสในการเป็นสาวกในธรรมวินัยนี้

ที่มาที่ไปของคำว่า ดูจิต หรือ ตามดูตามรู้ฯ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน ที่จะสืบค้นตัวสูตร ที่เป็น พุทธวจน เพื่อใช้ตรวจสอบเทียบเคียงตามหลักมหาปเทส ก็มีอยู่ใช่หรือไม่ว่า ปัญหาที่แท้จริง ทั้งกับในกรณีนี้ และอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ คือ ความขี้เกียจ ความมักง่าย ของชาวพุทธนั่นเอง ที่ไม่อยากเข้าไปลงทุนลงแรงศึกษา สืบค้นพุทธวจน แล้วไปคาดหวัง ลมๆ แล้งๆ ว่า น่าจะมีใครสักคนหนึ่ง หรือสองคน ที่มีความสามารถ พิเศษ คิดค้นย่นย่อ หลักธรรม ที่พระตถาคตบัญญัติไว้ เป็นสวากขาโตแล้วนั้น ให้ง่าย สั้นลง

กว่าได้การเชื่อเช่นนี้ เป็นลักษณะความเชื่อ ของปุถุชนผู้มิได้สดับ- มิได้เห็นพระอริยเจ้า- ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอริยเจ้า- ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า จึงไม่ทราบว่า พระสาวกมีภูิมิธรรมจำกัด อยู่เพียงแค่เป็นผู้เดินตามมรรค ที่พระตถาคต บัญญัติไว้ เท่านั้น (มคฺคานุคา จ ภิกฺขเว เอตรหิ สาวกา วิหรนฺติ ปจฺฉา สมนฺนาคตา)

ผู้ที่สร้างบารมีมาในระดับสาวกภูมิ ไม่มีความสามารถในการคิดสร้างมรรคขึ้นเอง ไม่เว้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา (ปญฺญาวิมุตฺเตน ภิกฺขุนาติ) ก็ตามพระพุทธเจ้า (อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ) ในฐานะพระศาสดานั้น มีคุณสมบัติเหนือไปกว่า คือทรงเป็นผู้ รู้มรรค (มคฺคญฺญู) รู้แจ้งในมรรค (มคฺควิทู) และเป็นผู้ฉลาดในมรรค (มคฺคโกวิโท)

พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่ง ป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สูตรใดๆ ก็ตามที่แต่งขึ้นใหม่ ในภายหลัง แม้จะมีความสละสลวยวิจิตร เป็นของนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก ให้เราไม่สำคัญตนว่า เป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนศึกษา ในทางกลับกัน คำกล่าวของตถาคต อันมีความหมายลึกซึ้งนั้น ให้เราสำคัญตนว่า เป็นสิ่งที่ควร เล่าเรียนศึกษา และให้พากัน เล่าเรียนศึกษาคำของตถาคต นั้นแล้วให้ไต่ถามทวนถามกัน และกัน ในเรื่องนั้นๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงกล่าว เรื่องนี้ไว้อย่างไร

ข้างต้นนี้ คือวิธีการเปิดธรรม ที่ถูกปิดด้วย พุทธวจน และชาวพุทธที่มีการศึกษา ในลักษณะนี้ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา)

พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทอันเลิศในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น แบ่งฐานที่ตั้ง แห่งสติ ออกเป็น ๔ ฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรมโดยแต่ละฐาน มีรายละเอียด ระบุชัดเจน ว่าปฏิบัติ อย่างไร ขอบเขตแค่ไหน และจบลงอย่างไรผู้ที่ศึกษาพุทธวจน โดยละเอียด รอบคอบ ย่อมที่จะเข้าใจแง่มุม ต่างๆ โดยลึกซึ้งครบถ้วน และย่อมที่จะรู้ ได้ว่า ความแตกต่างในมรรควิธี มีได้ แต่ไม่ใช่มีโดย สะเปะสะปะ ไร้เงื่อนไขขอบเขต

หากแต่มีได้ หลากหลายได้ ภายใต้พุทธบัญญัติซึ่งมีลักษณะเชื่อมโยง สอดคล้อง เป็นหนึ่งผล อานิสงส์มุ่งหมายในที่สุด ก็สามารถเข้าถึงได้ ด้วยวิธีอันหลากหลายภายใต้ ความเป็นหนึ่ง นี้ในวาระนี้

จะขอยกหมวดของ จิตตานุปัสสนา คือการตามเห็นในกรณีของจิต ขึ้นเป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน มีผู้ที่ดูจิต หรือดูอาการของจิต โดยใช้คำอธิบายสภาวะของจิต ซึ่งบัญญัติ ขึ้นใหม่เอง แล้วหลงเข้าใจไปว่า การฝึกตามดู ตามรู้สภาวะนั้นๆ ไปเรื่อยๆ คือการเจริญสติ คือการดูจิต หากพิจารณาโดยแยบคายแล้ว คำเรียกอาการของจิต ที่คิดขึ้นใหม่เอง ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเพียงการตั้งชื่อเรียกอารมณ์ อันมีประมาณต่างๆ และการตามเห็นสภาวะนั้นๆ ไปเรื่อยๆ ก็คือการฝึกผูกจิตติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่ง ความเพลิน (ฝึกจิตให้มีสัญโญคะ) จะด้วยเหตุอย่างไรก็ตามแต่

ระบบคำเรียกที่ต่างกันตรงนี้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเทียบในระดับ ความละเอียดของจิตแล้ว องศาที่เบี่ยงเพียงเล็กน้อย ณ จุดตรงนี้สามารถนำไปสู่ ผลลัพธ์ที่สุด ในการปฏิบัติ คืออานิสงส์มุ่งหมาย ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนัยยะหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ ทรงบัญญัติให้เราตามเห็นจิต (จิตฺตานุปสฺสนา) แท้จริงแล้ว ก็เพื่อให้เห็น เหตุเกิด และเสื่อมไป โดยอาศัยการตามเห็น “อาการของจิต” เพียงแค่ ๘ คู่อาการเท่านั้น


“อาการของจิต”๘ คู่อาการ

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
(๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีราคะ ว่า “จิตมีราคะ”
(๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากราคะ ว่า “จิตปราศจากราคะ”
(๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า “จิตมีโทสะ”
(๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโทสะ ว่า “จิตปราศจากโทสะ”
(๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโมหะ ว่า “จิตมีโมหะ”
(๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโมหะ ว่า “จิตปราศจากโมหะ”
(๗) รู้ชัดซึ่งจิตอันหดหู่ ว่า “จิตหดหู่”
(๘) รู้ชัดซึ่งจิตอันฟุ้งซ่าน ว่า “จิตฟุ้งซ่าน”
(๙) รู้ชัดซึ่งจิตอันถึงความเป็นจิตใหญ่ ว่า “จิตถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๐) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ ว่า “จิตไม่ถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ว่า “จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ว่า “จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันตั้งมั่น ว่า “จิตตั้งมั่น”
(๑๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ตั้งมั่น ว่า “จิตไม่ตั้งมั่น”
(๑๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว ว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”
(๑๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังไม่หลุดพ้น ว่า “จิตยังไม่หลุดพ้น”

ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณา เห็นจิตในจิต (จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ) อันเป็นภายใน อยู่บ้าง ในจิตอันเป็นภายนอกอยู่บ้าง ในจิตทั้งภายใน และ ภายนอก อยู่บ้าง และเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุ เกิดขึ้นในจิตอยู่บ้าง เห็นธรรมเป็นเหตุ เสื่อมไป ในจิต อยู่บ้าง เห็นธรรมเป็นเหตุทั้งเกิดขึ้น และเสื่อมไป ในจิตอยู่บ้าง ก็แหละสติ (คือความระลึก) ว่า “จิตมีอยู่” ดังนี้ ของเธอนั้นเป็นสติที่เธอ ดำรงไว้ เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่อความอาศัยระลึก.

ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปกติตามเห็นจิตในจิตอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้ามิได้ให้เราฝึกตามด ูตามรู้เรื่องราวในอารมณ์ไปเรื่อยๆ และ การตามดู ตามรู้ซึ่งจิต (จิตฺตานุปสฺสนา) จะต้องเป็นไปภายใต้ ๘ คู่อาการนี้เท่านั้น

สมมุติสถานการณ์ ตัวอย่าง เช่น ในขณะที่เรากำลัง โกรธอยู่ ในกรณีนี้ หน้าที่ของเรา ที่ต้องทำให้ได้ คือ “รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า จิตมีโทสะ”ไม่ใช่ไปตามดูตามรู้โทสะ (หรือ รู้ในอารมณ์ที่จิตผูกติด อยู่)ในจิตอันมีโทสะขณะนั้น

ปัญหามีอยู่ว่า โดยธรรมชาติของจิต มันรู้ได้อารมณ์เดียว ในเวลาเดียว (one at a time) ในขณะที่ เรากำลังโกรธอยู่นั้น เราจึงต้องละความเพลินในอารมณ์ ที่ทำให้เราโกรธ เสียก่อน ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีทาง “รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า จิตมีโทสะ” ได้เลย มีผัสสะ ➞ จิตรับรู้ อารมณ์ ➞ มีสติ ➞ ละความเพลิน ➞ รู้ชัดซึ่งจิตในระหว่าง ขั้นตอนข้างต้น ถ้าเราสามารถ เห็นธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้น หรือเสื่อมไปในจิต ได้การเห็นตรงนี้ เรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งเป็นจุดประสงค์ ของการ เจริญสติปัฏฐานทั้งสี่

โปรดสังเกต สติปัฏฐานสี่ ทุกหมวด จบลงด้วยการเห็นธรรมอันเป็นเหตุเกิดขึ้น และ เสื่อมไป ขั้นตอนของสติที่เข้าไปตั้งอาศัยในฐานทั้งสี่ เป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่จุดหมาย

เมื่อผัสสะถูกต้องแล้ว หากเราหลงเพลิน “รู้สึก” ตามไปเรื่อยๆ นี่คือ อนุสัย (ตามนอน) หากละ ความเพลินในอารมณ์ แล้วมาเห็นจิต โดยอาการ ๘ คู่ข้างต้น นี่คือ อนุปัสสนา (ตามเห็น) และถ้ามีการ เห็นแจ้ง ในธรรมเป็นเหตุเกิดขึ้นและเหตุเสื่อมไปในจิต นี่คือ วิปัสสนา(เห็นแจ้ง) ถ้าหากว่า

เราไม่สามารถรู้ชัดซึ่งจิต โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ คู่ข้างต้นได้ให้ดึงสติ กลับมารู้ ที่ฐาน คือกาย เช่น อิริยาบถ หรือ ลมหายใจ พลิกกลับเป็นกายานุปัสสนา อย่ามักง่ายไป คิดคำขึ้นใหม่ เพื่อมาเรียกอารมณ์ ที่จิตหลงอยู่ในขณะนั้น เพราะนั่นคือ จุดเริ่ม ของการเบี่ยงออกนอกมรรควิธี (ไปใช้คำอธิบายอาการของจิตที่นอกแนว จากพุทธบัญญัติ เป็นผลให้หลง เข้าใจได้ว่า กำลังดูจิต ทั้งๆ ที่กำลังเพลินอยู่ในอารมณ์ ขาดสติ แต่หลงว่ามีสติ)

นี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการตามเห็นในกรณีจิตตานุปัสสนา คือใช้จิตเป็นฐานที่ตั้ง ของสติ ในกรณีของ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา พึงศึกษา ในลักษณะเดียวกัน คือปฏิบัติตามพุทธวจนในกรณีนั้นๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน ทั้งโดย อรรถะ และโดยพยัญชนะ

พระพุทธเจ้ามองเห็นธรรมชาติในจิตของหมู่สัตว์ ในแบบของผู้ที่สร้างบารมีมาเพื่อบอก สอน การบัญญัติมรรควิธี จึงเป็นพุทธวิสัย หน้าที่ของเราในฐานะพุทธสาวก มีเพียง อย่างเดียว คือปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ โดยระมัดระวังอย่างที่สุด (มคฺคานุคา จ ภิกฺขเว เอตรหิ สาวกา ฯ)

เมื่อเข้าใจความหมายของการตามเห็น (อนุปสฺสนา) และการเห็นแจ้ง (วิปสฺสนา) แล้วทีนี้ จะมีวิธีอย่างไร ที่จะทำให้อัตราส่วน Ratio ของ วิปัสสนา ต่อ อนุปัสสนา มีค่าสูงที่สุด(คือ เน้นการปฏิบัติที่ได้ประสิทธิภาพ มากที่สุด เพื่อความลัดสั้นสู่มรรคผล)

ตัวแปรหลักที่เป็นกุญแจไขปัญหานี้ คือ สมาธิ ตราบใดที่จิตยังซัดส่ายไปๆ มาๆ ทั้งการ อนุปัสสนาก็ดี และการวิปัสสนาก็ดี ต่างก็ทำได้ยากพระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งว่า ให้เรา เจริญสมาธิ เพื่อให้ธรรมทั้งหลายปรากฏ ตามเป็นจริงภิกษุทั้งหลาย !

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ.

ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง.

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร ? ย่อมรู้ชัดซึ่ง

ความเกิดและความดับแห่งรูป
ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ.

นอกจากนี้แล้ว พระพุทธองค์ยังทรงแนะนำเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกรณีที่จิตตั้งมั่น ยากเช่น คนที่คิดมาก มีเรื่องให้วิตกกังวลมาก ย้ำคิดย้ำทำ คิดอยู่ตลอดเวลา หยุดคิดไม่ได้หรือ คนที่เป็น hyperactive มีบุคลิกภาพทางจิต แบบ ADHD ซึ่งมีปัญหาในการอยู่นิ่ง ทรงแนะนำวิธี แก้ไขอาการเหล่านี้ โดยการเจริญทำให้มาก ซึ่งอานาปานสติสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ! ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายก็ตาม ความหวั่นไหวโยกโคลง แห่งจิต ก็ตามย่อมมีไม่ได้ เพราะการเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ

เมื่อถึงตรงนี้ แม้จะไม่เอ่ยถึง เราก็คงจะเห็นได้ชัดแล้วว่า ความสงบแห่งจิต (สมถะ) นั้นจะต้อง ดำเนินไปควบคู่ และเกื้อหนุนกับระดับความสามารถในการเห็นแจ้ง (วิปัสสนา) ซึ่งพระพุทธองค์เอง ได้ตรัสเน้นย้ำในเรื่องนี้ ไว้โดยตรงด้วย

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นอย่างไรเล่า ?

สมถะ และ วิปัสสนา เหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นธรรมที่ควรกระทำให้เจริญ ด้วยปัญญา อันยิ่ง. ธรรมที่ควรกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง มีสองอย่าง คือ ทั้งสมถะ และวิปัสสนานั่น หมายความว่า ทั้งสมถะ และวิปัสสนา เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยปัญญาอันยิ่ง ในการได้มา ดังนั้น ใครก็ตามที่มีความสามารถในการทำจิตให้ตั่งมั้นได้ บุคคลนั้น มีปัญญาอันยิ่ง ใครก็ตาม ที่จิตตั้งมั่นแล้ว สามารถเห็นแจ้งในธรรมอันเป็นเหตุ บุคคลนั้น มีปัญญาอันยิ่ง สำหรับบางคน ที่อาจจะเข้าใจวามหมายได้ดีกว่า

จากตัวอย่างอุปมาเปรียบเทียบพระพุทธองค์ ได้ทรงยกอุปมา เปรียบเทียบไว้ใน ฌานสูตร ว่าเหมือนกับการฝึกยิงธนูเมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่า มีตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องปรับ ให้สมดุล เช่น ความนิ่งของกาย วิธีการจับธนู การเล็ง น้ำหนัก และจังหวะ ในการปล่อยลูกศร

อุปมานี้พอจะทำให้เราเห็นภาพได้ดี ในการเจริญสมถะวิปัสสนา ด้วยปัญญาอันยิ่งว่าการ เห็นแจ้ง ในธรรมอันเป็นเหตุนั้น จะต้องอาศัยความสมดุลย์ต่างๆ อย่างไรบ้าง หากจะพูดให้สั้น กระชับที่สุด การตามดูไม่ตามไปนี้ แท้จริงแล้ว คือ การไม่ตามไป เพราะเมื่อไม่ตาม (อารมณ์อันมีประมาณต่างๆ) ไป มันก็เหลือแค่การตามดูที่ถูกต้อง หลักการไม่ ตามไปนี้ ก็คือ หลักการละนันทิ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับหลักอินทรียสังวร

ภิกษุมิคชาละ ฟังธรรมเรื่องการละนันทิ แล้วหลีกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว ก็บรรลุอรหัตตผล ความเร็วในการละนันทิ ยังถูกใช้เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้า ในการปฏิบัติ จิตภาวนา (ดูความเชื่อมโยงได้ในเรื่อง อินทรียสังวร, การไม่ประมาท, อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ)

หนังสือ “ตามดู ! ไม่ตามไป...” เล่มนี้ จัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวพุทธ โดยการคัดเลือกพุทธวจน ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติ เป็นจำนวนกว่า ๖๐ พระสูตร ซึ่งมีเนื้อหา สอดรับ เชื่อมโยงคล้องเกลียวถึงกัน เพื่อให้เราได้ศึกษา ให้เข้าใจถึงมรรค วิธี ที่ถูกต้อง ทุกแง่มุม ในความหลากหลาย ภายใต้ความเป็นหนึ่งจาก พุทธบัญญัติ โดยตรง

ขอให้บุญบารมีที่ได้สร้างมา ของชาวพุทธผู้ที่กำลังถือหนังสือเล่มนี้อยู่ จงเป็นเหตุปัจจัย ให้ท่านค้นพบคำตอบโดยแจ่มแจ้ง ในข้อสงสัยเรื่องการปฏิบัติ ที่ท่านอาจจะติดข้องอยู่ และ สำหรับบางท่านที่เข้าใจคลาดเคลื่อน ปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปบ้าง มาแต่ทีแรก ก็ขอให้ได้พบ ได้เข้าใจในสิ่งที่ถูก และนำไปใช้ขยับปรับเปลี่ยนให้ตรงทางได้โดยเร็ว

สำหรับท่านที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลย ก็ถือเป็นบุญกุศลที่ได้พบแผนที่ฉบับนี้แต่แรก คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอนอบน้อมสักการะต่อ ตถาคต ผู้อรหันตสัมมา สัมพุทธะ และ ภิกษุสาวก ในธรรมวินัยนี้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงยุคปัจจุบัน ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการสืบทอดพุทธวจน คือ ธรรม และวินัย ที่ทรงประกาศไว้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว

คณะงานธัมมะ วัดนาป่าพง

......................................................................................................................................................................


ผลเสียของการปล่อยจิต ให้เพลินกับอารมณ์


หน้า 16

ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓


ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัยหูด้วย เสียงทั้งหลายด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัยจมูกด้วย กลิ่นทั้งหลายด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัยลิ้นด้วย รสทั้งหลายด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัยกายด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลายด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัยใจด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ นั่นคือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย

จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

บุคคลนั้นเมื่อ สุขเวทนา ถูกต้องอยู่
ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่;
อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอนแก่บุคคลนั้น (ตสฺส ราคานุสโย อนุเสติ)

เมื่อ ทุกขเวทนา ถูกต้องอยู่
เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่ อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

เมื่อ เวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ถูกต้องอยู่
เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง
ซึ่งสมุทยะ (เหตุเกิด) ของเวทนานั้นด้วย
ซึ่งอัตถังคมะ (ความดับไม่เหลือ) แห่งเวทนานั้นด้วย
ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย
ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย
ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย;
อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

บุคคลนั้นหนอ
(สุขาย เวทนาย ราคานุสยํ อปฺปหาย)
ยังละราคานุสัย อันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้

(ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆานุสยํ อปฺปฏิวิโนเทตฺวา)
ยังบรรเทาปฏิฆานุสัย อันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้

(อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสยํ อสมูหนิตฺวา)
ยังถอนอวิชชานุสัย อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้

(อวิชฺชํ อปฺปหาย วิชฺชํ อนุปฺปาเทตฺวา)
เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว,

(ทิฏฺเฐว ธมฺเม ทุกฺขสฺสนฺตกโร ภวิสฺสตีติ)
เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (รู้เห็นได้เลย) นี้ได้ นั้น

(เนตํ ฐานํ วิชฺชติฯ)
ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

หน้า 20


ไม่อาจที่จะหลุดพ้นไปจากทุกข์


ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน รูป
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน เวทนา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สัญญา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สังขารทั้งหลาย
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน วิญญาณ
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์

เรากล่าวว่า
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ในสิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้.

หน้า 22


เพลินอยู่กับอายตนะ เท่ากับ เพลินอยู่ในทุกข์


ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน จักษุ
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน โสตะ
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน ฆานะ
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน ชิวหา
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน กายะ
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน มนะ
ผู้นั้น เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์

เรากล่าวว่า
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.

(ในพระสูตรต่อไป ได้ตรัสถึงในกรณีแห่ง อายตนะภายนอก ๖ ซึ่งมีข้อความเหมือน ในกรณีแห่งอายตนะภายใน ๖ ทุกประการโดยลักษณะการตรัสตรงนี้ คือทรงตรัส แยกเป็นกรณีๆ จนครบซึ่งผู้อ่านควรจะทำความเข้าใจ แยกไปตามกรณี จนครบเช่นกัน การที่ละไว้ด้วย ... ก็เพื่อให้รู้ว่ามีข้อความสรุปที่เหมือนกัน)

หน้า 24


ลักษณะของการอยู่อย่างมีตัณหาเป็นเพื่อน

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”

มิคชาละ !
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้อมใจ มีอยู่.

ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้ เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่นั่นแหละ นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น เมื่อ นันทิ มีอยู่ สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี เมื่อ สาราคะ มีอยู่ สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี

มิคชาละ !
ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจ แห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” (ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลาย อันจะพึงได้ยินด้วยหู กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้ม ด้วยลิ้น โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).

มิคชาละ !
ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะ อันเป็นป่าและป่าชัฏ
ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลม จากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง อยู่นั่นเอง.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น.

ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น
ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็น ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า !”

มิคชาละ !
รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้อมใจ มีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้ แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา ซึ่งรูป นั้น นั่นแหละ นันทิ ย่อมดับ

เมื่อ นันทิ ไม่มีอยู่, สาราคะ ย่อมไม่มี
เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่, สัญโญคะ ย่อมไม่มี


มิคชาละ !
ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้วด้วยการผูกจิต ติดกับอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหู กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).

มิคชาละ !
ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อยู่ในหมู่บ้าน อันเกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย
ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสอง ของภิกษุนั้น
ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ละเสียได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่ อย่างอยู่ผู้เดียว” ดังนี้ แล.

หน้า 29


ไม่อาจถึงซึ่ง ความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย

ภิกษุทั้งหลาย ! คนเลี้ยงโคที่ประกอบด้วยความบกพร่อง ๑๑ อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงโค และทำฝูงโคให้เจริญได้.

ความบกพร่องนั้นคืออะไรกันเล่า ? คือ คนเลี้ยงโคในกรณีนี้ ... เป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นผู้ไม่ปิดแผล ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุผู้ประกอบด้วย องค์คุณ ๑๑ อย่างเหล่านี้แล้ว
ไม่ควรที่จะถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้.

องค์คุณนั้นคืออะไรกันเล่า ?
คือ ภิกษุในกรณีนี้ ... เป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นผู้ไม่ปิดแผล ...
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างไรกันเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ไม่อดกลั้น (อธิวาเสติ)
ไม่ละ (น ปชหติ)
ไม่บรรเทา (น วิโนเทติ)
ไม่ทำให้สิ้นสุด (น พฺยนฺตีกโรติ)
ไม่ทำให้หมดสิ้น (น อนภาวงฺคเมติ)
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยกาม (กามวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยความมุ่งร้าย (พยาบาทวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยการเบียดเบียน (วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่เขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่ปิดแผล เป็นอย่างไรกันเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกา, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ แล้วก็มีจิตยึดถือเอา ทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด (โดยนิมิต) และ การถือเอาโดยการแยกเป็นส่วนๆ (โดยอนุพยัญชนะ) สิ่งอันเป็น อกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามผู้ที่ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใด เป็นเหตุ เธอไม่ปฏิบัติเพื่อปิดกั้น อินทรีย์เหล่านั้นไว้
เธอไม่รักษา และไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ไม่ปิด แผล เป็นอย่างนี้แล.

(ในที่นี้ ยกมาให้เห็นเพียง ๒ จากทั้งหมด ๑๑ คุณสมบัติ)


ตัวอย่างพุทธวจน ที่ทรงตรัสไม่ให้ปล่อยจิต ให้เพลินกับอารมณ์


หน้า 32


ละความเพลิน จิตหลุดพ้น

สมฺมา ปสฺสํ นิพฺพินฺทติ
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย

นนฺทิกฺขยา ราคกฺขโย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ

ราคกฺขยา นนฺทิกฺขโย
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ

นนฺทิราคกฺขยา จิตฺตํ สุวิมุตฺตนฺติ วุจฺจตีติ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ กล่าวได้ว่า “จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี” ดังนี้.

หน้า 33


ความพอใจ เป็นเหตุแห่งทุกข์

“ทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต
ทุกข์ทั้งหมดนั้น มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ใดๆ อันจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทุกข์ทั้งหมดนั้น ก็มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์

และทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหมดนั้น
ก็มีฉันทะเป็นมูล มีฉันทะเป็นเหตุ
เพราะว่า ฉันทะ (ความพอใจ) เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์”.

(ในเนื้อความพระสูตร ทรงชี้ให้เห็นถึงเหตุของทุกข์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ฉันทะ
เป็นความรู้ที่เห็นกันได้ แล้วจึงได้สรุปให้เห็นไปถึงนัยยะโดยอดีตกับอนาคต)


หน้า 34


เมื่อคิดถึงสิ่งใด แสดงว่าพอใจในสิ่งนั้น

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่ (เจเตติ)
ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่ (ปกปฺเปติ)
และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่ (อนุเสติ)
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ.

เมื่ออารมณ์ มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป ย่อมมี
เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป มี ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

หน้า 35


ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ

ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้มีประมาณน้อยชั่วลัดนิ้วมือเดียว
ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้.
(พระสูตรต่อไป ทรงตรัสถึง มูตร น้ำลาย หนอง โลหิต ด้วยข้อความเดียวกัน)

หน้า 37

๑๐
ตัณหา คือ “เชื้อแห่งการเกิด”

วัจฉะ !
เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น
สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่ (สอุปาทานสฺส)
ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน

วัจฉะ !
เปรียบเหมือน ไฟที่มีเชื้อ ย่อมโพลงขึ้นได้ (อคฺคิ สอุปาทาโน ชลติ)
ที่ไม่มีเชื้อ ก็โพลงขึ้นไม่ได้
อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น

วัจฉะ !
เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้น
สำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่
ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน
“พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าสมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล,
สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไรว่าเป็นเชื้อแก่เปลวไฟนั้น
ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล
เราย่อมบัญญัติเปลวไฟนั้น ว่า มีลมนั่นแหละเป็นเชื้อ
วัจฉะ ! เพราะว่า สมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น.

“พระโคดมผู้เจริญ !
ถ้าสมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น,
สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไร ว่าเป็นเชื้อแก่สัตว์นั้น
ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้
และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น
เรากล่าว สัตว์นี้ ว่า มีตัณหานั่นแหละเป็นเชื้อ
เพราะว่า สมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น แล.

หน้า 39

๑๑
เมื่อมีความพอใจ ย่อมมีตัณหา

ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนไฟกองใหญ่ พึงลุกโพลงด้วยไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง. บุรุษพึงเติมหญ้าแห้งบ้าง มูลโคแห้งบ้าง ไม้แห้งบ้าง ลงไปในกองไฟนั้น ตลอดเวลา ที่ควรเติม อยู่เป็นระยะๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยอาการ อย่างนี้แล ไฟกองใหญ่ ซึ่งมีเครื่องหล่อเลี้ยง อย่างนั้น มี เชื้อเพลิงอย่างนั้น ก็จะพึงลุกโพลง ตลอดกาลยาวนาน

ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปกติ เห็นโดยความเป็นอัสสาทะ (น่ารักน่ายินดี) ในอุปาทานิยธรรม (ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน) อยู่
ตัณหาย่อมเจริญ อย่างทั่วถึง

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

หน้า 41

๑๒
ตัณหา คือ เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ อันเป็นเหตุเกิดทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าบุคคลย่อมคิด ถึงสิ่งใดอยู่ (เจเตติ)
ย่อมดำริ ถึงสิ่งใดอยู่ (ปกปฺเปติ)
และย่อมมีใจฝังลงไป ในสิ่งใดอยู่ (อนุเสติ)

(อารมฺมณเมตํ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา)
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
(อารมฺมเณ สติ ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส โหติ)

เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี
(ตสฺมึ ปติฏฺฐิเต วิญฺญาเณ วิรูเฬฺห นติ โหติ)

เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว ย่อมมีการน้อมไป
(นติยา สติ อาคติคติ โหติ)

เมื่อมีการน้อมไป ย่อมมีการไปการมา
(อาคติคติยา สติ จุตูปปาโต โหติ)

เมื่อมีการไปการมา ย่อมมีการเคลื่อนการบังเกิด เมื่อมีการเคลื่อนการบังเกิด ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีใจ ปักลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ.

เมื่ออารมณ์ มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว ย่อมมีการน้อมไป เมื่อมีการน้อมไป ย่อมมีการไปการมา
เมื่อมีการไปการมา ย่อมมีการเคลื่อนการบังเกิด เมื่อมีการเคลื่อนการบังเกิด ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

หน้า 43

๑๓
สิ้นความอยาก ก็สิ้นทุกข์

นิสฺสิตสฺส จลิตํ
ความหวั่นไหว ย่อมมี แก่บุคคลผู้อันตัณหา และทิฏฐิอาศัยแล้ว
อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ
ความหวั่นไหว ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว

จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ
เมื่อความหวั่นไหว ไม่มี ปัสสัทธิ ย่อมมี
ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ
เมื่อปัสสัทธิ มี ความน้อมไป ย่อมไม่มี

นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ
เมื่อความน้อมไป ไม่มี การไปและการมา ย่อมไม่มี
อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ
เมื่อการไปการมา ไม่มี การเคลื่อนและการบังเกิด ย่อมไม่มี

จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร
เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น
ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง

เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.

หน้า 45

๑๔
มีความเพลิน คือมีอุปาทาน

ผู้มีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งรูป.
เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งรูป ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในรูป ความเพลินนั้นคืออุปาทาน...

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนา.
เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนา ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในเวทนา ความเพลินนั้นคืออุปาทาน...

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งสัญญา.
เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งสัญญา ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในสัญญา ความเพลินนั้นคืออุปาทาน...

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งสังขาร.
เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งสังขาร ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในสังขาร ความเพลินนั้นคืออุปาทาน...

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งวิญญาณ.
เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งวิญญาณ ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในวิญญาณ ความเพลินนั้นคืออุปาทาน

เพราะอุปาทาน ของภิกษุนั้น เป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.


หน้า 49

๑๕
ในอริยมรรคมีองค์ ๘

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไรเล่า ?
(เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป) ความดำริในการออกจากกาม
(อพฺยาปาทสงฺกปฺโป) ความดำริในการไม่มุ่งร้าย
(อวิหึสาสงฺกปฺโป) ความดำริในการไม่เบียดเบียน

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ. (ดำริชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมมาวายามะ เป็นอย่างไรเล่า
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม
ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อละอกุศลอันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า สัมมาวายามะ. (ความเพียรชอบ)


หน้า 51

๑๖
ทรงตรัสว่า“เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งกระทำ”

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอพึงทำความ สำเหนียกว่า “เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน” ดังนี้เถิด.

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตแห่งตน เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาว ที่ชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนที่แว่นส่องหน้า
หรือที่ภาชนะน้ำอันบริสุทธิ์หมดจดใสสะอาด ถ้าเห็นธุลีหรือต่อมที่หน้า ก็พยายามนำธุลี หรือต่อมนั้นออกเสีย ถ้าไม่เห็นธุลีหรือต่อม ก็ยินดีพอใจว่าเป็นลาภหนอ บริสุทธิ์ดี แล้วหนอ ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! การพิจารณาของภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ จะมีอุปการะมาก ในกุศลธรรมทั้งหลายในเมื่อเธอพิจารณาว่า

“เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีอภิชฌา หรือไม่มีอภิชฌา
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตพยาบาท หรือไม่มีจิตพยาบาท
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่ หรือปราศจากถีนมิทธะ
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีความฟุ้งซ่าน หรือไม่ฟุ้งซ่าน
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีวิจิกิจฉา หรือหมดวิจิกิจฉา
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยเป็นผู้มักโกรธ หรือไม่มักโกรธ
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตเศร้าหมอง หรือไม่มีจิตเศร้าหมอง
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีกายอันเครียดครัดในการปฏิบัติธรรม หรือมีกายไม่เครียดครัด
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยเป็นผู้เกียจคร้าน หรือเป็นผู้ปรารภความเพียร
เรามีชีวิตอยู่โดยมาก โดยมีจิตตั้งมั่น หรือไม่มีจิตตั้งมั่น” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เราอยู่โดยมาก โดยความเป็นผู้มากด้วย อภิชฌา มีจิตพยาบาท ถีนมิทธะกลุ้มรุม ฟุ้งซ่าน มีวิจิกิจฉา มักโกรธ มีจิตเศร้าหมอง มีกายเครียดครัด เกียจคร้าน มีจิตไม่ตั้งมั่น” ดังนี้แล้ว

ภิกษุนั้น พึงกระทำซึ่งฉันทะ (ความพอใจ) วายามะ (ความพยายาม) อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ความขะมักเขม้น) อัปปฏิวานี (ความไม่ถอยหลัง) สติและสัมปชัญญะ อย่างแรงกล้า เพื่อละเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น

เช่นเดียวกับ บุคคลผู้มีเสื้อผ้าหรือศีรษะอันไฟลุกโพลงแล้ว จะพึงกระทำ ฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติและสัมปชัญญะอันแรงกล้า เพื่อจะดับไฟที่เสื้อผ้า หรือที่ศีรษะนั้นเสีย ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้สึกว่า “เราอยู่โดยมาก โดยความเป็นผู้ไม่มี อภิชฌา ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีถีนมิทธะกลุ้มรุม ไม่ฟุ้งซ่าน หมดวิจิกิจฉา ไม่มักโกรธ มีจิตไม่เศร้าหมอง มีกายไม่เครียดครัด ปรารภความเพียร มีจิตตั้งมั่น” ดังนี้แล้ว

ภิกษุนั้น พึงตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแหละ แล้วประกอบโยคกรรม เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ให้ยิ่งขึ้นไป.


หน้า 54

๑๗
ต้องเพียรละความเพลินในทุกๆ อิริยาบถ

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังเดินอยู่ ถ้าเกิด
ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม
(กามวิตก) หรือ
ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น (พยาบาทวิตก) หรือ
ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่าๆ (วิหิงสาวิตก) ขึ้นมา
และภิกษุ ก็ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไป จนไม่มีเหลือ

ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังเดินอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลส อยู่เนืองนิจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังยืนอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม
หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิด ในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่าๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้
สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังยืนอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังนั่งอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม
หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิด ในทางทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่าๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้
สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังนั่งอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่ง ลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุกำลังนอนอยู่ ถ้าเกิดครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในกาม
หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิดในทางเดือดแค้น หรือ ครุ่นคิดด้วยความครุ่นคิด ในทาง ทำผู้อื่นให้ลำบากเปล่าๆ ขึ้นมา และภิกษุก็ ไม่รับเอาความครุ่นคิดนั้นไว้ สละทิ้งไป ถ่ายถอนออก ทำให้สิ้นสุดลงไปจนไม่มีเหลือ ภิกษุที่เป็นเช่นนี้ แม้กำลังนอนอยู่ ก็เรียกว่า เป็นผู้ทำความเพียรเผากิเลส รู้สึกกลัวต่อสิ่งลามก เป็นคนปรารภความเพียร อุทิศตนในการเผากิเลสอยู่เนืองนิจแล.