เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ             

  อินทรีย์สังวร - พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
  03 of 3  
 
  อินทรีย์สังวร พุทธวจน       ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
       
  รูปแบบการละความเพลินในอารมณ์โดยวิธีอื่น 89  
  ๓๓. กระจายซึ่งผัสสะ 90  
 

๓๔. ตามแนวแห่งสัมมาสังกัปปะ

94  
  ๓๕. ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕ 99  
  ๓๖. เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง 106  
  ๓๗. พึงเห็นว่า ชีวิตนั้นแสนสั้น 108  
       
  ผลที่สุดของการละความเพลินในอารมณ์ 111  
  ๓๘. ผู้ได้ชื่อว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ 112  
  ๓๙. ผู้เข้าไปหาเป็นผู้ไม่หลุดพ้นผู้ไม่เข้าไปหาย่อมหลุดพ้น 114  
  ๔๐. เพราะไม่เพลิน จึงละอนุสัยทั้ง ๓ ได้ 116  
  ๔๑. ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ 120  
  ๔๒. ลักษณะของบุคคลสี่ประเภท 125  
       
  ข้อย้ำเตือนจากพระตถาคต 127  
  ๔๓. ความไม่ประมาท ยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น 128  
  ๔๔. พินัยกรรม ของพระสังฆบิดา 129  
        บันทึกท้ายเล่ม    
 


   
 
 






รูปแบบการ ละความเพลิน ในอารมณ์โดยวิธีอื่น


หน้า 90

๓๓
กระจายซึ่งผัสสะ

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณย่อมมีขึ้น เพราะอาศัยธรรมสองอย่าง.
สองอย่างอะไรเล่า ? สองอย่าง คือ

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย ซึ่งรูปทั้งหลายด้วย จักขุวิญญาณ จึงเกิดขึ้น.
จักษุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
รูปทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ธรรมทั้งสองอย่างนี้แล เป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วยไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น


จักขุวิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไป โดยประการอื่น เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง จักขุวิญญาณ แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! จักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้ จักขุวิญญาณเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน. ภิกษุทั้งหลาย ! ความประจวบพร้อม ความประชุมพร้อม ความมาพร้อมกัน แห่งธรรมทั้งหลาย (จักษุ+รูป+จักขุวิญญาณ) ๓ อย่างเหล่านี้ อันใดแล
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เราเรียกว่าจักขุสัมผัส.


ภิกษุทั้งหลาย ! แม้จักขุสัมผัสก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนมีความเป็นไป โดยประการอื่น. เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักขุ สัมผัส แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไป โดยประการอื่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! จักขุสัมผัสเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
จักขุสัมผัสจักเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน.
(ในกรณีแห่งโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ,
ก็มีนัยเดียวกัน).


ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอาศัยซึ่งมโนด้วย ซึ่งธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย มโนวิญญาณจึงเกิดขึ้น.

มโนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น ธรรมารมณ์ ทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไป โดยประการอื่น

ธรรมทั้งสองอย่างนี้แล เป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วย ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น มโนวิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใด ก็ตาม เพื่อความเกิดขึ้น แห่งมโนวิญญาณ แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! มโนวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
มโนวิญญาณเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน.

ความประจวบพร้อม ความประชุมพร้อม ความมาพร้อมกัน แห่งธรรมทั้งหลาย
(มโน+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ) ๓ อย่างเหล่านี้อันใดแล

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เราเรียกว่า มโนสัมผัส.
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้มโนสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไป โดยประการอื่น.

เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งมโนสัมผัส
แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.

ภิกษุทั้งหลาย ! มโนสัมผัสเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
มโนสัมผัสจักเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน.

ภิกษุทั้งหลาย !บุคคลที่ผัสสะกระทบแล้วย่อมรู้สึก (เวเทติ)
ผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด (เจเตติ)
ผัสสะกระทบแล้วย่อมจำได้หมายรู้ (สญฺชานาติ)
แม้ธรรมทั้งหลายอย่างนี้เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วย
ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.

หน้า 94

๓๔
ตามแนวแห่งสัมมาสังกัปปะ

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไป โดยอาการอย่างนั้นๆ

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง กามวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละเนกขัมมวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง กามวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึกใน กาม

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง พ๎ยาปาทวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอัพ๎ยาปาทวิตก เสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อ ความตรึก ในการพยาบาท

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง วิหิงสาวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอวิหิงสาวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง วิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึก ในการ ทำสัตว์ให้ลำบาก

ภิกษุทั้งหลาย !เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน
คนเลี้ยงโค ต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบเพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตี ต้อนห้าม กันฝูงโค จากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษ คือ การถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้น เป็นเหตุ

ข้อนี้ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย ! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทราม เศร้าหมอง แห่ง อกุศลธรรมทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่าย ของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอย่างนี้ เนกขัมมวิตก ย่อมเกิดขึ้น ... อัพ๎ยาปาทวิตก ย่อมเกิดขึ้น ... อวิหิงสาวิตก ย่อมเกิดขึ้น.

เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ก็ อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไป เพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย แต่เป็นไปพร้อม เพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อม เพื่อนิพพาน.

แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตกนั้นตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัย อันจะเกิดขึ้น เพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดวัน หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัย อันจะเกิดขึ้น เพราะ อวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ

ภิกษุทั้งหลาย !
ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนัก กายก็เมื่อยล้า เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ เพราะเหตุนั้น เราจึงดำรงจิต ให้หยุดอยู่ในภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
เพราะเราประสงค์อยู่ว่าจิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง เนกขัมมวิตก มาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึก ในการ ออกจากกาม

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อัพ๎ยาปาทวิตก มาก ก็เป็นอันว่าละ พ๎ยาปาทวิตก เสีย กระทำแล้วอย่างมาก ในอัพ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้น ย่อมน้อมไป เพื่อความตรึก ในการไม่พยาบาท

ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตก มาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากในอวิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึก ในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้าย แห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมด เขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว คนเลี้ยงโค พึงเลี้ยงโค ได้.

เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ พึงทำแต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโค ดังนี้ (ก็พอแล้ว) ฉันนั้นเหมือนกัน.

หน้า 99

๓๕
ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง
ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง... ขันธ์ ๕

ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึง ชาติก่อน ได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมตามระลึกถึง ซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้า หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้น.

ห้าอย่างไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :-

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้” ดังนี้บ้าง

ภิกษุทั้งหลาย !
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้” ดังนี้บ้าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย (รุปฺปติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป.
สลายเพราะอะไร ? สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง
เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า รูป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่าเวทนา ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา. รู้สึกซึ่งอะไร ? รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา. หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร ? หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร.
ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ?
ปรุงแต่งรูปให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นรูป
ปรุงแต่งเวทนาให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นเวทนา
ปรุงแต่งสัญญาให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นสัญญา
ปรุงแต่งสังขารให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นสังขาร
ปรุงแต่งวิญญาณให้เป็นของปรุงแต่ง โดยความเป็นวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ) เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ.
รู้แจ้งซึ่งอะไร ? รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย !ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในขันธ์ทั้งห้า นั้น อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมพิจารณาเห็นโดย ประจักษ์ชัดดังนี้ว่า “ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่, แม้ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น.

ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต, แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น”.

อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูป อันเป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัดดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็นปัจจุบัน.

(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร

รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”.

สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”.

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้.
“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า !”
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีการถามตอบแบบเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน มีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีต ก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นบุคคลควรเห็นด้วย ปัญญาโดยชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ดังนี้.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ย่อมทำให้มอด- ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง.

อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมขว้างทิ้ง- ย่อมไม่ถือเอาซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร?
เธอย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร ? เธอย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลงซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว.

อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้สำเร็จแล้วกิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ (ผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้ว) นี้ เราเรียกว่า ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบแล้ว-ดำรงอยู่ ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่า ขว้างทิ้งแล้ว-ดำรงอยู่ ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายแล้ว-ดำรงอยู่ ไม่ทำให้มอดอยู่- ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว-ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่
แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่

ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่
แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่ แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจาย ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้กระจัด กระจายอยู่- ไม่ทำให้เป็นกองอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้ กระจัดกระจาย ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้มอด ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ? เธอไม่ทำให้มอดอยู่- ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่ แต่เป็นอันว่าทำให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ มาจากที่ไกลเทียว กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบ สิ่งซึ่งท่าน อาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน” ดังนี้.

หน้า 106

๓๖
เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง

สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือนร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า ย่อมกล่าวซึ่งโรคนั้น โดยความเป็นตนเขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็น โดยประการอื่น จากที่เขาสำคัญนั้น.

สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น. เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นภัยเขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.

พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ นั้นเอง. สมณะ หรือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพ ว่ามีได้เพราะ ภพ

เรากล่าวว่า สมณะทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ. ถึงแม้สมณะห รือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใดกล่าวความออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะ วิภพ

เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้. ก็ทุกข์นี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยซึ่ง อุปธิ ทั้งปวง. ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ไม่มี ก็เพราะความสิ้นไป แห่งอุปาทานทั้งปวง.

ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลาย อันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพ อันเป็นแล้วนั้นย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้.

ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง เพื่อความมีแห่งประโยชน ์โดยประการทั้งปวง; ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่ง ข้อนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่ เขาย่อมละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลินซึ่งวิภวตัณหาด้วย. ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง นั้นคือ นิพพาน.

ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น. ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้วก้าวล่วงภพทั้งหลาย ทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.

หน้า 108

๓๗
พึงเห็นว่า ชีวิตนั้นแสนสั้น

ภิกษุทั้งหลาย !
ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้ ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ เพียงชั่วขณะฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว. เราพึงใส่ใจถึงคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. การปฏิบัติตามคำสอน ควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี

ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก
หรือชั่วหายใจออกแล้วหายใจเข้า. เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เถิด.

การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง.

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า “เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่ จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย !
เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.


ผลที่สุดของการละความเพลินในอารมณ์


หน้า 112

๓๘
ผู้ได้ชื่อว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ

อานนท์ ! อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ในกรณีนี้
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ– ไม่เป็นที่ชอบใจ– ทั้งเป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยตา.

ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า

“อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้
เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต)
เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก)
เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน)
แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.

(เมื่อรู้ชัดอย่างนี้)
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่ชอบใจ ทั้งเป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นย่อมดับไป อุเบกขายังคงดำรงอยู่.

อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่ชอบใจ-ทั้งเป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นย่อมดับไป เร็วเหมือนการกระพริบตา ของคน, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.

อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย

ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.

(ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะรสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฎฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ทรงตรัสอย่างเดียวกันต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้นๆ, คือ
กรณีเสียง เปรียบด้วยความเร็วแห่งการดีดนิ้วมือ
กรณีกลิ่น เปรียบด้วยความเร็วแห่งหยดน้ำตกจากใบบัว
กรณีรส เปรียบด้วยความเร็วแห่งน้ำลายที่ถ่มจากปลายลิ้นของคนแข็งแรง
กรณีโผฏฐัพพะ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการเหยียดแขนพับแขนของคนแข็งแรง
กรณีธรรมารมณ์ เปรียบด้วยความเร็วแห่งการแห้งของหยดน้ำ บนกระทะเหล็ก ที่ร้อนแดง อยู่ตลอดวัน)


หน้า 114

๓๙
ผู้เข้าไปหาเป็นผู้ไม่หลุดพ้น ผู้ไม่เข้าไปหาย่อมหลุดพ้น

ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น; ผู้ไม่เข้าไปหา เป็นผู้หลุดพ้น.

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขาร ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติ ซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ ของวิญญาณโดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญาและเว้นจากสังขาร” ดังนี้นั้น. นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมี ได้เลย.

ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงามหลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้สำเร็จแล้วกิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.

หน้า 116

๔๐
เพราะไม่เพลิน จึงละอนุสัยทั้ง ๓ ได้

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัย ตา ด้วย รูปทั้งหลาย ด้วย จึงเกิด จักขุวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย หู ด้วย เสียงทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย จมูก ด้วย กลิ่นทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย ลิ้น ด้วย รสทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่นคือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย กาย ด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย ใจ ด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย

จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.
บุคคลนั้น เมื่อ สุขเวทนา ถูกต้องอยู่ ย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ อนุสัยคือราคะ ย่อมไม่ตามนอน (ตสฺส ราคานุสโย นานุเสติ) แก่บุคคลนั้น.

เมื่อ ทุกขเวทนา ถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่ระทมใจ ย่อมไม่คร่ำครวญ
ย่อมไม่ตีอกร่ำไห้ ย่อมไม่ถึงความหลงใหลอยู่ อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมไม่ตามนอน (ไม่เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

เมื่อ เวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ถูกต้องอยู่ เขาย่อมรู้ตามเป็นจริง ซึ่งสมุทยะ (เหตุเกิด) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัตถังคมะ (ความดับไม่เหลือ) แห่งเวทนานั้นด้วย

ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย

ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย อนุสัยคืออวิชชา ย่อมไม่ตามนอน (ไม่เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลนั้นหนอ (สุขาย เวทนาย ราคานุสยํ ปหาย) ละราคานุสัย อันเกิดจากสุขเวทนาเสียได้แล้ว

(ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆานุสยํ ปฏิวิโนเทตฺวา) บรรเทาปฏิฆานุสัย อันเกิดจากทุกขเวทนา เสียได้แล้ว

(อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสยํ สมูหนิตฺวา) ถอนอวิชชานุสัย อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาเสียได้แล้ว

(อวิชฺชํ ปหาย วิชฺชํ อุปฺปาเทตฺวา) เมื่อละอวิชชาเสียได้แล้ว และทำวิชชาให้เกิดขึ้นได้แล้ว


(ทิฏฺเฐว ธมฺเม ทุกฺขสฺสนฺตกโร ภวิสฺสตีติ) เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (รู้เห็นได้เลย) นี้ได้ นั้น

(ฐานเมตํ วิชฺชติฯ) ข้อนี้เป็นฐานะที่จักมีได้.

หน้า 120

๔๑
ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน รูป
ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน เวทนา
ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สัญญา
ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สังขารทั้งหลาย
ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...

ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน วิญญาณ
ผู้นั้น เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์

เรากล่าวว่า
“ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.


ภิกษุทั้งหลาย ! ...
(ทรงตรัสกรณีเพลิน แล้วทรงตรัสกรณีไม่เพลินต่อเทียบกัน)
...ส่วนผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน จักษุ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน โสตะ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน ฆานะ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน ชิวหา
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน กายะ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน มนะ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์

เรากล่าวว่า
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.


ภิกษุทั้งหลาย ! ...
(ทรงตรัสกรณีเพลิน แล้วทรงตรัสกรณีไม่เพลินต่อเทียบกัน)
...ส่วนผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน รูป
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน เสียง
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน กลิ่น
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน รส
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน โผฏฐัพพะ
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน ธรรมารมณ์
ผู้นั้น เท่ากับ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
เรากล่าวว่า
ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.


หน้า 125

๔๒
ลักษณะของบุคคลสี่ประเภท

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลสี่จำพวกเหล่านี้ มีอยู่ หาได้อยู่ ในโลก.
สี่จำพวก อย่างไรเล่า ? สี่จำพวกคือ
กายออก แต่จิตไม่ออก (นิกฺกฏฺฐกาโย อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต)
กายไม่ออก แต่จิตออก (อนิกฺกฏฺฐกาโย นิกฺกฏฺฐจิตฺโต)
กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก (อนิกฺกฏฺฐกาโย จ อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ)
กายก็ออก จิตก็ออก (นิกฺกฏฺฐกาโย จ นิกฺกฏฺฐจิตฺโต จ)


ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายออก แต่จิตไม่ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ,
ในที่นั้นๆ เขาวิตกซึ่งกามวิตกบ้าง ซึ่งพ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งวิหิงสาวิตกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคลที่ กายออก แต่จิตไม่ออก.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายไม่ออก แต่จิตออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ไม่ได้เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ ในที่นั้นๆ เขาวิตกซึ่งเนกขัมมวิตกบ้าง ซึ่งอัพ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งอวิหิงสาวิตกบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคลที่ กายไม่ออก แต่จิตออก.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ไม่ได้เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ ในที่นั้นๆ เขาวิตกซึ่งกามวิตกบ้าง ซึ่งพ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งวิหิงสาวิตกบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคลที่ กายก็ไม่ออก จิตก็ไม่ออก.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลที่ชื่อว่า กายก็ออก จิตก็ออก เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ บุคคลบางคน เสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าและป่าทึบ ในที่นั้นๆ เขาวิตกซึ่งเนกขัมมวิตกบ้าง ซึ่งอัพ๎ยาปาทวิตกบ้าง ซึ่งอวิหิงสาวิตกบ้าง. ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล บุคคลที่ กายก็ออก จิตก็ออก.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้แล มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก.


ข้อย้ำเตือนจากพระตถาคต


หน้า 128

๔๓
ความไม่ประมาท ยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย !
เราไม่มองเห็นธรรมอื่น แม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรืออกุศลธรรมที่เกิดอยู่แล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป เหมือนความไม่ประมาท นี้.

ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ละอกุศลธรรมที่เกิดอยู่แล้ว ก็เสื่อมสิ้นไป.

หน้า 129

๔๔
พินัยกรรม ของพระสังฆบิดา

ภิกษุทั้งหลาย !
บัดนี้ ตถาคต ขอเตือนพวกเธอทั้งหลายไว้ ว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
นี่แล เป็นพระวาจาที่ตรัสครั้งสุดท้าย ของพระตถาคตเจ้า.

............................................................................................................................

บันทึกท้ายเล่ม


จิตมีตัณหา ภพ, ชาติ(เกิดขึ้น)
ผูกกับอารมณ์(เพลินตั้งอยู่)
ชรา มรณะ(ดับไป)
นำไปสู่อารมณ์ปรากฏ
ขึ้นแล้วจนกระทั่งดับเสียให้ได้ ดับเสียให้ได้
นี้คือวงจรของจิตอันเป็นสังสารวัฏฏ์

อินทรียสังวร จึงเป็นหลักการแห่งความไม่ประมาท ที่ตรัสไว้ด้วยการดับเหตุ ที่จะเป็นไป เพื่อชราและมรณะ อันเป็นที่มาของการ “ตามดู ! ไม่ตามไป...” ที่แสดงให้เห็นด้วยพุทธวจน กว่า ๖๐ พระสูตร บ่งบอกถึงความสอดรับกันของ พุทธวจน คือ คำตถาคต ที่เป็น อินทรียสังวร อันเป็นตัวชี้วัดของความเป็น ผู้ไม่ประมาท และเป็นการยืนยันภายใต้หลักการแห่ง มหาปเทส ๔

(หลักการตรวจสอบว่าเป็นคำตถาคตหรือไม่ คือหลักที่ตถาคตบัญญัติ ไว้เพื่อใช้วัดสอบว่า เป็นคำของพระองค์ จริงหรือไม่จริง โดยนำเนื้อความหลักการนั้น ไปเทียบเคียงในพุทธวจนบทอื่นๆ ว่าเข้ากันได้ ลงกันได้สอดรับกันได้หรือไม่ ถ้าสอดรับกันได้ ก็ใช่คำของพระองค์ แต่ถ้าไม่สอดรับกันก็แสดงว่า ไม่ใช่คำของพระองค์ ให้ละทิ้ง เนื้อความหลักการนั้นไปเสีย)

หวังว่าผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ที่เทิดทูน เคารพ และกตัญญูบูชาพระศาสดา คงจะได้เห็น ความชัดเจนในหลักการ อันเป็นระเบียบถ้อยคำ ของพระตถาคต ชัดแจ้ง ด้วยตนเอง และร่วมแรงใจปฏิบัติตามพระองค์ เพื่อแสดงออกถึง “ความกตัญญู” และ “บูชา” ในโอกาสจะครบวาระ “๒๖๐๐ ปี ของการตรัสรู้ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”