หน้า 56
๑๘
ความเพียร ๔ ประเภท (นัยที่ ๑)
ภิกษุทั้งหลาย ! ปธานสี่อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
สี่อย่าง อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ
สังวรปธาน (เพียรระวัง)
ปหานปธาน (เพียรละ)
ภาวนาปธาน (เพียรบำเพ็ญ)
อนุรักขนาปธาน (เพียรตามรักษาไว้)
ภิกษุทั้งหลาย ! สังวรปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้
เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า สังวรปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปหานปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้
เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปหานปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภาวนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้
เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้
เพื่อความตั้งอยู่ ความไม่เลอะเลือน
ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ
ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรม ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล ปธานสี่อย่าง
หน้า 58
๑๙
ความเพียร ๔ ประเภท (นัยที่ ๒)
ภิกษุทั้งหลาย ! ปธานสี่อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
สี่อย่าง อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ
สังวรปธาน
ปหานปธาน
ภาวนาปธาน
อนุรักขนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! สังวรปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว
ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะ ที่เป็นการ รวบถือเอาทั้งหมด
ไม่เป็นผู้ถือเอาในลักษณะที่เป็นการถือเอา โดยแยก เป็นส่วนๆ
อกุศลธรรมอันเป็นบาป คือ อภิชฌาและโทมนัส
จะพึงไหลไปตามบุคคล ผู้ไม่สำรวมอยู่
ซึ่งอินทรีย์อันเป็นต้นเหตุคือตาใด
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมซึ่ง อินทรีย์นั้น
ย่อมรักษา อินทรีย์คือตา ย่อมถึงการสำรวมในอินทรีย์คือตา
(ในกรณีแห่ง อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น
อินทรีย์คือกาย อินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความ ที่ได้ตรัสไว้ ทำนองเดียวกัน)
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า สังวรปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปหานปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ไม่รับเอาไว้ สละทิ้งไปถ่ายถอนออก
ทำให้สิ้นสุดเสีย ทำให้ถึงความไม่มี
ซึ่งกามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว...
ซึ่งพยาบาทวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว...
ซึ่งวิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว...
ซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาป ทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้วๆ
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ปหานปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภาวนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมเจริญซึ่ง สติสัมโพชฌงค์... ซึ่งธัมมวิจย สัมโพชฌงค์...
ซึ่งวิริยสัมโพชฌงค์... ซึ่งปีติสัมโพชฌงค์... ซึ่งปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์...
ซึ่งสมาธิสัมโพชฌงค์... ซึ่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อัน (แต่ละอย่างๆ)
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ภาวนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
ย่อมตามรักษาซึ่งสมาธินิมิตอันเจริญ ที่เกิดขึ้นแล้ว คือ
อัฏฐิกสัญญา ปุฬวกสัญญา วินีลกสัญญา
วิปุพพกสัญญา วิจฉิทกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อนุรักขนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ปธานสี่อย่างเหล่านี้ แล.
จิตที่เพลินกับอารมณ์ ละได้ด้วยการมีอินทรียสังวร
(การสำรวมอินทรีย์)
หน้า 62
๒๐
เมื่อมีสติ ความเพลินย่อมดับ
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุนั้น เห็นรูปด้วยตาแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น รู้สึกกลิ่นด้วยจมูกแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกายแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในสัมผัสทางกาย
อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในสัมผัสทางกาย
อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในธรรมารมณ์
อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก
ย่อมไม่ขัดเคือง ในธรรมมารมณ์
อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง
เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกายอันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว
มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย
ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย
ภิกษุนั้น เป็นผู้ละเสียได้แล้ว ซึ่งความยินดี และความยินร้ายอย่างนี้แล้ว
เสวยเวทนาใดๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้นๆ
เมื่อภิกษุนั้น ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้นๆ
นันทิ (ความเพลิน) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมดับไป
เพราะความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
หน้า 65
๒๑
กายคตาสติ มีความสำคัญต่ออินทรียสังวร
ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตในกายคตาสติ
(จิตที่ไม่มีเสาหลัก)
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน
มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง
คือ เขาจับงู มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง
จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...
จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
แล้วผูกรวมเข้าด้วยกัน เป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย !
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิด มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน
ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ
งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ
สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า.
ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า
สัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลาก ติดตามไป ตามอำนาจของสัตว์นั้น
ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุใดไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รสที่ไม่ชอบใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
และ ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หน้า 67
ลักษณะของผู้ตั้งจิตในกายคตาสติ (จิตที่มีเสาหลักมั่นคง)
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน
มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง
คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง
จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...
และจับลิงมาผูก ด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลัก อีกต่อหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย !
ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน
ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ
งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ
สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า
ภิกษุทั้งหลาย !
ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไป
ยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง
ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย !
คำว่า “เสาเขื่อน หรือเสาหลัก” นี้
เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“กายคตาสติของเรา ทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้
เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !
พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
หน้า 70
๒๒
อินทรียสังวร ปิดกั้นการเกิดขึ้นแห่งบาปอกุศล
ภิกษุทั้งหลาย !
เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน เต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินตามริมลำธาร ในตอนเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินแต่ไกล
ครั้นแล้ว จึงหดอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า
เข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน
ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า “เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใด ส่วนหนึ่งออก ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้น คร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา
สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น มารผู้ใจบาป ก็คอยช่อง ต่อพวกเธอทั้งหลาย ติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า “ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู หรือทางจมูก
หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด
ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก
ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย
หรือได้รู้ ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว
จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะ ที่เป็นการรวบถือทั้งหมด
อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะ ที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย
สิ่งที่เป็นบาปอกุศลคือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคล
ผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวม อินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ.
พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ พวกเธอทั้งหลายจงรักษา และถึงความสำรวม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย !
ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย และจักต้องหลีก ไปเอง
เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้น.
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้,ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.
ความสำคัญแห่งอินทรียสังวร
หน้า 74
๒๓
อินทรียสังวร เป็นเหตุให้ได้มาซึ่งวิมุตติญาณทัสสนะ
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนต้นไม้ เมื่อสมบูรณ์ด้วยกิ่งและใบแล้ว
สะเก็ดเปลือกนอก ก็บริบูรณ์ เปลือกชั้นใน ก็บริบูรณ์
กระพี้ ก็บริบูรณ์ แก่น ก็บริบูรณ์ นี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่ออินทรียสังวร มีอยู่ ศีล ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
เมื่อ ศีล มีอยู่ สัมมาสมาธิ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
เมื่อ สัมมาสมาธิ มีอยู่ ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
เมื่อ ยถาภูตญาณทัสนะ มีอยู่ นิพพิทาวิราคะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
เมื่อ นิพพิทาวิราคะ มีอยู่ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
ฉันนั้น เหมือนกันแล.
หน้า 75
๒๔
ผู้ไม่สำรวมอินทรีย์คือผู้ประมาท ผู้สำรวมอินทรีย์คือผู้ไม่ประมาท
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความประมาท เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุไม่สำรวมระวัง ซึ่งอินทรีย์คือตาอยู่
จิตย่อมเกลือกกลั้วในรูปทั้งหลายอันเป็นวิสัยแห่งการรู้สึกด้วยตา;
เมื่อภิกษุนั้นมีจิตเกลือกกลั้วแล้ว ปราโมทย์ ย่อมไม่มี
เมื่อ ปราโมทย์ ไม่มี ปีติ ก็ไม่มี
เมื่อ ปีติ ไม่มี ปัสสัทธิ ก็ไม่มี
เมื่อ ปัสสัทธิ ไม่มี ภิกษุนั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์
เมื่อ มีทุกข์ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น
เมื่อ จิตไม่ตั้งมั่น ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ
ภิกษุนั้น ย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่า
เป็นผู้มีปกติอยู่ ด้วยความประมาท โดยแท้.
(ในกรณีแห่งอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็มีนัยยะอย่างเดียวกัน)
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความประมาท.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาทเป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย !เมื่อภิกษุสำรวมระวัง ซึ่งอินทรีย์คือตาอยู่
จิตย่อมไม่เกลือกกลั้ว ในรูปทั้งหลายอันเป็นวิสัยแห่งการรู้สึกด้วยตา
เมื่อภิกษุนั้น ไม่มีจิตเกลือกกลั้วแล้ว ปราโมทย์ ย่อมเกิด
เมื่อ ปราโมทย์ แล้ว ปีติ ย่อมเกิด
เมื่อใจมี ปีติ ปัสสัทธิ ย่อมมี
เมื่อมี ปัสสัทธิ ภิกษุนั้น ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อ มีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
เมื่อ จิตตั้งมั่น แล้ว ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ
ภิกษุนั้น ย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่า
เป็นผู้มีปกติ อยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยแท้.
(ในกรณีแห่งอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็มีนัยยะอย่างเดียวกัน)
ภิกษุทั้งหลาย !
อย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท.
หน้า 77
๒๕
ความไม่ประมาท เป็นยอดแห่งกุศลธรรม
ภิกษุทั้งหลาย !
สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีมากเท้าก็ดี
มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา
มีสัญญาก็หามิได้ไม่มีสัญญาก็หามิได้ก็ดี มีประมาณเท่าใด
ตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธะ
ย่อมปรากฏว่าเลิศกว่าบรรดาสัตว์เหล่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรดามี
กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น
มีความไม่ประมาทเป็นมูล มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง.
ความไม่ประมาท ย่อมปรากฏว่าเป็นเลิศ
กว่าบรรดากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ข้อนี้เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้ไม่ประมาทพึงหวังได้ คือ
เธอจักเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘.
(การที่ความไม่ประมาทเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งปวง
ในสูตรนี้ ทรงอุปมาด้วยพระตถาคตเป็นสัตว์เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง.
ส่วนในสูตรอื่นอีกมากแห่ง
ทรงอุปมาด้วย รอยเท้าช้างเลิศ คือใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย ยอดเรือนเลิศ คืออยู่เหนือไม้โครงเรือนทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย รากไม้โกฏฐานุสาริยะ เลิศกว่ารากไม้หอมทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย แก่นจันทร์แดง เลิศกว่าไม้แก่นหอมทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย ดอกวัสสิกะ (มะลิ) เลิศกว่าดอกไม้หอมทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย ราชาจักรพรรดิ เลิศกว่าพระราชาเมืองขึ้นเมืองออกทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย แสงจันทร์ เลิศคือรุ่งเรืองกว่าแสงดาวทั้งหลาย
ทรงอุปมาด้วย แสงอาทิตย์ภายหลังฝนตกไม่มีเมฆในฤดูสารท แจ่มใสกว่าฯ
ทรงอุปมาด้วย ผ้ากาสี เลิศกว่าบรรดาผ้าทอด้วยเส้นด้ายทั้งหลาย)
หน้า 79
๒๖
ผู้มีอินทรียสังวร จึงสามารถเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลอาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่
เพราะเขาละธรรมหกอย่าง.
หกอย่าง อย่างไรเล่า ? หกอย่าง คือ
ความเป็นผู้ยินดีในการงาน
ความเป็นผู้ยินดีในการคุยฟุ้ง
ความเป็นผู้ยินดีในการหลับ
ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีกันเป็นหมู่
ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะละธรรมหกอย่างเหล่านี้แล
บุคคลจึงเป็นผู้อาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่.
(ผู้อาจเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายในภายใน-ในภายนอก-
ในภายใน และภายนอก และผู้อาจเป็นผู้มีปกติตามเห็นเวทนาในเวทนา-
ตามเห็นจิตในจิต- ตามเห็นธรรมในธรรม ล้วนแต่มีข้อความที่ทรงตรัสไว้
อย่างเดียวกัน)
หน้า 80
๒๗
อาสวะบางส่วนสามารถละได้ด้วยการสำรวม
ภิกษุทั้งหลาย !
อาสวะทั้งหลาย ส่วนที่จะพึงละเสียด้วยการสำรวม เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว
เป็นผู้สำรวม ด้วยการสังวรในอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นอินทรีย์ที่ เมื่อภิกษุ ไม่สำรวมแล้ว
อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่องทำความคับแค้น และเร่าร้อน
จะพึงบังเกิดขึ้น.
และ เมื่อภิกษุเป็นผู้สำรวมแล้วเป็นอยู่
อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่อง ทำความคับแค้นและเร่าร้อน
จะไม่พึงบังเกิดขึ้น แก่ภิกษุนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นเพราะ
เมื่อภิกษุไม่สำรวมด้วยอาการอย่างนี้ อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่องทำความคับแค้นและเร่าร้อน
จะพึงบังเกิดขึ้น
และ เมื่อภิกษุสำรวมแล้วเป็นอยู่
อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่องทำความคับแค้น และเร่าร้อน
จะไม่พึงบังเกิดขึ้น แก่ภิกษุนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
นี้เรากล่าวว่า อาสวะทั้งหลาย ส่วนที่จะพึงละเสียด้วยการสำรวม.
หน้า 81
๒๘
อาสวะบางส่วนสามารถละได้ด้วยการบรรเทา
ภิกษุทั้งหลาย !
อาสวะทั้งหลาย ส่วนที่จะพึงละเสียด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับเอาไว้ในใจ
ย่อมละเสีย ย่อมบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความมีไม่ได้
ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้ว
และย่อมไม่รับเอาไว้ในใจ
ย่อมละเสีย ย่อมบรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความมีไม่ได้
ซึ่งสิ่งอันเป็น อกุศลธรรม อันเป็นบาปทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นเพราะ
เมื่อภิกษุไม่บรรเทาด้วยอาการอย่างนี้
อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่องคับแค้นและเร่าร้อน จะพึงบังเกิดขึ้น และ เมื่อภิกษุบรรเทาอยู่
อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเครื่องคับแค้นและเร่าร้อน
จะไม่พึงบังเกิดขึ้น แก่ภิกษุนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า
อาสวะทั้งหลาย ส่วนที่จะละเสียด้วยการบรรเทา.
หน้า 82
๒๙
ผลที่ได้เพราะเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อใด ภิกษุละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งหลาย อันจะพึงละได้ด้วยการสังวร, ...
ละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งหลายอันจะถึงละได้ด้วยการบรรเทา ... แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ปิดกั้นแล้วด้วยการปิดกั้นซึ่งอาสวะทั้งปวง อยู่
ตัดตัณหาได้ขาดแล้ว รื้อถอนสังโยชน์ได้แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะรู้เฉพาะซึ่งมานะโดยชอบ ดังนี้แล.
ความหมายและลักษณะของการมีอินทรียสังวร
หน้า 84
๓๐
ความหมายแห่งอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย ! อินทรีย์หกเหล่านี้ มีอยู่.
หกเหล่าไหนเล่า ? หกอย่าง คือ
อินทรีย์คือตา อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก
อินทรีย์คือลิ้น อินทรีย์คือกายอินทรีย์คือใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด อริยสาวก รู้ชัดแจ้งตามเป็นจริง
ซึ่งความเกิดขึ้น (สมุทัย)
ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ (อัตถังคมะ)
ซึ่งรสอร่อย (อัสสาทะ)
ซึ่งโทษอันต่ำทราม (อาทีนวะ) และ
ซึ่งอุบายเครื่องออก (นิสสรณะ) แห่งอินทรีย์หกเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า เป็นโสดาบัน
มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน
จักตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า.
หน้า 85
๓๑
ลักษณะของผู้สำรวมอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่น ด้วยจมูก
ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย
และได้รู้ธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด (โดยนิมิต)
และ ไม่แยกถือเอา เป็นส่วนๆ (โดยอนุพยัญชนะ)
อกุศลธรรมอันเป็นบาป คือ อภิชฌาและโทมนัส
มักไหลไปตามภิกษุ ผู้ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ เหล่าใดเป็นเหตุเธอก็ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้
เธอรักษา และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
หน้า 86
๓๒
ผู้ที่ถึงซึ่ง ความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย
ภิกษุทั้งหลาย !
คนเลี้ยงโคที่ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๑ อย่างเหล่านี้แล้ว
ย่อมเหมาะสมที่จะเลี้ยงโค ทำให้เพิ่มกำไรได้.
องค์คุณ ๑๑ อย่างนั้น คืออะไรบ้างเล่า ?
คือ คนเลี้ยงโคในกรณีนี้ ... เป็นผู้เขี่ยไข่ขาง เป็นผู้ปิดแผล, ...
ภิกษุทั้งหลาย ! คนเลี้ยงโคที่ประกอบด้วยองค์คุณเหล่านี้แล้ว
ย่อมเหมาะสม ที่จะเลี้ยงโค ทำให้เพิ่มกำไรได้ ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุที่ประกอบด้วยองค์คุณเหล่านี้แล้ว
ย่อมเหมาะสม ที่จะถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์
ในธรรมวินัยนี้ได้ ฉันนั้น...
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อดกลั้นได้ (นาธิวาเสติ)
ละ (ปชหติ)
บรรเทา (วิโนเทติ)
ทำให้สิ้นสุด (พฺยนฺตีกโรติ)
ทำให้หมดสิ้น (อนภาวํ คเมติ)
ซึ่งความตรึกเกี่ยวด้วยกาม (กามวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึก เกี่ยวด้วยความมุ่งร้าย (พยาบาทวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งความตรึก เกี่ยวด้วยการเบียดเบียน (วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้นแล้ว
ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ปิดแผล เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่น ด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น
สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว
ก็ไม่มีจิตยึดถือเอา ทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด(โดยนิมิต)
และไม่ถือเอา โดยการแยก เป็นส่วนๆ (โดยอนุพยัญชนะ)
อกุศลธรรม อันเป็นบาป คือ อภิชฌาและโทมนัส
มักไหลไปตามภิกษุ ผู้ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ เหล่าใดเป็นเหตุ
เธอก็ปฏิบัติ เพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว
เธอรักษาและถึงการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้ปิดแผล เป็นอย่างนี้แล.
(ในที่นี้ ยกมาให้เห็นเพียง ๒ จากทั้งหมด ๑๑ คุณสมบัติ)
|