ตามรอยธรรม
คำอนุโมทนา
ขออนุโมทนา กับคณะผู้จัดทำ หนังสือพุทธวจนฉบับ “ตามรอยธรรม” ในเจตนาอันเป็น กุศล ที่มีความตั้งใจเผยแผ่คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ออกจากพระโอษฐ์ ของพระองค์เอง เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษา และนำมาปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ ด้วยการกระทำอันเป็นกุศลนี้ ขอให้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ผู้มีส่วนร่วมในการทำหนังสือเล่มนี้ และผู้ที่ได้อ่าน ได้ศึกษา พึงเกิดปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรม พ้นทุกข์ในชาตินี้เทอญ
ขออนุโมทนา
ภิกขุคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
.....................................................................................................................................................
คำนำ
หนังสือ “พุทธวจน ฉบับ ตามรอยธรรม”ได้จัดทำขึ้น ด้วยปรารภเหตุที่ว่า หลายคนยังเห็น คำสอนของ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นสิ่งที่ยาก หรือเป็นสิ่งที่ไกลตัวเกินไป ทำให้มีน้อยคน นัก ที่จะหันมาใส่ใจ ศึกษาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่พระองค์ได้ ตรัสไว้แล้วว่า คำสอนที่พระองค์ตรัส สอนทั้งหมดนั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว สิ้นเชิง
อีกทั้งคำสอนนั้น ยังเป็นสิ่งที่เรียกว่า“อกาลิโก” คือใช้ได้ไปตลอด ไม่มีคำว่าเก่า หรือ ล้าสมัย และใช้ได้ กับบุคคลทุกคน อันจะเห็นได้จากในสมัยพุทธกาลที่พุทธบริษัท ๔ ทั้งหลายนั้น มีคนจากหลายชาติ และ วรรณะนอกจากนี้พระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า บุคคลที่ ท่านตรัสสอนนั้นมีตั้งแต่ พรหม เทวดา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไปจนถึงปุถุชน คนธรรมดาทั่วไป และทุกคนนั้น เมื่อนำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติแล้ว ก็สามารถแก้ทุกข์ หรือดับทุกข์ให้กับตนเองได้ทั้งสิ้น
คณะงานธัมมะ วัดนาป่าพง
มิถุนายน ๒๕๕๔
…………………………………………………………………..................................................……………………
ตามรอยธรรม หน้า 3
๑
เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้
สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรอง
ประเภทกาพย์กลอนมีอักษรสละสลวย
มีพยัญชนะอันวิจิตรเป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่
เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก
มีความหมายซึ้งเป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะเรื่อง สุญญตา
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่
เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.
จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า
“ ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้ ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้ ความสงสัย ในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่าบริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถาม แก่กัน และ กัน เอาเอง หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่าง ของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่ (ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา)จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.
ตามรอยธรรม หน้า 3
๒
ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !
อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอมเหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.
คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้น อยู่ย่อมมีแต่ดี ท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.
ตามรอยธรรม หน้า 5
๓
ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เกี่ยวกับพระองค์เอง
ภิกษุทั้งหลาย ! สมมติว่ามหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้มีน้ำท่วมถึง เป็นอันเดียวกันทั้งหมด บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก (ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น ลมตะวันออก พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก ลมตะวันตก พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก ลมทิศเหนือ พัดให้ลอยไปทางทิศใต้ ลมทิศใต้พัดให้ลอย ไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้.
ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อยๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่งๆ. ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร จะเป็นไปได้ไหมที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้น มาสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอ เข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้นร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น”.
ภิกษุทั้งหลาย ! ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกันที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์ยาก ที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกันที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลกยากที่จะเป็น ไปได้ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัย อันตถาคตประกาศแล้ว จะรุ่งเรืองไปทั่วโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่าบัดนี้ความเป็นมนุษย์ก็ได้แล้วตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้นในโลก แล้ว และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงกระทำ โยคกรรม เพื่อให้รู้ว่า
นี้ ทุกข์
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ ความดับแห่งทุกข์
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้เถิด.
ตามรอยธรรม หน้า 7
๔
พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และในปัจจุบัน ล้วนแต่ตรัสรู้อริยสัจสี่
ภิกษุทั้งหลาย ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดๆได้ตรัสรู้ตามเป็นจริงไปแล้ว ในกาลยืด ยาวนาน ฝ่ายอดีต ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐ สี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดๆจักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ต่อในกาล ยืดยาวนาน ฝ่ายอนาคต ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็จักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้ตามเป็นจริงอยู่ ในกาลเป็นปัจจุบันนี้ ก็ได้ตรัสรู้อยู่ ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างนั้น เหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
นี้ เป็นทุกข์
นี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
นี้ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
นี้ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ดังนี้เถิด.
ตามรอยธรรม หน้า 9
๕
พระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”
ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ความทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์
นี้แล ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ ตถาคต จึงมีนามอันบัณฑิตกล่าวว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
นี้เป็นทุกข์
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ดังนี้เถิด.
ตามรอยธรรม หน้า 11
๖
จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอเป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตร ก็ตาม อำมาตย์ ก็ตามญาติหรือสายโลหิตก็ตามชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไป ตั้งมั่นในความจริง อันประเสริฐ สี่ประการ ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง.
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ?
สี่ประการคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า ทุกข์ เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ ดังนี้.
ตามรอยธรรม หน้า 13
๗
อริยสัจสี่โดยสังเขป (ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้ สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์ ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือของทุกข์ และความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ? คือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ห้าอย่าง. ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีกอันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลินมักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่
ตัณหาในกาม (กามตัณหา)
ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา)
ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา)
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไปความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือของทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
นี้เป็นทุกข์
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ดังนี้เถิด.
ตามรอยธรรมหน้า 16
๘
การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่ในโลก.
สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ
คนตาบอด (อนฺโธ)
คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ)
คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ).
ภิกษุทั้งหลาย ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้ไม่มีตา ที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่งและไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ- ธรรมเลวและธรรมประณีต- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).
ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาข้างเดียวเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่งแต่ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล- ธรรมมีโทษ และไม่มีโทษ- ธรรมเลวและ ธรรมประณีต- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาข้างเดียว.
ภิกษุทั้งหลาย ! คนมีตาสองข้างเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ ที่ยังไม่ได้หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้ว ให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง และมีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล- ธรรมมีโทษ และไม่มีโทษ- ธรรมเลว และธรรมประณีต- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล คนมีตาสองข้าง.
...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุมีตาสมบูรณ์ (จกฺขุมา) เป็นอย่างไรเล่า ? คือภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามความ เป็นจริงว่า“ นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ แห่งทุกข์” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ภิกษุมีตาสมบูรณ์.
ตามรอยธรรมหน้า 19
๙
การสนทนากับพระอานนท์ เรื่องกัลยาณมิตร
มหาราชะ ! ครั้งหนึ่ง ตถาคตพักอยู่ที่นิคมแห่งพวกศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ.
มหาราชะ ! ครั้งนั้นแล ภิกษุอานนท์ได้เข้าไปหาตถาคตถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่ควร.
มหาราชะ ! ภิกษุอานนท์ได้กล่าวคำนี้กะตถาคตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี นี้เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์พระเจ้าข้า !” ดังนี้.
มหาราชะ ! เมื่อภิกษุอานนท์ได้กล่าวอย่างนี้แล้วตถาคตได้กล่าวกะเธออย่างนี้ว่า“
อานนท์ ! เธออย่ากล่าวอย่างนั้นเลย อานนท์ ! ข้อนี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทั้งสิ้นทีเดียว คือความมีมิตรดี ความมีสหายดี ความมีเพื่อนผู้แวดล้อมดี.
อานนท์ ! พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงหวังได้. เมื่อเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนผู้ แวดล้อมดี เธอนั้นจักทำอริยมรรคมีองค์แปดให้เจริญ ได้จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์แปด ได้ดังนี้.
ตามรอยธรรมหน้า 21
๑๐
กัลยาณมิตรของพระองค์เอง
อานนท์ ! ภิกษุผู้ชื่อว่า มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่งอริยมรรค ประกอบด้วยองค์แปด โดยอาการอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุนี้ ย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่ง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไป เพื่อการสลัดลง.
อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดีมีเพื่อนดี ย่อมเจริญ ทำให้มากซึ่ง อริยมรรค ประกอบ ด้วยองค์แปด.
อานนท์ ! ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิดว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั้นเทียว ได้แก่ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดังนี้.
อานนท์ ! จริงทีเดียว สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ได้อาศัยกัลยาณมิตรของเรา แล้ว ย่อมหลุดพ้น จากการเกิด... ผู้มีความแก่ชรา ความเจ็บป่วยความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา...
ครั้นได้อาศัยกัลยาณมิตรของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้นจาก ความแก่ชราความเจ็บป่วย ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความ คับแค้นใจ.
อานนท์ ! ข้อนั้นเธอพึงทราบด้วยปริยายอันนี้เถิด คือว่าพรหมจรรย์นี้ทั้งหมดนั้นเทียว ได้แก่ ความเป็น ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดังนี้.
ตามรอยธรรม หน้า 23
๑๑
ขยายความแห่งอริยมรรคมีองค์แปด
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? คือหนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ นี้เอง
องค์แปดคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับ ไม่เหลือแห่ง ทุกข์ ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใดนี้เราเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกามความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการ ไม่เบียดเบียน นี้เราเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการ พูดหยาบ การเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เราเรียกว่า สัมมาวาจา.
ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการ ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า สัมมากัมมันตะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การเลี้ยงชีพชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ ละมิจฉาชีพเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาชีพ นี้เราเรียกว่า สัมมาอาชีวะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาป ที่ยังไม่ได้บังเกิดขึ้น ย่อมปลูกความพอใจย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคอง จิตย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสีย ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความ เพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้บังเกิด ย่อมปลูก ความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้นความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบแห่ง กุศลธรรมทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เราเรียกว่า สัมมาวายามะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผา กิเลส มีความ รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและ ความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มี ปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ เป็นผู้มีปกติพิจารณา เห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจ และความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ นี้เราเรียกว่า สัมมาสติ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เพราะสงัดจากกามทั้งหลายเพราะสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเข้าถึง ฌานที่หนึ่งอันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เพราะวิตก วิจารรำงับลง เธอเข้าถึง ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็น ธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่ เพราะปีติ จางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนาม กาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีการอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่ เพราะละสุขและ ทุกข์เสียได้และเพราะ ความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ และไม่สุขมีแต่สติอันบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ นี้เราเรียกว่าสัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ตามรอยธรรม หน้า 29
๑๒
โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
สุภัททะ !
ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด
สมณะที่หนึ่ง (พระโสดาบัน) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น
แม้สมณะที่สอง (พระสกทาคามี) ก็หาไม่ได้
แม้สมณะที่สาม (พระอนาคามี) ก็หาไม่ได้
แม้สมณะที่สี่ (พระอรหันต์) ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น.
สุภัททะ !ในธรรมวินัยนี้แล มีอริยมรรคมีองค์แปด
สมณะที่หนึ่ง (พระโสดาบัน) ก็หาได้ในธรรมวินัยนี้
แม้สมณะที่สอง (พระสกทาคามี) ก็หาได้
แม้สมณะที่สาม (พระอนาคามี) ก็หาได้
แม้สมณะที่สี่ (พระอรหันต์) ก็หาได้ในธรรมวินัยนี้.
สุภัททะ !ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จะพึงอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย แล.
|