ตามรอยธรรม หน้า 95
๓๙
ผู้แบกของหนัก
ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงของหนัก ผู้แบกของหนักและการแบกของหนัก แก่พวกเธอ เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าของหนัก ?
ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานักขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ
เรากล่าวว่าเป็นของหนัก.
อุปาทานักขันธ์ทั้งห้า เหล่าไหนเล่า ? คือ
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ รูป
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ เวทนา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สัญญา
ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ สังขาร
และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือ วิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ของหนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าผู้แบกของหนัก ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล (ตามสมมติ) นั้นแหละ เราเรียกว่าผู้แบกของหนัก เขามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนั้นตามที่รู้กันอยู่.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าการแบกของหนัก ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหาอันใดที่ทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่ง ความเพลินซึ่งมีปกติทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ตัณหาในกาม ตัณหาในความ มีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก.
ตามรอยธรรม หน้า 97
๔๐
ดับตัณหา คือปลงภาระหนักลงได้
ภิกษุทั้งหลาย !
การปลงภาระหนักลงเสียได้ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับสนิทเพราะความจางคลาย ดับไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น นั่นเทียว ความละไปของตัณหานั้น ความสลัดกลับคืนของตัณหานั้น ความหลุดออกไปของตัณหานั้น และความไม่มีที่อาศัยอีกต่อไปของตัณหานั้นอันใด.
ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เราเรียกว่าการปลงภาระหนักลงเสียได้ ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพุทธวจนนี้ ซึ่งเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไป “ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก ! บุคคลนั้นแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป.
การแบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ในโลก.
การปลงภาระหนักเสียได้ เป็นความสุข.
พระอริยเจ้า ปลงภาระหนักลงเสียแล้ว.
ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก.
ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก (อวิชชา) เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ” ดังนี้.
ตามรอยธรรม หน้า 99
๔๑
ต้องท่องเที่ยวมาแล้ว เพราะไม่รู้อริยสัจสี่
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่อย่าง เราและพวกเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอด ซึ่งอริยสัจสี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ
อริยสัจคือ ทุกข์
อริยสัจคือ เหตุให้เกิดทุกข์
อริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่รู้ถึง เพราะไม่แทงตลอดซึ่งอริยสัจสี่ประการเหล่านี้ แลเราและพวกเธอ ทั้งหลาย จึงได้ท่องเที่ยวไปแล้วในสังสารวัฏ ตลอดกาลยืดยาวนานถึงเพียงนี้.
ตามรอยธรรม หน้า 100
๔๒
ที่สุดแห่งการท่องเที่ยวของพระองค์
เมื่อเรายังค้นไม่พบแสงสว่างมัวเสาะหานายช่างปลูกเรือนอยู่ ได้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ กล่าวคือความเกิดแล้วเกิดอีกเป็นอเนกชาติ.
ความเกิด เป็นทุกข์ร่ำไปทุกชาติ.
แน่ะนายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน ! เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจักสร้างเรือนให้เรา ต่อไปอีกไม่ได้ โครงเรือนของเจ้า เราหักเสียยับเยินหมดแล้ว.
ยอดเรือน เราขยี้เสียแล้ว.
จิตของเรา ถึงความเป็นธรรมชาติ ที่อารมณ์จะยุแหย่ ยั่วเย้า ไม่ได้เสียแล้วมันได้ถึงแล้ว ซึ่งความหมดอยากทุกอย่าง.
ตามรอยธรรม หน้า 102
๔๓
“สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้
“แน่ะเธอ ! ที่สุดโลกแห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เราไม่กล่าวว่าใครๆ อาจรู้ อาจเห็น อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น ได้ด้วยการไป.
“แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี้เอง เราได้บัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทไม่เหลือของโลกและทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือ ของโลกไว้” ดังนี้แล.
ตามรอยธรรม หน้า 103
๔๔
ทรงมีความชราทางกายภาพ เหมือนคนทั่วไป
(ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วลูบคลำ ทั่วพระกายของผู้มีพระภาคอยู่พลางกล่าวถ้อยคำนี้ว่า)“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้น่าอัศจรรย์ ข้อนี้ไม่เคยมีมาก่อน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! บัดนี้ฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแต่ก่อน และพระกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน มีพระองค์ค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไปหมด ทั้งพระจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ”.
อานนท์ ! นั่นต้องเป็นอย่างนั้น คือ
ความชรามี (ซ่อน) อยู่ในความหนุ่ม
ความเจ็บไข้มี (ซ่อน) อยู่ในความไม่มีโรค
ความตายมี (ซ่อน) อยู่ในชีวิต
ฉวีวรรณจึงไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียแล้ว และกายก็เหี่ยวย่นหย่อนยาน ตัวค้อมไปข้างหน้า อินทรีย์ทั้งหลายก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปหมด ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสคำนี้แล้ว ได้ตรัสข้อความนี้(เป็นคำกาพย์กลอน) อีกว่า โธ่เอ๋ย ! ความแก่อันชั่วช้าเอ๋ย ! ความแก่อันทำความน่าเกลียดเอ๋ย !
กายที่น่าพอใจ บัดนี้ก็ถูกความแก่ย่ำยีหมดแล้ว แม้ใครจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ทุกคนก็ยังมีความตาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้าความตายไม่ยกเว้นให้แก่ใครๆ มันย่ำยีหมดทุกคน.
ตามรอยธรรม หน้า 105
๔๕
ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้นพวกเธอพึงเรียนเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่ว พึงเจริญทำให้มาก โดยอาการที่พรหมจรรย์(คือศาสนานี้) จักมั่นคง ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล นาน ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปธานสี่ อิทธิบาทสี่อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยมรรคมีองค์แปด.
ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด การปรินิพพานของตถาคต จักมีในกาลไม่นานเลย ตถาคตจักปรินิพพานโดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนนี้.
สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่มและคนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาล และบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มี ความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใดชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็มีความตาย เป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น. วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้วเราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติมีศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด. ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ตามรอยธรรม หน้า 107
๔๖
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
“อย่าเลย วักกลิ !
ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นกายเน่านี้.
วักกลิ !
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม.
วักกลิ !
เพราะว่าเมื่อเห็นธรรมอยู่ ก็คือเห็นเรา เมื่อเห็นเราอยู่ ก็คือเห็นธรรม”
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลังๆ.
แต่ถ้าเธอนั้น มากไปด้วย อภิชฌา มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทาง ประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลจากเราแม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้น โดยแท้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเหตุเพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้ภิกษุนั้นจะอยู่ห่าง (จากเรา)ตั้งร้อยโยชน์ แต่ถ้าเธอนั้น ไม่มากไปด้วยอภิชฌา ไม่มีกามราคะกล้า ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตเป็นสมาธิ ถึงความเป็นเอกัคคตา (จิตมีอารมณ์อันเดียว)สำรวมอินทรีย์ แล้วไซร้ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ใกล้กับเราแม้เราก็อยู่ใกล้กับภิกษุนั้น โดยแท้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็ชื่อว่าเห็นเรา แล.
ตามรอยธรรม หน้า 109
๔๗
ถุงธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนปริยัติธรรม (นานาชนิด) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะคาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ แต่เธอไม่ใช้วันทั้งวันให้เปลืองไป ด้วยการเรียนธรรมนั้นๆ ไม่เริดร้างจากการหลีกเร้น ตามประกอบซึ่งธรรมเป็นเครื่องสงบใจใน ภายใน เนืองๆ.
ภิกษุอย่างนี้แลชื่อว่า ธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม).
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มากด้วยปริยัติ เราก็แสดงแล้วผู้มากด้วยการบัญญัติ เราก็แสดงแล้ว ผู้มากด้วยการสาธยาย เราก็แสดงแล้ว ผู้มากด้วยการคิด เราก็แสดงแล้ว และธรรมวิหารี (ผู้อยู่ด้วยธรรม) เราก็แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! กิจอันใดที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! นั่น โคนไม้ทั้งหลายนั่น เรือนว่างทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส อย่าได้เป็นผู้ประมาท เธอทั้งหลาย อย่าเป็นผู้ที่ต้อง ร้อนใจในภายหลังเลย นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.
ตามรอยธรรม หน้า 111
๔๘
การปรินิพพานในปัจจุบัน
ภิกษุ ! ถ้าภิกษุแสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไม่เหลือแห่งชรา และมรณะ อยู่ไซร้ ก็เป็นการสมควร เพื่อจะเรียกภิกษุนั้นว่า“ผู้กล่าวซึ่งธรรม (ธรรมถึก)” ดังนี้.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับไม่เหลือแห่งชรา และมรณะ อยู่ไซร้ ก็เป็นการสมควร เพื่อจะเรียกภิกษุนั้นว่า“ผู้ปฏิบัติแล้วซึ่งธรรมตามสมควรแก่ธรรม” ดังนี้.
ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความเบื่อหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับไม่เหลือ แห่งชรา และมรณะ ด้วยความเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่น อยู่แล้วไซร้ ก็เป็นการสมควรเพื่อจะเรียกภิกษุ นั้นว่า “ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานในปัจจุบัน” ดังนี้.
(ในกรณีแห่ง ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะสฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร และอวิชชา ก็มีข้อความที่กล่าวไว้อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งชราและมรณะ ที่กล่าวไว้ข้างบนนี้).
ตามรอยธรรม หน้า 113
๔๙
ตั้งหน้าทำก็แล้วกัน
ภิกษุทั้งหลาย ! กิจของคหบดีชาวนา ที่เขาจะต้องรีบทำ มีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ คหบดีชาวนา รีบๆ ไถคราดพื้นที่นาให้ดีเสียก่อน ครั้นแล้ว ก็รีบๆ ปลูกพืช ครั้นแล้วก็รีบๆ ไขน้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง.
ภิกษุทั้งหลาย ! กิจของคหบดีชาวนา ที่เขาจะต้องรีบทำ มีสามอย่างเหล่านี้แล แต่ว่า คหบดีชาวนา นั้น ไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพ ที่จะบันดาลว่า “ข้าวของเรา จึงงอกในวันนี้ ตั้งท้องพรุ่งนี้ สุกมะรืนนี้” ดังนี้ได้เลย ที่แท้ ย่อมมีเวลาที่ข้าวนั้น เปลี่ยนแปรสภาพไปตามฤดูกาล ย่อมจะงอกบ้าง ตั้งท้องบ้าง สุกบ้างภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น กิจของภิกษุ ที่เธอจะต้องรีบทำ มีสามอย่างเหล่านี้.
สามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ
การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง
การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง
และการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! กิจของภิกษุ ที่เธอจะต้องรีบทำมีสามอย่างเหล่านี้แล แต่ว่าภิกษุนั้น ก็ไม่มีฤทธิ์หรือ อานุภาพ ที่จะบันดาลว่า “จิตของเรา จงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่มีอุปาทานในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้” ดังนี้ได้เลย ที่แท้ ย่อมมีเวลาที่เหมาะสม เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติไปแม้ในศีลอันยิ่ง ปฏิบัติไปแม้ในจิตอันยิ่ง และปฏิบัติไปแม้ในปัญญาอันยิ่ง จิตก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีอุปาทานได้เอง.
ตามรอยธรรม หน้า 115
๕๐
ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูล แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง อยู่มิใช่หรือพระเจ้าข้า ?”.
คามณิ ! ถูกแล้ว ตถาคตเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น ทำไมพระองค์ จึงรงแสดงธรรมแก่คนบางพวก โดยเอื้อเฟื้อ และแก่คนบางพวกโดยไม่เอื้อเฟื้อเล่า พระเจ้าข้า ?”
คามณิ ! ถ้าอย่างนั้น เราขอย้อนถามท่านในข้อนี้ท่านจงตอบเราตามที่ควร.
คามณิ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในถิ่นแห่งเรานี้ ชาวนาผู้คหบดีคนหนึ่งมีนาอยู่ ๓ แปลง แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นเลิศ แปลงหนึ่งเป็นนาปานกลาง แปลงหนึ่งเป็นนาเลว มีดินเป็นก้อนแข็งมีรสเค็ม พื้นที่เลว.
คามณิ ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ชาวนาผู้คหบดีนั้น เมื่อประสงค์จะหว่านพืชเขาจะหว่าน ในนาแปลงไหนก่อน คือว่าแปลงที่เป็นนาเลิศ นาปานกลาง หรือว่านาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลวเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ชาวนาคหบดีผู้ประสงค์จะหว่านพืชคนนั้น ย่อมหว่านในนาเลิศก่อน แล้วจึงหว่านในนาปานกลาง สำหรับนาเลว ซึ่งดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลวนั้น เขาก็หว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง เพราะเหตุว่า อย่างมากที่สุด ก็หว่านไว้ให้โคกิน พระเจ้าข้า !”
คามณิ ! นาเลิศนั้น เปรียบเหมือนภิกษุ ภิกษุณีของเรา เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะแก่ภิกษุ ภิกษุณีเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
คามณิ ! เพราะเหตุว่า ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้นมีเราเป็นประทีป มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น มีเราเป็นที่ ต้านทานมีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่.
คามณิ ! นาปานกลางนั้น เปรียบเหมือนอุบาสกอุบาสิกาของเรา เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเหล่านั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
คามณิ ! เพราะเหตุว่า ชนทั้งหลายเหล่านั้น มีเราเป็นประทีป มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่.
คามณิ ! นาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็มพื้นที่เลวนั้น เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ ปริพาชก ทั้งหลาย ผู้เป็นเดียรถีย์เหล่าอื่น เราก็ย่อมแสดงธรรมงดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น.ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดงสักบทเดียว นั่นก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน.
ตามรอยธรรม หน้า 119
๕๑
อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเนืองๆ
ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการ อย่างไรเล่า ?
(๑) ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานอิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้าแต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
(๒) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำ กาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิตแสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่าในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใดนี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลองเขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่าเสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้าแต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
(๓) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำ กาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกลพึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่าเสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น ... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้น ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
(๔) ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละธ รรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำ กาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุข อยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน” เธอกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นิรทุกข์”สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกันเขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า “สหาย ท่านระลึกกรรม แม้นี้ได้หรือ” เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราระลึกได้ เราระลึกได้” ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือสุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น... สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลอานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น อันบุคคลพึงหวังได้.
ตามรอยธรรม จบ |