เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ           

 หนังสือ ทาน-พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
  1 of 4  
 
  หนังสือ ทาน-พุทธวจน   ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
       
  คำอนุโมทนา    
  คำนำ    
  ความหมายของทาน    
  1. ทาน (การให้) เป็นอย่างไร 2  
  2. จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร 3  
       
     ทำไมจึงให้ทาน 5    
  3. ผลแห่งทานในปัจจุบันและสัมปรายะ 6  
  4. อานิสงส์แห่งการให้ทาน 7  
  5. ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่า ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาน 8  
  6. ผู้ให้ข้าวยาคู ก็ชื่อว่า ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาน 10  
  7. ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ 11  
  8. การให้ทานเป็นเหตุให้เกิดทรัพย์ 12  
 

9. ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้

13
  10 . หากสัตว์ทั้งหลาย รู้ผลแห่งการจำแนกทาน 16  
  11 . สังคหวัตถุ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์) 18  
  12 . ธรรมที่บัณฑิตบัญญัติไว้ 20  
  13 . ลักษณะผู้มีศรัทธาเลื่อมใส 21  
  14 . ปฏิปทาสมควรแก่คฤหัสถ์ 22  
  15 . การเกี่ยวข้องกันของนักบวชกับคฤหัสถ์ 23  
  16 . หลักในการจัดสรรทรัพย์ 24  
  17 . การใช้สอยโภคทรัพย์โดยไม่สูญเปล่า 27  
  18 . หลักดำรงชีพเพื่อประโยชน์สุขในสัมปรายะ 29  
  19 . การสงเคราะห์ผู้ล่วงลับ 31  
  20 . การสงเคราะห์เทวดา 37  
 

21 . ความตระหนี่ ขวางกั้นการทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล

38
  22 . ความตระหนี่คือมลทิน 39  
  23 . เหตุให้ไปนรก-สวรรค์ 40  
  24 . วิบากของคนตระหนี่และไม่ตระหนี่ 42  
  25 . ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๑) 44  
 

26 . ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๒)

47  
       
 
 






คำอนุโมทนา

ขออนุโมทนากับคณะงานธัมมะ ผู้จัดทำหนังสือพุทธวจน ฉบับ ทาน (การให้) ที่มีความตั้งใจและมีเจตนาอันเป็นกุศลในการเผยแผ่คำสอนของตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง ที่ท่านตรัสในแง่มุมของทาน เพื่อที่เราจะได้เข้าใจผล และอานิสงส์ของทานแบบต่างๆ เพราะโดยปกติทั่วไป คนส่วนใหญ่ก็นิยมการให้ทานอยู่เนืองนิตย์

ทานจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของเรามาก แต่หลายคนก็ยังไม่ทราบว่า การให้ทานที่มีผลมากจะต้องประกอบด้วยเหตุอะไรบ้าง และเราก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะต้องวางจิตอย่างไรเวลาให้ทาน เพื่อจะได้อานิสงส์สูงสุดคือ ความไม่ตาย

จากการให้ทานนั้นด้วยเหตุที่ได้กระทำมาแล้วนี้ ขอจงเป็นเหตุปัจจัยให้ผู้มีส่วนร่วมในการทำหนังสือ และผู้ที่ได้อ่าน ได้ศึกษาได้นำไปปฏิบัติ พึงสำเร็จสมหวัง พบความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตได้จริงในทางโลก และได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จผลยังนิพพาน สมดังความปรารถนาที่ได้สร้างมาอย่างดีแล้วด้วยเทอญ

ขออนุโมทนา
ภิกขุคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล


คำนำ

บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยมีความหวังผล ให้ทานโดยมีจิตผูกพันในผล ให้ทานโดยมุ่งการสั่งสม (บุญ)ให้ทานโดยคิดว่า “เราตายไปจักได้เสวยผล ของทานนี้” เขาให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้...

ปุถุชนผู้ได้สดับและได้ศึกษาในธรรมวินัยที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ จึงจะทราบว่า การวางจิตเมื่อให้ทาน ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มากปุถุชนผู้ได้สดับ จึงจะทราบว่า ศีลห้าเป็นมหาทานปุถุชนผู้ได้สดับ พึงให้ทานในเขตที่ให้แล้ว มีผลมากคือ ในพระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาลอันควร อันเป็นการบำรุงตถาคต หรือสาวกของตถาคต (ปาริจริยานุตตริยะ)

พุทธวจน ฉบับ “ทาน (การให้)” ได้รวบรวมไว้ซึ่งสิ่งอันตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ ว่าตถาคตได้ภาษิตไว้ได้กล่าวไว้ และรวบรวมสิ่งอันตถาคต ได้บัญญัติไว้ ว่าตถาคตได้บัญญัติไว้ อันเนื่องด้วยเหตุมีประมาณต่างๆ แห่ง“ทาน (การให้)” อย่างละเอียดครบถ้วน เช่น ความหมายของทาน องค์ประกอบของการให้ทานแล้วมีผลมาก ผลและอานิสงส์ของทานแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้เข้ามาศึกษา จะได้ทราบถึงสัจจะความจริง และประพฤติปฏิบัติตาม อันจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้น มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เช่นการให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต คือ ตั้งจิตละความตระหนี่ อันเป็นมลทิน จะได้เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ สาวกของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะมีปัญญา เป็นบัณฑิต พึงมีสิ่งที่ ประเสริฐกว่าทาน เป็นประโยชน์เป็นอานิสงส์ที่มุ่งหมายที่สุดของทาน คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะอันประเสริฐยิ่ง คือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง เพื่อถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไป เป็นธรรมดานั้นคือ นิพพาน.

คณะงานธัมมะ วัดนาป่าพง

หมายเหตุผู้รวบรวม

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ บางส่วนได้ปรับสำนวนต่างจากฉบับหลวง โดยเทียบเคียงจากทุกสำนัก (ฉบับสยามรัฐฉบับหลวง  ฉบับมหามงกุฎฯ  ฉบับมหาจุฬาฯ  ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ฉบับสมาคมบาลี ปกรณ์แห่งประเทศ อังกฤษ) เพื่อให้สอดรับกับบาลี และความเชื่อมโยงของพุทธวจนให้มากที่สุด

.......................................................................................................................................................

ความหมายของทาน

หน้า 2

1
ทาน (การให้) เป็นอย่างไร

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.

มาณพ ! บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตามบุรุษก็ตาม ย่อมเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือ พราหมณ์ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติ-โลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อมสมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคทรัพย์มาก.


หน้า 3


2
จาคะ (การบริจาค) เป็นอย่างไร

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

คหบดี ! ก็ จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) เป็นอย่างไรอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.

ทำไมจึงให้ทาน


หน้า 6

03
ทาน (การให้)ผลแห่ง ทานในปัจจุบัน และสัมปรายะ


-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๑/๓๔.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติผลแห่งทาน ที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบัน หรือหนอ.

สามารถ สีหะ ! สีหะ ! ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชน เป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผล แห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ก็เป็นผล แห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ก็เป็น ผลแห่งทานที่จะพึง เห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี สมณะก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผล แห่งทานที่จะพึงเห็นเอง.

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทาน ที่จะพึงได้ในสัมปรายะ.

หน้า 7

4
อานิสงส์แห่งการให้ทาน

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๓/๓๕

ภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ

(1) ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก
(2) สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน
(3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป
(4) ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
(5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล อานิสงส์แห่งการให้ทาน๕ ประการ.

ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ประกอบพรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้นย่อมแสดงธรรม เป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขาเขาได้ทราบชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้.

หน้า 8

5
ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่า ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และ ปฏิภาน
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๔/๕๙.
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๔๔/๓๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ อย่างแก่ ปฏิคาหก ๔ อย่างเป็นอย่างไร คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ

ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์  
ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งพละอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ อย่างนี้แลแก่ ปฏิคาหก.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ผู้ใดย่อมให้โภชนะโดยเคารพ ตามกาลอันควร แก่ท่านผู้สำรวม บริโภคโภชนะ ที่ผู้อื่นให้เป็นอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าให้ฐานะทั้ง ๔ อย่าง คือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละผู้มีปกติให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ จะเกิดในที่ใดๆย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในที่นั้นๆ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นอย่างไร

คือ ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุข ให้กำลัง ให้ปฏิภาณ
ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุ อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุข อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลัง อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์
ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณ อันเป็นเป็นทิพย์หรือเป็น ของมนุษย์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ  ๕ อย่างนี้แลแก่ป ฏิคาหก.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ผู้มีปัญญา ให้อายุย่อมได้อายุ ให้กำลังย่อมได้กำลังให้วรรณะย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ ปฏิภาณ ให้สุขย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และปฏิภาณแล้วจะเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มี อายุยืน มียศในที่นั้นๆ .

หน้า 10

6
ผู้ให้ข้าวยาคู ก็ชื่อว่า
ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาน
-บาลี มหา. วิ. ๕/๗๖/๖๑.

พราหมณ์ ! ข้าวยาคูมีคุณ ๑๐ อย่าง ๑๐ อย่างเป็นอย่างไร คือ ผู้ให้ข้าวยาคู ชื่อว่าให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุข ให้กำลัง ให้ปฏิภาณ ข้าวยาคูที่ดื่มแล้วกำจัด ความหิวบรรเทาความระหาย ทำลมให้เดินคล่อง ล้างลำไส้ ย่อยอาหาร ที่เหลืออยู่.

พราหมณ์ ! เหล่านี้แล คือคุณของข้าวยาคู ๑๐ อย่าง.
จากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำอนุโมทนา ดังนี้ทายกใดถวายข้าวยาคู โดย เคารพตามกาล แก่ ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว ผู้บริโภคโภชนะอันผู้อื่นถวาย ทายกนั้นชื่อว่าตามเพิ่มให้ซึ่งสถานะ ๑๐ อย่าง แก่ปฏิคาหกนั้นคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ย่อมเกิดแก่ปฏิคาหกนั้น

แต่นั้นข้าวยาคูย่อม กำจัดความหิว ความระหายทำลมให้เดินคล่อง ล้างลำไส้ และย่อยอาหาร ข้าวยาคูนั้นพระสุคตตรัส สรรเสริญว่าเป็นเภสัชเพราะเหตุนั้นแล มนุษย์ชนที่ต้องการสุขเป็นนิจปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู.

หน้า 11

7
ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของทีพ่อใจ

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๓/๔๔.

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการ ต่างๆด้วยความพอใจ ในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้น ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่าพระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญบริจาค สิ่งที่บริจาค ได้ยากแล้ว ชื่อว่าให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้.

... ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศให้ของที่ดี และให้ของที่ ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้.

หน้า 12

8
การให้ทานเป็นเหตุให้เกิดทรัพย์

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๓๗๖/๕๗๙.
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๗๘/๑๙๗.

มัลลิกา ! มาตุคามบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้มักโกรธไม่มากไปด้วยความ คับแค้นใจ ถูกว่าแม้มาก ก็ไม่ขัดเคืองไม่ฉุนเฉียว ไม่กระฟัดกระเฟียด ไม่กระด้าง กระเดื่อง ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ และ เป็นผู้ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์

ถ้ามาตุคามนั้นจุติจาก อัตภาพนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ กลับมาเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วย ความเป็นผู้มีผิวพรรณงามยิ่งนัก ทั้งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมากและสูงศักดิ์.

มาณพ ! ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีโภคทรัพย์มากนี้ คือ การให้ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ ดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์.

หน้า 13

9
ความต่างกันระหว่างผู้ให้และผู้ไม่ให้

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๔/๓๑.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้คนหนึ่งเป็นผู้ไม่ให้ คนทั้งสอง นั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดา เหมือนกัน จักมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

สุมนา ! คนทั้งสองนั้นจักมีความพิเศษแตกต่างกัน คือผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่ม เทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็น ทิพย์.

สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความ เป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกันพึงมีความพิเศษ แตกต่าง กันหรือ.

สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่ม มนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และ อธิปไตยที่เป็น ของมนุษย์.

สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นมนุษย์ ย่อมข่มมนุษย์ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็น บรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

สุมนา ! คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกันคือ ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิตผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ๕ ประการ คือ

(1) เธอใช้สอยจีวร ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ใช้ สอยนั้นเป็นส่วนน้อย

(2) เธอฉันบิณฑบาต ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอนที่ไม่ถูกใครอ้อนวอน ให้ฉัน นั้นเป็นส่วนน้อย

(3) เธอใช้สอยเสนาสนะ ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอน ให้ใช้สอยนั้น เป็นส่วน น้อย

(4) เธอบริโภคยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค ส่วนมากเพราะถูกเขาอ้อนวอน ที่ไม่ถูกใครอ้อนวอนให้ บริโภคนั้นเป็นส่วนน้อย

(5) เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้น ก็ประพฤติ ต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจ เป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมา เป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจ มาเป็นส่วนน้อย

สุมนา ! ผู้ให้ที่เป็นบรรพชิต ย่อมข่มบรรพชิต ผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่ได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ.

สุมนา ! ข้อนี้ เราไม่กล่าวว่า มีความพิเศษแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติกับวิมุตติ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! น่าอัศจรรย์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ไม่เคยมี
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้อนี้กำหนดได้ว่าบุคคลควรให้ท่านควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.

อย่างนั้น สุมนา ! อย่างนั้น สุมนา !บุคคลควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็น อุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลก ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่า ผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ (การบริจาค)เมฆที่ลอยไปตาม อากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอน และที่ลุ่ม ฉันใด

สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นบัณฑิตก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ ๕ ประการ คือ อายุวรรณะ สุข ยศ และเปี่ยมด้วย โภคะ ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ดังนี้.

หน้า 16

10
หากสัตว์ทั้งหลายรู้ผลแห่งการจำแนกทาน

-บาลี ขุ. ขุ. ๒๕/๒๔๓/๒๐๔.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่าง เรารู้ไซร้ หากสัตว์ เหล่านั้นยังไม่ได้ให้ทานเสียก่อน ก็จะไม่พึงบริโภค อนึ่ง มลทินคือความตระหนี่ จะไม่พึงครอบงำ จิตของสัตว์เหล่านั้น แม้คำข้าวคือก้อน ข้าวของสัตว์เหล่านั้นจะพึงเหลืออยู่คำสุดท้าย ก็ตามถ้า ปฏิคาหกของพวกเขา ยังมีอยู่ หากสัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้ายแม้นั้น (ให้แก่ปฏิคาหก) ก็จะไม่บริโภค.

ภิกษุทั้งหลาย ! แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการจำแนกทาน เหมือนอย่าง เรารู้ ฉะนั้นสัตว์เหล่า นั้น จึงไม่ได้ให้ทานก่อนบริโภค อนึ่ง มลทินคือความ ตระหนี่จึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น.

 (คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทาน เหมือนอย่างที่เรากล่าวไว้แล้ว โดยวิธีที่ผลนั้น เป็นผลใหญ่ไซร้สัตว์ทั้งหลาย พึงกำจัดความตระหนี่อันเป็น มลทินเสียแล้ว มีใจผ่องใสพึงให้ทาน ในเขตที่ให้แล้วมีผลมาก คือในพระอริย บุคคลทั้งหลาย ตามกาลอันควรอนึ่งทายกเป็นอันมาก ครั้นให้ข้าวเป็นทักขิณา ในทักขิเณยยบุคคลทั้งหลายแล้ว เมื่อจุติจากความเป็นมนุษย์นี้ แล้วย่อมไปสู่ สวรรค์ทายกเหล่านั้นผู้ใคร่กาม ไม่มีความตระหนี่ไปสู่สวรรค์ แล้วบันเทิงอยู่ใน สวรรค์นั้น เสวยอยู่ซึ่งผล แห่งการจำแนกทาน.

หน้า 18

11
สังคหวัตถุ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์)

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๔๒/๓๒.

ภิกษุทั้งหลาย ! สังคหวัตถุ ๔ ประการนี้มีอยู่
๔ ประการเป็นอย่างไร คือ

(1) ทาน (การให้)
(2) เปยยวัชชะ (การพูดถ้อยคำอันเป็นที่รัก)
(3) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
(4) สมานัตตา (ความมีตนเสมอกัน)
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สังคหวัตถุ ๔ ประการ.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
การให้ ความเป็นผู้มีวาจาน่ารักความประพฤติประโยชน์ในโลกนี้ ความเป็นผู้มีตน สม่ำเสมอในธรรมนั้นๆ ตามสมควรธรรมเหล่านั้นแล เป็นเครื่องสงเคราะห์โลก ประดุจสลักเพลา ควบคุมรถที่แล่นไปอยู่ไว้ได้ ฉะนั้นถ้าธรรมเครื่องสงเคราะห์ เหล่านี้ ไม่พึงมีไซร้มารดาหรือบิดาไม่พึงได้ความนับถือ หรือบูชาเพราะเหตุ แห่งบุตรก็เพราะเหตุที่บัณฑิตพิจารณาเห็นธรรม เครื่องสงเคราะห์เหล่านี้ ฉะนั้นพวกเขาจึงถึงความ เป็นใหญ่และเป็นที่น่าสรรเสริญ.

หน้า 20

12
ธรรมที่บัณฑิตบัญญัติไว้

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๑๙๑/๔๘๔.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๓ ประการนี้ บัณฑิตได้บัญญัติไว้ สัปบุรุษได้บัญญัติไว้
๓ ประการเป็นอย่างไร คือ
(๑) ทาน
(๒) บรรพชา
(๓) มาตาปิตุอุปัฏฐาน (การบำรุงมารดาบิดา)

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๓ ประการนี้แล บัณฑิตบัญญัติไว้ สัปบุรุษบัญญัติไว้.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ทาน การไม่เบียดเบียน ความสำรวมการฝึกตน การบำรุงมารดาและบิดา สัปบุรุษ บัญญัติไว้ เหตุที่บัณฑิตเสพเป็นเหตุของสัปบุรุษ ผู้เป็นคนดีเป็นพรหมจารีบุคคล ผู้ที่เป็นอริยะ สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ (การเห็นด้วยปัญญา)ย่อมถึงโลกอันเกษม.

หน้า 21

13
ลักษณะผู้มีศรัทธาเลื่อมใส

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๑๙๐/๔๘๑.

ภิกษุทั้งหลาย ! พึงทราบบุคคลมีศรัทธาเลื่อมใสโดยฐานะ ๓ ประการ
๓ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) เป็นผู้ใคร่ที่จะเห็นท่านผู้มีศีล
(2) เป็นผู้ใคร่ที่จะฟังธรรม
(3) มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยอยู่ เป็นประจำ มีฝ่ามือ อันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน

ภิกษุทั้งหลาย ! พึงทราบว่า คนมีศรัทธาเลื่อมใสโดยฐานะ ๓ ประการอย่างนี้แล.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
บุคคลผู้ใคร่จะเห็นท่านผู้มีศีลปรารถนาจะฟังพระสัทธรรมกำจัดความตระหนี่ อันเป็นมลทินนั้นแล เรียกว่าผู้มีศรัทธา.

หน้า 22

14
ปฏิปทาสมควรแก่คฤหัสถ์

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๔/๖๐.

คหบดี ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทา สมควรแก่คฤหัสถ์ อันเป็นเหตุให้ได้ยศและเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์
๔ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร
(2) เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยบิณฑบาต
(3) เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยเสนาสนะ
(4) เป็นผู้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยคิลานปัจจัยเภสัช-บริขาร (ยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค)

คหบดี ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ปฏิปทาอันสมควรแก่ คฤหัสถ์อันเป็นเหตุให้ได้ยศ และเป็นไปเพื่อสวรรค์.

บัณฑิตทั้งหลายบำรุงท่านผู้มีศีล ผู้ดำเนินไปโดยชอบด้วย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารชื่อว่าย่อมปฏิบัติปฏิปทา สมควรแก่ คฤหัสถ์ บุญย่อมเจริญแก่เขาทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและ กลางคืน เขาทำกรรมอัน เจริญแล้ว ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์.

หน้า 23

15
การเกี่ยวข้องกันของนักบวชกับคฤหัสถ์
-บาลี อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๑๔/๒๘๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ผู้บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยากับเครื่องใช้ในการ รักษาโรค) ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอ ทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! การที่เธอทั้งหลายแสดงธรรม อันงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และ คหบดีเหล่านั้น ชื่อว่าเธอทั้งหลาย ก็เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ชนเหล่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเหมือนห้วงน้ำ เพื่อจะทำซึ่งที่สุด แห่งทุกข์โดยชอบด้วยประการอย่างนี้.

หน้า 24

16
หลักในการจัดสรรทรัพย์

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๘-๘๙/๖๑.

คหบดี ! อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์ ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียร เป็นเครื่อง ลุกขึ้น รวบรวมมาด้วย กำลังแขนมีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วย ธรรม ได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรมในหน้าที่ ๔ ประการ
๔ ประการเป็นอย่างไร คือ

(1) อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบธรรม ในการเลี้ยงตนให้ เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารตนให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงมารดา และบิดา ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารท่านทั้งสอง ให้อยู่เป็นสุขโดยถูกต้อง ในการเลี้ยงบุตร ภรรยา ทาสและกรรมกรชายหญิงให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่กันอย่าง เป็นสุขโดยถูกต้องในการเลี้ยงมิตรอำ มาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ บริหารให้อยู่เป็น สุขโดยถูกต้อง นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบ ด้วยเหตุผล.

(2) คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดยชอบ ธรรม ในการปิดกั้น อันตรายทั้งหลาย ทำตนให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลาย ที่เกิดจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร หรือจากทายาทที่ไม่เป็นที่รักนั้นๆ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๒ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้ว โดยชอบด้วยเหตุผล.

(3) คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหาได้มาโดย ชอบธรรม ในการกระทำ พลีกรรม๕ ประการ คือ ญาติพลี (สงเคราะห์ญาติ) อติถิพลี (สงเคราะห์แขก) ปุพพเปตพลี (สงเคราะห์ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ราชพลี (ช่วยชาติ)เทวตาพลี (สงเคราะห์เทวดา) นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ ฐานที่ ๓ อันอริยสาวกนั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.

คหบดี ! ข้ออื่นยังมีอีก อริยสาวกนั้น ใช้โภคทรัพย์อันตนหามาได้โดยชอบธรรม ในการตั้งไว้ซึ่ง ทักษิณา อุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้งดเว้นแล้ว จาก ความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งมั่นอยู่ในขันติ และโสรัจจะ ผู้ฝึกฝน ทำความสงบ ทำความดับเย็นแก่ตนเอง อันเป็นทักษิณาที่มีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุขเป็นผลตอบแทนเป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์ นี้เป็นการบริโภคทรัพย์ฐานที่ ๔ อันอริยสาวก นั้นถึงแล้ว บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.

คหบดี ! อริยสาวกนั้น ย่อมใช้โภคทรัพย์ที่ตนหาได้มาด้วยความเพียร เป็นเครื่อง ลุกขึ้น รวบรวมมา ด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วย ธรรมได้มาโดยธรรม เพื่อกระทำกรรม ในหน้าที่ ๔ ประการเหล่านี้.

คหบดี ! โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใด ถึงความหมดสิ้นไป โดยเว้นจาก กรรมในหน้าที่ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วนี้ โภคทรัพย์เหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็น โภคทรัพย์อันบุคคลนั้นไม่ถึงแล้วโดยฐานะ ไม่บรรลุแล้วไม่บริโภคแล้วโดยชอบ ด้วยเหตุผล.

คหบดี ! โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใด ถึงความหมดสิ้นไป โดยกรรมใน หน้าที่ ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วนี้ โภคทรัพย์เหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นโภคทรัพย์ อันบุคคลนั้นถึงแล้วโดยฐานะ บรรลุแล้ว บริโภคแล้วโดยชอบด้วยเหตุผล.

หน้า 27

17
การใช้สอยโภคทรัพย์โดยไม่สูญเปล่า

-บาลี สคา. สํ. ๑๕/๑๓๑/๓๘๘.

มหาราช ! สัปบุรุษได้โภคทรัพย์อันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข อิ่มหนำ ทำมารดาบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำทำบุตรภรรยาให้เป็นสุข อิ่มหนำ ทำทาสกรรมกรให้เป็นสุขอิ่มหนำ ทำมิตรอำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ ย่อมตั้งไว้ซึ่งทักษิณาอันอุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นทักษิณามีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝ่ายดี มีสุขเป็นผลตอบแทนเป็นไปพร้อม เพื่อสวรรค์.

เมื่อเขาบริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้นโดยชอบอยู่อย่างนี้ พระราชาก็ไม่ริบโภค ทรัพย์ เหล่านั้นไปได้ โจรก็ไม่นำไปได้ไฟก็ไม่ไหม้ได้ น้ำก็ไม่พัดไปได้ ทายาท อันไม่เป็นที่รักก็ไม่ยื้อแย่งไปได้.

มหาราช ! โภคทรัพย์เหล่านั้น อันเขาบริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ย่อมถึงซึ่งการ ได้บริโภคใช้สอย โดยไม่สูญเปล่า.

มหาราช ! เปรียบเหมือนในที่ไม่ไกลจากบ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีมีน้ำใส เย็น น่าดื่ม สะอาด มีท่าขึ้นลงดีน่ารื่นรมย์ คนเขาขนน้ำนั้นไปบ้าง ดื่มบ้าง อาบบ้าง ทำตามต้องการบ้าง.

มหาราช ! น้ำนั้นอันเขาบริโภคใช้สอยอยู่โดยชอบอย่างนี้ ย่อมถึงซึ่งการได้ บริโภคใช้สอย โดยไม่สูญ เปล่านี้ฉันใด.

มหาราช ! สัปบุรุษได้โภคทรัพย์อันโอฬารแล้วย่อมทำตนให้เป็นสุข อิ่มหนำ ทำมารดาบิดาให้เป็นสุข อิ่มหนำทำบุตรภรรยาให้เป็นสุข อิ่มหนำ ทำทาส กรรมกรให้เป็นสุขอิ่มหนำ ทำมิตรอำมาตย์ให้เป็นสุข อิ่มหนำ ย่อมตั้งไว้ซึ่ง ทักษิณาอันอุทิศแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นทักษิณามีผลเลิศในเบื้องบน เป็นฝักฝ่ายดี มีสุขเป็นผลตอบแทนเป็นไปพร้อมเพื่อสวรรค์.

เมื่อเขาบริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้น โดยชอบอยู่อย่างนี้ พระราชาก็ไม่ริบ โภคทรัพย์เหล่านั้นไปได้ โจรก็ไม่นำไปได้ไฟก็ไม่ไหม้ได้ น้ำก็ไม่พัดไปได้ ทายาทอันไม่เป็นที่รักก็ไม่ยื้อแย่งไปได้.

มหาราช ! โภคทรัพย์เหล่านั้น อันเขาบริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ย่อมถึงซึ่งการ ได้บริโภคใช้สอยโดย ไม่สูญเปล่า ฉันนั้นเหมือนกัน.

หน้า 29


18
หลักดำ
รงชีพเพื่อ ประโยชน์สุขในสมัยปรายะ
-บาลี อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๘๙-๒๙๓/๑๔๔.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของกุลบุตรใน สัมปรายะ (ในกาลเบื้องหน้า)
๔ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
(2) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
(3) จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค)
(4) ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)

พ๎ยัคฆปัชชะ ! สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อในการตรัสรู้ของตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมเป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” นี้เรียกว่าสัทธาสัมปทา.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! สีลสัมปทา เป็นอย่างไร.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้
เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน นี้เรียกว่า สีลสัมปทา.
พ๎ยัคฆปัชชะ ! จาคสัมปทา เป็นอย่างไร.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอัน ปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้และการแบ่งปัน นี้เรียกว่าจาคสัมปทา.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ เป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญา เครื่องให้ถึง สัจจะแห่งการเกิดดับ เป็นเครื่องไปจากข้าศึก เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นเครื่องถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของ กุลบุตรในสัมปรายะ.

หน้า 31

19
การสงเคราะห์ผู้ล่วงลับ

-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๒๙๐/๑๖๖.

พระโคดมผู้เจริญ ! พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำ ความเชื่อว่า ทานนี้ต้อง สำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสา โลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจงบริโภคทานนี้ (อิทํ ทานํ เปตาญาติสาโลหิตา ปริภุญฺชนฺติ).

พระโคดมผู้เจริญ ! ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิต ผู้ล่วงลับไปแล้วหรือ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับ ไปแล้วเหล่านั้น ย่อมได้บริโภคทานนั้นหรือ.

พราหมณ์ ! ทานนั้น ย่อมสำเร็จในฐานะ1และย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ.2

พระโคดมผู้เจริญ ! ฐานะ เป็นอย่างไร อฐานะเป็นอย่างไร.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิต ปองร้ายมีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรกเขาย่อมเลี้ยง อัตภาพอยู่ในนรกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรกนั้นด้วยอาหารของสัตว์นรก.

1. โอกาสที่เป็นได้ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังความสำเร็จประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้)
2. โอกาสที่เป็นไปไม่ได้ (สถานภาพในภพนั้นที่ยังความสำเร็จประโยชน์ ให้เกิด ขึ้นไม่ได้)

พราหมณ์ ! ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อ ตายไป ย่อมเข้าถึง กำเนิดเดรัจฉาน เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ใน กำเนิด เดรัจฉานนั้น ย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดเดรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์เดรัจฉาน.

พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความ เห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ เขาย่อม เลี้ยงอัตภาพอยู่ในมนุษยโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ใน มนุษยโลกนั้น ด้วยอาหารของ มนุษย์.

พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็น ชอบ บุคคลนั้นเมื่อ ตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยง อัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ใน เทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา.

พราหมณ์ ! แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็น อฐานะ.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์... มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อ ตายไป ย่อมเข้าถึง เปรตวิสัยเขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหาร ของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมอุทิศทานให้ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัย นั้น ด้วยทานนั้น.

พราหมณ์ ! ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ.

ท่านโคดมผู้เจริญ ! ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น.

พราหมณ์ ! ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ที่เข้าถึง ฐานะนั้น มีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น.

ท่านโคดมผู้เจริญ ! ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น.

พราหมณ์ ! ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยกาลช้า นานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้.

พราหมณ์ ! อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็น ผู้ไม่ไร้ผล.

ท่านโคดมผู้เจริญ ! ย่อมตรัสกำหนดแม้ในอฐานะหรือ.

พราหมณ์ ! เรากล่าวกำหนดแม้ในอฐานะ.

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด แต่เขายังให้ ข้าว น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ยาน-พาหนะ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัยและประทีปโคมไฟแก่สมณะ หรือ พราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของช้าง แต่เขายังได้ข้าวน้ำ มาลา และเครื่องประดับ ต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น.

พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นผิด ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายของช้าง และข้อที่ผู้นั้นเป็นผู้ให้ข้าว.. ประทีปโคมไฟ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้ข้าว น้ำมาลาและเครื่อง ประดับ ต่างๆ ในกำเนิดช้างนั้น.
... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของม้า ... .
... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค ... .
... ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข ... .

พราหมณ์ ! บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความ เห็นชอบ และเขายังให้ ข้าว ...ประทีป โคมไฟแก่สมณะหรือ พราหมณ์บุคคลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของ มนุษย์ และเขาย่อมได้เบญจกามคุณ อันเป็นของมนุษย์นั้น.

พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของมนุษย์ และข้อที่ผู้นั้น เป็นผู้ให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือ พราหมณ์ ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้ เบญจกามคุณอันเป็นของมนุษย์นั้น.

พราหมณ์ ! อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ และเขา ยังให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือพราหมณ์ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายของเทวดา เขาย่อมได้เบญจ กามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น.

พราหมณ์ ! ข้อที่บุคคลเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... มีความเห็นชอบ ด้วยกรรมนั้น เมื่อตายไปย่อม เข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา และข้อที่ผู้นั้น เป็นผู้ให้ข้าว ... ประทีปโคมไฟแก่สมณะหรือ พราหมณ์ด้วยกรรมนั้น เขาย่อมได้ เบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น.

พราหมณ์ ! (ด้วยเหตุอย่างนี้) แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้อที่แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผลนี้ เป็นของควรเพื่อให้ ทานโดยแท้ เป็นของควร เพื่อกระทำศรัทธาโดยแท้.

พราหมณ์ ! ข้อนี้เป็นอย่างนี้ๆ.

พราหมณ์ ! แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ...ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้า พระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หน้า 37

20
การสงเคราะห์เทวดา

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๐๕/๘๔.

ตรัสแก่สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์ภายหลังจากที่พระองค์ได้ฉันของเคี้ยว และของฉันอันประณีต ที่ทั้งสองได้ถวายด้วยมือของตนแล้ว ด้วยคาถาว่า บุรุษชาติบัณฑิต ย่อมสำเร็จการอยู่ในที่ใด พึงเชิญ ท่านผู้มีศีล ผู้สำรวมและ ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในที่นั้นควรอุทิศทักขิณา เพื่อเทวดาผู้สถิต อยู่ในที่นั้นๆเทวดาเหล่านั้น อันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือบูชาแล้วย่อมนับถือบูชา ตอบแต่นั้นย่อม อนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร บุรุษผู้อัน เทวดาอนุเคราะห์แล้ว ก็ย่อม ถึงความเจริญทุกเมื่อ.

หน้า 38

21
ความตระหนี่ ขวางกั้นการทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล
-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๓๐๒/๒๕๖–๒๕๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะไม่ละธรรม ๕ อย่าง บุคคลจึงไม่ควรเข้าอยู่ ซึ่งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไม่ควรเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผลอนาคามิผล อรหัตตผล
ธรรม ๕ อย่างเป็นอย่างไร คือ
(1) ความตระหนี่อาวาส
(2) ความตระหนี่ตระกูล
(3) ความตระหนี่ลาภ
(4) ความตระหนี่วรรณะ (ความดี)
(5) ความตระหนี่ธรรม (เครื่องให้บรรลุมรรคผล)
(ต่อจากนี้ ได้ตรัสโดยนัยตรงกันข้ามถึงการละธรรม ๕ อย่างนั้นแล้ว ควรเพื่อเข้า อยู่ในฌานและกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคผล).

หน้า 39

22
ความตระหนี่คือมลทิน

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๙๘/๑๐๕.

ภิกษุทั้งหลาย ! มลทิน (ความมัวหมอง) ๘ ประการนี้มีอยู่
๘ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
(2) ความไม่หมั่นเป็นมลทินของเรือน
(3) ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ
(4) ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา
(5) ความประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง
(6) ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้
(7) อกุศลธรรมอันเป็นบาปเป็นมลทินแท้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
(8) เราจะบอกมลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้น คืออวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง.

หน้า 40

23
เหตุให้ไปนรก-สวรรค์

-บาลี เอก. อํ. ๒๐/๑๓๒/๔๔๙.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ประการ และไม่ละมลทิน ๓ ประการ ย่อมจะถูกเก็บไว้ใน นรก เหมือนถูกขังฉะนั้น
ธรรม ๓ ประการเป็น อย่างไร คือ
(1) เป็นผู้ทุศีลและไม่ละมลทินแห่งความเป็นผู้ทุศีล
(2) เป็นผู้ริษยาและไม่ละมลทินแห่งความริษยา
(3) เป็นผู้ตระหนี่และไม่ละมลทินแห่งความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้และไม่ละมลทิน ๓ ประการนี้แล จะต้องตกนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้ฉะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ประการ ละมลทิน ๓ ประการ ย่อมจะประดิษฐานบน สวรรค์เหมือนถูกนำเอามาวางไว้ฉะนั้น
ธรรม ๓ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) เป็นผู้มีศีลและละมลทินแห่งความเป็นผู้ทุศีล
(2) เป็นผู้ไม่ริษยาและละมลทินแห่งความริษยา
(3) เป็นผู้ไม่ตระหนี่และละมลทินแห่งความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ประการนี้และละมลทิน ๓ ประการนี้แล ย่อมจะต้องได้ขึ้น สวรรค์ เหมือนกับเชิญไปวางไว้ฉะนั้น.

หน้า 42

24
วิบากของคนตระหนี่และไม่ตระหนี่

-บาลี สคาถ. สํ. ๑๕/๔๖/๑๔๘-๑๕๑.

เทวดาทูลถามว่าชนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น เขาดีแต่ทำการ กีดขวางคน เหล่าอื่น ผู้ให้อยู่ วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปราย ภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อ ทูลถามพระผู้มีพระภาคไฉน ข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าชนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่นดี แต่ว่าเขาทำการกีดขวาง คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิด เดรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหากถึงความเป็น มนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาผ้า อาหารความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก คนพาล เหล่านั้น ต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้นสมความปรารถนา นั่นเป็นผล ในภพนี้ และ ภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย.

เทวดาทูลถามว่าก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่น กะพระโคดม ชนเหล่าใด ในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้วรู้ถ้อยคำ ปราศจาก ความตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและ พระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพ แรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขา จะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ ความข้อนั้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าชนเหล่าใดในโลกนี้ ได้ความเป็นมนุษย์แล้วรู้ถ้อยคำ ปราศจากความ ตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพแรงกล้าชนเหล่านี้ ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้า อาหารความ ร่าเริง และความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่น หาสะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ.

หน้า 44

25
ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๑)

-บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๘/๔๗.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทรัพย์ ๕ ประการเหล่านี้มีอยู่
๕ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ทรัพย์คือ ศรัทธา
(2) ทรัพย์คือ ศีล
(3) ทรัพย์คือ สุตะ
(4) ทรัพย์คือ จาคะ
(5) ทรัพย์คือ ปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่อง ตรัสรู้ ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมาคือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำ ได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความ ตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อย อยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน นี้เรียกว่าทรัพย์คือจาคะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา อันหยั่งถึงความตั้งขึ้น และความเสื่อมไป เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความ สิ้นทุกข์โดยชอบนี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ทรัพย์ ๕ ประการ.

 (คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวมีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญมีความเลื่อมใส ในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรงบัณฑิตทั้งหลาย กล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสนชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่า ประโยชน์เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.

หน้า 47


26
ทรัพย์ในอริยวินัย (นัยที่ ๒)

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๕/๖.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทรัพย์ ๗ ประการเหล่านี้มีอยู่
๗ ประการเป็นอย่างไร คือ
(1) ทรัพย์คือ ศรัทธา
(2) ทรัพย์คือ ศีล
(3) ทรัพย์คือ หิริ
(4) ทรัพย์คือ โอตตัปปะ
(5) ทรัพย์คือ สุตะ
(6) ทรัพย์คือ จาคะ
(7) ทรัพย์คือ ปัญญา

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อปัญญาเครื่อง ตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์ คือศรัทธา.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือศีลเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... จากการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือหิริเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือละอายต่อกา ยทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันเป็นบาป นี้เรียกว่าทรัพย์คือหิริ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัว ต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรม อันเป็น บาปนี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำได้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดอย่างดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่าม กลาง งามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความ ตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อย อยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีใน การสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน นี้เรียกว่าทรัพย์คือ จาคะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญา ที่กำหนดความเกิด และความดับเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบ นี้เรียกว่าทรัพย์คือปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล ทรัพย์ ๗ ประการ.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะและปัญญาเป็นที่ ๗ ทรัพย์ เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิง หรือชายก็ตามบัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์เพราะฉะนั้น ท่าน ผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและ การเห็นธรรม.