เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ        

 
พระสูตรสั้น พระสูตรโดยย่อ
  พระสูตรสั้น ชุด5 ทางลัด.. คลิกดูพระสูตรที่เป็นตัวเลข
 
1 (คลิก)
S5- 81 เถระพาล พูดไม่จริง, ไม่มีประโยชน์, ไม่เป็นธรรม, ไม่เป็นวินัย, ไม่มีที่อิง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เรียกว่าเถระผู้พาล
S5- 82 เถระวิปริต บวชนาน มีเกียรติ ร่ำรวย สะสมธรรมมาก แต่..มิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริต.
S5- 83 นรกของสมภารเจ้าวัด (ไม่ใต่สวนให้รอบคอบ กล่าวยกย่อง คนที่ควรตำหนิ/กล่าวตำหนิ คนที่ควรยกย่อง...)
S5- 84 รักษาพรหมจรรย์ไว้ด้วยนํ้าตา (ทุกขใจทุกข์กายขนาดไหน ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยศรัทธา..วิริยะ..ปัญญา สำคัญกว่า)
S5- 85 ผู้มีศีลไม่ประดับตกแต่งร่างกายการอบตัว นวดเนื้อ ส่องดูเงา ถือไม้ถือ คาดดาบ คาดพระขรรค์ การใช้ร่ม รองเท้าอันวิจิตร
S5- 86 ผู้มีศีลไม่พูดคุยเดรัจฉานกถา (เรื่องกองทัพ เรื่องน่ากลัว เรื่องข้าว น้ำ บ้าน ความแปลก เรื่องโลก เรื่องฉิบหาย ความเจริญ)
S5- 87 สมณกิจ (สมณะต้องทำมีสามอย่าง ปฏิบัติในศีล ในจิต ในปัญญา)
S5- 88 ผล และ ประโยชน์ของความเป็นสมณะ (อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือมรรค8 นี้อย่างเดียวเท่านั้น
S5- 89 เมื่อมีความพอใจ ย่อมมีตัณหา (รสอร่อยแห่งตัณหา เป็นปัจจัยให้สร้างภพ เหมือนการเติมเชื้อไฟด้วยไม้ ให้ลุกโพลง)
S5- 90 เมื่อมีความพอใจ ย่อมมีตัณหา (ความพอใจ ราคะ.. นันทิ.. ตัณหาอันใด..พวกกุมาร หรือกุมารีน้อยๆ ปราศจากราคะแล้ว)
2  
S5- 91 3 สิ่งเปิดเผยไม่เจริญ 3 สิ่งปิดบังไว้ไม่รุ่งเรือง (ปิด..สตรี-มนต์พราหมณ์- มิจฉาทิฎฐิ .. เปิด ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์-ธรรมวินัย)
S5- 92 ผู้กินคูถ (พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 6)
S5- 93 ราคีของนักบวช -การรับเงินและทอง (เรื่องที่ว่าด้วย การทำไปตามอำนาจกิเลส)
S5- 94 คนแหวกแนว (ภิกษุสอนผิดแนว กายกรรม วจีกรรม บำเพ็ญจิต ผิดแนวพุทธศาสนา ได้ชื่อว่าทำให้มหาชนฉิบหาย หมดสุข)
S5- 95 ผู้ถูกตะปูตรึงใจ 5 ตัว (ภิกษุที่เคลือบแคลงสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์..ย่อมหาความเจริญไม่ได้)
S5- 96 กามคุณ 5 (ทรงอุปมาเหมือนมารผู้ใจบาป รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงทางหู, กลิ่นทางจมูก, รสทางลิ้น, และโผฏฐัพพะทางกาย)
S5- 97 เจริญสมาธิ ได้ชื่อว่ากำลังโน้มเอียงสู่นิพพาน (น้อมไป โน้มไป โอนไป..ย่อมเข้าถึงปฐมฌาน- ทุติย- ตติย- จตุตถฌาน)
S5- 98 เต่าตาบอด - โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก 
S5- 99 "โลก" หมายถึงการแตกสลาย จักษุ-รูป.. จักษุวิญญาณ.. จักษุสัมผัสแตกสลาย แม้สุข ทุกข อทุกขมสุขก็แตกสลาย
S5- 100 เทวดาและมนุษย์ เป็นทุกข์เพราะติดอยู่ในอายตนะ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีธรรมเป็นที่มายินดี
3  
S5- 101 สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ เธอจงละเสีย...ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของเธอจงละมันเสีย (อุปมาบุรุษลากกิ่งไม้ไปเผา)
S5- 102 น้ำตาที่เคยไหล น้ำนมที่เคยดึ่ม เลือดที่เคยหลั่ง มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง4... พอละยังเพื่อความเบื่อหน่าย
S5- 103 สังสารวัฏนี้ หาที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
S5- 104 ปัญญา สติ กับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ (สติอยู่ส่วนไหนของขันธ์5)
S5- 105 อนุสัยคืออย่างไร? ผลเสียของการปล่อยจิตให้เพลินกับอารมณ์ ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓ ได้แก่ ราคานุสัย ปฏิฆา อวิชชา
S5- 106 อุปมาขันธ์ 5 (ได้แก่ รูป-ฟองน้ำ.. เวทนา-ต่อมน้ำ.. สัญญา-พยับแดด.. สังขาร-ลอกกาบก้วย.. วิญญาณ-นักมายากล)
S5- 107 อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า (เห็นความไม่เที่ยงของขันธ์5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง)
S5- 108 ความหมายอันแท้จริงของ “บาดาล” เป็นคำแทนชื่อ ของทุกขเวทนา ของบุถุชน ผู้ไม่มีการสดับ
S5- 109 อารมณ์คือเชื้อแห่งการเกิดขึ้นแห่งภพ คิดถึงสิ่งใด ดำริถึงสิ่งใด มีจิตฝังลงไป สิ่งนั้นย่อมเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ
S5- 110 ทรงอุปมาด้วยลูกไก่ .. ไก่ผู้คือพี่ลูกไก่ตัวใดทำลาย กระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ก่อนไข่ฟองอื่น
4  
S5- 111 พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท ครั้งที่เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพ มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน
S5- 112 เวรัญชพราหมณ์ กล่าวตู่พระพุทธเจ้า.. การตอบโต้วาทะ พราหมณ์กับพระพุทธเจ้า
S5- 113 เหตุที่พุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้า วิปัสสี สิขี และเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน
S5- 114

เหตุที่พุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้า กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะดำรงอยู่นาน

S5- 115 สัตว์ต้องเวียนว่ายเพราะไม่เห็นอริยสัจจ
S5- 116 สัทธานุสารี ธัมมานุสารี (โดยสรุป)
S5- 117 มานะ 6 ถือตัว, แกล้งลดตัว,ยกตัว,ถือตัวจัด,หัวดื้อ, สำคัญตัวเองว่าเลว
S5- 118 การแบ่งกัปตามการอุบัติพระพุทธเจ้า (คำแต่งใหม่) 1กัปมี พ.1-5 พระองค์ ภัทรกัปมีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
S5- 119 ชั้นเทวดา และอายุเทวดาแต่ละชั้น เทวดาชั้นกามภพ รูปพรหม หรือรุปภพ  อรูปพรหมหรืออรูปภพ
S5- 120 นรกภูมิ รวบรวมจากวิกิพีเดีย และพระไตรปิฎก
5  
S5- 121 เปรต 21 ประเภท แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี แบ่งได้ 21 ประเภท
S5- 122 คนธรรพ์ 10 ประเภท(เทวดาที่สถิตย์ในต้นไม้มีกลิ่น 10 ประเภท..ต้นไม้มีกลิ่น ที่ดอก ที่ต้น ที่ใบ ที่ผล ที่เปลือก ที่แก่น...)
S5- 123 โกกาลิกสูตร นรก10 ขุม (อัพพุทนรก ตื้นที่สุด..ปทุมนรก นานที่สุด โกกาลิกกะ กล่าวอาฆาตพระโมค-สารีบุตร มาอุบัติที่นี่)
S5- 124 ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้เขานับถือ เราประพฤติ เพื่อสำรวม เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทซึ่งทุกข์
S5- 125 กายนี้ไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงกระแสปฏิจจ- (กายนี้เป็นกรรมเก่า เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำ ให้เกิด... )
S5- 126 กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในแง่มุมของการเกิดภายหลังกายแตกทำลาย (ถอดคำพูดจากคลิป)
S5- 127 ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้เหล่าชฏิล 3 พี่น้อง ถึง 12 ครั้ง เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับ ณ โรงบูชาเพลิง (น่าจะเป็นอรรถกถา)
S5- 128 ขุนเขาสิเนรุ กว้าง ยาว 84000 โยชน์ หรือประมาณ 1,344,000 กม.
S5- 129 อนาคตจะมี พระอาทิตย์ขึ้น7 ดวง น้ำในมหาสมุทรเหลือเท่ารอยตีนโค จะเกิดไฟลุกทั่วทั้งโลกธาตุ จนถึงชั้นพรหมโลก
S5- 130 ทรงแสดงอุบายแก้ง่วง แก่พระโมคคัลลานะ พิจารณาธรรม..เดินจงกลม..ยอนหู....ลูบตา เอาน้ำลูบหน้า ..นอน
 
ต่อชุด 6
 


พระสูตรสั้น ชุด5

81
เถระพาล
ภิกษุพูดไม่จริง, พูดไม่มีประโยชน์, พูดไม่เป็นธรรม, พูดไม่เป็นวินัย, ไม่มีที่อิง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เรียกว่า เถระ ผู้พาล

            ภิกษุ ท. ! คนเราแม้เป็นผู้เฒ่า มีอายุ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ปีโดยกำเนิด ก็ดี แต่เขามีคำพูด ไม่เหมาะแก่กาล พูดไม่จริง พูดไม่มีประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คนผู้นั้นย่อมถึงการถูกนับว่าเป็น “เถระ ผู้พาล” โดยแท้.

(หน้า 181 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


82

เถระวิปริต
เถระวิปริต บวชนาน มีเกียรติ ร่ำรวย สะสมธรรมมาก แต่..มิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริต.

            ภิกษุท. ! ภิกษุเถระที่ประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดความสุข ทำไป เพื่อความ ฉิบหายแก่คนเป็นอันมาก ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความ ทุกข์ ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ห้าอย่างอะไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :-
         (๑) ภิกษุเป็นเถระ บวชมานาน มีพรรษายุกาลมาก.
         (๒) เป็นที่รู้จักกันมาก มีเกียรติยศ มีบริวาร ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต.
         (๓) เป็นผู้รํ่ารวยลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน--ปัจจัยเภสัชบริกขาร.
         (๔) เป็นพหูสูต ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว สั่งสมธรรมที่ฟังแล้วมาก ฯลฯ.
         (๕) (แต่) เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีทัศนะวิปริต.

            ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ทำคนเป็นอันมากให้เลิกละจากพระสัทธรรม, ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม. ประชาชนทั้งหลาย ย่อมถือเอาแบบอย่าง ของภิกษุ นั้นไป เพราะคิดว่า เธอเป็นภิกษุเถระ บวชมานาน มีพรรษายุกาลมากบ้าง, เพราะ คิดว่า เธอเป็น ภิกษุเถระ ที่มหาชนเชื่อถือรู้จักกันมาก มีเกียรติยศ มีบริวาร มาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตบ้าง, เพราะคิดว่า เธอเป็นภิกษุเถระ ที่รํ่ารวย ลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร บ้าง, เพราะคิดว่า เธอเป็นภิกษุเถระ ที่เป็นพหูสูต ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว สั่งสมธรรมที่ฟังแล้วได้บ้าง, ดังนี้.

             ภิกษุท. ! ภิกษุเถระ ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง เหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำ มหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้ หมดความสุข ทำไป เพื่อความฉิบหาย แก่คนเป็นอันมาก ไม่เป็นประโยชน์ เกื้อกูล เป็นไปเพื่อความ ทุกข์ทั้งแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย แล.

(หน้า 182 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


83

นรกของสมภารเจ้าวัด
(ไม่ใต่สวนให้รอบคอบ กล่าวยกย่องคนที่ควรตำหนิ กล่าวตำหนิ คนที่ควรยกย่อง)

            ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจ้าอาวาสที่ประกอบด้วยองค์ประกอบห้าอย่าง ย่อม จะเดือดร้อน เหมือนถูกลากตัวไป เก็บไว้ในนรกในปัจจุบันนี้ (ตกนรกทั้งเป็น), ฉะนั้น. ห้าอย่างอะไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ :-
             (๑) ภิกษุเจ้าอาวาส ไม่ใคร่ครวญ ไม่ไต่สวนให้รอบคอบ เสียก่อน กล่าวยกย่อง คนที่ควรตำหนิ.
             (๒) ภิกษุเจ้าอาวาส ไม่ใคร่ครวญ ไม่ไต่สวนให้รอบคอบ เสียก่อน กล่าวตำหนิคนที่ควรยกย่อง.
             (๓) ภิกษุเจ้าอาวาส ไม่ใคร่ครวญ ไม่ไต่สวนให้รอบคอบ เสียก่อน แสดงความเลื่อมใสให้ปรากฏ ในฐานะอันไม่เป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใส.
             (๔) ภิกษุเจ้าอาวาส ไม่ใคร่ครวญ ไม่ไต่สวนให้รอบคอบ เสียก่อน แสดงความไม่เลื่อมใสให้ปรากฏ ในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใส.
             (๕) ภิกษุเจ้าอาวาส ทำไทยทานที่ทายกถวายด้วย ศรัทธาให้ ตกเสียไป.
            ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจ้าอาวาสที่ประกอบด้วย องค์ประกอบห้าอย่าง เหล่านี้แล ย่อมจะเดือดร้อนเหมือนถูกลากตัวไปเก็บไว้ในนรก ในปัจจุบันนี้ ฉะนั้น.
(หน้า 188 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


84

รักษาพรหมจรรย์ไว้ด้วยนํ้าตา

            ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม, แม้จะ ทุกข์กายทุกข์ใจ ถึงนํ้าตานองหน้า ร้องไห้อยู่ก็ยังสู้ ประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธ์ิบริบูรณ์อยู่ได้ก็มีข้อที่น่าสรรเสริญ เธอให้เหมาะสมแก่ธรรม ที่เธอมีในบัดนี้มีอยู่ห้าอย่าง. ห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ :
            (๑) ธรรมที่ชื่อว่า ศรัทธา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้ว แก่เธอ.
            (๒) ธรรมที่ชื่อว่า หิริ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้วแก่เธอ.
            (๓) ธรรมที่ชื่อว่า โอตตัปปะ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้ว แก่เธอ.
            (๔) ธรรมที่ชื่อว่า วิริยะ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้ว แก่เธอ.
            (๕) ธรรมที่ชื่อว่า ปัญญา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ได้มีแล้ว แก่เธอ.
             ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม, แม้จะทุกข์กาย ทุกข์ใจ ถึงนํ้าตานองหน้า ร้องไห้อยู่ก็ยังสู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ได้ก็มี. ข้อที่น่าสรรเสริญเธอให้เหมาะสม แก่ธรรม ที่เธอมีในบัดนี้ห้าอย่างเหล่านี้แล.
(หน้า 193 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


85

ผู้มีศีลไม่ประดับตกแต่งร่างกาย

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะ ที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประกอบการประดับ ประดาตกแต่ง ร่างกาย เห็นปานนี้กันอยู่เนือง ๆ, คืออะไรบ้าง ?

คือการอบตัว การเคล้นตัว การอาบสำอาง การนวดเนื้อ การส่องดูเงา การหยอดตาให้มีแววคมขำ การใช้ดอกไม้ การทาของหอม การผัดหน้า การทาปาก การผูกเครื่องประดับที่มือ การผูกเครื่องประดับ ที่กลาง กระหม่อม การถือไม้ถือ การห้อยแขวนกล่องกลัก อันวิจิตร การคาดดาบ การคาดพระขรรค์ การใช้ร่ม และรองเท้าอันวิจิตร การใส่กรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัดสวยงาม การใช้ผ้าชายเฟื้อยและอื่น ๆ.
             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการประดับตกแต่งร่างกายเห็น ปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธออีกประการหนึ่ง.
(หน้า 204 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


86

ผู้มีศีลไม่พูดคุยเดรัจฉานกถา

            อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่ทายก ถวายด้วยศรัทธาแล้ว ท่านเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประกอบการคุยด้วย เดรัจฉานกถา กันอยู่เนือง ๆ, คืออะไรบ้าง ? คือคุยกันถึงเรื่องเจ้านายบ้าง เรื่องโจรบ้าง เรื่อง มหาอมาตย์เรื่องกองทัพ เรื่องของน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว เรื่องนํ้า เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะ เรื่องบ้าน เรื่องจังหวัด เรื่องเมืองหลวง เรื่องบ้านนอก เรื่องหญิง เรื่องชาย เรื่องคนกล้า เรื่องตรอก เรื่องท่านํ้า เรื่องคนที่ตายไป แล้ว เรื่องความแปลก ประหลาดต่าง ๆ เรื่องโลก เรื่องสมุทร เรื่องความฉิบหาย และเจริญบ้าง.

             ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้เธอเว้นขาดจากการคุยด้วยเดรัจฉานกถา เห็นปานนั้นเสียแล้ว. แม้นี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

(หน้า 204 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


87
สมณกิจ

            ภิกษุ ท. ! กิจของสมณะที่ สมณะต้องทำมีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่าง อะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ :-
            (๑) การสมาทานการปฏิบัติใน ศีล อันยิ่ง.
            (๒) การสมาทานการปฏิบัติใน จิต อันยิ่ง.
            (๓) การสมาทานการปฏิบัติใน ปัญญา อันยิ่ง.
            ภิกษุ ท. ! กิจของสมณะที่สมณะต้องทำมีสามอย่างเหล่านี้แล.
            ภิกษุ ท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเนียกใจ ไว้ว่า “ความพอใจของเราจักต้องเข้มงวดพอ ในการสมาทานการปฏิบัติใน ศีลอันยิ่ง, ในการสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการ ปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง” ดังนี้.
            ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้อย่างนี้แล.


(หน้า 212 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


88

ผล และ ประโยชน์ของความเป็นสมณะ

            ภิกษุ ท. ! ผลของความเป็นสมณะ เป็นอย่างไรเล่า ? โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล เหล่าใดแล ภิกษุ ท. ! ผล เหล่านี้เราเรียกว่า ผลของความเป็นสมณะ.

            ภิกษุ ท. ! ประโยชน์ของความเป็นสมณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ อันใดแล ภิกษุ ท. ! อันนี้เราเรียกว่า ประโยชน์ของความเป็นสมณะ.

            ภิกษุ ท. ! ความเป็นสมณะ เป็นอย่างไรเล่า ? อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้ อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งได้แก่ความเข้าใจอันถูกต้อง ความดำริอันถูกต้อง การพูดจาอันถูกต้อง การทำการงานอันถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตอันถูกต้อง ความพยายามอันถูกต้อง ความมีสติครองตนอันถูกต้อง ความตั้งใจมั่น อันถูกต้อง

            ภิกษุ ท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรค อันนี้เราเรียกว่าความเป็นสมณะ.


(หน้า 197 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


89
เมื่อมีความพอใจ ย่อมมีตัณหา

           ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนไฟกองใหญ่ พึงลุกโพลงด้วยไม้ สิบเล่มเกวียน บ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง. บุรุษพึงเติมหญ้า แห้งบ้าง มูลโคแห้งบ้าง ไม้แห้งบ้างลงไปในกองไฟนั้น ตลอดเวลาที่ควรเติม อยู่เป็น ระยะๆ.

           ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยอาการ อย่างนี้แล ไฟกองใหญ่ ซึ่งมีเครื่องหล่อเลี้ยง อย่างนั้นมี เชื้อเพลิง อย่างนั้นก็จะพึงลุกโพลง ตลอดกาลยาวนานข้อนี้ ฉันใด

           ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุเป็นผู้มีปกติ เห็นโดยความเป็น อัสสาทะ (น่ารักน่ายินดี) ในอุปาทานิยธรรม (ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน) อยู่ตัณหา ย่อมเจริญ อย่างทั่วถึงเพราะ มีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมีภพเพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมี ชาติเป็นปัจจัยชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้
.

นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๒/๑๙๖-๑๙๗.


90

สิ้นตัณหา คือนิพพาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ดังนี้
อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !

ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด
มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ
เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “สัตว์” ดังนี้.

ราธะ ! เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เล่นเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินอยู่ ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความเร่าร้อน และมีตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ตราบนั้น พวกเด็กน้อยนั้นๆ ย่อมอาลัยเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น
ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น
ย่อมยึดถือเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ว่าเป็นของเรา ดังนี้.

ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เหล่านั้น ปราศจากราคะแล้ว ปราศจากฉันทะแล้ว ปราศจากความรักแล้ว ปราศจากความเร่าร้อนแล้ว ปราศจาก ตัณหา แล้วในเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้นในกาลนั้น พวกเขาย่อมทำเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้นให้กระจัดกระจายเรี่ยรายเกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด.

ราธะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ :- แม้พวกเธอทั้งหลาย จงเรี่ยรายกระจายออก ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จงขจัดเสียให้ถูกวิธี จงทำให้แหลกลาญโดยถูกวิธี จงทำ ให้จบการเล่นให้ถูกวิธีจงปฏิบัติ เพื่อความสิ้นไป แห่งตัณหาเถิด.

ราธะ ! เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้นคือ นิพพาน ดังนี้แล.

พุทธวจน ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ ข้อ ๑๒๓ หน้า ๔๔๔
(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๙๑/๓๖๗.


91

สิ่ง ๓ นี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ


[๕๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้ ปิดบังไว้จึงเจริญ
เปิดเผยไม่เจริญ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
      ๑. มาตุคาม(สตรี) ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผยไม่งดงาม
      ๒. มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง
      ๓. มิจฉาทิฐิ ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่าง นี้แล ปิดบังไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓ อย่างนี้เปิดเผยจึงรุ่งเรือง

ปิดบังไม่รุ่งเรือง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ
      ๑. ดวงจันทร์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
      ๒. ดวงอาทิตย์ เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง
      ๓. ธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศไว้แล้ว เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๓อย่างนี้แล เปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไม่รุ่งเรือง ฯ

"ปฏิจฉันนสูตร" ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
หน้าที่ ๒๗๐  ข้อที่ ๕๗๑ - ๕๗๒


92


ผู้กินคูถ
(พิษภัยเรื่องลาภสักการะ นัยยะที่ 6)

           ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุ พระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า.

            ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนตัวกังสฬกะ๒ ซึ่งกินคูถเป็นอาหาร อิ่มแล้ว ด้วยคูถ ท้องป่องด้วยคูถ อนึ่ง กองคูถใหญ่ก็มีอยู่ตรงหน้า ของมัน เพราะเหตุนั้น มันจึงนึกดูหมิ่นกังสฬกะตัวอื่นว่า “เราผู้มีคูถเป็นภักษา อิ่มแล้ว ด้วยคูถ ท้องป่องด้วยคูถ. อนึ่ง กองคูถใหญ่ตรงหน้าของเราก็ยังมี. กังสฬกะ ตัวอื่น มีบุญน้อย มีเกียรติน้อย ไม่รวยลาภด้วยคูถ” ดังนี้.

            ภิกษุ ท. ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็เหมือนกัน เป็นผู้ถูกลาภ สักการะ และเสียงเยินยอ ครอบงำ เอาแล้ว มีจิตติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้น ๆ ในเวลาเช้า ครองจีวร ถือบาตร เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน หรือในเมือง เธอได้ฉัน ตามพอใจจนอิ่มแล้ว ในที่นั้นด้วย ทั้งเขาก็นิมนต์เพื่อฉันในวัน พรุ่งนี้ด้วย. ของบิณฑบาต ก็เต็มบาตร กลับมาด้วย. 

            ภิกษุนี้ครั้นกลับมาถึงวัดแล้ว ก็พูด พล่าม (เหมือนตัวกังสฬกะ) ในท่ามกลาง หมู่ เพื่อนภิกษุว่า “เราได้ฉันตาม พอใจจนอิ่มแล้ว ทั้งเขายัง นิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ อีก ของบิณฑบาตของเรานี้ก็เต็มบาตรกลับมา เรารวยลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน ปัจจัยเภสัชบริกขาร. ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ มีบุญน้อย มีอภินิหารน้อยจึงไม่ รวยลาภด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร”ดังนี้.

            ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้นถูกลาภสักการะและเสียงเยินยอ ครอบงำ เอาแล้ว มีจิต ติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้น ๆ ย่อมนึกดูหมิ่นภิกษุเหล่าอื่น ผู้มีศีลเป็น ที่รัก ภิกษุ ท. ! การได้ลาภของ โมฆบุรุษ ชนิดนั้น ย่อมเป็นไป เพื่อทุกข์ ไร้ประโยชน์เกื้อกูล สิ้นกาลนาน.

            ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบ เผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุ พระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มี ธรรมอื่น ยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอ ทั้งหลายพึง สำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใย ในลาภสักการะและเสียงเยินยอ ที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะ และเสียงเยินยอ ที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้ม อยู่ที่จิตของเรา” ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

(หน้า 59 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


93

ราคีของนักบวช
(เรื่องที่ว่าด้วย การทำไปตามอำนาจกิเลส)

             ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์และพระอาทิตย์ มีอยู่ สี่อย่าง อันเป็นเหตุให้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ไม่สุกใส ไม่สว่างไสว รุ่งเรือง. สี่อย่าง

             อะไรบ้าง ? สี่อย่างคือ เมฆ หมอก ผงคลี และอสุรินทราหู.

             ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของ พระจันทร์และพระอาทิตย์ อันเป็นเหตุให้ พระจันทร์และ พระอาทิตย์ไม่สุกใส ไม่สว่างไสวรุ่งเรือง มีอยู่สี่อย่างนี้

             ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น : เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ ก็มีอยู่สี่อย่าง อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ไม่ผ่องใส ไม่งามสง่ารุ่งเรือง. สี่อย่าง อะไรบ้าง ? 

         สี่อย่างคือ :-
(๑) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุราเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุรา เมรัย.
(๒) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยังมีการกระทำ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) อย่างที่คนคู่เขาทำต่อกัน๑ ไม่งดเว้นจาก การกระทำเช่นนั้น.
(๓) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง รับทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทอง และเงิน.
(๔) สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ผิดวิสัย ของสมณะ ไม่งดเว้นจากการ เลี้ยงชีวิตที่ผิดวิสัย.

             ภิกษุ ท. ! เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์มีอยู่ส่ อย่างนี้ อันเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์ ไม่ผ่องใส ไม่งามสง่ารุ่งเรือง แล.

(หน้า 77 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


94

ภิกษุผู้ทำให้เสื่อมเสีย หมดสุข ทำความฉิบหายแก่มหาชน

             ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป เมื่อมีการกระทำ สามอย่างนี้แล้ว จะได้ชื่อว่าเป็น ผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชน ให้หมดสุข ทำไป เพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแต่เป็นไปเพื่อ ความทุกข์ทั้งแก่ เทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย. การกระทำสามอย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่าง คือ
             (๑) ทำการชักชวนมหาชนใน กายกรรม๑ อันผิดแนวแห่งการทำ ที่สุดทุกข์ในพระศาสนา.
             (๒) ทำการชักชวนมหาชนใน วจีกรรม๒ อันผิดแนวแห่งการทำ ที่สุดทุกข์ในพระศาสนา.
             (๓) ทำการชักชวนมหาชนในการ บำเพ็ญทางจิต๓ อันผิดแนว แห่งการทำที่สุดทุกข์ในพระศาสนา.

             ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป เมื่อมีการกระทำ สามอย่าง เหล่านี้เข้าแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ทำมหาชนให้หมดสุข ทำไป เพื่อความฉิบหายแก่มหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งแก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล.

(หน้า 81 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )


95

ผู้ถูกตรึง
(ภิกษุที่เคลือบแคลงสงสัยในธรรมย่อมหาความเจริญไม่ได้)

            ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังละตะปูตรึงใจ ห้าตัวไม่ได้ คืนวันของบรรพชิตรูปนั้น ย่อมผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเสื่อมใน กุศลธรรมทั้งหลาย อย่างเดียว หาความเจริญมิได้.

             ตะปูตรึงใจห้าตัว ที่บรรพชิตรูปนั้นยังละไม่ได้เป็นอย่างไรเล่า ?

            ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุยังสงสัย ในพระศาสดา.. ในธรรม.. ในพระสงฆ์ .... ในไตรสิกขา  เป็นผู้ครุ่นโกรธในเพื่อนผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยกัน ไม่ชอบใจ มีจิตอันโทสะนั่นแหละ เป็นตะปูตรึงใจที่เธอนั้นยังละไม่ได้.

            ภิกษุใด เป็นดังกล่าวนี้จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เผากิเลส เพียรประกอบเนือง ๆ เพียรตั้งหลักติดต่อเนื่องกัน. จิตของผู้ใด ไม่น้อมไปตาม นัย ที่กล่าวนี้ นั่นแหละ เป็นตะปูตรึงใจตัวที่ห้า ที่เธอนั้นยังละไม่ได้.

            ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังละตะปูตรึงใจ ห้าตัวไม่ได้ คืนวันของ บรรพชิตรูปนั้นย่อมผ่านไปโดยหวังได้แต่ความเสื่อม ในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างเดียว หาความ เจริญมิได้แล.

(หน้า 84 หนังสือขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ )



96

กามคุณ 5
(ทรงอุปมาเหมือนมีมารผู้ใจบาป)

            ภิกษุท. ! กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง. ห้าอย่างอะไรกันเล่า ?

ห้าอย่าง คือ
รูปที่เห็นด้วยตา
เสียงที่ฟังด้วยหู กลิ่นที่ดมด้วยจมูก รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และ โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่า ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ยวนตา ยวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ย้อมใจ.

ภิกษุ ท. ! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้แล.

            ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในกามคุณ ห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ก็ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้ แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออก ไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่ สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศ ย่อยยับ แล้วแต่ มารผู้ใจบาป ต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่าง ใด ดังนี้.


97

เจริญสมาธิ ได้ชื่อว่ากำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๒-๓๙๓/๑๓๐๑-๑๓๐๒.

            ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา ไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศ ปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีนฉันใด ภิกษุเจริญกระทำให้มาก
ซึ่ง ฌานทั้ง ๔ ย่อมเป็นผู้
     
น้อมไป สู่นิพพาน
     
โน้มไป สู่นิพพาน
    
 โอนไป สู่นิพพาน
     
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

            ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญ กระทำ.ให้มากซึ่งฌานทั้ง ๔ อย่างไร ย่อมเป็นผู้ น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน. 

            ภิกษุทั้งหลาย.ภิกษุในกรณีนี้
สงัดแล้วจากกาม และจากอกุศล ธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร มีปีติ และสุข อันเกิดจาก วิเวกแล้วแลอยู่

เพราะความที่วิตกวิจาร ทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสใจใน ภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่

เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็น ผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อม เสวยความสุขด้วยกาย ชนิดที่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า เป็นผู้ อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่

เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความ ดับไปแห่งโสมนัส และ โทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติ เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขา แล้วแลอยู่. 

            ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌานทั้ง ๔ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้ น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่ นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.

(จากหนังสือสมถะ วิปัสสนาหัวข้อที่10)


98

เต่าตาบอด - โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก 
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘-๕๖๙/๑๗๔๔.

            ภิกษุทั้งหลาย.เปรียบเหมือนมหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียว กันทั้งหมด บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอกซึ่งมีรูเจาะเพียงรูเดียวลงไปในน้ำนั้น ลมตะวันออก พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก ลมตะวันตก พัดให้ลอยไปทาง ทิศตะวันออก ลมเหนือ พัดให้ลอยไปทางทิศใต้ ลมใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนืออยู่ดังนี้ ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อยปีๆ มันจะผุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง.

            ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุด ขึ้นสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียว ในแอกนั้น 

ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้าที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่น คอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น.

            ภิกษุทั้งหลายยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกันที่ใครๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์ ยาก ที่จะเป็นไปได้
ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลกยาก ที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ธรรม วินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก.

            ภิกษุทั้งหลาย.แต่ว่าบัดนี้ ความเป็นมนุษย์ ก็ได้แล้ว ตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธะ ก็บังเกิดขึ้น ในโลกแล้ว และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไป ทั่วโลกแล้ว.

            ภิกษุทั้งหลาย.เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ ตาม เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับแห่งทุกข์ นี้หนทางให้ถึงความดับแห่ง ทุกข์ ดังนี้เถิด




99

เพราะแตกสลาย จึงได้ชื่อว่า “โลก” 
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๖๔/๙๘. 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่กล่าวกันว่า โลก โลก ดังนี้ อันว่าโลกมีได้ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้าภิกษุ เพราะจะต้อง แตกสลาย เราจึงกล่าวว่าโลกก็อะไรเล่าจะต้อง แตกสลาย.

ภิกษุ จักษุแตกสลาย รูปแตกสลาย จักษุวิญญาณแตกสลาย จักษุสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุ สัมผัส เป็นปัจจัยก็แตกสลาย

ภิกษุ โสตะแตกสลาย เสียงแตกสลาย โสตวิญญาณแตกสลาย โสตสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัส เป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ ฆานะแตกสลาย กลิ่นแตกสลาย ฆานวิญญาณแตกสลาย ฆานสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็น ปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ.ชิวหาแตกสลาย รสแตกสลาย ชิวหาวิญญาณแตกสลาย ชิวหาสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดีทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัส เป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ.กายแตกสลาย โผฏฐัพพะแตกสลาย กายวิญญาณแตกสลาย กายสัมผัสแตก สลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัส เป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ.ใจแตกสลาย ธรรมแตกสลาย มโนวิญญาณแตกสลาย มโนสัมผัสแตกสลาย แม้สุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส เป็นปัจจัยก็แตกสลาย.

ภิกษุ.เพราะจะต้องแตกสลาย เราจึงกล่าวว่าโลก ดังนี้.


100

เป็นทุกข์เพราะติดอยู่ในอายตนะ 
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๑/๒๑๘. 

ภิกษุทั้งหลาย. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในรูป เพลิดเพลินแล้วในรูป. ภิกษุ ท. ! เทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของรูป

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีเสียงเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในเสียง เพลิดเพลินแล้วในเสียง.ภิกษุ ท. ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของเสียง.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีกลิ่นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในกลิ่น
เพลิดเพลินแล้วในกลิ่น.ภิกษุ ท. ! เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของกลิ่น.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีรสเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในรส
เพลิดเพลินแล้วในรส. ภิกษุ ท. ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของรส.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีโผฏฐัพพะเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในโผฏฐัพพะ เพลิดเพลินแล้วในโผฏฐัพพะ. ภิกษุ ท. ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของโผฏฐัพพะ.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย มีธรรมมารมณ์ เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ เพลิดเพลินแล้วในธรรมารมณ์.ภิกษุ ท. ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะความแปรปรวน เสื่อมสลาย และความดับไปของธรรม. 


101

ทิ้งเสียนั่นแหละกลับจะเป็นประโยชน์
บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๑-๑๖๒/๒๑๙.

ภิกษุทั้งหลาย. สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย.สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ ภิกษุทั้งหลาย. อะไรเล่าไม่ใช่ของพวกเธอ

ภิกษุทั้งหลาย. ตาไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ

ภิกษุทั้งหลาย หูไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย.
สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ.

ภิกษุทั้งหลาย.จมูกไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย. สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็น ไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ.

ภิกษุทั้งหลาย.ลิ้นไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย. สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ.

ภิกษุทั้งหลาย.กายไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย. สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ.

ภิกษุทั้งหลาย.ใจไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย. สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็น ไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ. 

ภิกษุทั้งหลาย. เปรียบเหมือนคนเขาพึงนำหญ้า กิ่งไม้ และใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือพึงทำตามสมควรแก่เหตุ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า คนเขา นำพวกเราไป หรือเผาเรา หรือทำพวกเราตามสมควร แก่เหตุ ดังนี้บ้างหรือหนอ.

หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าข้า. ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร.

เพราะเหตุว่า ความรู้สึกว่าตัวตน (อตฺตา) ของตน (อตฺตนิยา) ของข้าพระองค์ ไม่มี ในสิ่งเหล่านั้น พระเจ้าข้า.

ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นก็เหมือนกัน ตาไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย สิ่งนั้นอัน พวกเธอ ละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอห...จมูก....ลิ้น ....กาย ....ใจ ไม่ใช่ของพวกเธอ พวกเธอจงละมันเสีย สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เธอ


102

น้ำตาที่เคยไหล  น้ำนมที่เคยดึ่ม เลือดที่เคยสูญเสีย
มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง4


น้ำตาที่เราเคยหลั่งไหล น้ำนมที่เราเคยดึ่ม เลือดที่เคยสูญเสีย เปรียบกับน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 แล้ว ไม่มากกว่าเลย

ด้วยเหตุว่า สังสารวัฏนั้น กำหนดที่สุดเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้  เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ท่องเที่ยวไปมาอยู่เพียงพอหรือยังที่เราทั้งหลายจะบอกตนเองว่า

ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย พอแล้วที่จะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวงนี้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุตต์ ปฐมวรรคที่ ๑


103

สังสารวัฏนี้ หาที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่า สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้อง ต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพู ทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้ เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่ง บุรุษ นั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุตต์ ปฐมวรรคที่ ๑


104

ปัญญา สติ กับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ

            “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ข้าพระองค์กราบทูลถามแล้ว ขอพระองค์จงตรัส บอก ธรรม นั้น คือ ปัญญาและสติกับนามรูป แก่ข้าพระองค์เถิด ปัญญาและสติกับนามรูป นั้น จะดับไปที่ไหน ?”.

อชิตะ ! ท่านถามปัญหานั้นข้อใด เราจะแก้ปัญหา ข้อนั้นแก่ท่าน

นามและรูป ย่อมดับไม่เหลือในที่ใด ปัญญาและสติ กับนามรูปนั้น ก็ย่อมดับไปในที่นั้น เพราะความดับไปแห่งวิญญาณ แล.

*สติเป็นของดับได้*
*สติ-ปัญญาดับ เมื่อนามรูปดับ*
*แสดงว่าสติกับปัญญาอยู่ในส่วนของนามรูป (ไม่ใช่ในส่วนของวิญญาณ)*
*นามรูปดับ เมื่อวิญญาณดับ*

*สติเป็นที่แล่นไปสู่วิมุตติ*
*สติเป็นเครื่องนำพาให้ไปสู่วิมุตติ*
*สติคือสังขาร*

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ หน้า ๑๑๘.


105

อนุสัยคืออย่างไร?

ผลเสียของการปล่อยจิตให้เพลินกับอารมณ์ ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓ อนุสัย ๓ ได้แก่
    ราคานุสัย
     ปฏิฆานุสัย
     อวิชชานุสัย


ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัย ตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิด จักขุวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย หู ด้วย เสียงทั้งหลายด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย จมูก ด้วย กลิ่นทั้งหลายด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย ลิ้น ด้วย รสทั้งหลายด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย กาย ด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...

เพราะอาศัย ใจ ด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย

จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.
บุคคลนั้น เมื่อ สุขเวทนา ถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่
อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอน แก่บุคคลนั้น (ตสฺส ราคานุสโย อนุเสติ)

เมื่อทุกขเวทนา ถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่
อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.

เมื่อ เวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ถูกต้องอยู่เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง
    ซึ่งสมุทยะ (เหตุเกิด) ของเวทนานั้นด้วย
    ซึ่งอัตถังคมะ (ความดับไม่เหลือ) แห่งเวทนานั้นด้วย
    ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย
    ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย
    ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย

อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.
บุคคลนั้นหนอ
ยังละราคานุสัย อันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้
ยังบรรเทาปฏิฆานุสัย อันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้
ยังถอนอวิชชานุสัย อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้

เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว,
เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (รู้เห็นได้เลย) นี้ได้ นั้น
ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.

วางสุขได้..........ราคานุสัยดับ
วางทุกข์ได้........
ปฏิฆานุสัยดับ
วางอุเบกขาได้...
อวิชชาดับ

อุปริ. ม. ๑๔/๕๑๖/๘๒๒.

 


106

อุปมาขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป คือ สิ่งที่แตกสลายได้ และแตกด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ
อุปมาแห่งรูป
เหมือนฟองน้ำที่เป็นของว่างเปล่า หารูปอะไรไม่ได้
ภิกษุ ท.! ก็แก่นสารในรูปนั้น จะพึงมีได้อย่างไร.

เวทนา คือ กริยาที่รู้สึกได้ รู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
อุปมาแห่งเวทนา เหมือนต่อมน้ำที่แตกกระจายบนผิวน้ำ ภิกษุ ท.! ก็แก่นสารในรูปนั้น จะพึงมีได้อย่างไร

สัญญา คือ กริยาที่หมายรู้ จำได้ว่าสีนั้นสีนี้
อุปมาแห่งสัญญา
คล้ายพยับแดดระยิบในเวลาเที่ยงวันที่เป็นของว่างเปล่า ภิกษุ ท.!ก็แก่นสารในสัญญานั้น จะพึงมีได้อย่างไร.

สังขาร คือ กริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จ ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อุปมาแห่งสังขาร เหมือนลอกเปลือกต้นกล้วย ที่ยังอ่อน ปอกกาบออกก็ไม่แก่นสาร ภิกษุ ท.! ก็แก่นสารในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงมีได้อย่างไร.

วิญญาณ คือ กริยาที่รู้แจ้งต่ออารมณ์ที่มากระทบ
อุปมาแห่งวิญญาณ
เหมือนนักมายากล(กลลวง)ว่าเป็นของว่างเปล่า หาแก่นสารอะไรไม่ได้ ภิกษุ ท.! ก็แก่นสารในวิญญาณนั้น จะพึงมีได้อย่างไร.

อ่านพระสูตรฉบับเต็ม


107

อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า 

อานนท์ ! อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ ว่า

“รูป ไม่เที่ยง เวทนา ไม่เที่ยง สัญญา ไม่เที่ยง สังขาร ไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่เที่ยง” ดังนี้

เป็นผู้เห็นซึ่ง ความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า เหล่านี้อยู่ ด้วยอาการ อย่างนี้ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา


108

ความหมายอันแท้จริงของ “บาดาล”


ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ พูดกันว่าบาดาลมีอยู่ใต้มหาสมุทร.
ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ กล่าวสิ่งนั้น ซึ่งไม่มีอยู่ไม่เป็นอยู่ ว่าบาดาลมีอยู่ใต้มหาสมุทร. 

ภิกษุ ท. ! คำว่า “บาดาล” นั้น เป็นคำแทนชื่อ ของทุกขเวทนา อันมีอยู่ในสรีระนี้. 
ภิกษุ ท. ! บุถุชน ผู้ไม่มีการสดับ ถูกต้องทุกขเวทนาในสรีระนี้อยู่ ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ร่ำไรรำพัน เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ย่อมถึงความมีสติฟั่นเฟือน. 

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า บุถุชนผู้ไม่มีการสดับนี้ จมลงแล้วในบาดาล ไม่มีที่ยืนเหยียบถึง 
ภิกษุ ท. ! ส่วน อริยสาวก ผู้มีการสดับ เมื่อถูกต้องทุกขเวทนาที่เป็นไปในสรีระ ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไรรำพัน ไม่เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน. 

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่าอริยสาวกผู้มีการสดับนี้ ไม่จมลงแล้วในบาดาล มีที่ยืนเหยียบถึง. 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ (ภาคต้น) ภาค1 หน้า 171


109

อารมณ์คือเชื้อแห่งการเกิดขึ้นแห่งภพใหม่

ถ้าบุคคล
     ย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่
     ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่
     และ ย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ

เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่ง วิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
ความเกิดขึ้นแห่ง ภพใหม่ต่อไปย่อมมี
เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปมีอยู่
ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้


110

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่ ตรัสกับเวรัญชพราหมณ

          [๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ฟองไข่ เหล่านั้น อันแม่ไก่พึงกกดีแล้ว อบดีแล้ว ฟักดีแล้ว บรรดาลูกไก่เหล่านั้น

          ลูกไก่ตัวใดทำลาย กระเปาะฟอง ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร จะเรียกว่าพี่หรือน้อง.

          ว. ท่านพระโคดม ควรเรียกว่าพี่ เพราะมันแก่กว่าเขา.
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑


111

พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท

          [๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้เมืองเวรัญชามีภิกษาหารน้อย ประชาชนหาเลี้ยงชีพ ฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน ต้องมีสลากซื้ออาหาร ภิกษุสงฆ์จะยัง อัตภาพให้เป็นไป ด้วยการถือบาตรแสวงหาก็ทำไม่ได้ง่าย พระพุทธเจ้าข้า พื้นเบื้องล่างแห่งแผ่นดิน ผืนใหญ่นี้ สมบูรณ์ มีรสอันโอชา เหมือนน้ำผึ้งหวี่ ที่ไม่มี ตัวอ่อน ฉะนั้นขอประทาน พระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพึง พลิกแผ่นดิน ภิกษุทั้งหลายจักได้ฉันง้วนดิน พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
           ดูกรโมคคัลลานะ ก็สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินเล่า เธอจะทำอย่างไรแก่สัตว์ เหล่านั้น?
           ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักนิรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นดุจแผ่นดินใหญ่ ยังสัตว์ ผู้อาศัยแผ่นดินเหล่านั้นให้ไปอยู่ในฝ่ามือนั้น จักพลิกแผ่นดินด้วยมืออีกข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า.
          ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การพลิกแผ่นดิน เธออย่าพอใจเลย สัตว์ทั้งหลาย จะพึงได้รับผลตรงกันข้าม.
          ม. ขอประทานพระวโรกาส ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตใน อุตรกุรุทวีป พระพุทธเจ้าข้า.
          ภ. ก็ภิกษุผู้ไม่มีฤทธิ์เล่า เธอจักทำอย่างไรแก่ภิกษุเหล่านั้น?
          ม. ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุทั้งหมดไปได้ พระพุทธเจ้าข้า.
          ภ. อย่าเลย โมคคัลลานะ การที่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดไปบิณฑบาตถึงอุตรกุรุทวีป เธออย่าพอใจเลย.

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑


112

เวรัญชพราหมณ์ กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี
เพราะความไยดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน

ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ
เพราะสมบัติ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้น ตถาคตละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน

ท่านพระโคดมกล่าวการไม่ทำ
เรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล

ท่านพระโคดมกล่าวความขาดสูญ
เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง

ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ
เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพ ที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง

ท่านพระโคดมช่างกำจัด
เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่างนี้แล

ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ
เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว

ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด
เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีไม่เกิดอีกต่อไป

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑


113

เหตุที่พุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้า
วิปัสสี สิขี และเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน


ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนาม เวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร แก่สาวก ทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มี พระภาคทั้งสามพระองค์นั้น มีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหล่านั้น
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑


114

เหตุที่พุทธศาสนาในสมัยพระพุทธเจ้า
กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ
ดำรงอยู่นาน

ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ
มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรม โดยพิสดารแก่สาวก ทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะเคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้น มีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอด ระยะกาลยืนนาน
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑  พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑


115

สัตว์ต้องเวียนว่ายเพราะไม่เห็นอริยสัจจ

ภิกษุ ท. !   เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ  บาง คราวตกเอาโคนลง  บางคราวตกเอาตอนกลางลง  บางคราวตกเอาปลายลง, ข้อนี้ฉันใด ;
    
ภิกษุ ท. !   สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก แล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ ก็ทำนองเดียวกัน บางคราวแล่นไปจาก โลกนี้สู่โลกอื่น บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

ภิกษุ ท. !  ข้อนั้น  เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่. 
อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? 

สี่อย่างคือ    
     อริยสัจคือทุกข์    
     อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
     อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์       
     อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่ เหลือแห่งทุกข์
.

ภิกษุ ท. !  เพราะเหตุนั้น  ในเรื่องนี้  เธอพึงประกอบโยคกรรมอัน เป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์  เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,  ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่ง ทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.

มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖


116

สัทธานุสารี ธัมมานุสารี

สัทธานุสารี
1 รู้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
2 มีความเชื่อน้อมจิตไป ในความไม่เที่ยง ด้วยอาการอย่างนี้
3 บุคคลนี้เรียกว่าเป็น สัทธานุสารี
4 เป็นผู้ที่หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง)
5 เป็นผู้ที่หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ)
6 เป็นผู้ที่ล่วงพ้นปุถุชนภูมิ (เข้าสู่ความเป็นอริยะ)
7 ผู้นั้นไม่อาจที่จะกระทำกรรม ที่ทำให้เข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย
8 ไม่อาจทำกาละ(ตาย)ก่อนแต่ที่จะได้ความเป็นโสดาบัน

ธัมมานุสารี
1 รู้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ในธรรม ๖ อย่างนี้
2 ทนต่อการเพ่งโดยใช้ปัญญาให้เห็นการเกิด-ดับ ของรูป-นาม  
3 บุคคลนี้เรียกว่าเป็น ธัมมานุสารี
4 หยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม (ระบบแห่งความถูกต้อง)
5 หยั่งลงสู่สัปปุริสภูมิ (ภูมิแห่งสัตบุรุษ)
6 เป็นผู้ที่ล่วงพ้นปุถุชนภูมิ (เข้าสู่ความเป็นอริยะ)
7 ผู้นั้นไม่อาจที่จะกระทำกรรม ที่ทำให้เข้าถึงนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัยได้
9 ไม่อาจทำกาละ(ตาย)ก่อนแต่ที่จะได้ความเป็นโสดาบัน

(สัทธานุสารี กับ ธัมมานุสารี ได้อานิสงของความเป็นโสดาบันเท่ากัน แต่จะต่างกันที่อินทรีย์แก่-อ่อนต่างกัน)

ธรรม 2 ประการนี้ ให้เราก้าวพ้นปุถุชนภูมิ ให้เข้าใจว่าตัวเราว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง และมีความเชื่ออย่างนั้นจริง นี่คือก้าวแรกของความเป็นอริยะบุคคล ที่ต่างจากคำว่าปุถุชน

ปุถุชน คือผู้ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏ ยังไม่พ้นนรกกำเนิด เดรัจฉาน เปรตวิสัย
โสดาบัน พ้นแล้วซึ่งนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย มีนิพพานอยู่เบื้องหน้าแล้ว

ดูพระสูตรเต็ม


117

มานะ 6

ภิกษุ ท. ! บุคคล ไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.

ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ

       1. มานะ (ถือตัว)
       2. โอมานะ (แกล้งลดตัว)
       3. อติมานะ (ยกตัว)
       4. อธิมานะ (ถือตัวจัด)
       5. ถัมภะ (หัวดื้อ)
       6. อตินิปาตะ (สำคัญตัวเองว่าเลว)

ภิกษุ ท. ! บุคคลไม่ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำ ให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.

ภิกษุ ท. ! บุคคล ละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่างแล้ว เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล.

ธรรม ๖ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? หกอย่างคือ
มานะ โอมานะ อติมานะ อธิมานะ ถัมภะ อตินิปาตะ.

ภิกษุ ท. ! บุคคลละธรรมทั้งหลาย ๖ อย่าง เหล่านี้แล้ว
เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล แล.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๗๖๙
(บาลี) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๗๙/๓๔๗.
(ไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๗๙/๓๔๗.


118

การแบ่งกัปตามจำนวนการอุบัติของพระพุทธเจ้า
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

เถระคาถา(คำแต่งใหม่)

สุญญกัป คือ กัปที่ปราศจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ

อสุญญกัป คือ กัปที่ไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ แบ่งเป็น 5 ประเภทย่อยคือ
1.สารกัป คือกัปที่เป็นแก่นสาร มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 1 พระองค์
2.มัณฑกัป คือ กัปที่ผ่องใส มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 2 พระองค์
3.วรกัป คือ กัปที่ประเสริฐ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 3 พระองค์ (1) 
4.สารมัณฑกัป คือกัปที่เป็นแก่นสารและผ่องใสมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 4 พระองค์(2)
5.ภัทรกัป คือ กัปที่เจริญ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์. 

กัปปัจจุบันเป็น ภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า และว่าที่  พระเมตไตรยพุทธเจ้า 
รวมเรียกว่า พระเจ้าห้าพระองค์


(1) (ในที่อื่น ว่า ๔ พระองค์) 
(2) (ฉบับ มมร. ว่า ๓ พระองค์)


119

ชั้นเทวดา และอายุเทวดาแต่ละชั้น (พุทธวจน-ประมวลจากหลายพระสูตร)
เรียงจากชั้นสูงสุด ลงไปถึงชั้นต่ำสุด

  เทวดา (15 ชั้น) กามภพ-6 รูปภพ-5 อรูปภพ-4
  อรูปพรหม (อรูปภพมี 4 ชั้น) อายุเทวดา (โดยประมาณ)
  สัญญาเวทยิตนิโรธ (ชั้นพิเศษสำหรับผู้เดินมรรคฯ เป็นช่วงลำแสง จึงไม่ใช่ที่อยู่ของสัตว์)
4 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (สูงสุด) อายุ 84,000 กัป (อุทกดาบส)
3 อากิญจัญญายตนภูมิ อายุ 60,000 กัป (อาฬารดาบส)
2 วิญญาณัญจายตนภูมิ อายุ 40,000 กัป
1 อากาสานัญจายตนภูมิ (เทวดาชั้นอรูป อายุ 20,000 กัป
     
  รูปพรหม (รูปภพมี 5 ชั้น) อายุเทวดา (โดยประมาณ)
5 อกนิฏฐ-สุทธาวาส (เทวดารูปภพ ชั้นสูงสุด) อายุ 16,000 กัป * เทวดา สุทธาวาส
แต่ละชั้น ไม่มีอายุ
แน่นอน ขึ้นอยู่กับการ
ปฏิบัติ ว่าบรรลุเร็ว
แค่ไหน หากบรรลุเร็ว
ก็จะปริพนิพพานทันที
สุทัสสี-สุทธาวาส อายุ 8,000 กัป *
สุทัสสา-สุทธาวาส อายุ 4,000 กัป *
อตัปปา-สุทธาวาส อายุ 2,000 กัป *
อวิหา-สุทธาวาส อายุ 1,000 กัป *
4 เวหัปผละ อายุ 500 กัป
3 สุภกิณหะ อายุ 4 กัป
2 อาภัสระ อายุ 2 กัป
1 พรหมกายิกา (รูปภพชั้นต่ำสุด) อายุ 1 กัป
  ต่ำกว่าพรหมกายิกา คือ มาร ที่ยังนับเนื่องรวมอยู่ในกลุ่มของเทวดาชั้น รูปภพ
  * ประมาณอายุจากเทวดาชั้นเวหัปผละ(500กัป) - อากาสา(20,000กัป) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลัง อินทรีย์ของสัตว์ ต่างอรหันต์ในภพมนุษย์ แม้จะสำเร็จแล้ว แต่ต้องรอจนสิ้นกรรม จึงทำกาละ
  เทวดาชั้นกามภพ (6ชั้น) อายุเทวดา (โดยประมาณ)
6 ปรนิมมิตตวสวัตดี (เทวดากามภพ ชั้นสูงสุด) 16,000 ปีทิพย์ (9,216 ล้านปีมนุษย์)
5 นิมมานรดี 8,400 ปีทิพย์ (2,304 ล้านปีมนุษย์)
4 ดุสิต 4,000 ปีทิพย์ (576 ล้านปีมนุษย์)
3 ยามา 2,000 ปีทิพย์ (144 ล้านปีมนุษย์)
2 ดาวดึงส์ 1,000 ปีทิพย์ (36 ล้านปีมนุษย์)
1 จาตุมหาราชิกา (กามภพ ชั้นต่ำสุด) 500 ปีทิพย์ (9 ล้านปีมนุษย์)
เทวดาชั้นต่ำ: ยักษ์ คนธรรพ์ ครุฑ อสูร ,เทวดานับเนื่องในหมู่ วลาหก,เทวดาเหล่า มนาปกายิกา


120

นรกภูมิ สรุปย่อ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และจากพระไตรปิฎก

1. มหานรก นรกขุมใหญ่ 8 ขุม
อายุ 500 ปีนรก - 1 กัป ที่ไม่อาจนับได้

2. อุสสทนรก นรกขุมบริวาร
3 ขุม
ไม่มีหลักฐานแสดงอายุนรกในกลุ่มนี้

3. ยมโลกียนรก นรกขุมย่อย
9 ขุม
ไม่มีหลักฐานแสดงอายุนรกในกลุ่มนี้

4. โลกันตนรก
1 ขุม (นรกขุมพิเศษ)
สัตว์นรกจะได้รับทุกขเวทนาเป็นเวลา 1 พุทธันดร ได้รับโทษจากทรมาน ประทุษร้าย ต่อบิดามารดา และผู้ทรงศีล ทรงธรรม ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

5. พระสูตรอื่น โกกวลิกสูตร ที่พระศาสดาแสดงไว้
อีก 9 ขุม
อัพพุทนรกเป็นนรกที่ตื้นที่สุด ทรงอุปมาเกวียนบรรทุกงา 20 ขารี และขุมที่ 9 คือปทุพนรกเป็นขุมที่นานสุด ซึ่งภิกษุโกกาลิก ผู้มีจิตอาฆาตพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร หลังมรณะภาพได้มาเกิดที่นรกชั้นนี้

ดูรายละเอียดทั้งหมด


121

เปรต


ดูพระสูตรเต็ม เรื่องอัฏฐิสังขลิกเปรต

แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี แบ่งได้ 21 ประเภท

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกติดกันเป็นท่อนๆ .. เคยเป็นคนฆ่าโค
2. มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ.... เคยเป็นคนฆ่าโค
3. มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน..สัตว์นั้นเคยเป็นพรานล่านก
4. นิจฉวิเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม ..สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าแกะ
5. อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์...สัตว์นั้นเคยเป็นคนฆ่าสุกร
6. สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก..สัตว์นั้นเคยเป็นพรานเนื้อ
7. อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู... สัตว์นั้นเคยเป็นเพชฌฆาต
8. สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม..สัตว์นั้นเคยเป็นนายสารถี
9. สูจกเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒.. สัตว์นั้นเคยเป็นคนส่อเสียด
10. กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก ...เป็นผู้พิพากษาโกงชาวบ้าน
11. คูถนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ.. สัตว์นั้นเคยเป็นชู้ชาวบ้าน
12. คูถขาทิเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ...เป็นพราหมณ์ผู้ชั่วช้า
13. นิจฉวิตถีเปรต คือ เปรตหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม ..เปรตนั้นเป็นหญิงนอกใจสามี
14. มังคุลิตถีเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า...สัตว์นั้นเคยเป็นแม่มด (หมอดู)
       (พ่อมด แม่มด หมอดู บาลี อิกฺขณิโก-กา ตุลฺยา)
15. โอกิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ..เปรตนั้นเป็นคนขี้หึง ฆ่าชู้
16. อสีสกพันธเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ.. สัตว์นั้นเคยเป็นเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจร
17. ภิกษุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ...เปรตนั้นเคยเป็นภิกษุผู้ลามก
18. ภิกษุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างคล้ายภิกษุณี ... สัตว์นั้นเคยเป็นภิกษุณีผู้ลามก
19. สิกขมานาเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างคล้ายสามเณรี... เคยเป็นสามเณรีผู้ลามก
20. สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร... เคยเป็นสามเณรผู้ลามก
21. สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี ..เป็นสามเณรีผู้ลามก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑
มหาวิภังค์ ภาค ๑ [๒๙๕]


122

คนธรรพ์ (เทวดาสถิตย์อยู่ในต้นไม้มีกลิ่น10 ประเภท)

[๕๓๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์เป็นไฉน?

พวกเทวดาซึ่ง(สถิตย์อยู่ในต้นไม้ที่มีกลิ่น)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่รากก็มี (1)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่แก่นก็มี (2)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กะพี้ก็มี (3)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่เปลือกก็มี (4)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กะเทาะก็มี (5)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ใบก็มี (6)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ดอกก็มี (7)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่ผลก็มี (8)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่รสก็มี (9)
สิงอยู่ที่ต้นไม้มีกลิ่นที่กลิ่นก็มี. (10)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนี้เราเรียกว่า พวกเทวดาซึ่งนับเนื่องในหมู่คนธรรพ์

หนังสือภพภูมิ หน้า ๓๐๕
(ไทย) ธนฺธ. สํ. ๑๗/๒๘๑/๕๓๗. (บาลี) ธนฺธ. สํ. ๑๗/๓๐๙/๕๓๗.



123


โกกาลิกสูตรที่ ๑๐
(อายุขัยของสัตว์อเวจีนรก 1 ปทุมะ)

.....ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม มีรัศมีอัน งามยิ่ง ทำวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืน อยู่ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วอุบัติใน ปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาต ในพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหม ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว กระทำ ประทักษิณ แล้ว ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง ฯ

[๓๘๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเพียงใด พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก การนับประมาณอายุในปทุมนรกนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือว่า เท่านี้แสนปี ไม่ใช่ทำได้ง่าย ฯ

ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์สามารถจะทรงกระทำการเปรียบเทียบได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคทรงรับว่า สามารถ ภิกษุ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียน ที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบของชาวโกศล เมื่อล่วงไปได้ ร้อยปี พันปี แสนปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดงา ขึ้นจากเกวียนนั้นออกทิ้งเมล็ดหนึ่งๆ

ดูกรภิกษุ เกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบของชาวโกศลนั้น จะพึงถึงความ สิ้นไปโดยลำดับนี้ เร็วเสียกว่า แต่ อัพพุทนรกหนึ่ง จะไม่พึงถึงความสิ้นไปได้เลย

ดูกรภิกษุ

๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก (อัพพุทนรกเป็นนรกที่ตื้นที่สุด)
๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อัพพนรก
๒๐ อัพพนรก เป็น ๑ อหหนรก
๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฏฏนรก
๒๐ อฏฏนรก เป็น ๑ กุมุทนรก
๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก
๒๐ โสคันธินรก เป็น ๑ อุปลกนรก
๒๐ อุปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑรีกนรก
๒๐ ปุณฑรีก นรกเป็น ๑ ปทุมนรก อย่างนี้
(ภิกษุโกกาลิก หลังมรณะภาพได้มาเกิดที่นรกชั้นนี้)

ก็โกกาลิกภิกษุอุบัติใน ปทุมนรก เพราะจิตคิด อาฆาตในสารีบุตร และ โมคคัลลานะ ฯ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

[๓๘๗] ก็วาจาหยาบเช่นกับขวาน เกิดในปากของบุรุษแล้ว เป็น เหตุตัดรอนตนเอง ของบุรุษผู้เป็นพาล ผู้กล่าวคำทุพภาษิต ผู้ ใดสรรเสริญคนที่ควรนินทา หรือนินทา คน ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้นย่อมก่อโทษเพราะปาก ย่อมไม่ได้ความสุข เพราะโทษ นั้น การแพ้ด้วยทรัพย์เพราะเล่นการพนันเป็นโทษเพียง เล็กน้อย โทษของผู้ที่ยังใจให้ ประทุษร้ายในท่านผู้ปฏิบัติดีนี้ แล เป็นโทษมากกว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามก ไว้แล้ว เป็นผู้ติเตียนพระอริยะเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกตลอดกาลประมาณ ด้วยการนับปี ๑๐๐,๐๐๐ นิรัพพุทะและ ๔๐ อัพพุทะ ผู้กล่าวคำเท็จย่อมเข้าถึงนรก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต


124

ไม่ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้เขานับถือ

ภิกษุทั้งหลาย ! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ
มิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ
มิใช่เพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร
มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ
มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ
หรือเพื่อค้านลัทธิอื่นใดให้ล้มลงไป
และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า
เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ที่แท้ พรหมจรรย์นี้
เราประพฤติ
เพื่อสำรวม
เพื่อละ
เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับสนิทซึ่งทุกข์
แล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๓๓/๒๕.


125

กายนี้ไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงกระแสปฏิจจสมุปบาท

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! กายนี้ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย และทั้งไม่ใช่ของบุคคลเหล่าอื่น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! กรรมเก่า (กาย) นี้ อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจัย ปรุงแต่งขึ้น (อภิสงฺขต) เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำ ให้เกิดความรู้สึกขึ้น(อภิสญฺเจตยิต) เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้ (เวทนีย).

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ในกรณีของกายนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียว ดังนี้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป)

ข้อนี้ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญ ญาณ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ...เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ...ฯลฯ...ฯลฯ...ฯลฯ... เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะ-โทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้แล.

กายนี้เป็นกรรมเก่ากาย อันเธอทั้งหลาย พึงเห็นว่า
   - เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
   - เป็นสิ่งที่ปัจจัยทำ ให้เกิดความรู้สึกขึ้น
   - เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้


126

กามภพ รูปภพ อรูปภพ
ในแง่มุมของการเกิดภายหลังกายแตกทำลาย



อุปมาเช่นเดียว แสงกับฉาก ลำแสง คือ มโน ฉากคือธัมมัง (มีวิญญาณไปตั้ง)
หรืออุปมาเรื่องเมล็ดพืช ตกลงบนผืนนา(ธัมมัง) ซึ่งผืนนาคือที่ตั้งของวิญญาณ หรือเขตตัง หรือดิน หรือปัฐวีธาตุ

ธัมมังประกอบด้วย
          กามภพ (ผืนนาเลว) 
          รูปภพ
(ผืนนาปานกลาง) 
          อรูปภพ
(ผืนนาดี)

1.กามภพ ผืนนาเลว (เทวดากามภพ มนุษย์ เปรต เดรัจฉาน นรก) ประกอบด้วย
นัยยะ 1
    1.1 กลุ่มแรก กุศลกรรมบถ10 (ใครทำได้เป็นเหตุให้มนุษย์ และเทวดาปรากฏ)
    1.2 กลุ่มสอง อกุศลกรรมบถ 10 (เป็นเหตุให้ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัย ปรากฏ)

2. รูปภพ ผืนนาปานกลาง สำหรับผู้ทำสมาธิได้ ฌาน1- ฌาน4
     2.1 ไปเกิดใน เทวดาชั้นรูปภพ* พรหมกายิกา อาภัสระ สุภกิณหะ เวหัปผละ สุทธาวาส
     2.2 ผู้ที่ละสังโยชน์ 5 (อนาคามี) จะไปเกิดในชั้นสุทธาวาส
* ชั้นเทวดารูปภพ(หมดกาม) พรหมกายิกา อาภัสระ สุภกิณหะ เวหัปผละ สุทธาวาส (ชั้นสูงสุด)

3. อรูปภพ ผืนนาดี สำหรับผู้ทำสมาธิได้ระดับอรูปสัญญา ใครทำได้จะได้มา เกิดในภพเทวดาคือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญกัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ


นัยยะ2 กามภพ

กามภพ..ยังแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ อาทีนวะ กับ อัสสาทะ

อัสสาทะ เป็นคุณของกาม จึงเรียกว่า กามคุณ (ยังเห็นความสวดสดงดงามอยู่ ยังมีคุณอยู่) ดังนั้นดินน้ำไฟลมจึงมีทั้ง อาทีนวะ และ อัสสาทะ ส่วนกามภพจะเอา เฉพาะในส่วนของอัสสาทะ อัสสาทะ หรือรสอร่อย ในส่วนตัวธาตุเรียกว่า "กามคุณ" เมื่อผัสสะกระทบกับอัสสาทะ แล้วเกิดการตริตรึกขึ้นมา จะเรียกว่า "กาม" จะเรียกว่า "กามสังกัปปะ" ถ้าพอใจจะเรียกว่า "สังกัปราคะ"(พอใจในสังกัปปะ) ก็จะถูกเรียกว่า "นั่นคือกามที่แท้จริง"

กาม อีกนัยยะหนึ่ง ยังแย่งเป็น 3 ประเภท
          กามปราณีต กามของเทวดา
          กามปานกลาง กามของมนุษย์
          กามเลว ต่ำกว่ามนุษย์ (เปรติวัย และกำเนิดเดรัจฉาน)

ส่วนสัตว์นรก จะไม่มีกาม เพราะพระสูตรหนึ่งบอกว่า สัตว์นรก
- จะเห็นแต่รูปที่ไม่น่าพอใจเท่านั้น จะไม่เห็นรูปทีน่าพอใจเลย
- จะได้ยินแต่เสียงที่ไม่น่าฟังเท่านั้น จะไม่ได้ยินเสียงที่น่าฟังเลย
- จะได้กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมเท่านั้น จะไม่ได้กลิ่นที่น่าสูดดมเลย
นั่นแสดงว่า อัสสาทะ ในนรก จะไม่มี ..สัตว์นรกจึงไม่มีกาม

กามของเปรตวิสัย..
คือยังมีรสอร่อยของ รูปเสียงกลิ่นรส
        อุปมาของเปรต คือมนุษย์ที่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีใบ
        อุปมาของมนุษย์ เหมือนบุรุษที่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีใบ
ดังนั้นรสอร่อยของเปรตย่อมมีอยู่ เพราะภพเดียวที่พระพุทธยืนยันว่าไม่มีรสอร่อย(กาม)เลยก็คือ นรก อีกอย่างหนึ่งที่เป็นคำตอบก็คือสัตว์เดรัจฉานที่ต่ำกว่าเปรต ยังมีอัสสาทะในรูปเสียงกลิ่นรส
        อุปมาของเดรัจฉานคือ บุรุษตกลงไปในหลุมมูตรคูถ(หลุมอุจจาระ)
        อุปมาของสัตว์นรก คือบุรุษที่ตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง
(สัตว์นรก กับเทวดา เป็นโอปปาติกะ ที่เกิดแต่กรรม ไม่ได้เกิดจากครรภ์)

ถอดคำพูดจากคลิป พอจ.คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง


127

(พระสูตรนี้ น่าจะเป็นอรรถกถา)

ความโดยย่อทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้เหล่าชฏิล 3 พี่น้องได้เห็นถึง 12 ครั้ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ โรงบูชาเพลิง(บูชาไฟ)


ครั้งที่ 1 ปราบพญานาค
ทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร(แสดงฤทธิ์)หลังพญานาคที่อาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงพ่นควัน และไฟ เข้าใส่พระพุทธเจ้า ที่สุดพระองค์จับพญานาคมานอนขดไว้ในบาตร

ครั้งที่ 2 ท้าวมหาราชทั้ง 4 ผู้มีฤทธิ์มากเข้าเฝ้า
ท้าวมหาราชทั้ง 4 (ท้าวจาตุมหาราช เทวดาชั้นกามภพ) ผู้มีฤทธิ์มาก (มากกว่าพญานาค) และมีรัศมีรอบกาย เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม

ครั้งที่ 3 ท้าวสักกะจอมทวยเทพเข้าเฝ้า
ท้าวสักกะจอมทวยเทพ (เทวดาชั้นดาวดึงส์- ชั้นกามภพ) ผู้มีฤทธิ์มากกว่าท้าว มหาราช และมีรัศมีรอบกายที่ประณีตกว่า เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม… ทำให้ชฎิลอุรุกัสสปเข้าใจว่า พระศาสดามีฤทธิ์มาก

ครั้งที่ 4 ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้า
ท้าวสหัมบดีพรหม(เทวดาชั้นพรหม-สุทธาวาส) ผู้มีฤทธิ์มากกว่าท้าวสักกะจอม ทวยเทพ และมีรัศมีรอบกายที่ประณีตกว่า เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม

ครั้งที่ 5  เสด็จไปทรงบาตรที่อุตรกุรุทวีป
พระศาสดาทราบความวิตกของเหล่าชฏิลในวันพิธีบูชายัญ เกรงว่าพระศาสดาจะแสดง ฤทธิ์ จนชาวมคธหันมาเลื่อมใสพระศาสดา จึงเสด็จไปทรงบาตรที่อุตรกุรุทวีป

ครั้งที่ 6 ท้าวสักกะ ขุดสระพร้อมยกแผ่นศิลาใหญ่มาวางให้พระพุทธเจ้าซักผ้าบังสุกุล
ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ทราบความดำริของพระศาสดา ว่าต้องการซักผ้าบังสุกุล จึงขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ พร้อมกับยกศิลาแผ่นใหญ่มาวาง

ครั้งที่ 7 ปาฏิหาริย์เก็บผลหว้า
พระพุทธเจ้าทรงเก็บผลหว้า โดยให้ชฎิลอุรุเวลกัสสป กลับไปก่อน แต่เมื่อถึงที่ประทับ ชฏิลแปลกใจว่า พระพุทธเจ้าทำไมมาถึงก่อน จึงทูลถามว่าพระองค์มาจากทางไหน

ครั้งที่ 8 ปาฏิหาริย์ผ่าฟืน
ชฎิลเก็บฝืนเพื่อบูชาไป แต่ผ่าฝืนไม่ได้ แต่หลังจากชฎิลอุรุเวลกัสสป เข้าเฝ้า พระองค์ตรัสให้ชฏิลผ่าฝืน ชฎิลทั้งหลายได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนในคราวเดียวเท่านั้น

ครั้งที่ 9 ปาฏิหาริย์ก่อไฟ
ชฎิลเก็บฝืนเพื่อบูชาไป แต่แต่ก่อไฟไม่ได้ แต่หลังจากชฎิลอุรุเวลกัสสป เข้าเฝ้า พระองค์ตรัสให้ชฏิลก่อไฟ ชฎิลทั้งหลายได้ก่อไฟ  ๕๐๐ กองในคราวเดียวเท่านั้น

ครั้งที่ 10 ปาฏิหาริย์ดับไฟ
ชฎิลเหล่านั้นบำเรอไฟกันแล้วไม่อาจดับไฟได้ พระองค์ได้ตรัสกะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสป พวกชฎิลจงดับไฟเถิด ทำให้ไปดับพร้อมกันทั้ง 500 กอง

ครั้งที่ 11 ปาฏิหาริย์กองไฟ
ชฎิลเหล่านั้นพากันดำลงบ้างผุดขึ้นบ้าง ทั้งดำทั้งผุดบ้าง ในแม่น้ำเนรัญชรา ในราตรีหนาวเหมันตฤด ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงนิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง สำหรับให้ชฎิลเหล่านั้น ขึ้นจากน้ำแล้วจะได้ผิง

ครั้งที่ 12 ปาฏิหาริย์น้ำท่วม
เมฆใหญ่ในสมัยที่มิใช่ฤดูกาลยังฝนให้ตกแล้ว ห้วงน้ำใหญ่ ได้ไหลนองไป จึงทรง บันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ แล้วเสด็จจงกรมอยู่บนภาคพื้น อันมีฝุ่นฟุ้งขึ้น ตอนกลาง

แม้ปาฏิหาริย์ทั้ง 12 ครั้ง ชฎิลอุรุเวลกัสสปก็รู้ว่าพระองค์มีฤทธิ์มาก แต่ก็คิดว่ายัง ไม่เป็น อรหันต์ เหมือนตน พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่านี่เป็น โมฆบุรุษ จึงตรัส กะชฎิลอุรุเวลกัสสปว่า ดูกรกัสสปท่านไม่ใช่พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่พบทางแห่งความ เป็นพระอรหันต์ แม้ปฏิปทาของท่านที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือพบทางแห่ง ความเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มี. 

ณ ที่นั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสป (หัวหน้าชฏิล) ได้ซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พร้อมกับได้ ชักชวนชฏิลทั้งหมดอีก 1000 คน เข้ามาบวช สรุปว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริก ที่ตำบล อุรุเวลาครั้งนี้ ได้สาวกเข้ามาบวชในพุทธศาสนาถึง 1003 คน

อ่านพระสูตรเต็ม


128

ขุนเขาสิเนรุ

(จากสุริยสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลายขุนเขาสิเนรุ โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์

มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด

สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง ฯ
(๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กม. ดังนั้น ๘๔,๐๐๐ โยชน์เท่ากับ ๑,๓๔๔,๐๐๐ กม.)

ขุนเขาสิเนรุ


ดูพระสูตรเต็ม


129

อนาคตอีกกาลนานไหล จะมีพระอาทิตย์ขึ้นถึง 7 ดวง
(จากสุริยสูตร)


อนาคตอีกกาลนานไกล

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏแม่น้ำลำคลองทั้งหมด ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆคือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูมหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรเหลือเพียงในรอยเท้าโค

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น

พระอาทิตย์ดวงที่ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่ และขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชน ลมหอบเอาเปลวไฟฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง

ดูพระสูตรเต็ม


130

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ 7 วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้าน กัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ซึ่งเป็นสถานที่ให้เหยื่อ แก่เนื้อ ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า

ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงแก่เธอตามลำดับ ดังนี้โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญา อย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญา อย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้

หมายเหตุ ข้างต้นเป็นไปตามพระไตรปิฏกฉบับมหามกุฏและสยามรัฐ ซึ่งแปล สำนวนจาก บาลีฉบับสยามฯ ส่วน พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬา แปลสำนวนตาม บาลีสากล ซึ่งตรงตามบาลีลังกาและพม่า ได้เนื้อความว่า "เมื่อเธอมีสัญญา อยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่าได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้นจะละความง่วงนั้นได้" .

          1.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว ให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
          2.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็น เหตุให้ละความง่วงได้
          3.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ จะเป็น เหตุ ให้ละความง่วงได้
          4.ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำ เหลียวดูทิศ ทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
          5.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่าง ไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละ ความง่วงได้
          6.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
          7.ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อม กัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ด้วยตั้งใจ ว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีก จะเป็นเหตุให้ละ ความ ง่วงได้

พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับ จนที่สุดถ้ายัง ไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ