เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
เสขพลวรรคที่ ๑ (.สังขิตตสูตร ๒. วิตถตสูตร ๓. ทุกขสูตร ๔. ภตสูตร ๕. สิกขสูตร
                    ๖.สมาปัตติสูตร ๗. กามสูตร ๘. จวนสูตร ๙. อคารวสูตรที่ ๑ ๑๐. อคารวสูตรที่ ๒
262  
 
 


เสขพลวรรคที่ ๑
(มี 10 พระสูตร)
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ปฐมปัณณาสก์ เสขพลวรรคที่ ๑ ๑. สังขิตตสูตร


๑. สังขิตตสูตร

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการ
๕ ประการเป็นไฉน
คือ
       กำลัง คือ ศรัทธา
       กำลัง คือ หิริ
       กำลัง คือ โอตตัปปะ
       กำลัง คือ วิริยะ
       กำลัง คือ ปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจัก เป็นผู้ประกอบด้วยกำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลังคือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา อันเป็นกำลังของพระเสขบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

๒. วิตถตสูตร
[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของเสขบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการนี้เป็น ไฉน คือ กำลัง คือ ศรัทธา กำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลังคือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ศรัทธาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่ากำลังคือ ศรัทธา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ หิริเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีหิริ ย่อมละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมละอายต่อการประกอบธรรมอันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่ากำลัง คือ หิริ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็กำลัง คือ โอตตัปปะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมสะดุ้งกลัวต่อการประกอบธรรม อันเป็นบาปอกุศล นี้เรียกว่ากำลัง คือ โอตตัปปะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือวิริยะเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมปรารภ ความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม นี้เรียกว่า กำลัง คือ วิริยะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องหยั่งถึงความเกิดขึ้นและดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสเป็น เครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลายกำลังของพระเสขบุคคล ๕ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักเป็นผู้ประกอบด้วย กำลัง คือ ศรัทธากำลัง คือ หิริ กำลัง คือ โอตตัปปะ กำลัง คือ วิริยะ กำลัง คือ ปัญญา อันเป็นกำลังของพระเสขบุคคล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล

๓. ทุกขสูตร
[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมอยู่เป็น ทุกข์ มีความเดือดร้อน คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้ทุคติ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีหิริ ๑ ไม่มี โอตตัปปะ ๑ เกียจคร้าน ๑ มีปัญญาทราม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความเดือดร้อน คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้ทุคติ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุขไม่ เดือดร้อน ไม่คับแค้น ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้สุคติ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีปัญญา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่เดือดร้อน ไม่คับแค้น ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน เมื่อแตกกายตายไปพึงหวังได้สุคติ

๔. ภตสูตร
[๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมถูกนำมา ทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทิ้งไว้ฉะนั้น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีหิริ ๑ ไม่มีโอตตัปปะ ๑เกียจคร้าน ๑ มีปัญญาทราม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ประการนี้แล ย่อมถูก นำมาทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทิ้งไว้ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญมาไว้บน สวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาวางไว้ฉะนั้น ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีหิริ ๑ มีโอตตัปปะ ๑ ปรารภความเพียร ๑ มีปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ได้รับเชิญ มาไว้บนสวรรค์ เหมือนสิ่งของที่เขานำมาวางไว้ฉะนั้น

๕. สิกขสูตร
[๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป ลาสิกขาสึกออกมาเป็น คฤหัสถ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าติเตียน ซึ่งถูกกล่าวหาอันชอบแก่เหตุ ๕ ประการใน ปัจจุบัน ๕ ประการเป็นไฉน คือ
       ท่านไม่มีแม้ศรัทธาในกุศลธรรม ๑
       ไม่มีแม้หิริในกุศลธรรม ๑
       ไม่มีแม้โอตตัปปะในกุศลธรรม ๑
       ไม่มีแม้ความเพียรในกุศลธรรม ๑
       ไม่มีแม้ปัญญาในกุศลธรรม ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป ลาสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าติเตียน ซึ่งถูกกล่าวหาอันชอบแก่เหตุ ๕ ประการนี้แล ในปัจจุบัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป แม้มีทุกข์ โทมนัส มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญที่ชอบแก่เหตุ ๕ ประการในปัจจุบัน
๕ ประการเป็นไฉน คือ
       เธอ มีศรัทธา ในกุศลธรรม ๑
       มีหิริ ในกุศลธรรม ๑
       มีโอตตัปปะ ในกุศลธรรม ๑ 
       มีความเพียร ในกุศลธรรม ๑
       มีปัญญา ในกุศลธรรม ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป แม้มีทุกข์โทมนัส  มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญที่ชอบแก่เหตุ ๕ ประการนี้แลในปัจจุบัน

๖. สมาปัตติสูตร
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่ศรัทธา ในกุศล ธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด ศรัทธาเสื่อมหายไป อัสสัทธิยะ (ความไม่เชื่อ)ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลา ที่หิริในกุศลธรรม ยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด หิริเสื่อมหายไป อหิริกะ (ความไม่ละอาย) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลา ที่โอตตัปปะในกุศลธรรม ยังตั้งมั่นอยู่

แต่เมื่อใด โอตตัปปะเสื่อมหายไป อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัว) ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมีการถึงอกุศล ย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะ ในกุศลธรรม ยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด วิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน)ย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี การถึงอกุศลย่อมไม่มี ตลอดเวลาที่ปัญญาในกุศลธรรม ยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใด ปัญญาเสื่อมหายไป ปัญญาทรามย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้น การถึงอกุศลย่อมมี

๗. กามสูตร
[๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลาย หมกมุ่นอยู่ในกามกุลบุตร ผู้ละเคียว และคานหาบหญ้าออกบวชเป็นบรรพชิต ควรเรียกว่าเป็นกุลบุตร ผู้มีศรัทธา ออกบวช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาควรได้กามด้วยความเป็นหนุ่ม และกามเหล่า นั้น ก็มีอยู่ ตามสภาพ คือ เลว ปานกลางและประณีต กามทั้งหมดก็ถึงการนับได้ว่า เป็นกาม ทั้งนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย พึงเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้อง ใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้นทันที แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถนำออกโดยเร็วได้ ก็พึงเอามือซ้ายจับ งอนิ้วมือข้างขวาแล้วแยงเข้าไปนำออกมาทั้งที่มีโลหิต ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าจะมีความลำบากแก่เด็ก เราไม่กล่าวว่า ไม่มีความลำบาก และพี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์ มุ่งความสุขอนุเคราะห์ พึงกระทำอย่างนั้นด้วยความ อนุเคราะห์ แต่เมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มีปัญญาสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็ก นั้นได้ว่า บัดนี้ เด็กมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรพลั้งพลาด ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ที่เราต้องรักษาเธอ ตลอดเวลาที่เธอยังไม่กระทำ ด้วยศรัทธาในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยโอตตัปปะ ในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยวิริยะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม แต่เมื่อใด ภิกษุกระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม กระทำด้วย โอตตัปปะในกุศลธรรมกระทำด้วยวิริยะในกุศลธรรม กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม เมื่อนั้น เราก็ย่อมวางใจในเธอได้ว่า บัดนี้ ภิกษุมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรประมาท

๘. จวนสูตร
[๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธาย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้ไม่มีหิริ ... ภิกษุผู้ไม่มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้เกียจคร้าน ... ภิกษุผู้มีปัญญาทราม ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แลย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม๕ ประการ ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นใน พระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉนคือ ภิกษุผู้มีศรัทธา ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่น ในพระสัทธรรม ภิกษุผู้มีหิริ ...ภิกษุผู้มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้มีปัญญา ย่อมไม่เคลื่อนย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม

๙. อคารวสูตรที่ ๑
[๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ไม่มี ที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อนไม่ตั้งมั่นในพระ สัทธรรม ภิกษุผู้ไม่มีหิริ ... ภิกษุผู้ไม่มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้เกียจคร้าน ... ภิกษุผู้มี ปัญญาทราม เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อนไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรมดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบ ด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรงย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระ สัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรมภิกษุผู้มีหิริ ... ภิกษุผู้มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้ ปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้มีปัญญาเป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม

๑๐. อคารวสูตรที่ ๒
[๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ไม่ม ีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรม วินัยนี้ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำ เกรง เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้ไม่มีหิริ ... ภิกษุผู้ไม่มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้เกียจคร้าน ... ภิกษุผู้มีปัญญาทราม เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้มีศรัทธาเป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง เป็นผู้ควรเพื่อ ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้มีหิริ ... ภิกษุผู้มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้มีปัญญา เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง เป็นผู้ควรเพื่อ ถึงความเจริญ งอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง เป็นผู้ควรเพื่อถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ปฐมปัณณาสก์ เสขพลวรรคที่ ๑ ๑. สังขิตตสูตร

       
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์