เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
    พระสูตรสั้น
ค้นหาคำที่ต้องการ       

 
พระสูตรสั้น พระสูตรโดยย่อ
  พระสูตรสั้น ชุด10 ทางลัด.. คลิกดูพระสูตรที่เป็นตัวเลข
 
1 (คลิก)
S10-1 กุมภัณฑเปรต เคยเป็นผู้พิพากษาโกงชาวบ้าน : มังคุลิตถีเปรต เคยมีอาชีพหมอดู
S10-2 คำเตือนของพระพุทธเจ้า เรื่องภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมลามก มิใช่สมณะแต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย - นรก
S10-3 โจรสูตรที่๑ ความเป็นโจรย่อมตั้งอยู่ไม่นาน เช่นฆ่าคนที่ไม่มีโอกาสต่อสู้ ลักพาสตรี ทำร้ายเด็ก ปล้นบรรพชิต ปล้นราชทรัพย์
S10-4 โจรสูตรที่๒ ความเป็นโจรย่อมตั้งอยู่ได้นาน เช่นฆ่าคนที่ต่อสู้ ไม่ลักพาสตรี ไม่ทำร้ายเด็ก ไม่ปล้นบรรพชิต ไม่ปล้นราชทรัพย์
S10-5 สงฆ์ พึงหงายบาตร แก่อุบาสกผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ (ปัตตสูตรที่ ๒)
S10-6 อุบาสก ไม่ควรเลื่อมใส ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ (อัปปสาทสูตร)
S10-7 พึงประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุ (ปสาทสูตร)
S10-8 บังคับให้ภิกขอขมา เมื่อล่วงเกินคฤหัสถ์ (ปฏิสารณียสูตรที่ ๑)
S10-9 สงฆ์พึงระงับการติเตียน-ขอขมา (ปฏิสารณียสูตรที่ ๒)
S10-10 ผู้รับทาน กับผลที่ได้ (ภิกษุผ้าเปลือกปอ)
2  
S10-11 กรรมเก่า-กรรมใหม่ กรรมเก่า คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ (กาย-ใจ) กรรมใหม่ คือผัสสะ
S10-12 ง้วนดิน กระบิดิน เครือดิน (อาหารแรกเริ่มของสัตว์ 3 ชนิด) ... ความแตกต่าง
S10-13

ทางแห่งความหมดจด 4 ทาง..ทางมี1.องค์แปด 2.อริยสัจสี่ 3.วิราคธรรม 3.ผู้มีพุทธจักษุ เห็นว่าสังขาร ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อนัตตา

S10-14

การฝึก สติสัมปชัญญะ...เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็รู้ ...  สัญญา และ วิตก เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็รู้

S10-15 สมาธิภาวนา การฝึกเพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ
S10-16 มนุษย์ใน 4 ทวีป (มนุษย์โลก และมนุษย์ต่างดาวในโลกธาตุนี้)
S10-17 ภิกษุประพฤติตัวไม่งาม (ชอบ-ยินดีในการคลุกคลีร่วมหมู่) ประพฤติตัวงาม (หลีกจากหมู่ สู่วิเวก เนกขัมมะ) บรรลุเจโตวิมุตติ
S10-18 กุศล- อกุศล : กุศลที่แท้จริงคือ สติปัฏฐาน๔ กองอกุศลที่แท้จริงคือ นิวรณ์๕
S10-19 ทุกข์ ของพระอริยบุคคล หมดไปมากกว่าที่เหลือ(ทุกข์ที่เหลือมีน้อย) สิเนรุสูตรที่ ๑
S10-20 เรียกร้องหาศาสดา โดยความเป็นมิตร หรือศัตรู
3  
S10-21 อริยสัจสี่อย่าง เป็นสิ่งที่คงที่
S10-22 ธรรม ๕ ประการ ของภิกษุผู้เถระ อันเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่อง ของเพื่อนพรหมจรรย์
S10-23 อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ฟังแล้วเข้าใจชัด บรรเทาความสงสัย ความเห็นตรง จิตย่อมเลื่อมใส  
S10-24 ความรู้สึกที่ถึงกับทำให้ออกผนวช ตนเองมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งนั้นๆ อยู่นั้นเอง
S10-25 นิพพานสูตรที่ ๓ ธรรมชาติ ๔ อย่าง ไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้วมีอยู่ การสลัดออกจึงปรากฏ
S10-26 พระพุทธเจ้าตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุ เห็นสัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยบ้างมากบ้าง มีอินทรีย์แก่กล้าบ้างอ่อนบ้าง มีอาการดีบ้างเลวบ้าง
S10-27 พระพุทธเจ้าไม่ให้พยากรณ์ใคร.. ว่าใครมีอินทรีย์มากน้อยแค่ไหน ว่าใครรู้แจ้งเป็นอริยะบุคคล หรือประเมินว่าใครบรรลุเป็นอรหันต์
S10-28 พยากรณ์ตนเองได้ (แว่นส่องธรรม) หากศรัทธาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลไม่ด่างพร้อย พยากรณ์ตนได้ว่าเป็นโสดาบัน
S10-29 ปฏิปักษ์ ๑๐ ประการ (กัณฏกสูตร).. คลุกคลีหมู่คณะเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงัด เสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน วิตกวิจาร- ทุติยฌาน
S10-30 อมนาปสูตร คุณสมบัติของมาตุคาม(สตรี) ที่ไม่เป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ ๕ ประการ
4  
S10-31 มนาปสูตร (คุณสมบัติของบุรุษ ย่อมไม่เป็นชอบใจ และไม่ชอบใจของสตรี) ๕ประการ
S10-32 อาเวณิกสูตร (ทุกข์ของสตรี ๕ประการ) เว้นจากญาติ มาตุคามมีระดู มาตุคามมีครรภ์ มาตุคามเข้าถึงความเป็นหญิงบำเรอของบุรุษ
S10-33 มาตุคามสูตร มาตุคามผู้มีใจมลทิน ตระหนี่ จิตริษยา กามราคะ ในเวลาเช้าเที่ยง เย็น เมื่อกายแตกย่อมเข้าถึง อบายทุคติวินิบาต-นรก
S10-34 การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔ อย่าง.. รู้สึกตัว-ไม่รู้สึกตัวในการก้าวลงสู่ครรภ์มารดา.. รู้ตัว-ไม่รู้ตัวเมื่ออยู่ในครรภ์.. รู้ตัว-ไม่รู้ตัวเมื่อคลอด
S10-35 สมณะชอบสบตาหญิง (ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)
S10-36 สมณะชอบฟังเสียงหญิง (ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)
S10-37 สมณะชอบระลึกถึงความหลังเกี่ยวกับหญิง (ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)
S10-38 สมณะชอบดูผู้อื่นบริโภคกาม (ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)
S10-39 อนุสัย ๓ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
S10-40 กรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมคือภพ ... กรรมเก่า อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.. กรรมใหม่ อันได้แก่ ผัสสะ
5
S10-41 มาตุคาม(สตรี) เป็นอันตราย แม้แต่พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว
S10-42 ธรรม​ ๖​ ประการ​นี้ เป็นไปเพื่อความ​ยินดีและ​เพื่อ​สิ้น​อา​สวะ
S10-43 พูดคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง คติ คือนรก - กำเนิดเดรัจฉาน (ตาลปุตตสูตร)
S10-44 ภิกษุเป็นทาสของตัณหา ภิกษุผู้เห็นแก่อามิส(หนักในอามิส แต่ไม่หนักในพระสัทธรรม) .. กล่าวยกยอกันเอง ต่อหน้าคฤหัสถ์
S10-45 กุลสูตร ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ไม่ควรเข้าไป หรือ เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง
S10-46 เรื่องพ้นจากบ่วง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์
S10-47 เรื่องมาร... ดูกรมารท่านถูกเรากำจัดเสียแล้ว เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้คือ รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รื่นรมย์ใจ 
S10-48 (1) เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิดของภิกษุอรหันต์ ขณะจำวัด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่อาบัติ (อรหันต์สิ้นกามแล้ว)
S10-49 (2) เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิดของภิกษุรูปหนึ่ง ขณะจำวัด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาบัติปาราชิก (ขณะนั้นภิกษุพึงพอใจ)
S10-50 (3) เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิดของภิกษุรูปหนึ่ง ขณะจำวัด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่อาบัติ (เพราะภิกษุไม่รู้สึกตัว)
ต่อชุด 11
 
 


1

เรื่องอัฏฐิสังขลิกเปรต (บางส่วน)
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๔๒๖-๔๓๗)

(10) กุมภัณฑเปรต
มีอัณฑะโตเท่าหม้อ ลอยไปในเวหาส์ เปรตนั้น
แม้เมื่อเดินไป ย่อมยกอัณฑะเหล่านั้น แหละ ขึ้นพาดบ่า เดินไป
แม้เมื่อนั่งก็ย่อมนั่งบน อัณฑะเหล่านั้นแหละ ฝูงแร้งเหยี่ยว
และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง
ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรตนั้นอยู่ไปมา เปรตนั้นร้องครวญคราง
สัตว์นั้น เคยเป็นผู้พิพากษาโกงชาวบ้าน
อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง

(14)
มังคุลิตถีเปรต
เปรตหญิง มีรูปร่างน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ลอยไปในเวหาส
ฝูงแร้ง เหยี่ยว และนกตะกรุม พากันโฉบอยู่
ขวักไขว่ จิกสับโดยแรง จิกทึ้ง ยื้อแย่ง สะบัดซึ่งเปรต
หญิงนั้นอยู่ไปมา เปรตหญิงนั้นร้องครวญคราง
เปรตหญิงนั้นเคย เป็นแม่มด อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง
(พ่อมด แม่มด หมอดู บาลี : อิกฺขณิโก-กา ตุลฺยา)

พระสูตร เปรต 21 ชนิด
พระสูตร เรื่องเปรตฉบับเต็

.......................................................................................

2

คำเตือนของพระพุทธเจ้า ต่อหน้าภิกษุทั้งหลาย
(พระสุตรเต็ม อัคคิขันธูปมสูตร P1144)

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะขอบอกเธอทั้งหลาย จะขอเตือนเธอทั้งหลาย

1. ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติสกปรกน่ารังเกียจ ปกปิดกรรมชั่ว มิใช่ สมณะแต่ ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่า ประพฤติ พรหมจรรย์ เน่าใน มีความกำหนัดกล้า เป็นดังหยากเยื่อเข้าไปนั่งกอด หรือนอนกอด พระราชธิดาบุตรสาวพราหมณ์ หรือบุตรสาวคฤหบดี จะประเสริฐอย่างไร การเข้าไป นั่งกอด นอนกอดกองไฟใหญ่โน้น ที่กำลังลุก รุ่งโรจน์ โชติช่วงอยู่

2. ยินดีการกราบไหว้ แห่งกษัตริย์ มหาศาล พราหมณ์ มหาศาล หรือคฤหบดี มหาศาลนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่ บุคคลผู้ทุศีลนั้น และบุคคลผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

3. ยินดีอัญชลีกรรม ของกษัตริย์.. พราหมณ์..หรือคฤหบดี..นั้นมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนานแก่บุคคลผู้ทุศีลนั้น และ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

4. บริโภคบิณฑบาต ที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์.. พราหมณ์..หรือคฤหบดี นั้น มิใช่ ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

5. บริโภคจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์.. พราหมณ์..หรือคฤหบดี.. นั้นมิใช่ ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

6. บริโภคเตียงตั่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์.. พราหมณ์..หรือคฤหบดี.. นั้นมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

7. บริโภควิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา ของกษัตริย์.. พราหมณ์..หรือคฤหบดี.. นั้นมิใช่ ประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน แก่บุคคลผู้ทุศีล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

หลังจากพระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้จบลงแล้ว
- โลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป (พวกต้น)
- ภิกษุ ๖๐ รูป (พวกกลาง) ลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยกราบทูลพระผู้มีพระภาค   ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ทำได้แสนยาก
- อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ฯ

คำเตือนของพระพุทธเจ้าต่อภิกษุผู้ทุศีล (ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัย)

ภิกษุผู้มีธรรมลามก ประพฤติสกปรกน่ารังเกียจ บริโภคบิณฑบาตที่เขาถวายด้วยศรัทธา..มิใช่สมณะ แต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ..มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญาณว่าประพฤติพรหมจรรย์

ยินดีการกราบไหว้ ยินดีอัญชลีกรรม ยินดีบริโภคบิณฑบาต ยินดีในวิหารที่เขาถวาย ของกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคฤหบดี นั้น ย่อมเป็นไป เพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน
ผู้ทุศีลนั้น เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้จบลงแล้ว

-ภิกษุ ๖๐ รูป โลหิตร้อนพุ่งออกจากปาก
-ภิกษุ อีก ๖๐ รูป ลาสิกขา(สึก)กราบทูลว่าทำได้แสนยาก
-ภิกษุ อีก ๖๐ รูป จิตหลุดพ้น (สำเร็จอรหันต์)

(อัคคิขันธูปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้า ๑๐๐-๑๐๕)


.......................................................................................

3

โจรสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้า ๒๗๔

           [๑๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ
๒. ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ
๓. ลักพาสตรี
๔. ประทุษร้ายกุมารี
๕. ปล้นบรรพชิต
๖. ปล้นราชทรัพย์
๗. ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป
๘. ไม่ฉลาดในการเก็บ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน

.....................................................................................
4

โจรสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้า ๒๗๔

           [๑๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. ไม่ประหารคนที่ไม่ประหาร
    ๒. ไม่ถือเอาของจนไม่ เหลือ
    ๓. ไม่ลักพาสตรี
    ๔. ไม่ประทุษร้ายกุมารี
    ๕. ไม่ปล้นบรรพชิต
    ๖. ไม่ปล้นราชทรัพย์
    ๗. ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป
    ๘. ฉลาดในการเก็บ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน


.....................................................................................

5
ปัตตสูตรที่ ๒ (พึงหงายบาตรแก่อุบากสกผู้ประกอบความดี)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้า ๒๗๘

           [๑๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงหงายบาตรแก่อุบาสก ผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการ องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. อุบาสกไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย
    ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายแก่ภิกษุทั้งหลาย
    ๓. ไม่พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย
    ๔. ไม่ด่าไม่บริภาษภิกษุทั้งหลาย
    ๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย
    ๖. สรรเสริญพระพุทธเจ้า
    ๗. สรรเสริญพระธรรม
    ๘. สรรเสริญพระสงฆ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงหงายบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล


..................................................................................

6
อัปปสาทสูตร (ประกาศไม่เลื่อมใสภิกษุ)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้า ๒๗๘

           [๑๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความไม่เลื่อมใส แก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. ภิกษุพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๒. พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๓. ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๔. ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๕. ติเตียนพระพุทธเจ้า
    ๖. ติเตียนพระธรรม
    ๗. ติเตียนพระสงฆ์
    ๘. เทวดาย่อมเห็นภิกษุนั้นโดยประการนั้น

ดูกรภิกษุ ทั้งหลายอุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล

...................................................................................

7
ปสาทสูตร (ประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุ)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๗๘

           [๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความเลื่อมใส แก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๓. ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๕. สรรเสริญพระพุทธเจ้า
    ๖. สรรเสริญพระธรรม
    ๗. สรรเสริญพระสงฆ์
    ๘. และเพราะเหตุนี้ เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญอุบาสกนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสกหวังอยู่ พึงประกาศความเลื่อมใสแก่ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล


....................................................................................

8

ปฏิสารณียสูตรที่ ๑ (บังคับให้ขอขมาเมื่อล่วงเกินคฤหัสถ์)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๗๙

               [๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุ ผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๒. พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๓. ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๔. ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๕. ติเตียนพระพุทธเจ้า
    ๖. ติเตียนพระธรรม
    ๗. ติเตียนพระสงฆ์
    ๘. ไม่ยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล


....................................................................................
9

ปฏิสารณียสูตรที่ ๒ (ระงับการติเตียน-ขอขมา)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๗๙

               [๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงระงับ ปฏิสารณียกรรม แก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วย ธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
    ๑. ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๒. ไม่พยายามเพื่อความฉิบหายแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๓. ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๔. ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย
    ๕. สรรเสริญพระพุทธเจ้า
    ๖. สรรเสริญพระธรรม
    ๗. สรรเสริญพระสงฆ์๑
    ๘. และยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง


ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ นี้แล


..................................................................................

10
วัตตสูตร (การลงโทษภิกษุผู้กระทำผิด)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๒๘๐

               [๒๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อันสงฆ์ลง ตัสสปาปิยสิกากรรม ต้องประพฤติชอบในธรรม ๘ ประการ คือ
     ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท
     ๒. ไม่พึงให้นิสัย
     ๓. ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก
     ๔. ไม่พึงยินดีการสมมติตนเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี
     ๕. แม้ได้รับสมมติแล้วก็ไม่พึงโอวาทภิกษุณี
     ๖. ไม่พึงยินดีการได้รับสมมติจากสงฆ์ไรๆ
     ๗. ไม่พึงนิยมในตำแหน่งหัวหน้าตำแหน่งไรๆ
     ๘. ไม่พึงให้ประพฤติวุฏฐานพิธีเพราะตำแหน่งเดิมนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อันสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแล้ว พึงประพฤติชอบ ในธรรม ๘ ประการนี้

.................................................................................

11

ผู้รับทาน กับผลที่ได้ (ภิกษุผ้าเปลือกปอ) (ย่อ)
-บาลี ติก. อํ. ๒๐/๓๑๗/๕๓๙.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผ้าทอด้วยเปลือกปอ ถึงจะยังใหม่อยู่ สีก็ไม่งาม นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ราคาก็ถูก ผ้าเปลือกปอที่เก่าคร่ำแล้วมีแต่จะถูกใช้เช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งอยู่ตามกอง ขยะมูลฝอย

ภิกษุบวชใหม่ ผู้ทุศีล
1. ภิกษุผู้ทุศีล เราก็กล่าวว่า มีความเป็นอยู่เลวทราม มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้า เปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั่นแหละ
2. ชนเหล่าใด คบหาสมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุนั้น ย่อมเกิดสิ่งอัน ไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้น ใครใกล้ชิด ก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ
3. ภิกษุที่ทุศีล รับจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น ภิกษุนั้นว่ามีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอราคาถูก

ภิกษุ มัชฌิมภูมิ (ยังไม่เป็นเถระ)
1. มัชฌิมภูมิ ผู้ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั่นแหละ
2. ชนเหล่าใดคบหาสมาคม เข้าใกล้ ทำตามอย่างของภิกษุนั้น ย่อมเกิดสิ่งอันไม่เป็น ประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน นุ่งห่มก็เจ็บเนื้อเหมือนผ้าเปลือกปอ
3. ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก

ภิกษุ ผู้เป็นเถระ
1. ภิกษุเถระ ผู้ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็มีผิวพรรณไม่งามเหมือนผ้าเปลือกปอ ที่มีสีไม่งามนั่นแหละ
2. ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่างของภิกษุเถระผู้ทุศีล ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์แก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน
3. ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ.. ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มี ผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือกปอ มีราคาถูก

(อ่านพระสูตรเต็ม P243)


...............................................................................

12

ง้วนดิน กระบิดิน เครือดิน (อาหารแรกเริ่มของสัตว์)

ง้วนดิน
ง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ เหมือนนมสด ที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝ้าอยู่ข้างบน ง้วนดินถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้ เมื่อสัตว์บริโภค ง้วนดิน รัศมีกายของสัตว์ก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวง อาทิตย์ก็ ปรากฏ เมื่อ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏ เมื่อดวงดาว นักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน และกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือน ปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ  

กระบิดิน
กระบิดินลักษณะคล้ายเห็ด กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นรส มีสีเหมือนเนยใส หรือ เนยข้นอย่างดี มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้ เมื่อสัตว์บริโภค กระบิดิน จึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้น มีผิวพรรณแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่น เพราะทะนงตัวปรารภ ผิวพรรณ เป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป

เครือดิน
เครือดินคล้ายผลมะพร้าว ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้น อย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้

...............................................................................

13

ทางแห่งความหมดจด

- ธ. ขุ. ๒๕/๕๑/๓๐.

1. ทางมีองค์แปด เป็นทางอันประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย.
2. บทแห่งอริยสัจสี่ ประเสริฐกว่าบททั้งหลาย.
3. วิราคธรรม ประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย.
4. ผู้มีพุทธจักษุ ประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้าทั้งหลาย.
นี่แหละทางเพื่อความหมดจด แห่งทัสสน ทางอื่นมิได้มี.

เธอทั้งหลาย จงเดินตามทางนั้น อันเป็นที่หลงแห่งมาร  
เธอทั้งหลาย เดินตามทางนั้นแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ทางเราบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย เพื่อการรู้จักการถอนซึ่งลูกศร  
ความเพียรเป็นกิจอันเธอทั้งหลายพึงกระทำ
ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอก (วิธีแห่งการกระทำ).
ผู้มุ่งปฏิบัติแล้ว ย่อมพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร.

เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง ”  
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์  
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.

เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์ ”  
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์  
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.

เมื่อใด บุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ”  
เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์
นั่นแหละเป็นทางแห่งความหมดจด.

...............................................................................
14

สติ คู่กับ สัมปชัญญะ
- มหา.ที. ๑๐/๑๑๒/๙๐.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ พึงเป็นผู้ มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ  
นี้เป็นอนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้สติ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้
เป็นผู้ตาม เห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผา กิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก (เห็นกายภายใน)

เป็นผู้ตาม เห็นเวทนาในเวทนา อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก (เห็นปิติสุขในสมาธิ)

เป็นผู้ตาม เห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก (เห็นจิตเกิดดับในรูป-นาม)

เป็นผู้ตาม เห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก (เห็นอนิจจังในความไม่เที่ยงของจิต)

ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็น ผู้มีสติ (สติปัฏฐาน ๔)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบ ในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง (รู้อิริยาบถ หรือมีจิตอยู่กับ กาย จิตต้องไม่หลุดไปที่อื่น)

ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็น ผู้มีสัมปชัญญะ (จิตน้อมมาอยู่ที่กาย)

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ
นี้เป็นอนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.
(สติจะเกิดสั้นมาก มีการเกิด-ดับ สติดับเมื่อสัมปชัญญะเกิด) คลิป

...............................................................................

15
สมาธิภาวนา การฝึกเพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ

ภิกษุ ท. ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไป เพื่อสติสัมปชัญญะ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้

เวทนาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ
สัญญาเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ
วิตกเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ.

ภิกษุ ท. ! นี้คือ สมาธิภาวนา
อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติ สัมปชัญญะ.
- จตุกฺก.อํ. ๒๑/๕๘/๔๑.

...............................................................................

16
ฐานสูตร (ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้า ๓๑๙)
จูฬนีสูตร (ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐สุ หน้า ๒๑๕)


มนุษย์ใน 4 ทวีป (มนุษย์โลก และมนุษย์ต่างดาวในโลกธาตุนี้)

  โดยสรุปเรื่องมนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีมากมายนับพันทวีป
แม้แต่ชมพูทวีปก็มีนับพันๆทวีป แต่ใน 1 โลกธาตุ จะมีพระพุทธเจ้าจะอุบัติเพียง พระองค์เดียวเท่านั้น และจะจุติขึ้นที่ชมภูทวีป ไม่จุติในทวีปอื่น

1) ชมพูทวีป (ในโลกธาตุนี้มีพันทวีป)
       เป็นผู้กล้า
       เป็นผู้มีสติ
       เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม

2) อมรโคยานทวีป (ในโลกธาตุนี้มีพันทวีป)
    (พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงรายละเอียด แต่มีในตำราอื่น เช่นอรรถกถา ไตรภูมิพระร่วง) 

3) อุตตรกุรุพันทวีป * (ในโลกธาตุนี้มีพันทวีป)
       ไม่มีทุกข์
       ไม่มีความหวงแหน
       มีอายุแน่นอน
* พระผู้มีพระภาคเสด็จทรงบาตรที่อุตรกุรุทวีป ในเรื่อง ชฏิล 3 พี่น้อง คลิก
* พระโมคคัลลานะ ขอภิกษุสงฆ์ทั้งหมดพึงไปบิณฑบาตใน อุตรกุรุทวีป เนื่องจากเมือง เวรัญชา หาเลี้ยงชีพฝืดเคือง มีกระดูกคนตายขาวเกลื่อน แต่พระผู้มีพระภาคทรงห้าม) คลิก

4) ปุพพวิเทหะพันทวีป (ในโลกธาตุนี้มีพันทวีป)
    (พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงรายละเอียด แต่มีในตำราอื่น เช่นอรรถกถา ไตรภูมิพระร่วง)   


.............................................................................

17
(มหาสุญญตสูตร  ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้าที่ ๑๘๕)

ภิกษุประพฤติตัวไม่งาม และประพฤติตัวงาม

ประพฤติไม่งาม :
ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิง ร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย ...ภิกษุหมู่นั้นหนอ จักบรรลุ เจโตวิมุติ อันปรารถนา เพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติ อันไม่กำเริบ มิใช่เป็นไป ชั่วสมัยอยู่ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ประพฤติงาม :
ภิกษุเป็นผู้ ผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่ เนกขัมมะ สุขเกิด แต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็นฐานะที่มีได้ ..ภิกษุออกจากหมู่พึงหวัง บรรลุเจโตวิมุติ อันน่าปรารถนาเพียงชั่วสมัยหรือเจโต วิมุติ อันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่ว สมัยอยู่ นั่นเป็นฐานะที่มีได้ 

.................................................................................
18

กุศล-อกุศล ที่แท้จริง

อะไร ? คือ กองอกุศล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อจะกล่าวว่า..
กองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึง นิวรณ์ ๕
เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่นิวรณ์ ๕

นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน ? คือ
  กามฉันทนิวรณ์ ๑
  พยาบาทนิวรณ์ ๑
  ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ (ความง่วงเหงาซึมเซา)
  อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ)
  วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ (ความลังเล, สงสัย)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อจะกล่าวว่า.. กองอกุศล
จะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เหล่านี้
เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕.
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค


อะไร ? คือ กองกุศล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อจะกล่าวว่า..กองกุศล
จะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึง สติปัฏฐาน ๔
เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย
ู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อจะกล่าวว่า..กองกุศล
จะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔
เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ สติปัฏฐาน.
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค


................................................................................

19
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๔๔๘-๔๔๙.

สิเนรุสูตรที่ ๑
ทุกข์ของพระอริยบุคคลหมดไปมากกว่าที่เหลือ


             [๑๗๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเก็บก้อนหิน ประมาณเท่า เมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนแห่งขุนเขาสิเนรุราช เธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้วกับขุนเขาสิเนรุราช อย่างไหนจะมากกว่ากัน? 

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขุนเขาสิเนรุราชมากกว่า ก้อนหิน ประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว๗ ก้อนที่บุรุษเก็บแล้ว น้อยกว่า เมื่อเทียบกับขุนเขา สิเนรุราช แล้ว ก้อนหินประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ๗ ก้อน ที่บุรุษนั้นเก็บไว้แล้ว ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว.

             พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกข์ของบุคคลผู้เป็นอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ตรัสรู้แล้วผู้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่สิ้นไป หมดไปแล้ว มากกว่าที่ยังเหลือมีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับ การเปรียบเทียบ หรือแม้ส่วนเสี้ยว เมื่อเทียบกับกองทุกข์อันมีในก่อนที่สิ้นไป หมดไปแล้ว อย่างสูง เพียง ๗ ชาติ ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตาม ความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

..............................................................................
20
บาลีอุปริ. ม. ๑๔/๒๔๔/๓๕๕

เรียกร้องหาศาสดาโดยความเป็นมิตร หรือศัตรู

เรียกร้องหาศาสดาโดยความเป็นมิตร
อานนท์ !  สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นศัตรู เป็นอย่างไรเล่า
อานนท์ !  ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่พวกเธอ ทั้งหลาย และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย” ดังนี้ เป็นต้น
สาวกเหล่านั้น
1. ไม่ฟังด้วยดี
2. ไม่เงี่ยหูฟัง
3. ไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง
4. แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดาไปเสีย

เรียกร้องหาศาสดาโดยความเป็นศัตรู
อานนท์ !  สาวกทั้งหลาย เรียกร้องหาศาสดา เพื่อความเป็นมิตร เป็นอย่างไรเล่า.
อานนท์ !  ในกรณีนี้ ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า “สิ่งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ ทั้งหลาย และสิ่งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสุขแก่พวกเธอทั้งหลาย” ดังนี้ เป็นต้น
สาวกเหล่านั้น
1. ย่อมฟังด้วยดี
2. ย่อมเงี่ยหูฟัง
3. ย่อมตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง
4. ย่อมไม่แกล้งทำให้ผิดจากคำสั่งสอนของศาสดา.

อานนท์ ! 
1. เราไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทะนุ-ถนอม เหมือนพวกช่างหม้อ
2. เราจักขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด
3. เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
4. ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้

...............................................................................

21

อริยสัจสี่อย่าง เป็นสิ่งที่คงที่

           ภิกษุทั้งหลาย ! มีของสี่อย่างซึ่งคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความคงที่ ไม่ไปสู่ความมีความเป็นโดยประการอื่น.  ของสี่อย่างนั้นเหล่าไหนเล่า ?

ของสี่อย่างนั้นคือ
ความรู้ตามเป็นจริงว่า

    ๑. นี้เป็นทุกข์
    ๒. นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
    ๓. นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
    ๔. นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์

ทั้งสี่อย่างนั้น เป็นของคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความคงที่ ไม่ไปสู่ความมี ความเป็น โดยประการอื่น ดังนี้.

...ภิกษุทั้งหลาย! นี่แล เป็นของสี่อย่าง ซึ่งคงที่ ไม่เปลี่ยนจากความคงที่ ไม่ไปสู่ความมี ความเป็น โดยประการอื่น.

...ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
  นี้เป็นทุกข์
  นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
  นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์   และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของุทกข์ ดังนี้ เถิด

( บาลี – มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๓๙-๕๔๐/๑๖๙๗ )

...............................................................................
22

ธรรม ๕ ประการ ของภิกษุผู้เถระ
ที่เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของ เพื่อนพรหมจรรย์


1. เป็นผู้มีศีล ศึกษาอยู่ในสิกขาบท
2. เป็นพหุสูต ฯลฯ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
3. เป็นผู้มีวาจาไพเราะ
4. ได้ฌาน ๔ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
5. ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้

(อ่านพระสูตรเต็ม)

...............................................................................
23

อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ (ธัมมัสสวนสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

๑) ผู้ฟังย่อมได้ฟัง สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๒) ย่อมเข้าใจชัด สิ่งที่ได้ฟังแล้ว
๓) ย่อมบรรเทาความสงสัย เสียได้  
๔) ย่อมทำความเห็น ให้ตรง  
๕) จิตของผู้ฟัง ย่อมเลื่อมใส  

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล ฯ

ธัมมัสสวนสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

..............................................................................
24

ความรู้สึก ที่ถึงกับทำให้ออกผนวช

         ภิกษุ ท. ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็น โพธิสัตว์อยู่

         ตนเองมีความเกิด เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มี ความเกิด เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง

         ตนเองมีความแก่ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่ง ที่มีความแก่ เป็นธรรมดา อยู่นั่นเอง

         ตนเองมีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหา สิ่งที่มีความ เจ็บไข้ เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง

         ตนเองมีความตาย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงหาสิ่งที่มีความตาย
เป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง

         ตนเองมีความโศก เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลง แสวงหาสิ่งที่มีความ โศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง

         ตนเองมีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็ยังมัวหลง แสวงหาสิ่ง ที่มีความเศร้าหมองโดยรอบ ด้านเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง อีก. 

         ภิกษุ ท. ! ก็อะไรเล่า เป็นสิ่งที่มีความเกิด (เป็นต้น) ฯลฯ มีความเศร้าหมอง โดยรอบด้าน (เป็นที่สุด) เป็นธรรมดา? 

         ภิกษุ ท. ! บุตรและภรรยา มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดย รอบด้านเป็นธรรมดา

        ทาสหญิง ทาสชาย มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบ ด้านเป็นธรรมดา.

        แพะ แกะ มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็น ธรรมดา.

        ไก่ สุกร มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็น ธรรมดา.

        ช้าง โค ม้า ลา มี ความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็น ธรรมดา.

         ทอง และเงิน เป็นสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมอง โดยรอบด้าน เป็นธรรมดา.

         สิ่งที่มนุษย์เข้าไปเทิดทูนเอาไว้ เหล่านี้แล ที่ชื่อว่าสิ่งที่มีความเกิด เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา ซึ่งคนในโลกนี้ พากันจมติดอยู่ พากันมัว เมาอยู่ พากันสยบอยู่ ในสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้ตนทั้งที่มี ความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดา อยู่เองแล้ว ก็ยังมัวหลงแสวงห าสิ่งที่มี ความเกิดเป็นธรรมดา ฯลฯ ที่มีความเศร้าหมองโดยรอบ ด้านเป็นธรรมดา อยู่นั่นเอง อีก.

        ภิกษุ ท. ! ความคิดอันนี้ ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า "ทำไมหนอ เราซึ่งมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดาอยู่เองแล้ว จะต้องไปมัวแสวงหา สิ่งที่มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้านเป็นธรรมดาอยู่อีก.

         ไฉนหนอ เราผู้มีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมองโดยรอบด้าน เป็นธรรมดา อยู่เองแล้ว  ครั้งได้รู้สึกถึงโทษอันต่ำทรามของการมีความเกิด ฯลฯ ความเศร้าหมอง โดยรอบด้านเป็นธรรมดานี้แล้ว เราพึงแสวงหา นิพพาน อันไม่มีความเกิด อันเป็น ธรรมที่เกษมจาก เครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด." 

         ภิกษุ ท. ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีก ยังหนุ่มเทียว เกสา ยังกำจัดบริบูรณ์ด้วย ความหนุ่ม ที่กำลังเจริญ ยังอยู่ในปฐมวัย เมื่อมารดาบิดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากัน ร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ ไม่มีเรือนแล้ว


(ในบาลี สคารวสูตร๑มีที่ตรัสไว้สรุปแต่สั้น ๆ ว่า :-)
          ภารทวาชะ ! ในโลกนี้ ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ยังเป็น โพธิสัตว์อยู่, ความคิดนี้เกิดมีแก่เรา ว่า "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสว่าง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว โดยง่ายนั้นไม่ได้.ถ้าไฉนเราพึง ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์ เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด" ดังนี้ ภารทวาชะ ! เรานั้นโดยสมัยอื่นอีกยังหนุ่มเทียว...
.
(พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๔-๔๖)

.............................................................................
25
ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕หน้าที่ ๑๔๔

ธรรมชาติ ๔ อย่างนี้มีอยู่ (นิพพานสูตรที่ ๓)
(เพราะมีธรรมชาติ ๔ อย่างนี้มีอยู่ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติเหล่านี้ จึงปรากฎ)

[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย เห็นแจ้ง ...เงี่ยโสตลงสดับธรรม ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความ นี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
๑) ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว
๒) ไม่เป็นแล้ว
๓) อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว
๔) ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้ แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออก ซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จึงปรากฏ


............................................................................

26
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๑๖๙ (ภาษาไทย) ม.ม. ๑๓/๓๔๙/๕๑๑

พระพุทธเจ้าตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุ

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เรารู้แจ้งคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหมแล้ว และ เพราะอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย เราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุแล้ว.

เมื่อเราตรวจดูโลกด้วยพุทธจักขุอยู่ เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในดวงตา เล็กน้อยบ้าง มีมากบ้าง ผู้มีอินทรีย์แก่กล้าบ้าง อ่อนบ้าง มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง อาจสอนให้รู้ได้ง่ายบ้าง ยากบ้าง และบางพวก เห็นโทษในปรโลก โดยความเป็นภัยอยู่ก็มี

เปรียบเหมือนในหนอง บัวอุบล บัวปทุม บัวบุณฑริก
ดอกบัว
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ยังจมอยู่ในน้ำ
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ ตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ
บางเหล่า เกิดแล้วในน้ำ เจริญในน้ำ อันน้ำพยุงไว้ โผล่ขึ้นพ้นน้ำ อันน้ำไม่ถูกแล้ว


มีฉันใด

ราชกุมาร ! เราได้เห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นต่างๆ กันฉันนั้น.

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น เราได้รับรองกะสหัมบดีพรหมด้วยคำ(ที่ผูกเป็นกาพย์) ว่า

“ประตูแห่งนิพพานอันเป็นอมตะ เราเปิดไว้แล้วแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีโสต ประสาท สัตว์เหล่านั้น จงปลงศรัทธาลงไปเถิด ดูก่อนพรหม ! เรารู้สึกว่ายาก จึงไม่กล่าวธรรมอันประณีต ที่เราคล่องแคล่วชำนาญ ในหมู่มนุษย์ ทั้งหลาย” ดังนี้.

ราชกุมาร ! ครั้งนั้น สหัมบดีพรหม รู้ว่าตนเป็นผู้ได้โอกาส อันพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำแล้ว เพื่อแสดงธรรม จึงไหว้เรากระทำอันประทักษิณแล้ว อันตรธานไป ในที่นั้น นั่นเอง.
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๑๖๙
(ภาษาไทย) ม.ม. ๑๓/๓๔๙/๕๑๑


............................................................................

27
พระพุทธเจ้าไม่ให้พยากรณ์ใคร

ไม่ให้พยากรณ์คนอื่น (ตถาคตเท่านั้นที่พึงพยากรณ์ได้)

อานนท์ ! เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคล ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต.

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย อย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคล และ อย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษ ของตน

เรา หรือผู้ที่เหมือนเรา
พึงถือประมาณในบุคคลได้.
บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๐/๗๕.

.............................................................................

28

พยากรณ์ตนเองได้ (แว่นส่องธรรม พยากรณ์ว่าเป็นโสดาบัน)

อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม ซึ่งหาก อริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตน เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว
ในข้อที่ตนเป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อพระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า ดังนี้.

อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรมในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหวในองค์ พระพุทธเจ้า... ในองค์พระธรรม... ในองค์พระสงฆ์... และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีล ทั้งหลายชนิด เป็นที่พอใจของเหล่าอริยเจ้า คือ เป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ ท่านสรรเสริญ เป็นศีลที่ทิฏฐิ ไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.

อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่าแว่นธรรมซึ่งหากอริยสาวก ผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ ดังนี้แล
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐/๑๔๗๙
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๑/๑๔๗๙


............................................................................
29

ปฏิปักษ์ ๑๐ ประการ (กัณฏกสูตร)
(อ่านพระสูตรเต็ม)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวฌานว่ามีเสียงเป็นปฏิปักษ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปักษ์ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ
1.ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นผู้ยินดีในที่สงัด
2.การประกอบสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ประกอบ อสุภนิมิต
3.การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
4.การติดต่อกับมาตุคามเป็นปฏิปักษ์ ต่อพรหมจรรย์
5.เสียงเป็นปฏิปักษ์ ต่อปฐมฌาน
6.วิตกวิจารเป็นปฏิปักษ์ ต่อทุติยฌาน
7.ปีติเป็นปฏิปักษ์ ต่อตติยฌาน
8.ลมอัสสาสปัสสาสะเป็นปฏิปักษ์ ต่อจตุตถฌาน
9.สัญญาและเวทนาเป็นปฏิปักษ์ ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
10.ราคะเป็นปฏิปักษ์ โทสะเป็นปฏิปักษ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์อยู่เถิดดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์ จงเป็นผู้หมดปฏิปักษ์อยู่เถิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์ พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่มีปฏิปักษ์ เป็นผู้หมดปฏิปักษ์ ฯ
ฉบับหลวง ๒๔/๑๑๙-๑๒๐/๗๒

.............................................................................

30
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๕๑

อมนาปสูตร
(คุณสมบัติของสตรี ไม่เป็นชอบใจ และเป็นที่ชอบใจของบุรุษ)


(สตรี ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ)
มาตุคาม (สตรี) ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่ ชอบใจ ของบุรุษโดยส่วนเดียว
องค์ ๕ เป็นไฉน คือ
   รูปไม่สวย ๑
   ไม่มีโภคสมบัติ ๑
   ไม่มีมารยาท ๑
   เกียจคร้าน ๑
   ไม่ได้บุตรเพื่อเขา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วย องค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจ ของบุรุษโดยส่วนเดียว

(สตรี เป็นที่ชอบใจของบุรุษ)
มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุรุษ โดยส่วนเดียว
องค์ ๕ เป็นไฉน คือ
   มีรูปสวย ๑
   มีโภคสมบัติ ๑
   มีมารยาท ๑
   ขยันไม่เกียจคร้าน ๑
   ได้บุตรเพื่อเขา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แลย่อมเป็นที่ชอบใจ ของ บุรุษโดยส่วนเดียว

............................................................................
31

มนาปสูตร
(คุณสมบัติของบุรุษ เป็นที่ไม่ชอบใจ และเป็นที่ชอบใจของสตรี)

(บุรุษ ไม่เป็นที่ชอบใจของสตรี)

บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของ มาตุคาม โดยส่วนเดียว
องค์ ๕ เป็นไฉน คือ
   รูปไม่สวย ๑
   ไม่มีโภคสมบัติ ๑ 
   ไม่มีมารยาท ๑
   เกียจคร้าน ๑
   ไม่ได้บุตรเพื่อเขา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แลย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของ มาตุคามโดยส่วนเดียว ฯ

(บุรุษ เป็นที่ชอบใจของสตรี)

บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่ชอบใจของมาตุคาม โดยส่วนเดียว
องค์ ๕ เป็นไฉน
คือ
มีรูปสวย ๑
มีโภคสมบัติ ๑
มีมารยาท ๑
ขยันไม่เกียจคร้าน ๑
ได้บุตรเพื่อเขา ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ย่อมเป็นที่ชอบใจของ มาตุคามโดยส่วนเดียว ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘

............................................................................

32

อาเวณิกสูตร
(ทุกข์ของสตรี)

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์แผนกหนึ่งของมาตุคาม ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ ๕ อย่างนี้ ความทุกข์ ๕ อย่างเป็นไฉน คือ มาตุคามในโลกนี้

๑. เมื่อยังกำลังสาวไปสู่สกุลผัว เว้นจากญาติ นี้เป็นความทุกข์แผนกหนึ่ง ที่ตน จะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ

๒. อีกประการหนึ่ง มาตุคามมีระดู นี้เป็นความทุกข์แผนกหนึ่งของ ที่ตนจะต้อง เสวย เว้นจากบุรุษ

๓. อีกประการหนึ่ง มาตุคามมีครรภ์ นี้เป็นความทุกข์แผนกหนึ่งของ มาตุคาม ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ

๔. อีกประการหนึ่ง มาตุคามคลอดบุตร นี้เป็นความทุกข์แผนกหนึ่ง ของมาตุคาม ที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ

๕. อีกประการหนึ่ง มาตุคามเข้าถึงความเป็นหญิงบำเรอของบุรุษ นี้เป็นความ ทุกข์แผนกหนึ่ง ของมาตุคามที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความทุกข์แผนกหนึ่ง ของมาตุคามที่ตนจะต้องเสวย เว้นจากบุรุษ ๕ อย่าง นี้แล ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘

...........................................................................
33

มาตุคามสูตร

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการโดยมากเมื่อ แตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
มาตุคามในโลกนี้
  เวลาเช้า มีใจอันมลทิน คือความตระหนี่ กลุ้มรุมแล้ว อยู่ครองเรือน
  เวลาเที่ยง มีใจอันความริษยา กลุ้มรุมแล้ว อยู่ครองเรือน
  เวลาเย็น มีใจอันกามราคะ กลุ้มรุมแล้ว อยู่ครองเรือน

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล โดยมากเมื่อแตกกาย ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘

...........................................................................
34

การก้าวลงสู่ครรก์ ๔ อย่าง

สัตว์บางชนิดในโลกนี้

1.ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

2. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดานี้

3. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

4. รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา

(ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๗๕ - ๑๙๔ หมวด ๔ ธรรมมีประเภทละ ๔ ๆ)

.............................................................................
35

ชอบสบตาหญิง
ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์

สมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่ เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดี การลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ทั้งไม่ยินดี ในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่าเขายังชอบสบตาด้วยตากับมาตุคามเขาปลาบปลื้มยินดี ด้วยการทำ เช่นนั้นจาก มาตุคาม

นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์

เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ยังประกอบ ด้วยการเกี่ยวพัน ด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความ ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความ ทุกข์ได้
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์)

...........................................................................

36
ชอบฟังเสียงหญิง
(ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)

อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดี การลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดี ในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ทั้งไม่ยินดี ในการสบตา ด้วยตากับมาตุคามก็จริงแล แต่ว่าเขายังชอบ ฟังเสียงของมาตุคาม ที่หัวเราะอยู่ก็ดีพูดจาก็ดีขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอก ฝาก็ตาม นอกกำแพงก็ตาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการทำเช่นนั้น จาก มาตุคาม

นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์

เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ยังประกอบ ด้วยการเกี่ยวพัน ด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความ ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความ ทุกข์ได้
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์)

...........................................................................
37

ชอบระลึกถึงความหลังเกี่ยวกับหญิง
(ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)

อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้เล่นหัวสัพยอก กับด้วย มาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตา ด้วยตากับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีในการฟังเสียงของ มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่าเขาชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่าที่เคยหัวเราะ เล้าโลม เล่นหัวกับด้วยมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดี ด้วยการทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.

นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์

เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ยังประกอบ ด้วยการเกี่ยวพัน ด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ
ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความ ทุกข์ได้
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์)


.............................................................................
38

ชอบดูผู้อื่นบริโภคกาม
(ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์)

อีกอย่างหนึ่ง มีสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ปฏิญาณตัวว่าเป็นพรหมจารี โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนธรรมกับด้วยมาตุคาม ไม่ยินดีการลูบทา การขัดสีการอาบ การนวดฟั้น ที่ได้รับจากมาตุคาม ไม่ยินดีในการพูดจาซิกซี้ เล่นหัวสัพยอกกับด้วย มาตุคาม ไม่ยินดีในการสบตา ด้วยตากับมาตุคาม ไม่ยินดีในการฟังเสียงของ มาตุคาม ทั้งไม่ชอบตามระลึก ถึงเรื่องเก่าที่เคยหัวเราะเล้าโลมเล่นหัวกับด้วย มาตุคาม ก็จริงแล แต่ว่า เขาเพียงแต่เห็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีผู้อิ่มเอิบ เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ เขาก็ปลาบปลื้มยินดี ด้วยการได้เห็นการกระทำเช่นนั้น.

นี่แลคือความขาด ความทะลุความด่าง ความพร้อยของพรหมจรรย์

เรากล่าวว่า ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ยังประกอบ ด้วยการเกี่ยวพัน ด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความ ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความ ทุกข์ได้
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์)

............................................................................

39
อนุสัย ๓ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
(เวทนาเป็นทางมาแห่งอนุสัย)

ราคานุสัย
เมื่อ สุขเวทนา ถูกต้องแล้ว
ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่
อนุสัยคือ ราคะ
ย่อมนอนเนื่องอยู่ในสันดานของบุคคลนั้น

ปฏิฆานุสัย
เมื่อ ทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว
ย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจคร่ำครวญ ตีอก ร่ำไห้ ถึงความหลงใหลอยู่
อนุสัยคือ ปฏิฆะ
ย่อมนอนเนื่องอยู่ในสันดานของบุคคลนั้น

อวิชชานุสัย
เมื่อ เวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุข ถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง
ซึ่งเหตุให้เกิด เวทนานั้นด้วย
ซึ่งความดับแห่งเวทนานั้นด้วย
ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้น ด้วย
ซึ่งอาทีนพ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย
ซึ่งนิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้น) ของเวทนานั้นด้วย
อนุสัยคือ อวิชชา
ย่อมนอนเนื่องอยู่ในสันดานของบุคคลนั้น

ภิกษุ ท. ! บุคคลนั้นหนอ
ยังละ อนุสัย คือราคะ ในเพราะ สุขเวทนา ไม่ได้
ยังบรรเทา อนุสัย คือปฏิฆะ ในเพราะ ทุกขเวทนา ไม่ได้
ยังถอน อนุสัย คืออวิชชา ในเพราะ อทุกขมสุขเวทนา ไม่ได้
ยังละ อวิชชาไม่ได้ และ ยังทำวิชชาให้เกิดขึ้น ไม่ได้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ดังนี้
ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.
- อุปริ. ม. ๑๔/๕๑๖/๘๒๒.

.............................................................................

40|
กรรมเก่า กรรมใหม่

กรรมเก่า อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นกรรมเก่าเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งได้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยทำให้เกิด ความรู้สึกขึ้น เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้

กรรมใหม่  อันได้แก่ ผัสสะ
เป็นเหตุเกิดของกรรมใหม่ การประจวบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้เรียกว่า ผัสสะ เช่นตา ไป เห็น รูป หากจักขุวิญญาณ(เข้าไปตั้งอาศัย) เข้าไป เกลือกกลั้ว อยู่ในรูป อันเป็นวิสัย ที่จะรู้ได้ด้วยตาแล้ว ผัสสะทางตา ย่อมถึงการเกิดขึ้น

(มีกรณีที่ ตา มอง รูป แต่ วิญญาณ( จิต หรือ มโน) ไม่ได้เข้าไปอยู่ในคลองแห่งจักขุ
ผัสสะย่อมไม่เกิด การหมายรู้ทางตาไม่มี (ขาดจักขุวิญญาณ) จึงไม่ถึงการประชุม พร้อมด้วยองค์ ๓ )

ผัสสะ เป็นแดนเกิดของกรรม
เหตุเป็นแดนเกิดของกรรม คือ ผัสสะ และความดับแห่งกรรม คือ การดับแห่งผัสสะ
เพราะมีผัสสะ จึงเกิดเวทนา
เพราะมีเวทนา จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหา จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน จึงมีภพ (กรรม)
เพราะมีภพ ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมี

กรรม คือภพ

กรรม เปรียบเหมือนผืนนา วิญญาณเปรียบเหมือนเมล็ดพืชพระศาสดาทรงอุปมา
เมล็ดพืช เปรียบเหมือน วิญญาณ
ผืนนา เปรียบเหมือน ภพ
น้ำ เปรียบเหมือน นันทิ และ ราคะ

อีกอุปมาหนึ่ง
  เมล็ดพืช เปรียบเหมือน วิญญาณ
  เนื้อนา เปรียบเหมือน กรรม
  ยางในเมล็ดพืช เปรียบเหมือน ตัณหา

วิญญาณ อาศัยรูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่เข้าไป ตั้งอาศัย มีนันทิ(ความเพลิน) เป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้

..........................................................................

41
มาตุคามเป็นอันตราย แม้แต่พระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว

ผู้ชะล่าใจ

ภิกษุ ท. ! ภิกษุที่ประกอบด้วยเหตุห้าอย่าง ย่อมเป็นผู้ทำให้เกิดการรังเกียจ กินแหนงแคลงใจ แก่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน ว่า คงจะเป็น ภิกษุลามก ถึงแม้ว่าผู้นั้น จะเป็นผู้มีธรรมอันไม่กลับกำเริบ (คือเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว) ก็ตาม. เหตุห้าอย่าง อะไรกันเล่า ?
เหตุห้าอย่างคือ
(๑) ไปมาหาสู่สำนักหญิงแพศยาเนือง ๆ
(๒) ไปมาหาสู่สำนักหญิงหม้ายเนือง ๆ
(๓) ไปมาหาสู่สำนักสาวแก่เนือง ๆ
(๔) ไปมาหาสู่สำนักคนถูกตอนแล้ว๒เนืองๆ
(๕) ไปมาหาสู่สำนักภิกษุณีเนือง ๆ

ภิกษุ ท. ! ภิกษุที่ประกอบด้วยเหตุห้าอย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้ทำให้เกิดการรังเกียจ กินแหนงแคลงใจ แก่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันว่าคงจะเป็นภิกษุลามก ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้มีธรรมอันไม่กลับกำเริบ (คือเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว) ก็ตาม.

๑. บาลี พระพุทธภาษิต ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๕๔/๑๑๑, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


............................................................................

42 

ธรรมวินัย​จาก​พระ​โอษฐ์​

"ความ​ยินดี​ที่​เป็นไป​เพื่อ​สิ้น​อา​สวะ"

ภิกษุ​ทั้งหลาย​ ¡ ภิกษุ​ประกอบ​ด้วย​ธรรม​ ๖​ ประการ ​ย่อ​มเป็น​ผู้​มาก​ไปด้ว​ยสุข ​และ ​โสมนัส​ใน​ทิ​ฏฐ​ธรรม​เทียว. และ​การ​กำเนิด​ของเธอ​นั้น​ จัก​เป็น​การ​ปรารภ​เพื่อ​ความ ​สิ้น​ไป​แห่ง​อาสวะ​ด้วย.

ธรรม​ ๖​ ประการ​ เหล่า​ไหน​เล่า​ ?
ภิกษุ​ทั้งหลาย​ ¡ ธรรม​หก​ประการ​คือ​ ภิกษุ​ใน​กรณี​นี้
เป็น​ ธรรมาราโม​ (มีธรรม​เป็น​ที่​มายินดี)​
เป็น​ ภาวนาราโม​ (มี​การเจริญ​ภาวนา​เป็น​ที่มายินดี)​
เป็น​ ปหานาราโม​ (มีการละกิเลส​เป็น​ที่มายินดี)​
เป็น​ ปวิเวการาโม​ (มีความ​สงัดจากโยคธรรม​เป็น​ที่มายินดี)​
เป็น​ อัพ์ยาปัชฌาราโม​ (มีธรรมอันไม่เบียดเบียน​เป็น​ที่มายินดี)​
เป็น​ นิปปปัญจาราโม​ (มีธรรม​อันไม่ทำความเนิ่นช้าเป็น​ที่มายินดี)​

ภิกษุ​ทั้งหลาย​ ¡ ภิกษุ​ประกอบ​ด้วย​ธรรม​ ๖​ ประการ เหล่านี้​แล​ ย่อม​เป็น​ผู้​มาก​ไปด้ว​ย สุข​ และ​โสมนัส​ใน ทิ​ฏฐ​ธรรม​เทียว​ และ​การ​กำเนิด​ของ​ เธอ​นั้น​ จัก​เป็น​การ​ปรารภ​ เพื่อ​ความ​สิ้น​ไป​แห่ง​อาสวะ​ด้วย.

...........................................................................

43
ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๑๔ [๕๘๙]

ตาลปุตตสูตร
(พูดคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง คติ คือนรก - กำเนิดเดรัจฉาน)


           สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาป สถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่า ตาลบุตร เข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของ นักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และ ปาจารย์ก่อนๆกล่าวว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้างในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถาน มหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้ร่าเริง

ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัส อย่างไร  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย ฯ

             แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓

ดูกรนายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย แต่เราจัก พยากรณ์ให้ท่าน

อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักเต้นรำคนใด ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริงด้วย คำจริง บ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้น เมื่อแตก กาย ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชื่อปหาสะ ความเห็นของเขา นั้น เป็นความเห็นผิด

ดูกรนายคามณี ก็เราย่อมกล่าวคติสองอย่างคือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พ่อบ้านนักเต้นรำ นามว่า ตาลบุตร ร้องไห้สะอื้น น้ำตาไหล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนายคามณี เราได้ห้าม ท่านแล้ว มิใช่หรือว่า อย่าเลย นายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด อย่าถามข้อนี้กะเราเลย

คามณี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่พระผู้มีพระภาค ตรัส อย่างนี้กะข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักเต้นรำผู้เป็นอาจารย์ และ ปาจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลง สิ้นกาลนาน


............................................................................
44

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๙๑

ว่าด้วย การเป็นทาสตัณหา
ผู้เห็นแก่อามิส


ภิกษุ ท. ภิกษุบริษัทมีสองชนิด. สองชนิดอะไรกันเล่า?
สองชนิดคือ
ภิกษุบริษัทที่ หนักในอามิส แต่ไม่หนักในพระสัทธรรม หนึ่ง
ภิกษุ บริษัทที่หนักในพระสัทธรรม แต่ไม่หนักในอามิส หนึ่ง

ภิกษุ ท. ภิกษุบริษัทที่หนักในอามิส แต่ไม่หนักในพระสัทธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุ ท. ในกรณีนี้ ภิกษุเหล่าใดกล่าวยกยอกันเองต่อหน้าคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนว่า
(หนักในอามิส แต่ไม่หนักในพระสัทธรรม)
ภิกษุรูปโน้น เป็นอริยบุคคล ชนิด อุภโตภาควิมุตต์
รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด ปัญญาวิมุตต์

รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด กายสักขี

รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด ทิฏฐิปปัตตะ

รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด สัทธาวิมุตต์

รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด ธัมมานุสารี

รูปโน้น เป็นอริยบุคคลชนิด สัทธานุสารี

รูปโน้น มีศีลมีการเป็นอยู่งดงาม และ
รูปโน้น ทุศีลมีการเป็นอยู่เลวทราม


ดังนี้เป็นต้น.

ภิกษุเหล่านั้น ย่อมได้ลาภ เพราะการกล่าวยกยอกันนั้นเป็นเหตุ
ครั้นได้ลาภแล้ว ภิกษุพวกนั้น ก็พากันติดอกติดใจในรสแห่งลาภ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคลาภ นั้นอยู่

ภิกษุ ท. ! ภิกษุบริษัทอย่างนี้แล เราเรียกว่า บริษัทที่หนักในอามิส แต่ไม่หนักในพระสัทธรรม.
. บาลี พระพุทธภาษิต ทุก. อํ. ๒๐/๙๓/๒๙๓.
๒. อุภโตภาควิมุตต์ ผู้หลุดพ้นโดยส่วนสอง คือผู้ได้วิโมกข์ทั้งแปดด้วย และได้ โลกุตตรผล ในชั้นสิ้นอาสวะด้วย
๓. ปัญญาวิมุตต์ ผู้สิ้นอาสวะด้วยอำนาจปัญญาเห็นอนัตตาโดยตรง

๔. กายสักขี ผู้มีกายเสวยสุขด้วยนามกายมาแล้วเป็นเครื่องประจักษ์ คือเสขบุคคล ๗ ผู้ชิมฌานสุข มาแล้ว จึงเห็นทุกข์และบรรลุมรรคผลในขั้นของตนๆ

๕. ทิฏฐิปปัตตะ ผู้บรรลุมรรคผลด้วยอำนาจพิจารณา เห็นอนัตตาในสังขารทั้งหลาย ซึ่งได้แก่อริยบุคคลนับตั้งแต่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลไปจนถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค แต่พอได้บรรลุอรหัตตผลก็เป็นปัญญาวิมุตต์ไป

๖. สัทธาวิมุตต์ ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธาหรือมีศรัทธาออกหน้า ซึ่งได้แก่ผู้บรรลุมรรคผล ๗ ในเบื้องปลาย ด้วยอาศัยอำนาจศรัทธาที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาเห็นอนิจจัง

๗. ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งธรรม ซึ่งได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ด้วยอำนาจพิจารณา เห็นอนัตตาในสังขารทั้งหลาย แต่พอได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็เป็น ทิฏฐิปปัตตะไป

๘. สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งศรัทธา ซึ่งได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ด้วยอำนาจพิจารณา เห็นอนิจจัง ในสังขารทั้งหลาย แต่พอได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็เป็นสัทธาวิมุตต์ไป

............................................................................
45

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๑๒

กุลสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง
(ไม่เข้าไป เข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง)
องค์ ๙ ประการเป็นไฉนคือ
ไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ ๑
ไม่ไหว้ด้วยความพอใจ ๑
ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ ๑
ปิดบังของที่มีอยู่ ๑
ของมีมากให้น้อย ๑
มีของประณีตก็ให้ของเลว ๑
ให้ด้วยความไม่เคารพ ไม่ให้ด้วยความเคารพ ๑
ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๑
ไม่ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วย องค์ ๙ ประการนี้แล ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ไม่ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วก็ไม่ควรนั่ง ฯ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ ภิกษุยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วควรนั่ง
(ควรเข้าไป เข้าไปแล้วก็ควรนั่ง)
องค์ ๙ ประการเป็นไฉน คือ
ต้อนรับด้วยความพอใจ ๑
ไหว้ด้วยความพอใจ ๑
ให้อาสนะด้วยความพอใจ ๑
ไม่ปิดบังของที่มีอยู่ ๑
ของมีมากก็ให้มาก ๑
มีของประณีตก็ให้ของประณีต ๑
ให้ด้วยความเคารพ ไม่ให้ด้วยไม่เคารพ ๑
นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ๑
ยินดีภาษิตของภิกษุนั้น ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ ประการนี้แล ภิกษุ ยังไม่เข้าไปก็ควรเข้าไป หรือเข้าไปแล้วควรนั่ง ฯ

............................................................................

46

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒

เรื่องพ้นจากบ่วง

            [๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่ เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็น ของมนุษย์ พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพ และมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทาง เดียวกันสองรูป 

        จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์

        สัตว์ทั้งหลายจำพวก ที่มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.
(พระผู้มีพระภาคพ้นแล้วจากบ่วงมาร คือกามคุณ ๕ ทั้งที่เป็นกามของเทวดา และกามมนุษย์ จึงให้ภิกษุจารึกไป เพื่อแสดงธรรมแก่สัตว์ผู้ที่ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม)


..........................................................................

47
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒

เรื่องมาร
(สิ้นแล้วซึ่งกามคุณ๕)

            [๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีใจบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูล พระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาว่าท่านเป็นผู้อันบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็น ของมนุษย์ ผูกพันไว้แล้ว ท่านเป็นผู้อันเครื่องผูกใหญ่รัดรึงแล้ว แน่ะสมณะ ท่านจัก ไม่พ้นเรา.

          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็น ของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกใหญ่ 

         ดูกรมาร ท่านถูกเรากำจัดเสียแล้ว.

        
มารกราบทูลว่า บ่วงนี้เที่ยวไปได้ในอากาศเป็นของมีในจิต สัญจรอยู่ 
เราจักผูกรัดท่าน ด้วยบ่วงนั้น แน่ะสมณะ ท่านจักไม่พ้นเรา.


        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้ คือ  รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่รื่นรมย์ใจ 

         ดูกรมาร ท่านถูกเรากำจัดเสียแล้ว.

        ครั้งนั้น มารผู้มีใจบาปรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา
  ดังนี้แล้ว มีทุกข์ เสียใจ หายไปในที่นั้นเอง.

(ความพอใจในรูป เสียง กลิน รส สัมผัส นั่นแหละคือมาร ก็คือกามคุณ ๕ )

..........................................................................

48

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๒๖
(1)เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิด ของภิกษุอรหันต์ขณะจำวัด
(เรื่องพระอรหันต์เมืองภัททิยะจำวัดหลับ)

          [๖๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ในที่พักกลางวัน ในป่าชาติยาวัน แขวงเมืองภัททิยะ จำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของภิกษุนั้น ถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีผู้หนึ่งพบเข้าแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์ แล้ว หลีกไป ภิกษุเห็นองค์กำเนิด เปรอะเปื้อน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ กำหนัด ๑ ปวดอุจจาระ ๑ ปวดปัสสาวะ ๑ ถูกลมรำเพย ๑ ถูกบุ้งขน ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยอาการ๕ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดของภิกษุนั้น พึงเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยความกำหนัดใด ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ
(ภิกษุผู้อรหันต์ สิ้นความกำหนัดในกามแล้ว)

.........................................................................

49

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๒๗
(2) เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิดของภิกษุรูปหนึ่ง ขณะจำวัด
(เรื่องภิกษุเมืองสาวัตถี ๔ เรื่อง)

          [๖๘] ๑. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ในที่พักกลางวันในป่าอันธวัน แขวงเมืองสาวัตถี จำวัดหลับอยู่ สตรีเลี้ยงโค คนหนึ่งพบเข้า จึงนั่งคร่อม องค์กำเนิด ภิกษุนั้นยินดีกิริยาที่เข้าไป ยินดีกิริยาที่เข้าไปถึงที่แล้ว ยินดีกิริยาที่ หยุดอยู่ ยินดีกิริยาที่ถอนออก แล้วมีความรังเกียจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติ สิกขาบท ไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอต้องอาบัติ ปาราชิกแล้ว
(ภิกษุรูปนั้น ยังพอใจในกามคุณ ยังไม่บรรลุเป็นอรหันต์)


(พระสูตรนี้มี ๔ เรื่อง เป็นสตรีเลี้ยงโค สตรีเลี้ยงแพะ สตรีหาฟืน สตรีขนโคมัย แต่สุดท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นอาบัติปาราชิกเหมือนกันหมด)

.........................................................................

50

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๒๘
(3)
เรื่องสตรีนั่งคร่อมองค์กำเนิดของภิกษุรูปหนึ่ง ขณะจำวัด

(เรื่องภิกษุชาวมัลละเมืองเวสาลี ๓ เรื่อง)

          [๖๙] ๑. ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในที่พักกลางวัน ในป่ามหาวัน แขวงเมือง เวสาลี จำวัดหลับอยู่ สตรีคนหนึ่งพบเข้า จึงนั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์ แล้วยืนหัวเราะอยู่ใกล้ๆ ภิกษุนั้นตื่นขึ้นแล้วได้ถาม สตรีนั้นว่า นี่เป็นการกระทำของเธอหรือ?

สตรีนั้นบอกว่า เจ้าค่ะ เป็นการกระทำของดิฉัน ภิกษุนั้นมีความรังเกียจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสถามว่า

ดูกรภิกษุ เธอรู้สึกตัวหรือ?

ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้สึกตัว พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูกรภิกษุ ภิกษุผู้ไม่รู้สึกตัว ไม่ต้องอาบัติ