เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  พรหมชาลสูตร - สุปปิยปริพาชก กับพรหมทัตตมานพ (กล่าวติ และกล่าวชมตถาคต) 618
 
  (ย่อ)
พรหมชาลสูตร

สุปปิยปริพาชก กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย
แต่ลูกศิษย์ของสุปปิยปริพาชก กลับกล่าวชมพระพุทธเจ้า

พระผู้มีพระภาคตรัสกับหมู่สงฆ์ว่า
   -
แม้พวกเธอจะได้ยินใครชมพระศาสดา ก็อย่าดีใจ อันตรายจะพึงมีแก่เธอ เพราะเหตุนั้น
   -
แม้ใครจะกล่าวติพระศาสดา ก็อย่าขุ่นเคืองโทมนัสน้อยใจหรืออาฆาต อันตรายจะจะพึงมีเช่นกัน

ถ้าภิกษุจะกล่าวชมตถาคต พึงชมว่า
ตถาคต
   -เว้นขาดการฆ่าสัตว์ พูดเท็จ... (จุลศีล)
   -เว้นขาดจากการพรากพืชคาม..(มัชฌิมศีล)
   -เว้นขาดจากติรัจฉานวิชา....(มหาศีล)
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑

๑. พรหมชาลสูตร
เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมานพ



            [๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จดำเนินทางไกล ระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมือง นาฬันทา (นาลันทา) พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป แม้ สุปปิยปริพาชก ก็ได้เดินทางไกล ระหว่าง กรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา พร้อมด้วย พรหมทัตตมาณพ ผู้ อันเตวาสิก*. ได้ยินว่าในระหว่าง ทางนั้น.
*อันเตวาสิก แปลว่าศิษย์ผู้อยู่กับอาจารย์ (คือพรหมทัตตมาณพ เป็นศิษย์ของ สุปปิยปริพาชก)

            สุปปิยปริพาชก กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิก(ลูกศิษย์) ของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิกทั้งสองนั้น มีถ้อยคำเป็น ข้าศึกแก่กัน โดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ
(อาจารย์กล่าวติพระพุทธเจ้า แต่ศิษย์กลับกล่าวชม)

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เสด็จเข้าไปประทับแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทยาน อัมพลัฏฐิกาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แม้สุปปิยปริพาชก ก็ได้เข้าพักแรม ราตรีหนึ่ง ใกล้พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกา กับพรหมทัตตมาณพ ผู้อัน เตวาสิก ได้ยินว่าแม้ ณ ที่นั้น สุปปิยปริพาชก ก็กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์โดย อเนกปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิก ทั้งสองคนนั้น มีถ้อยคำ เป็นข้าศึกแก่กัน(ตรงกันข้ามกัน) โดยตรงฉะนี้

            ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง นั่งประชุมกันอยู่ ณ ศาลานั่งเล่น เกิด สนทนากันว่า ท่านทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาค ผู้รู้เห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงทราบความ ที่หมู่สัตว์มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงสุปปิยปริพาชกผู้นี้ กล่าวติพระพุทธเจ้าติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนก ปริยาย ส่วนพรหมทัตตนาณพ อันเตวาสิกของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ โดยอเนกปริยาย อาจารย์และอันเตวาสิกทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็น ข้าศึกแก่กัน โดยตรงฉะนี้ เดินตามพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น แล้ว เสด็จไปยัง ศาลา นั่งเล่น ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

            ดูกรภิกษุทั้งหลายบัดนี้เธอทั้งหลาย นั่งประชุมสนทนาอะไรกัน และเรื่องอะไรที่ พวกเธอ พูด ค้างไว้ เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า ณ ที่นี้ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้น ณ เวลาใกล้รุ่ง นั่งประชุมกัน อยู่ที่ศาลา นั่งเล่น เกิดสนทนากันขึ้นว่า

            ท่านทั้งหลาย เท่าที่พระผู้มีพระภาคผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ทรงทราบความที่หมู่สัตว์ มีอัธยาศัยต่างๆ กันได้เป็นอย่างดีนี้ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความจริงสุปปิยปริพาชกนี้ กล่าวติพระพุทธเจ้า ติพระธรรม ติพระสงฆ์ โดยอเนก ปริยาย ส่วนพรหมทัตตมาณพ อันเตวาสิก ของสุปปิยปริพาชก กล่าวชมพระพุทธเจ้า ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์โดยอเนกปริยาย อาจารย์ และอันเตวาสิกทั้งสองนี้ มีถ้อยคำเป็น ข้าศึกแก่กัน โดยตรง ฉะนี้เดินตามพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ไปข้างหลังๆ พระพุทธเจ้าข้า เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้าพูดค้างไว้ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจใน คน เหล่านั้น

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเราติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลาย จักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เป็นแน่ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลาย จักขุ่นเคือง หรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำ ที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้ละหรือ?

            ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความ ไม่เป็น จริงว่านั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย และ คำนั้นจะหาไม่ได้ ในเราทั้งหลาย

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์ เธอทั้งหลาย ไม่ควร เบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้นดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าว ชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์

            ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น อันตรายจะ พึง มีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึง กล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ ในคำชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายควรปฏิญาณ ให้เห็น โดย ความ เป็นจริงว่า นั่นจริงแม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้คำนั้นก็มีในเรา ทั้งหลาย และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.

จุลศีล

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั่น มีประมาณ น้อยนักแล ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีล

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคตจะพึงกล่าว ด้วยประการใด ซึ่งมี ประมาณน้อย ยังต่ำนัก
เป็นเพียงศีลนั้น เป็นไฉน?

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า

๑. พระสมณโคดม ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความ ละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่.
๒. พระสมณโคดม ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ต้องการ แต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่.
๓. พระสมณโคดม ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน.

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย  อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า

๔. พระสมณโคดม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก.
๕. พระสมณโคดม ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอก ข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่ โน้น แตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคน ผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำ ที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน.
๖. พระสมณโคดม ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้ รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ.
๗. พระสมณโคดม ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนดประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร.
๘. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม
๙. พระสมณโคดม ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล.
๑๐. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก แก่กุศล.
๑๑. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
๑๒. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่.
๑๓. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทองและเงิน.    
๑๔. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
๑๕. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
๑๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมาร.
๑๗. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
๑๘. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
๑๙. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
๒๐. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
๒๑. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
๒๒. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรม และการรับใช้.
๒๓. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการซื้อการขาย.
๒๔. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด.
๒๕. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง.
๒๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น
และการกรรโชก.
จบจุลศีล.


มัชฌิมศีล

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
๑. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม
เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคาม เห็นปานนี้ คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า.

๒. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้
เช่น อย่างที่สมณ พราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของ ที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่อง ประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิษ.

๓. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เช่น อย่างที่สมณ พราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่น อันเป็น ข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้นการ เล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลการจัดกระบวนทัพ กองทัพ.

๔. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการขวนขวายเล่นพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย เล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท  เห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่งเล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทรายเล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ.

๕. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
เช่นอย่างที่สมณ พราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่งนอนบนที่นั่ง ที่นอน อันสูงใหญ่เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาวเครื่องลาด ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง.

๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย
อันเป็นฐานแห่ง การแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขา ให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบ การประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการ แต่งตัว เห็นปานนี้คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอมนวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่มสวม รองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย.


ติรัจฉานกถา

๗. พระสมณโคดม เว้นขาดจากติรัจฉานกถา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง จำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่อง พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำเรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคมเรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำเรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ.

๘. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้ เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้า เป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ.

๙. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบ ทูตกรรม และการรับใช้เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีและกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอา สิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้.

๑๐. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง
เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ.
จบมัชฌิมศีล.


มหาศีล-ติรัจฉานวิชา

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า

๑. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่ สมณ พราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา  เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต  ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำ บูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า บูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกัน บ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทางเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์.

๒. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาสทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค.

๓. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชา จักไม่ยกออกพระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอก จักยกเข้าประชิดพระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอก จักปราชัยพระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัยเพราะเหตุนี้ๆ.

๔. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทางดาวนักษัตร จักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้องดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตร จักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราส จักมีผล เป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผล เป็นอย่างนี้ดาวนักษัตร เดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผล เป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผล เป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้.

๕. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษา หาได้ง่ายจักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญ หาโรคมิได้ หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์

๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอนดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียงเป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ.

๗. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา
เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลาย เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัดถุ์ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัดรักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชม ตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลนั้นเท่านี้แล

จบมหาศีล.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์