พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๔๗
ฉิคคฬสูตรที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ยาก
เต่าตาบอด กับ แอกไม้ใผ่
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้ มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกัน ทั้งหมด
บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก (ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น
ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก
ลมตะวันตกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก
ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไปทางทิศใต้
ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้
ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อย ๆ ปี มันจะผุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร
จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้น สักครั้งหนึ่ง
จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว
จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในแอกนั้น”
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ใคร ๆ จะพึงได้ความเป็นมนุษย์
ยากที่จะเป็นไปได้ฉันเดียวกัน ที่ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ จะเกิดขึ้นในโลก
ยากที่จะเป็นไปได้ ฉันเดียวกัน ที่ธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองไปทั่วโลก
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! แต่ว่า
บัดนี้ความเป็นมนุษย์ ก็ได้แล้ว
ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะก็บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว
และธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองไปทั่วโลกแล้ว
ภิกษุ ทั้งหลาย. !
เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้พวกเธอพึงกระทำโยคกรรม(ความเพียร) เพื่อให้รู้ว่า
นี้ ทุกข์
นี้ เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ ความดับแห่งทุกข์
นี้ หนทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ดังนี้ เถิด.
(โยคกรรม คือ การกระทำความเพียรอย่างมีระบบ อย่างแข็งขันเต็มที่ ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้สำเร็จ ประโยชน์ตามความมุ่งหมาย เรียกกันง่ายๆว่า โยคะ) |