พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๖ - ๑๓๘
๔. โคมยสูตร
ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕
[๒๔๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้นนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวน เป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยงยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุ รูปอะไรๆที่เที่ยง ยั่งยืนมั่นคง ไม่มีความ แปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย
เวทนาอะไรๆ ... สัญญาอะไรๆ ... สังขารอะไรๆ ... วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย
[๒๔๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนโคมัย(ขี้วัว)เล็กๆ แล้ว ได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ การได้อัตกาพแม้มีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้นไม่มี
ถ้าแม้การได้ อัตภาพมีประมาณเท่านี้ จักได้เป็นสภาพเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวน เป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ
ก็เพราะเหตุที่การได้อัตภาพมีประมาณเท่านี้ เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความ แปรปรวน เป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์ โดยชอบ จึงปรากฏ
(สมัยตถาคตเป็นขัตติยราช มีทรัพย์มากมาย แต่ละอย่างๆ มีถึง ๘๔๐๐๐)
[๒๕๐] ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว เราได้เป็นขัตติยราชได้รับมุรธาภิเษก
เรานั้น มีนคร ๘๔,๐๐๐ นคร มีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุข
มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ มีธรรมปราสาทเป็นประมุข
มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ มีเรือนยอดมหาพยูหะเป็นประมุข
มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ทำด้วยทอง ทำด้วย รูปิยะ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ มีขนยาวเกิน ๔ ลงคุลี ลาดด้วยผ้ากัมพลขาว ทำด้วยขนแกะ มีขนทั้งสองข้าง ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะ มีดอกทึบ มีเครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด มีเพดานแดง มีหมอนข้างสีแดง
มีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วย ข่ายทอง มีพระยาช้างอุโบสถเป็นประมุข
มีม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว มีเครื่องประดับทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีวลาหก อัสสวราช เป็นประมุข
มีรถ ๘๔,๐๐๐ คัน มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีเวชยันตราชรถเป็นประมุข
มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีแก้วมณีเป็นประมุข
มีหญิง ๘๔,๐๐๐ มีนางภัททาเทวีเป็นประมุข
มีกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ เป็นเหล่าอนุยนต์ มีปริณายกรัตน์เป็นประมุข
มีแม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ผูกด้วยเชือกป่าน แขวนกระดิ่งโลหะ
มีผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ มีผ้าทำด้วยเปลือกไม้มีเนื้อละเอียด มีผ้าทำด้วยไหมมีเนื้อ ละเอียด มีผ้าทำด้วยขนสัตว์มีเนื้อละเอียด มีผ้าทำด้วยฝ้ายมีเนื้อละเอียด
มีสำรับ ๘๔,๐๐๐ ซึ่งใส่อาหารที่ชนทั้งหลายเชิญไปโดยเฉพาะในเวลาเย็นใน เวลาเช้า
[๒๕๑] ดูกรภิกษุ ก็บรรดามหานคร ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล นครที่เราครอง ในสมัยนั้นนครเดียวเท่านั้น คือ กุสาวดีราชธานี
บรรดาปราสาท ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล ปราสาทที่เราครองในสมัยนั้น ปราสาทเดียว เท่านั้น คือ ธรรมปราสาท
บรรดาเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล เรือนยอดที่เราครองในสมัยนั้น หลังเดียว เท่านั้น คือ เรือนยอดมหาพยูหะ
บรรดาบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล บัลลังก์ที่เราใช้ในสมัยนั้น บัลลังก์เดียว เท่านั้น คือ บัลลังก์ที่ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ทำด้วยทอง หรือทำด้วย รูปิยะ
บรรดาช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกเหล่านั้นแลช้างที่เราทรงในสมัยนั้นเชือกเดียว เท่านั้น คือ พระยาช้างชื่ออุโบสถ
บรรดาม้า ๘๔,๐๐๐ ตัวเหล่านั้นแล ม้าที่เราทรงสมัยนั้น ๑ ม้าเท่านั้น คือ วลหกอัสสวราช
บรรดารถ ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล รถที่เราทรงในสมัยนั้นคันเดียวเท่านั้น คือ รถเวชยันต์
บรรดาหญิง ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล หญิงที่เรายกย่องในสมัยนั้นคนเดียวเท่านั้น คือ นางกษัตริย์ หรือหญิงที่มีกำเนิดจากกษัตริย์และพราหมณ์
บรรดาผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เหล่านั้นแล ผ้าที่เรานุ่งห่มในสมัยนั้นคู่เดียวเท่านั้น คือ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้มีเนื้อละเอียด ผ้าทำด้วยไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพล มีเนื้อละเอียด หรือผ้าทำด้วยฝ้ายมีเนื้อละเอียด
บรรดาสำรับ ๘๔,๐๐๐ สำหรับซึ่ง ใส่ข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาร ๑ ทะนาน เป็นอย่างยิ่ง และแกงกับอันพอเหมาะ แก่ข้าวนั้น ที่เราบริโภค สำรับเดียวเท่านั้น
ดูกรภิกษุ สังขารทั้งปวงนั้น เป็นอดีต ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ด้วยประการ ดังนี้แล สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืน อย่างนี้แล สังขารทั้งหลาย ทั้งปวงเว้นจากลมอัสสาสะอย่างนี้แล
ก็ลักษณะอันไม่เที่ยงนี้ ควรทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเพียงไรในสังขารทั้งปวง
จบ สูตรที่ ๔
|