เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

     ลัทธินิครนถ์ นาฏบุตร
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ ลัทธินิครนถ์นาฏบุตร ผู้อหังการ
โต้วาทะกับสมณโคดม จนเหงื่อหยด
N101
        ออกไปหน้าหลัก   1 of 7
  สัจจกนิครนถ์ ปริพาชก : นิครนถ์นาถบุตร ลัทธิที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสมัยพุทธกาล เคยโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคจนเหงื่อตก
  (1) สีหะเสนาบดี (สาวกนิครนถ์) ดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
  (2) นิครนถ์นาฏบุตร ค้านท่านสีหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
  (3) พระพุทธดำรัสตอบ การแสดงธรรมเพื่อการทำ และการแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ
  (4) ทรงขยายความ ธรรมเพื่อการไม่ทำ ธรรมเพื่อการทำ และแสดงธรรม เพื่อแนะนำสาวกตามแนวนั้น เป็นการกล่าวถูก
  (5) สีหะทูลถาม เรื่องพระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด
  (6) สีหเสนาบดี (สาวกนิครนถ์) แสดงตนเป็นอุบาสกกับสมณะโคดม
  (7) ทรงตรัส เรื่องการให้ทาน กับ สีหเสนาบดี (สาวกนิครนถ์)
  (8) สีหเสนาบดีได้ธรรมจักษุ หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว
  (9) ชาวบ้านนินทาสีหะ ว่าล้มสัตว์เพื่อนำมาถวาย สมณะโคดมฆ่าเพื่อเจาะจง
  (10) เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์ ท่านสัญชัย เวลัฏฐ บุตรท่านนิครนถ์นาฏบุตร ก็แสดงความปราถนา ต้องการครอบครอง 
  (11) เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู เข้าหาสมณะในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
  (12) นิครนถ์นาฏบุตร ทำกาละแล้วที่นครปาวา
  (13) ทรงปรารภพวกนิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตร ไฉนเล่าพวกท่านจึงถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนาแรงกล้าเผ็ดร้อน?
  (14) ทรงปรารภถึงผู้อยู่สบายดีกว่า
 
 

(1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๗๘

เรื่องสีหะเสนาบดี(สาวกนิครนถ์)
ดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

(ย่อ) สีหะเสนาบดี สาวกของนิครนถ์ ได้ยินเจ้าลิจฉวี สรรเสริญพระผู้มีพระภาค จึงคิดจะไป เข้าเฝ้าฯ แต่ถูกนิครนถ์นาฏบุตร (เจ้าสำนัก) คัดค้าน แต่ไม่เป็นผล ท่านสีหะเดินทางพร้อม ด้วยรถ ๕๐๐ คัน

             [๗๘] ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุม พร้อมกันณ ท้องพระโรง ต่างพากัน ตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย และเวลานั้น สีหะเสนาบดี สาวกของ นิครนถ์ นั่งอยู่ ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง

        เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดย อเนกปริยาย ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น แล้วจึงได้เข้าไปหา นิครนถ์นาฏบุตร ถึงสำนัก

        ครั้นแล้วให้ นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งและได้แจ้ง ความ ประสงค์นี้แก่ นิครนถ์นาฏบุตร ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม


(2)
นิครนถ์นาฏบุตร(หัวหน้า) ค้านท่านสีหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

(อกิริยวาทกถา)

(ย่อ) นิครนถ์นาฏบุตร ค้านท่านสีหบดีที่จะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้ค้านถึง ๓ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผล สีหะเสนาบดี จึงออกจากพระนครเวสาลี พร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค จากนั้นลงจากยานแล้วเดินต่อ จนถึงที่ประทับ...
ทูลถามว่า ตามที่ทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าว (๑)การไม่ทำ (๒)ทรงแสดงธรรม เพื่อการไม่ทำ (๓) และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น.. จริงหรือ

        นิครนถ์นาฏบุตร(เจ้ามหาวีระ หัวหน้าสำนัก) พูดค้านว่า ท่านสีหะ ก็ท่านเป็นคน กล่าวการทำ ไฉนจึง จักไปเฝ้าพระสมณโคดม ผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า เพราะ พระสมณโคดมเป็นผู้ กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำ สาวก ตามแนวนั้น.

        ขณะนั้น ความตระเตรียมในอันจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ของสีหะเสนาบดี ได้เลิกล้มไป.

        แม้ครั้งที่สอง ....

        แม้ครั้งที่สาม เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดย อเนกปริยาย ท่านสีหะเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่สาม ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง

        เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้ จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญ พระพุทธคุณพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดย อเนกปริยาย ก็ พวกนิครนถ์ เราจะบอกหรือไม่บอก จักทำอะไรแก่เรา ผิฉะนั้นเราจะ ไม่บอก พวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น เลยทีเดียว

        จึงเวลาบ่าย สีหะเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลี พร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคไปด้วยยวดยาน ตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลง จากยวดยานเดินเข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สีหะเสนาบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาค ว่า

        พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าวการ ไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น บุคคล จำพวก ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรม เพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้นั้น

       ได้กล่าวตามที่พระผู้มี พระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ด้วยคำอัน ไม่เป็นจริงกล่าวอ้าง เหตุ สมควรแก่เหตุ และ ถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มี เหตุผล จะไม่มาถึงฐานะ ที่วิญญูชน จะพึงติเตียน บ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เลย พระพุทธเจ้าข้า.


(3)
พระพุทธดำรัสตอบ

(ย่อ) ทรงตรัสตอบว่า เป็นจริง ดังนี้
เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า (ตถาคต) แสดงธรรมเพื่อการทำ และการไม่ทำ พร้อมแนะนำสาวก ตามแนวนั้น ชื่อว่ากล่าวถูก…คือ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความกำจัด แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ชื่อว่ากล่าวถูก


[๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณะโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวก ตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม กล่าวการทำแสดง ธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวก ตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรม เพื่อความกำจัด และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        มีอยู่จริง สีหะ เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        ดูกรสีหะ ก็เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรม เพื่อการไม่ทำ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะเพราะเรากล่าว การไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการ ไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลาย อย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม กล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวก ตามแนว นั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก


(4)
(ทรงขยายความ ธรรมเพื่อการไม่ทำ ธรรมเพื่อการทำ และแสดงธรรม เพื่อแนะนำสาวกตามแนวนั้น เป็นการกล่าวถูก)

(ย่อ) จากนั้นทรงขยายความ ถึงธรรมที่กล่าวถูกว่าเป็นอย่างไร
- การทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าว นี้เป็นการทำสิ่งที่เป็นอกุศล
- เราแสดงธรรมเพื่อความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ ที่เป็นบาปอกุศล
- เราแสดงธรรมเพื่อความกำจัด และ แนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำแสดงธรรม เพื่อการทำ และแนะนำสาวก ตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าว การทำสิ่งที่เป็นอกุศลหลายอย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าว การทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าว ความขาดสูญแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลาย ย่างนี้แล เหตุที่เขากล่าวหา เราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญแสดงธรรม เพื่อความ ขาดสูญ และแนะนำ สาวก ตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรม เพื่อความรังเกียจ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึง พร้อมแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แลเหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณ โคดม ช่างรังเกียจแสดงธรรมเพื่อความ รังเกียจ และแนะนำสาวก ตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรม เพื่อความกำจัด และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อ กำจัด สถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่าพระสมณ โคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

       ดูกรสีหะเพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมควรเผาผลาญธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ อันผู้ใดละ ได้แล้ว ตัดรากขาดแล้วทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีใน ภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา เรากล่าว ผู้นั้นว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ

        ดูกรสีหะ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้วตัดราก ขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็น ธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม ช่างเผาผลาญ แสดงธรรม เพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก.


(5)
(สีหะทูลถามต่อ เรื่อง พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดเกิด)

(ย่อ) การเกิดในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิด อีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิด ในภพใหม่ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิด อีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ผุดเกิด

        ดูกรสีหะ การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้วตัดราก ขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรม เพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก.

        ดูกรสีหะ อนึ่ง เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำ สาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกนั้น เป็นอย่างไร

        ดูกรสีหะ เพราะเราเบาใจ ด้วยธรรมที่ให้เกิดความโล่งใจ อย่างสูงและแสดง ธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดม เป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวก ตามแนว นั้น ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก


(6)
ท่านสีหะเสนาบดี (สาวกนิครนถ์) แสดงตนเป็นอุบาสก

(ย่อ) ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอพระองค์โปรด ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ
จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้า

           [๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านสีหะเสนาบดี ได้กราบทูล คำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า ภาษิต ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ ไพเราะ นัก พระพุทธเจ้าข้าพระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือน บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่อง ประทีปในที่ มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้

        ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่ วันนี้เป็นต้นไป.

        ภ. ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เป็นความดี สำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ.

        สี. พระพุทธเจ้าข้า โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่า คาดหมายไว้ เพราะพระองค์ ตรัส อย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า

        ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญ เสียก่อนแล้ว ทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอความจริง พวกอัญญเดียรถีย์ ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พึงยกธงเที่ยวประกาศทั่วพระนครเวสาลีว่า สีหะ เสนาบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว แต่ส่วนพระองค์สิ มาตรัสอย่างนี้ กะข้าพระพุทธเจ้าว่า

        ดูกรสีหะ เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญ เสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคน มีชื่อเสียงเช่นเธอ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาคพระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สอง ขอพระองค์โปรด ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้า.


(7)
(ทรงตรัส เรื่องการให้ทาน)

(ย่อ) ควรให้ทานแก่เรา(ตถาคต) มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่ศาสดาอื่น
ควรให้ทานแก่สาวกของเรา มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่น

        ภ. นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอ ได้เป็นสถานที่รับรอง พวกนิครนถ์ มา ด้วยเหตุนั้นเธอพึงสำคัญ เห็นบิณฑบาต ว่าเป็นของควรให้ นิครนถ์ เหล่านั้น ผู้เข้าไปถึงแล้ว.

        สี. โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีพอใจ ยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสอย่างนี้ กะข้าพระพุทธเจ้าว่า นานนักแล สีหะ ตระกูลของเธอ ได้เป็นสถานที่รับรอง พวกนิครนถ์ มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญบิณฑบาตว่า เป็นของควรให้ นิครนถ์ เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงแล้ว ดังนี้

        ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระสมณะโคดมรับสั่งอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เรา ผู้เดียว ไม่ควรให้ทานแก่คนพวกอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น เพราะทานที่ให้แก่เราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่คน พวกอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวก ของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก แต่ส่วนพระองค์ ทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้า ในการให้ แม้ในพวกนิครนถ์

        แต่ข้าพระพุทธเจ้า จักรู้กาลในข้อนี้เอง ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สาม ขอพระองค์โปรดทรงจำ ข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า


(8)
สีหเสนาบดีได้ธรรมจักษุ


(ย่อ) ทรงแสดง อนุปุพพิกถา ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของ กาม ทั้งหลาย และ อานิสงส์ในความออกจากกาม... สีหเสนาบดี มีดวงตาเห็นธรรมปราศจาก ธุลี ปราศจากมลทิน รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ..สีหะ ขอถวายภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงรับ

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถาแก่สีหะเสนาบดี คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของ กาม ทั้งหลาย และ อานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ ทรงทราบว่า สีหะเสนาบดี มีจิตคล่อง มีจิตอ่อนมีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใส แล้ว จึงได้ทรงประกาศ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดง ด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

        ดวงตาเห็นธรรมปราศจาก ธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่สีหะเสนาบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับ เป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม เป็นอย่างดี ฉะนั้น.

        ครั้นสีหะเสนาบดีเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัย ได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้ แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี พระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหาร ของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศล และปิติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ

        ครั้นสีหะเสนาบดีทราบอาการ ที่ทรงรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป

       ต่อมาสีหะเสนาบดี ใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า พนาย เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสด ที่เขาขาย แล้วสั่ง ให้ตกแต่งขา ทนียโภชนียาหาร อันประณีตโดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้มหาดเล็กไป กราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้า ข้าภัตตาหารเสร็จแล้ว.

        ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธ ดำเนินไปทางนิเวศน์ ของสีหะเสนาบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่ง เหนือพุทธอาสน์ ที่เขา จัดถวาย พร้อมกับภิกษุสงฆ์.


(9)

ชาวบ้านนินทาสีหะเสนาบดี ว่าล้มสัตว์เพื่อนำมาถวาย สมณะ โคดม เป็นการฆ่าเพื่อเจาะจง

(ย่อ) สีหะเสนาบดีตอบว่า ช่างเถิด คนเหล่านั้นมุ่งติเตียนพระพุทธเจ้า มุ่งติเตียนพระธรรม มุ่งติเตียนพระสงฆ์ มานานแล้ว กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยถ้อยคำอันไม่จริง ส่วนพวกเราไม่ตั้งใจ ปลงสัตว์ จากชีวิต แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย

        ก็โดยสมัยนั้นแล พวกนิครนถ์ เป็นอันมาก พากันประคองแขน คร่ำครวญไป ตามถนนหนทางสี่แยก สามแยก ทั่วทุกสายในพระนครเวสาลีว่า วันนี้ สีหะเสนาบดี ล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณะโคดม พระสมณะโคดม ทรงทราบ อยู่ยังเสวยเนื้อนั้น ซึ่งเขาทำเฉพาะเจาะจงตน

        ขณะนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้า สีหะเสนาบดี ทูลกระซิบว่า ขอเดชะฝ่า พระบาท พึงทราบว่า นิครนถ์ มากมายเหล่านั้น พากันประคองแขนคร่ำครวญ ไปตาม ถนนหนทาง สี่แยกสามแยกทั่วทุกสาย ในพระนครเวสาลีว่า วันนี้สีหะเสนาบดี ล้มสัตว์ของเลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวายพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรง ทราบอยู่ ยังเสวยเนื้อนั้น ซึ่งเขาทำเฉพาะเจาะจงตน

        สีหะเสนาบดีตอบว่า ช่างเถิดเจ้า ท่านเหล่านั้นมุ่งติเตียนพระพุทธเจ้า มุ่งติ เตียนพระธรรม มุ่งติเตียนพระสงฆ์ มานานแล้ว แต่ก็กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค พระองค์ นั้น ด้วยถ้อยคำอันไม่มี เปล่าเท็จ ไม่จริง ยังไม่หนำใจ ส่วนพวกเราไม่ตั้งใจ ปลงสัตว์ จากชีวิต แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย

        ครั้งนั้น สีหะเสนาบดีอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนีย โภชนียาหาร อันประณีต ด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงนำ พระหัตถ์ ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มี พระภาค ทรงชี้แจงให้สีหะเสนาบดี ผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป.

เรื่องสีหะเสนาบดี จบ.


(10)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๐


เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์

(ย่อ) เศรษฐีกรุงราชคฤห์ กลึงบาตรจากปุ่มไม้จันทร์ แขวนไว้ปลายยอดไม้ ประกาศว่า สมณะ หรือพราหณ์ผู้ใดเป็นอรหันต์ ก็จงแสดงฤทธิ์ เหาะขึ้นไปปลดลงมา บาตรก็จะเป็น ของท่าน... ครั้งนั้นเจ้าสำนักหลายแห่งปรารถนาบาตรไม้จันทร์ แต่ไม่มีฤทธิ์ที่จะปลดลงมา ได้ จึงเข้าไปขอท่านเศรษฐีแบบดื้อๆ ในจำนวนนี้ ก็มีนิครนถ์นาฎบุตร รวมอยู่ด้วย แต่สุดท้าย ภารทวาชะ สาวกตถาคต เหาะไปปลดลงมาได้ แต่ถูกพระผู้มีพระภาคตำหนิ ว่าดุจมาตุคาม แสดงของลับ ไม่ควรกระทำ จึงเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติเป็นวินัย ห้ามภิกษุแสดงฤทธิ์

         [๒๙] สมัยต่อมา ปุ่มไม้แก่จันทน์มีราคามาก ได้บังเกิดแก่เศรษฐี    ชาวเมืองราชคฤห์จึงราชคหเศรษฐี ได้คิดว่า ถ้ากระไรเราจะให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้ แก่จันทน์นี้ ส่วนที่กลึงเหลือเราจักเก็บไว้ใช้ และเราจักให้บาตร เป็นทาน หลัง จากนั้น ท่านราชคหเศรษฐีให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้น แล้วใส่สาแหลก  แขวนไว้ที่ปลาย ไม้ไผ่ผูกต่อๆ กันขึ้นไป แล้วกล่าวอย่างนี้ว่าสมณะหรือพราหมณ์ ผู้ใด เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงปลดบาตรที่เรา ให้แล้วไปเถิด ฯ

         [๓๐] ขณะนั้น ปูรณะกัสสปเข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า ท่านคหบดีอาตมา นี้แหละ เป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่ อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่าท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้า เป็นพระอรหันต์และ มีฤทธิ์ ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้า ให้แล้วนั่นแลไปเถิด

         ต่อมา ท่านมักขลิโคสาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ท่านสัญชัย เวลัฏฐ บุตรท่านนิครนถ์นาฏบุตรด้เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี แล้วกล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ขอท่าน จงให้บาตรแก่อาตมา เถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า

        ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ก็จงปลด บาตรที่ข้าพเจ้า ให้แล้วนั่นแลไปเถิด


(11)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๔๕


เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู

(ย่อ) เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในฤดูดอกโกมุทบาน วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำเป็นวันครบ ๔ เดือน พระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ปรารภกับอำมาตย์ว่า วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ... อำมาตย์แต่ละคนก็เสนอชื่อ เจ้าสำนักต่าง ๆ พร้อมพรณนาถึงชื่อเสียงต่างๆ เช่น ท่านปูรณะกัสสป  ท่านมักขลิโคศาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธะกัจจายนะ ท่านสญชัยเวลัฏฐบุตร และ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร แต่สมณะหรือพราหมณ์ที่ถูกเสนอชื่อเหล่านี้ พระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงนิ่งมาตลอด

สุดท้ายหมอชีวกโกมารภัจจ์ เห็นว่าไม่มีใครเสนอบุคคลอื่นแล้ว จึงเสนอชื่อพระสมณะโคดม ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรู รู้สึกพอพระทัย จึงเดินทางด้วยยานเป็นจำนวนมาก เสด็จไปเข้าเฝ้า ในราตรีนั้น

        [๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวันของ หมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนคร ราชคฤห์ พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวัน อุโบสถ ๑๕ ค่ำเป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์ เต็มดวง พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร แวดล้อมด้วยราช อำมาตย์ ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบน

        ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่ม กระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ ราตรีมีดวงเดือน แจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ ราตรีมี ดวงเดือนแจ่ม กระจ่าง น่าชมจริงหนอราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าเบิกบาน จริงหนอ ราตรีมีดวง เดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ วันนี้เราควรจะเข้าไป หาสมณะ หรือพราหมณ์ ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้

        ครั้นท้าวเธอดำรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน ปูรณะกัสสป ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิชน ส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัย มาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา ท่านปูรณะกัสสป นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะ กัสสป พระหฤทัยพึง เลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ผู้นั้น กราบทูลอย่างนี้แล้วท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

        อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านมักขลิ โคศาล ปรากฏว่าเป็น เจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดย ลำดับ เชิญ พระองค์เสด็จเข้าไปหา ท่านมักขลิ โคศาล นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์ เสด็จเข้าไปหาท่านมักขลิ โคศาลพระหฤทัยพึงเลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ ผู้นั้นกราบทูล อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

        อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านอชิต เกสกัมพล ปรากฏว่า เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดีเป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมา โดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านอชิต เกสกัมพล นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านอชิต เกสกัมพลพระหฤทัยพึงเลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

        อำมาตย์อีกคนหนึ่งจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านปกุธะ กัจจายนะ ปรากฏว่า เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะกัจจายนะนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะ กัจจายนะ พระหฤทัยพึงเลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

        อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น คณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดีเป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดย ลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์ เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัยเวลัฏฐบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรง นิ่งอยู่

        อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ปรากฏว่า เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดีเป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดย ลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหา ท่านนิครนถ์นาฏบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส

        เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

             [๙๒] สมัยนั้น หมอชีวก โกมารภัจจ์ นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกลพระเจ้าแผ่นดิน มคธ พระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร. ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสกะหมอชีวก โกมารภัจจ์ ว่าชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า

        หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน ของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ประมาณ ๑๒๕๐ รูป พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ ขจรไปแล้วอย่างนี้ ว่า

        แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก บุรุษ ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมดังนี้ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระฤทัยพึงเลื่อมใส ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสว่า

        ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงสั่งให้เตรียมหัตถียานไว้

        หมอชีวก โกมารภัจจ์ รับสนองพระราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียมช้างพัง ประมาณ ๕๐๐ เชือก และช้าง พระที่นั่ง เสร็จแล้วจึงกราบทูลว่า

        ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าสั่งให้เตรียมหัตถียานพร้อมแล้ว เชิญใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทเสด็จได้พระเจ้าข้า

        ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้พวกสตรีขึ้นช้างพัง ๕๐๐ เชือกๆ ละนาง แล้วจึง ทรงช้างพระที่นั่งมีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพ อย่างยิ่งใหญ่ เสด็จไปสวนอัมพวันของหมอชีวก โกมารภัจจ์....


(12)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ หน้าที่ ๑๕๙

นิครนถ์นาฏบุตร ทำกาละแล้วที่นครปาวา

(ย่อ) หลังจาก นิครนถ์นาฏบุตร เจ้าสำนัก ทำกาละแล้ว เป็นเหตุให้สาวกทะเลาะกัน
ต่างฝ่ายก็บอกว่า เรารู้ทั่วถึงธรรม ท่านรู้ไม่ทั่งถึง เราทำถูก แต่พวกท่านทำผิด ฯลฯ ทำให้แตกเป็นสองพวก ฝ่ายหนึ่งหันมานุ่งขาวห่มขาว อีกฝ่ายหนึ่งหันมาเปลือยกาย (ตามที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน)

ลัทธินิครนถ์นาฏบุตร(ในปัจจุบัน)



             [๒๒๕] ก็โดยสมัยนั้นแล นิครนถ์นาฏบุตร ทำกาละแล้วที่นครปาวา ไม่นานนัก เพราะกาลกิริยา ของ นิครนถ์นาฏบุตร นั้น พวกนิครนถ์ จึงแตกกัน เกิดแยก กัน เป็นสองพวก เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เสียดแทงกัน และกัน ด้วยหอกคือปาก อยู่ว่า

        ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำ ของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็น ประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าว ภายหลังคำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่าน ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้วท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจง แก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้

        เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นไปใน พวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวก ของนาฏบุตร ถึงพวกสาวกของ นิครนถ์นาฏบุตร ที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาว ห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่ายคลายความรัก รู้สึกท้อถอยใน พวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวก ของนาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยอัน นิครนถ์นาฏบุตร กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความ สงบระงับ มิใช่ธรรม ที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัย มีที่พำนักอัน ทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งอาศัย ฯ

        ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ได้เล่ากะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย  นิครนถ์นาฏบุตร ทำกาละแล้ว ที่พระนครปาวาไม่นานนัก เพราะกาลกิริยาของ นิครนถ์ นาฏบุตร นั้น พวกนิครนถ์ จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิด บาดหมางกันเกิด การทะเลาะวิวาทกันขึ้น เสียดแทงกัน และกันด้วยหอก คือปาก อยู่ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ ได้อย่างไร 

        ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูกถ้อยคำของข้าพเจ้า เป็นประโยชน์ ของท่าน ไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควร จะกล่าว ภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิด วาทะ ของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจง แก้ไขเสีย ถ้าสามารถ ดังนี้

        เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้น จะเป็นไปใน พวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวก ของนาฏบุตร ถึงพวกสาวกของ นิครนถ์นาฏบุตร ที่ เป็นคฤหัสถ์ ผู้นุ่งขาว ห่มขาว ก็มีอาการ เบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยใน พวกนิครนถ์ ผู้เป็นสาวก ของนาฏบุตร

        ทั้งนี้เพราะธรรมวินัย อัน นิครนถ์นาฏบุตร กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็น ธรรม ที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรม ที่ท่าน ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนัก อันทำลาย เสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึงอาศัย ฯ

        ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ย่อมเป็นเช่นดังกล่าวมาสำหรับในธรรมวินัย ที่กล่าวไว้ไม่ดีประกาศไว้ ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรม ที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศไว้ ผู้มีอายุทั้งหลาย

        ส่วนธรรมนี้แล อันพระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ ดีแล้ว เป็นธรรม ที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศไว้แล้ว

        พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงยั่งยืน ตั้งอยู่นาน นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความ อนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

        ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ธรรมอะไรเล่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติ ให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น

        การที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงยั่งยืน ตั้งอยู่นาน นั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชน มาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความ อนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


(13)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๒๖

ทรงปรารภพวกนิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตร
(ย่อ)
พระมหานาม
ถามนิครนถ์ ไฉนเล่า พวกท่านจึงถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกข เวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน?
นิครนถ์ตอบว่า .. นิครนถ์นาฏบุตร(ลัทธิ) รู้ธรรมทั้งปวง เห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณ ทัสสนะ หมดทุกส่วนว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะ ปรากฏอยู่ ติดต่อ เสมอไป (นิครนถ์เชื่อว่ากรรมเก่าหมดไป จากการบำเพ็ญตบะ)

        [๒๑๙] ดูกรมหานาม สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พวกนิครนถ์ จำนวนมาก เป็นผู้ถือการ ยืนเป็นวัตรห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน อันเกิดแต่ความพยายาม

        ครั้งนั้นแล เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหา พวกนิครนถ์ ถึงประเทศ กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ได้กล่าว ความข้อนี้กะ พวกนิครนถ์ เหล่านั้นว่า

        ดูกรนิครนถ์ ผู้มีอายุทั้งหลาย ไฉนเล่า พวกท่านจึงถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน?

        ดูกรมหานาม เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกนิครนถ์ เหล่านั้นได้กล่าวกะเรา ดังนี้ว่า

        ดูกรผู้มีอายุ
นิครนถ์นาฏบุตร รู้ธรรมทั้งปวงเห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณ ทัสสนะ หมดทุกส่วนว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดีญาณทัสสนะ ปรากฏอยู่ ติดต่อเสมอไป นิครนถ์นาฏบุตร นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า

        ดูกรนิครนถ์ทั้งหลายผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาอันประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยาก อันลำบากนี้

        ข้อที่ท่านทั้งหลายสำรวมกาย วาจาใจ ในบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทำบาปกรรม ต่อไป ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับ ต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์ จึงมีเพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมีเพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัด ทุกข์ ได้ทั้งหมด

        คำที่ นิครนถ์นาฏบุตร กล่าวแล้วนั้น ชอบใจและควรแก่พวกข้าพเจ้า และ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีใจยินดี ดังนี้


(14)

ทรงปรารภถึงผู้อยู่สบายดีกว่า


            [๒๒๐] ดูกรมหานาม เมื่อ พวกนิครนถ์ กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะ นิครนถ์เหล่านั้นดังนี้ว่า ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลาย ได้มีแล้วในกาลก่อนมิใช่ไม่ได้มีแล้ว?
     นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม ไว้ ในกาลก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้?
     นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม อย่างนี้บ้างๆ?
     นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอัน สลัดทุกข์ได้ทั้งหมด?
     นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.
    
     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรม ในปัจจุบันละหรือ?
     นิ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ตามที่ได้ฟัง พวกท่านไม่รู้ว่า ในปางก่อนเราได้มีมาแล้ว หรือไม่ ไม่รู้ว่าในปางก่อนเราได้ทำบาปกรรมไว้หรือไม่ ทั้งไม่รู้ว่าเราได้ทำบาปกรรม ไว้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่รู้ว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้จำต้องสลัด เมื่อสลัด ทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นอันสลัดไปด้วย ไม่รู้จักการละอกุศลธรรม และการยังกุศลธรรมให้เกิดในปัจจุบัน

     ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งหลาย จักบวชในสำนักของท่าน ก็เฉพาะแต่คนที่มีมรรยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้าย ภายหลังในหมู่มนุษย์.

     นิ. ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะประสพสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุข ได้ด้วย ความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะ พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม.

     พ. เป็นการแน่นอน ที่พวกท่านนิครนถ์ทั้งหลายหุนหัน ไม่ทันพิจารณาจึงพูดว่า ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขด้วยความสุข แต่จะประสพ ความสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้า พิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขยิ่งกว่าท่านโคดม เออก็เราเท่านั้นที่ พวกท่าน ควรซักไซร้ไล่เลียงในเรื่องสุข เรื่องทุกข์นั้นสิว่าใครเล่าหนอ จะอยู่สบายดี กว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง.

     นิ. ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ เป็นการแน่นอนที่พวกข้าพเจ้าหุนหัน ไม่ทัน พิจารณา จึงพูดว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสพความสุขด้วยความสุข แต่จะประสพความสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุข ได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขยิ่งกว่า

     ท่านพระโคดม เอาละ หยุดไว้เพียงเท่านี้ บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจะต้องถามท่านพระ โคดมดูบ้างว่า ใครเล่าหนอ จะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้า แผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง?

      พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องถามพวกท่าน ในเรื่องสุขเรื่อง ทุกข์ นั้นดูบ้าง ท่านเข้าใจอย่างใด ก็พึงแถลงอย่างนั้น ดูกรท่านนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่าน จงเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดำรัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียว อยู่ ๗ คืน ๗ วัน ได้หรือ?
     นิ. ไม่ไหวละท่าน.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้า พิมพิสาร จอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรง พระดำรัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๖ คืน ๖ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ...๒ คืน ๒ วัน ... เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง ได้หรือ?
     นิ. ไม่ไหวละท่าน.

     พ. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ เราแหละสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วน เดียว อยู่เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง สามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ ๒ คืน ๒ วัน... ๓ คืน ๓ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๖ คืน ๖ วัน ... ๗ คืน ๗ วัน

     ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน? เมื่อเป็นเช่นนี้ ใคร จะอยู่ สบายกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือเราเอง?
     นิ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมสิ อยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ.

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าศากยมหานามทรงมีพระทัยชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.




พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์