(1)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๙
๙. ราธสูตร
ว่าด้วยการไม่มี อหังการ มมังการ และมานานุสัย
[๑๔๗] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกล หรือใกล้อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขาร เหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกล หรือใกล้ อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
ดูกรราธะ บุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล จึงไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกาย ที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก ฯลฯ ท่านพระราธะได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.
(2)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๐
ว่าด้วยขันธมาร
[๓๖๖] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณ เท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า มาร?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมีผู้ทำ ให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใด พิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.
เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตาย จึงมีผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็น วิญญาณว่า เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตายเป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใด พิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ.
รา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ให้เบื่อหน่าย.
รา. ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรราธะ ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ให้คลายกำหนัด.
รา. ก็ความคลายกำหนัดเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรราธะ ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ให้หลุดพ้น.
รา. ความหลุดพ้นเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรราธะ ความหลุดพ้นมีประโยชน์เพื่อนิพพาน.
รา. นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?
พ. ดูกรราธะ เธอถามเลยปัญหาไปเสียแล้ว เธอไม่อาจเพื่อถือเอาที่สุดของปัญหาได้.
ดูกรราธะ อันพรหมจรรย์ เป็นคุณชาติหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด อันกุลบุตรย่อมอยู่ประพฤติแล
(3)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๙๑
ว่าด้วยเหตุที่เรียกว่าสัตว์
[๓๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า สัตว์?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ เพราะเหตุที่มี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปแล เป็นผู้ข้องในรูป เป็นผู้เกี่ยวข้อง ในรูปนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า สัตว์.
เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากใน เวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ เป็นผู้ข้องในวิญญาณ เป็นผู้เกี่ยวข้อง ในวิญญาณนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า สัตว์.
ดูกรราธะ เด็กชายหรือเด็กหญิง เล่นอยู่ตามเรือนฝุ่นทั้งหลาย เป็นผู้ยังไม่ ปราศจาก ความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรักไม่ปราศจาก ความกระหาย ไม่ปราศจากความกระวนกระวาย ไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในเรือนฝุ่นเหล่านั้น อยู่เพียงใด ย่อมอาลัย ย่อมอยากเล่น ย่อมหวงแหน ย่อมยึดถือ เรือนฝุ่นทั้งหลาย อยู่เพียงนั้น.
ดูกรราธะ แต่ว่าในกาลใด เด็กชายหรือเด็กหญิงเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความ กระวนกระวาย ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้นแล้ว ในกาลนั้นแล เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น ย่อมรื้อ ย่อมยื้อแย่ง ย่อมกำจัด ย่อมทำเรือนฝุ่น เหล่านั้น ให้เล่นไม่ได้ด้วยมือและเท้า ฉันใด
ดูกรราธะ แม้เธอทั้งหลายก็จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำรูปให้เป็นของเล่น ไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำเวทนา ให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำสัญญาให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัดจงทำสังขารให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไป แห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่งจงกำจัด จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติ เพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ดูกรราธะ เพราะว่าความสิ้นไปแห่ง ตัณหา เป็นนิพพาน.
(4)
ว่าด้วยกิเลสที่นำไปสู่ภพ
[๓๖๘] พระนครสาวัตถี. ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ที่เรียกว่า กิเลสเครื่องนำไปในภพ ในภพ ดังนี้ กิเลสเครื่อง นำไปในภพ เป็นไฉน? ความดับกิเลสเครื่องนำไปในภพเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้ง ที่อยู่ อาศัยแห่งจิต ในรูป.
นี้เรากล่าวว่า กิเลสเครื่องนำไปในภพ เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นธรรม ที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำไปในภพ.
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลินความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิต ในเวทนา ...ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ. นี้เรากล่าวว่า กิเลสเครื่องนำไปในภพ เพราะความดับสนิทแห่ง กิเลส เหล่านั้น เรากล่าวว่า เป็นธรรมเป็นที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำไปในภพ.
(5)
ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้
[๓๖๙] พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เราจักแสดง ปริญเญยยธรรม ธรรมอันบุคคลควรกำหนดรู้ ปริญญาความกำหนดรู้ และปริญญาตาวี บุคคล บุคคล ผู้กำหนดรู้ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ท่านพระราธะ รับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ ปริญเญยยธรรมเป็นไฉน? ดูกรราธะ รูปแลเป็น ปริญเญยยธรรม เวทนาเป็นปริญเญยยธรรม สัญญาเป็นปริญเญยยธรรม สังขารเป็นปริญเญยยธรรม วิญญาณเป็นปริญเญยยธรรม.
ดูกรราธะ ธรรมเหล่านี้เรากล่าวว่า ปริญเญยยธรรม
ดูกรราธะ ปริญญาเป็นไฉน? ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ. นี้เรากล่าวว่าปริญญา.
ดูกรราธะ ปริญญาตาวีบุคคลเป็นไฉน? ผู้ที่เขาพึงเรียกกันว่า พระอรหันต์ คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรราธะ ผู้นี้เรากล่าวว่าปริญญาตาวีบุคคล.
(6)
ว่าด้วยผู้ควรยกย่องและไม่ควรยกย่องว่าเป็นสมณพราหมณ์
[๓๗๐] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป ๑ อุปาทานขันธ์คือเวทนา ๑ อุปาทานขันธ์ คือสัญญา ๑ อุปาทานขันธ์คือสังขาร ๑ อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ ๑
ดูกรราธะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดซึ่งคุณ โทษ และธรรม เครื่องสลัดออก แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริง สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่ได้ รับยกย่องว่า เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่งท่านเหล่านั้นจะทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ แห่งความ เป็นสมณะ หรือประโยชน์ แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ไม่ได้เลย.
[๓๗๑] ดูกรราธะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดซึ่งคุณ โทษ และธรรม เครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ ตามความเป็นจริง สมณะ หรือพราหมณ์ เหล่านั้นแล ย่อมได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และ ได้รับยกย่องว่าเป็น พราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์อนึ่ง ท่านเหล่านั้นย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ และ ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ได้ด้วย.
(7)
ว่าด้วยผู้ควรยกย่องและไม่ควรยกย่องว่าเป็นสมณพราหมณ์
[๓๗๒] พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป ... อุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ.
ดูกรราธะสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และธรรมเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริง สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือว่า ไม่ได้รับยกย่องว่า เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ อนึ่งท่านเหล่านั้นจะทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์แห่งความ เป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ไม่ได้เลย.
ดูกรราธะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และธรรมเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริง สมณะ หรือ พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะ ในหมู่สมณะ และ ได้รับยกย่องว่า เป็นพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้นย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึง อยู่ได้ด้วย.
(8)
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
[๓๗๓] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป ฯลฯ อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ.
ดูกรราธะ ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และธรรม เครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริง. เมื่อนั้น อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่าเป็นโสดาบันผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ เป็นเบื้องหน้า.
(9)
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
[๓๗๔] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์คือรูป ... อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ. ดูกรราธะ ในกาลใดแล ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และธรรมเครื่องสลัดออกแห่ง อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น.
ดูกรราธะ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นอรหันตขีณาสพ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว ผู้หมดสิ้นกิเลสเครื่อง ประกอบสัตว์ไว้ในภพแล้วผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ.
(10)
ว่าด้วยการละฉันทราคะในขันธ์ ๕
[๓๗๕] พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เธอจงสละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในรูปเสีย ด้วยอาการอย่างนี้รูปนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ วิญญาณนั้นจัก เป็นธรรมชาติอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา.
(11)
ว่าด้วยการละฉันทราคะในขันธ์ ๕
[๓๗๖] พระนครสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เธอจงละ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้ง ที่อยู่ ที่อาศัยแห่งจิตในรูปเสีย ด้วยอาการ อย่างนี้ รูปนั้น จักเป็นของอันเธอละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา.
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่นอันเป็นที่ตั้ง ที่อยู่ ที่อาศัยแห่งจิตในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณเสียด้วยอาการอย่างนี้ วิญญาณนั้น จักเป็นธรรมชาติอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไป เป็นธรรมดา.
|