เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
อัคคิเวสนะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ อัคคิเวสนะ
(อัคคิเวสนะเป็นชื่อลัทธิ หรือตระกูลหนึ่ง เช่นเดียวกับ นิครนถ์ หรือสัญชัย)
Ak 101
         ออกไปหน้าหลัก 1 of 5
  ชุด 5 เล่ม จากพระโอษฐ์
  (1) ผู้ตายไม่เสียที ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๓๖๙
  (2) เวทนามีธรรมดาไม่เที่ยง อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๑๗๙
  (3) อาสวะทำหน้าที่อย่างเดียวกับตัณหา อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๓๕๒
  (4) การเห็นกายและเวทนาในระดับแห่งผู้หลุดพ้น อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้าที่ ๙๕๔
  (5) ทิฏฐิซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการวิวาท อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๐๐๒ - ๑๐๐๖
   5.1 ทิฏฐิ "สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา"
   5.2
ทิฏฐิ "สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา"
   5.3 ทิฏฐิ "บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา"
  (6) ทรงอยู่เหนือการครอบงำของเวทนา มาตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้ พุทธประวัติ หน้า ๑๕๗ - ๑๖๒
   6.1 (สุขเวทนา ทุกขเวทนา ไม่อาจครอบงำจิตของ พระศาสดาได้)
   6.2 (การบำเพ็ญทุกรกิริยา ตามแบบของพวกเดียรถีย์ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ )
   6.3 (สุขเวทนาอันเกิดจากการเช้าถึง ฌาน ๑- ๒- ๓ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)
   6.4 (ได้วิชชา ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)
   6.5 (ได้วิชชา ๒ จุตูปปาตญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)
   6.6 (ได้วิชชา ๓ อาสวักขยญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)
  (7) คำสอนที่ทรงสั่งสอนมากที่สุด (รูปไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน...) พุทธประวัติ หน้า ๒๘๗
  (8) สมาธินิมิต ในขณะที่ทรงแสดงธรรม พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๒๔๖

 
 

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๓๖๙

(1)
ผู้ตายไม่เสียที
(ภิกษุที่ยังไม่ได้เป็นขีนาสพ เมื่อทำกาละ ถือว่ายังไม่ใด้รับการฝึก ต่างกับอรหันต์ เมื่อทำกาละลง ถือว่าได้รับการฝึกแล้ว)

อัคคิเวสสนะ ! ถ้าภิกษุเถระ หรือภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุใหม่ ก็ตามที่ยังไม่เป็น ขีณาสพ (พระอรหันต์) แล้ว ทำกาละลงไป ก็ย่อมถึงซึ่งการนับว่า ตายแล้ว ทำกาละแล้ว ทั้งที่ยังฝึกไม่เสร็จ ดุจดั่งช้างแก่ หรือช้างปูนกลาง หรือช้างหนุ่ม ของพระราชาที่ยังฝึกไม่ได้ ตายลง ก็ย่อมถึงซึ่งการนับว่าตายแล้ว ทำกาละแล้ว ทั้งที่ยังฝึกไม่เสร็จ ฉันใดก็ฉันนั้น.

อัคคิเวสสนะ ! ถ้าภิกษุเถระ หรือภิกษุปูนกลาง หรือภิกษุใหม่ ก็ตาม เป็นขีณาสพ (พระอรหันต์) แล้ว ทำกาละลงไป ก็ย่อมถึงซึ่งการนับว่า ตายแล้ว ทำกาละแล้ว อย่างเสร็จการฝึกแล้ว ดุจดั่งช้างแก่ หรือช้างปูนกลาง หรือช้างหนุ่ม ของพระราชา ที่เขาฝึกดีแล้ว ตายลง ก็ถึงซึ่งการนับว่าตายแล้ว ทำกาละแล้ว อย่างเสร็จการฝึกแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้นแล

๑. บาลี พระพุทธภาษิต มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. ๑๐/๑๖๐/๑๒๙, ตรัสแก่ท่านอานนท์.
๒. บาลี พระพุทธภาษิต ทันตภูมิสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๒๗๑-๒/๔๐๓-๔, ตรัสแก่อัคคิเวสสนพราหมณ์ ณ ที่เวฬุวัน.


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๑๗๙

(2)
เวทนามีธรรมดาไม่เที่ยง

อัคคิเวสสนะ ! เวทนามีสามอย่างเหล่านี้. สามอย่างเหล่าไหนเล่า ? สามอย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด เสวยสุขเวทนาอยู่ สมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา และไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้น เสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียว.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด เสวยทุกขเวทนาอยู่ สมัยนั้น ไม่ได้เสวยสุขเวทนา และไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้น เสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา และไม่ได้เสวยทุกขเวทนา สมัยนั้น เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียว.

อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้วอาศัยเหตุ เกิดขึ้นแล้ว มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดามีความจางคลาย ไปเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา.

อัคคิเวสสนะ ! แม้ทุกขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยเหตุ เกิดขึ้นแล้วมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลาย ไป เป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา.

อัคคิเวสสนะ ! แม้ อทุกขมสุขเวทนา เล่า ก็เป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อาศัยเหตุเกิดขึ้นแล้วมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา แล.


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๓๕๒

(3)

อาสวะทำหน้าที่อย่างเดียวกับตัณหา

อัคคิเวสสนะ ! อย่างไรเล่า เรียกว่าเป็นคนหลงใหล ?

อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรามรณะต่อไป เป็นอาสวะ ที่บุคคลใดละไม่ได้ เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนหลงใหล.

อัคคิเวสสนะ ! เพราะ ละอาสวะไม่ได้จึงเป็นคนหลงใหล.

อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป เป็นอาสวะ ที่บุคคลใดละได้แล้ว เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นคนไม่หลงใหล.

อัคคิเวสสนะ ! เพราะ ละอาสวะได้จึงเป็นคนไม่หลงใหล.

อัคคิเวสสนะ ! อาสวะเหล่าใด อันกระทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป อาสวะเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว ทำให้มีรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลไม่มีขั้วยอดแล้ว ถึงความไม่มี ไม่เป็น มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนต้นตาล มีขั้วยอดขาดแล้ว ไม่อาจงอกงามได้อีกต่อไป ฉันใดก็ ฉันนั้น.


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้าที่ ๙๕๔

(4)
การเห็นกายและเวทนาในระดับแห่งผู้หลุดพ้น

อัคคิเวสสนะ ! กายนี้ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตสี่ มีมารดาบิดา เป็นแดนเกิด เจริญขึ้น ด้วยข้าวสุก และขนมสด ทั้งที่มีการขัดสีนวดฟั้นอยู่ก็ยังมีการแตกสลาย กระจัดกระจาย เพราะความไม่เที่ยง นั่นเอง เป็นธรรมดา อันบุคคลควรตามเห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน.

เมื่อบุคคคลนั้น ตามเห็นอยู่ซึ่งกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของ แตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน ความพอใจในกาย ความสิเนหาในกาย ความตกอยู่ในอำนาจของกาย ที่มีอยู่ในกาย เขาย่อมละเสียได้.

อัคคิเวสสนะ ! เวทนาสามอย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยสุขเวทนา สมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุข เวทนา สมัยนั้นคงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยทุกขเวทนา สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุข เวทนา สมัยนั้นคงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น.

อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวย ทุกขเวทนา สมัยนั้นคงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.

อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา เป็นของไม่เที่ยง (อนิจฺจา) เป็นของปรุงแต่ง (สงฺขตา) เป็นของอาศัยกัน เกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา) มีความสิ้นไป เป็นธรรมดา (ขยธมฺมา) มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา (วยธมฺมา) มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา (วิราคธมฺมา) มีความดับไปเป็นธรรมดา (นิโรธธมฺมา).

อัคคิเวสสนะ ! แม้ทุกขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของอาศัยกัน เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็น ธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา.

อัคคิเวสสนะ ! แม้อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของ อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไป เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา.

อัคคิเวสสนะ ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน สุขเวทนา แม้ในทุกขเวทนา แม้ในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว.

อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำ สำเร็จแล้ว กิจอย่างอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.

อัคคิเวสสนะ ! ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่กล่าวคำประจบใครๆ ย่อมไม่กล่าวคำ ขัดแย้งใครๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก เธอก็กล่าวโดย โวหารนั้น ไม่ยึดมั่นความหมาย ไรๆ อยู่.

(เมื่อจบพระพุทธดำรัสนี้ พระสารีบุตรผู้ถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง ได้บรรลุพระอรหันต์)


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้าที่ ๑๐๐๒

(5)

ทิฏฐิซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการวิวาท
(สามจำพวก)

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพเจ้ามีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควร แก่ข้าพเจ้า”.

อัคคิเวสสนะ ! (ถ้าอย่างนั้น) ความเห็นของท่านเองที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้ นั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน (ด้วยเหมือนกัน).

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! ความเห็นแม้โน้นของข้าพเจ้า ต้องควรแก่ข้าพเจ้า ว่าความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว (คือถูกต้อง) ดังนี้”

ข้อนี้หมายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า สามารถทำประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น จนได้บรรลุมรรคผล หรือเข้าสู่โลกอันเป็นทิพย์ได้ ทำไมจึงมีมิจฉาทิฏฐิกล่าวว่า ใครอื่นจักทำอะไรให้แก่ใครได้ ผู้กล่าวเช่นนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำอันตรายต่อบุคคลอื่น จึงจัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิควรแก่คติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคติทั้งสอง นี้เรียกว่า โทษที่เกิดจากมิจฉาทิฏฐิในการพูด.

อัคคิเวสสนะเอ๋ย ! มันมีมากกว่ามากกว่านี้นัก ในโลกนี้ คือพวกที่กล่าวอยู่ว่า “ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้น ทีเดียว (คือถูกต้อง)” แล้วเขาไม่ละความเห็นนั้นเสีย แต่ไปทำความเห็นอื่น ให้เกิดขึ้นอีก.

อัคคิเวสสนะเอ๋ย ! มันมีน้อยกว่าน้อย กว่านี้นักในโลกนี้ คือพวกที่กล่าวอยู่ว่า “ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้นทีเดียว ความเห็นของข้าพเจ้านั้น เป็นเช่นนั้น ทีเดียว (คือถูกต้อง)” แล้วเขาละความเห็นนั้นเสียได้ และไม่ทำความเห็นอื่น ให้เกิดขึ้นอีก.

อัคคิเวสสนะ ! มีสมณพราหมณ์
พวกหนึ่ง (๑) มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวง ควรแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ก็มี
พวกหนึ่ง (๒) มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ก็มี
พวกหนึ่ง (๓) มีวาทะมีความเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งบางสิ่งควรแก่ข้าพเจ้า สิ่งบางสิ่ง ไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ก็มี

อัคคิเวสสนะ
! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ พวกที่มี วาทะ มีความเห็นว่า(พวก ๑) “สิ่งทั้งปวง ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น เป็นทิฏฐิ ที่กระเดียดไป ในทางมีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไป ในทางเพลิดเพลิน (ต่อสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทาง สยบมัวเมา และ กระเดียดไปในทางเข้าไปยึดมั่นถือมั่น.

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ พวกที่มี วาทะมีความเห็นว่า(พวก ๒) “สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น เป็นทิฏฐิ ที่กระเดียดไป ในทางไม่มีความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางไม่ประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทางไม่เพลิดเพลิน (ต่อสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไป ในทางไม่สยบมัวเมา และ กระเดียดไปในทางไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น.
พอพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้เท่านั้น ทีฆนขะปริพพาชกได้ร้องขึ้นเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมสนับสนุนความเห็นของข้าพเจ้า. พระโคดมเชิดชู ความเห็นของข้าพเจ้า.”

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวก ที่มี วาทะ(พวก ๓)มีความเห็นว่า “บางสิ่งควรแก่ข้าพเจ้า บางสิ่งไม่ควรแก่ข้าพเจ้า” ดังนี้นั้น ทิฏฐิใดที่ว่า บางอย่างควรแก่เขาเหล่านั้น ทิฏฐินั้นกระเดียดไปในทางมีความ กำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไปในทาง เพลิดเพลิน (ต่อสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางสยบมัวเมา และ กระเดียดไปในทางเข้าไปยึดมั่นถือมั่น.

ทิฏฐิใดที่ว่า บางอย่างไม่ควรแก่เขาเหล่านั้น ทิฏฐินั้น ก็กระเดียดไปในทาง ไม่มี ความกำหนัดย้อมใจ กระเดียดไปในทางไม่ประกอบตน (อยู่ในภพ) กระเดียดไป ในทาง ไม่เพลิดเพลิน (ต่อสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเพลิน) กระเดียดไปในทางไม่ สยบมัวเมา และกระเดียดไปในทางไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น.
-------------------------------------------------------------------------------------------------

5.1
ทิฏฐิ "สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา"

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ สามพวก นั้น (พวก ๑) สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะ มีความเห็นว่า "สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา" ดังนี้ มีอยู่.

ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอา ทิฏฐิของพวกที่ถือว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่อย่างแข็งแรง ว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ดังนี้ไซร้

การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์ อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแย้ง กับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่เรา และกับพวก ที่มี วาทะ มีความเห็นว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควร แก่เรา การถือเอาอย่างขัดแย้ง กัน ต่อสมณพราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้.

เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี เมื่อการวิวาทกันมี การ พิฆาตกัน ก็ย่อมมี เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี ด้วยอาการอย่างนี้.

บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย้งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอา ทิฏฐิอื่นขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการ อย่างนี้.
-------------------------------------------------------------------------------------------------

5.2
ทิฏฐิ "สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา"

อัคคิเวสสนะ ! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด (พวก ๒)มีวาทะมีความเห็นว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา" ดังนี้ มีอยู่.

ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอา ทิฏฐิของพวกที่ถือว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่อย่างแข็งแรง ว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ดังนี้ไซร้ การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์ อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแย้งกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงควร แก่เรา และกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา

การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณ-พราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เราด้วยอาการ อย่างนี้. เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี เมื่อการวิวาทกันมี การพิฆาตกันก็ย่อมมี เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี. ด้วยอาการ อย่างนี้

บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย้งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอา ทิฏฐิอื่น ขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
-------------------------------------------------------------------------------------------------

5.3
ทิฏฐิ "บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา"

อัคคิเวสสนะ
! ในบรรดาสมณพราหมณ์สามพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด (พวก ๓)มีวาทะมีความเห็นว่า "บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา" ดังนี้ มีอยู่.

ในสมณพราหมณ์พวกนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราถือเอา ทิฏฐิของพวกที่ถือว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ มากล่าวยืนยันอยู่ อย่างแข็งแรง ว่า นี้เท่านั้นจริง อื่นเปล่า ดังนี้ไซร้ การถือเอาอย่างขัดแย้งกัน ต่อ สมณพราหมณ์ อีกสองพวก ก็จะพึงมีแก่เรา คือขัดแย้งกับพวกที่มีวาทะ มีความเห็นว่า ‘สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา และกับพวกที่มีวาทะมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่เรา

การถือเอาอย่างขัดแย้งกันต่อสมณพราหมณ์สองพวกเหล่าโน้น ก็มีแก่เราด้วยอาการ อย่างนี้. เมื่อการถือเอาอย่างขัดแย้งกันมีอยู่ การวิวาทกันก็ย่อมมี เมื่อการวิวาทกันมี การพิฆาตกันก็ย่อมมี เมื่อการพิฆาตกันมี การเบียดเบียนกันก็ต้องมี. ด้วยอาการอย่างนี้.

บุรุษวิญญูชนนั้น เห็นอยู่ซึ่งการถือเอาอย่างขัดแย้งกัน การวิวาทกัน การพิฆาตกัน และการเบียดเบียนกัน อันจะเกิดขึ้นในตน อยู่ดังนี้ เขาก็ละทิฏฐินั้นเสีย และไม่ถือเอา ทิฏฐิอื่น ขึ้นมาอีก. การละเสีย การสลัดคืนเสียซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีด้วยอาการ อย่างนี้.


พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๑๕๗ - ๑๖๒

(6)

ทรงอยู่เหนือการครอบงำของเวทนา
มาตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้

อัคคิเวสสนะ ! ก็บุคคลมีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นอย่างไรเล่า ?

อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา เกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ ในธรรมวินัยนี้
อริยสาวกนั้น อันสุขเวทนาถูกต้องอยู่ เป็นผู้ไม่กำหนัดยินดีในความสุข ไม่ถึงความ กำหนัดยินดี ในความสุข.

สุขเวทนาของอริยสาวกนั้นย่อมดับ เพราะความดับย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก ร่ำไห้ ไม่ถึงซึ่งความหลง.

อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนานั้นแม้เกิดขึ้นแล้วแก่อริยสาวกนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะความเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว ทุกขเวทนา แม้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะความเป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว

อัคคิเวสสนะ ! เพราะเหตุที่ว่า สุขเวทนาก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ และทุกขเวทนา ก็ไม่ ครอบงำจิตตั้งอยู่ โดยทั้งสองประการดังกล่าวแล้ว เขาย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีกาย อันอบรมแล้ว มีจิตอันอบรมแล้ว ดังนี้.

“พระโคดมผู้เจริญ ! ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสแล้วในพระโคดมผู้เจริญ เพราะเหตุว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้มีกายอันอบรมแล้วด้วย มีจิตอันอบรมแล้วด้วย”.

อัคคิเวสสนะ ! คำนี้ท่านกล่าวพาดพิงถึงเราโดยแท้ เราจะพูดให้แจ้งชัดเสียเลยว่า

อัคคิเวสสนะ ! จำเดิมแต่เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือน ข้อที่ สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ หรือว่า ข้อที่ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ นั่น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.


6.1
(สุขเวทนา ทุกขเวทนา ไม่อาจครอบงำจิตของ พระศาสดาได้ )


“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! สุขเวทนาชนิดที่เกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิด แก่ พระสมณโคดม เป็นแน่. ทุกขเวทนาชนิดที่เกิดขึ้นแล้ว จะครอบงำจิต ตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดแก่พระสมณโคดม เป็นแน่”

อัคคิเวสสนะ ! ทำไมมันจะมีไม่ได้เล่า....

(ต่อจากนี้ ก็ทรงเล่าเรื่องการออกผนวช การค้นหาสำนักเพื่อการศึกษาของพระองค์ คืออาฬารดาบส กาลามโคตร อุทกดาบส รามบุตรจนกระทั่งทรงบำเพ็ญ อัตตกิลมถานุโยค
(ทรมานตน) ตามแบบฉบับที่เรียกกันว่าวัตรแห่งนิครนถ์ เกิดอุปมา แจ่มแจ้ง ในทางที่จะให้หลีอกออกจากกาม แล้วทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเข้มงวด มีทุกขเวทนาแก่กล้า ซึ่งทรงยืนยันว่า แม้กระนั้น ก็ไม่ครอบงำ จิตของพระองค์ตั้งอยู่ เมื่อเลิกทุกรกิริยาแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต เกิดความสุขจากรูปฌานสี่ และ วิชชาสาม แม้จะเป็นสุขเวทนาอันสูงสุด ก็ไม่สามารถครอบงำจิต ของพระองค์ตั้งอยู่ สมกับที่ทรงยืนยันว่า ไม่มีเวทนาชนิดใดเกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิต ของพระองค์ ตั้งอยู่ได้ ดังข้อความต่อไปนี้)

6.2
(การบำเพ็ญทุกรกิริยา ตามแบบของพวกเดียรถีย์ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ )

อัคคิเวสสนะ ! ...เรานั้น ขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น จนร้อนจัด. อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเราขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานด้วยลิ้น ข่มจิตด้วยจิต บีบให้แน่น จนร้อนจัดแล้ว เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง. อัคคิเวสสนะ ! ความเพียร ที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังความเพียรที่ทนได้ยาก เสียดแทงเอา.
อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....

อัคคิเวสสนะ ! เรานั้น กลั้นลมหายใจออกเข้าทั้ง (๑) ทางปากและทางจมูก
อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจทั้งทางปากและทางจมูกแล้ว เสียงลมออก ทาง ช่องหูทั้งสอง ดังเหลือประมาณ เหมือนเสียงลมในสูบแห่งนายช่างทอง ที่สูบไปสูบมา ฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะ ฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียร ที่ทนได้ยาก เสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่. ....
---------------------------------------------------------------------------------------------

อัคคิเวสสนะ ! เรานั้น กลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูก (๒) และทาง ช่องหู ทั้งสอง อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูก และทาง ช่องหู ทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณ แทงเซาะขึ้นไปทางบนกระหม่อม เหมือนถูกบุรุษ แข็งแรง เชือดเอาที่แสก กระหม่อมด้วยมีดโกนอันคมฉะนั้น.
อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรเราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ แสนยาก เสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูก และทาง ช่องหู ทั้งสองแล้ว (๓) รู้สึกปวดศีรษะทั่วไปทั้งศีรษะเหลือประมาณ เปรียบปานถูก บุรุษแข็งแรง รัดศีรษะเข้าทั้งศีรษะด้วยเชือกมีเกลียวอันเขม็งฉะนั้น. อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียร ที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับ กระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทน ได้แสนยาก เสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางปากทางจมูก และทางช่องหู ทั้งสองแล้ว (๔) ลมกล้าเหลือประมาณหวนกลับลงแทงเอาพื้นท้อง ดุจถูกคนฆ่าโค หรือ ลูกมือตัวขยันของเขา เฉือนเนื้อพื้นท้องด้วยมีด สำหรับเฉือนเนื้อโค อันคมฉะนั้น.
อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ แสนยาก เสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
--------------------------------------------------------------------------------------------

อัคคิเวสสนะ ! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ ทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ทั้งสอง (๕) ก็เกิดความร้อนกล้าขึ้นทั่วกาย ดุจถูกคนแข็งแรงสองคน ช่วยกันจับคน กำลังน้อย ที่แขนข้างละคนแล้ว ย่างรมไว้เหนือหลุมถ่านเพลิงอันระอุฉะนั้น.
อัคคิเวสสนะ ! แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไป ก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียร ที่ทนได้ แสนยากเสียดแทงเอา. อัคคิเวสสนะ ! ทุกขเวทนาแม้เช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว แก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

6.3
(สุขเวทนาอันเกิดจากการเช้าถึง ฌาน ๑- ๒- ๓ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)

อัคคิเวสสนะ ! เรากลืนกินอาหารหยาบ ทำกายให้มีกำลังได้แล้ว เพราะสงัดจาก กาม และอกุศลธรรม ท. จึงเข้าถึง ฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ วิเวก แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำ จิตตั้งอยู่

อัคคิเวสสนะ ! เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงเข้าถึง ฌานที่สอง เป็นเครื่องผ่องใส ใน ภายในเป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้ว แลอยู่ อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่

อัคคิเวสสนะ ! เพราะความจางไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วย นามกาย จึงเข้าถึง ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้ เกิดขึ้น แล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่

อัคคิเวสสนะ ! และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัส และ โทมนัสในกาลก่อน จึงเข้าถึง ฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็น ธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

6.4
(ได้วิชชา ๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)

เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลสเป็นธรรมชาติ อ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว เราได้น้อมจิตไป เฉพาะต่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ---ฯลฯ---
อัคคิเวสสนะ ! นี้เป็นวิชชาที่หนึ่ง ที่เราได้บรรลุแล้วในยามแรกแห่งราตรี
อวิชชาถูกทำลายแล้ววิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้น แทนแล้ว เช่นเดียว กับที่เกิดแก่ผู้ไม่ ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วแลอยู่. อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนาแม้อย่างนี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

6.5
(ได้วิชชา ๒ จุตูปปาตญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)

เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลสเป็นธรรมชาติ อ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว เราได้น้อมจิตไป เฉพาะต่อ จุตูปปาตญาณ ---ฯลฯ
อัคคิเวสสนะ ! นี้เป็นวิชชาที่สอง ที่เราได้บรรลุแล้วในยามกลางราตรี
อวิชชาถูกทำลายแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่าง เกิดขึ้น แทนแล้ว เช่นเดียวกับที่เกิดแก่ผู้ไม่ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วแลอยู่.
อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา แม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

6.6
(ได้วิชชา ๓ อาสวักขยญาณ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่)

เรานั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว เราได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อ อาสวักขยญาณ ---ฯลฯ-
อัคคิเวสสนะ ! นี้เป็นวิชชาที่สาม ที่เราได้บรรลุแล้วในยามปลายแห่งราตรี
อวิชชาถูกทำลายแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้น แทนแล้ว เช่นเดียวกับที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้ว แลอยู่.
อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา แม้อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่
---------------------------------------------------------------------------------------------

(รายละเอียดเกี่ยวกับวิชชาทั้งสาม ที่กล่าวมานี้ โดยครบถ้วนพิสดารทุกตัวอักษร ผู้ประสงค์จะหาอ่านได้จาก หน้า ๑๑๕ ถึงหน้า ๑๑๗ แห่งหนังสือเล่มนี้.)


พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๒๘๗

(7)
คำสอนที่ทรงสั่งสอนมากที่สุด (รูปไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน...)

“พระโคดมผู้เจริญ ทรงนำสาวกทั้งหลายไปอย่างไร ? อนึ่ง อนุสาสนีของพระโคดม ผู้เจริญ ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งกลาย ส่วนมาก มีส่วนคือการจำแนกอย่างไร ?”

อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้ อนึ่ง อนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไป ในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนแห่งการจำแนกอย่างนี้ ว่า “ภิกษุ ท. ! รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขาร ท. ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง.

ภิกษุ ท. ! รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขาร ท. ไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน.

สังขาร ท. ทั้งปวงไม่เที่ยง
ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงไม่ใช่ตน.” ดังนี้.

อัคคิเวสสนะ ! เราย่อมนำสาวกทั้งหลายไปอย่างนี้แล อนึ่งอนุสาสนีของเรา ย่อมเป็นไปในสาวกทั้งหลาย ส่วนมาก มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ ดังนี้.


พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๒๔๖


(8)
สมาธินิมิตในขณะที่ทรงแสดงธรรม

อัคคิเวสนะ ! ก็เราสำนึกอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้แสดงธรรม แก่บริษัทเป็นจำนวนร้อย ๆ. อาจจะมีคนสักคนหนึ่ง มีความสำคัญอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม แสดงธรรม ปรารภเราคนเดียวเท่านั้น ดังนี้

อัคคิเวสนะ ! ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้นเลย ตลอดเวลาที่ตถาคตยังแสดงธรรม อยู่โดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้ มหาชนรู้แจ้ง อยู่โดยท่าเดียว.

อัคคิเวสนะ ! เรานั้นหรือ จำเดิมแต่เริ่มแสดง กระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธินิมิต อันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่ กระทำให้มีความเป็นจิตเอก ดังเช่นที่คน ท. เคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้

หมายเหตุ : ข้อความเหล่านี้มีใจความว่า ทรงมีสมาธิจิตตลอดเวลาที่ทรง แสดงธรรม กล่าวคือเมื่อกำลังตรัส ก็มีสมาธิในถ้อยคำที่ตรัส ในระหว่างแห่งการขาดตอน ของคำตรัสซึ่งถ้าเกิดมีขึ้น ก็ทรงมีสมาธิเนื่องด้วยสุญญตา ดังที่ประองค์มีอยู่ เป็นประจำ. เป็นอันว่า ตลอดเวลาที่ทรงแสดงธรรมไม่มีจิตที่ละไปจากสมาธิในภายใน.
---ผู้รวมรวม.


   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์