พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๔
๔. ทีฆนขสูตร
1
เรื่องทีฆนขปริพาชก
[๒๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตาเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อ ทีฆนขะ (จากสำนักอัคคิเวสนะ) เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว.ได้กราบทูลว่า ท่านพระโคดม ความจริงข้าพเจ้า มีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อัคคิเวสสนะ แม้ความเห็นของท่านว่า สิ่งทั้งปวง ไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน.
ท่านพระโคดม ถ้าความเห็นนี้ควรแก่ข้าพเจ้า แม้ความเห็นนั้น ก็พึงเป็น เช่นนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น.
อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้น ก็พึงเป็น เช่นนั้น ทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้น ละความเห็นนั้น ไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมาก คือมากกว่าคนที่ละได้.
อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่าแม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็น เช่นนั้น ทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้น ละความเห็น นั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยคือน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้.
1.1
ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท
[๒๗๐] อัคคิเวสสนะ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
(๑) สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี.
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
(๒) สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี
สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
(๓) บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี
1.2
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา
อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์ พวกที่มัก กล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา(๑) นั้น
ใกล้ข้างกิเลส อันเป็นไป กับด้วย ความกำหนัด
ใกล้ข้างกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้
ใกล้ข้างกิเลส เป็นเหตุ เพลิดเพลิน
ใกล้ข้างกิเลส เป็นเหตุกล้ำกลืน
ใกล้ข้างกิเลส เป็นเหตุยึดมั่น.
อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่ มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา(๒) นั้น
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นไป กับด้วย ความกำหนัด
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเหตุ ยึดมั่น.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขปริพาชก ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า ท่านพระโคดม ทรงยกย่อง ความเห็นของข้าพเจ้า.
1.3
ใกล้ข้างกิเลส ใกล้ข้างธรรม
อัคคิเวสสนะ ในความเห็นนั้นๆ ความเห็นของสมณพราหมณ์ พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า
บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา(๓) นั้น
ส่วนที่เห็นว่าควร ใกล้ข้างกิเลส อันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุ กล้ำกลืน
ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น
ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นไป ด้วยความกำหนัด
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเหตุ เพลิดเพลิน
ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน
ใกล้ข้างธรรม ไม่เป็นเหตุยึดมั่น.
1.4
ความยึดมั่นในทิฐิของตน ทำให้เกิดทิฐิที่ว่า "สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า"
[๒๗๑] อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในความเห็นของสมณพราหมณ์ ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น(๑) วิญญูชนย่อมเห็น ตระหนักว่าเราจะยึดมั่นถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ แล้ว ยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ สองพวกนี้ คือ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควร แก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑.
เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี. เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้น พิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันและความ เบียดเบียนกัน ในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.
อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าว อย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้นวิญญูชนย่อมเห็นตระหนัก ว่า ถ้าเราจะยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราดังนี้ แล้วยืนยัน โดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ สองพวกนี้ คือ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควร แก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑.
เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มีเมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้น พิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียด เบียนกัน ในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วยไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย. การละ การสละ คืน ทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.
อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ ผู้มักกล่าว อย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น วิญญูชน ย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทิฏฐิของเราว่า บางสิ่งควร แก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์สองพวกนี้ คือ
สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑.
เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี. วิญญูชนนั้น พิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความ เบียดเบียน กันในตนดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้นย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.
1.5
กายนี้เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดา เป็นแดนเกิด เป็นของไม่เที่ยง
[๒๗๒] อัคคิเวสสนะ ก็กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดา เป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตก กระจัดกระจายเป็นธรรมดา ท่านควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่าเป็นของมิใช่ตน.
เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของ ทรุดโทรมเป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้.
1.6
เวทนา ๓
[๒๗๓] อัคคิเวสสนะ เวทนาสามอย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑. อัคคิเวสสนะ
สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวย ทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น.
ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น.
ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.
อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา. แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา. แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา.
1.7
สาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมหน่าย ทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่าย ทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาท แก่งแย่งกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ ยึดมั่น ด้วยทิฏฐิ
1.8
เมื่อพระสารีบุตร เห็นดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน
[๒๗๔] ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาค. ได้มีความดำริว่า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสการละธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสุคตตรัส การสละคืนธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย
เมื่อท่านพระสารีบุตร เห็นตระหนักดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว จากอาสวะ ทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่ทีฆนขปริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา.
1.9
ทีฆนขปริพาชก(อัคคิเวสนะ) แสดงตนเป็นอุบาสก
[๒๗๕] ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันถึงแล้ว มีธรรมอันทราบแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความ เคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรม โดยอเนก ปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์ ว่า เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
|
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๙
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส หน้าที่ ๒๖๖
ว่าด้วยผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา
(นี้เป็นอรรถกถา เป็นการอธิบายความ / นิยามคำศัพท์ต่างๆ )
[๕๑๕] คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า รู้สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้อันทิฏฐิ เข้าไป อาศัย ความว่า พวกสมณพราหมณ์ที่ดำเนินด้วยทิฏฐิ.
คำว่า เป็นผู้อันทิฏฐิเข้าไปอาศัย ความว่ามุนีนั้นรู้ ทราบ พิจารณา เทียบเคียง ให้แจ่มแจ้ง ทำให้เป็นแจ้งว่า เป็นผู้อันสัสสตทิฏฐิอาศัยแล้ว เป็นผู้อันอุจเฉททิฏฐิ อาศัยแล้ว เป็นผู้อันสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิอาศัยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า รู้สมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า เป็นผู้อันทิฏฐิเข้าไปอาศัย.
[๕๑๖] ชื่อว่า มุนี ในคำว่า มุนีนั้นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณารู้ว่า เป็นผู้มีทิฏฐิเป็นที่ อาศัย
ความว่า ญาณ เรียกว่า โมนะ ฯลฯ |
|