เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

  พระเทวทัต
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวสำคัญของพระเทวทัต (จากพระไตรปิฎก) T101
           ออกไปหน้าหลัก 1 of 5
  45 เรื่องราวของ พระเทวทัต จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง คัดเฉพาะคำสอนจากพระโอษฐ์
  1. พระเทวทัตต้องการทำลายสังฆเภท ด้วยวัตถุ ๕ ประการ (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐)
  2. ทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อสัตว์ ด้วยอาการ ๓ อย่าง
  3. ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท (กรณีเทวทัตต้องการแยกสงฆ์ออกเป็นฝ่าย)
  4. อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ในการบัญญัติ
  5. เรื่องภิกษุผู้ประพฤติตามพระเทวทัตต์ (สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑)
  6. ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท (กรณีพวกภิกษุสนับสนุนเทวทัตต์ เพื่อทำลายสงฆ์)
  7. ทรงติเตียน พระเทวทัต เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา (๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙)
  8. ทรงติเตียนภิกษุ เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา (กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑)
  9. ทรงติเตียน พระเทวทัต เที่ยวขออาหารมาฉัน (๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒)
  10. ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
 
 


(1)

ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๐


พระเทวทัตต้องการทำลายสังฆเภท ด้วยวัตถุ ๕ ประการ
(สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ เรื่องพระเทวทัตต์)

        [๕๙๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเทวทัตต์ เข้าไปหา พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และ พระสมุทททัตต์

        ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑ เทวีบุตร และพระสมุทททัตต์ว่า มาเถิดอาวุโสทั้งหลาย พวกเราจักกระทำ สังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดม

        เมื่อพระเทวทัตต์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะได้กล่าวคำนี้กะ พระเทวทัตต์ ว่า อาวุโสพระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ไฉน เราจักทำ สังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณ-โคดมได้เล่า

        วัตถุ ๕ ประการ

        พระเทวทัตต์กล่าวว่า มาเถิด อาวุโสทั้งหลาย พวกเราจักเข้าเฝ้าพระสมณ โคดม ทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ คุณ แห่งความมักน้อยความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความ สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส

๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูก ต้องภิกษุนั้น

๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงถูก ต้องภิกษุนั้น

๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าอาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูกต้อง ภิกษุนั้น

๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลา และเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อโทษพึง ถูกต้องภิกษุนั้น

        พระสมณโคดม จักไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้ พวกเราทั้งนั้นจัก โฆษณาให้ ชุมชนเชื่อถือด้วย วัตถุ ๕ ประการนี้

        อาวุโสทั้งหลาย พวกเราสามารถ ที่จะกระทำสังฆเภท จักรเภท แก่พระ สมณโคดมได้ เพราะวัตถุ ๕ ประการนี้แล เพราะคนทั้งหลายเลื่อมใสในลูขปฏิบัติ

        [๕๙๑] ครั้งนั้น พระเทวทัตต์พร้อมด้วยบริษัท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงสรรเสริญ คุณแห่งความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส

๑.ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น
๒. ภิกษุทั้งหลาย ควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูก ต้องภิกษุนั้น
๓. ภิกษุทั้งหลาย ควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงถูก ต้องภิกษุนั้น
๔. ภิกษุทั้งหลาย ควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดเข้าอาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูก ต้องภิกษุนั้น
๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อ โทษพึง ถูกต้องภิกษุนั้น

        พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย เทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนา ก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนา ก็จงอยู่บ้าน ภิกษุใดปรารถนา ก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใด ปรารถนา ก็จงยินดีการนิมนต์ ภิกษุใดปรารถนา ก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนา ก็จงยินดีผ้าคหบดี


(2)
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๑


ทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อสัตว์ ด้วยอาการ ๓ อย่าง

        ดูกรเทวทัตต์ เราอนุญาต รุกขมูล เสนาสนะ ตลอด ๘ เดือนเท่านั้น เราอนุญาตปลา และเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. ไม่ได้เห็น
๒. ไม่ได้ยิน
๓. ไม่ได้รังเกียจ

        [๕๙๒] ครั้งนั้น พระเทวทัตต์ ร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้ แล้วพร้อมด้วยบริษัท ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณหลีกไป

        ต่อมา เธอพร้อมด้วยบริษัท เข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ โฆษณาให้ประชาชน เชื่อถือ ด้วยวัตถุ ๕ ประการว่า อาวุโสทั้งหลาย เราเข้าเฝ้าพระสมณโคดมทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงสรรเสริญคุณแห่งความมักน้อย ความ สันโดษ ความขัดเกลาความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัตถุ ๕ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ ความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทาน พระวโรกาส

๑. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่ป่าตลอดชีวิตภิกษุใดอาศัยบ้านอยู่ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

๒. ภิกษุทั้งหลายควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ภิกษุใดยินดีการนิมนต์ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

๓. ภิกษุทั้งหลายควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิตภิกษุใดยินดีผ้าคหบดี โทษพึงต้องภิกษุนั้น

๔. ภิกษุทั้งหลายควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ภิกษุใดอาศัยที่มุงบัง โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

๕. ภิกษุทั้งหลายไม่ควรฉันปลา และเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุใดฉันปลาและเนื้อ โทษพึงถูกต้องภิกษุนั้น

        พระสมณโคดม ไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้พวกเราเท่านั้น สมาทาน ประพฤติ วัตถุ ๕ ประการนี้อยู่

        [๕๙๓] บรรดาประชาชน ชาวพระนครราชคฤห์นั้น จำพวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสมีความรู้ทราม พากันกล่าวนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เหล่านี้ แล เป็นผู้กำจัดมีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดม เป็นผู้มีความ มักมาก ดำริเพื่อความมักมาก

        ส่วนประชาชน จำพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใสเป็นบัณฑิต มีความรู้สูง ต่างพากัน เพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัตต์ จึงได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลาย ข้อห้ามในพุทธจักร ของพระผู้มีพระภาคเล่า

        ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินประชาชนเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัตต์ จึงได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้าม ในพุทธจักรเล่า แล้วกราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระผู้มีพระภาค


(3)
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๑

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
(กรณีเทวทัตต้องการแยกสงฆ์ออกเป็นฝ่าย)

        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้า มูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถาม พระเทวทัตต์ว่า ดูกรเทวทัตต์ ข่าวว่า เธอตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักร จริงหรือ?

        พระเทวทัตต์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

        พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามในพุทธจักรเล่า

        ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเสื่อมใสยิ่ง ของชุมชน ที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

        ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียน พระเทวทัตต์ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคน เลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ ภิกษุทั้งหลาย


(4)
ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๓


อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ในการบัญญัติ

           อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้น แสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

        พระบัญญัติ

        ๑๔. ๑๐. อนึ่ง ภิกษุใด ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรือถือเอาอธิกรณ์อันเป็นเหตุแตกกัน ยกย่องยันอยู่ ภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่า กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอย่าได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ผู้พร้อมเพรียง หรืออย่า ได้ถือเอาอธิกรณ์ อันเป็นเหตุแตกกันยกย่องยันอยู่

        ขอท่านจงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดอง กัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ ผาสุก แลภิกษุนั้น อันภิกษุทั้งหลายว่า กล่าวอยู่ อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว

        ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวด สมนุภาสน์(ห้ามมิให้ถือรั้น) กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้ สละกรรม นั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์ กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรม นั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส (อาบัติหนัก)

เรื่องพระเทวทัตต์ จบ.


(5)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๗

เรื่องภิกษุผู้ประพฤติตามพระเทวทัตต์
(สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๑)


        [๖๐๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์.

        ครั้งนั้น พระเทวทัตต์ ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้าม ในพุทธจักร ภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้ว่า พระเทวทัตต์ พูดไม่ถูกธรรม พูดไม่ถูกวินัย ไฉน พระเทวทัตต์ จึงได้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายข้อห้ามใน พุทธจักร เล่า

        เมื่อภิกษุทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว พระโกกาลิกะ พระกฏโมรกะติสสกะ พระขัณฑเทวี บุตร และพระสมุททัตต์ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้พูด อย่างนั้น พระเทวทัตต์พูดถูกธรรม พูดถูกวินัย ก็พระเทวทัตต์กล่าว คล้อย ตามความพอใจและความเห็นชอบ ของพวกเรา พระเทวทัตต์ทราบความพอใจ และ ความเห็นชอบของพวกเราจึงกล่าว คำนั้นย่อมควรแม้แก่พวกเรา

        บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อ สิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุทั้งหลาย จึงได้ประพฤติ ตามพูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ ผู้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์เล่า แล้วกราบทูล เนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค


(6)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ หน้าที่ ๗๑๙


ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
(กรณีพวกภิกษุสนับสนุนเทวทัตต์ เพื่อทำลายสงฆ์)

        ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็น เค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า  

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า มีพวกภิกษุประพฤติตามผู้พูดสนับสนุน เทวทัตต์ ผู้ตะเกียกตะกาย เพื่อทำลายสงฆ์ จริงหรือ?

        ภิกษุทั้งหลายทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

        พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำของ ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้ประพฤติตาม พูดสนับสนุนพระเทวทัตต์ ผู้ตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์เล่า

        การกระทำของภิกษุ โมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสข องชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสหรือ เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดย ที่แท้การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้น นั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใส ของ ชุมชนยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.

        ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพวก ภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดสนับสนุน พระเทวทัตต์ โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว ทรงกระทำธรรมีกถา ที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะ ภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย

         อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะ อันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะ อันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

        พระบัญญัติ

        ๑๕. ๑๑. อนึ่ง มีภิกษุผู้ประพฤติตาม ผู้พูดเข้ากันของภิกษุนั้นแล ๑ รูปบ้าง๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ กล่าวคำอะไรๆ ต่อภิกษุนั่น ภิกษุนั่นกล่าวถูกธรรมด้วย ภิกษุนั่นกล่าวถูกวินัยด้วย ภิกษุนั่นถือเอาความพอใจ และความชอบใจของพวกข้าพเจ้า กล่าวด้วย เธอทราบ ความพอใจ และความชอบใจ ของพวกข้าพเจ้าจึงกล่าว คำที่เธอกล่าวนั่น ย่อมควร แม้แก่ พวกข้าพเจ้า ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า

        ท่านทั้งหลาย อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกธรรมไม่ด้วย ภิกษุนั่นหาใช่ผู้กล่าวถูกวินัยไม่ด้วย ความทำลายสงฆ์ อย่าได้ชอบแม้แก่พวกท่าน ขอพวกท่าน จงพร้อมเพรียงด้วยสงฆ์ เพราะว่าสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศเดียวกัน ย่อมอยู่ผาสุก แลภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายว่าก ล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว

        ภิกษุเหล่านั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสวด สมนุภาสน์ กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรม นั้นเสีย หากเธอทั้งหลายถูกสวด สมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย-สละได้อย่างนี้นั่นเป็นการดี หากเธอทั้งหลายไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส.

เรื่องภิกษุผู้ประพฤติตามพระเทวทัตต์ จบ.


(7)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๑๗

ทรงติเตียน พระเทวทัต เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
(๓. โอวาทวรรค สิกขาบทที่ ๙)

        [๔๖๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทาน เหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ภิกษุณี ถุลลนันทา เป็นกุลุปิกาของตระกูลแห่งหนึ่ง เป็นผู้รับภัตตาหารประจำอยู่.

        ก็แลคหบดีนั้นได้นิมนต์ พระเถระทั้งหลายไว้. ครั้นเวลาเช้า ภิกษุณี ถุลลนันทาครอง อันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่ตระกูลนั้น.

        ครั้นแล้วได้ถามคหบดีนั้นว่า ดูกรท่านคหบดี ท่านจัดของเคี้ยวของฉันนี้ไว้ มากมายทำไม
   ค. กระผมได้นิมนต์พระเถระทั้งหลายไว้ ขอรับ.
   ถุ. ดูกรคหบดี พระเถระเหล่านั้นคือใครบ้าง
   ค. คือ พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ พระคุณเจ้ามหากัจจานะ พระคุณเจ้ามหาโกฏฐิตะ พระคุณเจ้ามหากัปปินะ พระคุณเจ้ามหาจุนทะ พระคุณเจ้า อนุรุทธะพระคุณเจ้าเรวตะ พระคุณเจ้าอุบาลี พระคุณเจ้าอานนท์ พระคุณเจ้าราหุล.

        ถุ. ดูกรคหบดี ก็เมื่อพระเถระ ผู้ใหญ่มีปรากฏอยู่ ทำไมท่านจึงนิมนต์พระเล็กๆ เล่า
   ค. พระเถระผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใครบ้าง ขอรับ
   ถุ. คือพระคุณเจ้าเทวทัต พระคุณเจ้าโกกาลิกะ พระคุณเจ้ากฏโมรกติสสกะ พระคุณเจ้าขัณฑเทวีบุตร พระคุณเจ้าสมุทททัต (พวกภิกษุที่มีความปราถนาลามก)

        ในระหว่างที่ภิกษุณีถุลลนันทา พูดค้างอยู่เช่นนี้ พอดีพระเถระทั้งหลาย เข้ามาถึง. นางกลับพูดว่า ดูกรคหบดี ถูกแล้ว พระเถระผู้ใหญ่ทั้งนั้น ท่านนิมนต์ มาแล้ว.

        ค. เมื่อกี้นี้เองแท้ๆ ท่านพูดว่าพระคุณเจ้าทั้งหลาย เป็นพระเล็กๆ เดี๋ยวนี้ กลับพูดว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่. คหบดีนั้นพูดแล้วขับนางออกจากเรือน และงดอาหาร ที่ถวายประจำ

        บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ...ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเทวทัต รู้อยู่ จึงฉันบิณฑบาต อันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย แล้วกราบทูล เรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค ...

        ทรงสอบถาม

        พระผู้มีพระภาคทรงสอบถาม พระเทวทัตว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่าเธอรู้อยู่ฉัน บิณฑบาต อันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย จริงหรือ?

        พระเทวทัตทูลรับว่าจริง พระพุทธเจ้าข้า

        ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

        พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอรู้อยู่ จึงได้ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณี แนะนำให้ถวายเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชน ที่เลื่อมใสแล้ว ...

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

        พระบัญญัติ

        ๗๘. ๙. ก. อนึ่ง ภิกษุใด รู้อยู่ ฉันบิณฑบาตอันภิกษุณีแนะนำให้ถวาย
เป็นปาจิตตีย์.

        ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.


(8)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓ วินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ หน้าที่ ๒๗๐


ทรงติเตียนภิกษุ เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา
(กุมารีภูตวรรค สิกขาบทที่ ๑๑)

        [๔๓๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาค พุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี.

        ครั้งนั้น ภิกษุณีถุลลนันทา นิมนต์ พระเถระทั้งหลาย มาประชุมกันด้วย กล่าวว่า ดิฉันจักบวชสิกขมานา ครั้นเห็นอาหาร ของเคี้ยวของฉัน มากมาย จึงส่ง พระเถระทั้งหลายกลับ ด้วยกล่าวว่า ดิฉันจักยังไม่บวช สิกขมานาก่อน แล้วนิมนต์ พระเทวทัต พระโกกาลิกะ พระกฏโมรก ติสสกะ และพระสมุทททัตตะ ผู้โอรส ของพระนางขัณฑเทวี มาประชุมกัน บวชสิกขมานา

        บรรดาภิกษุณีที่เป็นผู้มักน้อย...ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทา จึงได้บวชสิกขมานา ด้วยให้ฉันทะค้างเล่า ...

        ทรงสอบถาม

        พระผู้มีพระภาค ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุณีถุลลนันทา บวชสิกขมานา ด้วยให้ฉันทะค้าง จริงหรือ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

        ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

        พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณี ถุลลนันทา จึงได้บวชสิกขมานา ด้วยให้ฉันทะค้างเล่า การกระทำของนางนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ...

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุณีทั้งหลาย จงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดง อย่างนี้ ว่าดังนี้:

        พระบัญญัติ

        ๑๓๖. ๑๑. อนึ่ง ภิกษุณีใดยังสิกขมานาให้บวช ด้วยให้ฉันทะค้าง เป็น ปาจิตตีย์.

เรื่องภิกษุณีถุลลนันทา จบ.


(9)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๒ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๒๗

ทรงติเตียน พระเทวทัต เที่ยวขออาหารมาฉัน
(๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๒)


        [๔๗๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วิหาร อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์.

        ครั้งนั้น พระเทวทัต เสื่อมจากลาภ และสักการะ พร้อมด้วยบริษัท เที่ยว ขออาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวขออาหารในตระกูลทั้งหลาย มาฉันเล่า โภชนะที่ดีใครจะไม่พอใจ อาหารที่อร่อยใครจะไม่ชอบใจ.

        ภิกษุทั้งหลายได้ยิน ประชาชนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย .. ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้ พร้อมด้วยบริษัทเที่ยวขออาหาร ในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค ...

         ทรงสอบถาม

        พระผู้มีพระภาค ทรงสอบถามพระเทวทัตว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอพร้อม ด้วยบริษัทเที่ยวขออาหารในตระกูล ทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ?

        พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

         ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

        พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้พร้อม ด้วยบริษัทเที่ยวขออาหาร ในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่ง ของชุมชน ที่เลื่อมใสแล้ว ... .

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอ พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

        พระบัญญัติ

        ๘๑.๒. ก. เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะฉันเป็นหมู่.

        ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

เรื่องพระเทวทัต จบ.


(10)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๘๘


ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์

        [๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเทวทัตต์ สวดปาติโมกข์ ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ ปนอยู่ด้วย. ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.

        พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

        ต้องได้รับอาราธนา จึงสวดปาติโมกข์ได้

        [๑๗๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับ อาราธนาสวดปาติโมกข์ ในท่ามกลางสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.

        พระผู้มีพระภาครับสั่ง ห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนาไม่พึงสวดปาติโมกข์ในท่ามกลาง
สงฆ์รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาติโมกข์ ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ.

อัญญติตถิยภาณวารที่ ๑๑ จบ.



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์