เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

  พระเทวทัต
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวสำคัญของพระเทวทัต (จากพระไตรปิฎก) T105
           ออกไปหน้าหลัก 5 of 5  
  45 เรื่องราวของ พระเทวทัต จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง คัดเฉพาะคำสอนจากพระโอษฐ์
  39. ลาภ สักการะ เกิดแก่พระเทวทัต เป็นไปเพื่อความพินาศ (เทวทัตตสูตร)
  40. กกุธะเทวดากล่าว พระเทวทัตเสื่อมจากฤทธิ์ด้วยจิตตุปบาท (๑๐. กกุธสูตร)
  41. ภิกษุรูปหนึ่งสงสัย ที่ทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า จะต้องเกิด ในอบาย (๘. อุทกสูตร)
  42. พระเทวทัตมีจิตอสัทธรรมครอบงำย่ำยี จึงต้องไปเกิดในนรก (เทวทัตตสูตร)
  43. พระเทวทัตแสดงธรรม เรื่องการอบรมจิต ไม่ตรงคำสอนฯ (สิลายูปสูตรที่ ๒)
  44. พระเทวทัตจักกระทำอุโบสถและสังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ (๘. อานันทสูตร)
  45. พระเทวทัตต์ผู้อันอสัทธรรมครอบงำจิต เบียดเบียนพระตถาคต ถึงอเวจีนรกอันมีประตู ๔ น่าพึงกลัว (๑๐. เทวทัตตสูตร)
 
 


(39)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๗๒


ลาภ สักการะ เกิดแก่พระเทวทัต เป็นไปเพื่อความพินาศ (เทวทัตตสูตร)
ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดแก่พระเทวทัตต์ เพื่อฆ่าคนเพื่อความพินาศ..เปรียบเหมือน
1. ต้นกล้วย ออกผล เพื่อฆ่าตน.. ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดแก่พระเทวทัต ก็ฉันนั้น
2. ไม้ไผ่ ตกดอกขุย เพื่อฆ่าตน.. ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดแก่พระเทวทัต ก็ฉันนั้น
3. ไม้อ้อ ผลิดอก เพื่อฆ่าตน.. ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดแก่พระเทวทัต ก็ฉันนั้น
4. ม้าอัศดรตั้งครรภ์ เพื่อฆ่าตน.. ลาภ สักการะ สรรเสริญ เกิดแก่พระเทวทัต ก็ฉันนั้น


         [๖๘] สมัยหนึ่ง เมื่อพระเทวทัตต์ หลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภ พระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะและการสรรเสริญ เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์ เพื่อฆ่าคน เพื่อความพินาศ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นกล้วยย่อมเผล็ดผล เพื่อฆ่าตน เมื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภสักการะ และการสรรเสริญ เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตต์ เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้ไผ่ย่อมตกขุย เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศแม้ฉันใด ลาภสักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์ เพื่อฆ่าตนเพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกัน

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้อ้อย่อมผลิดอกเพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ฉันนั้นเหมือนกันแล

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่ม้าอัศดร ย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ แม้ฉันใด ลาภ สักการะ และการสรรเสริญเกิดขึ้น แก่พระเทวทัตต์เพื่อฆ่าตน เพื่อความพินาศ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ

         ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัศดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัศดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว ฉันนั้น ฯ


(40)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๑๐๘

กกุธะเทวดากล่าว พระเทวทัตเสื่อมจากฤทธิ์ด้วยจิตตุปบาท (๑๐. กกุธสูตร)

บุตรเจ้าโกลิยะ นามว่ากกุธะ ผู้อุปัฏฐากพระโมคคัลลานะ กระทำกาละไม่นาน ได้ไปเกิดหมู่ เทพชื่อว่าอโนมยะ เข้าหาพระโมค- กล่าวว่าพระเทวทัตปรารถนาว่าเราจักบริหารภิกษุสงฆ์ ทำให้พระเทวทัตเสื่อมจากฤทธิ์เพราะจิตตุปบาท (ฤทธิ์เสื่อมเพราะจิตพยาบาท)

          [๑๐๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตารามใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้นแล บุตรเจ้าโกลิยะนามว่ากกุธะ ผู้อุปัฏฐากท่านพระมหาโมคคัลลานะ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อว่า อโนมยะ หมู่หนึ่งเป็นผู้ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธ สองสามหมู่ เพราะการได้อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

           ครั้งนั้นแล กกุธเทพบุตร ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

         ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัต เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหาร ภิกษุสงฆ์ และพระเทวทัตได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท

           ครั้นกกุธเทพบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาทท่านพระมหาโมคัลลานะ ทำ ประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรแห่งเจ้าโกลิยะ นามว่ากกุธะ ผู้อุปัฏฐาก ข้าพระองค์ กระทำกาละไม่นาน ได้บังเกิดในหมู่เทพชื่อว่า อโนมยะหมู่หนึ่ง เป็นผู้ ได้อัตภาพ [ใหญ่] เหมือนคามเขตในแว่นแคว้นมคธ สองสามหมู่ เพราะการได้ อัตภาพนั้น เขาย่อมไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

           ครั้งนั้น กกุธเทพบุตร ได้เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า

           ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเทวทัต เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า เราจักบริหาร ภิกษุสงฆ์ พระเทวทัตได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้น พร้อมกับจิตตุปบาท กกุธเทพบุตรครั้นได้ กล่าว ดังนี้แล้ว อภิวาทข้าพระองค์ ทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้น


(41)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒

ภิกษุรูปหนึ่งสงสัย ที่ทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า จะต้องเกิด ในอบาย (๘. อุทกสูตร)
ดูกรอานนท์ เราย่อมไม่พิจารณา เห็นบุคคลอื่น แม้คนหนึ่ง ที่เราได้กำหนดรู้ เหตุทั้งปวง ด้วยใจแล้ว พยากรณ์อย่างนี้ เหมือนพระเทวทัตเลย ก็เราได้เห็นธรรมขาว ของพระเทวทัต (ส่วนดี) แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายเพียงใด เราก็ยังไม่พยากรณ์ พระเทวทัตเพียงนั้นว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยา ไม่ได้ ....(กุศลกรรม หรือธรรมขาว ของพระเทวทัต ไม่มีแม้เท่าปลายขนทราย)



         [๓๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริก ไปในโกศลชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวโกศล ชื่อทัณฑกัปปกะ

         ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาค ได้ทรงแวะลงจากหนทาง ประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขา ปูลาดไว้แล้ว ณโคนไม้ต้นหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นได้พากันเข้าไปสู่นิคม ชื่อ ทัณฑกัปปกะ เพื่อแสวงหาที่พัก

         ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ พร้อมด้วยภิกษุหลายรูป ได้ไปที่แม่น้ำอจิรวดี เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำในแม่น้ำอจิรวดีเสร็จแล้ว ก็ขึ้นมานุ่งอันตรวาสกผืนเดียว ยืนผึ่งตัวอยู่ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วถามว่า

         ดูกรอาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาค ทรงกำหนดรู้เหตุทั้งปวงด้วย พระหฤทัย แล้วหรือหนอ จึงพยากรณ์พระเทวทัตว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้ หรือว่า พระผู้มีพระภาค ทรงกำหนดรู้โดยปริยาย บางประการเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์ พระเทวทัต ดังนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า

         ดูกรอาวุโส ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์อย่างนั้นแล ครั้งนั้นท่าน พระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง

         ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์กับภิกษุหลายรูป ได้ไปยังแม่น้ำอจิรวดีเพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงเสร็จแล้ว ก็ขึ้นมานุ่งอันตรวาสกผืนเดียว ยืนผึ่งตัวอยู่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เข้าไปหา ข้าพระองค์ แล้วถามว่า

         ดูกรอาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้เหตุทั้งปวงด้วย พระหฤทัย แล้ว หรือหนอ จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดใน อบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้ หรือว่าพระผู้มีพระภาคทรง กำหนดรู้ โดยปริยาย บางประการเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัตดังนี้

           เมื่อภิกษุนั้น กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับภิกษุนั้นว่า

           ดูกรอาวุโส ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์อย่างนั้นแล

         พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุรูปนั้นจักเป็นภิกษุใหม่  บวชไม่นานหรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่เป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด เพราะว่าข้อที่เรา พยากรณ์แล้วโดยส่วนเดียว จักเป็นสองได้อย่างไร

         ดูกรอานนท์ เราย่อมไม่พิจารณา เห็นบุคคลอื่น แม้คนหนึ่ง ที่เราได้กำหนดรู้ เหตุทั้งปวงด้วยใจแล้ว พยากรณ์อย่างนี้ เหมือนพระเทวทัตเลย ก็เราได้เห็นธรรมขาว ของพระเทวทัต(ส่วนดี) แม้ประมาณเท่าน้ำ ที่สลัดออกจากปลายขนทรายเพียงใด เราก็ยังไม่พยากรณ์พระเทวทัตเพียงนั้นว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้

           แต่ว่าเมื่อใด เราไม่ได้เห็นธรรมขาว(กุศลธรรม) ของพระเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำ ที่สลัดออกจากปลายขนทราย เมื่อนั้น เราจึงได้พยากรณ์ พระเทวทัตนั้นว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบายตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยา ไม่ได้

         ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนหลุมคูถ เป็นที่ถ่ายอุจจาระ ลึกชั่วบุรุษ เต็มด้วยคูถ เสมอขอบปากหลุมบุรุษ พึงตกลงไปที่หลุมคูถนั้น จมมิดศีรษะ บุรุษบางคนผู้ใคร่ ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล ปรารถนาความเกษม จากการตกหลุมคูถของบุรุษนั้น ใคร่จะยกเขาขึ้นจากหลุมคูถนั้น พึงมา เขาเดินรอบหลุมคูถนั้นอยู่ ก็ไม่พึงเห็นอวัยวะ ที่ไม่เปื้อนคูถ ซึ่งพอจะจับเขายกขึ้นมาได้ แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจาก ปลาย ขนทราย ของบุรุษนั้น ฉันใด

           เราก็ไม่ได้เห็นธรรมขาว ของพระเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจาก ปลายขนทราย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อนั้น เราจึงได้พยากรณ์พระเทวทัตว่าพระเทวทัต จะต้องเกิดในอบายตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้ ถ้าว่าเธอทั้งหลายจะพึงฟัง ตถาคต จำแนกญาณเครื่อง กำหนดรู้อินทรีย์ของบุรุษไซร้


(42)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๒๕

พระเทวทัตมีจิตอสัทธรรมครอบงำย่ำยี จึงต้องไปเกิดในนรก (เทวทัตตสูตร)

จิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ ครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปบังเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ประการ เป็นไฉน คือ
1. ลาภ
2. ความเสื่อมลาภ
3. ยศ
4. ความเสื่อมยศ
5. สักการะ
6. ความเสื่อมสักการะ
7. ความปรารถนาลามก
8. ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว



         [๙๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏใกล้พระนคร ราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตต์ หลีกไปแล้วไม่นานนัก ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภ ถึง พระเทวทัตต์ ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาความวิบัติ ของตน โดยกาลอันควร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาความวิบัติ ของผู้อื่นโดยกาลอันควร

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณาถึงสมบัติของตน โดยกาลอันควร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุพิจารณา ถึงสมบัติของ ผู้อื่นโดยกาลอันควร

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ ครอบงำย่ำยีแล้ว ต้องไปบังเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ อสัทธรรม ๘ประการ เป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ สักการะ ๑ ความเสื่อมสักการะ ๑ ความปรารถนาลามก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ มีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการนี้แล ครอบงำ ย่ำยีแล้วต้องไปบังเกิดในอบาย ในนรกอยู่ชั่วกัลป์ แก้ไขไม่ได้ ฯ      

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ควรครอบงำย่ำยีลาภที่เกิดขึ้น แล้ว เป็นความดีแล้ว ที่ภิกษุควรครอบงำย่ำยี ความเสื่อมลาภ ...ยศ ...ความเสื่อมยศ ... สักการะ ...ความเสื่อมสักการะ ...ความเป็นผู้ปรารถนาลามก ...ความเป็นผู้มีมิตร ชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรครอบงำย่ำยีความเป็นผู้ มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าเมื่อภิกษุ ไม่ครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะ ที่ทำให้ เกิดความคับแค้น เดือดร้อน พึงเกิดขึ้น

         เมื่อภิกษุครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะ ที่ทำให้เกิดความคับแค้น เดือดร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่เกิด ...เพราะว่าเมื่อภิกษุ ไม่ครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้ มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความคับแค้นเดือดร้อน พึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุ ครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่วที่ เกิดขึ้นแล้ว อาสวะที่ทำให้เกิดความ คับแค้น เดือดร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่เกิด

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรครอบงำย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ...จึงควรครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย จักครอบงำย่ำยีลาภ ที่เกิดขึ้นแล้ว..จักครอบงำย่ำยีความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ที่เกิดขึ้นแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล


(43)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๒๔


สิลายูปสูตรที่ ๒
พระเทวทัตแสดงธรรม เรื่องการอบรมจิต ไม่ตรงคำสอนฯ

ก็ภิกษุอบรมจิต ให้ดีด้วยจิตอย่างไร คือ  อบรมจิตให้ดีด้วยจิตอย่างนี้ ว่า
จิตของเรา ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะแล้ว ปราศจากโมหะแล้ว
จิตของเรา ไม่มีราคะ  ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ เป็นธรรมดา



         [๒๓๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร และท่านพระจันทิกาบุตรอยู่ ณ พระวิหาร เวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระจันทิกาบุตร กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

         ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัต ย่อมแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิตให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้นควร พยากรณ์ภิกษุนั้นว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

        เมื่อท่านพระจันทิกา บุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่าน พระจันทิกาบุตรว่า ดูกรอาวุโสจันทิกาบุตร พระเทวทัต มิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลายอย่างนี้ว่า

         ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิตให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้น ควรพยากรณ์ภิกษุนั้นว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

         ดูกรอาวุโสจันทิกาบุตร แต่พระเทวทัต แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิตให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้นควร พยากรณ์ภิกษุนั้นว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

         แม้ครั้งที่ ๒ ... ฯ

แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระจันทิกาบุตร กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย พระเทวทัตย่อมแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิต ให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้น ควรพยากรณ์ภิกษุนั้น ว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ ได้มี

         แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวกะท่าน พระจันทิกาบุตรว่า ดูกรอาวุโส จันทิกาบุตร พระเทวทัตมิได้แสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิตให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้นควรพยากรณ์ภิกษุ นั้นว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

         ดูกรอาวุโสจันทิกาบุตร แต่พระเทวทัต แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุอบรมจิตให้ดีด้วยจิต ในกาลนั้นควร พยากรณ์ ภิกษุนั้นว่า ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

     ดูกรอาวุโส ก็ภิกษุอบรมจิต ให้ดีด้วยจิตอย่างไร คือ
อบรมจิตให้ดีด้วยจิตอย่างนี้ ว่า
จิตของเรา ปราศจากราคะแล้ว
จิตของเรา ปราศจากโทสะแล้ว
จิตของเรา ปราศจากโมหะแล้ว
จิตของเรา ไม่มีราคะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่มีโทสะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่มีโมหะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน กามภพ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน รูปภพ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน อรูปภพ เป็นธรรมดา

         ดูกรอาวุโส ถึงแม้รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลอง จักษุแห่งภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้น โดยชอบอย่างนี้ รูปเหล่านั้น ก็ครอบงำจิตเธอไม่ได้  จิตของเธอไม่เจือด้วยรูปเหล่านั้น เป็นจิตมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และเธอย่อม พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปนั้น ถึงแม้เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะ พึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ

         รสที่พึงจะรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้ วยใจอย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลองใจแห่งภิกษุ ผู้มีจิต หลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์นั้น ก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอ ไม่เจือ ด้วยธรรมารมณ์นั้นเป็นจิตมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณา เห็นความเสื่อมไปแห่งธรรมารมณ์นั้น

         ดูกรอาวุโส เปรียบเหมือนเสาหิน ยาว ๑๖ ศอก หยั่งลงไป ในหลุม ๘ ศอก ข้างบนหลุม ๘ ศอก ถึงแม้ลมพายุอย่างแรง พัดมาทางทิศบูรพาเสาหินนั้น ไม่พึง สะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว ถึงแม้ลมพายุอย่างแรง พัดมาทางทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ เสาหินนั้นก็ไม่พึงสะเทือนสะท้านหวั่นไหว

         ข้อนั้นเพราะเหตุไร

         เพราะหลุมลึกและ เพราะเสาหินฝังลึก ฉันใด ดูกรอาวุโสฉันนั้นเหมือนกัน แล ถึงแม้รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลองจักษุ แห่งภิกษุผู้มี จิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอไม่เจือด้วยรูป เหล่านั้น เป็นจิตมั่นถึงความไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมไป แห่งรูปนั้น ถึงแม้เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ

        รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย ฯลฯ ธรรมารมณ์ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ อย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลองใจแห่งภิกษุผู้ มีจิต หลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอ ไม่เจือด้วย ธรรมารมณ์นั้น เป็นจิตมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณาเห็นความ เสื่อมไป แห่งธรรมารมณ์นั้น


(44)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๑๖


๘. อานันทสูตร
พระเทวทัตจักกระทำอุโบสถและสังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ทรงเปล่งอุทาน ว่า ความดีคนดีทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่ว ทำได้ง่าย ความชั่วพระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก

           [๑๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแลในวันอุโบสถเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครราชคฤห์ พระเทวทัตต์ ได้เห็นท่าน พระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาต อยู่ในพระนครราชคฤห์ จึงเข้าไปหาท่าน พระอานนท์ แล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

          ดูกรอาวุโสอานนท์บัดนี้ ผมจักกระทำอุโบสถ และสังฆกรรม แยกจากพระผู้มี พระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

           ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เที่ยว บิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจาก บิณฑบาตในภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้าข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต ยังพระนครราชคฤห์ พระเทวทัตต์ ได้เห็น ข้าพระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาต อยู่ในพระนครราชคฤห์ จึงเข้าไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า

          ดูกรอาวุโสอานนท์ บัดนี้ ผมจักกระทำอุโบสถและสังฆกรรมแยกจากพระผู้มี พระภาคแยกจากภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พระเทวทัตต์จักทำลายสงฆ์ จักกระทำอุโบสถและสังฆกรรมฯ

           ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทาน นี้ ในเวลานั้นว่า ความดีคนดีทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก ความชั่ว คนชั่ว ทำได้ง่าย ความชั่วพระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก


(45)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๒๓๐

๑๐. เทวทัตตสูตร
พระเทวทัตต์ผู้อันอสัทธรรม ๓ ประการ ครอบงำจิต เบียดเบียนพระตถาคต ถึงอเวจีนรก อันมีประตู ๔ น่าพึงกลัว

           [๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ผู้อัน อสัทธรรม ๓ ประการ ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว เป็นผู้เกิดในอบาย เกิดในนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้ อสัทธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ ผู้อันความเป็นผู้ มีความปรารถนาลามก ครอบงำย่ำยีจิตแล้ว เป็นผู้เกิดในอบาย เกิดในนรกตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้

           พระเทวทัตต์ ผู้อันความเป็นผู้มีมิตรชั่วครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว เป็นผู้เกิด ในอบาย เกิดในนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้ ก็เมื่อมรรคและผล ที่ควรกระทำ ให้ยิ่งมีอยู่ พระเทวทัตต์ถึงความพินาศเสีย ในระหว่างเพราะการบรรลุ คุณวิเศษมี ประมาณเล็กน้อย

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตต์ ผู้อันอสัทธรรม ๓ ประการนี้แลครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว เป็นผู้เกิดในอบาย เกิดในนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้

          ใครๆ ผู้มีความปรารถนาลามก จงอย่าอุบัติในสัตว์โลกเลย คติของบุคคล ผู้มีความปรารถ นาลามกเช่นไร ท่านทั้งหลาย จงรู้คติเช่นนั้น ด้วยเหตุแม้นี้ เราได้ สดับมาแล้วว่า พระเทวทัตต์โลกรู้กันว่า เป็นบัณฑิตยกย่องกันว่า มีตนอันอบรมแล้ว ดุจรุ่งเรือง อยู่ด้วยยศ ดำรงอยู่แล้ว

           พระเทวทัตต์นั้น ประพฤติตามความประมาท เบียดเบียนพระตถาคต พระองค์นั้น ถึงอเวจีนรกอันมีประตู ๔ น่าพึงกลัว ก็ผู้ใดพึงประทุษร้าย ต่อบุคคล ผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่กระทำกรรมอันลามก ผลอันลามก ย่อมถูกต้องผู้นั้นแล ผู้มีจิต ประทุษร้ายผู้ไม่เอื้อเฟื้อ

           ผู้ใดพึงสำคัญเพื่อจะประทุษร้ายสมุทร ด้วยหม้อยาพิษ ผู้นั้นพึงประทุษร้าย ด้วยหม้อยาพิษนั้นไม่ได้ เพราะว่าสมุทรใหญ่มาก ผู้ใดย่อมเบียดเบียน พระตถาคต ผู้ดำเนินไปโดยชอบ มีจิตสงบระงับ ด้วยความประทุษร้ายอย่างนี้ ความประทุษร้าย ย่อมไม่งอกงามในพระตถาคตพระองค์นั้น

           ภิกษุผู้ดำเนินไปตามทางของพระพุทธเจ้า หรือของพระสาวก ของพระพุทธเจ้าใด พึงถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์ ภิกษุเป็นบัณฑิต พึงกระทำ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นนั้น ให้เป็นมิตร และพึงส้องเสพ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวกของพระพุทธเจ้านั้น เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล

------------------------------------------------------------------------

จบเรื่องราวสำคัญของพระเทวทัต
(รวมรวมจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง เฉพาะที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ ไม่รวมอรรถกถา ที่เป็นเรื่องแต่งเติม เช่นเรื่องเทวทัตเสียชีวิตจากถูกธรณีสูบ ซึ่งเรื่องจรองนั้นเสียชีวิตจากการ กระอักเลือด มีโลหิตน้อนพุ่งออกจากปาก หลังรู้ว่าสาวกบวชใหม่ของตน เดินทางไปเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค)

ไปหน้าแรก(1)



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์