เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระปิณโฑล ภารทวาชะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ พระปิณโฑล ภารทวาชะ (ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้บันลือสีหนาท 
Pha101
           ออกไปหน้าหลัก 1 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (1) เรื่องสามเณรวาเสฏฐ กับ สามเณรภารทวาช (อัคคัญญสูตร)
       (1.2) พวกพราหมณ์ถือกันว่าเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม
       (1.3) พวกพราหมณ์ล้วนเกิดจากช่องคลอดมีระดู แต่อวดอ้างว่าตนเองบริสุทธิ์
       (1.4) วรรณะ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
       (1.5) กุศลกรรมบถ- อกุศลกรรมบถ๑๐ คือเครื่องชี้วัดคุณธรรมวรรณะทั้ง ๔
       (1.6) ในวรรณะทั้ง๔ ผู้สิ้นอาสวะอยู่จบพรหมจรรย์ คือผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย
       (1.7) พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ยังถือว่าตนเองยังมีชาติสกุลที่ต่ำกว่าตถาคต ยังบูชาเคารพกราบไหว้ตถาคต
       (1.8) ธรรมเท่านั้น เป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
       (1.9) ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นและมีอริยมรรคประดิษฐานอย่างมั่นคง เรียกว่าเป็นบุตร ของตถาคต
  (2) ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ (อัคคัญญสูตร ที่ ๔)
       (2.1) กำเนิดโลกธาตุ
       (2.2) กำเนิดง้วนดิน
       (2.3) กำเนิดกระบิดิน
       (2.4) กำเนิดเครือดิน
       (2.5) สัตว์มีผิวพรรณต่างกัน บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกไม่งาม
       (2.6) กำเนิดข้าวสาลี และการเก็บรักษา
       (2.7) กำเนิดเพศหญิง-เพศชาย เกิดความกำหนัด และเสพเมถุนกัน
       (2.8) การวิวาทโดยการโปรยฝุ่น
       (2.9) สัตว์ที่เสพเมถุน สร้างเรือนเพื่อมุงบัง
       (2.10) รัศมีกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น
        ( ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ มีต่อหน้าถัดไป )

 


(1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๕


เรื่องสามเณรวาเสฏฐ กับ สามเณรภารทวาช (อัคคัญญสูตร)

  สามเณร วาเสฏฐ กับภารทวาช (บุตรของพราหมณ์) เข้ามาบวชในพุทธศาสนา เล่าให้ พระพุทธเจ้าฟังว่า ถูกพวกพราหมณ์ตำหนิว่า วรรณะ พราหมณ์ประเสริฐกว่า บริสุทธิ์กว่า วรรณะอื่น ที่เปรียบเหมือน วรรณะดำ

พระศาสดาตรัสว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลาย ล้วนเกิดมาจาก ช่องคลอดของนาง พรามณี ทั้งนั้น หาบริสุทธิไม่.. บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น(พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูตร) ผู้ใด เป็นภิกษุ สิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยชอบธรรมแท้


            [๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาทของนาง วิสาขามิคาร มารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐสามเณร กับ ภารทวาช สามเณร เมื่อจำนงความเป็นภิกษุอยู่ อยู่อบรมในสำนักภิกษุทั้งหลาย

            เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ ณที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณร ได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาท กำลังเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น

            ครั้นแล้ว จึงเรียกภารทวาชสามเณรมาพูดว่า

            ดูกรภารทวาชะผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลา เย็น เสด็จลงจาก ปราสาท ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาทเรามาไปกันเถิด พากันเข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางทีเราจะได้ฟังธรรมีกถา เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์บ้าง เป็นแม่นมั่น

            ส่วนภารทวาชสามเณร รับคำของวาเสฏฐสามเณรแล้ว ทันใดนั้น วาเสฏฐสามเณร กับ ภารทวาชสามเณร พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคม พระผู้มี พระภาคแล้วชวนกันเดินตามเสด็จพระองค์ ผู้กำลังเสด็จ จงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัส เรียกวาเสฏฐสามเณรมาแล้วตรัสว่า

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูล เป็นพราหมณ์ ออกบวช จากตระกูล พราหมณ์ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ พวกพราหมณ์ ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้าง ดอกหรือฯ สามเณรทั้งสองนั้น จึงกราบทูลว่า

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่า ข้าพระองค์ ทั้ง ๒ ด้วยคำ เหยียด หยาม อย่างสมใจอย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลย พระผู้มีพระภาค จึงตรัส ถามต่อไปว่า ก็พวกพราหมณ์พากันด่าว่าเธอทั้งสอง ด้วยถ้อยคำอันเหยียด หยามอย่าง สมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มี ลดหย่อนอย่างไรเล่า

(1.2)
(พวกพราหมณ์ถือกันว่าเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม)

            สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันว่าอย่างนี้ว่า
พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม
พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ
พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่
พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เจ้าทั้งสองคน มาละวรรณะที่ประเสริฐ ที่สุดเสียแล้ว ไปเข้ารีดวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของ พรหม

            เจ้าทั้งสองคนมาละ พวกที่ประเสริฐที่สุดใดเสียไป เข้ารีดวรรณะเลวทราม คือพวก สมณะ ที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดีเป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้า ของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย

            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้งสอง ด้วยถ้อยคำ ที่เหยียดหยาม อย่างสมใจ อย่างเต็มที่ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างนี้แล พระองค์จึงตรัสว่า

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่า ของพวกเขา ไม่ได้ จึงพากันพูดอย่างนี้
พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม
พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ
พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่
พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้

(1.3)
(พวกพราหมณ์ล้วนเกิดจากช่องคลอดมีระดู แต่อวดอ้างว่าตนเองบริสุทธิ์)

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฎอยู่แล คือ นางพราหมณี ทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์ บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้นก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอด ของนางพราหมณีทั้งนั้น พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์ พวกเดียวเป็น วรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียว เป็น วรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์ หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์ เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เขาเหล่านั้นกล่าวตู่ พรหม และพูดเท็จก็จะประสบแต่บาป เป็นอันมาก


(1.4)
(วรรณะ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร)

            [๕๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมบมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรม มีโทษ นับว่าเป็นธรรม มีโทษ เป็นธรรม ไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ดูกรวาเสฏฐะ และ ภารทวาชะ แม้ศูทรบางคน ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิด ในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้าย ผู้อื่น มีความเห็นผิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรม มีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็น อริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชน ติเตียน ธรรมเหล่านั้น มีปรากฎอยู่ แม้ในศูทร บางคนในโลกนี้


(1.5)
(กุศลกรรมบถ- อกุศลกรรมบถ๑๐ คือเครื่องชี้วัดคุณธรรมวรรณะทั้ง ๔)

            [๕๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ฝ่ายกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
เป็นผู้เว้นขาดจากการพูด ส่อเสียด
เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น
มีความเห็นชอบ (กุศลกรรมบถ๑๐)

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ  ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศลเป็นธรรม ไม่มี โทษ นับว่าเป็นธรรม ไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ ควรเสพควรเป็น อริยธรรม ควรนับว่าเป็น อริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญธรรม เหล่านั้น มีปรากฏ อยู่ แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคน ในโลกนี้ ฯลฯ แม้ศูทร บางคน ในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาด จากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล   

            ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรม ไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่าควร เป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่ แม้ใน ศูทร บางคน ในโลกนี้

            [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็เมื่อวรรณะทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคลสองจำพวกคือ พวกที่ตั้ง อยู่ในธรรมดำ วิญญูชน ติเตียน จำพวกหนึ่ง พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมขาว วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง เช่นนี้ ไฉนพวก พราหมณ์ จึงพากันอวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียว เป็นวรรณะที่ประเสริฐ ที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์ พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจาก พราหมณ์หา บริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตร เกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิด มาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาท ของพรหม ดังนี้เล่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อม ไม่รับรองถ้อยคำ ของพวกเขา ข้อนั้นเพราะเหตุไร


(1.6)
(ในวรรณะทั้ง๔ ผู้สิ้นอาสวะอยู่จบพรหมจรรย์ คือผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย)

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะว่าบรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสีย แล้วลุถึง ประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้น ปรากฏว่าเป็น ผู้เลิศกว่าคนทั้งหลาย โดยชอบธรรมแท้ มิได้ปรากฎ โดยไม่ ชอบธรรมเลย ด้วยว่าธรรม เป็นของประเสริฐ ที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุด ในหมู่ชน ทั้งในเวลา ที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า


(1.7)
(พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ยังถือว่าตนเองยังมีชาติสกุลที่ต่ำกว่าตถาคต ยังบูชาเคารพกราบไหว้ตถาคต)

            [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบ แน่ชัดว่า พระสมณโคดม ผู้ยอดเยี่ยม ได้ทรงผนวช จากศากยตระกูล ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ ก็พวกศากยตระกูล ยังต้องเป็น ผู้โดยเสด็จ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล อยู่ทุกๆขณะ และพวกเจ้าศากยะต้องทำการ นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในพระเจ้าปัสเสนทิโกศลอยู่

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล พวกเจ้าศากยะ ยังต้องกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใดอยู่ใน พระเจ้าปัสเสนทิโกศล แต่ถึงกระนั้น กิริยาที่ นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมอันนั้น
พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ก็ยังทรง กระทำอยู่ใน ตถาคต ด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีพระชาติสูง เรามีชาติ ต่ำกว่า พระสมณโคดม เป็นผู้มีพระกำลัง เรามีกำลังน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีคุณน่า เลื่อมใส เรามีคุณน่าเลื่อมใส น้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้ต่ำศักดิ์ กว่าดังนี้

            แต่ที่แท้ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้


(1.8)
(ธรรมเท่านั้น เป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต)   

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะโดยปริยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็น ของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลา ภายหน้า   

            [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองคน มีชาติ ก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากัน ทิ้งเหย้าเรือน เสีย มาบวช เป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้ เป็นพวกไหน


(1.9)
(ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นและมีอริยมรรคประดิษฐานอย่างมั่นคง เรียกว่าเป็นบุตร ของตถาคต)

            เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้ว แต่ รากแก้ว คือ อริยมรรค ประดิษฐาน มั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดามาร พรหมหรือ ผู้ใดผู้หนึ่ง ในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียก ผู้นั้นว่าเป็นบุตรเกิดแต่พระอุระ เกิดแต่ พระโอฐของ พระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่ พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดก พระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร

            เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี ว่า พรหมกาย ก็ดี ว่า ธรรมภูต ก็ดี ว่า พรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคตฯ


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๕

(2)
ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ
(อัคคัญญสูตร ที่ ๔ )

กำเนิดสัตว์

           
 [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองคนมี ชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็ เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกัน พากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็น พวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตร ดังนี้เถิด

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่  รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดามาร พรหม หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่ พระอุระเกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่ พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรม เนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดก พระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ คำว่าธรรมกาย ก็ดี ว่าพรหมกายก็ดี ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ 

            [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วง  ระยะกาล ยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะพินาศเมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่า สัตว์ย่อมเกิดใน ชั้น อาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จ ทางใจ มีปีติ เป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจาก กาย ตนเอง สัญจรไปได้ ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ใน ภพนั้นสิ้นกาล ยืดยาวช้านาน

            ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้ จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญ อยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม ลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้น ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกาย ตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศอยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน


(2.1)
กำเนิดโลกธาตุ

            ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้ แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลาง คืนก็ยัง ไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง และกึ่งเดือน ก็ยังไม่ปรากฏฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏเพศชาย และ เพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏสัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์ เท่านั้น


(2.2)
กำเนิดง้วนดิน

          
  ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาโดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานเกิด ง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ทั่วไปได้ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น เหมือนนมสด ที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝ้า อยู่ข้างบน ฉะนั้น ง้วนดิน นั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้าย เนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอา นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลอง ลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่าง สัตว์นั้น เอานิ้วช้อนง้วนดิน ขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดิน ขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพยายามเพื่อ จะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆด้วยมือแล้วบริโภค

            ดูกรเสฏฐะและภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดิน ให้เป็นคำๆ ด้วยมือ แล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวง อาทิตย์ก็ ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน และกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือน ปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ    

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับ เจริญขึ้นมาอีก

         [๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้น พากันบริโภค ง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน  ด้วยเหตุ ที่สัตว์เหล่านั้น มัวเพลิน บริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาล ช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณ ก็ปรากฏว่า แตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณ ไม่งาม ในสัตว์ทั้งสอง พวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่น     

            สัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่าน มีผิวพรรณ เลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัว ปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป

            เมื่อง้วนดินหายไปแล้วสัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็บ่น ถึงกันว่า รสดีจริง รสดีจริง ดังนี้ถึงทุกวันนี้ ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดี อย่างใดอย่างหนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อย แท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย


(2.3)

กำเนิดกระบิดิน

         [๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์ เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมี กระบิดิน ขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นรส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษ มิได้ฉะนั้น

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภค กระบิดิน สัตว์เหล่านั้น บริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้ สิ้นกาลนาน

(2.4)
กำเนิดเครือดิน

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภค กระบิดิน อยู่ รับประทาน กระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้น จึงมีร่างกายแข็งกล้า ขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวก มีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นสัตว์พวก ที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามี ผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณ เลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภ ผิวพรรณ เป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้วก็เกิดมี เครือดิน ขึ้น เครือดิน นั้น ปรากฏคล้ายผลมะพร้าว ทีเดียว เครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็ก อันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภค เครือดิน สัตว์เหล่านั้น บริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้น กาลช้านาน โดยประการที่สัตว์ เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน

(2.5)
สัตว์มีผิวพรรณต่างกัน บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกไม่งาม

            สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่าง กันไป สัตว์บาง พวก มีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสอง พวกนั้น สัตว์พวกที่มี ผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรา มีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่าน มีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา

            ดังนี้เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภ ผิวพรรณ เป็น ปัจจัย เครือดินก็ายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้น ก็พากัน จับกลุ่ม ครั้นแล้วต่าง ก็บ่นถึงกันว่าเครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดิน ของพวกเราได้สูญหาย เสียแล้วหนอ ดังนี้

            ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากพอถูกความระทมทุกข์ อย่างใด อย่างหนึ่ง มากระทบ ก็มักบ่นกัน อย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลายได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเรา ทั้งหลายได้มา สูญหายเสียแล้วหนอดังนี้ พวกพราหมณ์ ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็น ของดี เป็นของโบราณนั้น เท่านั้นแต่ไม่รู้ชัดถึง เนื้อความแห่ง อักขระนั้นเลย ฯ


(2.6)
กำเนิดข้าวสาลี และการเก็บรักษา

            [๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์ เหล่านั้น หายไปแล้ว ก็เกิดมี ข้าวสาลี ขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์ เหล่านั้นนำ เอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภค ในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลี ชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุก ก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไป นำเอาข้าวสาลีใด มาเพื่อบริโภคในเวลา เช้า ตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ด สุกแล้ว ก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่า บกพร่องไปเลย

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นพวกสัตว์บริโภคข้าวสาลี ที่เกิดขึ้นเอง ในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้น เป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์ เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี อันเกิดขึ้นเองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้น เป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้านาน


(2.7)
กำเนิดเพศหญิง-เพศชาย เกิดความกำหนัด และเสพเมถุนกัน

            สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่า แตกต่างกัน ออกไป สตรีก็มีเพศ หญิงปรากฏ และ บุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่าสตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างก็เพ่งดูกันอยู่เสมอ ก็เกิดความ กำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพ เมถุนธรรมกัน

(2.8)
การวิวาทโดยการโปรยฝุ่น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวกอื่น เสพเมถุนธรรม กันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์ เช่นนี้เล่าข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียม มาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่งคนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ ประพฤติชั่วร้าย ไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของ โบราณนั้น เท่านั้น แต่พวกเขา ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

         [๖๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารวาชะ ก็สมัยนั้นการโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้นนั้นแล สมมติ กันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ สมมติกันว่าเป็นธรรมขึ้น ก็สมัยนั้นสัตว์พวกใด เสพเมถุนกัน สัตว์พวกนั้น เข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง

(2.9)

สัตว์ที่เสพเมถุน สร้างเรือนเพื่อมุงบัง

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ
เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลายพากันเสพ อสัทธรรม นั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบัง อสัทธรรมนั้น ครั้งนั้นสัตว์ผู้หนึ่ง เกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า

            ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลี มาทั้งในเวลาเย็น สำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้ เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสีย คราวเดียวเถิด   
 
            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมา สัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอา ข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภค ทั้งเย็น ทั้งเช้าเสียคราวเดียวกันฉะนี้แล ดูกรวาเสฏฐะ และภารทวาชะ ครั้งนั้นสัตว์ผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ ผู้นั้นแล้วชวนว่า

            ดูกรสัตว์ผู้เจริญมาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บ เอาข้าวสาลี มาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้า เสียคราวเดียวแล้ว ต่อมา สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสองวัน แล้วพูดว่า ได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดี เหมือนกันท่านผู้เจริญ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอา ข้าวสาลี มาไว้เพื่อ บริโภคพอทั้ง เย็นทั้งเช้า เสียคราวเดียวแล้ว ฯ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของ สัตว์นั้นจึงไปเก็บ เอาข้าวสาลีมาไว้ คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดี เหมือนกัน ท่านผู้เจริญ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่าดูกรสัตว์ ผู้เจริญ มาเถิด เราจัก ไปเก็บข้าวสาลี กัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสี่วันแล้ว ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ นั้นจึงไปเก็บ ข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อแปดวัน แล้วพูดว่าแม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ เมื่อใดสัตว์ทั้งหลาย เหล่านั้น พยายามเก็บข้าวสาลี สะสมไว้เพื่อบริโภค กันขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้น จึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้ว ก็ไม่กลับ งอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้นมา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็น กลุ่มๆ

             [๖๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้น พากันมา จับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็มาปรับทุกข์กันว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้เกิดมีธรรมทั้งหลาย อันเลวทราม ปรากฏขึ้นในสัตว์ ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่าเมื่อก่อนพวกเราได้เป็นผู้สำเร็จ ทางใจ มีปีติเป็น อาหาร มีรัศมีซ่าน ออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมาน อันงามสถิตอยู่ ในวิมานนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน บางครั้งบางคราวโดย ระยะ ยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดิน ลอยขึ้นบนน้ำทั่วไปแก่เราทุกคน   

(2.10)
รัศมีกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น

            ง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามปั้นง้วนดิน กระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือ ทั้งสองเพื่อจะบริโภค เมื่อพวกเราทุกคน พยายามปั้นง้วนดิน กระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสอง เพื่อจะบริโภคอยู่ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกายหายไปแล้ว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว ดาวนักษัตรทั้งหลาย ก็ปรากฏขึ้น

            เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏขึ้นแล้ว กลางคืนและกลางวัน ก็ปรากฏขึ้น เมื่อกลางคืน และกลางวันปรากฏขึ้นแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่ง และกึ่งเดือน ปรากฏขึ้นแล้ว

            ฤดูและปีก็ปรากฏพวกเราทุกคนบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงชีพ อยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏ ขึ้นแก่พวกเรา ง้วนดินจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว จึงมีกระบิดินปรากฏขึ้น 

            กระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนบริโภคกระบิดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภค กระบิดินนั้นอยู่ รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะ มีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้า ปรากฏขึ้นแก่พวกเรา กระบิดินจึงหายไป

            เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว จึงมีเครือดินปรากฏขึ้น เครือดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเรา ทุกคนพยายามบริโภคเครือดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคเครือดินนั้นอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ชั่วช้า ปรากฏขึ้นแก่พวกเรา เครือดินจึงหายไป 

            เมื่อเครือดินหายไปแล้ว จึงมีข้าวสาลีปรากฏขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นพวกเราทุกคนไปนำเอา ข้าวสาลีชนิดใด มาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น  ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุก ก็งอกขึ้นแทนที่

            ตอนเช้าพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลี ชนิดนั้น ที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย เมื่อพวกเราทุกคนบริโภค ข้าวสาลี ซึ่งเกิดขึ้นเองในที่ไม่ ต้องไถอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้ สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา

            ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดไว้บ้าง แม้ต้นที่เกี่ยวแล้ว ก็ไม่งอกขึ้นแทนที่ ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่ง ข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเสียเถิด   

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลี ปักปันเขตแดนกัน

           [๖๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของ ตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภคสัตว์ทั้งหลาย จึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วน ของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่ เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้า เห็น ปานนี้อีกเลย

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้ง  ที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้น สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่น ที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้ตักเตือน ว่าแน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรม อันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วน ที่เขา ไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำ กรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหาร ด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหาร ด้วยท่อนไม้

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์