เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระปิณโฑล ภารทวาชะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ พระปิณโฑล ภารทวาชะ (ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้บันลือสีหนาท 
Pha102
           ออกไปหน้าหลัก 2 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (2) ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ (ต่อ)
       (2.11) เกิดประเพณีลอยบาป (ลอยอกุศลธรรม)จากการถือเอาสิ่งของผู้อื่น
       (2.12) เกิดกระท่อมมุงบังด้วยไม้ เพื่อหุงหาอาหาร เกิดนิคม พราหมณ์ปรากฏ
       2.13) การปรากฏของพราหมณ์อยู่ป่า และกำเนิดคัมภีร์ ของพราหมณ์อยู่นิคม
       (2.14) พราหมณ์อุบัติ สอนเรื่องมนต์ 
       (2.15) การอุบัติของพวกพ่อค้า แพศย์ ศูทร และธรรมมะ(ความจริงอันประเสริฐ)
       (2.16) บรรพชิต หรือสมณะ เกิดขึ้น
       (2.17) เกิดวรรณะทั้ง ๔
       (2.18) วรรณะกษัตริย์ประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ และเทวดา
  (3) เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป (เตวิชชสูตร)
       (3.1) วาเสฏฐะและภารทวาชมาณพเข้าเฝ้า
       (3.2) ทรงซักวาเสฏฐมานพเรื่องพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา(วิชชา๓)
       (3.3) อุปมาด้วยนางงามในชนบท
       (3.4) อุปมาด้วยพะองขึ้นปราสาท
       (3.5) อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี
       (3.6) ทางไปพรหมโลก
       (3.7) จุลศีล (ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล)
       (3.8) มัชฌิมศีล (ศีลที่มีระดับกลาง ที่ควรประพฤติงดเว้น)
       (3.9) มหาศีล (ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา)

 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๕

ง้วนดิน-กำเนิดโลกธาตุ
(อัคคัญญสูตร ที่ ๔ )

(ต่อ)

(2.11)

เกิดประเพณีลอยบาป (ลอยอกุศลธรรม)จากการถือเอาสิ่งของผู้อื่น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมา การถือเอา สิ่งของ ที่เจ้าของ ไม่ได้ ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จ จึงปรากฏการถือท่อนไม้ จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน

            ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่าพ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ ให้จักปรากฏ การ ติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏการถือท่อนไม้จัก ปรากฏใน เพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรม เหล่านั้น เกิดปรากฏแล้ว ในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้ว่ากล่าว ผู้ที่ควร ว่ากล่าวได้ โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียน ผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ ผู้ที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลี ให้แก่ผู้นั้น ดังนี้  

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้วสัตว์เหล่านั้นพากันเข้าไปหาสัตว์ ที่สวยงามกว่า น่าดู น่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ ทุกคน แล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่า กล่าวได้ โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ ควรติเตียน ได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจัก แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ

            ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ ควรว่ากล่าวได้ โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนสัตว์เหล่านั้น ก็แบ่งส่วนข้าวlาลีให้แก่สัตว์ ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ

         [๖๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอัน มหาชน สมมติ ดังนี้แล อักขระว่ามหาชนสมมติจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเหตุผู้ที่เป็น หัวหน้า เป็นใหญ่ ยิ่งแห่งเขตทั้งหลายดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์ กษัตริย์จึงอุบัติขึ้น เป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุ ที่ผู้เป็นหัวหน้า ยังชน เหล่าอื่นให้สุขใจได้ โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้นแห่ง พวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกัน หรือ เหมือนกัน จะไม่ต่างกัน หรือ ไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไป จากธรรม

            ดูกรวาเสฏฐะและ ภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด ในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๖๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกได้มี ความคิดขึ้น อย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้ จักปรากฏ การขับไล่ จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรม เหล่าใดบาปธรรมเหล่านั้น เกิดปรากฏแล้วใน สัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควร ไปลอย อกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิด สัตว์ เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าแล้ว

(2.12)

เกิดกระท่อมมุงบังด้วยไม้ เพื่อหุงหาอาหาร เกิดนิคม พราหมณ์ปรากฏ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากันลอย อกุศลธรรม ที่ชั่วช้าอยู่ ดังนี้แล อักขระว่าพวก พราหมณ์ๆจึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก พราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้าง กระท่อมซึ่งมุง และบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ใน กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ พวกเขาหุง ไม่มีการหุงต้ม และไม่มีการตำข้าว เวลาเย็น เวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภค ในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้น ครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไป เพ่งอยู่ใน กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ ในราวป่าอีก

            คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นั้นแล้ว พากันพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย สัตว์พวกนี้ แลพากันมาสร้าง กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า แล้วเพ่งอยู่ในกระท่อม ซึ่งมุง และบังด้วย ใบไม้ ไม่มีการหุงต้ม ไม่มี การตำข้าว เวลาเย็น  เวลาเช้าก็พากันเที่ยวแสวงหา อาหาร ตามคามนิคม และราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็น เวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้ อาหาร แล้วจึงพากัน กลับไปเพ่ง อยู่ในกระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก ฯ

(2.13)
การปรากฏของพราหมณ์อยู่ป่า และกำเนิดคัมภีร์ ของพราหมณ์อยู่นิคม

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุนั้นแล อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌานดังนี้ จึงอุบัติขึ้นเป็น อันดับที่สอง บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล  สัตว์บางพวก เมื่อไม่อาจสำเร็จ ฌานได้ที่กระท่อม ซึ่งมุงและบังด้วย ใบไม้ ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังคาม และนิคมที่ใกล้ เคียง แล้วก็จัดทำ พระคัมภีร์มาอยู่ คนทั้งหลาย เห็นพฤติการณ์ของ พวกพราหมณ์นี้นั้นแล้ว จึงพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบัง ด้วยใบไม้ในทวาชะราวป่า เที่ยวไป ยังบ้าน และนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำพระคัมภีร์ไปอยู่

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้พวกชน เหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ดังนี้แล อักขระว่า อชฺฌายิกา อชฺฌายิกา (ผู้คงแก่เรียน) จึงอุบัติ ขึ้นเป็นอันดับที่สาม

(2.14)
พราหมณ์อุบัติ สอนเรื่องมนต์ 

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็สมัยนั้นการทรงจำการสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้ สมมติว่าประเสริฐด้วยประการดังกล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้น แห่งพวกพราหมณ์ นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์ เหล่านั้นจะต่างกัน หรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่ เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอก ไปจากธรรม

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด ในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

(2.15)
การอุบัติของพวกพ่อค้า แพศย์ ศูทร และธรรมมะ(ความจริงอันประเสริฐ)

         [๖๕] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บาง จำพวก ยึดมั่น เมถุนธรรมแล้ว ประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้น ยึดมั่นเมถุนธรรมแล้ว ประกอบการงาน เป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่า เวสฺสา เวสฺสา ดังนี้ จึงอุบัติขึ้น

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้ การอุบัติขึ้น แห่งพวกแพศย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกัน หรือไม่ เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ฯลฯ

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้น แห่งพวกศูทรนั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระ ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไป จากธรรม 

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุด ในประชุมชนทั้งใน เวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

(2.16)

บรรพชิต หรือสมณะ เกิดขึ้น

         [๖๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิ ธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่าเราจัก เป็นสมณะ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกสมณะจะเกิด มีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ นี้แล เรื่องของสัตว์ เหล่านั้น จะต่างกัน หรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกัน หรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ นอกไปจากธรรม ความจริงธรรม เท่านั้น เป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็น อยู่ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

(2.17)

เกิดวรรณะทั้ง ๔

         [๖๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ...ศูทรก็ดี ...สมณะก็ดี ...ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำ ด้วยอำนาจ มิจฉาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เป็นเหตุเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ทั้งสิ้น ฯ

         [๖๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี...สมณะก็ดี ..ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือ การกระทำ ด้วยอำนาจ สัมมาทิฐิ เพราะยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

         [๖๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ...สมณะก็ดี ... มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วยกาย มีปรกติ กระทำกรรม ทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติ กระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็น ปนกัน ยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจ ความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการ กระทำด้วย อำนาจความเห็น ปนกัน เป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ

         [๗๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ...สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานใน ปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ

         [๗๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ วรรณะใดเป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหม จรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ววางภาระเสีย ได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะ เกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่า คนทั้งหลาย โดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย

(2.18)
วรรณะกษัตริย์ประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ และเทวดา

            ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐ ที่สุด ใน ประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ

         [๗๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิตคาถาไว้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิดภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย

ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่ากษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่เทวดา และมนุษย์ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดี  ชื่นชม พระภาษิต ของพระ ผู้มีพระภาค แล้วแล



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๕๘
(3)

๑๓. เตวิชชสูตร

            [๓๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศล ชื่อว่ามนสากตะ ได้ยินว่า ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ อัมพวันใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ทิศเหนือแห่ง มนสากตคาม เขตพราหมณคาม ชื่อว่ามนสากตะ

(3.1)

วาเสฏฐะและภารทวาชมาณพเข้าเฝ้า

            [๓๖๖] สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในมนสากตคาม มากด้วยกัน คือ วังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุโสณีพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ อีก

             ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารทวาชมาณพ เดินเที่ยวเล่นตามกันไป ได้พูดกันขึ้น ถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง วาเสฏฐมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่าน โปกขรสาติพราหมณ์ บอกไว้นี้ เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น ให้เป็นสหาย แห่งพรหมได้

             ฝ่ายภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้ เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น ให้เป็นสหายแห่ง พรหมได้

            วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารทวาชมาณพ ก็ไม่อาจให้ วาเสฏฐมาณพยินยอมได้

            [๓๖๗] ครั้งนั้น เวเสฏฐมาณพบอกภารทวาชมาณพว่า ดูกรภารทวาชะ ก็พระสมณ โคดม นี้แล เป็นโอรสของเจ้าศากยะ ทรงผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดีเขตพราหมณคามชื่อมนสากตะทางทิศเหนือ และ เกียรติศัพท์อันงาม ของท่านสมณโคดมนั้นขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้วเป็นผู้จำแนกพระธรรม

          มาไปกันเถิดภารทวาชะ เราจักเข้าไปเฝ้า พระสมณโคดม ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จักกราบทูลถามความข้อนี้ กะพระสมณโคดม พระสมณโคดม จักทรง พยากรณ์แก่เรา ทั้งสองอย่างใด เราจักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น ภารทวาชมาณพ รับคำวาเสฏฐมาณพ แล้วพากันไป

            [๓๖๘] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารทวาชมาณพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอเป็นที่ให้ ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

              เวเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอประทานโอกาส เมื่อข้าพระองค์ ทั้งสองเดินเล่นตามกันไป ได้พูดกันขึ้นถึง เรื่องทาง และมิใช่ทาง ข้าพระองค์พูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่าน โปกขรสาติพราหมณ์ บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็น สหาย แห่งพรหมได้ ภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า หนทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์ บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออกนำผู้ดำเนินไปตาม ทางนั้น ให้เป็นสหายแห่งพรหมได้

            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องทางและมิใช่ทางนี้ ยังมีการถือผิดกันอยู่ หรือ ยังมีการกล่าวผิดกันอยู่หรือ ยังมีการพูดต่างกันอยู่หรือ.

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่าท่านพูดว่า หนทางที่ท่าน โปกขรสาติพราหมณ์ บอกไว้นี้เท่านั้น  เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรงเป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไป ตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ภารทวาชมาณพพูดว่าหนทาง ที่ท่าน ตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้น เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนิน ไปตามทางนั้น ให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ดูกรวาเสฏฐะ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านจะถือผิด กันในข้อไหน จะกล่าวผิดกันในข้อไหน จะพูดต่างกันในข้อไหน

            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องทางและมิใช่ทาง พราหมณ์ทั้งหลาย คือ พราหมณ์ พวกอัทธริยะ พราหมณ์พวกติตติริยะ พราหมณ์พวกฉันโทกะ พราหมณ์ พวกพัวหริธ ย่อมบัญญัติ หนทางต่างๆ กันก็จริง ถึงอย่างนั้น ทางเหล่านั้นทั้งมวล เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ เปรียบเหมือน ในที่ ใกล้บ้าน หรือนิคม แม้หากจะมีทางต่างกันมากสาย ที่แท้ทางเหล่านั้นทั้งมวล ล้วนมารวมลงในบ้าน ฉะนั้น

            พ. ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ?
            ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด

            ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ?
            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด

            ดูกรวาเสฏฐะ เธอพูดว่า ทางเหล่านั้นนำออกหรือ?
            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์พูด

(3.2)

ทรงซักวาเสฏฐมานพ

            [๓๖๙] ดูกรวาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา(วิชชา๓) พราหมณ์ แม้คนหนึ่ง ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์แม้คนหนึ่งของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหม มีเป็นพยานอยู่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็นพรหม มีเป็นพยานอยู่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็น พรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา คือ ฤาษีอัฏฐกะฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับมาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้วกล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตาม ที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด ดังนี้ มีอยู่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            [๓๗๐] ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา แม้พราหมณ์ สักคนหนึ่ง ที่เห็นพรหมเป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ แม้อาจารย์สักคนหนึ่งของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็น พรหม เป็นพยานไม่มีเลยหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ แม้ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา ที่เห็น พรหม เป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย

            ดูกรวาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบมาแต่เจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ ผู้ได้ ไตรวิชชา ที่เห็นพรหมเป็นพยาน ไม่มีเลยหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย


            ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า พวกฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา คือฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้ พวกพราหมณ์ที่ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ที่ท่านขับมาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้วกล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรารู้พวกเราเห็น พรหม นั้นว่า พรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดยที่ใด หรืออยู่ในภพใด ดังนี้ มีอยู่หรือ?

            พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่รู้ พวกเรา ไม่เห็น แต่พวกเราแสดงหนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรงเป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหาย แห่งพรหมได้

            [๓๗๑] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิต ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็น ภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์แน่นอน

             ดีละ วาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดง หนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหมได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้

             ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลาง ก็ไม่เห็น แม้คนท้ายก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีอุปมาเหมือนแถว คนตาบอด ฉันนั้นเหมือนกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนท้ายก็ไม่เห็น ภาษิต ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ถึงความเป็นคำน่า หัวเราะทีเดียว ถึงความเป็นคำต่ำช้า อย่างเดียว ถึงความเป็นคำเปล่า ถึงความเป็นคำ เหลวไหลแท้ๆ

             ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็นพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ขึ้นไป เมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เป็นอย่างนั้น

            [๓๗๒] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็น ก็พระจันทร์และ พระอาทิตย์ขึ้นไป เมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ  นอบน้อมเวียนรอบ พราหมณ์ได้ไตรวิชชา สามารถแสดงทางเพื่อไปอยู่ ร่วมกับพระจันทร์ และพระอาทิตย์ แม้เหล่านั้นว่า ทางนี้แหละเป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไป ตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ดังนี้ ได้หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้
            
            ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เห็นพระจันทร์ และ พระอาทิตย์ แม้ชนอื่นเป็นอันมากก็เห็น พระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไปเมื่อใด ตกไปเมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมอ้อนวอน ชมเชย ประนมมือ นอบน้อม เดินเวียนรอบ

       พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่สามารถแสดงทางเพื่อไปอยู่ร่วมกับ พระจันทร์ และ พระอาทิตย์แม้เหล่านั้นว่า หนทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทาง นำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็จะกล่าวกันทำไม

       พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มิได้เห็นพรหมเป็นพยาน แม้พวกอาจารย์ของ พราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชาก็มิได้เห็น แม้พวกปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา ก็มิได้เห็น แม้พวกอาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ก็มิได้เห็น แม้พวกฤาษี ผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตรฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์บอกมนต์ ที่ในปัจจุบันนี้

       พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์เก่านี้ ที่ท่านขับ มาแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ได้กล่าวไว้ บอกไว้ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็นว่าพรหมอยู่ในที่ใด อยู่โดย ที่ใด หรืออยู่ในภพใด

       พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้นแหละ พากันกล่าวอย่างนี้ว่า พวกเรา แสดงหนทาง เพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมที่พวกเราไม่รู้ ที่พวกเราไม่เห็น นั้นว่า  หนทาง นี้แหละ เป็นมรรคาตรงเป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไป ตามทางนั้น ให้เป็น สหายแห่งพรหมได้


            [๓๗๓] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ แน่นอน

             ดีละ วาเสฏฐะ ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม จักแสดงหนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า ทางนี้แหละ เป็นมรรคาตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

(3.3)
อุปมาด้วยนางงามในชนบท

            [๓๗๔] ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราปรารถนา รักใคร่นางชนปทกัลยาณีในชนบทนี้ ชนทั้งหลายพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ นางชนปทกัลยาณีที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้จักหรือว่าเป็น นางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร์ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงถามเขาว่า

            ดูกรบุรุษผู้เจริญนางชนปทกัลยาณีที่ท่านปรารถนารักใคร่นั้น ท่านรู้จัก หรือว่านางมีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำ หรือพอสันทัด ดำ คล้ำ หรือมีผิวสีทอง อยู่ในบ้าน นิคม หรือนครโน้น เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลาย พึงกล่าวกะเขาว่า ท่านปรารถนารักใคร่หญิงที่ท่านไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น นั้น หรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่า ถูกแล้ว

             ดูกรวาเสฏฐะท่านจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าว ของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ?

             ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ย่อมถึง ความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์.

             ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาก็ดี อาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพราหมณ์พวกนั้นก็ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี เหล่าฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ต่างก็มิได้เห็นพรหมเป็นพยาน ...

(3.4)

อุปมาด้วยพะองขึ้นปราสาท

            [๓๗๕] ดูกรวาเสฏฐะ เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงทำพะองขึ้นปราสาท ในหนทางใหญ่ สี่แพร่ง ชนทั้งหลายพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านทำพะองขึ้นปราสาทใด ท่านรู้จักปราสาทนั้นหรือว่าอยู่ในทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ สูง ต่ำหรือพอปานกลาง เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึง ตอบว่า หามิได้ ชนทั้งหลายพึงกล่าว กะเขาว่าท่านจะทำพะองขึ้นปราสาท ที่ท่าน ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหรือ เมื่อเขาถูกถามดังนี้แล้ว เขาพึงตอบว่าถูกแล้ว

             ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าว ของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น คำกล่าวของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นคำไม่มีปาฏิหาริย์.

            ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาก็ดี อาจารย์ของพวกพราหมณ์นั้นก็ดี ปาจารย์ของอาจารย์แห่งพวกพราหมณ์นั้นก็ดี อาจารย์ที่สืบมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี เหล่าฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ ของพราหมณ์พวกนั้นก็ดี ต่างก็มิได้เห็นพรหมเป็นพยาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ ผู้ได้ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์ มิใช่หรือ?

             ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชา ย่อมถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหาริย์แน่นอน

             ดีละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็น พรหม จักแสดงหนทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมนั้นว่า ทางนี้แหละเป็นมรรคา ตรง เป็นทางตรง เป็นทางนำออก นำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นให้เป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

(3.5)

อุปมาด้วยแม่น้ำอจิรวดี

            [๓๗๖] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนี้ น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขายืน ที่ฝั่งนี้ ร้องเรียกฝั่งโน้นว่า ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ฝั่งโน้นจงมาฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้น เป็นไฉนฝั่งโน้นของแม่น้ำอจิรวดีจะพึงมาสู่ฝั่งนี้ เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุ อ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะเหตุยินดี ของบุรุษนั้นหรือหนอ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย.

             ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ละธรรมที่ทำ บุคคล ให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์ประพฤติ อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอีศวร พระประชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาอย่างนั้น ละธรรม ที่ทำบุคคลให้เป็น พราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะยินดี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

            [๓๗๗] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขามัดแขนไพร่หลัง อย่างแน่น ด้วยเชือกอย่างเหนียวที่ริมฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้นจากฝั่งนี้ แห่งแม่น้ำอจิรวดี ได้แลหรือ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

             ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัยของ พระอริยเจ้า เรียกว่าขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้ ด้วยจักษุ เสียงที่พึงรู้ด้วยโสต กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่าขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่อง จองจำบ้าง

            พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา กำหนัดสยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญา คิดสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้อยู่ ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ละธรรม ที่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคลให้เป็น พราหมณ์ ประพฤติอยู่ กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิด สลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ พัวพันในกามฉันท์อยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึง ความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

            [๓๗๘] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขากลับนอนคลุม ตลอดศีรษะเสียที่ฝั่ง

             ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้น จากฝั่งนี้ แห่งแม่น้ำอจิรวดีได้หรือหนอ? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

             ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน นิวรณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ ในวินัยของ พระอริยเจ้า เรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ ๕เป็นไฉน? คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์นิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล ในวินัยของ พระอริยเจ้า เรียกว่าเครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง.

            [๓๗๙] ดูกรวาเสฏฐะ พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ถูกนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ปกคลุม หุ้มห่อ รัดรึง ตรึงตราแล้ว ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ละธรรม ที่ทำบุคคล ให้เป็น พราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์ ประพฤติอยู่ ถูกนิวรณ์ ๕ ปกคลุม หุ้มห่อรัดรึง ตรึงตราแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ กายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

            [๓๘๐] ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเคยได้ยิน พราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่ากระไรบ้าง
พรหมมีเครื่องเกาะคือสตรีหรือไม่มี ?  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี.
มีจิตจองเวรหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี.
มีจิตเบียดเบียนหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี.
มีจิตเศร้าหมองหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี.
ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ได้? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้.

            ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา มีเครื่องเกาะคือสตรีหรือไม่มี. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี.
มีจิตจองเวรหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี.
มีจิตเบียดเบียนหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี.
มีจิตเศร้าหมองหรือไม่มี? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มี.
ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้หรือไม่ได้? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

            [๓๘๑] ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันว่า พราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชา เหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะคือสตรี แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ ผู้ได้ ไตรวิชชาซึ่งยังมีเครื่องเกาะคือสตรี กับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรีได้แลหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

            ดีละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีเครื่องเกาะคือสตรี เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ผู้ไม่มี เครื่องเกาะคือสตรี ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา เหล่านั้น ยังมีจิตจองเวร แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีจิตจองเวรกับพรหม ผู้ไม่มีจิตจองเวร ได้แลหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

             ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีจิตเบียดเบียน แต่พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีจิตเบียดเบียนกับ พรหม ผู้ไม่มีจิตเบียดเบียน ได้แลหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.

             ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังมีจิตเศร้าหมอง แต่ พรหมไม่มี จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา ซึ่งยังมีจิตเศร้าหมอง กับพรหม ผู้ไม่มีจิตเศร้าหมอง ได้แลหรือ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ได้.

             ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ ไม่ได้ แต่พรหมยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ จะมาเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ ไตรวิชชา ซึ่งยังจิต ให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้กับพรหมผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ ได้แลหรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ได้

             ถูกละ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ยังจิตให้เป็นไป ในอำนาจ ไม่ได้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งพรหม ผู้ยังจิต ให้เป็นไป ในอำนาจได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

             ดูกรวาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้นในโลกนี้จมลงแล้ว ยังจมอยู่ ครั้นจมลงแล้วย่อมถึงความย่อยยับ สำคัญว่าข้ามได้ง่าย เพราะฉะนั้น ไตรวิชชานี้ เราเรียกว่า ป่าใหญ่คือไตรวิชชาบ้าง ว่าดงกันดารคือไตรวิชชาบ้าง ว่าความพินาศ คือไตรวิชชาบ้าง ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา

            [๓๘๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทาง เพื่อความ เป็นสหายแห่งพรหม

            ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มนสากตคามอยู่ในที่ใกล้ แค่นี้ ไม่ไกลจากนี้มิใช่หรือ?  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มนสากตคามอยู่ในที่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกลจากนี้ พระเจ้าข้า

            ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษผู้เกิดแล้ว เติบโตแล้ว ในมนสากตคามนี้ ออกไปจากมนสากตคามในทันใด พึงถูกถาม หนทางแห่ง มนสากตคาม

            ดูกรวาเสฏฐะ จะพึงมีหรือที่บุรุษนั้นผู้เกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม ถูกถามถึงหนทางแห่งมนสากตคามแล้ว จะชักช้าหรืออ้ำอึ้ง?

            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มีเลย ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้น เกิดแล้ว เติบโตแล้วใน มนสากตคาม เขาต้องทราบหนทางแห่งมนสากตคาม ทั้งหมด ได้เป็นอย่างดี

            ดูกรวาเสฏฐะ เมื่อบุรุษนั้นเกิดแล้ว เติบโตแล้วในมนสากตคาม ถูกถาม ถึงทาง แห่งมนสากตคาม จะพึงมีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งบ้าง ตถาคตถูกถามถึง พรหมโลก หรือปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงพรหมโลก ไม่มีความชักช้าหรืออ้ำอึ้งเลย เรารู้จักพรหม รู้จักพรหมโลก รู้ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ ให้ถึงพรหมโลก และรู้ถึงว่า พรหม ปฏิบัติอย่างไร จึงเข้าถึง พรหมโลกด้วย

            [๓๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า พระสมณโคดมย่อมแสดงทาง เพื่อความเป็น สหายแห่งพรหมดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระองค์จงแสดงทาง เพื่อความเป็นสหาย แห่งพรหม ขอพระองค์จงอุ้มชูพราหมณประชา

            ดูกรวาเสฏฐะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าววาเสฏฐ มาณพ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

(3.6)

ทางไปพรหมโลก

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรวาเสฏฐะ พระตถาคตเสด็จอุบัติ ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไป ดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคต พระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้ง เทวโลกมารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญา อันยิ่งของพระองค์เองแล้วอยู่

             ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้นครั้นฟังแล้วได้ศรัทธา ในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็น ตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมา แห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

            การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์ โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติ น้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวช เป็นบรรพชิต

           เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวัง ในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาท และ โคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพ บริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

(3.7)

จุลศีล (ภิกษุควรถึงพร้อมด้วยศีล)

            ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?
            ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะวางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง

            ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติ ห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

            ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

            ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอก ข้างโน้นเพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอก ข้างนี้ เพื่อให้คน หมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคน ที่พร้อม เพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลิน ในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวคำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

            ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง

            ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำ ที่เป็นจริง พูดอิงอรรถพูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
            ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
            ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
            ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
            ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
            ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
            ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
            ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
            ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
            ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
            ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
            ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
            ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
            ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
            ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
            ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย
            ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และ การโกงด้วย เครื่องตวงวัด
            ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
            ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

(3.8)
มัชฌิมศีล (ศีลที่มีระดับกลาง ที่ควรประพฤติงดเว้น)

            . ภิกษุผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการ พรากพืชคาม และ ภูตคาม เห็นปานนี้คือ พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิด แต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้เช่นอย่างที่สมณ พราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการ บริโภค ของที่ทำการสะสมไว้เห็นปานนี้ คือ สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยายการเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพ บ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความ ประมาทเช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วย ศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุก แถวละแปดตา แถวละสิบตาเล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกาเล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่น หกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆเล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังนั่ง นอน บนที่นั่ง ที่นอน อันสูงใหญ่เห็นปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้า ทำเป็นรูป สัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ ขนยาวเครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาด ที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะ วิจิตรด้วย รูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาด ขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะ จุนางฟ้อน ๑๖ คนเครื่องลาด หลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาด ที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาด มีเพดาน เครื่องลาด มีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่ง การแต่งตัวเช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายประกอบการประดับการตบแต่งร่างกาย อันเป็น ฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัวไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปากประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี (พัดที่ทำด้วยแส้หางจามรี) นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับ ไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ และความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ
แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย กล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้เช่นว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของ ข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่าน ไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าว ภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมา ผันแปร ไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะ ของท่าน ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

            ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการใช้ เช่นอย่างที่ สมณ พราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวาย ประกอบ ทูตกรรม และการรับใช้เห็นปานนี้ คือ รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหา อำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และกุมารว่าท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป  ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง

            ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียงพูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

(3.9)

มหาศีล (ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา)

            ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ
ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต

ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า
ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน
ทำพิธีซัดแกลบ บูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ
ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ
ทำพิธี เติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ
ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ
ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสกเป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกัน บ้านเรือน  เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ
เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร
เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้
คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า
ทายลักษณะศาตราทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู
ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรีทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร
ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสีทายลักษณะช้าง
ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ
ทายลักษณะโคทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่
ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ยทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า
ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิด ด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้
คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า
พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก
พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย
พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายในจักถอย
พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอก จักปราชัย
พระราชาภายนอกจักมีชัยพระราชาภายในจักปราชัย
พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย
เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า

จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ จักเดินผิดทาง

ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง
จักมีอุกกาบาตจักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหวจักมีฟ้าร้อง

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตร จักขึ้น
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตร จักตก

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร จักมัวหมอง
ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง

จันทรคราส จักมีผลเป็นอย่างนี้
สุริยคราส จักมีผลเป็นอย่างนี้
นักษัตรคราส จักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้
ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้

ดาวนักษัตรเดินถูกทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้
ดาวนักษัตรเดินผิดทาง จักมีผลเป็นอย่างนี้

มีอุกกาบาต จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหาง จักมีผลเป็นอย่างนี้
แผ่นดินไหว จักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้อง จักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตร ขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตก จักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่าง จักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่ สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยากจักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณนับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้างดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้างร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง เป็นหมอทรงกระจกเป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหมร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

            ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่าง ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพ โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือนทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็น กะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบนปรุงยาถ่ายโทษ เบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ปรุงยาทากัด ปรุงยา ทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง

            ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น

             ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้นภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน

             ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์