พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒
1)
ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ
[๒๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักก ชนบท. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้า เข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต.
ครั้นเสร็จจากการเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อทรงพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งพักกลางวันณ โคนต้น มะตูมหนุ่ม แม้ทัณฑปาณิศากยะ กำลังเสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เสด็จเข้าไป ยัง ป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ยังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระสมณะมีปกติกล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร?
2)
(ตรัสตอบปัญหาทัณฑปาณิศากยะ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่โต้เถียงกัน กับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก )
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะ ไม่โต้เถียงกันกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก และสัญญาทั้งหลาย จะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนอง ได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพใหญ่ได้อย่างไร เรามีปกติกล่าวอย่างนั้น มีปกติ บอกอย่างนั้น.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะได้ สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่น เป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป.
[๒๔๔] ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วเสด็จ เข้าไปยังนิโครธาราม ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลาย มารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะเล่าให้ฟัง เวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต ครั้นเสร็จจากการเที่ยวไป บิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงนั่งพัก กลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ทัณฑปาณิศากยะเสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เข้าไปยังป่า มหาวัน ครั้นแล้วเข้าไปหาเรายังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้ถามเราว่า พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อทัณฑปาณิศากยะ กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่โต้เถียงกันกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก
อนึ่ง สัญญาทั้งหลาย จะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้ปราศจากกาม ทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพน้อย ภพใหญ่ได้อย่างไร เรามีปกติกล่าวอย่างนั้น มีปกติบอกอย่างนั้น. เมื่อเรากล่าว อย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะ สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป.
[๒๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามขึ้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร จึงไม่โต้เถียงกับผู้ใดผู้หนึ่ง ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลกอนึ่ง สัญญาทั้งหลาย จะไม่ครอบงำพราหมณ์ ผู้ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหา ในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร?
พระผู้มีพระภาคตอบว่า ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำ บุรุษเพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่ง ทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่ง ภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย (อนุสัย ๗) เป็นที่สุดแห่งการจับ ท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และ การกล่าวเท็จ อกุศลธรรม อันลามก เหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น. ครั้นพระผู้มีพระภาค ผู้สุคตเจ้าได้ตรัส ดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย.
3)
(ทรงแสดงอุเทศโดยย่อ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า)
[๒๔๖] ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นก็บังเกิด ความสงสัยว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลินยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัยเป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะการถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามก เหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้.
4)
(ภิกษุเหล่านั้นสอบถามกับพระมหากัจจานะ ผู้ที่พระศาสดายกย่องแล้ว)
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้น ก็บังเกิดความคิดว่า ท่านพระมหากัจจานะ นี้แล อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่าน พระมหากัจจานะ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลายควรพากันไปหา ท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ.
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้น ได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัย กับท่านพระมหากัจจานะว่า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว พากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพูดกะท่านมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่าน พระกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า
5)
(พระมหากัจจานะอธิบายส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด)
ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้นอันนี้เทียวเป็นที่สุดแห่ง ราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นเป็นที่สุดแห่ง วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง อวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียงการด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย
ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกผมได้ บังเกิดความสงสัยดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ ไว้ โดยย่อ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ใครหนอจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้
ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ ผมเหล่านั้นก็บังเกิดความคิดว่า ท่านมหากัจจานะนี้ อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่าน มหากัจจานะนี้ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลาย ควรพากันเข้าไป หาท่านกัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านมหากัจจานะดู ขอท่านมหากัจจานะ จงชี้แจงไปเถิด.
6)
(พระมหากัจจานะ ตอบ เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาแก่นไม้ แต่กลับได้กิ่งและไบ)
[๒๔๗] ท่านพระมหากัจจานะ จึงกล่าวตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ผู้มีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ ก็ล่วงเลยโคนต้น และลำต้นของต้นไม้ใหญ่อันมีแก่นเสีย สำคัญว่าจะพึงแสวงหาแก่น ที่กิ่งและใบฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้นเมื่อพระศาสดา ทรงปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย ก็ล่วงเลยพระองค์ไปเสียแล้ว กลับจะมาไต่ถามเนื้อความนี้กะผม
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้ทรงเห็น เป็นผู้มี พระจักษุ เป็นผู้มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลา อันสมควร ที่ท่านทั้งหลายจะทูลถาม เนื้อความนี้ ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรงแก้ไขอย่างไร ท่านทั้งหลาย ก็ควรจำไว้อย่างนั้น.
ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นเป็นผู้มี พระจักษุ เป็นผู้มีพยาน เป็นผู้มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควร ที่กระผมทั้งหลาย จะทูลถาม เนื้อความนี้ ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรงแก้ไขอย่างไร กระผมทั้งหลาย ควรจำไว้อย่างนั้น
ก็จริงอยู่แล แต่ว่า ท่านพระมหากัจจานะ อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจง เนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อว่า ไม่ทรงชี้แจง โดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะ จงชี้แจงไปเถิด อย่าทำความหนักใจให้เลย.
7)
พระมหากัจจานะแสดงอุเทศโดยพิสดาร
(ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่ยึดถือ ย่อมเป็นทีสุดแห่ง ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย)...(อนุสัย ๗)
[๒๔๘] ท่านมหากัจจานะจึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ผมจะกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว.
ท่านพระมหากัจจานะ จึงกล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้แล
เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย
เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย
เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย
เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย
เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย
เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย
เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย (อนุสัย ๗)
เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไป โดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดารนี้ ให้พิสดารได้อย่างนี้
8)
(ผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา บุคคลตรึกถึงเวทนา ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด
ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำบุรุษ)
๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนา อันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลายที่พึงจะรู้ด้วยตา เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.
๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง ...
๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น ...
๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ...
๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ...
๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์
เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น
บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น
บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น
บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจ เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.
9)
(เมื่อตามี รูปมี และจักขุวิญญาณมี ผัสสะมี เวทนามี สัญญามี วิตกมี ..เมื่อวิตกมี การครอบงำส่วนแห่งสัญญา เครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้)
๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตามี รูปมี และจักขุวิญญาณมี เขาจักบัญญัติว่า ผัสสะ ข้อนี้มีฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติว่าเวทนามี เขาจักบัญญัติสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติวิตกมี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญา เครื่อง เนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อมีหู เสียงมี ...
๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกมี กลิ่นมี ...
๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นมี รสมี ...
๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายมี โผฏฐัพพะมี ...
๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจมี ธรรมารมณ์มี และมโนวิญญาณมี
เขาจักบัญญัติว่า ผัสสะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนามี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกมี เขาจักบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญา เครื่อง เนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.
10)
(เมื่อตาไม่มี รูปไม่มี และจักขุวิญญาณไม่มี ผัสสะไม่มี เวทนาไม่มี สัญญาไม่มี วิตกไม่มี ..การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า มิไช่ฐานะที่จะมีได้)
๑. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตาไม่มี รูปไม่มี และจักขุวิญญาณไม่มี เขาจักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญา เครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.
๒. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อหูไม่มี เสียงไม่มี ...
๓. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกไม่มี กลิ่นไม่มี ...
๔. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นไม่มี รสไม่มี ...
๕. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี ...
๖. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจไม่มี ธรรมารมณ์ไม่มี และมโนวิญญาณไม่มี
เขาจักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่อง เนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.
11)
(เมื่อบุคคล ไม่เพลิดเพลิน ไม่ยึดถือ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมไม่ครอบงำ อนุสัยทั้ง ๗ จึงถูกละไป อกุศลธรรมย่อมดับเพราะเหตุนั้น การทะเลาะกัน การโต้เถียงย่อมไม่เกิดขึ้น)
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือกล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียว
๑) เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย
๒) เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย
๓) เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย
๔) เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย
๕) เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย
๖) เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย
๗) เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย (อนุสัย ๗)
เป็นที่สุดแห่งการจับต้นไม้ การจับศาสตรา การทะเลาะการถือผิด การโต้เถียงกัน การด่าว่ากัน การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้อย่างนี้.
ก็แลเมื่อท่านทั้งหลายปรารถนา ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้นไว้โดยประการนั้นเถิด.
[๒๔๙] ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านมหากัจจานะ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า
ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียว เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียงกัน การด่าว่ากัน การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น ไม่ทรงชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคหลีกไปไม่นาน พวกข้าพระองค์ ได้บังเกิดความสงสัยดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดง อุเทศนี้ไว้โดยย่อ ...ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ก็บังเกิดความคิดขึ้นว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้ อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจะพากันไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะดู. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้นเอง ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะได้ชี้แจงเนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่พวกข้าพระองค์.
12)
ทรงสรรเสริญพระมหากัจจานะ ว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจานะเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้พวกเธอจะถามเนื้อความนี้กะเรา แม้เราก็จะพึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนกับที่พระมหากัจจานะพยากรณ์แล้วนั้น นี่แหละเป็นเนื้อความแห่งข้อนั้น เธอทั้งหลายจงจำทรงข้อนั้นไว้เถิด.
[๒๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงกราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิว ความเหนื่อยอ่อนครอบงำ ได้ขนมหวาน แล้วกินในเวลาใด ก็พึงได้รับรสอัน อร่อยหวาน ชื่นชูใจในเวลานั้น ฉันใดข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนักคิด ชาติบัณฑิต พึงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ด้วยปัญญา ในเวลาใด ก็พึงได้ความพอใจ และได้ความเลื่อมใสแห่งใจในเวลานั้น ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้ ชื่ออะไร.
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เหตุดังนั้น เธอจงทรงจำ ธรรมบรรยายนี้ว่า มธุปิณฑิกปริยาย ดังนี้เถิด.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.
|