เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระมหากัจจานะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ พระมหากัจจานะ(ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ
Kat 105
           ออกไปหน้าหลัก 5 of 5
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  ๖. กัจจานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๘
 

  1) อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน

    2) อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคต พระธรรม พระสงฆ์ จิตของอริยสาวกเป็นจิตไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะ กลุ้มรุม
    3) อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน ย่อมระลึกถึงจาคะของตน ย่อมระลึกถึงเทวดา จิตของอริยสาวก จะเป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
  ๘. สมยสูตรที่ ๒ ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒
    1) หมู่ภิกษุมีความเห็นแตกต่างกันว่า สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ
    2) พระมหากัจจานะกล่าวว่า สมัยใดภิกษุถูกกามราคะครอบงำ ไม่ทราบอุบายเครื่องสลัดออก สมัยนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ
  ๕. เถรสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔
    1) เพราะเหตุเพียงเท่าใดจึงเรียกว่าเป็นพราหมณ์ ..ชนเหล่าใดลอยบาปได้แล้ว สังโยชน์สิ้นแล้ว ตรัสรู้แล้วชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์
  ๖. โสณสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒
    1) อุบาสกโสณเข้าหาพระกัจจานะเพื่อขอบวช ท่านกล่าวว่าพรหมจรรย์นี้ทำได้ยากนัก แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ล่วงเลยไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท
    2) พระมหากัจจานะอนุญาตให้พระโสณะได้เข้าเฝ้าฯ ผู้น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบผู้ถึงความสงบ
    3) ตรัสถามพระโสณะว่า เธออดทนได้หรือ พึงให้เป็นไปได้หรือ เธอมาสิ้นหนทางไกลด้วยความไม่ลำบากหรือ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ
  ๘. มหากัจจานสูตร ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙
    1) ทรงเปล่งอุทานเมื่อเห็นพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังค์ ว่า ...ผู้ใดตั้งกายคตาสติเนืองๆ ขันธปัญจกไม่พึงมี ที่ชื่อว่าเป็นของเราก็ไม่พึงมี
  (มาคันทิยปัญหา) ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓
    1) เพราะเหตุใดพระอรหันตขีณาสพ ไม่โต้เถียงด้วยวาทะ หรือวิวาทกับผู้ใด เพราะละที่อาลัยแล้วไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ (ไม่ผูกพันด้วยราคะ)
    2) จะพึงเห็นโดยพิสดารได้อย่างไร? บุคคลละที่อาลัยแล้วไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกามเปล่าจากกามทั้งหลาย
    3) ผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย อย่างไร ? รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ และวิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะ
    4) บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย อย่างไร? ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน อุบายและอุปาทาน อันเป็นเหตุ ยึดมั่นถือมั่น
    5) บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปในที่อยู่ อย่างไร? รูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิต และธรรมนิมิตอันพระตถาคตละเสียแล้ว
 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๘

๖. กัจจานสูตร
1)
(อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน)

           [๒๙๗] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระมหากัจจานะแล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ถึงโอกาสได้ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการ ๖ ประการเป็นไฉน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

2)
(อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคต ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ จิตของ อริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะ ลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม)

           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย (๑) อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคต ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อม ระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของ อริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะ กลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไปพ้นไป หลุดไปจากความอยาก

           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบจญกามคุณ อริยสาวกนั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำพุทธานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ

           อีกประการหนึ่ง (๒) อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม ว่าพระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระธรรม สมัยนั้น จิตของ อริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูก ราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำธรรมานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มี ความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ

           อีกประการหนึ่ง(๓) อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์สาวกของ พระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของ อริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ... สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสังฆานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

3)
(อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน ย่อมระลึกถึงจาคะของตน ย่อมระลึกถึงเทวดา
จิตของอริยสาวก จะเป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม)

           อีกประการหนึ่ง(๔) อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ สมาธิ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลสมัยนั้น จิตของ อริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำสีลานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดาด้วยประการฉะนี้ ฯ

           อีกประการหนึ่ง(๕) อริยสาวกย่อมระลึกถึงจาคะของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายสมัยใด อริยสาวก ย่อมระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ฯลฯ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำจาคานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ

           อีกประการหนึ่ง(๖) อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่า จาตุมหาราชมีอยู่ ฯลฯเทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา เช่นใด จุติ จากโลกนี้ แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วย ศีลเช่นใด ฯลฯ สุตะจาคะ ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้น แม้ของเราก็มีอยู่

อนุสสติ ๖ ประการ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
(1) ย่อมระลึกถึง พระตถาคต (พุทธานุสสติ) ว่าเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
(2) ย่อมระลึกถึง พระธรรม (ธรรมานุสสติ) ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
(3) ย่อมระลึกถึง พระสงฆ์ (สังฆานุสสติ) ว่า สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
(4) ย่อมระลึกถึง ศีลของตน (สีลานุสสติ)  อันไม่ขาด ว่า พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
(5) ย่อมระลึกถึง จาคะของตน (จาคานุสสติ)  ว่าเป็นลาภของเรา หนอ เราได้ดีแล้วหนอ
(6) ย่อมระลึกถึง เทวดา (เทวตานุสสติ)  ว่า เทวดาจาตุมีอยู่ ดาวดึงส์ และเหล่าอื่นมีอยู่

           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศีลสุตะ จาคะ และ ปัญญาของตน และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูก ราคะ กลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก

           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำว่าความอยากนี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ อริยสาวกผู้นั้นแล ย่อมมีใจเสมอด้วยอากาศ ไพบูลย์ เป็นมหรคต ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน โดยประการทั้งปวงอยู่ สัตว์บางพวกในโลกนี้ทำเทวตานุสสติ แม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมดา ด้วยประการฉะนี้ ฯ

           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว คือ ข้อที่พระผู้มี พระภาค พระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ การถึงโอกาสได้ ในที่คับแคบ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วง โสกปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน การถึงโอกาสนี้ คือ อนุสสติ ๖ ประการนี้แล ฯ



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒

๘. สมยสูตรที่ ๒

1)
(หมู่ภิกษุมีความเห็นต่างกันว่า สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนา ทางใจ)

           [๒๙๙] สมัยหนึ่ง ภิกษุชั้นเถระหลายรูป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ใกล้เมือง พาราณสี ครั้งนั้นแล เมื่อภิกษุชั้นเถระเหล่านั้นกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกัน ที่โรงฉัน ได้เกิดการสนทนากันขึ้นในระหว่างดังนี้ ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย สมัยไหนหนอแล ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนา ทางใจ

           เมื่อกล่าวกันอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงได้กล่าวกะภิกษุชั้นเถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้าแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ

           เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ

           สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต ล้างเท้า แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

           สมัยนั้น แม้ความเหน็ดเหนื่อย เพราะการเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต แม้ความ เหน็ดเหนื่อย เพราะฉันอาหารของภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังไม่สงบระงับ ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ

           สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่เงาวิหาร ด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าสมัยนั้น เป็นสมัยที่ควรเพื่อ เข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ

           เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ

           สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ออกจากที่เร้นในเวลาเย็น นั่งที่เงาวิหาร ด้านหลัง คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

           สมัยนั้น สมาธินิมิตใด ที่ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ได้ทำไว้ในใจ ในกลางวัน สมาธินิมิตนั้น ก็ยังฟุ้งซ่านอยู่ ฉะนั้น สมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไป พบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจสมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจลุกขึ้นในเวลา เช้ามืด แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควร เพื่อเข้าไป พบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ

           เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรท่านผู้มีอายุสมัยนั้น ไม่ใช่สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ สมัยใด ภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ลุกขึ้นในเวลาเช้ามืดแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

           สมัยนั้น กายของภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจนั้น ก็ยังตั้งอยู่ในโอชา (มีโอชารสแห่งอาหารแผ่ซ่านไปทั่วตัว) ความสบายย่อมมี แก่ภิกษุผู้เจริญภาวนา ทางใจนั้น เพื่อทำไว้ในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ฉะนั้น สมัยนั้น เป็นสมัยที่ควร เพื่อเข้าไปพบภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯ
----------------------------------------------------------------------------------------------------

2)
(พระมหากัจจานะกล่าวว่า สมัยใดภิกษุถูกกามราคะครอบงำ และไม่ทราบอุบาย เครื่องสลัดออก สมัยนั้นภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุผู้เจริญภาวนาทางใจ)

           เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะ ได้กล่าวกะภิกษุ ชั้นเถระ ทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน

           ดูกรภิกษุ สมัยใด ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจถูกกามราคะ กลุ้มรุม ถูกกามราคะ ครอบงำอยู่ และเธอย่อมไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่อง สลัดออก แห่งกามราคะที่เกิดขึ้นแล้วสมัยนั้น ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหา ภิกษุผู้เจริญภาวนา ทางใจ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

           ดูกรท่านผู้มีอายุ ผมมีใจถูกกามราคะ กลุ้มรุม ถูกกามราคะ ครอบงำอยู่ และไม่ทราบชัดตามความเป็นจริง ซึ่งอุบาย เป็นเครื่อง สลัดออกแห่งกามราคะ ที่เกิดขึ้นแล้วดีแล้ว

           ขอท่านผู้มีอายุจงแสดงธรรม เพื่อละกามราคะแก่ผม ภิกษุผู้เจริญภาวนา ทางใจ ย่อมแสดงธรรม เพื่อละกามราคะ แก่เธอ

           ดูกรภิกษุ นี้เป็นสมัยที่ ๑ ที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ ฯลฯ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนั้นผมได้สดับรับมา เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรภิกษุ สมัยที่ควรเพื่อเข้าไปพบภิกษุ ผู้เจริญภาวนาทางใจ มี ๖ ประการนี้แล ฯ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔

๕. เถรสูตร

1)
(เพราะเหตุเพียงเท่าใดจึงเรียกว่าเป็นพราหมณ์ ..ชนเหล่าใดลอยบาปได้แล้ว สังโยชน์ สิ้นแล้ว ตรัสรู้แล้ว ชนเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ในโลก)

           [๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหา โมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวัตตะ และท่านพระนันทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านเหล่านั้นกำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นมาอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้น มาอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้มีชาติเป็น พราหมณ์รูปหนึ่ง ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะเหตุเพียงเท่าไรหนอแล และธรรมที่ทำบุคคล ให้เป็นพราหมณ์ เป็นไฉน

           ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า ชนเหล่าใดลอยบาปทั้งหลายได้แล้ว มีสติอยู่ทุกเมื่อ มีสังโยชน์ สิ้นแล้ว ตรัสรู้แล้ว ชนเหล่านั้นแลชื่อว่า เป็นพราหมณ์ในโลก ฯ



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒

๖. โสณสูตร

1)
(อุบาสกโสณโกฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ เพื่อขอบวช พระมหากัจจานะ กล่าวว่า พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว มีการนอนผู้เดียวตลอดชีวิตทำได้ยากนัก แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ แต่ล่วงเลยไป ๓ ปี จึงได้อุปสมบท)

           [๑๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ อยู่ ณ ปวัฏฏบรรพต แคว้นกุรุรฆระ ในอวันตีชนบท ก็สมัยนั้นแล อุบาสกชื่อโสณโกฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหากัจจานะ

           ครั้งนั้นแลอุบาสกชื่อ โสณโกฏิกัณณะ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตก แห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะ ย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่เราผู้พิจารณา อยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

           ลำดับนั้นแล อุบาสกโสณโกฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่าน พระมหากัจจานะว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิด ปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา ผู้พิจารณาอยู่ ด้วยอาการนั้นๆอย่างนี้ว่า บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ ไม่ใช่ทำได้ง่ายผิฉะนั้น เราพึงปลงผม และหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็น บรรพชิตเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะ โปรดให้กระผมบวชเถิด ฯ

           [๑๒๐] เมื่ออุบาสกโสณโกฏิกัณณะ กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะ ได้กล่าวกะอุบาสกโสณโกฏิกัณณะว่า ดูกรโสณะ พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว มีการนอน ผู้เดียว ตลอดชีวิตทำได้ยากนัก

           ดูกรโสณะ เชิญท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือนนั้นแล จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์ อันมีภัตหนเดียว นอนผู้เดียว เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้งนั้นแล การปรารภเพื่อจะบวชของอุบาสก โสณโกฏิกัณณะ ได้ระงับไป

           แม้ครั้งที่ ๒ ... การปรารภเพื่อจะบวช ของอุบาสกโสณโกฏิกัณณะ ก็ได้ ระงับไป แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณโกฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตก แห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะ ย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่เราผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

           แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณโกฏิกัณณะ ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่าน พระมหากัจจานะ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตก แห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะ ย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา ผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้นเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชเถิด ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะให้อุบาสกโสณโกฏิกัณณะบวชแล้ว ฯ

           [๑๒๑] ก็โดยสมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถมีภิกษุน้อย ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะ ให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ทศวรรคแต่บ้าน และนิคมเป็นต้นนั้น โดยยากลำบาก โดยล่วงไปสามปีจึงให้ท่านพระโสณะอุปสมบทได้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

2)
(พระคุณเจ้ามหากัจจานะ อนุญาตให้พระโสณะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบผู้ถึงความสงบ)

           ครั้งนั้นแลท่านพระโสณะอยู่จำพรรษาแล้ว หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะ พึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระโสณะ ออกจากที่เร้น เข้าไปหาพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

           ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส เมื่อกระผมหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะพึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค อรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ฯ

           ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดีละๆ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบผู้ถึงความสงบ และความฝึก อันสูงสุด ผู้ฝึกแล้ว ผู้คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้วผู้ประเสริฐ ครั้นแล้ว ท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา จงทูลถามถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบางกระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ทรงอยู่สำราญเถิด ฯ

           ท่านพระโสณะ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ลุกจาก อาสนะ อภิวาทท่านพระมหากัจจานะ กระทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะแล้ว ถือบาตร และจีวรหลีกจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึง พระนครสาวัตถี แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

3)
(พระโสณะเข้าเฝ้าฯ ตรัสว่า เธอพึงอดทนได้หรือ พึงให้เป็นไปได้หรือ เธอมาสิ้น หนทางไกล ด้วยความไม่ลำบากหรือ และเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

           ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะ อุปัชฌายะ ของข้าพระองค์ ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และทูลถามถึงความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ทรงอยู่สำราญพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

           ดูกรภิกษุ เธอพึงอดทนได้หรือ พึงให้เป็นไปได้หรือ เธอมาสิ้นหนทางไกล ด้วยความไม่ลำบากหรือ และเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ท่านพระโสณะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์พึงอดทนได้ พึงให้เป็นไปได้ ข้าพระองค์ มาสิ้นหนทางไกลด้วยความไม่ลำบาก และข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระเจ้าข้า ฯ

           [๑๒๒] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะ สำหรับภิกษุผู้อาคันตุกะนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งใช้เราว่า ดูกรอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะ สำหรับภิกษุ อาคันตุกะนี้เถิด ดังนี้ เพื่อภิกษุใด พระผู้มีพระภาค ทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหาร เดียวกันกับภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกับ ท่านพระโสณะ ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดเสนาสนะสำหรับท่านพระโสณะ ในวิหารที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่

           ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงยับยั้งด้วยการบรรทมในอัพโภกาส สิ้นราตรี เป็นอันมาก ทรงล้างพระบาทแล้ว เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้ท่าน พระโสณะก็ยับยั้ง ด้วยการนอน ในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ล้างเท้า แล้วเข้าไปสู่พระวิหาร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี รับสั่งกะท่านพระโสณะว่า

           ดูกรภิกษุ การกล่าวธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มี พระภาคแล้ว ได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วย สรภัญญะ (สวดด้วยทำนอง)

           ลำดับนั้น ในเวลาจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคทรง อนุโมทนาว่า ดีละๆ ภิกษุ พระสูตร ๑๖ สูตรจัดเป็นวรรค ๘ วรรค เธอเรียนดีแล้ว กระทำไว้ในใจ ดีแล้ว จำทรงไว้ดีแล้ว เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถ เพื่อจะยังเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ดูกรภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร ท่านพระโสณะ กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์มีพรรษาหนึ่ง ฯ

           พ. เธอได้ทำช้าอยู่อย่างนี้เพื่ออะไร ฯ

           โส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ได้เห็นโทษในกามทั้งหลาย โดยกาลนาน ทั้งฆราวาสก็คับแคบ มีกิจมาก มีกรณีย์มาก พระเจ้าข้า ฯ

           ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป เพราะได้เห็นโทษในโลก เพราะได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิ ฯ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙

๘. มหากัจจานสูตร

1)
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานเมื่อเห็นพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังค์ ว่า ...ผู้ใดตั้ง กายคตาสติเนืองๆ ขันธปัญจกไม่พึงมี ที่ชื่อว่าเป็นของเราก็ไม่พึงมี มีปกติอยู่ด้วย อนุปุพพวิหาร...)

           [๑๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง มีกายคตาสติตั้งมั่นดีแล้วเฉพาะหน้าในภายใน ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระมหากัจจานะ นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง มีกายคตาสติ ตั้งมั่นดีแล้วเฉพาะหน้า ในภายในในที่ไม่ไกล ฯ

           ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า ผู้ใดพึงตั้งกายคตาสติไว้มั่นแล้วเนืองๆ ในกาลทุกเมื่อว่าอะไรๆ อันพ้นจากขันธปัญจกไม่พึงมี อะไรๆ ที่ชื่อว่าเป็นของเราก็ไม่พึงมี อะไรๆที่ชื่อว่าตน อันพ้นจากขันธ์จักไม่มี และอะไรๆ ที่เนื่องในตนจักไม่มีแก่เรา ผู้นั้นมีปกติอยู่ด้วย อนุปุพพวิหาร ตามเห็นอยู่ในสังขารนั้น พึงข้ามตัณหาได้โดยกาลเกิดขึ้น แห่ง อริยมรรคแล ฯ



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓

(มาคันทิยปัญหา)

1)
(เพราะเหตุใดพระอรหันตขีณาสพ ไม่โต้ตอบ ไม่โต้เถียงวาทะ หรือวิวาทกับผู้ใด
เพราะเป็นบุคคล ละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ )(ไม่ผูกพันด้วยราคะ)

           [๓๕๘] คำว่า พระอรหันตขีณาสพนั้น จะพึงโต้ตอบวาทะ ด้วยความถือตัวอะไรเล่าความว่า พระอรหันตขีณาสพนั้น พึงโต้ตอบ คือ โต้เถียงวาทะ ทำความทะเลาะ ทำความหมายมั่นทำความแก่งแย่ง ทำความวิวาท ทำความมุ่งร้ายกัน ด้วยความถือตัวอะไรเล่า ด้วยทิฏฐิอะไรเล่า หรือด้วยบุคคลไรเล่าว่า ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ฯลฯ เพื่อปลดเปลื้องวาทะ ถ้าท่านสามารถเพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพนั้น จะพึงโต้ตอบวาทะด้วยความถือตัวอะไรเล่า.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

           บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวสิ่งอะไรว่าจริงเล่า หรือบุคคล ผู้เป็น พราหมณ์นั้น พึงโต้เถียงว่าสิ่งนั้นเท็จ ด้วยความถือตัวอะไรเล่าความ สำคัญว่า เสมอเขาก็ดี ความสำคัญว่าดีกว่าเขาก็ดี ความสำคัญว่าเลวกว่าเขาก็ดี ย่อมไม่มี ในพระอรหันตขีณาสพใด พระอรหันตขีณาสพนั้น จะพึงโต้ตอบวาทะด้วยความถือตัว อะไรเล่า.

           [๓๕๙] บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนีไม่ทำความเยื่อใย ในกามเปล่า จากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำถ้อยคำแก่งแย่ง กับด้วยชน.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

2)
(จะพึงเห็นโดยพิสดารได้อย่างไร? บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนี ไม่ทำความเยื่อใยในกามเปล่า จากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำ ถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชน)

           [๓๖๐] ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อหาลินทกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหากัจจานะ ดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหากัจจานะผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระภาษิตนี้ไว้ใน มาคันทิยปัญหา อันมีมาในอัฏฐกวรรคว่า บุคคลละที่อาลัยแล้ว ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ มุนี ไม่ทำความเยื่อใยในกามเปล่า จากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงทำถ้อยคำแก่งแย่งกับด้วยชน ดังนี้.

           ข้าแต่พระมหากัจจานะผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระภาษิต ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วโดยย่อนี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

3)
ผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย อย่างไร ? รูปธาตุ เวทนาธาตุ ...สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ และวิญญาณ ที่ผูกพันไว้ด้วยราคะ เรียกว่า ท่องเที่ยวไปสู่ ที่อาลัย

           ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า ดูกรคฤหบดี รูปธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ ก็แหละวิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะ ในรูปธาตุเรียกว่า ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย.

           ดูกรคฤหบดี เวทนาธาตุ ...สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่ง วิญญาณ ก็แหละวิญญาณ ที่ผูกพันไว้ด้วยราคะในสังขารธาตุ เรียกว่าท่องเที่ยวไปสู่ที่ อาลัย ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างนี้แล.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

4)
(บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย อย่างไร? ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิน ความปรารถนา อุบายและอุปาทาน อันเป็นเหตุ ยึดมั่นถือมั่น และนอนเนื่องแห่งจิตใด ในรูปธาต เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ความพอใจนั้น ตถาคต ละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว)

           ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างไร?

           ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลินความปรารถนา อุบายและอุปาทาน อันเป็นเหตุยึดมั่นถือมั่น และนอนเนื่องแห่งจิตใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้นนั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วย ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย.

           ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัดความเพลิน ความปรารถนา อุบายและ อุปาทาน อันเป็นเหตุยึดมั่นถือมั่น และนอนเนื่องแห่งจิต ในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นนั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงเรียกว่าไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัย

          ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อาลัยอย่างนี้แล.

           ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่อย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความผูกพัน ด้วยสามารถแห่งความท่องเที่ยวไป ในที่อยู่คือรูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิต ธรรมนิมิต เรียกว่าความท่องเที่ยวไปในที่อยู่ ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ท่องเที่ยวไปในที่อยู่อย่างนี้แล.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

5)
(บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปในที่อยู่ อย่างไร? รูปนิมิต สัททนิมิต คันธนิมิต รสนิมิต โผฏฐัพพนิมิต และธรรมนิมิต อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่)

           ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปในที่อยู่อย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความผูกพัน ด้วยสามารถแห่งความท่องเที่ยวไป ในที่อยู่คือ รูปนิมิต อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคตบัณฑิต จึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่.

           ดูกรคฤหบดี ความผูกพัน ด้วยสามารถแห่งความท่องเที่ยวไป ในที่อยู่คือ สัททนิมิต ... คันธนิมิต ... รสนิมิต ...โผฏฐัพพนิมิต ... และธรรมนิมิต อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังตาลยอดด้วน ให้ถึงความไม่มี ในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงเรียกว่า ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ที่อยู่ ดูกรคฤหบดี บุคคลเป็นผู้ไม่ท่องเที่ยวไปสู่ ที่อยู่อย่างนี้แล.

 

เรื่องราวของท่านพระมหากัจจานะ จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง
1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒/ ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ

2
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๖ / เรื่องพระเจ้ามธุรราช

3
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๒ / ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๐/ ๘. อุทเทสวิภังคสูตร

4
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘ / ว่าด้วยลักษณะมุนี
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒/ ว่าด้วยผู้สำเร็จล่วงส่วน
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔ / เอตทัคคบาลี
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒ / (ปฐมปัณณาสก์)

5
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๘ / ๖. กัจจานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒ / ๘. สมยสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔ / ๕. เถรสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒ / ๖. โสณสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙ / ๘. มหากัจจานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓ / (มาคันทิยปัญหา)

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์