เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระมหากัจจานะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ พระมหากัจจานะ(ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ
Kat 104
           ออกไปหน้าหลัก 4 of 5
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  ว่าด้วยลักษณะมุนี : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘
  1) มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน ว่างจากกาม ไม่มุ่งกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น
  2) มุนีผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร? ไม่เกิดความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความยึดมั่น
  3) มุนีผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? มุนีละกิเลส อันเป็นเหตุซ่านไป พัวพันในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นนิมิต
  4) มุนีผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร?ไม่คลุกคลีคฤหัสถ์ ไม่ชื่นชม ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อเขามีสุขก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย
  5) มุนีผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย
  6) มุนีผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ไม่มีความปรารถนาในกาลข้างหน้า ขอเราพึงรูปอย่างนี้ เวทนา สัญญา สังขาร มีวิญญาณอย่างนี้
  7) มุนีผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? อ้างว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึง.. ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติชอบ
  ว่าด้วยผู้สำเร็จล่วงส่วน : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒
  1) เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้มีความเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคล ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นอย่างไร
  2) จิตท่านพ้นดีแล้ว จากความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน
  เอตทัคคบาลี : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔
  1) พระมหากัจจานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดาร
  (ปฐมปัณณาสก์) : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒
  1) อะไรเป็นเหตุให้ กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดี...วิวาทกัน เพราะตกอยู่ในอำนาจกามราคะ กำหนัดยินดีในกามราคะ
  2) ในโลกนี้ยังมีใครบ้างที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะบ้าง... ก็พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
  3) ท่านมหากัจจานะถูกต่อว่า ว่าไม่อภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ ที่ชราแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะ
  4) ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เขายังบริโภคกาม ยังแสวงหากาม ย่อมนับว่า เป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้
  5) ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กยังเป็นหนุ่ม แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่แสวงหากาม นับว่าว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้
  6) สมัยใดพวกโจรมีกำลัง พระเจ้าแผ่นดินย่อมถอยกำลัง สมัยใดพวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง พวกภิกษุที่มีศีลย่อมถอยกำลัง
  7) เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ เพราะการปฏิบัติผิด แต่สรรเสริญผู้ปฏิบัติชอบ
  8) ภิกษุเรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูป(แปลผิด) นี้มิใช่เพื่อประโยชน์สุข แต่เพื่อความฉิบหายของหมู่ชน ทั้งยังประสบบาปเป็นอันมาก
  9) ส่วนภิกษุที่เรียนไว้ดีแล้ว ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชนมากทั้งของมนุษย์และเทวดา เขาย่อมประสพบุญเป็นอันมาก

 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘

1)

ว่าด้วยลักษณะมุนี
(มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนม ในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกาม ทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่ง กับชนอื่น)

           [๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะ อยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนครแคว้น อวันตีรัฐ ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านมหากัจจานะว่า

           ข้าแต่ท่านพระผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรค ว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนม ในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่ง กับชนอื่น ดังนี้.

           ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธวจนะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไร?

           [๑๒] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของ วิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในรูปธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูกรคฤหบดี เวทนา ... สัญญา ... สังขารธาตุเป็นที่อยู่อาศัย ของวิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณพัวพันด้วยราคะ ในสังขารธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


2)
(ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร? ไม่เกิดความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิต)

           [๑๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้น เหล่านั้น อันพระตถาคตทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป.

           ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ...ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้วทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่มี ที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


3)
(ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? มุนีละกิเลส อันเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ . ในธรรมารมณ์ อันเป็นนิมิต)

           [๑๔] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนี ท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในรูป อันเป็นนิมิตและ เป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพัน ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและ เป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล.

           [๑๕] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในรูป อันเป็นนิมิตและที่พัก อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มี ที่พักเที่ยวไป.

           ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิต และเป็นที่พัก อันพระตถาคตทรงละ เสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


4)
(ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร?ไม่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อคฤหัสถ์มีสุข ก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ก็ไม่ทุกข์ด้วย)

           [๑๖] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือเป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์ มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล.

           [๑๗] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือ ไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุข ก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อคฤหัสถ์ มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


5)

(ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย)

           [๑๘] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลาย อย่างนี้แล.

           [๑๙] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความกระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


6)

(ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ไม่มีความปรารถนาในกาลข้างหน้า ขอเราพึง เป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้)

           [๒๐] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูป อย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล.

           [๒๑] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็น ผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------------


7)

(ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? เป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านเป็นผู้ ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ)

           [๒๒] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึง ธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคย ประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้อง วาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล.

           [๒๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้ทำคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดีภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านย่อม ไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าว ทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคย ปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้วท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้าท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล.

           [๒๔] ดูกรคฤหบดี พระพุทธวจนะ ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วในมาคัณฑิย ปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนม ในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับ ชนอื่น ดังนี้.

           ดูกรคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้แล พึงเห็นโดยพิสดารอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒

1)
ว่าด้วยผู้สำเร็จล่วงส่วน
(เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้มีความเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคล ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นอย่างไร)

           [๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะ อยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้เมืองกุรรฆรนครแคว้น อวันตีรัฐ. ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัจจานะว่า

           ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระภาษิตนี้ในสักกปัญหาว่า สมณพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา สมณพราหมณ์ เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้มีความเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดา และมนุษย์ ทั้งหลายดังนี้. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไร.?


2)
(ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งรูปธาตุ เวทนาธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ จิตท่านกล่าวว่าพ้นดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่าใดพ้นแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน)

           [๒๖] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัย แห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ จิต ท่านกล่าวว่าพ้นดีแล้ว เพราะความสิ้น เพราะความ คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความสละ เพราะความสละคืน ซึ่งความพอใจ เป็นต้นเหล่านั้น

           ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ จิตท่านกล่าวว่าพ้นดีแล้ว เพราะความสิ้น เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับเพราะความสละ เพราะความสละคืน ซึ่งความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น.

           ดูกรคฤหบดี พระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสใน สักกปัญหา ว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้สำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายดังนี้.

          ดูกรคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้แล พึงเห็นได้โดยพิสดาร อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔

1)
เอตทัคคบาลี


           [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระอัญญาโกณฑัญญะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้รู้ ราตรีนาน
พระสารีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีฤทธิ์
พระมหากัสสป เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์
พระอนุรุทธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีทิพยจักษุ
พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้เกิดในตระกูลสูง พระลกุณฏกภัททิยะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีเสียงไพเราะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้บันลือสีหนาท
พระปุณณมันตานีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้เป็นธรรมกถึก
พระมหากัจจานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดาร


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒

(ปฐมปัณณาสก์ )

1)
(อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน เพราะเหตุตกอยู่ในอำนาจกามราคะ กำหนัดยินดี ในกามราคะ ถูกกามราคะกลุ้มรุม และถูกกามราคะท่วมทับ)

           [๒๘๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะ อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกัททมทหะ ใกล้พระนคร วรรณะครั้งนั้นแล พราหมณ์อารามทัณฑะ ได้เข้าไปหา ท่านพระมหากัจจานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า

           ดูกรท่านกัจจานะ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้กษัตริย์กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน ท่านมหากัจจานะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุเวียนเข้าไปหากามราคะ ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ กำหนัดยินดี ในกามราคะ ถูกกามราคะกลุ้มรุม และถูกกามราคะท่วมทับ แม้กษัตริย์ กับกษัตริย์ พราหมณ์กับพราหมณ์ คฤหบดีกับคฤหบดี วิวาทกัน ฯ

           อา. ดูกรท่านกัจจานะ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้สมณะกับสมณะ วิวาทกัน ฯ

           มหา. ดูกรพราหมณ์ เพราะเหตุเวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ ตกอยู่ในอำนาจ ทิฐิราคะกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ ถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และถูกทิฐิราคะท่วมทับ แม้สมณะกับสมณะก็วิวาทกัน ฯ

2)
(ในโลกนี้ยังมีใครบ้างที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะบ้าง...
ก็พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น)

           อา. ดูกรท่านกัจจานะ ก็ในโลก ยังจะมีใครบ้างไหม ที่ก้าวล่วงการเวียน เข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูก กามราคะ กลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้ และก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหา ทิฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะการกำหนัดยินดีในทิฐิราคะการถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้เสียได้ ฯ

           มหา. ดูกรพราหมณ์ ในโลก มีท่านที่ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ การตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับนี้เสียได้ และก้าวล่วงความเวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะการกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ การถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ ฯ

           อา. ดูกรท่านกัจจานะ ใครในโลกเป็นผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะ ... และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ ฯ

           มหา. ดูกรพราหมณ์ ในชนบทด้านทิศบูรพา มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี ณ พระนครสาวัตถีนั้น ทุกวันนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น กำลังประทับอยู่ ดูกรพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงก้าวล่วงการเวียน เข้าไปหา กามราคะ ... และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย

           เมื่อท่านพระมหากัจจานะตอบอย่างนี้แล้ว พราหมณ์อารามทัณฑะลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว คุกมณฑลเข่าข้างขวาลงบนแผ่นดิน ประนมอัญชลีไปทาง ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้ว เปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหากามราคะการตกอยู่ในอำนาจกามราคะ การกำหนัดยินดีในกามราคะ การถูกกามราคะกลุ้มรุม และการถูกกามราคะท่วมทับ นี้แล้ว กับทั้งได้ก้าวล่วงการเวียนเข้าไปหาทิฐิราคะ การตกอยู่ในอำนาจทิฐิราคะ การกำหนัดยินดีในทิฐิราคะ การถูกทิฐิราคะกลุ้มรุม และการถูกทิฐิราคะท่วมทับนี้ด้วย

           ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิต ของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านกัจจานะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น

           ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้ง พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอท่านกัจจานะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ


3)
(ท่านมหากัจจานะถูกต่อว่า ว่าไม่อภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ ที่ชราแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะ)

           [๒๘๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ป่าคุนทาวัน ใกล้เมืองมธุรา ครั้งนั้นแลพราหมณ์กัณฑรายนะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัย กับท่านพระมหากัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามว่า

           ดูกรท่านกัจจานะ ข้าพเจ้าได้ฟังมาดังนี้ว่า ท่านสมณะกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับพวกพราหมณ์ ที่ชราแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกรท่านกัจจานะ ข่าวที่ได้ฟังมานั้นจริงแท้ เพราะท่านกัจจานะหาอภิวาท ลุกขึ้นต้อนรับ พวกพราหมณ์ที่ชราแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัย หรือเชื้อเชิญด้วยอาสนะไม่ ดูกรท่านกัจจานะ การกระทำเช่นนี้นั้น เป็นการไม่สมควรแท้ ฯ


4)
(ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เขายังบริโภคกาม ถูกความเร่าร้อน เพราะกามแผดเผา ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่า เป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้)

           ท่านมหากัจจานะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ ภูมิคนแก่และภูมิเด็ก ที่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้ทรงเห็นพระองค์นั้นตรัสไว้มีอยู่ ดูกรพราหมณ์ ถึงแม้จะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่กำเนิดก็ดี แต่เขายังบริโภคกาม อยู่ในท่ามกลางกาม ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา---ถูกกามวิตกเคี้ยวกินอยู่ ยังเป็นผู้ขวนขวายเพื่อแสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่า เป็นพาล ไม่ใช่เถระโดยแท้


5)
(ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กยังเป็นหนุ่ม แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่เร่าร้อนเพราะถูกกามแผดเผา ไม่แสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้)

           ดูกรพราหมณ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กยังเป็นหนุ่มมีผมดำสนิท ประกอบด้วย ความเป็นหนุ่มอันเจริญ ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย แต่เขาไม่บริโภคกาม ไม่อยู่ในท่ามกลาง กาม ไม่ถูกความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผา ไม่ถูกกามวิตกเคี้ยวกิน ไม่ขวนขวายเพื่อ แสวงหากาม เขาก็ย่อมถึงการนับว่าเป็นบัณฑิต เป็นเถระแน่แท้ ทีเดียวแล ทราบว่า เมื่อท่านพระมหากัจจานะ กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์กัณฑรายนะ * ได้ลุกจากที่นั่ง แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าของภิกษุที่หนุ่ม ด้วยเศียรเกล้า กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าแก่ตั้งอยู่แล้วในภูมิคนแก่ เรายังเด็ก ตั้งอยู่ในภูมิเด็ก ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
* (ฉบับมหาจุฬา : พราหมณ์กัณฑรายนะ ได้ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า ของภิกษุหนุ่ม ๑๐๐ รูป ด้วยเศียรเกล้า)

           ข้าแต่ท่านกัจจานะ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านพระกัจจานะ ประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่ท่านกัจจานะ ข้าพเจ้านี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมและ พระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระกัจจานะ จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ


6)
(ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พวกโจรมีกำลัง สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมถอยกำลัง
สมัยใดพวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง สมัยนั้น พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักย่อมถอยกำลัง)

           [๒๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พวกโจรมีกำลัง สมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมถอยกำลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดิน ย่อมไม่สะดวก ที่จะเสด็จผ่านไปเสด็จออกไป หรือจะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดนในสมัยเช่นนั้น แม้พวกพราหมณ์และคฤหบดี ก็ไม่สะดวกที่จะผ่านไป จะออกไปหรือเพื่อตรวจตราการ งานภายนอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดพวกภิกษุเลวทรามมีกำลัง สมัยนั้น พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักย่อมถอยกำลัง

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น ภิกษุพวกที่มีศีลเป็นที่รัก เป็นผู้นิ่งเงียบ ทีเดียว นั่งในท่ามกลางสงฆ์ หรือคบชนบทชายแดน ข้อนี้นั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ ประโยชน์ ของชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อมิใช่ประโยชน์ แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด พระเจ้าแผ่นดินมีกำลัง สมัยนั้น พวกโจรย่อม ถอย กำลังดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินย่อมสะดวก ที่จะเสด็จ ผ่านไป เสด็จออกไป หรือที่จะออกคำสั่งไปยังชนบทชายแดน ในสมัยเช่นนั้น แม้พวกพราหมณ์ และคฤหบดีย่อมสะดวกที่จะไป ออกไป หรือตรวจการงานภายนอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด พวกภิกษุที่มีศีลเป็นที่รัก มีกำลังสมัยนั้น พวกภิกษุที่เลวทราม ย่อมถอยกำลัง

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยเช่นนั้นพวกภิกษุที่เลวทราม เป็นผู้นิ่งเงียบ ทีเดียว นั่งในท่ามกลางสงฆ์ หรือออกไปทางใดทางหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อสุขของชนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชน เป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ


7)
(ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ เพราะการปฏิบัติผิด แต่สรรเสริญผู้ปฏิบัติชอบ)

           [๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญความปฏิบัติผิดของคน ๒ จำพวก คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิด แล้ว ย่อมไม่ยังกุศลธรรมที่นำออกให้สำเร็จก็ได้ เพราะการปฏิบัติผิดเป็นเหตุ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราสรรเสริญความปฏิบัติชอบของคน ๒ จำพวก คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้วย่อม ยังกุศลธรรม ที่นำออกให้สำเร็จได้ เพราะการปฏิบัติชอบเป็นเหตุ ฯ


8)
(ภิกษุเรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูป(แปลผิด) ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่มิใช่ประโยชน์ มิใช่สุข แต่เป็นไปเพื่อความฉิบหายของชนเป็นอันมาก ทั้งภิกษุนั้นยังประสบบาป เป็นอันมาก และยังทำให้พระสัทธรรมนี้ให้อัตรธานไปอีกด้วย)

           [๒๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่ห้ามอรรถและธรรมโดยสูตร ซึ่งตน เรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อมิใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อมิใช่สุขของชนมาก เพื่อความฉิบหาย เพื่อมิใช่ประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังจะประสพบาป เป็นอันมาก และทั้งชื่อว่าทำสัทธรรมนี้ ให้อันตรธานไปอีกด้วย


9)
(ส่วนภิกษุที่เรียนไว้ดีแล้ว
ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชนมาก เพื่อความสุขของมนุษย์และเทวดา ภิกษุพวกนั้นยังประสพบุญเป็นอันมาก ทั้งชื่อว่า ดำรงสัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย)

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรม โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อความสุขของ ชนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังประสพบุญเป็นอันมาก ทั้งชื่อว่าดำรง สัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย ฯ

 

เรื่องราวของท่านพระมหากัจจานะ จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง
1
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒/ ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ

2
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๒๖ / เรื่องพระเจ้ามธุรราช

3
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๗๒ / ๓. มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๐/ ๘. อุทเทสวิภังคสูตร

4
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘ / ว่าด้วยลักษณะมุนี
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒/ ว่าด้วยผู้สำเร็จล่วงส่วน
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔ / เอตทัคคบาลี
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๖๒ / (ปฐมปัณณาสก์)

5
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๘๘ / ๖. กัจจานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๙๒ / ๘. สมยสูตรที่ ๒
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๔ / ๕. เถรสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๒ / ๖. โสณสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๓๙ / ๘. มหากัจจานสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๓ / (มาคันทิยปัญหา)

   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์