เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

พระมหากัปปินะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของพระมหากัปปินะ
เป็นผู้มีกายไม่ไหวเอนในการนั่งคู้บัลลังก์ เป็นเอตทัคคะด้านผู้กล่าวสอนภิกษุ
K101
   ออกไปหน้าหลัก  
   เรื่องราวสำคัญของ พระมหากัปปินะ จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง คัดเฉพาะคำสอนจากพระโอษฐ์
  (1) พระมหากัปปินะ ถูกพระผู้มีพระภาคตำหนิ ในทิฐิที่ว่า ตนเองสำเร็จอรหันต์แล้ว จึงไม่ต้องลงพระ อุโบสถ
  (3) ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ กล่าวกะพรหม เพื่อให้รู้สึกสังเวช
  (2) พระมหากัปปินะ เข้าเตโชธาตุกสิณ หายไปปรากฎในพรหมโลก ตามพระผู้มีพระภาค และอรหันต์ ผู้มีฤทธิ์ อีก 3 รูป
  (4) พระมหากัปปินะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก (กัปปินสูตร)
  (5) พระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ไม่ไหวเอน (กัปปินสูตร- ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ)
  (6) พระมหากัปปินะ ได้รับการยกย่องให้เป็น เอตทัคคะบาลี เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ด้านผู้กล่าวสอนภิกษุ

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ หน้า หน้าที่ ๑๗๑ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑

(1)
เรื่องพระมหากัปปินเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ

        [๑๕๓] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตพระนครราชคฤห์.

        คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิต เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง.

ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ ความปริวิตก แห่งจิตของ ท่านพระมหากัปปินะ ด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระองค์ ไปใน คิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏ อยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น แล้วพระองค์ประทับนั่ง เหนือ พุทธอาสนะ ที่เขาจัดถวาย.

ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.

        พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้ กะท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งว่า

        ดูกรกัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิต เกิดขึ้น อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่ หรือ?

        ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือบูชา ซึ่งอุโบสถ

ดูกรพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้.

        ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ ไปในที่ตรงหน้า ท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ-มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๑๗๖

(2)
อปราทิฏฐิสูตรที่ ๕

(ย่อ) พระผู้มีพระภาค และพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์อีก ๔ รูป หายตัวไปปรากฎในพรหมโลก เพื่อให้พรหมรู้สึกสังเวช ด้วยทิฐิ ที่เชื่อว่าจะไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ขึ้นมาถึงชั้นนี้ได้ ครั้งนั้น พระองค์ และอรหันต์ ๔ รูป เข้าเตโชธาตุกสิณ แล้วหายตัวไปนั่งคู้บัลลังก์ อยู่เหนือพรหม โดยพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่เหนือสุด พระอรหันต์ทั้ง ๔ นั่งต่ำลงมา แยกคนละทิศ

          [๕๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

          ก็โดยสมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่งได้เกิดทิฐิอันชั่วช้าเห็นปานดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่จะพึงมาในพรหมโลกนี้ ได้ไม่มีเลย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๕๗๔] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของ พรหมนั้น ด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไป ในพระวิหารเชตะวัน ปรากฏแล้วในพรหมโลก นั้นเปรียบเหมือนบุรุษ มีกำลังพึงเหยียดออกซึ่งแขนที่คู้ไว้ หรือพึงคู้เข้า ซึ่งแขนที่ เหยียดออก ฉะนั้น

         ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งขัดสมาธิ ในเวหาเบื้องบน ของพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว(นั่งสมาธิเหนือพรหม)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๕๗๕] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นแล้วแล ซึ่งพระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่ง ขัดสมาธิในเวหาเบื้องบน ของพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณแล้ว ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นแล้ว ได้หายไปใน พระวิหารเชตวัน ปรากแล้วในพรหมโลกนั้น ปานดังบุรุษมีกำลังพึง เหยียดออก ซึ่งแขนที่คู้เข้า หรือพึงคู้ เข้าซึ่งแขน ที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น

         ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยทิศบูรพา(ตะวันออก) นั่งขัด สมาธิ ในเวหา เบื้องบน ของพรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณ แล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๕๗๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป ได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาค ประทับ อยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ท่านพระมหากัสสปได้เห็นแล้วแล ซึ่งพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ ฯลฯ ครั้นแล้วได้หายไปใน พระวิหาร เชตวัน ปรากฏแล้วในพรหมโลก นั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

          ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัสสป อาศัยทิศทักษิณ(ทิศใต้) นั่งขัดสมาธิ ในเวหาส เบื้องบนของพรหม นั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มี พระภาค เข้า เตโชธาตุกสิณ แล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


[๕๗๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ ได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้พระผู้มี พระภาคประทับ อยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะได้เห็น พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุเพียง ดังทิพย์ ครั้นแล้วได้หายไปในพระวิหาร เชตวัน ปรากฏแล้ว ในพรหมโลกนั้น ปาน ดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

         ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ อาศัยปัจฉิมทิศ(ตะวันตก) นั่งขัดสมาธิ ในเวหา เบื้องบน พรหมนั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณ แล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          [๕๗๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธ ได้มีความคิดนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล ท่านพระอนุรุทธได้เห็นแล้วแลซึ่งพระผู้มีพระภาค ฯลฯ ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ ครั้นแล้วได้หายไปในพระวิหารเชตวัน ปรากฏแล้ว ในพรหมโลก นั้น ปานดังบุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

          ลำดับนั้นแล ท่านพระอนุรุทธอาศัยทิศอุดร(ทิศเหนือ) นั่งขัดสมาธิ ในวิเวหา เบื้องบน ของพรหม นั้น (แต่) ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาค เข้าเตโชธาตุกสิณ แล้ว  
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


(3)
ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ กล่าวกะพรหม

          [๕๗๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะพรหมด้วย คาถาว่า ผู้มีอายุ ทิฐิในก่อนของท่าน แม้ในวันนี้ก็ยังมีแก่ท่านหรือ ท่านเห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นไป ล่วงวิเศษ ผู้เป็นเบื้องหน้าของสัตว์ในพรหมโลกหรือ

          [๕๘๐] พรหมนั้นตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ทิฐิในเก่าก่อน ของข้าพเจ้า มิได้มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าย่อมเห็น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นไปล่วงวิเศษ ผู้เป็นเบื้องหน้า ของสัตว์ในพรหมโลก ไฉนในวันนี้ ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ติดต่อ กัน" ดังนี้เล่าฯ

          [๕๘๑] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคยังพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไปใน พรหมโลก นั้น ปรากฏแล้วในพระวิหาร เชตวัน ปานดังบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดออก ซึ่งแขน ที่คู้เข้า หรือพึงคู้เข้า ซึ่งแขนที่ได้เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น

        ลำดับนั้นแล พรหมได้เรียก พรหมปาริสัชชะ องค์หนึ่งมาว่า แน่ะท่าน ผู้นิรทุกข์ ท่านจงมา ท่านจงเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าว กะท่านพระหาโมคคัลลานะอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แม้เหล่าอื่นซึ่งมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก เหมือนกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปท่านพระกัปปินะ และท่านพระอนุรุทธะ ผู้เจริญ ก็ยังมีอยู่หรือหนอแล

    พรหมปาริสัชชะ นั้นรับคำของพรหมนั้นว่า อย่างนั้นท่านผู้นิรทุกข์ แล้ว หายไป ในพรหมโลกนั้น ปรากฏแล้วข้างหน้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปานดัง บุรุษมีกำลัง ฯลฯ ฉะนั้น

          [๕๘๒] ครั้งนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้น อภิวาทท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว ได้ยืนอยู่ ในที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พรหมปาริสัชชะนั้นยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะท่าน พระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นแม้เหล่าอื่นซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากเหมือนกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสป ท่านพระกัปปินะ และ ท่านพระอนุรุทธะ ก็ยังมีอยู่ หรือหนอ

          [๕๘๓] ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะ ด้วยาถาว่า สาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธีญาณ และ ฉลาดในเจโตปริยญาณ หมดอาสวะ ไกลจากกิเลส มีอยู่มากดังนี้

          [๕๘๔] ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะ นั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของ ท่านมหาโมคคัลลานะแล้ว เข้าไปหา พรหมนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะพรหมนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระมหาโมคคัลลานะกล่าวเช่นนี้ว่า สาวก ทั้งหลาย ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิวิธีญาณ และ ฉลาดใน เจโตปริยญาณ หมดอาสวะ ไกลจากกิเลส มีอยู่มาก ดังนี้

          [๕๘๕] พรหมปาริสัชชะได้กล่าวคำนี้แล้ว พรหมมีใจยินดีชื่นชมภาษิต ของ พรหมปาริสัชชะ นั้นแล


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๒๘๖

(4)
พระมหากัปปินะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
(กัปปินสูตร)

(ย่อ) พระผู้มีพระภาคเรียกให้ภิกษุดูภิกษุรูปหนึ่ง (พระมหากัปปินะ) ที่เดินทางมาเข้าเฝ้า ว่าภิกษุนั่นแล มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้ที่ทำให้แจ้ง ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม (สำเร็จอรหันต์)

        [๗๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ

        [๗๒๓] พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระมหากัปปินะ ผู้มา แต่ไกล แล้วจึงเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็น ภิกษุที่กำลังมานั่นหรือ ไม่เป็นผู้ขาวโปร่ง จมูกโด่ง

      ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า

        พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแลมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แต่เธอไม่ได้ สมาบัติ ที่เธอไม่เคยเข้าง่ายนัก เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุด แห่งพรหมจรรย์อัน ยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกบวช เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

        [๗๒๔] พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า ในชุมนุมชนที่ยังรังเกียจกันด้วยโคตร กษัตริย์เป็นผู้ ประเสริฐในเทวดา และ มนุษย์ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้ประเสริฐ พระอาทิตย์ย่อมแผดแสง ในกลางวัน พระจันทร์ส่องสว่างในกลางคืน กษัตริย์ผู้ ผูกสอดเครื่องรบ ย่อมมีสง่า พราหมณ์ผู้เพ่งฌาน ย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้า ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยเดชานุภาพ ตลอดวัน และคืนทั้งหมดดังนี้



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๓๒๒

(5)
พระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ไม่ไหวเอน
(กัปปินสูตร- ว่าด้วยอานาปานสติสมาธิ)

(ย่อ) พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็น พระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ไม่ไหวเอน ตรัสถามภิกษุ ว่าเห็นอาการไหวเอนของภิกษุนั้นหรือไม่ ภิกษุ ท.กราบทูลว่า เห็นภิกษุรูปนี้นั่ง ในที่ใด กายก็ไม่ไหวเอนเช่นเดียวกัน จากนั้นพระองค์ตรัสเรื่อง อานาปานสติ สมาธิ ว่ากระทำ ให้มาก กายย่อมไม่ไหวเอน จิตก็ไม่ไหวเอน

        [๑๓๒๑] พระนครสาวัตถี. ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค.

        [๑๓๒๒] พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นความไหว หรือความเอนเอียง แห่งกายของ ภิกษุนั้น หรือหนอ?

        [๑๓๒๓] ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ ทั้งหลายเห็นท่านผู้มีอายุนั้น นั่งอยู่ใน ท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย มิได้เห็นความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกาย ของท่าน ผู้มีอายุนั้นเลย.

        [๑๓๒๔] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่ง แห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำ ให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้น ตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก.

        [๑๓๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหว หรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัดแกว่ง แห่งจิตก็ดีย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้ มาก ซึ่งสมาธิ เป็นไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่ง อานาปานสติ สมาธิ.

        [๑๓๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำ ให้มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือ ความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยาย เนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดย ความ สละคืน หายใจออกย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ แล ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหว หรือความกวัด แกว่ง แห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๒๕

(6)
พระมหากัปปินะ ได้รับการยกย่องให้เป็น เอตทัคคะบาลี
เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ด้านผู้กล่าวสอนภิกษุ



[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
 พระอานนท์ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เป็นพหูสูต
 พระอานนท์ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีสติ
 พระอานนท์ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีคติ
 พระอานนท์ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีความเพียร
 พระอานนท์ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เป็นอุปัฏฐาก

 พระอุรุเวลกัสสปะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีบริษัทมาก
 พระกาฬุทายี เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส
 พระพักกุละ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีอาพาธน้อย
 พระโสภิตะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ระลึกชาติก่อนได้
 พระอุบาลี เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย
 พระนันทกะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้กล่าวสอนนางภิกษุณี

พระนันทะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
พระมหากัปปินะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้กล่าวสอนภิกษุ
พระสาคตะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ฉลาดในเตโชธาตุ
พระราธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง
พระโมฆราชะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๒

(7)
ภิกษุบวชใหม่ นอนหลับกัดฟันจนสายโด่ง (กุสลสูตร)

(ย่อ) ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ แม้พระเถระทั้งหลายเช่น พระโมคคัลลาละ พระกัสสปะ พระกัปปินะ ฯลฯ ก็ออกจากที่เร้น (จากการนั่งคู้บัลลังก์ มาเป็น เวลานาน) เมื่อสด็จออกจากที่เร้น ทรงเห็นภิกษุใหม่ด้วยทิพย์จักษุ ต่างก็นอนหลับ กัดฟัน จนพระอาทิตย์ขึ้น ทรงตรัสยกตัวอย่าง ว่า
1.
หากพระราชา ชอบนอน แล้วจะเป็นที่รักแก่ราษฏรหรือไม่
     ภิกษุ ท.ตอบว่า เป็นไปไม่ได้
2. หากผู้ปกครองหมู่คณะ รักการนอนสบายแล้ว จะเป็นที่รักแก่หมู่คณะหรือไม่
     ภิกษุ ท.ตอบว่า เป็นไปไม่ได้
3. หากภิกษุนอนสบาย ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่เจริญธรรม แล้วจะสิ้นอาสวะด้วยปัญญาได้หรือ
     ภิกษุ ท.ตอบว่า เป็นไปไม่ได้

จากนั้นทรงตรัสเรื่อง การสำรวมอินทรีย์ รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร จนเห็นแจ้งในกุศลธรรม เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งวันคืนอยู่


        [๒๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังศาลา ที่บำรุง ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว แม้ท่านพระสารีบุตร ก็ออกจากที่เร้น ในเวลาเย็น เข้าไปยังศาลาที่บำรุง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง

แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แม้ท่านพระมหากัสสปะ แม้ท่านพระมหา กัจจายนะ แม้ท่านพระมหาโกฏฐิกะ แม้ท่านพระมหาจุนทะ แม้ท่านพระมหากัปปินะ แม้ท่านพระอนุรุทธะ แม้ท่านพระเรวตะ แม้ท่านพระอานนท์ ก็ออกจากที่เร้น ในเวลา เย็น เข้าไปยังศาลาที่บำรุง ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

       ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงยับยั้งอยู่ด้วยการประทับนั่ง สิ้นราตรีเป็นอันมาก แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร แม้ท่านเหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาค เสร็จไปไม่นาน ต่างก็ลุกจากอาสนะได้ไปยังวิหารของตนๆ แต่พวกภิกษุใหม่บวช ไม่นาน มาสู่ธรรมวินัยนี้ ไม่นานต่างก็นอนหลับกัดฟันอยู่ ณ ศาลาที่บำรุงนั้น จน พระอาทิตย์ขึ้น

พระผู้มีพระภาค ได้ทรงเห็น ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งต่างก็นอนหลับ กัดฟัน อยู่จน พระอาทิตย์ขึ้น ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเสด็จ เข้าไปยัง ศาลาที่บำรุง ประทับนั่งบนอาสนะ ที่ได้ปูลาดไว้แล้วตรัสถาม ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรไปไหน พระโมคคัลลานะไปไหน พระมหากัสสปะไปไหน พระมาหากัจจานะไปไหน พระมหาโกฏฐิตะไปไหน พระมหาจุนทะไปไหน พระมหากัปปินะไปไหน พระอนุรุทธะไปไหน พระเรวตะไปไหน พระอานนท์ไปไหน พระสาวกชั้นเถระเหล่านั้นไปไหน

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านเหล่านั้น เมื่อพระผู้มี พระภาคเสด็จไปไม่นาน ต่างก็ลุกจากอาสนะแล้ว ได้ไปยังวิหารของตน

     พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเป็นพระเถระ หรือหนอ เธอทั้งหลายเป็น ภิกษุใหม่ นอนหลับกัดฟันอยู่ จนพระอาทิตย์ขึ้น

  (1) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลาย ได้เห็น หรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า พระราชาผู้กษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบายบรรทมหลับสบาย ตามพระประสงค์อยู่ เสวยราช สมบัติ อยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจของชาวชนบท

     ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า หามิได้พระเจ้าข้าฯ

     พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า พระราชาผู้กษัตริย์ ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย บรรทมหลับสบาย ตามพระประสงค์ เสวยราชสมบัติ อยู่ตลอดพระชนม์ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของชาวชนบท

      (2)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนเธอทั้งหลาย
ได้เห็น หรือได้ฟังมาบ้างไหมว่าท่านผู้ครองรัฐ ท่านผู้เป็นทายาทแห่งตระกูล ท่านผู้เป็นเสนาบดี ท่านผู้ปกครองบ้าน ท่านผู้ปกครองหมู่คณะ ประกอบการนอน สบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ปกครองหมู่คณะอยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็น ที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ

       ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้าฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า ท่านผู้ปกครอง หมู่คณะ ประกอบการนอน สบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ ปกครองหมู่คณะอยู่ตลอดชีวิต ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของหมู่คณะ

      (3)  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอทั้งหลาย ได้เห็นหรือได้ฟังมาบ้างไหมว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ประกอบการ นอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรม ทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญ โพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งวัน คืน แล้วกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

     ภิ. หามิได้ พระเจ้าข้า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีละ ข้อนั้นแม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า สมณะ หรือพราหมณ์ ประกอบการนอนสบาย เอนข้างสบาย นอนหลับสบาย ตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบ ความเพียร ไม่เห็นแจ้ง กุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลาย แห่งวันคืน แล้วกระทำให้แจ้ง ซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เรา ทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ จักเป็น ผู้ประกอบความเพียร จักเป็นผู้เห็นแจ้ง กุศลธรรมทั้งหลาย จักประกอบการ เจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย แห่งวันคืนอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์