เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระปิณโฑล ภารทวาชะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ พระปิณโฑล ภารทวาชะ (ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้บันลือสีหนาท 
Pha103
           ออกไปหน้าหลัก 3 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (1) อินทรียสังวร-สติสัมปชัญญะ-สันโดษ
      (1.1 อุปมานิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจจะ วิจิกิจฉา)อินทรียสังวร-สติสัมปชัญญะ-สันโดษ
      (1.2) อัปปมัญญา ๔ (มีใจประกอบด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา)
      (1.3) วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ แสดงตนเป็นอุบาสก
      (1.4) ภารทวาชสูตร พระเจ้าอุเทนถาม ภารทวาชะ อะไรเป็นเหตุให้ภิกษุหนุ่มที่ยังไม่หมดกาม มาประพฤติพรหมจรรย์ ตลอดชีวิต
  (2) ว่าด้วยอินทรีย์ ๓ (พระปิณโฑลภารทวาชะ พยากรณ์ตนว่าเรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว (ปิณโฑลภารทวาชสูตร)
  (3) เอตทัคคบาลี

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๗๘

(1)
อินทรียสังวร-สติสัมปชัญญะ-สันโดษ

            ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
            ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถือ อนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้ อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษา มนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวร อันเป็น อริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรวาเสฏฐะด้วยประการ ดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

            ดูกรวาเสฏฐะ อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ?
            ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรง สังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดินการยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ

            ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหาร กาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรวาเสฏฐะ นกมีปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษ ด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกายด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทิศา ภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรวาเสฏฐะ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ สันโดษ

            ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว
-ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขาถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
- ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้ เฉพาะหน้า
- เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความเพ่งเล็งได้
- ละความประทุษร้าย คือพยาบาท ไม่คิดพยาบาท
- มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
- ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือพยาบาท
- ได้ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ
- มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่
- ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจะแล้ว
- เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณภายในอยู่
- ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากอุทธัจจกุกกุจจะได้
- ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา
- ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
- ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากวิจิกิจฉาได้

(1.1)
อุปมานิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจจะ วิจิกิจฉา)

            ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงาน ของเขา จะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็น กำไร ของเขา จะพึงมีเหลืออยู่ สำหรับเลี้ยงภริยา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรา ยังมีเหลืออยู่สำหรับ เลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้น เป็นเหตุ ฉันใด

            ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธ นั้น บริโภคอาหารได้และมีกำลังกาย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรา เป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึง ได้ ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

            ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาจะพึง พ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่าเมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลยดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด

            ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหน ตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมี ความคิดเห็น อย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาสพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความ ปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.

            ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกล กันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดาร นั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็น อย่างนี้ว่า เมื่อก่อน เรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัย เฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้นบรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัย โดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีภูมิสถาน อันเกษมนั้น เป็นเหตุ ฉันใด

            ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ ในตน เหมือนหนี้เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกล กันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความ ไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถาน อันเกษม ฉันนั้นแล

            เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิด ปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมี กายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สามที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจ ประกอบด้วย เมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้งสี่ทิศ โดยไม่ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณอันใดในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจร และ อรูปาพจรนั้นฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรวาเสฏฐะ แม้นี้แล ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม

(1.2)
อัปปมัญญา ๔ (มีใจประกอบด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขา)

            [๓๘๔] ดูกรวาเสฏฐะ อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วย มุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา ... ดูกรวาเสฏฐะ นี้แล เป็นทางเพื่อ ความเป็นสหายแห่งพรหมดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ภิกษุผู้มี ปกติอยู่อย่างนี้ มีเครื่องเกาะคือสตรีหรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี

มีจิตจองเวรหรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี

มีจิตเบียดเบียนหรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี

มีจิตเศร้าหมองหรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่มี

ยังจิตให้ไปในอำนาจได้หรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้

            ดูกรวาเสฏฐะ ได้ยินว่า ภิกษุไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี พรหมก็ไม่มี จะเปรียบเทียบ ภิกษุ ผู้ไม่มีเครื่องเกาะ คือสตรีกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะ คือสตรีได้ หรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญได้

            ดูกรวาเสฏฐะ ดีละ ภิกษุนั้นไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี เบื้องหน้าแต่ตายไป เพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะคือสตรี ข้อนี้ เป็นฐานะที่มีได้

             ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุมีจิตไม่จองเวร พรหมก็มีจิตไม่จองเวร ... ภิกษุ มีจิต ไม่เบียดเบียนพรหมก็มีจิตไม่เบียดเบียน ... ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง พรหมก็มีจิต ไม่เศร้าหมอง ... ภิกษุยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้ พรหมก็ยังจิตให้เป็นไปใน อำนาจได้ จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ ได้กับพรหมผู้ยังจิต ให้เป็นไป ในอำนาจได้ ได้หรือไม่?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริงได้

             ดูกรวาเสฏฐะ ดีละ ก็ภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจได้นั้น เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมผู้ยังจิต ให้เป็นไปใน อำนาจได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้

(1.3)

วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพ แสดงตนเป็นอุบาสก
            
            [๓๘๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพ และ ภารทวาช มาณพ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน บุคคลหงาย ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่อง ประทีป ในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ พระธรรมโดย อเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระองค์ กับทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบเตวิชชสูตร ที่ ๑๓.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๑๕
(1.4)

ภารทวาชสูตร
(พระเจ้าอุเทน ถามปัญหากับ พระบิณโฑลภารทวาชะ)
อะไรเป็นเหตุให้ภิกษุหนุ่มที่ยังไม่หมดกาม มาประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิต

            [๑๙๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระบิณโฑลภารทวาชะ อยู่ ณ พระวิหารโฆสิตาราม ใกล้ พระนคร โกสัมพี ครั้งนั้นแล พระเจ้าอุเทน ได้เสด็จไปหาท่าน พระบิณโฑล ภารทวาชะ ทรงสนทนา ปราศรัยกับท่าน พระบิณโฑลภารทวาชะ ครั้นผ่านการ สนทนาปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงประทับนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่าน พระบิณโฑลภารทวาชะว่า
---------------------------------------------------------------------------------------------
5.1
(คำถาม ๑)

            ท่านภารทวาชะผู้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิทเป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมด ความระเริง ในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติ อยู่ได้นาน ท่านพระบิณโฑล ภารทวาชะ ทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า

            (๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลาย จงมาตั้งจิตว่าเป็นมารดา ในสตรีปูนมารดา
เธอทั้งหลาย จงตั้งจิตว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาว
เธอทั้งหลาย จงตั้งจิตว่าเป็นธิดา ในสตรีปูนธิดา
ขอถวายพระพร

            ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ภิกษุ เหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมด ความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จน ตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
---------------------------------------------------------------------------------------------
5.2
(คำถาม ๒)

            [๑๙๖] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ จิตเป็นธรรมชาติโลเลบางคราว ธรรมคือ ความโลภทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี มีไหมหนอ ท่านภารทวาชะ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความระเริง ในกาม ทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ จนตลอดชีวิตและปฏิบัติ อยู่ได้นาน

            บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ ตรัสไว้ ดังนี้ว่า

            (๒)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลาย จงมาพิจารณา กายนี้แหละ เบื้องบน แต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้ม อยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืดไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร

            แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกาม ทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

            [๑๙๗] อุ. ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอัน อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกาย เป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจ อันภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก ส่วนภิกษุ เหล่าใด เป็นผู้มีกาย ยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีล ยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิต ยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มี ปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น เป็นกิจอันภิกษุเหล่านั้น ทำได้โดยยาก

            ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจ โดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี มีไหมหนอแล
---------------------------------------------------------------------------------------------
5.3
(คำถาม ๓)


             ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้ออื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็น หนุ่ม แรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความ ระเริงในกาม ทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ จนตลอดชีวิตและปฏิบัติ อยู่ได้นาน

            บิ. ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็น พระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสไว้ ดังนี้ว่า

             (๓) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด
เธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มี ทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด
เธอทั้งหลาย เห็นรูป ด้วยตาแล้ว จงอย่า เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอา โดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้ อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
เธอทั้งหลายฟังเสียงด้วยหูแล้ว... สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วย ลิ้นแล้ว... ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าได้เป็น ผู้ถือเอา โดยนิมิต อย่าได้เป็นผู้ถือเอา โดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อความสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามก คืออภิชฌาและ โทมนัส ครอบงำ ได้ จงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ขอถวายพระพร

            แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตเป็นปัจจัย ให้ภิกษุเหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่มแรกรุ่น มีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ผู้ยังไม่หมดความระเริงในกาม ทั้งหลายประพฤติ พรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ จนตลอดชีวิตและปฏิบัติอยู่ได้นาน

            [๑๙๘] อุ. น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีแล้ว ท่านภารทวาชะ ผู้เจริญตามกำหนด ธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ตรัสดีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุ เหล่านี้ ผู้ยังเป็นหนุ่ม แรกรุ่นมีผมดำสนิท เป็นหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังเป็นผู้ไม่ หมดความระเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ จนตลอดชีวิตและ ปฏิบัติอยู่ได้นาน

            ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ในสมัยใดแม้ข้าพเจ้าเองมีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้ รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลาย มิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลาย ย่อม ครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก

             ท่านภารทวาชะผู้เจริญ แต่ว่าในสมัยใดแลข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลาย อันสำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภ ทั้งหลาย ไม่ครอบงำ ข้าพเจ้า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก

            ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะ ประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

             ท่านภารทวาชะ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่ง ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งจน ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด



(2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔๔
ว่าด้วยอินทรีย์ ๓ (ปิณโฑลภารทวาชสูตร)
(พระปิณโฑลภารทวาชะ พยากรณ์ตนว่าเรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว..กิจอื่นมิได้มี
พ.ตรัสว่า เพราะภาระทวาชะกระทำให้มากซึ่งอินทรีย์๓ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์)

 

            [๑๐๐๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ก็สมัยนั้นท่าน พระปิณโฑลภารทวาชะ ได้พยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๔] ครั้งนั้น ภิกษุมากรูป เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ พยากรณ์ อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เห็นอำนาจ ประโยชน์ อะไรหนอ จึงพยากรณ์อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อ ความเป็น อย่างนี้ มิได้มี.

            [๑๐๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะ จึงพยากรณ์ อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๗] อินทรีย์ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑.

            [๑๐๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะความที่อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล อันตน เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะ จึงพยากรณ์อรหัตผลได้ว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ...กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

            [๑๐๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อินทรีย์ ๓ ประการนี้ มีอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้น เป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งอะไรเป็นที่สุด มีความสิ้นแห่งชาติ ชราและมรณะ เป็นที่สุด

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะ เห็นว่า ความสิ้นแห่งชาติ ชราและมรณะ ดังนี้แล จึงพยากรณ์ อรหัตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ... กิจอื่น เพื่อความเป็น อย่างนี้ มิได้มี.



(3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๔

เอตทัคคบาลี

            [๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระอัญญาโกณฑัญญะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้รู้ ราตรีนาน
พระสารีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์
พระมหากัสสป เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเรา ผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณ แห่งธุดงค์ฯ
พระอนุรุทธะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีทิพยจักษุ
พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เกิดในตระกูลสูง
พระลกุณฏกภัททิยะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีเสียงไพเราะ
พระปิณโฑลภารทวาชะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้บันลือสีหนาท พระปุณณมันตานีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เป็นธรรมกถึก
พระมหากัจจานะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดาร

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์