เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระปิณโฑล ภารทวาชะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ พระปิณโฑล ภารทวาชะ (ไม่รวมอรรถกถา)
เอตทัคคะด้าน ผู้บันลือสีหนาท 
Pha104
           ออกไปหน้าหลัก 4 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (1) โทณสูตร พระภารทวาชะ กับ วาเสฏฐะ สมัยเป็นฤาษีพราหมณ์
      (1.1) พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมเป็นอย่างไร
      (1.2) พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาป็นอย่างไร
      (1.3) พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีเป็นอย่างไร
      (1.4) พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดี-ชั่ว เป็นอย่างไร
      (1.5) พราหมณ์จัณฑาล เป็นอย่างไร
  (2) ทรงเห็นพระปิณโฑลภาระทวาชะ ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร (ปิณโฑลภารทวาชสูตร)
  (3) เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์
      (3.1) เรื่องพระปิณโฑลภารทวาชเถระ อรหันต์ผู้มีฤทธิ์ ปลดบาตร ของเศรษฐี เมืองราชคฤห์
      (3.2) พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปปลดบาตร เวียนรอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ
      (3.3) พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์
      (3.4) ทรงบัญญัติสิกขาบท เรื่องการแสดงอิทธิปาฎิหาริย์

 


(1)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๐๑

๒. โทณสูตร
(พระภารทวาชะ กับ วาเสฏฐะ สมัยเป็นฤาษีพราหมณ์)

            [๑๙๒] ครั้งนั้นแล โทณพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

            ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณะโคดม ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยแล้ว ข้อนั้นเห็นจะเป็นเหมือนอย่างนั้น เพราะท่านพระโคดม ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยแล้ว ข้อนี้ไม่ดีเลย

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโทณะ แม้ท่านก็ย่อมปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์ มิใช่หรือ

            ท. ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ใดเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวว่าเป็นพราหมณ์ อุภโตสุชาติ ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์ นิฆัณฑุ และ เกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์ อิติหาสะเป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจ ไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะผู้นั้น

             เมื่อกล่าวโดยชอบ พึงหมายซึ่งข้าพระองค์ นั้นเทียว เพราะข้าพระองค์ เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาติ ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียน ได้โดยอ้างถึงชาติ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมด้วย คัมภีร์นิฆัณฑุ และเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะ เป็นที่ห้า เข้าใจตัวบท เข้าใจ ไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และตำราทาย มหาปุริสลักษณะ

            พ. ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์

            พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ท่าน กล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้น ย่อมบัญญัติ พราหมณ์ไว้ ๕ จำพวกนี้ คือ
๑) พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม (สูงสุดเสมอเทวดาพรหม-รูปภพ)
๒) พราหมณ์เสมอด้วยเทวดา (รองลงมา เสมอด้วยเทวดา-กามภพ)
๓) พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี (รองลงมาอีก ประพฤติดี)
๔) พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว (รองลงมาอีก ประพฤติดี+ชั่ว)
๕) พราหมณ์จัณฑาล (พราหมณ์จัณฑาล-ต่ำสุด)

            ดูกรโทณะท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหนในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น

            โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ แต่ข้าพระองค์รู้ว่าเป็นพราหมณ์เท่านั้น ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ โดยประการ ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้

            พ. ดูกรโทณะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
โทณพราหมณ์ ทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

(1.1)
(พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมเป็นอย่างไร-1)

            ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดา และบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน ติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมาร พรหมจรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี

            ครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรม อย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่ แสวงหา ด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรมโครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะ อย่างใด อย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชา อาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต

            เขาบวชแล้วอย่างนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... ประกอบด้วยมุทิตา ... ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอด ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอด โลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วย อุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อยู่ เธอเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง สุคติพรหมโลก  ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้ชื่อว่า เสมอด้วยพรหมอย่างนี้แล

(1.2)
(พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาป็นอย่างไร-2)

            ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็น อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดตลอด ๗ ชั่ว บรรพบุรุษ ไม่มีใครๆ จะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมาร พรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปีครั้นแล้ว ย่อมแสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชา อาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรม ไม่แสวงหา อย่างไม่เป็นธรรม

             ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยวภิกขาจาร อย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหา ภรรยา โดยธรรม อย่างเดียว ไม่แสวงหา โดยไม่เป็นธรรม

            ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ ด้วยการขาย ย่อมแสวง หาพราหมณี เฉพาะที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะ พราหมณี ไม่สมสู่ ด้วยสตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู

            ดูกรโทณะ เพราะเหตุไรพราหมณ์จึงไม่สมสู่ สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ สมสู่สตรี มีครรภ์ไซร้ มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่า เกิดแต่กอง อุจจาระ เพราะฉะนั้น พราหมณ์ จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่ สมสู่ สตรี มีลูกอ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้ มาณพ หรือ มาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด

            เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อนพราหมณีนั้น เป็นพราหมณี ของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตร หรือ ธิดาแล้ว จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็น บรรพชิต เขาบวชแล้ว อย่างนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติ บริสุทธิ์อยู่ เธอเจริญฌาณ ทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูกรโทณะ พราหมณ์ เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างนี้แล

(1.3)
(พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีเป็นอย่างไร-3)

            ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็น อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใคร จะคัดค้าน ติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติโกมาร พรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปีครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหา โดยไม่เป็นธรรม

            ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม การเป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจาร อย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ แก่อาจารย์ แล้วย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรม อย่างเดียว ไม่แสวงหา โดยไม่เป็นธรรม

            ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ การขาย ย่อมแสวงหาพราหมณี เฉพาะผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่เฉพาะ พราหมณี ไม่สมสู่ สตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเหยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู

            ดูกรโทณะ
            เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์ เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ ย่อมสมสู่สตรีมีครรภ์ไซร้ มาณพ(เด็กชาย) หรือ มาณวิกา(เด็กสาว) ย่อมเป็น ผู้ชื่อว่า เกิดแต่กองอุจจาระ เพราะฉะนั้นพราหมณ์ จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์
            เพราะเหตุไร พราหมณ์ จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ สมสู่สตรี มีลูกอ่อนไซร้ มาณพ หรือ มาณวิกา ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่ สมสู่สตรีมีลูกอ่อน

            พราหมณีนั้น ย่อมเป็นพราหมณี(พราหมณ์สตรี) ของพราหมณ์ มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี ต้องการบุตรอย่างเดียว เขามีบุตร หรือธิดาแล้ว ปรารถนา ความยินดี ในบุตรหรือธิดานั้น ครอบครองทรัพย์สมบัติ ไม่ออกบวชเป็นบรรพชิต เขาดำรงอยู่ ในความประพฤติดี ของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด พราหมณ์ ผู้ตั้งอยู่ใน ความประพฤติดีของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ไม่ล่วงละเมิด เพราะเหตุ ดังนี้แล ชาวโลก จึงเรียกว่า พราหมณ์ผู้มี ความประพฤติดี ดูกรโทณะพราหมณ์ เป็นผู้มีความประพฤติดี อย่างนี้แล

(1.4)
(พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดี-ชั่ว เป็นอย่างไร-4)

            ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดี ชั่ว อย่างไร พราหมณ์ ในโลกนี้ เป็น อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจด ดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมาร พรหมจรรย์เรียนมนต์ อยู่ ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม

            ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ ไม่แสวงหาด้วยกสิกรรม พณิชยกรรม โครักข กรรมการ เป็นนักรบ การรับราชการ ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้อง เที่ยว ภิกขาจารอย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็น ธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหาพราหมณีผู้ที่เขายกให้ ด้วยการ หลั่งน้ำ เขาย่อมสมสู่ พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นจักสานบ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง

            พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดีบ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดี ของพราหมณ์ แต่ปางก่อน ล่วงละเมิด พราหมณ์ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดี ของพราหมณ์ แต่ปางก่อนล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้ พราหมณ์ชาวโลก จึงเรียกว่า ผู้มีความประพฤติ ดี และชั่ว
             ดูกรโทณะ พราหมณ์เป็นผู้มีความ ประพฤติ ดีและชั่ว อย่างนี้แล

(1.5)
(พราหมณ์จัณฑาล เป็นอย่างไร-5)

            ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างไร พราหมณ์ในโลกนี้ เป็น อุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ โดยอ้างถึงชาติ เขาประพฤติ โกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์ อยู่ตลอด ๔๘ ปี ครั้นแล้ว แสวงหาทรัพย์ สำหรับบูชา อาจารย์ เพื่ออาจารย์โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรม บ้าง ด้วยกสิกรรมบ้าง ด้วย พาณิชยกรรมบ้าง ด้วยโครักขกรรมบ้าง ด้วยการ เป็นนักรบบ้าง ด้วยการ รับราชการบ้าง ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจาร อย่างเดียว มอบทรัพย์สำหรับ บูชาอาจารย์ แก่ อาจารย์แล้ว ย่อมแสวงหาภรรยา โดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง ย่อมแสวงหา พราหมณี ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ เขาย่อม สมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้น กษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นช่าง จักสาน บ้าง ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง

            พราหมณีนั้นเป็นพราหมณี ของพราหมณ์ ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดีบ้าง ต้องการบุตรบ้าง เขาสำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการงาน ทุกอย่าง พวกพราหมณ์ได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุไร จึงสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง เขาได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนไฟ ย่อมไหม้สิ่งที่สะอาดบ้าง สิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง แต่ไฟ ย่อมไม่ติด ด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด

            ถ้าแม้พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่างไซร้ แต่พราหมณ์ ย่อมไม่ติด ด้วย การงานนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย การงานทุกอย่าง เพราะเหตุ ดังนี้แล พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่า พราหมณ์จัณฑาล ดูกรโทณะ พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาล อย่างนี้แล

            ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีที่เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรส ฤาษี ภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้ ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวก คือ
พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ๑
พราหมณ์ผู้เสมอด้วยเทวดา ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑

พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕

            ดูกรโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์ จำพวกไหน ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น

            โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์ย่อมไม่ยังแม้ พราหมณ์ จัณฑาลให้เต็มได้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิม แต่วันนี้เป็นต้นไป



(2)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๙๗

๖. ปิณโฑลภารทวาชสูตร
(พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นท่าน พระปิณโฑลภาระทวาชะ ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... อยู่ในที่ไม่ไกล ทรงเปล่งอุทานคำสอน...)

            [๑๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิตนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ได้ทรงเห็นท่าน พระปิณโฑล ภาระทวาชะ ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... อยู่ในที่ไม่ไกล

            ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
การไม่ว่าร้ายกัน ๑
การไม่เบียดเบียนกัน ๑
การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑
ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑


            นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย



(3)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ หน้า ๑๐

เรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์

  เศรษฐีกรุงราชคฤห์ กลึงบาตรจากปุ่มไม้จันทร์ แขวนไว้ปลายยอดไม้ ประกาศว่า สมณะหรือพราหณ์ ผู้ใดเป็นอรหันต์ ก็จงแสดงฤทธิ์ เหาะขึ้นไปปลดลงมา บาตรก็จะ เป็นของท่าน..ครั้งนั้นเจ้าสำนักหลาย แห่งปรารถนาบาตรไม้จันทร์ แต่ไม่มีฤทธิ์ที่จะ ปลดลงมาได้ จึงเข้าไปขอท่านเศรษฐีแบบดื้อๆ.. แต่สุดท้าย ภารทวาชะ (อรหันต์) หาะไปปลดลงมาได้ แต่ถูกพระผู้มีพระภาคตำหนิว่าไม่ต่างกับ มาตุคามแสดงของลับ ไม่ควรกระทำ จึงเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติเป็นวินัย ห้ามภิกษุแสดงฤทธิ์


           [๒๙] สมัยต่อมา ปุ่มไม้แก่จันทน์มีราคามาก ได้บังเกิดแก่เศรษฐี ชาวเมือง ราชคฤห์ จึงราชคหเศรษฐีได้คิดว่า ถ้ากระไรเราจะให้กลึงบาตร ด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์ นี้ ส่วนที่กลึงเหลือ เราจักเก็บไว้ใช้ และเราจักให้บาตรเป็นทาน หลังจากนั้น ท่านราชคห เศรษฐี ให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้น แล้วใส่สาแหลก แขวนไว้ ที่ปลายไม้ไผ่ ผูกต่อๆกันขึ้นไป แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ ผู้ใดเป็น พระอรหันต์ และมีฤทธิ์ จงปลดบาตรที่เราให้แล้วไปเถิด


           [๓๐] ขณะนั้น ปูรณะกัสสป เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐีแล้ว กล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่ อาตมา เถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และ มีฤทธิ์ ก็จงปลดบาตร ที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด

           ต่อมา ท่านมักขลิโคสาล ท่านอชิตเกสกัมพล ท่านปกุธกัจจายนะ ท่านสัญชัยเวลัฏฐ บุตรท่านนิครนถ์นาฏบุตร ได้เข้าไปหาท่านราชคหเศรษฐี แล้วกล่าวว่า ท่านคหบดี อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้ บาตร แก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ท่านเจ้าข้าถ้าพระคุณเจ้า เป็นพระอรหันต์ และมีฤทธิ์ ก็จงปลดบาตรที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั่นแลไปเถิด

(3.1)
เรื่องพระปิณโฑลภารทวาชเถระ อรหันต์ผู้มีฤทธิ์ ปลดบาตร ของเศรษฐี เมืองราชคฤห์

           [๓๑] สมัยต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ กับ ท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะ ครองอันตรวาสกในเวลาเช้าแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาต ในเมืองราชคฤห์ อันที่แท้ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นพระอรหันต์ และ มีฤทธิ์ แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จึงท่าน พระปิณโฑล ภารทวาชะ ได้กล่าว กะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่าไปเถิด ท่านโมคคัลลานะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้น ของท่าน แม้ท่านพระโมคคัลลานะ ก็กล่าวกะท่านพระปิณโฑลภาร ทวาชะว่า ไปเถิด ท่านภารทวาชะ จงปลดบาตรนั้น ลง บาตรนั้นของท่าน จึงท่าน พระปิณโฑล ภารทวาชะเหาะขึ้นสู่เวหาส ถือบาตรนั้น เวียนไป รอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ

(3.2)
พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปปลดบาตร เวียนรอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ

           [๓๒] ครั้งนั้น ท่านราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือนของตน ประคองอัญชลี นมัสการ กล่าวนิมนต์ว่าท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าภารทวาชะ จงประดิษฐานในเรือนของข้าพเจ้านี้เถิด จึงท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ประดิษฐาน ในเรือน ของท่านราชคหเศรษฐี ขณะนั้นท่านราชคหเศรษฐี รับบาตร จากมือของท่าน พระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้จัดของเคี้ยวมีค่ามากถวายท่าน พระปิณโฑล ภารทวาชะ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้รับบาตรนั้น ไปสู่พระอาราม ชาวบ้าน ได้ทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ปลดบาตร ของราชคหเศรษฐี ไปแล้ว และชาวบ้านเหล่านั้นมีเสียงอึกทึกเกรียวกราว ติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะ ไปข้างหลังๆ พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับเสียงอึกทึก เกรียวกราว

           ครั้นแล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงอึกทึก เกรียวกราว เรื่องอะไรกัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะ ปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลงแล้ว พวกชาวบ้าน ทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลง จึงพากันติดตาม ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะมา ข้างหลังๆ อย่างอึกทึกเกรียวกราว พระพุทธเจ้าข้า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนี้ คือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้าฯ                

           พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราว ครั้นแล้วตรัสถาม ท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงอึกทึก เกรียวกราว เรื่องอะไรกันท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ปลดบาตรของท่าน ราชคหเศรษฐีลงแล้ว พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลง จึงพากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะมา ข้างหลังๆ อย่างอึกทึกเกรียวกราว พระพุทธเจ้าข้า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนี้  คือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า

(3.3)
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์

           [๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะ เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่าน พระปิณโฑลภาร ทวาชะว่า ภารทวาชะ ข่าวว่าเธอปลดบาตร ของราชคหเศรษฐีลง จริงหรือ

           ท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สมไม่ควร ไม่ใช่กิจของ สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้แสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่ง ของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่ง บาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า มาตุคามแสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้น เหมือนกัน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรม อันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตร ไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของ ชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส ...


(3.4)
ทรงบัญญัติสิกขาบท เรื่องการแสดงอิทธิปาฎิหาริย์

           ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง แสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฏ  

           ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงทำลายบาตรไม้นั่น บดให้ละเอียด ใช้เป็นยาหยอดตา ของภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ



   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์