อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑
(1)
สมุทยธรรม วยธรรม นิโรธธรรม ทุกข์ ทุกขธรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า สมุทยธรรม สมุทยธรรม (มีความก่อขึ้นเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็สมุทยธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า !
ราธะ ! รูป เป็นสมุทยธรรม เวทนาเป็นสมุทยธรรม สัญญาเป็นสมุทยธรรม สังขารทั้งหลาย เป็นสมุทยธรรม และวิญญาณ เป็นสมุทยธรรม แล.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า วยธรรม วยธรรม (มีความเสื่อมเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็วยธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า
ราธะ ! รูป เป็นวยธรรม เวทนา เป็นวยธรรม สัญญา เป็นวยธรร สังขารทั้งหลาย เป็นวยธรรม และวิญญาณ เป็นวยธรรม แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า นิโรธธรรม นิโรธธรรม (มีความดับเป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็นิโรธธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า
ราธะ ! รูปเป็นนิโรธธรรม เวทนาเป็นนิโรธธรรม สัญญาเป็นนิโรธธรรม สังขารทั้งหลาย เป็นนิโรธธรรม และวิญญาณ เป็น นิโรธธรรม แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า ทุกข์ ทุกข์ ดังนี้ ทุกข์นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า !
ราธะ ! รูป เป็นทุกข์ เวทนา เป็นทุกข์ สัญญา เป็นทุกข์ สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ และวิญญาณ เป็นทุกข์ แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า ทุกขธรรม ทุกขธรรม (มีทุกข์เป็นธรรมดา) ดังนี้ ก็ทุกขธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? พระเจ้าข้า
ราธะ ! รูป เป็นทุกขธรรม เวทนา เป็นทุกขธรรม สัญญา เป็นทุกข์ธรรม สังขารทั้งหลาย เป็นทุกขธรรม และวิญญาณ เป็นทุกขธรรม แล.
(2)
เบญจขันธ์เป็นทั้งผู้ฆ่าและผู้ตาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า มาร มาร ดังนี้ เขากล่าวกันว่า มาร เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) รูปมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมีหรือผู้ตายก็จะมี
ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) เวทนามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมีหรือผู้ตายก็จะมี
ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) สัญญามีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมีหรือผู้ตายก็จะมี
ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) สังขารทั้งหลายมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมีหรือผู้ตาย ก็จะมี
ราธะ ! เมื่อ (ความยึดถือใน) วิญญาณมีอยู่ มารก็จะมี ผู้ให้ตายก็จะมีหรือผู้ตายก็จะมี
ราธะ ! เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ เธอพึงเห็นรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารทั้งหลายก็ดี และวิญญาณก็ดี ว่าเป็นมาร ว่าเป็นผู้ให้ตาย ว่าผู้ตาย ว่าโรค ว่าหัวฝี ว่าลูกศร ว่าทุกข์ และว่าทุกข์ที่เกิดแล้ว บุคคลเหล่าใดเห็นขันธ์ทั้งห้า ในลักษณะเช่นนี้ บุคคลเช่นนั้นชื่อว่าเห็นอยู่โดยชอบ แล
(3)
เรียกกันว่า “สัตว์” เพราะติดเบญจขันธ์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! คนกล่าวกันว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้ เขากล่าวกันว่า สัตว์ เช่นนี้ มีความหมายเพียงไร ? พระเจ้าข้า !
ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความทะยานอยาก) ใด ๆ มีอยู่ในรูป สัตว์ ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในรูปนั้น ด้วยฉันทราคะ เป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ (ผู้ข้องติด) ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในเวทนา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดใน เวทนานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสัญญา สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด ในสัญญานั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใด ๆ มีอยู่ในวิญญาณ สัตว์ย่อมเกี่ยวข้อง ย่อมติด ในวิญญาณนั้น ด้วยฉันทราคะเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้น สัตว์นั้น จึงถูกเรียกว่า สัตว์ ดังนี้ แล
(4)
ทรงแสดงลักษณะความทุกข์ (อีกปริยายหนึ่ง)
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! คำว่า ทุกข์ๆ ดังนี้ เป็นคำที่เขากล่าวกันอยู่ ทุกข์นั้นเป็น อย่างไร พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! รูป แล เป็นทุกข์ เวทนา เป็นทุกข์ สัญญา เป็นทุกข์ สังขาร ท. เป็นทุกข์ วิญญาณ เป็นทุกข์
ราธะ ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร ท. แม้ในวิญญาณ. ....
ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ราคะ (ความกำหนัด) ก็ดี นันทิ (ความเพลิน) ก็ดี ตัณหาก็ดี และอุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และอุปาทาน อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดี ใด ๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ กิเลสเหล่านี้นี่เรา เรียกว่า เครื่องนำไปสู่ภพ. ความดับไม่เหลือของเครื่องนำไปสู่ภพมีได้ เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส มีฉันทราคะเป็นต้นเหล่านั้นเอง
ราธะ ! ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความเพลินก็ดี ตัณหาก็ดี อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุให้เข้าไปสู่ภพ) ก็ดี และอุปาทานก็ดี อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไป อาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิต มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ใด ๆ พวกเธอทั้งหลายจงละกิเลสนั้นๆเสีย. ด้วยการทำอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณนั้นๆ จักเป็นสิ่งที่พวกเธอ ละได้แล้ว เป็นสิ่งที่มีมูลรากอันตัดขาดเสียแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีอยู่ไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
(5)
ความสิ้นตัณหา คือ นิพพาน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้ อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียง เท่าไรเล่า ? พระเจ้าข้า !
ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัตว์ ดังนี้
ราธะ ! เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อย ๆ หรือกุมารีน้อย ๆ เล่นเรือนน้อย ๆ ที่ทำด้วย ดินอยู่ ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความเร่าร้อน และ มีตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น
ตราบนั้นพวกเด็กน้อยนั้น ๆ ย่อมอาลัยเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อย ที่ทำด้วยดิน เหล่านั้น ย่อมยึดถือเรือนน้อย ที่ทำด้วยดินเหล่านั้นว่าเป็นของเรา ดังนี้
ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อย ๆ หรือกุมารีน้อย ๆ เหล่านั้น มีราคะไปปราศแล้ว มีฉันทะไปปราศแล้ว มีความรักไปปราศแล้ว มีความกระหายไปปราศแล้ว มีความ เร่าร้อนไปปราศแล้ว มีตัณหาไปปราศแล้ว ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ในกาลนั้นแหละ พวกเขาย่อมทำเรือนน้อย ๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ให้กระจัดกระจาย เรี่ยรายเกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย อุปมานี้ ฉันใด
ราธะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ แม้พวกเธอทั้งหลายจงเรี่ยรายกระจายออก ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จงขจัดเสียให้ถูกวิธี จงทำให้แหลกลาญ โดยถูกวิธี จงทำให้จบการเล่นให้ถูกวิธี จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาเถิด
ราธะ ! เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น คือนิพพาน ดังนี้ แล
(6)
ที่สุดของพรหมจรรย์ คือนิพพาน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า จึงถูกเรียกว่า มาร พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณมีอยู่ จะพึงมีมาร มีผู้ให้ตาย หรือว่าผู้ตาย
ราธะ ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ เธอจงเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่า เป็นมาร เห็นว่าเป็น ผู้ให้ตาย เห็นว่า ผู้ตาย เห็นว่าเป็นโรค เห็นว่าเป็นหัวฝี เห็นว่า เป็นลูกศร เห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นทุกข์ที่เกิดแล้ว ดังนี้
พวกใดย่อมเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ พวกนั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นโดยชอบ แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! สัมมาทัสสนะ (การเห็นโดยชอบ) มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! สัมมาทัสสนะ มีนิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย) มีอะไรเป็นประโยชน์ที่ มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! นิพพิทาแล มีวิราคะ (ความจางคลายไป) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็วิราคะ มีอะไรเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! วิราคะแล มีวิมุตติ (ความหลุดพ้น) เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็วิมุตติ มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! วิมุตติแล มีนิพพานเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็นิพพาน มีอะไรเป็นประโยชน์ ที่มุ่งหมายเล่า พระเจ้าข้า ?
ราธะ ! เธอได้ถามเลยปัญหาเสียแล้ว เธอไม่อาจจะจับฉวยเอาที่สุดของปัญหาได้
ราธะ ! ด้วยว่า พรหมจรรย์ ที่ประพฤติกันอยู่นี้แล ย่อมหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพาน เป็นที่สุดท้าย |