เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

 ลัทธินิครนถ์ นาฏบุตร
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ ลัทธินิครนถ์นาฏบุตร ผู้อหังการ
โต้วาทะกับสมณโคดม จนเหงื่อหยด
N103
        ออกไปหน้าหลัก 3 of 7
  สัจจกนิครนถ์ ปริพาชก : นิครนถ์นาถบุตร ลัทธิที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสมัยพุทธกาล เคยโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคจนเหงื่อตก
  (28) ความต่างกันในการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ตรัสกับนิครนถ์ คามเพียรอันไม่ย่อหย่อน ครั้งที่พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อนการตรัสรู้
  (29) ตรัสการบรรลุวิชชาที่ ๒ และบรรลุวิชชาที่ ๓ วิชชาที่๒ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาที่๓ วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
  (30) พระผู้มีพระภาคตรัสกัยสัจจกนิครนถ์ ผู้หลง-ผู้ไม่หลง ผู้หลงยังละอาสวะทั้งหลายไม่ได้ ผู้ไม่หลงละเหตุนั้นได้เสียได้
  (31) สัจจกนิครนถ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาค สัจจกเล่าว่าเคยโต้วาทะกับเจ้าสำนักหลายแห่งจนพ่ายแพ้ แต่ไม่อาจโต้กับสมณะโคดมได้
  (32) กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร กรรมที่นิครนถ์บัญญัติเรื่องกรรม ว่ากรรมทางกาย มีโทษมากกว่า กรรมทางวาจา และทางใจ
  (33) ตถาคตบัญญัติเรื่องกรรม ว่า มโนกรรม ว่า มีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรมทางกาย และทางวาจา
  (34) ทีฆตปัสสีนิครนถ์(สาวก) เข้าพบนิครนถ์นาฏบุตร นิครนถ์นาฏบุตรชวนอุบาลีเข้าเฝ้าฯเพื่อโต้วาทะ บอกว่าจะฉุดกระชากลากไปมา
  (35) อุบาลีคหบดีเข้าเฝ้าฯ
  (36) พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓ (ตรัสกับอุบาลีคหบดี)
  (37) อุบาลีคฤบดีแสดงตนเป็นอุบาสก ชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค
  (38) ทรงแสดงอนุบุพพิกถา แสดงธรรมด้วย ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา เมื่อจิตปราศจากนิวรณ์ ก็ทรงแสดงธรรมให้สูงขึ้นคือทุกข์ สมุทัย..
  (39) อุบาลีคหบดี สั่งนายทวารไม่ต้อนรับนิครนถ์ รับเฉพาะสาวกสมณะโคดมเท่านั้น
  (40) ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้านอุบาลีคฤหบดี
  (41) คหบดีให้ นิครนถ์นาถบุตรเข้าบ้าน แต่ไม่ต้อนรับเหมือนเมื่อก่อน
  (42) มายาเครื่องกลับใจ แม้ษัตริย์ แพศย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ สมณะ พราหมณ์ จะพึงกลับใจได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๑๘

(28)
ความต่างกันในการบำเพ็ญทุกกรกิริยา
(ย่อ)
ตรัสกับนิครนถ์ เรื่องการทำความเพียรอันไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น เช่นกลั้นลมหายใจ เมื่อครั้งที่พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อนการตรัสรู้


            [๔๑๘] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปาก และทางจมูก

      เมื่อเรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง ช่องหูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ๆ เหมือนเสียงสูบช่างทองที่เขาสูบอยู่ ฉะนั้น.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกาย กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยาก เสียดแทงอยู่ แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

            [๔๑๙] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มี ลมปราณเถิด. เรากลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก. และทาง ช่องหู.

      เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู ลมเป็นอันมากก็เสียดแทงศีรษะเหมือนบุรุษที่มีกำลัง เอามีดโกนที่คมเชือดศีรษะ ฉะนั้น.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกาย กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

            [๔๒๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด.

      เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู. เมื่อกลั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูกและทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา ในศีรษะเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลังเอาเชือกหนัง อันมั่นรัดเข้าที่ศีรษะ ฉะนั้น.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนมีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

            [๔๒๑] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญญาน อันไม่มีลมปราณเถิด. เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู. เมื่อกลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู ก็มีลมเป็นอันมากบาดท้อง เหมือนนายโคฆาต หรือลูกมือของนาย โคฆาต ผู้ฉลาด เอามีดสำหรับแล่โคที่คมเถือแล่ท้อง ฉะนั้น.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวายไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

           [๔๒๒] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงเจริญฌาน อันไม่มีลมปราณเถิด. เราก็กลั้นลมหายใจออกและลมหายใจ เข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้นลมหายใจออก และลมหายใจเข้าทางปากทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความเร่าร้อนในร่างกายเป็นอันมาก เหมือนบุรุษที่มีกำลัง ๒ คนช่วยกันจับบุรุษคนหนึ่งที่มีกำลังน้อยกว่า ที่แขนทั้ง ๒ ข้างแล้ว ให้เร่าร้อน อบอ้าวอยู่ ใกล้หลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน แต่มีกาย กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่. แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ เทวดาทั้งหลายเห็นเราเข้าแล้วพากันกล่าวว่า พระสมณโคดม ทำกาละแล้ว. บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมยังมิได้ทำกาละ แต่ก็จะทำกาละ บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ทำกาละ ทั้งจะไม่ทำกาละ พระสมณโคดมจะเป็น พระอรหันต์ การอยู่เห็นปานนี้นั้น เป็นวิหารหารธรรมของท่านผู้เป็นพระอรหันต์.

           [๔๒๓] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงปฏิบัติอดอาหาร เสียโดยประการทั้งปวงเถิด. ขณะนั้น พวกเทวดาเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน ผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าปฏิบัติอดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจัก ปฏิบัติอดอาหา รโดยประการทั้งปวง พวกข้าพเจ้าจะแทรกโอชาหารอันเป็นทิพย์ ตามขุมขนแห่งท่าน ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชาหารนั้น.

      เรามีความดำริว่า เราปฏิญญาว่าจะตัดอาหารโดยประการทั้งปวง แต่เทวดา เหล่านี้ จะแทรกโอชาหารอันเป็นทิพย์ตามขุมขนแห่งเรา เราจะยังมีอัตภาพให้เป็นไป ด้วย โอชาหารนั้น การปฏิญญาไว้นั้นก็เป็นมุสาแก่เราเอง.

      เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ข้อนั้นไม่ควร.

           [๔๒๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารให้ น้อยลงๆ เพียงซองมือหนึ่งๆ บ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเม็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเม็ดบัวบ้าง.

      เราก็กินอาหารให้น้อยลงๆ ดังนั้นจนมีร่างกายซูบผอมยิ่งนัก เพราะเป็นผู้มีอาหาร น้อย นั้น เหลือแต่อวัยวะใหญ่น้อย เหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ ตะโพก ก็ลีบเหมือนกีบอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนาม เหมือนเถาวัลย์ [หนามรอบข้อ] ซี่โครงทั้ง ๒ ข้าง ขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่าที่สะพรั่งอยู่ ดวงตาทั้ง ๒ ก็ลึกเข้าไปในเบ้าตาเหมือนดวงดาวในบ่อน้ำอันลึก ปรากฏอยู่ หนังศีรษะ บนศีรษะก็เหี่ยวหดหู่ เหมือนลูกน้ำเต้าที่เขาตัดมายังดิบ ต้องลมและแดด เข้าก็เหี่ยวไป.

      เรานึกว่าจะลูบพื้นท้องก็จับถึงกระดูกสันหลังเมื่อนึกว่า จะลูบกระดูกสันหลัง ก็จับถึง พื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราติดแนบถึงกระดูกสันหลังเมื่อนึกว่า จะถ่ายอุจจาระ หรือ ปัสสาวะ ก็ซวนแซล้มลง ณ ที่นั้น.

      เมื่อจะให้กายสบายบ้าง เอาฝ่ามือลูบตัวเข้า ขนทั้งหลายที่มีรากเน่า ก็หลุดร่วง จากกายเพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย.

      มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราเข้าแล้วก็กล่าวว่า พระสมณโคดมดำไป บางพวกก็พูดว่า พระสมณโคดมไม่ดำ เป็นแต่คล้ำไป บางพวกก็พูดว่า ไม่ดำ ไม่คล้ำ เป็นแต่พร้อยไป.

      เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์เปล่งปลั่งแต่เสียผิวไป ก็เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น.

           [๔๒๕] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบันนี้ ที่เสวยทุกขเวทนากล้าหยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียรเท่านี้ ไม่เกินกว่านี้ขึ้นไป.

      แต่เราก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะอันวิเศษ ที่พอแก่พระอริยะซึ่งยิ่งกว่าธรรม ของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้. ชะรอยทางแห่งความตรัสรู้ พึงเป็นทางอื่น กระมัง.

      เราจึงมีความดำริว่า เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดี ซึ่งเป็น พระบิดา เรานั่งอยู่ใต้ร่มต้นหว้าอันเย็น ได้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรม ทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ทางนั้นพึง เป็นทาง แห่งความตรัสรู้กระมัง.

      เรามีวิญญาณตามระลึกด้วยสติว่า ทางนั้นเป็นทางแห่งความตรัสรู้. เราจึงมีความดำริ ว่า เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ แล้วเราก็ดำริต่อไปว่า เราไม่กลัวสุขเช่นนั้นเลย.

           [๔๒๖] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรามีความดำริต่อไปว่า ความสุขนั้น เราผู้มีกายถึง ความซูบผอมมาก ไม่ทำได้ง่ายเพื่อจะบรรลุ ถ้ากระไร เราพึงกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก และกุมมาสเถิด.

      เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและกุมมาส. ครั้งนั้น ภิกษุทั้ง ๕ ที่เฝ้าบำรุงเรา ด้วยหวังว่าพระสมณะโคดมบรรลุธรรมใด จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย.

      เมื่อใด เรากินอาหารหยาบคือข้าวสุกและ กุมมาส เมื่อนั้นภิกษุทั้ง ๕ นั้นก็ระอา หลีกไป ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมมักมากคลายความเพียรเวียนมา เพื่อความเป็น ผู้มักมาก เสียแล้ว.

           [๔๒๗] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรากินอาหารหยาบให้กายมีกำลังแล้ว สงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ วิเวกอยู่.

      แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้. เราบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจาร สงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่.

      เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุ ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. เราบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับ โสมนัส และโทมนัส ในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

      เราเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่ การ งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ.

      เราย่อมระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ ทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้.

      ดูกรอัคคิเวสสนะในปฐมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ อันนี้ เมื่อเราไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัด เสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว.

      แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.


(29)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๒๓

ตรัสการบรรลุวิชชาที่ ๒
(ย่อ)
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ก็โน้มไปเพื่อจุตูปปาตญาณ ด้วยทิพยจักษุ เราเห็นหมู่สัตว์ที่กำลัง จุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต รู้ชัดว่า สัตว์เป็นไปตามกรรม

ตรัสการบรรลุ วิชชาที่๒ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
เราเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ตั้งมั่น ก็น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ รู้ชัดว่านี้ทุกข์ นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา จิตหลุดพ้นแล้วจาก เหล่าอาสวะ จากกามาสวะ ภวาสวะ และ อวิชชาสวะ รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

บรรลุวิชาที่ ๓ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว



           [๔๒๘] เราเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ.

      เราเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ

      ดูกรอัคคิเวสสนะ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ อันนี้เมื่อเรา ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว.แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วเห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

          [๔๒๙] เราเมื่อมีจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ก็น้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ.

      ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรา รู้เห็น อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า พ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำๆ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ อันนี้ เมื่อเรา ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปอยู่ อวิชชาเรากำจัดเสียแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเรากำจัดเสียแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว. แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นปานนี้ ก็มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.

          [๔๓๐] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า เป็นผู้แสดงธรรมแก่บริษัท หลายร้อย. ถึงแม้บุคคลคนหนึ่งๆ สำคัญเราอย่างนี้บ้างว่า พระสมณโคดมแสดง ธรรมปรารภ เราเท่านั้น.

      ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น พระตถาคตย่อมแสดงธรรม แก่บุคคลเหล่านั้น โดยชอบ เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว. เราประคองจิต สงบตั้งมั่น ทำให้เป็น สมาธิ ณ ภายใน ในสมาธินิมิตเบื้องต้น จนจบคาถานั้นทีเดียว เราอยู่ด้วยผลสมาธิ เป็นสุญญะ ตลอดนิตยกาล.

     ส. ข้อนี้ ควรเชื่อต่อพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แต่พระโคดม ย่อมรู้เฉพาะว่า พระองค์เป็นผู้หลับในกลางวันบ้างหรือ ?

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เรารู้เฉพาะอยู่ว่า ในเดือนท้ายฤดูร้อน เรากลับจาก บิณฑบาต ในกาลภายหลังภัต ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยข้างเบื้องขวา.

     ส. พระโคดมผู้เจริญ สมณะและพราหมณ์เหล่าหนึ่ง ย่อมกล่าวข้อนั้นในความอยู่ ด้วยความหลง.

     พ. บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น หามิได้ ก็บุคคล เป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลง ด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงทำในใจให้ดีเราจัก กล่าว บัดนี้.


(30)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๒๓

สัจจกนิครนถ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
ตรัสความเป็นผู้หลงและไม่หลง

(ย่อ)
ผู้หลง เพราะเหตุยังละอาสวะทั้งหลายไม่ได้ อาสวะทั้งหลายอันทำให้ เศร้าหมอง ให้เกิดใน ภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป

ผู้ไม่หลง เพราะเหตุละเสียได้ ซึ่ง อาสวะทั้งหลาย
ตถาคต ละเสียได้แล้ว มีรากอันตัดขาดแล้ว เหมือนต้นตาลยอดด้วน ทำไม่ให้เกิด สืบไป ไม่มีความเกิดต่อไปเป็นธรรมดา (ละภพละชาติได้แล้ว-ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป)

           [๔๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็อย่างไร บุคคลเป็นผู้หลง อาสวะทั้งหลาย อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป

      บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้แล้ว เรากล่าว บุคคลผู้นั้นว่า เป็นผู้หลง บุคคลนั้น เป็นผู้หลง เพราะเหตุยังละอาสวะ ทั้งหลายไม่ได้ อาสวะทั้งหลายอันทำให้ เศร้า หมอง ให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป

      บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละเสียแล้ว เรากล่าว บุคคลผู้นั้นว่า เป็น ผู้ไม่หลง บุคคลนั้น นับว่า เป็นผู้ไม่หลง เพราะเหตุละเสียได้ ซึ่ง อาสวะทั้งหลาย.

      ดูกรอัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความ กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชรามรณะต่อไป

      ตถาคตละ เสียได้แล้ว มีราก อันตัดขาดแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้เกิด สืบไปไม่มี ความเกิด ต่อไปเป็นธรรมดา ดุจเดียวกันกับ ต้นตาล ที่เขาตัดยอดเสียแล้ว ไม่อาจงอกงาม ได้ต่อไป.


(31)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๒๓

สัจจกนิครนถ์สรรเสริญพระผู้มีพระภาค
(ย่อ)
สัจจกนิครนถ์ เล่าว่า เคยโตวาทะกับ ท่านปูรณะกัสสป ท่านมักขลิโคศาล ท่านอชิตะ เกสกัมพล ...ท่านปกุธะกัจจายนะ ...ท่านสัญชัยเวลัฏฐบุตร .. ท่านนิครนถ์นาฏบุตร จนคน เหล่านั้นโกรธแค้น และพ่ายแพ้

ส่วนพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าสนทนา กระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำ ที่ปรุงแต่ง มาอย่างนี้ ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้าเปล่งปลั่ง ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ผู้นิคันถบุตร ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของพระผู้มี พระภาค ลุกจาก อาสนะแล้วหลีกไป

          [๔๓๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญ เรื่องที่ท่านกล่าวมานั้น น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี พระโคดม ผู้เจริญ อันข้าพเจ้า มาสนทนากระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่ง มาอย่างนี้ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้าเปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญ

      ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ปรารภโต้ตอบวาทะ กะท่านปูรณะกัสสป แม้ท่านปูรณะกัสสปนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะ กับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบ เกลื่อนเสีย และชักนำ ให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคืองขัดแค้นให้ปรากฏ พระโคดมผู้เจริญ

      ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ปรารภโต้ตอบวาทะกะ ท่านมักขลิโคศาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะกัจจายนะ ... ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น ปรารภโต้ตอบวาทะ กับข้าพเจ้า ก็เอาเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสีย และชักนำให้พูดนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง ขัดแค้นให้ปรากฏ

      ส่วนพระโคดมผู้เจริญ อันข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง ทั้งไต่ถามด้วย ถ้อยคำ ที่ปรุงแต่ง มาอย่างนี้ ก็มีผิวพรรณสดใส ทั้งมีสีหน้าเปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็น พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคดมผู้เจริญมิฉะนั้น ข้าพเจ้าขอลาไปในบัดนี้ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่ต้องทำมาก.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด.

      ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ผู้นิคันถบุตร ชื่นชม อนุโมทนา พระภาษิตของพระผู้มี พระภาค ลุกจาก อาสนะแล้วหลีกไป ดังนี้แล.

จบ มหาสัจจกสูตร ที่ ๖


(32)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๖


๖. อุปาลิวาทสูตร
กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร
(เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์)
(ย่อ)
กรรม ๓ ของลัทธินิครนถ์นาฏบุต
  1.กายทัณฑะ ๑ (กรรมทางกาย)
  2.วจีทัณฑะ ๑ (กรรมทางจาวา)
  3.มโนทัณฑะ ๑ (กรรมทางใจ)
นิครนถ์บัญญัติว่า กรรมทางกาย (กายทัณฑะ ) มีโทษมากกว่ากรรมทางวาจาและทางใจ
ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนของพระผู้เมีพระภาคที่ว่า กรรมทางใจ(กายทัณฑะ) มีโทษมากกว่า กรรมอื่นๆ

           [๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตร อาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล.

      นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลังภัต กลับจาก บิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

      พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะ มีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ถือเอา อาสนะต่ำ แห่งหนึ่งนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร

          [๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ว่า ดูกร ทีฆตปัสสี ก็ นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม ไว้เท่าไร?

      ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็น อาจิณหามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็นอาจิณ.

     พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?

     ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร ย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ
   กายทัณฑะ ๑ (กรรมทางกาย)
   วจีทัณฑะ ๑ (กรรมทางจาวา)
   มโนทัณฑะ ๑
(กรรมทางใจ)

      ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง หรือ?

     ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง.

     ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกัน เหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติว่า มีโทษ มากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม?

     ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกัน เหล่านี้

นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า
กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติ วจีทัณฑะ
มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือน กายทัณฑะหามิได้

     ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ (ยืนยันครั้งที่ ๑ )

    ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ (ยืนยันครั้งที่ ๒ )

    ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ (ยืนยันครั้งที่ ๓ )

(นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติเรื่องกรรม ว่า กรรมทางกาย มีโทษมากกว่า กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ)

    พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้.

          [๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กราบทูลถาม พระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำ บาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?

     ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.

      ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?

-------------------------------------------------------------------------------------------------------
(33)
ตถาคตบัญญัติเรื่องกรรม ดังนี้

     ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม ไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.

     พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ?
ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.

     ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกัน เหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรมที่พระองค์บัญญัติว่า มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?

     ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกัน เหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่า มีโทษ มากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้.

     ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม (พระผู้มีพระภาคยืนยันครั้งที่ ๑)

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม (พระผู้มีพระภาคยืนยันครั้งที่ ๒)

ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม (พระผู้มีพระภาคยืนยันครั้งที่ ๓)

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหา นิครนถ์นาฏบุตร ถึงที่อยู่

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(34)
ทีฆตปัสสีนิครนถ์(สาวก) เข้าพบนิครนถ์นาฏบุตร(หัวหน้า)
(ย่อ)
ทีฆตปัสสีนิครนถ์(สาวกนิครนถ์นาฏบุตร) เข้าพบ นิครนถ์นาฏบุตร (หัวหน้าสำนัก)
ว่าเข้าเฝ้าสมณะโคดม และได้สนทนา เรื่องกรรม ท่านพระโคดม บัญญัติว่า กรรมทางใจ (มโนทัณฑะ) มีบาปมากกว่า กรรมทางกาย(กายทัณฑะ) และกรรมทางวาจา(วจีทัณฑะ)

นิครนถ์นาฏบุตร จึงชวน อุบาลีคฤหบดี ที่นั่งฟังอยู่ด้วยไปเข้าเฝ้าสมณะโคดม เพื่อโต้วาทะ บอกว่าจะฉุดกระชาก ลากไปมา ซึ่งวาทะ ด้วยวาทะ กะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงจับแกะขนยาว ฉุดกระชากลากไปมา

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตร ว่า พระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้ มายา เป็นเครื่องกลับใจสาวก ของพวกอัญญเดียรถีย์ โดยเตือนถึง 3 ครั้งด้วยเกรงว่า นิครนถ์นาฏบุตรจะพ่ายแพ้

           [๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตร นั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก ผู้มีความเขลา มีอุบาลิคฤหบดีเป็นประมุข. ได้เห็น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียว หนอ?

     ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง.

      นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ?
      ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.

     ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัย กับพระสมณโคดมมาอย่างไร?

      ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจา ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค จนหมดสิ้น แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตร ได้กล่าวกะทีฆตปัสสี นิครนถ์ว่า

      ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์ พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตาม ที่สาวก ผู้ฟังผู้รู้ทั่วถึง คำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงาม อะไรเล่า เมื่อเทียบกับ กายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่

(ลัทธินิครนถ์นาฏบุตร เชื่อว่า กรรม ทางกาย มีโทษมากกว่า กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ ซึ่งตรงกับกับคำสอนของพระผู้มีพระภาค)


           [๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี*ได้กล่าว กะ นิครนถ์ นาฏบุตรว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสี พยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่านทีฆตปัสสี พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดา โดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะงาม อะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะ อัน ยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษ มากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมาก เหมือนกาย ทัณฑะไม่
* (อุบาลี คหบดี คือเศรษฐีผู้อุปการะลัทธินิครนถ์นาถบุตร)

      ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้ แก่พระสมณ โคดม ถ้าพระสมณ โคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยันกับท่าน ตปัสสีไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชาก ลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษ มีกำลังพึงจับแกะมีขนยาว ที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมา

      ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษ มีกำลัง ผู้ทำการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ ไว้ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุม ฉุดกระชากลากไปมา

      ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษ ที่มี กำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุราที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้นไสไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปีลงไปยังสระลึกเล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม.

     นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูกรคฤหบดี เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

           [๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวกะ นิครนถ์นาฏบุตร ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะ แก่พระสมณ โคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายา เป็นเครื่องกลับใจ สาวกของพวกอัญญเดียรถีย์.

     นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ พระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็น สาวก ของอุบาลี คฤหบดีเป็นฐานะ ที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะใน เรื่องที่พูดนี้ แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่ พระสมณโคดม.

     ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวก ของพวก อัญญเดียรถีย์.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของ อุบาลี คฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้ แก่ พระสมณโคดมเราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระสมณโคดม.

     ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตร เป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดม เป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่อง กลับใจสาวก ของพวก อัญญเดียรถีย์.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวกของ พระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึง ความเป็นสาวก ของอุบาลี คฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่อง ที่พูดนี้แก่ พระสมณโคดม เราก็ได้ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่พระ สมณโคดม.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(35)
อุบาลีคหบดี เดินทางเข้าเฝ้าฯ
(ย่อ)
นิครนถ์นาฏบุตร ตรัสถามพระองค์ว่า ได้เจรจาปราศรัย กับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง? พร้อมกับบอกว่าเราทั้งสอง พึงเจรจาปราศรัยกันได้ ในเรื่องนี้เถิด

           [๖๘] อุบาลีคฤหบดี รับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้นิครนถ์ นาฏบุตร ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้หรือ?

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ บ้างหรือ?

     ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัย กับทีฆตปัสสีนิครนถ์อย่างไรบ้าง?

     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จนหมดสิ้น แก่อุบาลีคฤหบดี. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีพยากรณ์แก่ พระผู้มีพระภาคนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะ อันต่ำทรามนั้น จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่ อย่างนี้ โดยที่แท้กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็น ไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะมโนทัณฑะ หามี โทษมากเหมือนกาย ทัณฑะไม่.

     ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจา ปราศรัย กันได้ ในเรื่องนี้.

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสอง จงเจรจา ปราศรัย กันในเรื่องนี้เถิด.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(36)
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓
(ตรัสกับอุบาลีคหบดี)
(ย่อ)
ทรงสนทนากับ อุบาลีคหบดี ถึงเรื่องกรรม โดยทรงยกอุปมา เรื่องกรรมทางกาย การมทางวาจา และกรรมทางใจ
ทรงอุปมา ตรัสถาม
1) บุรุษเงื้อดาบ บอกเราจักทำสัตว์ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยครู่หนึ่งได้หรือหนอ?
2) สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?
3) ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไป เพราะเหตุอะไร?


          [๖๙] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้ เป็นคน อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็น จะต้องตายดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติ ความเกิดของนิครนถ์ ผู้นี้ใน ที่ไหนเล่า?

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่ นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดา จำพวกนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจ เกาะเกี่ยวทำกาละ.

     ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำ หลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสองจงเจรจา ปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะ เท่านั้น มีโทษ มากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมาก เหมือนกายทัณฑะไม่

           [๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ ในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวม ด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วย การห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาป ด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาป ทั้งปวง ถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าว ไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติวิบากเช่นไร แก่นิครนถ์ผู้นี้?

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่า มีโทษมากเลย.

ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก.

ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ.

     ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับ คำหลัง ก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสอง จงเจรจา ปราศรัย กันในเรื่องนี้เถิด

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะ เท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะหามี โทษมากเหมือน กายทัณฑะไม่
(นิครนถ์ บัญญัติว่า กรรมทางกาย มีโทษมากกว่ากรรมทางวาจา และกรรมทางใจ)

    ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้ เป็นบ้าน มั่งคั่ง เป็นบ้าน เจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น? อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น

    1)  ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษ คนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ใน บ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้อ อันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์ เท่าที่มีอยู่ ใน บ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดย ขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี ไม่สามารถจะทำสัตว์ เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียวจะงามอะไรเล่า.


     ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็น ผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราจัก ทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้าย ดวงเดียว

     2) ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถทำบ้าน นาลันทานี้ ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้เป็น เถ้าได้ด้วยใจ ประทุษร้ายดวงหนึ่ง บ้านนาลันทาอันต่ำทราม บ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.

    ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ
ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดีก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจา ปราศรัย กันในเรื่องนี้ เถิด.

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น กายทัณฑะ เท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมาก เหมือนกายทัณฑะไม่.


      ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อย่างนั้น พระองค์ ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ข้าพเจ้าได้ฟัง มาแล้ว.

    3) ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไป เพราะ เหตุอะไร? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อ ฤาษี

     ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อน กับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์ เจรจากัน ขอเราทั้งสอง จงเจรจา ปราศรัยกัน ในเรื่องนี้เถิด


(37)
อุบาลีคฤบดีแสดงตนเป็นอุบาสก

(ย่อ)
อุบาลี ชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค ด้วยข้ออุปมา... ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง ประกาศว่า ขอเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต


           [๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาค ด้วย ข้ออุปมา ข้อแรก แต่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะฟังปฎิภาณ การพยากรณ์ปัญหา อันวิจิตร ของพระผู้มี พระภาคนี้ ฉะนั้น

      ข้าพระพุทธเจ้าจึงยังแกล้ง ทำเป็นดุจถือตรงกันข้ามอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ พระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือน บุคคล หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนที่หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด

      พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้า ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป.

           [๗๒] ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มี ชื่อเสียง เช่นท่านใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี.

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุที่พระผู้มีพระภาค ตรัสกะข้าพระพุทธเจ้า อย่างนี้ ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ การที่มนุษย์ผู้มีชื่อเสียง เช่นท่าน ใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงทำเป็นความดีนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดี ต่อพระผู้มี พระภาค มากขึ้น

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยว่าพวกอัญญเดียรถีย์ ได้ข้าพระพุทธเจ้า เป็น สาวก แล้ว จะพึงยกธงปฏากเที่ยวไปตลอดบ้านนาลันทาทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเหตุจะได้รู้ กันว่า อุบาลีคฤหบดี ถึงความเป็นสาวกของพวกเราดังนี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกะ ข้าพระพุทธเจ้า อย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ด้วยว่ามนุษย์ผู้มีชื่อเสียงเช่น ท่าน ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นความดี ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้า นี้ ขอถึง พระผู้มีพระภาค พระธรรม และ พระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๒ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำ ข้าพระพุทธเจ้า ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

           [๗๓] ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์ มานาน แล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาต อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้า อย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญ บิณฑบาต อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ยิ่งชื่นชม ยินดี ต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า พระสมณโคดมตรัส อย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่ สาวกทั้งหลาย ของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคล ให้แก่เราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริง พระผู้มีพระภาค ยังทรงชักชวน ข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทาน แม้ในพวกนิครนถ์

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้า จักทราบกาลอันควรในการ ให้ทานนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๓  ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ ข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


(38)
ทรงแสดงอนุบุพพิกถา

(ย่อ)
ทรงแสดง อนุบุพพิกถา คือแสดงธรรมไปตามลำดับด้วย ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา เมื่อจิตอ่อน ปราศจากนิวรณ์ ก็ทรงแสดงให้สูงขึ้นคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไปตามลำดับ จนเห็นแจ้งในธรรม มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว

           [๗๔] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส อนุบุพพิกถา แก่อุบาลีคฤหบดีคือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ ในเนกขัมมะเมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส เมื่อนั้น จึงทรงประกาศพระธรรม เทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด

      ธรรมจักษุอัน ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีที่อาสนะ นั้นเอง ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน.

     ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้ง แล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ เป็นผู้ แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า มีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก.

     ดูกรคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด



(39)
อุบาลีสั่งนายทวารปิดประตู ไม่ต้อนรับนิครนถ์ ต้อนรับเฉพาะสาวกสมณะโคดมเท่านั้น
(ย่อ)
หลังจาก อุบาลีคหบดี เข้าเฝ้าฯ พร้อมสดับรับฟัง ธรรมีกถา จนแจ่มแจ้งแล้ว ก็เกิดความ ศรัทาธาเลื่อมใสในสมณโคดม จึงปฏิเสธที่จะต้อนรับและอุปถัมภ์ค้ำชูนิครนถ์นาฎบุตร และสาวกอีกต่อไป


         [๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเข้าไปยังนิเวศน์ ของตน เรียก นายประตูมาว่า

           ดูกรนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตู แก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค เพื่อสาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใด คนหนึ่งมา ท่านพึงว่ากะนิครนถ์ คนนั้น อย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ อย่าเข้าไปเลยตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป

      อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่ พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาค สาวกของ พระผู้มีพระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความ ต้องการด้วยอาหาร ท่านจงหยุด อยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่านในที่นี้ นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว (ไม่ให้เข้ามา แต่จะมีคนนำอาหารมาให้ที่ประตู)

           [๗๖] ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ฟังข่าวว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวก ของ พระสมณโคดมแล้ว ลำดับนั้น จึงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าว กะนิครนถ์ นาฏบุตร ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความ เป็นสาวก ของ พระสมณโคดมแล้ว.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดม นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของอุบาลี คฤหบดี นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้.

     ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณโคดม แล้ว.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดม นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของอุบาลี คฤหบดีนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้.

     ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า ได้ฟังข่าวนี้มาว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดมแล้ว.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ
โคดม นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ อุบาลี คฤหบดี นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้.

     ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป เพียงจะทราบว่าอุบาลีคฤหบดี เข้าถึง ความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว หรือหาไม่?

     นิ. ดูกรตปัสสี ท่านจงไป จงรู้ว่า อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของ พระสมณ โคดม หรือหาไม่?


(40)
ห้ามพวกเดียรถีย์เข้าบ้าน
อุบาลีคฤหบดี


      [๗๗] ครั้งนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์ จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของ อุบาลีคฤหบดี นายประตูได้ เห็นที ฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงกล่าวว่า จงหยุดเถิด ท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามาเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อุบาลีคฤหบดีเข้าถึง ความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่ พวก นิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์เปิดประตู เพื่อพระผู้มีพระภาค และสาวกของพระผู้มี พระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการ อาหาร จงหยุดอยู่ที่นี้แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่าน ณ ที่นี้.

     ทีฆตปัสสีกล่าวว่า ผู้มีอายุ เรายังไม่ต้องการอาหารดอก แล้วกลับจากที่นั้น เข้าไปหา นิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลี คฤหบดีเข้าถึงความ เป็นสาวก ของพระโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้ คำที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า

ข้อที่อุบาลีคฤหบดีพึงยกวาทะ แก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจสาวก ของพวก อัญญ เดียรถีย์ ดังนี้ จากท่าน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของท่านถูก พระสมณโคดม กลับใจด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ พระสมณโคดม นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึง ความเป็น สาวก ของอุบาลีคฤหบดีนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

     ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมนั้น เป็นความจริงทีเดียว ข้าพเจ้าไม่ได้คำที่ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยว่าพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจ สาวก ของพวกอัญญเดียรถีย์ ดังนี้ จากท่านข้าแต่ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีของ ท่าน ถูกพระสมณโคดมกลับใจ ด้วยมายาอันเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้ว.

     นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดีจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดมนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของอุบาลี คฤหบดีนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ และกล่าวต่อไปว่า เอาเถอะ ตปัสสี เราจะไป เพียงจะรู้เอง ทีเดียวว่า อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณ โคดม จริงหรือไม่?


(41)
คหบดีให้ นิครนถ์นาถบุตรเข้าบ้าน แต่ไม่ต้อนรับเหมือนเมื่อก่อน

           [๗๘] ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก เข้าไปยัง นิเวศน์ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูได้เห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล ได้กล่าวว่า จงหยุดเถิด ท่านผู้เจริญ อย่าเข้ามา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดี เข้าถึงความ เป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ แล้วท่าน เปิดประตูเพื่อ พระผู้มีพระภาคและสาวกของ พระผู้มี พระภาค คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญถ้าท่านต้องการอาหาร จงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมา เพื่อท่าน ณ ที่นี้.

     นิ. นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาอุบาลีคฤหบดี แล้วจง กล่าว อย่างนี้ว่า นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้ม ประตู ข้างนอกเขาอยากจะพบท่าน นายประตูรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เข้าไปหา อุบาลีคฤหบดี แล้วได้เรียนว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์ บริษัทเป็นอันมาก มายืนอยู่ที่ซุ้มประตูข้างนอก เขาอยากจะพบท่าน.

     อุ. ดูกรนายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลา ประตูกลาง.

      นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว ปูลาดอาสนะไว้ที่ศาลาประตูกลาง แล้วเข้า ไปหา อุบาลี คฤหบดีแล้วได้เรียนว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปูอาสนะไว้ที่ศาลาประตู กลาง แล้ว ท่านย่อม สำคัญกาลอันควร ณ บัดนี้. ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี เข้าไปยัง ศาลาประตู กลาง แล้วนั่งบน อาสนะอันเลิศประเสริฐอุดม และประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วเรียกนายประตูมาว่า

นายประตูผู้เป็นสหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร จงกล่าวอย่างนี้ ว่า ท่านผู้เจริญอุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า เชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง.

นายประตู รับคำอุบาลีคฤหบดีแล้วเข้าไปนิครนถ์นาฏบุตร แล้วได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญเชิญท่านเข้าไปเถิด ถ้าท่านจำนง.

ลำดับนั้น นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยนิครนถ์บริษัทเป็นอันมาก เข้าไปยังศาลา ประตูกลาง.

           [๗๙] ครั้งนั้นแล ได้ยินว่า แต่ก่อนอุบาลีคฤหบดีเห็นนาฏบุตร มาแต่ไกล เท่าใด แล้วต้อนรับแต่ที่เท่านั้น เอาผ้าห่มกวาดอาสนะที่เลิศประเสริฐอุดม และ ประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกำหนดให้นั่ง

         บัดนี้ ท่านอุบาลีคฤหบดีนั่งบนอาสนะ ที่เลิศ ประเสริฐ อุดม และ ประณีต อันมีอยู่ ณ ที่นั้นเสียเอง แล้วได้กล่าวกะนิครนถ์ นาฏบุตรว่า ท่านคฤหบดีผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ถ้าท่านหวังเชิญนั่งเถิด.

เมื่ออุบาลีคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตร ได้กล่าวว่า ท่านเป็นบ้า เสียแล้ว หรือ คฤหบดี ท่านเป็นคนเขลาเสียแล้วหรือ คฤหบดี ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จัก ยกวาทะ แก่พระสมณโคดม

      ครั้นไปแล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่อ อันใหญ่สวมมาแล้วหรือ ดูกรคฤหบดี เปรียบ เหมือนบุรุษผู้นำอัณฑะไป ถูกควักอัณฑะออกกลับมา ฉันใด ดูกรคฤหบดี อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษนำดวงตาไป ถูกควักดวงตากลับมาฉันใด ดูกรคฤหบดี ท่านก็ ฉันนั้น แล กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะแก่พระสมณโคดม ครั้นไป แล้ว กลับถูกวาทะดุจไม้ขื่ออันใหญ่สวมมาแล้ว ท่านถูกพระสมณะโคดม กลับใจ ด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจเสียแล้วหรือ.


(42)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๖๐


มายาเครื่องกลับใจ
(ย่อ)
อุบาลี กล่าวกับ นิครนถ์นาฏบุตร เรื่องมายาเคริ่องกลับใจ ว่าแม้ญาติสาโลหิต แม้กษัตริย์ ทั้งปวง แม้แพศย์ทั้งปวง พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จะพึงกลับใจ ได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้

ข้อนั้นจะพึงเป็นประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อม สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน... ท่านผู้เจริญ วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ควรเป็น ที่ยินดีของ บัณฑิต ทั้งหลายเท่านั้น แต่ไม่ควรซักไซร้ และไม่ควรพิจารณาของคนเขลา ทั้งหลาย

           [๘๐] อุ. ท่านผู้เจริญ มายาอันเป็นเครื่องกลับใจนี้ดี ท่านผู้เจริญ มายาอันนี้ เป็นเครื่องกลับใจนี้งาม ท่านผู้เจริญ ญาติสาโลหิตผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า จะพึง กลับใจ ได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ญาติสาโลหิต ผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า สิ้นกาลนาน

ท่านผู้เจริญ แม้ถ้ากษัตริย์ทั้งปวง จะพึงกลับใจ ได้ด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กษัตริย์แม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าพราหมณ์ทั้งปวงจะพึงกลับใจ ได้ด้วยมายาเครื่อง กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พราหมณ์ แม้ ทั้งปวง สิ้นกาลนาน

ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าแพศย์ทั้งปวง จะพึงกลับใจได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่แพศย์แ ม้ทั้งปวง สิ้นกาล นาน ท่านผู้เจริญแม้ถ้าศูทรทั้งปวง จะพึงกลับใจได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ศูทรแม้ทั้งปวง สิ้นกาลนาน

ท่านผู้เจริญ แม้ถ้าโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จะพึงกลับใจ ได้ด้วยมายา เครื่องกลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ สิ้นกาลนาน ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักทำอุปมาแก่ท่าน วิญญูชนบางพวก ในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้ แม้ด้วยการเปรียบเทียบ.

      [๘๑] ท่านผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว นางมาณวิกาสาว เป็นภริยาของ พราหมณ์ แก่ผู้เฒ่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด. ครั้งนั้น นางมาณวิกานั้นได้ กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานร จากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ.

      เมื่อนางมาณวิกากล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ จงรอ จนกว่าเธอจะคลอดเสียก่อนเถิด ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชาย ฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้จาก ตลาดมาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นหญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมียจากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของ ลูกหญิง ของเธอ.

     ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกานั้นได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไป ซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ. พราหมณ์ ก็ได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๒ ว่า นางผู้เจริญ จงรอจนกว่าเธอ จะคลอดเสียก่อนเถิด

ถ้าเธอคลอดลูกเป็นชายฉันจักซื้อลูกวานรตัวผู้ จากตลาดมาให้เธอ จักได้เป็น เพื่อนเล่นของลูกชายของเธอ แต่ถ้าเธอคลอดลูกเป็นผู้หญิง ฉันจักซื้อลูกวานรตัวเมีย จากตลาดมาให้เธอ เพื่อจักได้เป็นเพื่อนเล่นของ ลูกหญิงของเธอ.

ท่านผู้เจริญ นางมาณวิกาได้กล่าวเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปซื้อลูกวานรจากตลาดมาไว้ จักได้เป็นเพื่อนเล่นของลูกเรา ท่านผู้เจริญ.

ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้นั้นกำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงซื้อลูก วานร มาจากตลาด แล้วได้กล่าวว่า นางผู้เจริญ ฉันซื้อลูกวานรจากตลาดมาให้เธอ แล้ว จักเป็นเพื่อนเล่นของลูกเธอ.

      เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว นางมาณวิกานั้นได้กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไป จงอุ้มลูกวานรตัวนี้ เข้าไปหาบุตร ช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อม แล้วจงกล่าว อย่างนี้ว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อมฉัน อยากจะให้ท่าน ย้อมลูกวานรตัวนี้ ให้เป็น สีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง.

ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นกำหนัดมาก มีจิตปฏิพัทธ์ในนางมาณวิกานั้น จึงอุ้มลูก วานรเข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญ การย้อม ฉันอยากจะให้ท่านย้อมลูกวานรนี้ให้เป็นสีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้ว ทุบอีกให้เกลี้ยงดีทั้งสองข้าง.

      เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ บุตรช่างย้อมผู้ชำนาญการย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ลูกวานรของท่านตัวนี้ ควรแต่จะย้อมเท่านั้น แต่ไม่ควรจะทุบ ไม่ควรจะ ขัดสี ฉันใด. ท่านผู้เจริญวาทะของนิครนถ์ผู้เขลา ก็ฉันนั้น  ควรเป็นที่ยินดีของ คนเขลา เท่านั้น ไม่ควรเป็นที่ยินดีไม่ควรซักไซร้ ไม่ควรพิจารณาของบัณฑิต ทั้งหลาย.

     ท่านผู้เจริญ ครั้นสมัยต่อมา พราหมณ์นั้นถือคู่ผ้าใหม่เข้าไปหาบุตรช่างย้อม ผู้ชำนาญการย้อม แล้วได้กล่าวว่า แน่ะเพื่อนผู้ชำนาญการย้อม ฉันอยากจะให้ท่าน ย้อมคู่ผ้าใหม่นี้ให้เป็น สีน้ำย้อม ให้น้ำย้อมจับดี ทุบแล้วทุบอีกให้เกลี้ยงดี ทั้งสองข้าง.

เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้วบุตร ช่างย้อมผู้ชำนาญการ ย้อมได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ คู่ผ้าใหม่ของท่านนี้ ควรจะย้อม ควรจะทุบควรจะขัดสี ฉันใด.

      ท่านผู้เจริญ วาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ก็ฉันนั้น ควรเป็นที่ยินดีของบัณฑิต ทั้งหลายเท่านั้น แต่ไม่ควรซักไซร้ และไม่ควรพิจารณาของคนเขลาทั้งหลาย.

     นิ. ดูกรคฤหบดี บริษัทพร้อมทั้งพระราชา รู้จักท่านอย่างนี้ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็น สาวก ของนิครนถ์นาฏบุตร ดังนี้ เราทั้งหลายจะทรงจำท่านว่าเป็นสาวกของใครเล่า?

 




พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์