เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

 ลัทธินิครนถ์ นาฏบุตร
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

เรื่องราวของ ลัทธินิครนถ์นาฏบุตร ผู้อหังการ
โต้วาทะกับสมณโคดม จนเหงื่อหยด
N102
        ออกไปหน้าหลัก 2 of 7
  สัจจกนิครนถ์ ปริพาชก : นิครนถ์นาถบุตร ลัทธิที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสมัยพุทธกาล เคยโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคจนเหงื่อตก
  (15) สัจจกนิครนถ์สนทนา กับพระอัสสชิเถระ (๕. จูฬสัจจกสูตร)
  (16) สัจจกนิครนถ์ เข้าไปหาเจ้าลิจฉวี เพื่อชวนกันไปโตวาทะกับพระผู้มีพระภาค
  (17) สัจจกนิครนถ์ ทูลถามปัญหา รูปไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน
  (18) ทรงซักถามอัคคิเวสสนะ(พวกนิครนถ์) ด้วยอุปมา นิครนถ์ถึงกับนิ่ง
  (19) ยักษ์ถือตระบองขู่นิครนถ์ ถ้าไม่ตอบคำถามพระผู้มีพระภาค จะผ่าศรีษะเป็นเจ็ดเสี่ยง
  (20) ทรงสาธยาย รูปไม่ใช่ตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตน นิครนถ์ถึงกับเหงือหยดลงจากหน้าผาก ตกถึงพื้น
  (21) สัจจกนิครนถ์ทูลนิมนต์ฉันภัตตาหาร หลังยอมรับว่า เมื่อมาเจอพระโคดมแล้ว ไม่อาจเอาตัวรอดได้เลย
  (22) สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา (๖.มหาสัจจกสูตร)
  (23) กายภาวนา ของสัจจกนิครนถ์ คือการเปลือยกาย
  (24) กายภาวนา และจิตตภาวนา ที่นิครนถ์ตอบไม่ได้
  (25) การอบรมจิต อบรมกาย ในแบบของตถาคต
  (26) อุปมา ๓ ข้อ เรื่องไม้สด ไม่เปียก ไม้แห้ง นำมาสีเพื่อทำให้เกิดไฟ
  (27) ความเพียรอันแรงหล้า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นอันทนได้ยาก ก็มิอาจครอบงำจิตได้
 
 


(15)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๐๐


๕. จูฬสัจจกสูตร
เรื่องสัจจกนิครนถ์สนทนากับพระอัสสชิเถระ

(ย่อ)
สัจจกนิครนถ์ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ โต้ตอบวาทะกับใครๆ หรือกับพระสมณโคดม ก็ไม่ สะทกสะท้าน จะไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ ... ครั้นเห็นพระอัสชชิเดินมาแต่ไกล จึงเข้าไปหา ก็พระสมณโคดมสั่งสอนแนะนำพวกสาวกอย่างไร ... อัสสชิตอบ ทรงสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ
ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า ถ้ากระไร บางทีข้าพเจ้าจะพบกับ พระสมณโคดม จะได้สนทนากัน เพื่อช่วยปลดเปลื้อง ความเห็นที่เลวทราม ของพระสมณโคดม

คลิปเสียงอ่าน

           [๓๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี.

        ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ ผู้เป็นนิคันถบุตร อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็น ผู้มี ความรู้ดี.

        เขากล่าววาจาในที่ประชุมชน ในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า เราไม่เห็นสมณะ หรือ พราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะ กะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภโต้ตอบวาทะกับเราก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า.

        [๓๙๓] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิ นุ่งสบงแล้วถือบาตรจีวรเข้าไป บิณฑบาตในเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์ผู้เป็นนิคันถบุตร เดินเที่ยวยืดแข้งขาอยู่ใน เมืองเวสาลี ได้เห็นท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ที่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเข้าไปหาท่าน พระอัสสชิ ได้ปราศรัยกับท่าน ครั้งผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ถามท่านพระอัสสชิดังนี้ว่า

        ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดม แนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอน ของพระสมณโคดม มีส่วนอย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก.

     ท่านพระอัสสชิบอกว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำสาวก ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมาก ในสาวก ทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขาร ทั้งหลาย ไม่เที่ยงวิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลาย ไม่ใช่ตนวิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

        ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย.

     สัจจกนิครนถ์ กล่าวว่า ดูกรท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ฟังว่า พระสมณโคดม มีวาทะอย่างนี้ เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ฟังไม่ดีแล้ว ถ้ากระไร บางที ข้าพเจ้าจะพบกับ พระสมณโคดมผู้เจริญนั้น จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไร ข้าพเจ้าจะพึงช่วย ปลดเปลื้อง พระสมณโคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้นได้.


(16)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๐๑


สัจจกนิครนถ์เข้าไปหาเจ้าลิจฉวี
(ย่อ)
สัจจกนิครนถ์เข้าไปหา พวกเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ คน แล้วชวนกันไปสนทนากับ สมณโคดม
พร้อมกล่าวข่มขู่โอหังว่า จะฉุดกระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดม ให้เป็น เหมือนบุรุษจับแกะลากมาลากไป หรือเหมือนถูกคนงานโรงสุราจับเข้ามุม ฟาดไปฟาดมา

ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ พร้อมพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ เข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน อันเป็นที่ประทับของสมณโคดม เมื่อเข้าไปหาแล้ว พวกเจ้าลิจฉวีบางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวกประนมมือ บางพวกประกาศชื่อ และโคตรของตน บางพวก ก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


          [๓๙๔] สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ประชุมกันอยู่ในอาคาร เป็นที่ประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง.

     ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ เข้าไปหาพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้กล่าว กะเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวี ทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดม จักตั้งอยู่ตามคำที่ ภิกษุชื่ออัสสชิ ซึ่งเป็นสาวกรูปหนึ่ง ที่มีชื่อเสียง ยืนยันแก่ข้าพเจ้า

    ข้าพเจ้า (สัจจกนิครนถ์) จักฉุดกระชากลากถ้อยคำพระสมณโคดม มาด้วย คำข้าพเจ้า ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มีกำลังจับแกะ อันมีขนยาวที่ขนแล้วลากมาลากไป ฉะนั้น หรือให้เป็น หมือนคนที่ทำการงานในโรงสุราซึ่งมีกำลัง วางเสื่อลำแพน สำหรับ รองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึก แล้วจับที่มุมชักลากฟัดฟาดไปมา

     ฉะนั้นข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดถ้อยคำพระสมณโคดมเสีย ให้เป็นเหมือนบุรุษที่มี กำลัง ซึ่งเป็นนักเลงสุราจับถ้วยที่หูแล้วสลัดไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นงานพระ สมณโคดมเหมือนอย่างที่คนเขาเล่นกีฬาชื่อสาณโธวิก (ซักป่าน) ให้เป็นเหมือนช้าง ที่มีวัยล่วงหกสิบปี จึงจะถอยกำลัง ลงสู่สระโบกขรณีมีลำน้ำลึก แล้วเล่นกีฬาชนิด ที่ชื่อว่าสาณโธวิก (ซักป่าน) ฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม.

     ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไร พระสมณโคดม จักยก ถ้อยคำของท่านสัจจกะได้ ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับยกถ้อยคำของพระสมณโคดมเสีย บางพวกกล่าวว่า ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงจักยกถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจักยกถ้อยคำของท่านสัจจกะเสีย.

     ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ มีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ ห้อมล้อมแล้ว เข้าไปยัง กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

        [๓๙๕] สมัยนั้น ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง.

        ครั้งนั้นแล สัจจกนิครนถ์ เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้ว ถามว่าท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ พระสมณโคดมนั้นอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดมนั้น.

        ภิกษุทั้งหลายนั้นบอกว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไป สู่ป่ามหาวัน ประทับพักกลางวัน ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง.

        ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์ พร้อมด้วยพวกเจ้าลิจฉวีมีจำนวนมาก เข้าไปสู่ ป่า มหาวัน จนถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

        แม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาท บางพวกทูลปราศรัย บางพวก ประนมมือ บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักพระผู้มีพระภาค บางพวก ก็นิ่งอยู่ ครั้นแล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.


(17)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๐๒


สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา

(ย่อ) และแล้วการสนทนาจึงเริ่มขึ้น..
พวกนิครนถ์(อัคคิเวสสนะ)
ถามว่าพระโคดมสอนสาวก อย่างไร..
ทรงตรัสว่า.. รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณ ไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตนสังขารทั้งหลาย ไม่ใช่ตน วิญญาณ ไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตน ดังนี้

นิครนถ์ขอให้พระโคดมขยายความ.. เหมือนพันธุ์ไม้ที่เจริญงอกงามต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ ในแผ่นดิน จึงจะเจริญงอกงามได้ หรือเหมือนการทำงานด้วยกำลังของบุคคล ต้องอาศัย แผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บนแผ่นดินจึงทำกันได้ฉันใด... ปุริสบุคคลนี้ มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญผลบาป ฉันนั้น (รูปเป็นตน เวทนาเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในขันธ์๕ จึงจะได้รับผลบุญ-บาป)


     [๓๙๖] สัจจกนิครนถ์ พอนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าพเจ้า ขอถามพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดม จะทำโอกาสเพื่อแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด ก็ถามเถิด.

     ส. พระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระโคดมมีส่วน อย่างไร ที่เป็นไปมากในพวกสาวก?

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวกทั้งหลาย อย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตนสังขารทั้งหลาย ไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตน ดังนี้

       ดูกรอัคคิเวสสนะ เราแนะนำสาวก ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา มีส่วนอย่างนี้ ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย

     ส. ท่านพระโคดม ขออุปมาจงแจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า?
     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่านเถิด.

     ส. ท่านพระโคดม เหมือนพืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมด ต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความ เจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ต้องทำด้วยกำลัง อันบุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่บน แผ่นดินจึงทำกันได้ ฉันใด ปุริสบุคคลนี้ มีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญผลบาป ฉันนั้น

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ข้อนั้นท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตน ของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตน ของเราดังนี้ มิใช่หรือ?

     ส. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวอย่างนั้น.
พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากนั้นจักทำอะไรแก่ท่าน ดูกรอัคคิเวสสนะ เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด.

     ส. ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ รูปเป็นตนของเรา เวทนา เป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็น ตนของเราดังนี้


(18)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ หน้าที่ ๓๐๓


ทรงซักถามอัคคิเวสสนะด้วยอุปมา
(อัคคิเวสสนะ-ปริพาชก)
(ย่อ)
เหมือนกษัตริย์ที่ปกครองในแว่นแคว้นของตน อาจสั่งฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควร เนรเทศ ย่อมทำได้ ... ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าว ว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ? ถึงตอนนี้ สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถึงสองครั้ง

     [๓๙๗] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉนอำนาจของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้า ปเสนทิโกศล หรือพระเจ้ามคธ อชาตศัตรูเวเทหิบุตร อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตร คนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศพึงให้เป็นไปได้ ในพระราชอาณาเขตของ พระองค์มิใช่หรือ?

     ส. ท่านพระโคดม อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรูเวเทหิบุตร อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราช อาณาเขตของพระองค์ แม้แต่อำนาจของหมู่คณะเหล่านี้ คือ วัชชี มัลละ อาจฆ่าคน ที่ควรฆ่า ริบราชบาตรคนที่ควรริบเนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ยังเป็นไปได้ใน แว่นแคว้น ของตนๆ เหตุไรเล่า

     อำนาจเช่นนั้น ของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้า ปเสนทิโกศล หรือพระเจ้ามคธอชาตศัตรู เวเทหิบุตร จะให้เป็นไปไม่ได้ อำนาจ เช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้นต้องให้เป็นไปได้ด้วย ควรจะเป็นไปได้ด้วย.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?

     เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ ก็นิ่งเสีย ถึงสองครั้ง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกะ สัจจกนิครนถ์ ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงแก้ ไม่ใช่การที่ท่านควรนิ่ง

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น.


(19)

ยักษ์ถือตระบองขู่นิครนถ์ถ้าไม่ตอบ จะผ่าศรีษะเป็นเจ็ดเสี่ยง
(ย่อ)
เวลานั้นท้าววชิรปาณีสักกเทวราช(ยักษ์) ถือกระบองเพชร ลุกเป็นไฟลอยอยู่ ในเวหา เหนือ ศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์ มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะออกเป็นเจ็ด สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน เข้าหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ป้องกันทูลว่า ขอจงทรงถาม เถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

     สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช(ยักษ์) ถือกระบองเพชร ลุกเป็นไฟรุ่งเรือง ลอยอยู่ ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มี พระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้ว ถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์ นั้นเจ็ดเสี่ยง ในที่นี้แหละ

     ท้าววชิรปาณีนั้น พระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน แสวงหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ต้านทาน ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้ทูลว่าพระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้.


(20)
ทรงสาธยายรูปไม่ใช่ตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตน

(ย่อ)
พ.ถ้ารูปเป็นตน เรามีอำนาจไปบังคับรูปให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้หรือไม่ นิครนถ์ตอบว่าไม่ได้ พ. แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตน ไม่อาจบังคับได้ ...จากนั้นทรงแสดง รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ...นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา?

พระผู้มีพระภาคโต้วาทะกับนิครนถ์ โดยไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ มีพระฉวีดังทอง …ต่างกับนิครนถ์ มีหยาดเหงื่อหยดจากหน้าผาก มายังผ้าห่ม แล้วตกที่พื้น


          [๓๙๘] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านกล่าว อย่างนี้ว่า รูปเป็นตนของเรา ดังนี้ อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิดอย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?
     ส. ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้ว จึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารทั้งหลายเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้
อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณว่า เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็น อย่างนี้เลย ดังนี้หรือ?
     ส. ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้ว จึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ต่อกัน ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
     ส. ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?
     ส. สิ่งนั้นเป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็น สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา?
     ส. ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ อยู่แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตน ของเรา ดังนี้ ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้แล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ?
     ส. จะพึงมีได้เพราะเหตุไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติด ทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่นนั่นเป็นตนของเรา ดังนี้ มิใช่หรือ?
     ส. ไฉนจะไม่ถูก พระเจ้าข้า ข้อนี้ต้องเป็นอย่างนั้น พระโคดมผู้เจริญ.

           [๓๙๙] พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ เปรียบเหมือนบุรุษมีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรง ยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ริดใบออกเขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน แม้ฉันใด

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซ้ไล่เลียง สอบสวน ในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่าว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าววาจานี้ในที่ประชุมชน ในเมืองเวสาลีว่า เราไม่เห็น สมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น คณาจารย์ แม้ที่ปฏิญญาตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรารภโต้ตอบวาทะกับเรา
จะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่ คนเดียวเลย หากเราปรารภโต้ตอบวาทะกะเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นปรารภ โต้ตอบ วาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยถึงมนุษย์เล่า ดังนี้

     ดูกรอัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่ม แล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราในเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาค ทรงเปิดพระกาย มีพระฉวีดังทอง ในบริษัทนั้น


(19)
สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ


             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

             [๔๐๐] ในลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีนามว่า ทุมมุขะ ทราบว่า สัจจกนิครนถ์ นิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อุปมาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์.

     อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรทุมมุขะ อุปมานั้นจงแจ่มแจ้งแก่ท่าน เถิด

     เจ้าลิจฉวีนั้นทูลถามว่า เปรียบเหมือน ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่ สระหนึ่ง ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิง เป็นอันมาก ออกจากบ้าน หรือ นิคมนั้นไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็ลงจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นจะส่ายก้าม ไปข้างไหนเด็กเหล่านั้น ก็คอยต่อยก้ามปูนั้น ด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้น ก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ ฉันใด

     ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม เข้าใจผิด กวัดแกว่งบางอย่างๆ ของสัจจกนิครนถ์ พระองค์หัก เสียแล้ว แต่นี้ไป สัจจกนิครนถ์ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระองค์ ด้วยความ ประสงค์จะโต้ตอบอีก ก็ฉันนั้นแหละ.

     เมื่อเจ้าลิจฉวีทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็พูดว่าเจ้าทุมมุขะ ท่านหยุด เถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน ข้าพเจ้าพูดกับพระโคดม ต่างหาก

    ครั้นกล่าว อย่างนี้แล้ว ก็ทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ข้อที่พูดนั้นเป็นของ ข้าพเจ้า และ ของพวกสมณ พราหมณ์เหล่าอื่น ยกเสียเถิด เป็นแต่คำเพ้อ พูดเพ้อกันไป


(20)

เหตุที่พระสาวกเป็นผู้ทำตามคำสอนและเป็นพระอรหันต์
(ย่อ)
สาวกของตถาคต ย่อมเห็น ขันธ์๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามที่เป็นจริง ปราศจากความสงสัย.. ขันธ์๕ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ลวงไปแล้ว ยังมาไม่ถึง แม้เกิดในบัดนี้ ภายใน-ภายนอก หยาบ-ละเอียด ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้ จึงพ้นแล้วเพราะ ไม่ถือมั่น...
ภิกษุที่รู้พ้นวิเศษแล้ว ประกอบด้วยคุณ อันยอดเยี่ยม ๓ ประการคือ ความเห็นอัน ยอดเยี่ยม ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม  ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม

          [๔๐๑] สัจจกนิครนถ์ ทูลถามว่า ด้วยเหตุเท่าไร สาวกของพระโคดม จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจาก ความแคลงใจอันเป็นเหตุ ให้กล่าวว่าข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน?

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วย ปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด อันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งเกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดีหยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมด ก็เป็นแต่รูปเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้ เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ สาวกของเราจึงชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสั่ง สอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุ ให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไรถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอน ของศาสดาตน.

            [๔๐๒] ส. ข้าแต่พระโคดม ด้วยเหตุเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ?

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ ล่วงไปแล้วทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งเกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็น ภายนอกก็ดี หยาบก็ดีละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้ เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้ จึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะ สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตน ถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ภิกษุที่รู้พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้แหละ ประกอบด้วยคุณ อันยอดเยี่ยม ๓ ประการคือ
    ความเห็นอันยอดเยี่ยม ๑
    ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม ๑
    ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม ๑.

เมื่อมีจิตพ้นกิเลสแล้วอย่างนี้ ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ตถาคตว่า    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงทำเพื่อให้ตรัสรู้    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสงบได้แล้ว ย่อม ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงข้ามพ้นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อข้ามพ้น    พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงดับสนิทแล้วย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับสนิท


(21)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ หน้าที่ ๓๐๘


สัจจกนิครนถ์ทูลนิมนต์ฉันภัตตาหาร

(ย่อ) สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้สำคัญผิด ว่า สามารถหลบหลีกเอาตัวรอดได้ แต่มาเจอะพระโคดมแล้ว ไม่อาจเอาตัวรอดได้เลย... เวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จไป ยังอารามของสัจจกนิครนถ์ พร้อมภิกษุ เพื่อรับภัตตาหารที่ สัจจนิครนถ์จัดถวาย


     [๔๐๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเป็นคน คอยกำจัด คุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้สำคัญ ถ้อยคำของ พระโคดม ว่า ตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน บุรุษมาปะทะช้าง ซับมันเข้าก็ดี เจอะกองไฟอันกำลังลุกโพลงก็ดี เจอะงูพิษที่มีพิษร้ายก็ดี ยังพอเอา ตัวรอด ได้บ้าง แต่มาเจอะพระโคดมเข้าแล้วไม่มีใครเอาตัวรอดได้เลย

     ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเป็น คนคอยกำจัดผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจาได้สำคัญ ถ้อยคำของพระโคดมว่า ตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน ขอพระโคดม พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉัน ในวันพรุ่งนี้.

     พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ.

     ลำดับนั้น สัจจกนิครนถ์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวก เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่าเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้าพระโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ข้าพเจ้า นิมนต์แล้ว เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ พวกท่านจะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่พระโคดมเถิด

     เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ได้นำภัตตาหารประมาณห้าร้อยสำรับ ไปให้แก่สัจจกนิครนถ์

     สัจจกนิครนถ์ให้จัดของเคี้ยวของฉัน อันประณีตในอาราม ของตนเสร็จแล้ว จึงให้ทูลบอกกาลแด่พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม เวลานี้ เป็นกาลควร ภัตตาหารสำเร็จแล้ว.

        [๔๐๔] ครั้งนั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือ บาตรจีวร เสด็จไปสู่อาราม แห่ง สัจจกนิครนถ์ ประทับบนอาสนะ ที่ปูลาดไว้ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.

     ครั้งนั้น สัจจกนิครนถ์ อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยว ของฉันอันประณีต ด้วยมือ ของตน ให้อิ่มหนำสำราญแล้ว.

     เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว สัจจกนิครนถ์ จึงถือเอาอาสนะต่ำ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ขอบุญ และผลบุญในทานนี้ จงมีเพื่อ ความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด.

     พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้ อาศัยทักขิเณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับท่าน จักมีแก่ทายก ทั้งหลาย ส่วนบุญและผลบุญอาศัยทักขิเณยยบุคคล ที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับเรา จักมีแก่ท่าน ฉะนี้แล.

จบ จูฬสัจจกสูตร ที่ ๕


(22)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๑๐


สัจจกนิครนถ์ทูลถามปัญหา (๖. มหาสัจจกสูตร)

(ย่อ)
นิครนถ์...สมณะพราหมณ์บางพวก หมั่นเจริญ กายภาวนา แต่ไม่ได้เจริญจิตภาวนา เขาย่อม ประสบทุกขเวทนาอันเกิดในกาย เป็นบ้าบ้าง จิตฟุ้งซ่านบ้าง เลือดพุ่งออกจากปากบ้าง นั่นเป็นเพราะอะไร? พ. เป็นเพราะไม่อบรมจิต

นิครนถ์...สมณะพราหมณ์บางพวก หมั่นเจริญ จิตภาวนา แต่ไม่ได้เจริญกายภาวนา เขาย่อม ประสบทุกขเวทนาอันเกิดในจิต เป็นบ้าบ้าง จิตฟุ้งซ่านบ้าง เลือดพุ่งออกจากปากบ้าง นั่นเป็นเพราะอะไร? พ. เป็นเพราะไม่อบรมจิต

        [๔๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี. ก็สมัยนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งดีแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรมีพระพุทธ ประสงค์ จะเสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาต ในเมือง เวสาลี เวลานั้น สัจจกนิครนถ์ ผู้เป็นนิคันถบุตร เมื่อเที่ยวเดินเพื่อยืดแข้งขา ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน.

     ท่านพระอานนท์ ได้เห็นสัจจกนิครนถ์ กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกนิครนถ์นี้เป็นนักโต้ตอบ พูดยกตน ว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเป็นอันมากยอมยกว่าเป็นผู้มีความรู้ดี เขาปรารถนาจะติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงพระกรุณา ประทับอยู่สักครู่หนึ่งเถิด.

     พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนอาสนะที่เขาปูถวาย.

     ขณะนั้น สัจจกนิครนถ์ เข้าไปถึงที่พระผู้มีพระภาคประทับ ครั้นแล้วทูลปราศรัย กับพระองค์ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        [๔๐๖] สัจจกนิครนถ์ ครั้นนั่งแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระโคดม ผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์ พวกหนึ่งหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ แต่หาได้ หมั่น ประกอบจิตภาวนาไม่. สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสบ ทุกขเวทนา อันเกิดในสรีรกาย

     พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนาอันเกิดในสรีรกาย กระทบเข้าแล้ว ความขัดขา จักมีบ้างหทัยจักแตกบ้าง เลือดอันร้อนจักพลุ่ง ออกจาก ปากบ้าง (พวกที่บำเพ็ญกายภาวนานั้น) จักถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง จิตอัน หันไปตามกายของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย. นั่นเป็นเพราะอะไร?

เป็นเพราะไม่อบรมจิต

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

     พระโคดมผู้เจริญ มีสมณะและพราหมณ์ พวกหนึ่ง หมั่นประกอบ จิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่. สมณะ และพราหมณ์พวกนั้น ย่อมประสพทุกข เวทนา อันเกิดขึ้นในจิต

     พระโคดมผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลอันทุกขเวทนา อันเกิดขึ้นในจิต กระทบเข้าแล้ว ความขัดขา จักมีบ้าง หทัยจะแตกบ้าง เลือดอันร้อนจัดพลุ่งออก จากปาก (พวกที่บำเพ็ญจิตตภาวนานั้น) จักถึงความ เป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง กายอันหันไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต. นั่นเป็นเพราะอะไร?

เป็นเพราะไม่อบรมกาย.

     พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความดำริว่า หมู่สาวกของพระโคดม ย่อมหมั่น ประกอบ จิตตภาวนา อยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่.


(23)
กายภาวนาของสัจจกนิครนถ์ คือการเปลือยกาย
(ย่อ)

การกายภาวนาของพวกนิครนถ์คือ เปลือยกาย ใช้มือเช็ดอุจจาระ ไม่รับอาหารที่เขาเชิญ ให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีการนิมนต์ ไม่รับอาหารที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับอาหารในที่มีธรณี ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลังให้ลูก ฯลฯ

พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ(นิครนถ์) บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัตอย่างเดียวหรือ?
ส. ไม่เป็นดังนั้น บางท่านเคี้ยวของอย่างดี กินโภชนะอย่างดี ลิ้มของอย่างดี ดื่มน้ำอย่างดี เพื่อให้ร่างกายมีกำลังเจริญอ้วนพีขึ้น
พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้น ละทุกกรกิจอย่างก่อน แล้วบำรุงกายนี้ภายหลัง เมื่อเป็น อย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญ และความเสื่อมไป


        [๔๐๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนาท่านฟัง มาแล้วอย่างไร?

     สัจจกนิครนถ์ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะผู้วัจฉโคตร ท่านกิสะ ผู้สังกิจจโคตร ท่านมักขลิผู้โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาท ดีเสีย เช็ดอุจจาระ ที่ถ่ายด้วยมือ ไม่ไปรับภิกษาตามที่เขาเชิญให้รับ ไม่หยุดตาม ที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษาที่เขาเจาะจงให้ ไม่ยินดีการนิมนต์

     ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปาก กระเช้า ไม่รับ ภิกษา ในที่มีธรณี และมีท่อนไม้ หรือมีสากอยู่ในระหว่าง ไม่รับภิกษา ของคน๒ คน ที่กำลังกินอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลังให้ลูก ดื่มนมของหญิง ที่มีชู้

     ไม่รับภิกษาที่เขานัดกันทำในที่ที่เขาเลี้ยงสุนัขไว้ และในที่มี หมู่แมลงวันตอม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำที่เขาหมักแช่ ด้วยสัมภาระ รับภิกษา ที่เรือนเดียวบ้าง รับเฉพาะคำเดียวบ้าง รับที่เรือนสองหลังบ้าง รับเฉพาะ สองคำบ้าง ฯลฯ

     รับที่เรือนเจ็ดหลังบ้าน รับเฉพาะเจ็ดคำบ้าง เลี้ยงตนด้วย ภิกษาอย่างเดียวบ้าง สองอย่างบ้าง ฯลฯ เจ็ดอย่างบ้าง กลืนอาหารที่เก็บไว้วันหนึ่ง บ้าง สองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง หมั่นประกอบเนืองๆ ในอันกินภัต ตามวาระ แม้มีวาระครึ่งเดือนเห็นปานนี้ ย่อมอยู่ดังนี้.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัตเท่านั้นอย่างเดียวหรือ?

     ส. ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ บางทีท่านเหล่านั้น เคี้ยวของควรเคี้ยวอย่าง ดีๆ กินโภชนะอย่างดีๆ ลิ้มของลิ้มอย่างดีๆ ดื่มน้ำอย่างดีๆ ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้นๆ

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ พวกเหล่านั้น ละทุกกรกิจอย่างก่อน แล้วบำรุงกายนี้ ภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความเจริญและความเสื่อมไป.


(24)

กายภาวนา และจิตตภาวนา ที่นิครนถ์ตอบไม่ได้
(ย่อ)

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ จิตตภาวนา ท่านได้ฟัง มาแล้วอย่างไร? สัจจกนิครนถ์ ... ไม่อาจทูลบอกได้

ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนา ก่อนนั้นท่านเจริญแล้ว แม้กายภาวนานั้น ไม่ประกอบด้วยธรรม ใน อริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จักรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร

ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรมแล้ว มีจิตมิได้อบรมแล้ว และที่มี กายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นได้ด้วยเหตุอย่างไร ท่านจงฟังเหตุนั้นเถิดจงทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว

 

           [๔๐๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ จิตตภาวนา ท่านได้ฟัง มาแล้วอย่างไร?

      สัจจกนิครนถ์ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูลบอกได้.

     ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะสัจจกนิครนถ์ดังนี้ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กายภาวนา ก่อนนั้นท่านเจริญแล้ว แม้กายภาวนานั้น ไม่ประกอบด้วยธรรมใน อริยวินัย ท่านยังไม่รู้จัก แม้กายภาวนา จักรู้จักจิตตภาวนาแต่ไหน

     ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคล ที่มีกายมิได้อบรมแล้ว มีจิตมิได้อบรมแล้ว และที่มี กายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นได้ด้วยเหตุอย่างไร ท่านจงฟังเหตุนั้นเถิดจงทำไว้ ในใจให้ดี เราจักกล่าว.

    สัจจกนิครนถ์ ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว


(25)
การอบรมจิต อบรมกาย ในแบบของตถาคต
(ย่อ)
ดูกรอัคคิเวสสนะ ปุถุชนผู้มิได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูกสุขเวทนา กระทบเข้าแล้ว มีความยินดีในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดีนัก ในสุขเวทนา สุขเวทนาของเขานั้น ย่อมดับไป... เพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนา เกิดขึ้น เขาถูก ทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ถึง ความ หลงไหล แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้ อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต

แม้สุขเวทนา (ทางกาย)เกิดขึ้นแก่อริยสาวก ก็ไม่ครอบงำจิต เพราะได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ครอบงำจิต เพราะได้อบรมจิต ... บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว เป็นอย่างนี้แหละ.

สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อพระโคดม
เพราะพระโคดม มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว


             [๔๐๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายมิได้ อบรม มีจิตมิได้อบรม เป็นอย่างไร?

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูก สุขเวทนา กระทบเข้าแล้ว มีความยินดี นักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดีนัก ในสุขเวทนา สุขเวทนาของเขานั้น ย่อมดับไปเพราะ สุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนา เกิดขึ้น เขาถูก ทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก ลำบากใจ รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ถึง ความ หลงไหล

     แม้สุขเวทนานั้นเกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้ อบรม กาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต

     ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่ง ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ มิได้อบรมจิตทั้งสองอย่างดังนี้ ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายมิได้อบรมมีจิต มิได้อบรม เป็นอย่างนี้แหละ.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ก็บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นอย่างไร?

     ดูกรอัคคิเวสสนะ อริยสาวกใน ธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น เขาถูก สุขเวทนากระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดีนักในสุขเวทนา และไม่ถึงความเป็นผู้ยินดี นักในสุขเวทนา สุขเวทนาของเขานั้นย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับ ก็มีทุกขเวทนา เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่รำพัน คร่ำครวญ ตบอก ไม่ถึงความ หลงไหล

     แม้สุขเวทนานั้นเกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้ อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต

     ดูกรอัคคิเวสสนะ แม้สุขเวทนาเกิดขึ้น แก่อริยสาวกผู้ใดผู้หนึ่ง ก็ไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย แม้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะ เหตุที่ได้อบรมจิตทั้งสองอย่างนี้ ดังนี้

     ดูกรอัคคิเวสสนะ บุคคลที่มีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้วเป็นอย่างนี้แหละ.

     สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสต่อพระโคดม เพราะพระ โคดมมีกายอบรมแล้ว มีจิตอบรมแล้ว.


(26)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๑๖

อุปมา ๓ ข้อ
(ย่อ)
ข้อ ๑
เหมือนไม้สด มียาง ที่วางไว้ในน้ำ บุรุษถือเอาไม้มาสีกัน หวังให้ไฟปรากฎ ได้หรือ หนอ? สัจจกนิครนถ์ .. ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย ...
สมณะ หรือพราหมณ์แม้หลีกออกจากกาม ด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหายและความ กระวนกระวาย
เพราะกามในกามทั้งหลายยังมิได้ละ

ข้อ ๒
เหมือนไม้สด มียาง ที่วางไว้บนบก ห่างจากน้ำ บุรุษเอาไม้มาสีกัน หวังให้ไฟ ปรากฏ ได้หรือหนอ? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า...ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย ...
สมณะหรือพราหมณ์ แม้หลีกออก จากกาม ด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหายและความ กระวน กระวาย
เพราะกามในกามทั้งหลายยังมิได้ละ

ข้อ ๓
เหมือนไม้แห้งสนิท ที่เขาวางไว้บนบก ห่างจากน้ำ บุรุษเอาไม้มาสีกัน หวังให้ไฟ ปรากฏขึ้น …ได้หรือหนอ? สัจจกนิครนถ์ทูลว่า...ข้อนี้เป็นไปได้เลย
สมณะหรือพราหมณ์ หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว
ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหาย และความกระวนกระวาย เพราะกามในกามทั้งหลายเสียด้วยดี ใน ภายในแล้ว
(ไม้แห้ง อุปมาเหมือนละกามได้แล้ว ไม่รู้สึกพอใจในกามทางกาย ไม้ย่อมติดไฟ)


     [๔๑๔] ดูกรอัคคิเวสสนะ ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคย ได้ยินมาในกาลก่อน มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่เรา.

     อุปมาข้อ ๑ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้ในน้ำ บุรุษถือเอาไม้สีไฟ มาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สีไฟสี ลงที่ไม้ สดมียางที่เขาวางไว้ในน้ำ พึงให้ไฟเกิดปรากฏขึ้นได้บ้างหรือหนอ?

     สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งเขาวางไว้ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย ลำบากเปล่า.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ยังไม่หลีกออกจากกามด้วยกาย ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความ กระหาย และความกระวนกระวาย เพราะกาม ในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละ และมิได้ ระงับคืนเสียด้วยดีในภายใน.

     สมณะหรือพราหมณ์ ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควร เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความ ตรัสรู้ดีอันประเสริฐ.

     นี้แลอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏ แจ่มแจ้งแล้วแก่เรา.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------

        [๔๑๕] อุปมาข้อที่ ๒ ว่า เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่เขาวางไว้บนบก ห่างจากน้ำ บุรุษถือเอาไม้สีไฟ มาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้น เอาไม้สีไฟสีลงที่ ไม้สด มียางที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ พึงให้ไฟเกิดปรากฏขึ้นได้บ้างหรือหนอ?

     สัจจกนิครนถ์ทูลว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะไม้สดอันมียาง ถึงเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความ เหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า.

     พ. ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้หลีกออกจากกามด้วยกายแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวาย เพราะกาม ในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละ และ มิได้ระงับคืนเสียด้วยดีภายใน.

     สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียรก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนา เช่นนั้นก็ดี ก็เป็นผู้ไม่ควร เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ.

     นี้แลอุปมา ข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ที่เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏ แจ่มแจ้งแล้วแก่เรา.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------

           [๔๑๖] อุปมาข้อที่ ๓ อื่นอีกว่า เปรียบเหมือนไม้อันแห้งสนิทที่เขาวางไว้ บนบกห่างจากน้ำ บุรุษถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้าด้วยหวังว่า เราจักให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเอาไม้สีไฟสีลงที่ไม้ อันแห้งสนิท ที่เขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำพึงให้ไฟเกิดปรากฏขึ้น ได้บ้างหรือหนอ?

     สัจจกนิครนถ์ทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระโคดมผู้เจริญ นั่นเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะ ไม้แห้งสนิท ทั้งเขาวางไว้บนบกห่างจากน้ำ.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ ฉันนั้นเหมือนกันแล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง หลีกออกจากกามด้วยกาย แล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง ความระหาย และความกระวนกระวายเพราะกาม ในกามทั้งหลายเสียด้วยดี ใน ภายในแล้ว.

     สมณะหรือพราหมณ์ ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้า หยาบ เผ็ดร้อน อันเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็ดี หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็นรู้ควร เพื่อผู้ เพื่อเห็น และเพื่อความตรัสรู้ดีอันประเสริฐ.

     นี้แลอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เราไม่เคยฟังมาในกาลก่อน มาปรากฏ แจ่มแจ้งแล้วแก่เรา.

     อุปมาทั้ง ๓ ข้ออันไม่น่าอัศจรรย์ เราไม่เคยได้ฟังมาในกาลก่อน เหล่านี้แหละ มาปรากฏแจ่มแจ้งแล้วแก่เรา.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(27)
ความเพียรอันแรงหล้า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มิอาจครอบงำจิตได้
(ย่อ)
พระผู้มีพระภาค ปรารภความเพียรอันไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น แม้กายจะกระวนกระวาย ทนได้ยาก ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นอย่างแรงกล้า ก็มิอาจครอบงำจิตได้

        [๔๑๗] ดูกรอัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ถ้ากระไร เราพึงกดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดาน ไว้ให้แน่น เอาจิตข่มคั้นจิตให้เร่าร้อน.

     เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน เอาลิ้นดันเพดานไว้แน่น เอาจิตข่มคั้นจิต ให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้นเหงื่อก็ไหลออก จากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง.

     เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษที่มีกำลังน้อยกว่า ที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้น รัดไว้ให้แน่น ฉะนั้น.

     ดูกรอัคคิเวสสนะ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น มิได้ฟั่นเฟือน แต่มีกายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ เพราะความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงอยู่.

     แต่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเห็นปานนี้ มิได้ครอบงำจิตเราตั้งอยู่ได้.




พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์