พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๗๖-หน้าที่ ๙๐
พระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใสต่อพระศาสดา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (สัมปสาทนียสูตร)
[๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง ของปาวาริกเศรษฐี เขตเมือง นาลันทา ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
(1. ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ยิ่ง ไปกว่าในทางพระสัมโพธิญาณ)
ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค อย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่า พระผู้มีพระภาค ในทางพระสัมโพธิญาณ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจานี้ ประเสริฐแท้ เธอบันลือสีหนาท ซึ่งเธอถือเอาโดยเฉพาะว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ เลื่อมใสใน พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะ หรือพราหมณ์อื่น ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในทางพระสัมโพธิญาณ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(2. ดูกรสารีบุตร เธอมีญาณรู้ใจพระผู้มีพระภาคเหล่านั้นหรือ)
[๗๔] ดูกรสารีบุตร เธอกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้ซึ่งพระผู้มีพระภาค อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งได้มีแล้วในอดีต ว่าพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ได้มีศีล อย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้มีพระปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติ อย่างนี้ ได้ละหรือ (เธอมีญานหยั่งรู้ใจของตถาคตหรือ)
สา. ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
ดูกรสารีบุตร ก็เธอกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ซึ่งจักมีในอนาคต ว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น จักมีศีล อย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีพระปัญญาอย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ ได้ละหรือ
ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
ดูกรสารีบุตร ก็เธอกำหนดใจด้วยใจ แล้วรู้เราผู้เป็นพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้าอยู่ ณ บัดนี้ (ปัจจุบัน) ว่า พระผู้มีพระภาคมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีพระปัญญา อย่างนี้ มีวิหารธรรมอย่างนี้มีวิมุตติอย่างนี้ ได้ละหรือ
ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย พระเจ้าข้า
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(3. ในเมื่อเธอไม่มีเจโตปริยญาณ ไฉนจึงอาจหาญบันลือสีหนาท)
ดูกรสารีบุตร ก็เธอไม่มีเจโตปริยญาณ ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เหล่านั้น เหตุไฉน เธอจึงหาญกล่าวอาสภิวาจา อันประเสริฐนี้ บันลือสีหนาท ซึ่งเธอถือเอาโดยเฉพาะว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มี สมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางพระสัมโพธิญาณ
----------------- -----------------------------------------------------------------------------------------------------------
(4. สารีบุตรไม่มีเจโตปริยญาน แต่ทราบอาการที่เป็นแนวของธรรมได้ อุปมา นาย ประตูเมือง)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงว่าข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณ ใน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็จริง แต่ข้าพระองค์ ก็ทราบอาการ ที่เป็นแนวของธรรมได้ (1) เปรียบเหมือน เมือง ชายแดน ของพระราชา มีป้อม แน่นหนา มีกำแพงและเชิงเทิน มั่นคง มีประตูๆเดียว คนยาม เฝ้าประตูที่เมืองนั้นเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคน ที่ตนไม่รู้จัก ยอมให้ แต่คนที่รู้จักเข้าไปเขาเที่ยว ตรวจดูทางแนวกำแพง รอบๆ เมืองนั้นไม่เห็น ที่ต่อ หรือ ช่องกำแพง โดยที่สุด แม้พอแมวลอดออกมาได้ จึงคิดว่า สัตว์ที่มีร่างใหญ่ จะเข้ามา สู่เมืองนี้ หรือจะออกไป สัตว์ทั้งหมดสิ้น จะต้องเข้าออก ทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็ทราบอาการที่เป็นแนว ของธรรมได้ ฉันนั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(5. พระผู้มีพระภาคฯที่มีแล้วและในอดีต ทรงละนิวรณ์ ๕ เจริญสติปัฏฐาน ๔ และเจริญโพชฌงค์ ๗)
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มีแล้ว ในอดีตทั้งสิ้น ล้วน ทรงละนิวรณ์ ๕ (2) อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง ใจทอนกำลังปัญญา ล้วนมีพระมนัส ตั้งมั่น แล้วในสติปัฏฐาน ๔ (3) เจริญสัมโพชฌงค์ ๗ (4) ตามเป็นจริงจึงได้ตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมีใน อนาคตทั้งสิ้น ก็จักต้องทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา จักมี พระมนัสตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔
ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงจะได้ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมา สัมโพธิญาณ ถึงแม้พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ บัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มี พระมนัสตั้งมั่นแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้าพระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดง ธรรม อย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนักทั้ง ฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาแก่ ข้าพระองค์
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(6. พระองค์แสดงธรรมอย่างยอดเยี่ยม แสดงอย่างปราณีต ทั้งฝ่ายดำ-ฝ่ายขาว )
พระองค์ทรงแสดงธรรม อย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก(5) ทั้งฝ่ายดำ ฝ่ายขาว พร้อมด้วยอุปมาด้วยประการใดๆ ข้าพระองค์ก็รู้ ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการ นั้นๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรมบางส่วน ในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระองค์ว่า พระผู้มีพระภาค เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(7. ทรงแสดงธรรมฝ่ายกุศลธรรม
โพธิปักคิยธรรม ๓๗ จนหาอาสวะมิได้)
[๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งได้แก่กุศลธรรม เหล่านี้ คือ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ (6) เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญา อันยิ่งเอง ในปัจจุบัน นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น
เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไป (สิ้นสงสัย) ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์ ในฝ่าย กุศลธรรม ทั้งหลาย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(8. ทรงบัญญัติอายตนะอย่างละ ๖ ภายใน ๖ ภายนอก ๖)
[๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายบัญญัติอายตนะ อันได้แก่อายตนะภายใน และอายตนะภายนอกอย่างละ ๖ (7) เหล่านี้ คือ จักษุกับรูป โสตกับเสียง ฆานะ กับกลิ่น ชิวหากับรส กายกับโผฏฐัพพะมนะ กับธรรมารมณ์ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายบัญญัติอายตนะ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรม ข้อนั้นได้หมดสิ้น
เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่น ที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปซึ่ง สมณะ หรือพราหมณ์อื่นรู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์ ในฝ่ายบัญญัติอายตนะ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(9. การก้าวลงสู่ครรภ์มารดาของสัตว์ ๔ เหล่า รู้สึกตัว-ไม่รู้สึกตัว ในการก้าวลง อยู่ในครรภ์ และการคลอด)
[๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในการก้าวลงสู่ครรภ์ การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔ เหล่านี้ (8)
(เหล่าที่ 1)
คือสัตว์บางชนิดในโลกนี้
-ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัวอยู่ใน ครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัวคลอด จากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๑
(เหล่าที่ 2)
ยังอีกข้อหนึ่ง
สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดาอย่างเดียว
-แต่ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
-ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการ ก้าวลงสู่ครรภ์ข้อที่ ๒
(เหล่าที่ 3)
ยังอีกข้อหนึ่ง
สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
-แต่ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๓
(เหล่าที่ 4)
ยังอีกข้อหนึ่ง
สัตว์บางชนิดในโลกนี้
-รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
-รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
-รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ในการก้าวลงสู่ครรภ์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(10. ทรงแสดงธรรมฝ่ายเยี่ยม ในวิธีแห่งการดักใจคน ๔ อย่าง)
[๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมในวิธีแห่งการดักใจคน
วิธีแห่งการดักใจคน ๔ อย่างเหล่านี้ คือ
คนบางคนในโลกนี้ ดักใจได้ด้วยนิมิต ว่าใจของท่านอย่างนี้ ใจของท่าน เป็นอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่าเรื่องนั้น ต้องเป็น เหมือนอย่างนั้น แน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคนข้อที่ ๑
ยังอีกข้อหนึ่ง บางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต ต่อได้ฟังเสียงของ มนุษย์หรืออมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้ว จึงดักใจได้ว่า ใจของท่าน อย่างนี้ ใจของท่านเป็นอย่างนี้จิตของท่านเป็นดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียว ว่า เรื่องนั้น ต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการ ดักใจคนข้อที่ ๒
ยังอีกข้อหนึ่ง คนบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต ทั้งมิได้ ฟังเสียง ของมนุษย์หรืออมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายดักใจได้เลย ต่อได้ฟัง เสียงละเมอของผู้วิตกวิจาร จึงดักใจได้ว่าใจของท่านอย่างนี้ ใจของท่านเป็น อย่างนี้ จิตของท่านเป็น ดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเหมือน อย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคนข้อที่ ๓
ยังอีกข้อหนึ่ง คนบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต มิได้ฟังเสียง ของมนุษย์หรืออมนุษย์หรือเทวดาทั้งหลาย ดักใจได้เลย ทั้งมิได้ฟังเสียงละเมอของ ผู้วิตกวิจารดักใจได้เลย แต่ย่อมกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิซึ่งยังมีวิตกวิจารด้วยใจ ได้ว่า มโนสังขารของท่านผู้นี้ ตั้งอยู่ด้วยประการใด เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตขณะนี้ ด้วยประการนั้น เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้อง เป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคนข้อที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ในวิธีแห่งการดักใจคน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(11. ทรงแสดงธรรม ในทัศนสมาบัติ ๔ อย่าง)
[๗๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในทัศนสมาบัติ ทัศนสมาบัติ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ
1) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น
อาศัยความประกอบเนืองๆ
อาศัยความไม่ประมาท
อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว
ได้บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้า ขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วย ของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืดไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อมันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๑
2) ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้
อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส
อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น
อาศัยความประกอบเนืองๆ
อาศัยความไม่ประมาท
อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว
ได้บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้า ขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดย รอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลืองเลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เธอพิจารณาเห็น กระดูกก้าวล่วงผิวหนังเนื้อและเลือด ของบุรุษเสีย (เห็นลึกขึ้น)นี้ทัศนสมาบัติข้อที่ ๒
3) ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้
อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส
อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น
อาศัยความประกอบเนืองๆ
อาศัยความไม่ประมาท
อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว
ได้บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้ามหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลืองเลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เธอพิจารณาเห็นกระดูกก้าวล่วงผิวหนังเนื้อและเลือดของ บุรุษเสีย
และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ตั้งอยู่ ในปรโลกได้ (เห็นไกลขึ้น เห็นวิญญานฐิติ ทั้งปัจจุบันและอนาคต) นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๓
4) ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้
อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส
อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น
อาศัยความประกอบเนืองๆ
อาศัยความ ไม่ประมาท
อาศัยมนสิการโดยชอบ
แล้ว
ได้บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดย รอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้ามหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลดน้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เธอย่อมพิจารณา เห็นกระดูก ก้าวล่วง ผิวหนังเนื้อและ เลือดของบุรุษเสีย
และย่อมรู้ กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ ในโลกนี้ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ ในปรโลก (เห็นความเสื่อมของกายและวิญญาณ ทั้งโลกนี้ และ โลกหน้า) นี้ทัศนสมาบัติข้อที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในทัศนสมาบัติ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(12.ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมของ บุคคล ๗ จำพวก)
[๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายบุคคลบัญญัติ
บุคคล ๗ พวกเหล่านี้ คือ
อุภโตภาควิมุตติ ๑
ปัญญาวิมุตติ ๑
กายสักขิ ๑
ทิฏฐิปัตตะ ๑
สัทธาวิมุตติ ๑
ธรรมานุสารี ๑
สัทธานุสารี ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยม ในฝ่าย บุคคล บัญญัติ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(13. ทรงแสดงธรรม ในฝ่ายธรรมเป็นที่ตั้งมั่นของโพชฌงค์ ๗)
[๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายธรรมเป็นที่ตั้งมั่น
โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ คือ
สติสัมโพชฌงค์ ๑
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑
วิริยสัมโพชฌงค์ ๑
ปีติ สัมโพชฌงค์ ๑
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑
สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายธรรมที่ตั้งมั่น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(14. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยมในปฏิปทา ๔ อย่าง ทุกขาปฏิปทา-2 สุขาปฏิปทา-2 )
[๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายปฏิปทา
ปฏิปทา ๔ เหล่านี้ คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก แต่รู้ได้ช้า
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในปฏิปทา ๔ นั้น ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า นี้ นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะประการทั้งสอง คือ เพราะปฏิบัติลำบาก และ เพราะรู้ ได้ช้า อนึ่งปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบา กแต่รู้ได้เร็วนี้ นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะปฏิบัติลำบาก ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวกแต่รู้ได้ช้านี้ นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม เพราะรู้ได้ช้า ส่วนปฏิปทาที่ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วนี้ นับว่าเป็นปฏิปทาประณีต เพราะประการทั้งสอง คือ เพราะปฏิบัติสะดวกและเพราะรู้ได้เร็ว
ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายปฏิปทา
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(15. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายภัสสสมาจาร มรรยาทเกี่ยวด้วยคำพูด)
[๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายภัสสสมาจาร (มรรยาทเกี่ยวด้วยคำพูด)
คนบางคนในโลกนี้
ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วย มุสาวาท
ไม่กล่าววาจาส่อเสียด อันทำความแตกร้าวกัน
ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน
ไม่มุ่งความชนะ
กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา อันควรฝังไว้ในใจตามกาลอันควร
ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ นี้เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายภัสสสมาจาร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(16. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ -เป็นคนมีสัจจะ)
[๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ
คนบางคนในโลกนี้
เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธาไม่เป็นคนพูดหลอกลวง
ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูด หว่านล้อม
ไม่พูดและเล็ม
ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้จักประมาณในโภชนะ
ทำความสม่ำเสมอ ประกอบชาคริยานุโยค
ไม่เกียจคร้าน
ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดดี และมีปฏิภาณมีคติ
มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญารักษาตนเที่ยวไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(17. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายอนุสาสนวิธี ๔ อย่าง ปฏิบัติแล้วจะเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี บรรลุเจโต-ปัญญาวิมุติ)
[๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายอนุสาสนวิธี
อนุสาสนวิธี ๔ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่า บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป
๒. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลก นี้อีกคราวเดียวเท่านั้นแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และ เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง
๓. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระอนาคามี ผู้เป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
๔. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอนุสาสนวิธี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(18. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น คืออริยะบุคคล ๔ ประเภท)
[๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม ในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น คือ
๑. พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้จักเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป
๒. พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้จักเป็นพระสกทาคามี จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะโทสะและโมหะ เบาบาง
๓. พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้จักเป็นพระอานาคา มีผู้อุปปาติกะปรินิพพาน ในภพที่เกิดนั้น ไม่ ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
๔. พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะ พระองค์ว่าบุคคลนี้ จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(19. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายสัสสตวาทะ ๓ เหล่า คือ ญาณ ๓ )
[๘๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม ในฝ่ายสัสสตวาทะ
สัสสตวาทะ ๓ เหล่านี้ คือ
(1) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความ เพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัย มนสิการโดยชอบแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึง ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือตามระลึกชาติได้
หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายร้อย ชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่าในภพ โน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่อ อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ ที่เคย อาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วย ประการ ฉะนี้ เขากล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้ว หรือ เจริญขึ้นแล้ว อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศ หรือจัก เจริญขึ้น อัตตา และ โลกเที่ยงคงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่ เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้ นี้เป็น สัสสตวาทะข้อที่ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังอีกข้อหนึ่ง
2) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลก นี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบ เนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่น แล้ว ย่อมตามระลึก ขันธ์ ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ คือตามระลึก ถึงขันธ์ ที่เคยอาศัย อยู่ใน กาลก่อนได้ สังวัฏกัป วิวัฏกัปหนึ่งบ้าง สองบ้าสามบ้าง สี่บ้าง ห้าบ้าง สิบบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณ อย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ ที่เคย อาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ ฉะนี้ เขากล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้ว หรือเจริญ ขึ้นแล้ว อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศ หรือจัก เจริญขึ้น อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วน เหล่าสัตว์ นั้น ย่อมแล่นไปย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้ นี้เป็นสัสสตวาทะข้อที่ ๒
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังอีกข้อหนึ่ง
3) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัย มนสิการโดยชอบแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อ จิตตั้งมั่น แล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน หลายประการ คือตามระลึกถึงขันธ์ ที่เคยอาศัยอยู่ใน กาลก่อน ได้สิบสังวัฏกัปวิวัฏกัปบ้าง ยี่สิบบ้าง สามสิบบ้าง สี่สิบบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติ จากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคย อาศัย อยู่ในกาล ก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ ฉะนี้ เขา กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้ว หรือเจริญขึ้น แล้ว อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศ หรือจักเจริญขึ้น อัตตาและ โลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์ นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเที่ยวไปย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมี อยู่แท้ นี้เป็น สัสสตวาทะข้อที่ ๓
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายสัสสตวาทะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(20. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ -รู้อดีต )
[๘๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความ เพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการ โดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึก ถึงขันธ์ที่เคยอาศัย อยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ คือตามระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติ บ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติ บ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฎวิวัฏกัปบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่าง นั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มี อาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์ อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น
ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ ที่เคย อาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ ฉะนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติ อันไม่อาจนับได้ด้วยวิธีคำนวณ หรือวิธีนับก็ยังมีอยู่ แม้ภพซึ่งเป็นที่ๆ เขาเคยอาศัยอยู่ คือรูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ [ที่ไม่อาจนับได้] ก็ยังมี ย่อมตามระลึก ถึงขันธ์ ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ ฉะนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญนี้เป็นธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติ ญาณ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(21. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย)
[๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา กิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว เขาย่อมเห็นหมู่ สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดีมีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็น ไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทรามได้ดี ตกตาย ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายรู้จุติและอุปบัติ ของสัตว์ทั้งหลาย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(22. ทรงแสดงธรรมที่เยี่ยม ในฝ่ายอิทธิวิธีที่เป็นของปุถุชน และเป็นของอริยะ)
[๙๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ในฝ่ายอิทธิวิธี
อิทธิวิธี ๒ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของ พระอริยะ มีอยู่
๒. ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ เรียกว่าเป็นของพระอริยะมีอยู่
๑. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วย อุปธิ ที่ไม่เรียกว่า เป็นของพระอริยะนั้น เป็นไฉน คือสมณะหรือพราหมณ์บางคน ในโลกนี้ อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความ ประกอบ เนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโต สมาธิที่เมื่อจิต ตั้งมั่นแล้ว เขาได้บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลาย คนก็ได้ หลายคน เป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฎก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำ พระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ฤทธิ์ที่ประกอบ ด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ
๒. ส่วนฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ ที่เรียกว่าเป็นของ พระอริยะ นั้นเป็นไฉน คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ถ้าหวังอยู่ว่าเราพึงมีสัญญา ในสิ่งปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งไม่ ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญา ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูล และไม่ ปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้น ว่าไม่ ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีสัญญาในสิ่งทั้งปฏิกูล และไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่ง ปฏิกูล อยู่ ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญา ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูล และไม่ปฏิกูลนั้นว่า เป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงละวางสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลทั้ง ๒ นั้นเสีย แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้น ที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูล นั้นเสีย มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ ที่เรียกว่า เป็นของ พระอริยะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญนี้ เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธี พระผู้มีพระภาค ย่อมทรงรู้ข้อธรรมนั้นได้ทั้งสิ้น เมื่อทรงรู้ข้อธรรมนั้นได้ทั้งสิ้น ก็ ไม่มีข้อธรรมอื่น ที่จะต้องทรงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่รู้ยิ่ง แล้ว จะมีความรู้ ยิ่งขึ้นไปกว่าพระองค์ในฝ่ายอิทธิวิธี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(23. พระผู้มีพระภาคไม่พัวพันด้วยกามสุข และไม่ทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์)
[๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดอันกุลบุตรผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร มีความเพียรมั่น จะพึงถึงด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความ บากบั่นของบุรุษ ด้วยความเอาธุระของบุรุษ สิ่งนั้นอันพระผู้มีพระภาคได้บรรลุเต็มที่ แล้ว
อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงประกอบความพัวพัน ด้วยความสุขในกาม ซึ่งเป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย ประโยชน์ และไม่ทรงประกอบการทำตนให้ลำบากเป็นทุกข์ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงได้ฌาน ๔ อันล่วง กามาวจรจิตเสีย ให้อยู่สบาย ในปัจจุบัน ได้ตามประสงค์ ได้ไม่ยาก ไม่ลำบากถ้าเขาถาม ข้าพระองค์ อย่างนี้ว่า
(กามาวจรจิต คือจิตที่ไม่ข้องแวะกับกามที่เกิดจาก รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(24. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นทั้ง ในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีใครยิ่งกว่า พระผู้มีพระภาค)
ดูกรท่านสารีบุตร สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นที่ได้มีในอดีต ท่านที่มี ความรู้เยี่ยมยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคในสัมโพธิญาณมีไหม เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์พึงตอบว่า ไม่มี
ถ้าเขาถามว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นที่จักมีในอนาคต ท่านที่มีความรู้ เยี่ยมยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคในสัมโพธิญาณจัก มีไหม เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ พึงตอบว่า ไม่มี
ถ้าเขาถามว่า สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ท่านที่มีความรู้ เสมอเท่ากับพระผู้มีพระภาค ในสัมโพธิญาณมีอยู่ไหม เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ ก็พึงตอบว่า ไม่มี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(25. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นทั้ง ในอดีต อนาคต และปัจจุบัน มีความรู้เสมอกับ พระผู้มีพระภาคในสัมโพธิญาณ มีอยู่)
ถ้าเขาถามว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่น ที่ได้มีในอดีต ท่านที่มีความรู้ เสมอเท่ากับพระผู้มีพระภาคในสัมโพธิญาณมีไหม เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์พึง ตอบว่า มีอยู่
ถ้าเขาถามว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่น ที่จักมีในอนาคต ท่านที่มี ความรู้เสมอเท่ากับพระผู้มีพระภาค ในสัมโพธิญาณจักมีไหม เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้า พระองค์พึงตอบว่า มีอยู่
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(26. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นที่มีอยู่ใปัจจุบัน มีความรู้เสมอกับพระผู้มีพระภาคใน สัมโพธิญาณ ไม่มี่)
ถ้าเขาถามว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ท่านที่มีความรู้ เสมอเท่ากับพระผู้มีพระภาค ในสัมโพธิญาณมีไหม เมื่อเขา ถามอย่างนี้ข้าพระองค์พึง ตอบว่า ไม่มี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(27. ถ้าเขาถามว่า เหตุใดจึง ตอบรับบางอย่าง
และปฏิเสธบางอย่าง เพราะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีความรู้เสมอกันในสัมโพธิญาณ)
ก็ถ้าเขาถามข้าพระองค์ว่า เหตุไรท่านจึงตอบรับเป็นบางอย่าง ปฏิเสธเป็น บางอย่าง เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์พึงตอบเขาว่า นี่แน่ท่านข้อนี้ข้าพเจ้าได้ สดับมาเฉพาะพระพักตร์ ได้รับเรียนมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า พระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต เป็นผู้มีความรู้ เสมอเท่ากับเรา ในสัมโพธิญาณ
ข้อนี้ข้าพเจ้า ได้สดับมาเฉพาะพระพักตร์ ได้รับเรียนมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอนาคต จักเป็นผู้มี ความรู้เสมอ เท่ากับเราในสัมโพธิญาณ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(28. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส)
ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับมา เฉพาะพระพักตร์ ได้รับเรียนมาเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคว่า ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกัน ในโลกธาตุเดียวกันนั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส นั่นเป็น ฐานะที่จะมีไม่ได้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(29. คำถามที่ถูกถามและพระสารีบุตรตอบแบบนี้ พระศาสดายืนยันว่าเป็นพุทธพจน์)
[๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกเขาถามอย่างนี้ ตอบอย่างนี้ จะนับว่าเป็นผู้กล่าวตามพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วแล ไม่ชื่อว่า กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริงแลหรือ ชื่อว่าแก้ไปตามธรรมสมควรแก่ธรรม แลหรือ ทั้งการโต้ตอบอันมีเหตุอย่างไรๆ มิได้มาถึงสถานะอันควรติเตียน แลหรือ
ถูกแล้วสารีบุตร เมื่อเธอถูกเขาถามอย่างนี้ แก้อย่างนี้ นับว่าเป็นผู้กล่าวตาม พุทธพจน์ ที่เรากล่าวแล้วทีเดียว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง ชื่อว่าแก้ ไปตาม ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการโต้ตอบอันมีเหตุอย่างไรๆ ก็มิได้มาถึงสถานะ อันควร ติเตียน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(30. อุทายีชื่นชม พระองค์มีฤทธิ์มีอานุภาพมากแต่ไม่แสดงตนให้ปรากฏ)
[๙๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่ พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ไม่ทรง แสดงพระองค์ให้ปรากฎ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้เห็นธรรมแม้สัก ข้อหนึ่ง จากธรรมของพระองค์นี้ ในตนแล้ว พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญน่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ไม่ทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ
ดูกรอุทายี เธอจงดูความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของตถาคต ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ไม่แสดงตนให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น ถ้าพวก อัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้เห็นธรรมแม้สักข้อหนึ่ง จากธรรมของเรานี้ในตนแล้ว พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น ดูกรอุทายี เธอจงดูความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของตถาคต ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพ มากอย่างนี้ แต่ไม่แสดงตนให้ปรากฏ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(31.พระศาสดาให้พระสารีบุตรกล่าวธรรมปริยายนี้เนืองๆแก่พุทธบริษัท๔)
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า เพราะเหตุนั้นแล สารีบุตรเธอพึงกล่าวธรรมปริยายนี้เนืองๆ แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ดูกรสารีบุตร ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตซึ่งจัก ยังมีอยู่บ้างแก่โมฆบุรุษทั้งหลาย พวกเขาจักละเสียได้ เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(32. การประกาศความเลื่อมใสของพระสารีบุตรนี้ พระศาสดาเรียกว่าสัมปสาทนียะ)
ท่านพระสารีบุตร ได้ประกาศความเลื่อมใสของตนนี้ เฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น คำไวยากรณ์นี้ จึงมีชื่อว่า "สัมปสาทนียะ" ดังนี้แล
จบ สัมปสาทนียสูตร ที่ ๕ |