เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
 อุปมา ความนานของสังสารวัฏ ความยาวนานของกัป สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ 1338
 

(โดยย่อ)
ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป

1) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๑. ติณกัฏฐสูตร)
(เหมือนตัดใบไม้ กิ่งไม้ ในชมภูทวีป มารวมกันว่านี่เป็นมารดา ของมารดา...จนไม้หมดป่า แตสายป่านเครือญาติยังไม่สิ้น)
………………………………………………..................................................................................................

2) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๒. ปฐวีสูตร)
(บุรุษปั้นดินเท่าเม็ดกระเบา สมมติว่านี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดา จนดินหมดทั้งปฐพี ความเป็นบิดาของบิดา..ก็ยังไม่สิ้น)
………………………………………………..................................................................................................

3) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๓. อัสสุสูตร)
(น้ำตาของสัตว์ที่เคยไหลจากสิ่งพลัดพราก มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่)
………………………………………………..................................................................................................

4) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๔. ขีรสูตร)
(น้ำนมมารดาที่สัตว์เคยดึ่มกิน มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่)
………………………………………………..................................................................................................

5) ความยาวนานของกัป (๕. ปัพพตสูตร)
(ภูเขาหิน กว้างยาวสูง ด้านละ1 โยชน์ 100 ปีลูบด้วยผ้า1 ครั้ง จนหินราบไป กัปก็ยังไม่สิ้น)
………………………………………………..................................................................................................

6) ความยาวนานของกัป (๖. สาสปสูตร)
(นครทำด้วยเหล็กกว้างยาวสูงด้านละ 1 โยชน์ บรรจุเมล็ดผักกาด ทุก100 ปี มีบุรุษ
หยิบออก 1 เมล็ด จนหมด กัปก็ยังไม่สิ้น)
………………………………………………..................................................................................................

7) ความยาวนานของกัป (๗. สาวกสูตร)
(สาวก 4 รูป อายุ 100 ปี ระลึกชาติในอดีตได้วันละ1 แสนกัป ตลอด 100 ปี กับก็ยังไม่สิ้น)
………………………………………………..................................................................................................

8) ความยาวนานของกัป (๘. คงคาสูตร)
(กัปที่ล่วงไป มากกว่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา)
………………………………………………..................................................................................................

9) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๙. ทัณฑสูตร)
(ชัดท่อนไม้ไปในอากาศ บ้างก็ตกเอาโคนลง เอาปลายลง เอากลางลง ไม่แน่นอน
เพราะสังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ )
………………………………………………..................................................................................................

10) ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๑๐. ปุคคลสูตร)
(กระดูกของคนๆหนึ่งที่ตายไป เมื่อขนมารวมกันตลอด 1กัป ยังใหญ่กว่าเขาเวปุลละ)
………………………………………………..................................................................................................

11) สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๑ ทุคคตสูตร)
(เห็นคนพิการ พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยพิการเช่นคนๆนั้นมาแล้ว)
………………………………………………..................................................................................................

12) สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๒ สุขิตสูตร)
(เห็นใครมีสุข ก็พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยสุขเช่นคนๆนั้นมาแล้ว)
………………………………………………..................................................................................................

13) สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๓ ติงสมัตตาสูตร)
(เลือดเคยไหลจากการถูกฆ่าตัดคอ สมัยเกิดเป็นแกะ แพะ เนื้อ สุกร ไก่ หรือสมัยเป็นมนูษย์ เป็นโจรปล้นชาวบ้าน ทำผิดในกาม ... ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4)
………………………………………………..................................................................................................

14) สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๔ มาตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นมารดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

15) สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๕ ปิตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบิดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

16) สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๖ ภาตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่ชาย น้องชาย ..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

17) สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๗ ภคินีสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่หญิง น้องหญิง ..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

18) สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๘ ปุตตสูตร)
(สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบุตร..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

19) สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๙ ธีตุสูตร)
(สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นธิดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)
………………………………………………..................................................................................................

20) สังสารวัฏนี้หาที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๑๐ เวปุลลปัพพตสูตร)
ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ กกุสันธ ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อายุ 4 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อปาจีนวังสบรรพตก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่าย
………………………………………………..................................................................................................

21) ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ โกนาคมนะ ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อาย3 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อ วงกฏบรรพต ก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อ ความเบื่อหน่าย
………………………………………………..................................................................................................

22) ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ กัสสป ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อาย2 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อสุปัสสบรรพต ก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อ ความเบื่อหน่าย
………………………………………………..................................................................................................

23) ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ ตถาคต ก็จะปรินิพพาน มนุษย์ยุคนี้อาย 100 ปี ก็จะต้องทำกาละ ภูเขาชื่อ เวปุลละก็ไม่เที่ยง เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่ายในสังขาร

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
รวมพระสูตร
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
(ดูทั้งหมด)

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๗๗

หน้าที่ 177_1

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๑. ติณกัฏฐสูตร)
(เหมือนตัดใบไม้ กิ่งไม้ ในชมภูทวีป มารวมกันว่านี่เป็นมารดา ของมารดา...จนไม้หมดป่า แตสายป่าน่เครือญาติยังไม่สิ้น)

[๔๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชา เป็นที่กางกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ฯ

[๔๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพู ทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดา แห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมด สิ้นไป

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว ไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๑

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 177_2

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๒. ปฐวีสูตร)
(บุรุษปั้นดินเท่าเม็ดกระเบา สมมติว่านี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดา จนดินหมดทั้งปฐพี ความเป็นบิดาของบิดา..ก็ยังไม่สิ้น)

[๔๒๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชา เป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ฯ

[๔๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษปั้นมหาปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละ เท่าเม็ดกระเบา แล้ววางไว้ สมมติว่านี้เป็นบิดาของเรานี้เป็นบิดาของบิดา ของเรา โดยลำดับบิดา ของบิดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมด สิ้นไป

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนด ที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏพวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขาร ทั้งปวง พอเพื่อจะคลาย กำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 178

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๓. อัสสุสูตร)
(น้ำตาของสัตว์ที่เคยไหลจากสิ่งพลัดพราก มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่)

[๔๒๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ

พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญ ร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำใน มหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน ฯ

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ ย่อมทราบธรรมตามที่ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจเพราะการ พลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ฯ

[๔๒๖] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำตา ที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ฯลฯโดยกาลนาน นี้แหละ มากกว่าส่วนน้ำ ในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

พวกเธอได้ประสบมรณกรรม ของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอ เหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่ พอใจ เพราะพลัดพราก จากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบ มรณกรรม ของบิดา ... ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว ... ของบุตร ... ของธิดา ... ความเสื่อมแห่งญาติ ...ความเสื่อมแห่ง โภคะ ... ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน

น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้ อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพราก จากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลาย กำหนัดพอเพื่อจะ หลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๓

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 179

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป
(๔. ขีรสูตร)
(น้ำนมมารดาที่สัตว์เคยดึ่มกิน มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่)

[๔๒๗] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ โดยกาล นานนี้ ดื่มแล้ว กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ไหนจะมากกว่ากัน ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมา อยู่โดยกาลนาน ดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ไม่มากกว่าเลย ฯ

[๔๒๘] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้ว อย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำนมมารดา ที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๔

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 180_1

ความยาวนานของกัป (๕. ปัพพตสูตร)
(ภูเขาหิน กว้างยาวสูง ด้านละ1 โยชน์ 100 ปีลูบด้วยผ้า1 ครั้ง จนหินราบไป กัปก็ยังไม่สิ้น)

[๔๒๙] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ฯลฯ เมื่อภิกษุรูปนั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่ง นานเพียงไรหนอแลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปีเท่านี้ ๑๐๐ ปี เท่านี้ ๑,๐๐๐ ปี หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯ ภิ. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

[๔๓๐] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุเหมือนอย่างว่า ภูเขาหิน ลูกใหญ่ ยาวโยชน์หนึ่ง(16 กม.) กว้างโยชน์หนึ่ง สูงโยชน์หนึ่งไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่ง ทึบ บุรุษพึงเอาผ้า แคว้นกาสีมาแล้ว ปัดภูเขานั้น๑๐๐ ปี ต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไปสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป

กัปนานอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลาย กำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๕

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 180-2

ความยาวนานของกัป (๖. สาสปสูตร)
(นครทำด้วยเหล็กกว้างยาวสูงด้านละ 1 โยชน์ บรรจุเมล็ดผักกาด ทุก100ปี หยิบออก1เมล็ด จนหมด กัปก็ยังไม่สิ้น)

[๔๓๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ

ครั้นภิกษุนั้น นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงไร หนอแลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปนั้นว่า เท่านี้ปีฯลฯ หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ฯภิ.

ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

[๔๓๒] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุเหมือนอย่างว่า นครที่ ทำ ด้วยเหล็ก ยาวโยชน์ ๑ กว้างโยชน์ ๑ สูงโยชน์ ๑ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ด พันธุ์ผักกาดรวมกัน เป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ด หนึ่งๆ ออกจากนครนั้นโดยล่วงไปหนึ่งร้อยปี ต่อเมล็ดเมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงความสิ้นไป หมดไปเพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล

ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป หมดไป กัปนานอย่างนี้แลบรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอ ท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯพอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๖

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 181

ความยาวนานของกัป (๗. สาวกสูตร)
(สาวก 4 รูป อายุ 100 ปี ระลึกชาติในอดีตได้วันละ1 แสนกัป ตลอด 100 ปี กับก็ยังไม่สิ้น)

[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากเท่าไรหนอ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้วล่วงไปแล้ว มีมากมิใช่ง่าย ที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัปเท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ฯภิ.

ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ

[๔๓๔] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสาวก ๔ รูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิต ๑๐๐ ปีหากว่าท่านเหล่านั้น พึงระลึกถอยหลังไปได้ วันละแสนกัป กัปที่ท่านเหล่านั้นระลึกไม่ถึงพึงยังมีอยู่อีก สาวก ๔ รูปของเราผู้มีอายุ ๑๐๐ ปีมีชีวิต ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐ ปี ๆ โดยแท้แล

กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้วมีจำนวนมาก อย่างนี้แล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ร้อยกัป เท่านี้พันกัปหรือว่าเท่านี้แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๗

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 182

ความยาวนานของกัป (๘. คงคาสูตร)
(กัปที่ล่วงไป มากกว่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา)

[๔๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพราหมณ์นั้น นั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากเท่าไรหนอแล ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากแล มิใช่ง่ายที่จะนับ กัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัปเท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ฯ พราหมณ์.

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม ฯ

[๔๓๖] พ. อาจอุปมาได้ พราหมณ์ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรพราหมณ์ แม่น้ำคงคา
นี้ ย่อมเกิดแต่ที่ใด และย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใดเมล็ดทรายในระยะนี้ไม่เป็น ของง่าย ที่จะกำหนดได้ว่าเท่านี้เม็ด เท่านี้ ๑๐๐ เม็ดเท่านี้ ๑,๐๐๐ เม็ด หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ เมล็ด

ดูกรพราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเมล็ดทรายเหล่านั้น มิใช่ง่ายที่จะนับกัป เหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่า เท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป  เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่อง ประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ

สัตว์เหล่านั้นได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูกรพราหมณ์ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อ หน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะ คลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

[๔๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ผู้นั้นได้กราบทูลว่า แจ่มแจ้ง ยิ่งนัก ท่านพระโคดม แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านพระโคดม ขอพระโคดมผู้เจริญ จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะ จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๘

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 183

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๙. ทัณฑสูตร)
(ชัดท่อนไม้ไปในอากาศ บ้างก็ตกเอาโคนลง เอาปลายลง เอากลางลง ไม่แน่นอน เพราะ สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ )


[๔๓๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็น เครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมา อยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯลฯ

[๔๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ บางคราวก็ตกลง ทางโคน บางคราว ก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหา เป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมา อยู่ ก็ฉันนั้นแล บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราว ก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๙

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 184

ความนานของสังสารวัฏที่สัตว์ท่องเที่ยวไป (๑๐. ปุคคลสูตร)
(กระดูกของคนๆหนึ่งที่ตายไป เมื่อขนมารวมกันตลอด 1กัป ยังใหญ่กว่าเขาเวปุลละ)

[๔๔๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯ

[๔๔๑] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครง กระดูก ร่างกระดูกกองกระดูก ใหญ่เท่า ภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึง เป็นของ ที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะ หลุดพ้น ดังนี้

[๔๔๒] พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส พระคาถาประพันธ์ต่อไปว่า เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า กระดูก ของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเท่าภูเขา ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น คือ ภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ อันมี ภูเขาล้อมรอบ เมื่อใดบุคคลเห็นอริยสัจ คือทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความล่วงพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ เมื่อนั้น เขาท่องเที่ยว ๗ ครั้งเป็นอย่างมาก ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสิ้นสัญโญชน์ ทั้งปวงดังนี้แล ฯ (สำเร็จเป็นโสดาบันประเภท สัตตักขัตตุปรมะ เกิดไม่เกิน 7 คราว)

จบสูตรที่ ๑๐
จบปฐมวรรคที่ ๑



สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๑๘๕

หน้าที่ 185-1

ทุติยวรรคที่ ๒

สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๑ ทุคคตสูตร)
(เห็นคนพิการ พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยพิการเช่นคนๆนั้นมาแล้ว)

[๔๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ...แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชาเป็นที่ กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลาย เห็นทุคตบุรุษผู้มีมือ และเท้าไม่สมประกอบ พึงลง สันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์ เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาล นาน นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 185_2

สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๒ สุขิตสูตร)
(เห็นใครมีสุข ก็พึงเข้าใจว่า ในอดีตเราก็เคยสุขเช่นคนๆนั้นมาแล้ว)

[๔๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชา เป็นที่ กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ ...

เธอทั้งหลาย เห็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ พึงลง สันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสาร กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 186

สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๓ ติงสมัตตาสูตร)
(เลือดที่เคยไหลจากการถูกฆ่าตัดคอ สมัยเกิดเป็นแกะ แพะ เนื้อ สุกร ไก่ หรือสมัยเป็นมนูษย์ เป็นโจรปล้นชาวบ้าน ทำผิดในกาม ... ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4)

[๔๔๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน  เขตพระนคร ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ อยู่ป่า เป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาต เป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรถือทรงผ้าไตรจีวร เป็นวัตร แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นผู้มีสังโยชน์อยู่ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๔๔๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูปเหล่านี้แล ทั้งหมดล้วนถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้า บังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวร เป็นวัตร ทั้งหมดล้วนยังมีสังโยชน์ ถ้ากระไรหนอ เราพึงแสดงธรรมโดยประการที่ภิกษุเหล่านี้ จะพึงมีจิตหลุดพ้นจาก อาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ณ อาสนะนี้ทีเดียว ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯ

[๔๔๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้ยังมีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน

โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาล นานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วว่า โลหิตที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ซึ่งถูก ตัดศีรษะโดยกาลนานนี้แหละ มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ดังนี้ ฯ

[๔๔๘] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้ว อย่างนี้ ถูกแล้ว โลหิต ที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาซึ่งถูกตัดศีรษะ โดยกาลนานนี้นี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นโค ซึ่งถูกตัดศีรษะตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออก นั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ไม่มากกว่าเลย เมื่อเธอทั้งหลายเกิด เป็นกระบือ ซึ่งถูกตัดศีรษะ ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหล ออกนั่นแหละมากกว่า ... เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นแกะ ... เกิดเป็นแพะ ... เกิดเป็นเนื้อ ... เกิดเป็นสุกร ... เกิดเป็นไก่ ...

เมื่อพวกเธอถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรฆ่าชาวบ้านตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออก นั่นแหละมากกว่า ... ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่าเป็นโจร คิดปล้น ...ถูกจับตัดศีรษะ โดยข้อหาว่า เป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาล นาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ... พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

[๔๔๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างพอใจ ชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุชาวเมือง ปาวาประมาณ ๓๐ รูป พ้นจาก อาสวะเพราะไม่ถือมั่น ฯ
จบสูตรที่ ๓

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 187_1

สังสารวัฏนี้ หาเบื้องต้นไม่ได้ เบื้องปลายไม่ได้ (๔ มาตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นมารดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๔
[สูตรทั้งปวงก็มีเปยยาลอย่างเดียวกันนี้]

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 187_2

สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๕ ปิตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบิดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นบิดา โดยกาลนานนี้ มิใช่ หาได้ง่ายเลยดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๕

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 188-1

สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๖ ภาตุสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่ชาย น้องชาย ..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๒] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็น พี่ชาย น้องชาย โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๖

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 188-2

สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๗ ภคินีสูตร)
(สงสารนี้ สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นพี่หญิง น้องหญิง ..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นพี่หญิง น้องหญิง โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๗


…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 188-3


สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๘ ปุตตสูตร)
(สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นบุตร..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๔] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐีเขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นบุตร โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลยดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๘

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..

หน้าที่ 189_1


สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๙ ธีตุสูตร)
(สัตว์ที่ไม่เคยเกิดมาเป็นธิดา..หาได้ไม่ง่ายเลย)

[๔๕๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนคร สาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มี อวิชชา เป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็น เครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมา อยู่ ที่สุด เบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ที่ไม่เคยเป็นธิดา โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่า สัตว์ผู้มีอวิชชา เป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพี ที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะ เบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๙

…………………………………………………………………………………..................……………………………………………………..


หน้าที่ 189_2

สังสารวัฏนี้หาที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ (๑๐ เวปุลลปัพพตสูตร)

สมัยกกุสันธอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ กกุสันธ ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อายุ 4 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อปาจีนวังสบรรพตก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่าย.)

[๔๕๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังนี้ ฯ

[๔๕๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลาย ไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่อง ประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้ได้ชื่อว่า ปาจีนวังสะ

สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์ได้ชื่อว่า ติวรา หมู่มนุษย์ชื่อติวรา มีอายุประมาณสี่หมื่นปี หมู่มนุษย์ชื่อติวรา ขึ้นปาจีนวังสบรรพตเป็นเวลา ๔ วัน ลงก็เป็นเวลา ๔ วัน สมัยพระ ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กกุสันธ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธ มีพระสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่า วิธูระ และ สัญชีวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแล อันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้น กระทำกาละไปแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ไม่น่าชื่นใจอย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลาย กำหนัดพอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

......................................................................................................

หน้าที่ 190

สมัยโกมาคมนะ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯโกนาคมนะ ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อาย3 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อ วงกฏบรรพต ก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อ ความเบื่อหน่าย)

[๔๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภูเขาเวปุลละนี้มีชื่อว่าวงกฏ สมัยนั้น แลหมู่มนุษย์มีชื่อว่า โรหิตัสสะ มีอายุประมาณสามหมื่นปีมนุษย์ ชื่อว่าโรหิตัสสะ ขึ้นวงกฏบรรพตเป็นเวลา ๓ วัน ลงก็เป็นเวลา ๓ วัน สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โกนาคมนะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ มีพระสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่า ภิยโยส และ อุตตระ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแลอันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้น ทำกาละไปแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

......................................................................................................

หน้าที่ 190_1

สมัยกัสสป อรหันตสัมมาสัมพุทธะ

(ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯกัสสป ก็ปรินิพพานไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้อาย2 หมื่นปีก็ทำกาละ ไปแล้ว ภูเขาชื่อสุปัสสบรรพต ก็หายไปแล้ว เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อ ความเบื่อหน่าย)

[๔๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เวปุลลบรรพตนี้มีชื่อว่าสุปัสสะ สมัยนั้นแล หมู่มนุษย์มีชื่อว่า สุปปิยา หมู่มนุษย์ชื่อสุปปิยา มีอายุประมาณสองหมื่นปี หมู่มนุษย์ที่ชื่อว่า สุปปิยาขึ้น สุปัสสบรรพต เป็นเวลา ๒ วัน ลงก็เป็นเวลา ๒ วัน
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป เสด็จอุบัติขึ้น ในโลก พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป ได้มีพระสาวก คู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อว่าติสส และภารทวาชะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูเถิด ชื่อแห่งภูเขานี้นั้นแลอันตรธานไปแล้ว มนุษย์เหล่านั้นกระทำ กาละไปแล้ว และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ปรินิพพานแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

......................................................................................................

หน้าที่ 190_2

สมัยตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธะ

(ในกัปนี้ พระผู้มีพระภาคฯ ตถาคต ก็จะปรินิพพาน มนุษย์ยุคนี้อาย 100ปี ก็จะต้องทำกาละ ภูเขาชื่อ เวปุลละก็ไม่เที่ยง เหตุเพียงเท่านี้เพียงพอเพื่อความเบื่อหน่ายในสังขาร)

[๔๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บัดนี้แล ภูเขาเวปุลละนี้ มีชื่อเวปุลละทีเดียว  ก็บัดนี้ หมู่มนุษย์เหล่านี้ มีชื่อว่า มาคธ หมู่มนุษย์ที่ชื่อมาคธมีอายุน้อย นิดหน่อย ผู้ใดมีชีวิต อยู่นานผู้นั้นมีอายุเพียงร้อยปี น้อยกว่าก็มี เกินกว่าก็มี หมู่มนุษย์ชื่อมาคธ ขึ้นเวปุลล บรรพตเพียงครู่เดียว ลงก็เพียงครู่เดียว และบัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกก็เราแล มีสาวกคู่หนึ่ง เป็นคู่เลิศ เป็นคู่เจริญ ชื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชื่อแห่งบรรพตนี้จักอันตรธาน หมู่มนุษย์เหล่านี้จักทำกาละ และเราก็จักปรินิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ไม่น่าชื่นใจอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

[๔๖๑] พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสพระคาถา ประพันธ์ต่อไปว่า ปาจีนวังสบรรพต ของหมู่มนุษย์ชื่อ ติวระ วงกฏบรรพต ของหมู่มนุษย์ชื่อ โรหิตัสสะ สุปัสสบรรพต ของหมู่มนุษย์ชื่อ สุปปิยา และ เวปุลลบรรพต ของหมู่มนุษย์ชื่อ มาคธะ สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีอัน เกิดขึ้นแล เสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้น สงบระงับไปเป็นสุข ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์