เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของพระสารีบุตร (ไม่รวมอรรถกถา)
อัครสาวกเบื้องขวา เอตทัคคะด้านผู้มีปัญญามาก
Sa102
               ออกไปหน้าหลัก 2 of 7
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  (11) พระผู้มีพระภาค ตำหนิภิกษุที่กล่าวตู่พระสารีบุตร
  (12) พระสารีบุตรเดินจงกรมกับภิกษุผู้มีปัญญามาก สัตว์ย่อมคบค้าสมาคมกันโดยธาตุ
  (13) ศิษย์พระโมคและสารีบุตรถูกผู้มีพระภาคประณามว่าส่งเสียงดังราวกะชาวประมงแย่งปลา
  (14) การปรินิพพานของพระสารีบุตร : จุนทสูตร
  (15) บุคลผู้ประเสริฐของโลก 6 จำพวก (ฉักกนิทเทส)
  (16) พระสารีบุตรสอนให้โอวาทแก่พระฉันนะที่เตรียมฆ่าตัวตาย
  (17) พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะ ขณะทำสมาธิ (๔. ชุณหสูตร) (สูตรนี้เป็นอรรถกถา)
  (18) พระสารีบุตรทูล ถามพระพุทธเจ้าว่าให้ทานอย่างไร มีผลมากมีอานิสสงส์มาก
  (19) พระอานนท์ และสุสิมเทพบุตร สรรเสริญพระสารีบุตรว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญาหลักแหลม
  (20) พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระศาสดาว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคารพระศาสดา

 


(11)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๓

พระผู้มีพระภาคตรัสตำหนิภิกษุที่กล่าวตู่พระสารีบุตร
วุฏฐิสูตร (ข้อพึงระวังในการกล่าวตู่อรหันต์)
(P232)

           ดูกรภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาด ที่เธอได้ กล่าวตู่ สารีบุตร ด้วยคำอันไม่มี เป็นคำเปล่า คำเท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะ เธอเห็น โทษโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น

           ดูกรภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวม ต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า 

           ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เธอจง อดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้ จักแตก ๗ เสี่ยง

           ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษ ต่อท่าน อาวุโสนั้น ถ้าอาวุโสนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านอาวุโสนั้น จงอดโทษ แก่ข้าพเจ้าด้วย ดังนี้



(12)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ หน้า ๑๕๒

พระสารีบุตรเดินจงกรมกับภิกษุผู้มีปัญญามาก สัตว์ย่อมคบกันโดยธาตุ
(จังกมสูตร)
P710

๕. จังกมสูตร


           [๓๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนคร ราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล
ท่านพระสารีบุตร
จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกล...
ท่านพระมหากัสสป ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระอนุรุทธ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกล...
ท่านพระอุบาลี ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ท่านพระอานนท์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
แม้พระเทวทัตต์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค


           [๓๖๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอเห็นสารีบุตร กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก

พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก

พวกเธอเห็นมหากัสสป กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท (เป็นเลิศด้านธุดงค์ )

พวกเธอเห็นอนุรุทธ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ

พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตร กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก

พวกเธอเห็นอุบาลี กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย

พวกเธอเห็นอานนท์ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต

พวกเธอเห็นเทวทัตต์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก

           [๓๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์ จำพวก ที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายก็ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว โดยธาตุเทียว
คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ได้คบค้ากันแล้ว ได้สมาคมกันแล้ว กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายก็จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน โดยธาตุเทียว
คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว จักคบค้ากัน จักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มี อัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี จักคบค้ากันจักสมาคมกัน กับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี

แม้ในปัจจุบันกาล สัตว์ทั้งหลายก็ย่อมคบค้ากันย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มี อัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับสัตว์จำพวก ที่มีอัธยาศัยดี



(13)

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๕๒

ศิษย์พระโมคและสารีบุตรถูกผู้มีพระภาคประณามว่าส่งเสียง ดังราวกะชาวประมงแย่งปลา
(จาตุมสูตร-พระอาคันตุกะพูดเสียงดัง)
P917


[๑๘๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน ใกล้บ้านจาตุมา. ก็สมัยนั้น ภิกษุประมาณห้าร้อยรูปมีพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า ไปถึง จาตุมคาม เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค. ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับ ภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวร เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่าน พระอานนท์มาว่า ดูกรอานนท์ ผู้ที่เสียงสูง เสียงดังนั้น เป็นใคร ราวกะชาวประมงแย่งปลากัน?

     ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคาม เพื่อเฝ้า พระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับ ภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ เป็นผู้มีเสียงสูงมีเสียงดัง.

     ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงไปเรียกพวกภิกษุมาตามคำของเราว่า พระศาสดา ตรัสเรียกท่านทั้งหลาย. ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุ เหล่านั้นถึงที่พัก ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พระศาสดาตรัสเรียก ท่านทั้งหลาย.

     ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัส กะภิกษุเหล่านั้นว่า

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีเสียงสูง มีเสียงดังราวกะชาวประมงแย่งปลากัน เพราะเหตุอะไรหนอ?

     พวกภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณห้าร้อยนั้น มีพระสารีบุตร และโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า มาถึงจาตุมคามเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านี้นั้นปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตร และจีวรอยู่ จึงมีเสียงสูง เสียงดัง พระเจ้าข้า.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไป เราประณามพวกเธอ พวกเธอไม่ควร อยู่ใน สำนักเรา. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายบังคม พระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วเก็บอาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปแล้ว.

                [๑๘๗] ก็สมัยนั้น พวกเจ้าศากยะ ชาวเมืองจาตุ มาประชุมกัน อยู่ที่เรือนรับแขก ด้วยกรณียะบางอย่าง. ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นจนถึง ที่ใกล้ ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ดูเถิด ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะพากันไปไหนเล่า?

ภ. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์ถูกพระผู้มีพระภาคทรงประณามแล้ว.
ส. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง แม้ไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงอาจให้ พระผู้มีพระภาค ทรงเลื่อมใสได้. ภิกษุเหล่านั้น รับคำ พวกเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมาแล้ว.

     ลำดับนั้น พวกศากยะชาวเมืองจาตุมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญของพระผู้มีพระภาค จงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มี พระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อนเถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้า พระผู้มีพระภาค จะพึงมี ความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อพืช ที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเปรียบเหมือน เมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไปฉันใด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไปข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์เหมือน ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในกาลก่อนเถิด.

พรหมอาราธนาพระพุทธเจ้า

               [๑๘๘] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบพระพุทธดำริแห่งพระทัย ของ พระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว หายไปในพรหมโลก มาปรากฏตรง พระพักตร์ พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่ เหยียดเข้า ฉะนั้น.

ครั้นแล้ว ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทาง ที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาค จงรับสั่งกะภิกษุสงฆ์เถิด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในบัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในกาลก่อนเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเปรียบเหมือนพืชที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็น ผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้า พระผู้มี พระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป ฉันใด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลาย ที่ยังเป็นผู้ใหม่บวช ไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้น ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ฉันนั้น จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์เถิด ขอพระผู้มีพระภาคจงรับสั่งกะ ภิกษุสงฆ์เถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงอนุเคราะห์ภิกษุ สงฆ์ เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ ในกาลก่อนเถิด.

     เจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหม ได้สามารถทูลให้พระผู้มี พระภาค ทรงเลื่อมใส ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอน เปรียบด้วย ลูกโคอ่อน ฉะนี้แล.

พระอาคันตุกะเข้าเฝ้า

                [๑๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงเรียกภิกษุทั้งหลาย มาว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงถือเอาบาตรและ จีวร เถิด พระผู้มีพระภาค อันเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหมทรง ให้เลื่อมใสแล้ว ด้วยคำวิงวอนเปรียบด้วยข้าวกล้าอ่อน และด้วยคำวิงวอน เปรียบด้วยลูกโคอ่อน.

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถือบาตร และ จีวร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระสารีบุตร ผู้นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ว่า ดูกรสารีบุตร เมื่อเราประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มี อย่างไร?

     ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงประณาม ภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของข้าพระองค์ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค จักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุข ใน ทิฏฐธรรมอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ในบัดนี้.

     ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธอจงรอก่อน ดูกรสารีบุตร เธออย่าพึงให้จิตเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย.

     ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมาว่า ดูกรโมคคัลลานะ เมื่อเราประณาม ภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของเธอได้มีอย่างไร?

     ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประณามภิกษุสงฆ์ แล้ว จิตของข้าพระองค์ ได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบ ตามธรรม เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ เรา และท่านพระสารีบุตร จักช่วยกันปกครอง ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้.

     ดีละ โมคคัลลานะ ความจริงเรา หรือ สารีบุตร และโมคคัลลานะ เท่านั้น พึงปกครองภิกษุสงฆ์.



(14)

หนังสือพุทธวจน หน้า 733

การปรินิพพานของพระสารีบุตร จุนทสูตร


           สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของ ท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้ พระนครสาวัตถีก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้น มคธ อาพาธ เป็น ไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณร จุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน ด้วยอาพาธ นั่นแหละ.

          ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตร และจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหา พระอานนท์ยังพระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนคร สาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าว กะท่านพระอานนท์ ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

           ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้า พระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะ รับคำ ของท่านพระอานนท์แล้ว.

           ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่าน พระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ได้บอก อย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมงมไป แม้ทิศทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏ แก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตร ปรินิพพานแล้ว.

           พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุติขันธ์ หรือ วิมุติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพาน ไปด้วยหรือ ?

          ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตร มิได้พา ศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่าน พระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้าน ในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลาย มาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

           พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกแก่เธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่หรือว่า จักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรัก ของชอบใจนี้แต่ที่ไหน ? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าทำลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

           ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใด ซึ่งใหญ่ กว่า พึ่งทำลายลงฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตร ปรินิพพาน แล้วฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน ? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้วมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ย่อมมีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

           ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรม เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอืนเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร ? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชญาและ โทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาในเวทนาอยู่... ย่อมพิจารณาเห็นจิต ในจิตอยู่...ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่งคือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

           ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง พวกภิกษุเหล่านั้นที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็น ผู้เลิศ



(15)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๑๘๒

บุคคลผู้ประเสริฐของโลก 6 จำพวก (ฉักกนิทเทส)
P503

         
บุคคลผู้ประเสริฐของโลก (โดยย่อ)
(๑) พระพุทธเจ้า
(๒) พระปัจเจก
(๓) พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ (สาวก)
(๔) พระอรหันต์ที่เหลือ
(๕) พระอานาคามี
(๖) พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี

          [๑๔๗] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลนี้ใด ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเอง ในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้สดับมาแล้วในกาลก่อน ทั้งบรรลุความเป็นสัพพัญญู ในธรรมนั้นด้วย ทั้งถึงความชำนาญในธรรม เป็นกำลังทั้งหลายด้วยบุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (1) ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้สดับ มาแล้ว ในกาลก่อน แต่มิได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูในธรรมนั้นด้วย ทั้งมิได้ถึงความ ชำนาญในธรรมเป็นกำลังทั้งหลายด้วยบุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า (2) ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรมเทียว ทั้งบรรลุสาวก บารมีด้วย บุคคลเหล่านั้นพึงเห็นว่าเป็น พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ (3) ด้วย สาวกบารมีญาณนั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในทิฏฐธรรมเทียว แต่ไม่บรรลุสาวก บารมี บุคคลเหล่านั้นพึงเห็นว่าเป็น พระอรหันต์ ที่เหลือ (4) ด้วยการกระทำที่สุด แห่งทุกข์นั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน ทั้งมิได้กระทำที่สุดทุกข์ในทิฏฐธรรมเทียว เป็นพระอนาคามี ไม่มาแล้วสู่ ความเป็นอย่างนี้ บุคคลนั้น พึงเห็นว่าเป็น พระอนาคามี (5) ด้วยการ ไม่กลับมาสู่ความ เป็นอย่างนี้นั้น

          บุคคลนี้ใด มิได้ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยตนเองในธรรมทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สดับมาแล้ว ในกาลก่อน ทั้งไม่ได้ทำที่สุดทุกข์ในทิฏฐธรรมเทียว ยังมาสู่ความเป็น อย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น พึงเห็นว่าเป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี (6) ด้วยการ มาสู่ความเป็นอย่างนี้นั้น


(16)

พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๘๐

ฉันนสูตร 
พระสารีบุตรสอนธรรมแก่พระฉันนะที่เตรียมฆ่าตัวตาย
P1098

(ย่อ)
ภิกษุฉันนะป่วยเป็นไข้หนัก เตรียมใช้ศาสตราปลิดชีวิต

คำสอนของพระสารีบุตร (สอนเรื่องอัตตา)
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา
ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’

คำสอนของพระมหาจุนทะ
(สอนที่สุดแห่งทุกข์)
“ดูก่อนท่านฉันนะ บุคคลผู้ไม่มีตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความ หวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อม ไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๘๐

ฉันโนวาทสูตร

ว่าด้วยพระสารีบุตรให้โอวาทพระฉันนะ
P1098

(พระฉันนะ ในพระสูตรนี้ ไม่ใช่พระฉันนะที่นำม้ากัณฐกะส่งเสด็จเมื่อครั้ง เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จ ออกผนวช เป็นคนละรูปกัน มีชื่อพ้องกัน)

           {๗๔๑} [๓๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ก็แลสมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา

           ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่าน พระมหา จุนทะ ถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า “มาไปกันเถิด ท่านจุนทะ พวกเราจักเข้าไปหาท่านพระฉันนะ ถึงที่อยู่ไต่ถามถึง ความเจ็บไข้กัน” ท่านพระมหาจุนทะ รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

           {๗๔๒} ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหา ท่านพระฉันนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ปราศรัยกับท่านพระฉันนะ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านยังพอทน ได้อยู่หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่หรือ ทุกขเวทนาค่อยทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น หรือ อาการค่อยคลายลง ไม่รุนแรงขึ้นหรือ”

           ท่านพระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลา ลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

           {๗๔๓} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดแทงศีรษะกระผมเหลือกำลัง เหมือนมีคนที่แข็งแรง เอาเหล็กที่แหลมคม กดศีรษะไว้ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผม จึงทน ไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมี แต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

           {๗๔๔} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมมีอาการปวดศรีษะเหลือทน เหมือน มีคน ที่แข็งแรงเอาเส้นเชือก ที่เหนียวมัดรัดศีรษะไว้ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผม กล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

           {๗๔๕} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดท้องกระผมเหลือเกิน เหมือนคน ฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญเอามีดสำหรับเชือดโคที่คมกริบ มาเชือดท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผม กล้านักมีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

           {๗๔๖} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ในกายของกระผมเร่าร้อนเหลือกำลัง เหมือนคนที่แข็งแรงสองคน ช่วยกันจับคนที่อ่อนแอกว่าที่แขนคนละข้าง ย่างพลิก ไปมา ที่หลุมถ่านเพลิงฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนา ของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เลย”

           {๗๔๗} [๓๙๐] “ท่านฉันนะอย่าได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อน เถิด พวกเรายังปรารถนา ให้ท่านฉันนะ อยู่ต่อไป ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะที่เป็น สัปปายะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัช ที่เป็นสัปปายะ ผมก็จัก แสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่เหมาะสม ผมก็จักคอยดูแลท่านเอง ท่านฉันนะ อย่าได้ใช้ ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนา ให้ท่านฉันนะอยู่ต่อไป”

           {๗๔๘} “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจะไม่มีโภชนะที่เป็นสัปปายะ ไม่มี เภสัช ที่เป็นสัปปายะ ไม่มีคนอุปัฏฐากที่เหมาะสมก็หามิได้ ก็แลพระศาสดากระผม ก็ได้ปรนนิบัติ มาแล้วตลอดกาลนาน โดยความพอพระทัย มิใช่โดยความ ไม่พอ พระทัย ความจริงการที่ภิกษุได้ปรนนิบัติพระศาสดา โดยความพอพระทัย มิใช่โดย ความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวกแท้ ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจง ทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ‘ฉันนภิกษุจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย อย่างที่ไม่ควรถูกตำหนิ”

“พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะให้โอกาส ตอบปัญหาได้”

“ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามมาเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้เอง” พระสารีบุตร ถามปัญหาพระฉันนะ

(พระสารีบุตรสอน เรื่องอัตตา นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)

           {๗๔๙} [๓๙๑] พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็น จักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา
ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตาของเรา ดังนี้หรือ”

พระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา
กระผมพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้”

           {๗๕๐} [๓๙๒]‘ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในกาย ในกายวิญญาณ ...
ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดังนี้”

           “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับรู้ความดับในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วย จักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ..
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ..
กระผมเห็นความดับรู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ   ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

(พระจุนทะ ผู้ไม่มีอัตตา ย่อมไม่มีการมาการไป ไม่มีโลกนี้โลกหน้า..ที่สุดแห่งทุกข์)

           {๗๕๑} [๓๙๓] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหา จุนทะได้ กล่าวกะท่านพระฉันนะ ดังนี้ว่า“ดูก่อนท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจ คำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไว้ตลอดกาล เนืองนิตย์ดังนี้ว่า

           “บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยอยู่แล้วย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มี ตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมี ความสงบ ก็ไม่มีตัณหา ตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมา เกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

    ครั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะกล่าวสอนท่านพระฉันนะ ด้วยโอวาท นี้ แล้วจึงลุกจากอาสนะหลีกไป

           {๗๕๒} [๓๙๔] ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหา จุนทะ หลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะ ได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายแล้ว

           ทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย บังคม พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะ ใช้ศัสตรา ฆ่าตัวตายแล้ว คติของท่านเป็นอย่างไร สัมปรายภพเป็นอย่างไร

           พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ความเป็นผู้ที่ ไม่ควร ถูกตำหนิ(๑) ต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ”

           “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหมู่บ้านในแคว้นวัชชีนามว่า ปุพพชิระ อยู่ที่ หมู่บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และตระกูลคนที่คอยตำหนิ (๒) อยู่”

           {๗๕๓} “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และ ตระกูลคน ที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่าควรถูกตำหนิ ด้วยเหตุเพียง เท่านี้ไม่ ดูก่อนสารีบุตร บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้น เราเรียกว่า ‘เป็นผู้ควร ถูกตำหนิ’ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุใช้ศัสตรา ฆ่าตัวตาย อย่างไม่ควรถูกตำหนิ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรยินดี ชื่นชมพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล

จบ ฉันโนวาทสูตรที่ ๒

๑ ความเป็นผู้ที่ไม่ควรถูกตำหนิ ในที่หมายถึงการไม่เกิดอีกไม่ปฏิสนธิอีกต่อไป (นัย ม.อุ.อ. ๒๓๗)
๒ ตระกูลคนที่คอยตำหนิ ในที่นี้หมายถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่น ๆ ที่ควรเข้าไปหา (ม.อุ.อ. ๒๓๘)



(17)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๙๔

พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะขณะทำสมาธิ
(๔. ชุณหสูตร)

(พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา)

(ย่อ)
พระสารีบุตรถูกยักษตีที่ศรีษะ พระสารีบุตรมองเห็นยักษ์ ด้วยทิพยจักษุ เพราะมีฤทธิ์ แต่ พระสารีบุตร ไม่มีฤทธิ์ จึงมองไม่เห็นยักษ์ พระผู้มีพระภาคทราเรื่องแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า "จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน"

             [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่กโปตกันทราวิหาร

        ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิอย่างหนึ่ง อยู่กลางแจ้งในคืน เดือนหงาย

             [๙๔] ก็สมัยนั้น ยักษ์สองสหายออกจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ด้วย กรณียกิจ บางอย่าง ได้เห็นท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย ครั้นแล้วยักษ์ตนหนึ่ง ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า

        ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะแห่งสมณะนี้ เมื่อยักษ์นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์ผู้เป็นสหายได้ กล่าว กะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหาร สมณะเลย

       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       แม้ครั้งที่ ๒ ...แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์นั้นก็ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า
       ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะ แห่งสมณะนี้

       แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ผู้เป็นสหายก็ได้กล่าวกะยักษ์นั้นว่า
       ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย
       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       ลำดับนั้นแล ยักษ์นั้นไม่เชื่อ ยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้ประหารที่ศีรษะแห่ง ท่านพระสารีบุตรเถระ ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก หรือ ๘ ศอกให้จมลง ไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น

        ก็แลยักษ์นั้นกล่าวว่า เราย่อมเร่าร้อน แล้วได้ตกลงไปสู่นรกใหญ่ ในที่นั้นเอง

             [๙๕] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นยักษ์นั้นประหาร ที่ศีรษะแห่ง ท่าน พระสารีบุตรด้วยจักษุ เพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเข้าไป หา ท่านพระสารีบุตร

        ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโส ท่านพึงอดทนได้หรือ พึงยัง อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส โมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง (เจ็บเล็กน้อยที่ศรีษะ)

        ม. ดูกรอาวุโสสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านพระสารีบุตร มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่ง ได้ประหารศีรษะของท่านในที่นี้ การประหาร เป็นการประหารใหญ่เพียงนั้น ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก ๘ ศอกให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหาร นั้น ก็แลท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้ว่า

        ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บน ศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง

        สา. ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านมหา โมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากที่เห็นยักษ์ ส่วนผมไม่เห็น แม้ซึ่งปีศาจ ผู้เล่นฝุ่นในบัดนี้

             [๙๖] พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับการเจรจาปราศรัย เห็นปานนี้ แห่งท่าน มหานาคทั้งสองนั้น ด้วยโสตธาตุ อันเป็นทิพย์ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตธาตุของมนุษย์

            ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ เนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานี้ว่า จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดใน อารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดไม่โกรธเคือง ในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการ โกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน      

คลิกเพื่อขยาย




(18)

ระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ หน้า ๕

ทานสูตร

P354

(พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ให้ทานอย่างไร มีผลมากมีอานิสสงส์มาก และให้ท่านอย่างไร มีผลมากแต่ไม่มีอานิสงส์มาก)

           ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสก ชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแลและทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า

           พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคล บางคน ในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่อง อุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

------------------------------------------------------------------

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น

(๑)
บุคคลมีความหวังให้ทาน
    มีจิตผูกพันในผล
    ให้ทานมุ่งการสั่งสมให้ทาน
    ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้
เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือมา สู่ความเป็น อย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคล
(๒) บางคนในโลกนี้
ไม่มีหวังให้ทาน
    ไม่มีจิตผูกพันในผล
    ให้ทานไม่มุ่งการสั่งสม
    ให้ทานไม่คิดว่าตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี เขาให้ทานคือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและ เครื่องอุปกรณ์แก่สมณะ หรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคล บางคนในโลกนี้พึงให้ทาน เห็นปานนี้หรือฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพัน ในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้ว จักได้ เสวยผล ทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ เป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทาน เป็นการดี แต่ให้ทาน ด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควร ทำให้ เสียประเพณี เขาให้ทาน คือข้าวฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดา ชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้ กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทาน ด้วยคิดว่า เราหุง หากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ สมณะ หรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึง ความเป็น สหายแห่ง เทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือมาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเรา หุงหากินได้ สมณะ และพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทาน แก่สมณะ หรือพราหมณ์ ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็น ผู้จำแนก แจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตร ฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่ง เทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือมาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจัก เป็นผู้ จำแนก แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและ ภคุฤาษี แต่ให้ทาน ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็น ผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ ทาน อย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุง แต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความ ข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

           พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิต ผูกพัน ในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้ว จักได้ เสวยผล ทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดีไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทาน แก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทาน ด้วยคิดว่า เราจักเป็น ผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่อง ปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ เป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้อง กลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ (นรก-กำเนิดเดรัจฉาน-เปรตวิสัย)

           ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้วมีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคน ในโลกนี้ ให้แล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก



(19)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๘๐

สุสิมสูตรที่ ๙
พระอานนท์ และสุสิมเทพบุตร สรรเสริญพระสารีบุตรว่า เป็นบัณฑิต มีปัญญาหลักแหลม
P1493

(โดยย่อ)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า " เธอชอบสารีบุตรหรือไม่ "
พระอานนท์ และ สุสิมเทพบุตร(เทวดา) กล่าวต่อหน้าพระศาสดา ว่าพระสารีบุตรเป็น บัณฑิตมีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม
มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว

          [๓๐๓] สาวัตถีนิทานฯ ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์เถระเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอชอบสารีบุตร หรือไม่

          อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คน งมงายไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา มีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อ ถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่า ที่ไม่ใช่ คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

          [๓๐๔] พ. อย่างนั้นๆ อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอด มีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้ สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลี ด้วยหมู่ ปรารภความเพียร เป็นผู้เข้าใจพูด อดทน ต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทก์ ท้วงคนผิด เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คน พาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร

          [๓๐๕] ณ กาลครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร(เทวดา) แวดล้อมไปด้วยเทพบุตร บริษัท เป็นอันมากขณะที่พระผู้มีพระภาค และพระอานนท์เถระ กำลังกล่าว สรรเสริญ คุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึง ถวายอภิวาท แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อยืนเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบ บังคมทูลพระผู้มีพระภาคว่า จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจริง อย่างนั้น พระสุคต อันใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุม เทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียงอย่างหนาหูว่า ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ เป็นผู้ตำหนิคนชั่ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่าน

          [๓๐๖] ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่ง ผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๗] แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์ อันงาม โชติช่วง แปดเหลี่ยม อันบุคคล ขัดสีเรียบร้อยแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราวรุ้งร่วง ฉันใดเทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณ ท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณ แพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๘] แท่งทองชมพูนุท เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้า หลอมไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ว วางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่ง ปลั่ง ฉันใด เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว สรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมี แห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๐๙] ดาวประกายพฤกษ์ ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆ ในฤดูสรทกาล ย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับ ฉันใด เทพบุตรบริษัทของ สุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๑๐] พระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากหมู่เมฆในฤดู สรทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ย่อมแผดแสง แจ่มจ้าไพโรจน์ ฉันใดเทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ขณะที่สุสิมเทพบุตร กำลังกล่าวสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรอยู่ เป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัส มีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่

          [๓๑๑] ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ปรารภถึงท่านพระสารีบุตรว่า ท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่า เป็นบัณฑิตไม่ใช่คน มักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอัน พระศาสดา ทรงสรรเสริญ เป็นผู้แสวงคุณ

          [๓๑๒] พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตคาถา ตอบสุสิมเทพบุตรปรารภถึงท่าน พระสารีบุตรว่า สารีบุตรใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความ ปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม อบรม ฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน



(20)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๓๗๖

เทวตาสูตร
พระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระศาสดา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคารพระศาสดา
P261

           [๓๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาตนหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไป มีรัศมีงาม ยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกับเราว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ

๖ ประการเป็นไฉน คือ
ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑
ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑
ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑
ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑
ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑
ความเป็นผู้มีมิตรดี ๑

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ ภิกษุ เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว อภิวาท กระทำประทักษิณเราแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น

           เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร ถวายบังคมพระผู้มี พระภาค แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความ แห่ง พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

(๑) ย่อมเป็นผู้เคารพในพระศาสดาด้วยตนเอง
(๒) กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา
(๓) ชักชวนภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เคารพในพระศาสดาให้เคารพในพระศาสดา
และกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่าอื่นผู้เคารพในพระศาสดาตามเป็นจริง โดยกาลอันควร
(๔) เป็นผู้เคารพในพระธรรมด้วยตนเอง ฯลฯ
(๕) เป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ด้วยตนเอง ฯลฯ
(๖) เป็นผู้เคารพในสิกขาด้วยตนเอง ฯลฯ
(๗) เป็นผู้ว่าง่ายด้วยตนเอง ฯลฯ
(๘) เป็นผู้มีมิตรดีด้วย ตนเอง
(๙) กล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีมิตรดี
(๑๐) ชักชวนภิกษุเหล่าอื่น ผู้ไม่มีมิตรดีให้เป็นผู้มี มิตรดี และกล่าวสรรเสริญภิกษุ เหล่าอื่น ผู้มีมิตรดีตามเป็นจริงโดยกาลอันควร

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบชัดเนื้อความแห่ง พระดำรัส ที่พระผู้มี พระภาคได้ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิศดารอย่างนี้แลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ดีละ ดีละ เธอย่อมทราบเนื้อความแห่งคำที่เรากล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้ เป็นการดีแล

           ดูกรสารีบุตร เนื้อความแห่งคำที่เราได้กล่าวโดยย่อนี้บัณฑิต พึงเห็นโดย พิสดาร อย่างนี้

   



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์