เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  วุฏฐิสูตร พระสารีบุตรลุกขึ้น กระทบพระศาสดา โดยไม่กล่าวขอโทษ 232  
 
  (โดยย่อ)

พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่าพระสารีบุตร รู้ตัวทั่วพร้อมตั้งจิตอยู่กับกายหรือมี "กายคตาสติ" ตลอดเวลา
ภิกษุรูปหนึ่งเห็นพระสารีบุตรลุกขึ้น กระทบพระศาสดา แล้วหลีกไปโดยไม่กล่าวขอโทษ จึงฟ้องพระผู้มีพระภาค พ.จึงให้ภิกษุไปตามพระสารีบุตรให้เข้ามาหา.. พระโมคคัลลานะ ทราบ เช่นนั้น (รู้ด้วยเจโตปริยญาณ) จึงประกาศให้ภิกษุเข้ามาฟัง ว่าพระสารีบุตรกำลังจะบันลือสีหนาท

พระสารีบุตรทูลว่า ตนเองตั้งจิตอยู่กับกาย หรือ กายคตาสติ ตลอดเวลา พร้อมยกอุปมาหลายข้อ

ภิกษุรูปนั้นลุกจากอาสนะ หมอบลงแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค พร้อมกล่าวคำขอโทษว่า โทษได้ ครอบงำตน เป็นคนพาล ไม่ฉลาด กล่าวคำไม่จริง ขอให้พระองค์โปรดรับโทษโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เธอจงอดโทษ ต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(ข้อคิด)
1.ภิกษุที่กล่าวโทษพระสารีบุตร ยังมีความยึดติดในรูปกายของพระสารีบุตร จึงเห็นโทษของกาย (ขันธ๕) แต่ ส. ผู้พ้นแล้วจากความยึดติดซึ่งกายนั้น ขณะเดียวกันจิตของ ส. ก็ตั้งอยู่ใน กายคตาสติ ตลอดเวลา แต่ภิกษุรูปยังไม่เห็นแจ้ง (อินทรีย์อ่อน) จึงกล้าตำหนิผู้เป็นอรหันต์

2.การกล่าวตำหนิพระอรหันต์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยถ้อยคำที่เป็นเท็จ ย่อมมีโทษ ศรีษะอาจแตก เป็น 7 เสี่ยง แต่ภิกษุนั้นกล่าวขอโทษต่อพระผู้มีพระภาค และพระสารีบุตรได้ยกโทษให้แล้ว โทษนั้น เป็นอันระงับไป

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 


ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๐๐


สีหนาท วรรคที่ ๒ วุฏฐิสูตร
(ข้อพึงระวังในการกล่าวตู่อรหันต์)

                [๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จำพรรษา อยู่ในพระนครสาวัตถีแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะหลีกจาริก ไปในชนบท 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรสารีบุตร เธอจงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจาก อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษ หลีกจาริกไป 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุเธอจงมานี่ จงไปเรียก สารีบุตรตามคำของเรา ว่า ดูกรอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้น ทูลรับพระดำรัสพระผู้มี พระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว กะท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกรอาวุโสสารีบุตร พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระสารีบุตร รับคำของภิกษุนั้น แล้ว

ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระอานนท์ ถือลูกดานเที่ยว ประกาศไปตามวิหารว่าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงรีบออกเถิดๆ บัดนี้ ท่านพระ สารีบุตร จะบันลือสีหนาท เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ฯ

ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่าน พระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษหลีกจาริก ไปแล้ว ฯ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใด ไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ แล้วไม่ขอโทษแล้ว พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่ อึดอัด ระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอ ด้วย แผ่นดินอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียด เบียนอยู่ ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุ ใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบ เพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงในน้ำ น้ำก็ไม่อึดอัดระอา หรือ เกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยน้ำอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไป เป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ไฟย่อมไม่อึดอัดระอา หรือเกลียดชังด้วย สิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยไฟอันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลมย่อมพัดซึ่งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ลมย่อมไม่อึดอัดระอาหรือ เกลียด ชัง ด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยลม อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไป เป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าสำหรับเช็ดธุลี ย่อมชำระของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง โลหิตบ้าง ผ้าเช็ดธุลีย่อม ไม่อึดอัด ระอา หรือเกลียดชังด้วยสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอ ด้วย ผ้าสำหรับเช็ดธุลี อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียด เบียน อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไป ตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไป เป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมาร หรือ กุมาริกาของคนจัณฑาล ถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าๆ เข้าไปยังบ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิตนอบน้อมเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ ฉันนั้น เหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยกุมาร หรือกุมาริกาของคนจัณฑาล อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่ง ในธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษพึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคเขาขาดสงบเสงี่ยม ได้รับฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว เดินไป ตามถนนหนทาง ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีใจเสมอด้วยโคเขาขาด อันไพบูลย์ กว้างใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริกไปเป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับตบแต่ง พึงอึดอัด ระอา และเกลียดชังด้วยซากศพงู หรือซากศพสุนัขที่เขาผูกไว้ที่คอ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมอึดอัดระอาและเกลียดชัง ด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไป ตั้งไว้ แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่ง ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมบริหารกายนี้ ที่มีรูทะลุเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติ อันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้น กระทบเพื่อนพรหมจรรย์ รูปใดรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงหลีกจาริก ไปเป็นแน่ ฯ

เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว ลำดับนั้นแล ภิกษุรูปนั้นลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียร เกล้า แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาด ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เป็นคำเปล่า คำเท็จ ไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคทรง โปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด 

(พระสารีบุตรตั้งไว้ซึ่ง กายคตาสติ ตลอดเวลา)
---------------------------------------------------------------------------

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาด ที่เธอได้กล่าวตู่ สารีบุตร ด้วยคำอันไม่มี เป็นคำเปล่า คำเท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะ เธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษ ของเธอนั้น

ดูกรภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวม ต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรสารีบุตร เธอจงอดโทษ ต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษ ต่อท่าน อาวุโสนั้น ถ้าอาวุโสนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านอาวุโสนั้นจงอดโทษ แก่ข้าพเจ้าด้วย ดังนี้ฯ

พระไตรปิฎกไทย(ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๐๐-๓๐๓ ข้อที่ ๒๑๕



 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์