เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ฉันนสูตร (พระฉันนะฆ่าตัวตาย) พระสารีบุตร และ พระจุนทะได้สอนธรรมแก่พระฉันนะ 1098
 
 
จากพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙   และ   ฉบับหลวง

ภิกษุฉันนะป่วยเป็นไข้หนัก เตรียมใช้ศาสตราปลิดชีวิต

คำสอนของพระสารีบุตร (สอนเรื่องอัตตา)
นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา
ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’

คำสอนของพระมหาจุนทะ
(สอนที่สุดแห่งทุกข์)
“ดูก่อนท่านฉันนะ บุคคลผู้ไม่มีตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความ หวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมีความสงบ ก็ไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อม ไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมาเกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 


พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๘๐



ฉันโนวาทสูตร

ว่าด้วยพระสารีบุตรให้โอวาทพระฉันนะ


(พระฉันนะ ในพระสูตรนี้ ไม่ใช่พระฉันนะที่นำม้ากัณฐกะส่งเสด็จเมื่อครั้ง เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกผนวช เป็นคนละรูปกัน มีชื่อพ้องกัน)

    {๗๔๑} [๓๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ก็แลสมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา

    ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหา จุนทะ ถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะดังนี้ว่า “มาไปกันเถิด ท่านจุนทะ พวกเราจักเข้าไปหาท่านพระฉันนะ ถึงที่อยู่ไต่ถามถึง ความเจ็บไข้กัน” ท่านพระมหาจุนทะ รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

    {๗๔๒} ต่อจากนั้น ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะ ได้เข้าไปหา ท่านพระฉันนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ปราศรัยกับท่านพระฉันนะ ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะดังนี้ว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านยังพอทนได้อยู่หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้อยู่หรือ ทุกขเวทนาค่อยทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการค่อยคลายลง ไม่รุนแรงขึ้นหรือ”

    ท่านพระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

    {๗๔๓} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดแทงศีรษะกระผมเหลือกำลัง เหมือนมีคน ที่แข็งแรง เอาเหล็กที่แหลมคม กดศีรษะไว้ฉะนั้น ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผม จึงทน ไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมี แต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

    {๗๔๔} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมมีอาการปวดศรีษะเหลือทน เหมือนมีคน ที่แข็งแรงเอาเส้นเชือก ที่เหนียวมัดรัดศีรษะไว้ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผม กล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

    {๗๔๕} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ลมเสียดท้องกระผมเหลือเกิน เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ชำนาญเอามีดสำหรับเชือดโคที่คมกริบมาเชือดท้องฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนาของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย

    {๗๔๖} ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ในกายของกระผมเร่าร้อนเหลือกำลัง เหมือนคน ที่แข็งแรงสองคน ช่วยกันจับคนที่อ่อนแอกว่าที่แขนคนละข้าง ย่างพลิกไปมา ที่หลุมถ่านเพลิงฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ได้อยู่ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้อยู่ ทุกขเวทนา ของกระผมกล้านัก มีแต่กำเริบ ไม่ทุเลาลงเลย อาการมีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่คลายลงเลย ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่เลย”

    {๗๔๗} [๓๙๐] “ท่านฉันนะอย่าได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนา ให้ท่านฉันนะ อยู่ต่อไป ถ้าท่านฉันนะไม่มีโภชนะที่เป็นสัปปายะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีเภสัช ที่เป็นสัปปายะ ผมก็จักแสวงหามาให้ ถ้าท่านฉันนะไม่มีคนบำรุงที่เหมาะสม ผมก็จักคอยดูแลท่านเอง ท่านฉันนะ อย่าได้ใช้ ศัสตราฆ่าตัวตายเลย จงอยู่ไปก่อนเถิด พวกเรายังปรารถนาให้ท่านฉันนะอยู่ต่อไป”

    {๗๔๘} “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจะไม่มีโภชนะที่เป็นสัปปายะ ไม่มีเภสัช ที่เป็นสัปปายะ ไม่มีคนอุปัฏฐากที่เหมาะสมก็หามิได้ ก็แลพระศาสดากระผม ก็ได้ปรนนิบัติ มาแล้วตลอดกาลนาน โดยความพอพระทัย มิใช่โดยความ ไม่พอ พระทัย ความจริงการที่ภิกษุได้ปรนนิบัติพระศาสดา โดยความพอพระทัย มิใช่โดยความไม่พอพระทัย นั่นเป็นการสมควรแก่สาวกแท้ ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำไว้อย่างนี้ว่า ‘ฉันนภิกษุจักใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย อย่างที่ไม่ควรถูกตำหนิ”

    “พวกเราจักขอถามปัญหาท่านฉันนะสักเล็กน้อย ถ้าท่านฉันนะให้โอกาส ตอบปัญหาได้”

    “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โปรดถามมาเถิด กระผมฟังแล้วจึงจักรู้เอง” พระสารีบุตร ถามปัญหาพระฉันนะ

(พระสารีบุตรสอน เรื่องอัตตา นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา)

    {๗๔๙} [๓๙๑] พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตา ของเรา’
    ท่านพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
    ท่านพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
    ท่านพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
    ท่านพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
    ท่านพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตาของเรา’ ดังนี้หรือ”

    พระฉันนะตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา ของเรา
    กระผมพิจารณาเห็นโสตะ โสตวิญญาณ ...
    กระผมพิจารณาเห็นฆานะ ฆานวิญญาณ ...
    กระผมพิจารณาเห็นชิวหา ชิวหาวิญญาณ ...
    กระผมพิจารณาเห็นกาย กายวิญญาณ ...
    กระผมพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

    {๗๕๐} [๓๙๒] ‘ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
    ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
    ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
    ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ...
    ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในกาย ในกายวิญญาณ ...
    ท่านเห็นอะไรรู้อะไรในมโน ในมโนวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

    “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมเห็นความดับรู้ความดับในจักษุ ในจักษุวิญญาณ ในธรรมที่รู้ได้ ด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วย จักษุวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
    กระผมเห็นความดับรู้ความดับในโสตะ ในโสตวิญญาณ ...
    กระผมเห็นความดับรู้ความดับในฆานะ ในฆานวิญญาณ ...
    กระผมเห็นความดับรู้ความดับในชิวหา ในชิวหาวิญญาณ ..
    กระผมเห็นความดับรู้ความดับในกาย ในกายวิญญาณ ..
    กระผมเห็นความดับรู้ความดับในมโน ในมโนวิญญาณ   ในธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณาเห็นมโน มโนวิญญาณ ธรรมที่รู้ได้ด้วยมโนวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ดังนี้”

(พระจุนทะ ผู้ไม่มีอัตตา ย่อมไม่มีการมาการไป ไม่มีโลกนี้โลกหน้า..ที่สุดแห่งทุกข์)

    {๗๕๑} [๓๙๓] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะได้ กล่าวกะท่านพระฉันนะ ดังนี้ว่า“ดูก่อนท่านฉันนะ เพราะฉะนั้นแล ท่านควรใส่ใจ คำสั่งสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไว้ตลอดกาล เนืองนิตย์ดังนี้ว่า

    “บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยอยู่แล้วย่อมมีความหวั่นไหว สำหรับผู้ไม่มีตัณหา และทิฎฐิ อาศัยย่อมไม่มีความหวั่นไหว เมื่อไม่มีความหวั่นไหว ก็มีความสงบ เมื่อมี ความสงบ ก็ไม่มีตัณหา ตัวน้อมไปสู่ภพ เมื่อไม่มีตัณหาตัวน้อมไปสู่ภพ ก็ไม่มีการมา เกิด ไปเกิด เมื่อไม่มีการมาเกิดไปเกิด ก็ไม่มีจุติ และอุบัติ เมื่อไม่มีจุติ และอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีระหว่างกลางทั้งสองโลก นี่แหละคือที่สุด แห่งทุกข์”

    ครั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะกล่าวสอนท่านพระฉันนะ ด้วยโอวาท นี้ แล้วจึงลุกจากอาสนะหลีกไป

    {๗๕๒} [๓๙๔] ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะ หลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะ ได้ใช้ศัสตราฆ่าตัวตายแล้ว

    ทันทีนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะ ใช้ศัสตรา ฆ่าตัวตายแล้ว คติของท่านเป็นอย่างไร สัมปรายภพเป็นอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุพยากรณ์ความเป็นผู้ที่ไม่ควร ถูกตำหนิ(๑) ต่อหน้าเธอแล้วมิใช่หรือ”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีหมู่บ้านในแคว้นวัชชีนามว่า ปุพพชิระ อยู่ที่หมู่บ้านนั้น ท่านพระฉันนะยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และตระกูลคนที่คอยตำหนิ(๒)อยู่”

    {๗๕๓} “ดูก่อนสารีบุตร ฉันนภิกษุยังมีตระกูลมิตร ตระกูลสหาย และตระกูลคน ที่คอยตำหนิอยู่ก็จริง แต่เราหาเรียกบุคคลว่าควรถูกตำหนิด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่ ดูก่อนสารีบุตร บุคคลใดแลทิ้งกายนี้และยึดมั่นกายอื่น บุคคลนั้นเราเรียกว่า ‘เป็นผู้ควร ถูกตำหนิ’ ฉันนภิกษุหามีลักษณะนั้นไม่ ฉันนภิกษุใช้ศัสตราฆ่าตัวตาย อย่างไม่ควรถูกตำหนิ”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรยินดี ชื่นชมพระภาษิต ของ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล

จบ ฉันโนวาทสูตรที่ ๒

๑ ความเป็นผู้ที่ไม่ควรถูกตำหนิ ในที่หมายถึงการไม่เกิดอีกไม่ปฏิสนธิอีกต่อไป (นัย ม.อุ.อ. ๒๓๗)
๒ ตระกูลคนที่คอยตำหนิ ในที่นี้หมายถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่น ๆ ที่ควรเข้าไปหา (ม.อุ.อ. ๒๓๘)


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๕๖

ฉันนสูตร (พระฉันนะฆ่าตัวตาย)
(พระสารีบุตร และพระจุนทะสอนธรรม)

       [๑๐๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน  กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระ ฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้นแล ท่านพระ  ฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตร ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะถึงที่อยู่

       ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า ดูกรท่านจุนทะ เราจงพากัน เข้าไปหา ท่าน พระฉันนะ ถามถึงความเป็นไข้เถิด ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่าน พระสารีบุตรแล้ว ครั้งนั้นแลท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปหาท่าน พระฉันนะถึงที่ อยู่ แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูไว้

       ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะว่า ดูกรท่านฉันนะ ท่านพอ อดทน ได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา ลดลง ไม่กำเริบขึ้น ความทุเลา ปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ

       [๑๐๕] ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว ยังอัตภาพ ให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เอาเหล็ก แหลมคมทิ่มศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ

       เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเส้นเชือกหนังอัน เหนียวขันที่ศีรษะฉันใด ลมอันกล้า ยิ่งเสียดแทงที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ

       เปรียบเหมือนนายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยัน เอามีดสำหรับ แล่เนื้อ  โคที่คมกรีดท้องแม้ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งย่อมเสียดแทงท้องของกระผม ฉันนั้น เหมือนกัน ฯลฯ

       เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่า คนละแขน ลนให้ เร่าร้อน บนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของ กระผมก็มากยิ่ง ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ  ความทุเลา ไม่ปรากฏ

       ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรกระผมจักนำศาตรามา ไม่ ปรารถนา เป็นอยู่ ดังนี้แล้ว ก็นำศาตรามา ฯ

       [๑๐๖] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านพระฉันนะจงเยียวยาอัตภาพ ให้เป็น ไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพ ให้เป็นไปอยู่ ถ้าโภชนะ เป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าเภสัช เป็นทีสบาย มิได้มีแกท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้

       ถ้าพวกอุปัฏฐากที่สมควร  มิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักอุปัฏฐากเอง ท่านพระฉันนะ อย่านำศาตรามาเลย จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลาย ปรารถนาให้ท่าน พระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่

       ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โภชนะเป็นที่สบายของกระผม มิใช่ไม่มี โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้เภสัช  เป็นที่สบายของกระผมก็มิใช่ ไม่มีเภสัช เป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมิใช่ไม่มี อุปัฏฐาก ที่สมควรของกระผมมีอยู่ ก็พระศาสดาอันกระผมบำเรอแล้ว ด้วยอาการ เป็นที่พอใจ อย่างเดียว ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจ ตลอดกาลนานมา ข้อที่พระสาวก บำเรอพระศาสดา ด้วยอาการเป็นที่พอใจ ไม่บำเรอด้วยอาการ เป็นที่ไม่พอใจ นี้สมควรแก่พระสาวก ความบำเรอนั้นไม่เป็นไป ฉันนภิกษุจักนำ ศาตรามา ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำความนี้ไว้อย่างนี้  ดังนี้เถิด ฯ

       [๑๐๗] สา. เราทั้งหลายขอถามปัญหาบางข้อกะท่านพระฉันนะ ถ้าท่าน พระฉันนะ ให้โอกาสเพื่อจะแก้ปัญหา ฯ

 ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร นิมนต์ถามเถิด กระผมฟังแล้วจักให้ทราบ ฯ

         สา. ท่านพระฉันนะ ท่านย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรม ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตน ของเรา ฯลฯ ท่านย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ แจ้งด้วย มโนวิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรานั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ หรือ ฯ

       ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมย่อมพิจารณาเห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และ ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา  นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมย่อมพิจารณาเห็นใจ มโนวิญญาณ และ  ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น  ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ

       [๑๐๘] สา. ดูกรท่านพระฉันนะ ท่านเห็นอย่างไร รู้อย่างไร ในจักษุ  ในจักษุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลาย ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณา เห็นจักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯลฯ ท่านเห็นอย่างไร รู้อย่างไร ในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณา เห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา ฯ

       [๑๐๙] ฉ. ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผม เห็นความดับ รู้ความดับ ในจักษุ ในจักขุวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณ จึงพิจารณาเห็น จักษุ จักษุวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ กระผมเห็นความดับรู้ความดับ ในใจ ในมโนวิญญาณ และในธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้ง ด้วยมโนวิญญาณ จึงพิจารณา เห็นใจ มโนวิญญาณ และธรรมทั้งหลายที่พึงรู้แจ้ง ด้วยมโนวิญญาณว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ

       [๑๑๐] เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะ ได้กล่าวกะท่าน พระฉันนะว่า ดูกรท่านพระฉันนะ เพราะเหตุนั้นแล แม้ความพิจารณา เห็นนี้  เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงทำไว้ในใจให้ดีตลอดกาล เป็นนิตย์ไป ความหวั่นไหวของบุคคลที่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่ ยังมีอยู่  ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีตัณหา มานะและทิฐิอาศัยอยู่

        เมื่อความ หวั่นไหวไม่มี ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี เมื่อความมาความไปไม่มี จุติ และ อุปบัติ ก็ไม่มี เมื่อจุติ และอุปบัติไม่มี โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มี และระหว่างโลก ทั้งสองก็ไม่มี นี้แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์

         ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะ กล่าวสอนท่าน พระฉันนะ ด้วยโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นเมื่อท่านทั้งสองหลีกไปแล้ว ไม่นาน ท่านพระฉันนะก็นำศาตรามา ฯ

       [๑๑๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระฉันนะนำศาตรามาแล้ว(ฆ่าตัวตาย) ท่านมีคติ และอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสารีบุตร ความเป็นผู้ไม่เข้าไป อันฉันนภิกษุพยากรณ์แล้วต่อหน้าเธอมิใช่ หรือ ฯ

       สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วัชชีคาม อันมีชื่อว่า บุพพวิชชนะมีอยู่ สกุลที่เป็น มิตร และสกุลที่เป็นสหายในวัชชีคามนั้น เป็นสกุลที่ท่านพระฉันนะเข้าไป มีอยู่ ฯ

       พ. ดูกรสารีบุตร ก็สกุลที่เป็นมิตรและสกุลที่เป็นสหายเหล่านั้น เป็น สกุล ที่พระฉันนภิกษุ เข้าไป มีอยู่ แต่เราไม่กล่าวว่า ฉันนภิกษุมีสกุลที่ตนพึงเข้าไป ด้วยเหตุเท่านั้นเลยภิกษุใดแล ละทิ้งกายนี้ด้วย เข้าถือกายอื่นด้วย เรากล่าวภิกษุ นั้นว่า มีสกุลที่ตนพึงเข้าไป สกุลนั้นย่อมไม่มีแก่ฉันนภิกษุ ฉันนภิกษุ  มิได้เข้าไป ศาตราอันฉันนภิกษุนำมาแล้ว

       ดูกรสารีบุตรเธอพึงทรงจำความนี้ไว้  อย่างนี้ดังนี้เถิด ฯ 

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์