เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

พระมหาโมคคัลลานะ
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
           

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของพระโมคคัลลานะ
อัครสาวกเบื้องซ้าย เอตทัคคะด้านผู้มีฤทธ
M108
               ออกไปหน้าหลัก 8 of 8  
  83 เรื่องราวสำคัญของ พระมหาโมคคัลลานะ จากพระไตรปิฎกฉบับหลวง คัดเฉพาะคำสอนจากพระโอษฐ์
  75. พระนางสุปปวาสาโกลิย ธิดาทรงครรภ์ ถึง ๗ ปี (อุทานสูตร)
  76. พึงตั้งกายคตาสติ สำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖ พึงรู้ความดับกิเลส (๕. โกลิตสูตร)
  77. พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะ ขณะทำสมาธิ (๔. ชุณหสูตร) พระโมคคัลลานะรีบเขาไปหาพระสารีบุตร (พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา)
  78. โมคคัลลานะ จับภิกษุผู้มีจิตลามกออกไปจากหมู่สงฆ์ (๕. อุโปสถสูตร) พระสูตรนี้ มีทั้งเล่ม ๒๓ และ ๒๕ เนื้อความตรงกัน
  79. ท้าวสหัมบดีพรหม รายงานพระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุโกกาลิก มรณะภาพ และเข้าถึงปทุมนรก (โกกาลิกสูตรที่ ๑๐)
  80. พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๑ ว่าด้วยทำบุญอะไร จึงเป็นเทพธิดาสวยงาม
  81. พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๒ ว่าด้วยทำบุญอะไร จึงเป็นเทพธิดาสวยงาม
  82. พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๓ ว่าผลบุญอะไร ที่ทำ ให้ไปเกิดในปิฐวิมานนี้
  83. พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๔ ว่าด้วยผลบุญที่ทำ ให้ไปเกิดใน ปิฐวิมาน
  84. พระโมคคัลลานะ เข้าเฝ้าฯ ด้วยทิพย์จักษุ และทิพยโสตธาตุ สดับเรื่องการปรารภความเพียร
 
 


75
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๖๙

พระนางสุปปวาสาโกลิย ธิดาทรงครรภ์ ถึง ๗ ปี (อุทานสูตร)

(ย่อ)
ทุกข์ อันไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท.. โดยความเป็นของน่ายินดี
ทุกข์ อันไม่น่ารัก ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท.. โดยความเป็นของน่ารัก
ทุกข์ ย่อมครอบงำบุคคลผู้ประมาท.. โดยความเป็นสุข

(ผู้ประมาทในทุกข์ คือผู้ที่ ถูกความยินดี ถูกความน่ารัก ถูกความสุข ครอบงำ)

             [๖๒] ก็สมัยนั้นแล อุบาสกคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า เป็น ประมุขด้วยภัตเพื่อฉันในวันพรุ่ง ก็อุบาสกนั้น เป็นอุปัฏฐาก ของท่านพระมหา โมคคัลลานะ

       ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ว่ามานี่แน่ะ โมคคัลลานะ ท่านจงเข้าไปหาอุบาสกนั้น ครั้นแล้ว จงกล่าวกะอุบาสกนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ พระนางสุปปวาสาโกลิย ธิดาทรงครรภ์ อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงมีสุข หาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ นิมนต์ ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยภัตตาหารสิ้น ๗ วัน

       พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา จงทำภัตตาหารสิ้น ๗ วันเถิด อุปัฏฐากของท่าน นั้น จักทำภายหลัง ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหา อุบาสกนั้น ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุบาสกนั้นว่า

       ดูกรท่านผู้มีอายุ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์ หลงถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรง มีสุขหาโรคมิได้ ประสูติพระโอรสผู้หาโรคมิได้ นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยภัตตาหาร สิ้น ๗ วัน พระนาง สุปปวาสาโกลิยธิดา จงทำภัตสิ้น ๗ วัน ท่านจักทำในภายหลังอุบาสกนั้นกล่าวว่า

        ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าว่าพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประกันธรรม ๓ อย่าง คือ โภคสมบัติ ชีวิตและ ศรัทธา ของกระผมได้ไซร้ พระนาง สุปปวาสาโกลิย ธิดา จงทำภัตตาหารสิ้น๗ วันเถิด กระผมจักทำ ในภายหลัง

        โม. ดูกรท่านผู้มีอายุ ฉันจะเป็นผู้ประกันธรรม ๒ อย่าง คือโภคสมบัติ และชีวิต ของท่าน ส่วนท่านเอง เป็นผู้ประกันศรัทธา

        อุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าว่าพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประกันธรรม ๒ อย่างคือ โภคสมบัติและชีวิต ได้ไซร้ พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงทำภัตตาหารสิ้น ๗ วันเถิด กระผมจักทำในภายหลัง

        ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ยังอุบาสกนั้นให้ยินยอมแล้ว เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ให้อุบาสกนั้น ยินยอมแล้ว พระนาง สุปปวาสาโกลิยธิดา จงทรงทำ ภัตตาหาร ตลอด ๗ วัน อุบาสกนั้นจะทำในภายหลัง พระเจ้าข้า

        ครั้งนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุขด้วย ขาทนีย โภชนียาหาร อันประณีตด้วยพระหัตถ์ของพระนาง สิ้น ๗ วัน ให้ทารกนั้นถวายบังคมพระผู้มี พระภาค และให้ไหว้ภิกษุสงฆ์แล้ว ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้ถามทารกนั้นว่าพ่อหนู เธอสบายดี หรือ พอเป็นไป หรอก หรือทุกข์ อะไรๆ ไม่มีหรือ ทารกนั้นตอบว่า

        ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมจักสบายแต่ไหนได้ พอเป็นไปแต่ไหน กระผมอยู่ในท้อง เปื้อนด้วยโลหิตถึง ๗ ปี

        ลำดับนั้นแล พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงมีพระทัยชื่นชม เบิกบานเกิดปีติ โสมนัสว่า บุตรของเราได้ สนทนา กับพระธรรมเสนาบดี

        ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดา ทรงมี พระทัยชื่นชม เบิกบาน เกิดปีติโสมนัสแล้ว จึงตรัสถามพระนางสุปปวาสาโกลิย ธิดาว่า

        ดูกรพระนาง พึงปรารถนาพระโอรสเห็นปานนี้ แม้อื่นหรือ พระนางสุปปวาสา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้เจริญหม่อมฉันพึงปรารถนาบุตร เห็นปานนี้ แม้อื่นอีก ๗ คนเจ้าค่ะ

         ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบ เนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

         ทุกข์ อันไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ายินดี
         ทุกข์ อันไม่น่ารักย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ารัก
         ทุกข์ ย่อมครอบงำบุคคลผู้ประมาท
โดยความเป็นสุข

----------------------------------------------------------------------------------------------------------
76
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๘๑

พึงตั้งกายคตาสติ สำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖ พึงรู้ความดับกิเลส (๕. โกลิตสูตร)

(ย่อ)
พระผู้มีพระภาคเห็นพระโมค- นั่งคู้บังลังก์ จึงเปล่งอุทานว่า "ภิกษุเข้าไปตั้งกายคตาสติ ไว้แล้ว สำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖ มีจิต ตั้งมั่นแล้วเนืองๆ พึงรู้ความดับกิเลส ของตน

        [๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนคร สาวัตถี

        ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงมีกายคตาสติ อันตั้งไว้แล้ว ในภายใน อยู่ในที่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็น ท่าน พระมหาโมคคัลลานะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง มีกายคตาสติอันตั้งไว้ดีแล้ว ในภายใน อยู่ในที่ไม่ไกล

        ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

         ภิกษุเข้าไป ตั้งกายคตาสติ ไว้แล้ว สำรวมแล้ว ในผัสสายตนะ ๖ มีจิต ตั้งมั่นแล้วเนืองๆ พึงรู้ความดับกิเลส ของตน


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
77
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๙๔

พระสารีบุตรถูกยักษตีศรีษะ ขณะทำสมาธิ (๔. ชุณหสูตร)

(พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา) ดูข้อมูลด้านล่าง

(ย่อ)
พระสารีบุตรถูกยักษตีที่ศรีษะ พระสารีบุตรมองเห็นยักษ์ ด้วยทิพยจักษุ เพราะมีฤทธิ์ แต่ พระสารีบุตร ไม่มีฤทธิ์ จึงมองไม่เห็นยักษ์ พระผู้มีพระภาคทราเรื่องแล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า "จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน"

             [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่กโปตกันทราวิหาร

        ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิอย่างหนึ่ง อยู่กลางแจ้งในคืน เดือนหงาย

             [๙๔] ก็สมัยนั้น ยักษ์สองสหายออกจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ด้วย กรณียกิจ บางอย่าง ได้เห็นท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย ครั้นแล้วยักษ์ตนหนึ่ง ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า

        ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะแห่งสมณะนี้ เมื่อยักษ์นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์ผู้เป็นสหายได้ กล่าว กะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหาร สมณะเลย

       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       แม้ครั้งที่ ๒ ...แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์นั้นก็ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า
       ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะ แห่งสมณะนี้

       แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ผู้เป็นสหายก็ได้กล่าวกะยักษ์นั้นว่า
       ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย
       ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

       ลำดับนั้นแล ยักษ์นั้นไม่เชื่อ ยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้ประหารที่ศีรษะแห่ง ท่านพระสารีบุตรเถระ ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก หรือ ๘ ศอกให้จมลง ไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น

        ก็แลยักษ์นั้นกล่าวว่า เราย่อมเร่าร้อน แล้วได้ตกลงไปสู่นรกใหญ่ ในที่นั้นเอง

             [๙๕] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นยักษ์นั้นประหาร ที่ศีรษะแห่ง ท่าน พระสารีบุตรด้วยจักษุ เพียงดังทิพย์อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเข้าไป หา ท่านพระสารีบุตร

        ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโส ท่านพึงอดทนได้หรือ พึงยัง อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโส โมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง (เจ็บเล็กน้อยที่ศรีษะ)

        ม. ดูกรอาวุโสสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านพระสารีบุตร มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่ง ได้ประหารศีรษะของท่านในที่นี้ การประหาร เป็นการประหารใหญ่เพียงนั้น ยักษ์นั้น พึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอก ๘ ศอกให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหาร นั้น ก็แลท่านพระสารีบุตรได้กล่าวอย่างนี้ว่า

        ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพให้เป็นไปได้ แต่บน ศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง

        สา. ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านมหา โมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากที่เห็นยักษ์ ส่วนผมไม่เห็น แม้ซึ่งปีศาจ ผู้เล่นฝุ่นในบัดนี้

             [๙๖] พระผู้มีพระภาค ได้ทรงสดับการเจรจาปราศรัย เห็นปานนี้ แห่งท่าน มหานาคทั้งสองนั้น ด้วยโสตธาตุ อันเป็นทิพย์ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตธาตุของมนุษย์

        ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบ เนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานี้ว่า จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดใน อารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดไม่โกรธเคือง ในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการ โกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน

จบสูตรที่ ๔

คลิกเพื่อขยาย




---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

78
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๐๗

โมคคัลลานะจับภิกษุผู้มีจิตลามกออกไปจากหมู่สงฆ์
(๕. อุโปสถสูตร)


(ย่อ)
พระผู้มีพระภาคกำลังจะแสดงธรรม แต่นิ่งเสีย ตรัสกับอานนท์ว่า " บริษัทยังไม่ บริสุทธิ์ " พระโมคคัลลานะ จึงสำรวจดูจิตของภิกษุ ทราบด้วยจิตว่าภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ทุศีล มีธรรม อันลามก มีความประพฤติ ไม่สะอาด น่ารังเกียจ จึงไปบอกให้ลุกออกไป บอกพระผู้มี พระภาค เห็นท่านแล้ว(เห็นจิต) แต่ภิกษุนั้นไม่ยอมลุก พระโมคจึงคว้าแขน ยกภิกษุรูปนั้น ออกพ้นประตู... ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตจะพึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบริษัท ไม่บริสุทธิ์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส (ถ้าเห็นว่าภิกษุบริษัทยังมีจิตไม่บริสุทธิ์ ก็จะไม่แสดงธรรม)

              [๑๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพารามปราสาท ของนางวิสาขามิคาร มารดา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งอยู่ในวัน อุโบสถ ลำดับนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่ นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ปาติโมกข์ แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด เมื่อท่าน พระอานนท์ กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่

        แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรี ล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามสิ้นไปแล้ว ท่านพระอานนท์ ลุกจากอาสนะ กระทำจีวร เฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง ประนม อัญชลี ไปทางที่พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามสิ้นไปแล้ว ภิกษุสงฆ์ นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดง ปาติโมกข์ แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่

        แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามสิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวน สว่างแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนม อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามสิ้นไปแล้ว อรุณขึ้นไปแล้ว จวนสว่างแล้ว ภิกษุสงฆ์นั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง แสดงปาติโมกข์ แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

        ดูกรอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์

        ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ดำริว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรอานนท์ บริษัทยังไม่บริสุทธิ์ ดังนี้ ทรงหมาย ถึงใครหนอแล

        ลำดับนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะ กำหนดใจของภิกษุสงฆ์ ทุกหมู่เหล่า ด้วยใจ ของตน แล้วได้พิจารณา เห็นบุคคลนั้น ผู้ทุศีล มีธรรมอันลามกมีความ ประพฤติ ไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่เป็นสมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็น พรหมจารี ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารีผู้เน่าใน ผู้อันราคะรั่วรดแล้ว ผู้เป็นดุจ หยากเยื่อ นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์

        ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ลุกจากอาสนะ เข้าไปหาบุคคลนั้น แล้วได้กล่าว กะบุคคลนั้นว่า จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย

         ลำดับนั้นแลบุคคลนั้นได้นิ่งเสีย

        แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓

        ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้กล่าวกะบุคคลนั้นว่า จงลุกขึ้นเถิดผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาค ทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ได้นิ่งเสีย

        ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จับบุคคลนั้นที่แขน ฉุดให้ออกไป จากภายนอก ซุ้มประตู ใส่กลอนแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

        ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ ให้บุคคลนั้น ออกไปแล้ว บริษัทบริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ปาติโมกข์ แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด

        พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์

        ดูกรโมคคัลลานะ ไม่เคยมีมาแล้วโมฆบุรุษ นี้อยู่จนกระทั่งต้องจับแขน ฉุดออกไป ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ ตั้งแต่นี้ไป เราจักไม่กระทำ อุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ตั้งแต่นี้ไปเธอทั้งหลายนั่นแล พึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่ตถาคตจะพึงกระทำอุโบสถ แสดงปาติโมกข์ ในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์นั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
79
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๓๔๒

ท้าวสหัมบดีรายงานพระองค์ว่า ภิกษุโกกาลิก มรณะภาพ และเข้าถึงปทุมนรก (โกกาลิกสูตรที่ ๑๐)
(ย่อ)
ภิกษุโกกาลิก กล่าวตู่ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ว่าเป็นผู้ลามก แม้เพระผู้มีพระภาค ทรงห้ามถึง3ครั้ง ก็ไม่ฟัง เมื่อโกกาลิกภิกษุ หลีกไปไม่นานนัก เกิดต่อมเท่า เมล็ดผักกาด ผุดขึ้น ตามตัว ต่อมาตุ่มก็ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นหนอง และแตกเป็นเลือด คืนนั้น ท้าวสหัมบดี พรหม มารายงานกับพระผู้มีพระภาคว่า ภิกษุโกกาลิก มรณะภาพแล้ว ภพใหม่คือ ปทุมนรก

             [๓๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุ เข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        ครั้นแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ ปรารถนาลามก พระเจ้าข้า

             [๓๘๕] เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะ โกกาลิก ภิกษุว่า โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าว อย่างนี้ เธอจงยังจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตร และ โมคคัลลานะ มีศีลเป็นที่รัก

        แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุ ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงชักนำข้าพระองค์ให้จงใจเชื่อ ให้เลื่อมใส ก็จริง แต่พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก

        แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกะโกกาลิกภิกษุว่าโกกาลิกะ เธออย่า ได้กล่าวอย่างนี้ โกกาลิกะ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย เธอจงยังจิตให้เลื่อมใส ในสารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะมีศีลเป็นที่รัก

        แม้ครั้งที่ ๓ ...

        ลำดับนั้นแล โกกาลิกภิกษุ ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำ ประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปแล้วไม่นานนัก ได้มีต่อมประมาณ เมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วกาย

        ครั้นแล้ว เป็นต่อมประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่าเมล็ดถั่วดำ เท่าเมล็ดพุดซา เท่าผลพุดซา เท่าผลมะขามป้อม เท่าผลมะตูมอ่อน เท่าผลขนุนอ่อน แตกหัวแล้ว หนองและเลือดไหลออก

   ลำดับนั้น โกกาลิกภิกษุมรณภาพเพราะอาพาธนั้นเอง

        ครั้นโกกาลิกภิกษุ มรณภาพแล้ว ก็ย่อมอุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิด อาฆาตในพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ

        ครั้งนั้นแลท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีงามยิ่ง ทำพระเชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุ มรณภาพ แล้ว ครั้นแล้วได้อุบัติในปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณแล้ว ได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

        ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม มีรัศมี อันงามยิ่ง ทำวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

        ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้ว อุบัติใน ปทุมนรก เพราะจิตคิดอาฆาตในพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ท้าวสหัมบดีพรหม ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว กระทำประทักษิณแล้ว ได้อันตรธานหายไป ในที่นั้นเอง ฯ

             [๓๘๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรก นานเพียงใด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนาน นักการ นับประมาณ อายุในปทุมนรกนั้นว่า เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี หรือว่าเท่านี้ แสนปี ไม่ใช่ทำได้ง่าย

        ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์สามารถจะทรงกระทำการ เปรียบเทียบ ได้หรือไม่พระเจ้าข้า

        พระผู้มีพระภาคทรงรับว่าสามารถ ภิกษุ ดังนี้แล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนเกวียนที่บรรทุกงาหนัก ๒๐ หาบของชาวโกศล เมื่อล่วงไปได้ร้อยปี พันปี แสนปี บุรุษพึงหยิบเมล็ดงาขึ้นจากเกวียนนั้น ออกทิ้งเมล็ดหนึ่งๆ

        ดูกรภิกษุ เกวียนที่บรรทุกงา หนัก ๒๐ หาบของชาวโกศลนั้น จะพึงถึงความ สิ้นไป โดยลำดับนี้เร็วเสียกว่า แต่ อัพพุทนรกหนึ่ง จะไม่พึงถึงความสิ้นไปได้เลย
        ดูกรภิกษุ
๒๐ อัพพุทนรก เป็น หนึ่งนิรัพพุทนรก
๒๐ นิรัพพุทนรก เป็นหนึ่ง อัพพนรก
๒๐ อัพพนรก เป็นหนึ่ง อหหนรก
๒๐ อหหนรก เป็นหนึ่ง อฏฏนรก
๒๐ อฏฏนรก เป็นหนึ่ง กุมุทนรก
๒๐ กุมุทนรก เป็นหนึ่ง โสคันธิกนรก
๒๐ โสคันธินรก เป็นหนึ่ง อุปลกนรก
๒๐อุปลกนรก เป็นหนึ่ง ปุณฑรีกนรก
๒๐ ปุณฑรีกนรก เป็นหนึ่ง ปทุมนรก อย่างนี้

        ก็โกกาลิกภิกษุอุบัติ ในปทุมนรกเพราะจิตคิดอาฆาต ในสารีบุตรและ โมคคัลลานะ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
80
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๑

พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๑ ว่าด้วยทำบุญอะไร จึงเป็นเทพธิดาสวยงาม

(ย่อ)
พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๑ ว่า สมัยเป็นมนุษย์ได้ทำบุญด้วยอะไร ตั่งทองคำ (ที่นั่ง) ของท่านจึงใหญ่โต ลอยไปในที่ต่างๆได้เร็วดังใจปรารถนา ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทรงมาลัยนุ่งห่มผ้าสวยงาม มีรัศมีเปล่งปลั่งออกจากกาย ท่านมีวรรณะเช่นนี้เพราะบุญอะไร …. เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก ได้ถวายอาสนะ แก่หมู่ภิกษุผู้มาใหม่ ได้อภิวาท ได้ทำอัญชลี และให้ทานตาม สติกำลัง ดิฉันมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญนั้น อิฐผลย่อมสำเร็จ แก่ดิฉันในที่นี้ เพราะ บุญนั้น

             [๑]  พระโมคคัลลานะถามว่า ตั่งทองคำของท่านอันใหญ่โต ลอยไป ในที่ ต่างๆ ได้เร็วดังใจ ตามปรารถนา ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทรงมาลัย นุ่งห่มผ้า สวยงาม มีรัศมีเปล่งปลั่งดัง สายฟ้า อันแลบ ออกจากกลีบเมฆ   

        ท่านมีวรรณะเช่นนี้เพราะบุญอะไรอิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะ บุญอะไร อนึ่งโภคะ อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะบุญอะไร 

        ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเมื่อท่านเกิดเป็น มนุษย์ ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพ รุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีกายของท่าน สว่างไสว ไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญอะไร.

        นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีใจยินดีได้พยากรณ์

        ปัญหาแห่งผลกรรม ที่ถูกถามนั้นว่า เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก ได้ถวาย อาสนะ แก่หมู่ภิกษุผู้มาใหม่ ได้อภิวาท ได้ทำอัญชลี  และให้ทานตาม สติกำลัง ดิฉันมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญนั้น อิฐผลย่อมสำเร็จ แก่ดิฉันในที่นี้ เพราะ บุญนั้น

        อนึ่ง โภคะอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดแก่ดิฉันก็เพราะบุญนั้น ข้าแต่ภิกษุ ผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอบอก แก่ท่าน เมื่อครั้งดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญใดไว้ ดิฉันนั้น มีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และมีรัศมีกายสว่างไสว ไปทั่วทิศ เพราะบุญนั้น.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
81

พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๒ ว่าด้วยทำบุญอะไร จึงเป็นเทพธิดาสวยงาม

(ย่อ)
พระโมคคัลลานะถามนางเทพธิดาในวิมานที่ ๒ ว่า  ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทัดทรงมาลัย นุ่งห่มผ้าอันสวยงาม มีรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้า อันแลบออกจาก กลีบเมฆ ท่านมีวรรณะ เช่นนี้ เพราะบุญอะไร ... เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก ได้ถวายอาสนะ แก่หมู่ภิกษุ ผู้มาใหม่ ได้อภิวาท กระทำอัญชลี และถวายทานตามสติกำลัง ดิฉันมี วรรณะเช่นนี้ เพราะบุญนั้น

        [๒]  พระโมคคัลลานะถามว่า ตั่งอันล้วนแล้ว ด้วยแก้วไพฑูรย์ของท่าน อันใหญ่โต ลอยไปในที่ต่างๆ ได้เร็วดังใจ ตามปรารถนา ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทัดทรงมาลัยนุ่งห่มผ้า อันสวยงาม มีรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้า อันแลบออกจาก กลีบเมฆ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร อนึ่ง โภคะอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่ง ทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้น แก่ท่าน เพราะบุญอะไร 

        ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเมื่อท่านเกิดเป็น มนุษย์ ได้ทำบุญ อะไรไว้ ท่านมีอานุภาพรุ่งเรือง อย่างนี้ และรัศมีกายของท่านสว่าง ไสว ไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญอะไร

        นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานะ ถามแล้วมีใจยินดีได้พยากรณ์ปัญหา แห่งผลกรรม ที่ถูกถามว่า เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก ได้ถวายอาสนะ แก่หมู่ภิกษุผู้มาใหม่ ได้อภิวาท กระทำอัญชลี และถวายทานตามสติกำลัง ดิฉันมี วรรณะเช่นนี้เพราะบุญนั้น อิฐผล ย่อมสำเร็จแก่ดิฉัน ในที่นี้เพราะบุญนั้น และโภคะ
อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดแก่ดิฉัน เพราะบุญนั้น

         ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอบอกแก่ท่าน เมื่อครั้งดิฉันเกิด เป็นมนุษย์ ได้ทำบุญใดไว้ ดิฉันมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และมีรัศมีกาย สว่างไสว ไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญนั้น.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

82
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๓


พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๓ ว่าผลบุญอะไร ที่ทำ ให้ไปเกิดในปิฐวิมานนี้

(ย่อ)
พระโมคคัลลานะถามนางเทพธิดาในวิมานที่ ๓ ว่า ท่านมีรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้า ท่านมี วรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร นางเทพเทวดาตอบว่า เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ได้เห็นภิกษุ ผู้ปราศจากกิเลส ธุลีมีอินทรีย์ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายตั่ง (ที่นั่งไม่มีพนัก) แก่ท่านด้วย มือทั้งสองของตน


        [๓]   พระโมคคัลลานะถามว่า ตั่งทองคำของท่านอันใหญ่โต ลอยไป ในที่ต่างๆ ได้เร็ว ดังใจ ตามปรารถนา ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทรงมาลัย  นุ่งห่มผ้า สวยงาม  มีรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้า อันแลบออกจากกลีบเมฆ ท่านมีวรรณะ เช่นนี้ เพราะบุญอะไรอิฐผล ย่อมสำเร็จแก่ท่าน ในวิมานนี้ เพราะบุญอะไร อนึ่ง โภคะ อันเป็นที่รักแห่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะบุญอะไร 

        ดูกรนางเทพธิดา ผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเมื่อท่านเกิด เป็นมนุษย์ ได้ทำบุญ อะไรไว้ ท่านมีอานุภาพ รุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมีกายของท่าน สว่างไสว ไปทั่วทุกทิศ เพราะ บุญอะไร.

        นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานะถามแล้วมีใจยินดี ได้พยากรณ์ปัญหา แห่งผลกรรม ที่ถูกถาม ว่า ดิฉันมีอานุภาพ รุ่งเรืองอย่างนี้ เพราะผลกรรมอันน้อย ของดิฉัน เมื่อดิฉันเกิด เป็นมนุษย์ ในมนุษยโลก ในชาติก่อน ได้เห็นภิกษุ ผู้ปราศจาก กิเลส ธุลีมีอินทรีย์ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายตั่ง แก่ท่าน ด้วยมือทั้งสอง ของตน

        ดิฉันมีวรรณะเช่นนี้เพราะบุญนั้น อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ดิฉันในที่นี้เพราะบุญนั้น และ โภคะ อันเป็นที่รักแห่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ดิฉันเพราะบุญนั้น ข้าแต่ภิกษุ ผู้มีมหานุภาพ ดิฉันขอบอกแก่ท่าน เมื่อครั้งดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญใดไว้ ดิฉันมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และมีรัศมี สว่างไสว ไปทั่วทิศ เพราะบุญนั้น.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
83
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๓

พระโมคคัลลานะถามเทวดาในวิมานที่ ๔ ว่าด้วยผลบุญที่ทำ ให้ไปเกิดใน ปิฐวิมาน


(ย่อ)
พระโมคคัลลานะถามนางเทพธิดาในวิมานที่ ๔ ว่า ท่านมีเครื่องประนุ่งห่มผ้า เครื่องประดับ อันสวยงาม มีรัศมี มีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร... เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ในหมู่มนุษย์ ทั้งหลาย ในมนุษยโลกในชาติก่อน ได้เห็นภิกษุ ผู้ปราศจากกิเลสธุลี มีอินทรีย์ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายตั่งแก่ท่าน ด้วยมือทั้งสองของตน

 

        [๔]   พระโมคคัลลานะถามว่า ตั่งอันล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ของท่าน อันใหญ่โต ลอยไป ในที่ต่างๆได้เร็วดังใจตามปรารถนา ท่านมีกายอันประดับแล้ว ทัดทรงมาลัย นุ่งห่มผ้า อันสวยงาม มีรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้าแลบ ออกจากกลีบเมฆ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร อนึ่งโภคะ อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะบุญอะไร

        ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเมื่อท่านเกิดเป็น มนุษย์ ได้ทำบุญ อะไรไว้ ท่านมีอานุภาพ รุ่งเรือง อย่างนี้ และรัศมีกายของท่าน สว่างไสว ไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญอะไร.

        นางเทพธิดานั้น อันพระมหาโมคคัลลานะ ถามแล้ว มีใจยินดีได้พยากรณ์ ปัญหาแห่ง ผลกรรม ที่ถูกถามว่าดิฉัน มีอานุภาพรุ่งเรือง อย่างนี้ เพราะผลกรรม อันน้อยของดิฉัน

        เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ในมนุษยโลกในชาติก่อน ได้เห็นภิกษุ ผู้ปราศจากกิเลสธุลี มีอินทรีย์ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดิฉันมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายตั่งแก่ท่าน ด้วยมือทั้งสองของตน

        ดิฉันมีวรรณะเช่นนี้เพราะบุญนั้น อิฐผล ย่อมสำเร็จแก่ดิฉัน ในที่นี้เพราะบุญนั้น และโภคะอันเป็น ที่รัก แห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดแก่ดิฉัน เพราะบุญนั้น

        ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอบอกท่าน เมื่อครั้งดิฉันเกิดเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญ ใดไว้ มีอานุภาพมาก รุ่งเรืองอย่างนี้ และ มีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทิศ เพราะบุญนั้น.


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
84

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๑๑-๓๑๓.

๓. ฆฏสูตร

พระโมคคคัลลานะได้สดับ "ธรรมีกถา" เรื่องการปรารภความเพียร ทำให้อินทรีย์ผ่องใส มีผิวหน้าบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว และเข้าเฝ้าด้วยการใช้วิชชา ๘ (ญาณ ๘)
- จุตูปปาตญาณ (ทิพย์จักษุ หรือ ตาทิพย์)
- ทิพยโสตญาณ (โสตธาตุ หรือ หูทิพย์)

          [๖๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหา โมคคัลลานะ อยู่ในวิหารเดียวกัน ในพระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน

           ครั้งนั้นแล เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระมหา โมคคัลลานะถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระมหาโมค คัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง

          [๖๙๒] ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหา โมคคัลลานะว่า ท่านโมคคัลลานะ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ผิวหน้าของท่าน บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ชะรอยวันนี้ ท่านมหาโมคคัลลานะ จะอยู่ด้วยวิหารธรรมอันละเอียด

          ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยวิหารธรรมอันหยาบ อนึ่ง ผมได้มีธรรมีกถา

          สา. ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับใคร
          ม. ผมได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาค

          สา. เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ไกลนัก ท่านมหาโมคคัลลานะ ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาหาท่านมหา โมคคัลลานะ ด้วยฤทธิ์

          ม. ผมไม่ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยฤทธิ์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ผมมีทิพยจักษุและทิพย โสตธาตุ อันหมดจดเท่า พระผู้มี พระภาค แม้พระผู้มีพระภาค ก็ทรงมีทิพยจักษุ และทิพยโสตธาตุ อันหมดจด เท่าผม

          สา.ท่านมหาโมคคัลลานะได้มีธรรมีกถากับพระผู้มีพระภาคอย่างไร

          [๖๙๓] ม. ผมได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคในที่นี้ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าผู้ปรารภความเพียรๆ ดังนี้ ก็บุคคลจะชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยเหตุ ประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า อาวุโส

          เมื่อผมกราบทูลอย่างนี้แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะผมดังนี้ว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะเหลืออยู่ แต่หนัง เอ็น และกระดูก ก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกาย จงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใด ที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุผลนั้นแล้ว จะหยุดความเพียรเสียเป็นอันไม่มี โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้แล อาวุโส ผมได้มีธรรมีกถา กับพระผู้มีพระภาคอย่างนี้แล

          [๖๙๔] สา. อาวุโส เปรียบเหมือนก้อนหินเล็กๆ ที่บุคคลเอาไปวาง เปรียบเทียบ กับขุนเขาหิมพานต์ฉันใด เราเมื่อเปรียบเทียบเคียงกับท่าน มหาโมคคัลลานะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง ท่านมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อจำนงอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปแล

          [๖๙๕] ม. อาวุโส ก้อนเกลือเล็กๆ ที่บุคคลหยิบเอาไปวางเปรียบเทียบ กับหม้อเกลือใหญ่ ฉันใด ผมเมื่อเปรียบเทียบท่านสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกันแท้จริง ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชม ทรงสรรเสริญ ทรงยกย่องแล้ว โดยปริยายมิใช่น้อย มีอาทิว่า ภิกษุผู้ถึงซึ่งฝั่งคือพระนิพพาน เป็นผู้เยี่ยมด้วยปัญญา ด้วยศีลและอุปสมะ คือพระสารีบุตร ดังนี้

          ท่านมหานาคทั้งสองนั้น เพลิดเพลินคำสนทนาที่เป็นสุภาษิต ของกันและกัน ด้วยประการดังนี้แล

 

     



พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์