เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
วัจฉโคตร ปริพาชก
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
          More

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ วัจฉะปริพาชก (ไม่รวมอรรถกถา)
W 101
           ออกไปหน้าหลัก 4 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  วัจฉสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๔ - ๓๙๗
  1) ปัญหาที่พระภูมิภาคไม่ทรงพยากรณ์
  2) พวกปริพาชกลัทธิอื่น ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป ย่อมเห็นรูปในตน
  3) ตถาคตย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีรูป ยอมไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป
  4) วัจฉโคตรปริพาชกเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ
  5) น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของ ศาสดากับของสาวกย่อมเทียบกันได้ ไม่ผิดเพี้ยน
  กุตุหลสาลาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๗ - ๓๙๙
  6) การพยากรณ์ของพระศาสดา กับการพยากรณ์ของเจ้าลัทธิอื่น
  7) เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คน ที่หาอุปาทานมิได้ไม่
  8) อุปมาเหมือนไฟลุกโพลง เพราะมีเชื้อ ไม่มีเชื่อหาลุกไม่
  9) อุปมาเหมือนไฟถูกลมพัดไปไกล เราย่อมบัญญัติเชื้อ คือลมนั้น
   
  สภิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐๐
  10) วัจฉปริพาชกเข้าหาพระสภิยกัจจานะ ถามปัญหาเดียวกับที่เคยถามพระโมคคัลลานะ
   
  ชัปปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๕
  11) วัจฉปริพาชกได้ยินมาว่าพึงให้ทานแก่สาวกตถาคต ย่อมมีผลมาก
  12) พระศาสดาตรัสว่า ผู้นั้นกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำอันไม่ดี ไม่จริง
  13) แม้สาดน้ำล้างภาชนะลงไปที่บ่อน้ำ ตั้งใจว่าสัตวน้ำได้ยังชีวิต ก็ยังเป็นที่มาแห่งบุญ
  14) ทานที่ให้แก่ผู้มีศีล มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล
  15) ทานที่ให้แก่ผู้ที่ละองค์ ๕ หรือละนิวรณ์ ๕ ย่อมมีผลมาก
  16) ทานที่ให้แก่ผู้ที่ละองค์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีผลมาก
  17) บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยศีล ตั้งอยู่ในธรรม ทักษิณาย่อมมีผลมาก
  เปรียบเทียบสำนวนแปล ระหว่าง ฉบับหลวง (ซัปสูตร) กับ ฉบับมหาจุฬาฯ (ว่าด้วยปริพาชกชื่อวัจฉโคตรสูตร)
วัจฉโคตตสูตร : ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าวัจฉโคตร พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๑-๒๒๔
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๔ - ๓๙๗

1)
(ปัญหาที่พระภูมิภาคไม่ทรงพยากรณ์)
วัจฉสูตร

          [๗๙๔] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึก ถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยง หรือ พระผู้มีพระภาคตอบว่า ดูกรวัจฉะปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ ฯลฯ

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ

          พ. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์อีกเหมือนกัน

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว พยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระโคดมผู้เจริญ เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้นแล้ว ไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่าโลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี

2)
(พวกปริพาชกลัทธิอื่น ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป ย่อมเห็นรูปในตน)


          [๗๙๕] พ. ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป ย่อมเห็นรูปในตน หรือย่อมเห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือย่อมเห็นตน ในวิญญาณ เพราะฉะนั้นพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้างฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง

3)

(ตถาคตย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ไม่เห็นตนว่ามีรูป ยอมไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป)

          ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นรูปโดยความ เป็นตน ย่อมไม่เห็นตนว่ามีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อมไม่เห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมไม่เห็น วิญญาณในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อตถาคตถูกถาม อย่างนั้น จึงไม่พยากรณ์อย่างนี้ว่าโลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี

4)

(วัจฉโคตรปริพาชกเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ)

          [๗๙๖] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกลุกขึ้นจากที่นั่งแล้ว ได้เข้าไปหาท่าน พระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการ ปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่าน พระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกเที่ยงหรือ ท่านพระมหา โมคคัลลานะ ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ

          ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ

          พ. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ อีกเหมือนกัน

          ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิอื่นเมื่อถูกถามอย่างนั้น ย่อมพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรท่านโมคคัลลานะ ก็อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดม เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้นแล้ว ย่อมไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดีฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี

          [๗๙๗] ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนว่ามีรูป
ย่อมเห็นรูปในตน หรือ
ย่อมเห็นตนในรูป ฯลฯ
ย่อมเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน
ย่อมเห็นตนว่ามีวิญญาณ
ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือ
ย่อมเห็นตน ในวิญญาณ


           เพราะฉะนั้นพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้น จึงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง

          ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ทรงเห็นรูปโดยความเป็นตน
ย่อมไม่ทรงเห็นตนว่ามีรูป
ย่อมไม่ทรงเห็นรูปในตน หรือ
ย่อมไม่ทรงเห็นตนในรูป ฯลฯ
ย่อมไม่ทรงเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน
ย่อมไม่ทรงเห็นตนว่ามีวิญญาณ
ย่อมไม่ทรงเห็นวิญญาณในตน หรือ
ย่อมไม่ทรงเห็นตนในวิญญาณ


           เพราะฉะนั้นเมื่อพระตถาคตถูกทูลถามอย่างนั้น จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
โลกเที่ยงก็ดี โลกไม่เที่ยงก็ดี
โลกมีที่สุดก็ดี โลกไม่มีที่สุดก็ดี
ชีพก็อันนั้น สรีระก็ อันนั้นก็ดี
ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่น ก็ดี
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็ดี
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ก็ดี


5)

(น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของ ศาสดากับของสาวกย่อมเทียบกันได้ ไม่ผิดเพี้ยน)

          [๗๙๘] ดูกรท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ดูกรท่านโมคคัลลานะ เมื่อกี้นี้ข้าพเจ้าได้เข้าไปเฝ้า พระสมณโคดม ได้ทูลถามเรื่องนี้ แม้พระสมณโคดม ก็ได้ทรงพยากรณ์เรื่องนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้าพเจ้า ดุจท่านโมคคัลลานะเหมือนกัน

          ดูกรท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถพยัญชนะ กับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกัน ในบทที่สำคัญ



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๙๗ - หน้าที่ ๓๙๙
6)
(การพยากรณ์ของพระศาสดา กับการพยากรณ์ของเจ้าลัทธิอื่น) กุตุหลสาลาสูตร

          [๗๙๙] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชก ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อวันก่อนๆ โน้นพวกสมณพราหมณ์ และปริพาชก ผู้ถือลัทธิอื่นมากด้วยกัน นั่งประชุมกันในศาลาวุ่นวาย ได้เกิดมีการสนทนาขึ้น ใน ระหว่างว่า ปูรณกัสสปนี้แล เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี

          ปูรณกัสสปนั้น ย่อมพยากรณ์สาวก ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว ในอุปบัติ ทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้นดังนี้ แม้สาวก คนใด ของท่านปูรณกัสสปนั้น เป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม บรรลุความปฏิบัติ ยอดเยี่ยมแล้ว

          ท่านปูรณกัสสป ก็ย่อมพยากรณ์สาวก แม้นั้นผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว ในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้มักขลิโคสาล...แม้นิครณฐนาฏบุตร... แม้สญชัยเวลัฏฐบุตร... แม้ปกุธกัจจานะ... แม้อชิตเกสกัมพลก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้า ลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้ท่านอชิตเกสกัมพลนั้น ก็ย่อมพยากรณ์สาวก ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว ในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้

          แม้สาวกใดของท่านอชิตเกสกัมพล นั้น เป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว ท่านอชิตเกสกัมพลก็ย่อมพยากรณ์สาวก ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว แม้นั้นในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน

          แม้พระสมณโคดมนี้ ก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มี เกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์ สาวก ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว ในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้

          และสาวกของพระสมณโคดมนั้น รูปใดเป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว พระสมณโคดมก็ทรงพยากรณ์ สาวกรูปนั้น ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้ว ในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นเกิดในภพโน้น ท่านโน่น บังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้นพระสมณโคดมนั้น ยังทรงพยากรณ์ สาวกรูปนั้นอย่างนี้ว่า รูปโน้นตัดตัณหาขาดแล้ว ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุด แห่งทุกข์แล้วเพราะได้บรรลุเหตุที่ละมานะได้โดยชอบ ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้น มีความเคลือบแคลงสงสัยแท้ว่า อย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้อง ทรงรู้ธรรม อันบุคคลพึงรู้ยิ่ง

7)

(เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คน ที่หาอุปาทานมิได้ไม่)

          [๘๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียว ควรที่ท่านจะสงสัย เคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ในฐานะที่ควรสงสัย

          ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่

8)
(อุปมาเหมือนไฟลุกโพลง เพราะมีเชื้อ ไม่มีเชื่อหาลุกไม่)

           
ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหา ลุกโพลงไม่ แม้ฉันใด
          ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทาน หาบัญญัติ แก่คนที่หา อุปาทานมิได้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ ก็พระโคดมผู้เจริญจะทรงบัญญัติอะไรแก่เปลวไฟนี้ ในเพราะเชื้อเล่า

9)

(อุปมาเหมือนไฟถูกลมพัดไปไกล เราย่อมบัญญัติเชื้อ คือลมนั้น)

          พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ เราย่อมบัญญัติเชื้อ คือลมนั้น ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น

          ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด สัตว์ย่อมทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกาย อันใดอันหนึ่งด้วย ก็พระโคดมผู้เจริญ จะทรงบัญญัติอะไรแก่สัตว์นี้ใน เพราะอุปาทาน เล่า

(ตัณหาคือเชื้อของสัตว์ที่ทำให้เข้าถึงกายใหม่ ตัณหาคืออุปทานทานนั้นแล)

          พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่งด้วย เราย่อมบัญญัติอุปาทาน คือ ตัณหานั่นแล

          ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้นตัณหา ย่อมเป็น เชื้อของสัตว์นั้น



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๔๐๐

10)

(วัจฉปริพาชกเข้าหาพระสภิยกัจจานะ ถามปัญหาเดียวกับที่เคยถามพระโมค)
สภิยสูตร

          [๘๐๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสภิยกัจจานะอยู่ ณ ที่พักซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านญาติครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชก ได้เข้าไปหาท่านพระสภิยกัจจานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านสภิยกัจจานะ ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสภิยกัจจานะว่า ดูกรกัจจานะ ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านพระสภิยกัจจานะ ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
          ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ

          ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์
          ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าตายแล้วย่ อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ

          ส. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์
          ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ

          ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
          ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า

          ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์

          ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า
          ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหา ที่พระผู้มีพระภาคไ ม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า

          ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มีหรือ ท่านก็ตอบว่า
          ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์           ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิด อีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า

          ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดม ไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหาข้อนั้น ฯ

          ดูกรวัจฉะ เหตุอันใดและปัจจัยอันใด เพื่อการบัญญัติว่า สัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เหตุอันนั้น และปัจจัยอันนั้น พึงดับทุกๆ อย่างหาเศษมิได้ บุคคลเมื่อบัญญัติสัตว์ ว่าสัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์หา สัญญามิได้ก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ก็ดีพึงบัญญัติด้วยอะไร

          ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ ท่านบวชนานเท่าไร
          ส. ไม่นาน ได้สามพรรษา

          ว. ดูกรท่านผู้มีอายุ การกล่าวแก้ของผู้ที่กล่าวแก้ได้มากถึงเท่านี้ ก็เมื่อการ กล่าวแก้ไพเราะอย่างนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องพูดอะไรกันอีก



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๕
(พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๑-๒๒๔)
คลิกอ่าน เพื่อเปรียบเทียบสำนวนแปล

11)
(วัจฉปริพาชกได้ยินมาว่าพึงให้ทานแก่สาวกตถาคต ย่อมมีผลมาก)
ชัปปสูตร

          [๔๙๗] ครั้งนั้นแล ปริพาชกผู้วัจฉโคตร ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึง ให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้แก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควร ให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชนเหล่าใดได้กล่าวไว้เช่นนี้ พระสมณโคดม ตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรา นี่แหละ ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่น หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของ คนอื่น หามีผลไม่ ดังนี้

          ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตามที่ท่านพระโคดมตรัส ไม่พูดตู่ท่านพระโคดม ด้วยคำ ไม่เป็นจริง และชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การคล้อยตามคำพูดที่ ชอบธรรมไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะที่น่าติเตียนแหละหรือ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์ ที่จะพูดตู่ ท่านพระโคดม พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

12)
(พระศาสดาตรัสว่า ผู้นั้นกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำอันไม่ดี ไม่จริง)

          ดูกรวัจฉะ ผู้ใดพูดว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

(ผู้ใดห้ามคนอื่นให้ทาน ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง)

         ดูกรวัจฉะ ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่ วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญ ของทายก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่ลาภ ของปฏิคาหก ๑
ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัด และถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑


13)
(แม้สาดน้ำล้างภาชนะลงไปที่บ่อน้ำ ตั้งใจว่าสัตวน้ำได้ยังชีวิต ก็ยังเป็นที่มาแห่งบุญ)

          ดูกรวัจฉะ ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่างนี้ ดูกรวัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่าผู้ใดสาดน้ำ ล้าง ภาชนะ หรือน้ำล้างขันไปแม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำคลำ หรือที่บ่อโสโครก ข้าง ประตูบ้าน ด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้น จงยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยสิ่งนั้นเถิด ดังนี้ ดูกรวัจฉะเรากล่าวกรรม ซึ่งมีการลาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มา แห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปไยถึงในสัตว์มนุษย์เล่า

14)
(ทานที่ให้แก่ผู้มีศีล มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่ผู้ทุศีล)

          ดูกรวัจฉะอีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่าทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว

15)
(ทานที่ให้แก่ผู้ที่ละองค์ ๕ หรือละนิวรณ์ ๕ ย่อมมีผลมาก)

          ประกอบด้วยองค์ ๕ ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ
ละกามฉันทะ ๑
พยาบาท ๑
ถีนมิทธะ ๑
อุทธัจจกุกกุจจะ ๑
วิจิกิจฉา ๑


16)
(ทานที่ให้แก่ผู้ที่ละองค์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีผลมาก)

        ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ นี้ได้แล้ว ประกอบ ด้วย องค์ ๕ เป็นไฉน คือ ประกอบด้วย ศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วย สมาธิขันธ์ ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วย ปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระ อเสขะ ๑
ประกอบด้วย วิมุตติขันธ์ ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วย วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

       ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมามีผลมาก

17)
(บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยศีล ตั้งอยู่ในธรรม ทักษิณาย่อมมีผลมาก)

          โคอุสุภะ (โคเผือกใช้ในพิธีกรรม) ที่เขาฝึกแล้ว นำธุระไป สมบูรณ์ด้วยกำลัง ประกอบด้วยเชาว์อันดี จะเกิดในสีสรรชนิดใดๆ คือ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง สีตามธรรมชาติของตน สีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิลาปก็ดี ชนทั้งหลาย ย่อมเทียมมันเข้าในแอก ไม่ต้องใฝ่คำนึงถึงสีสรรของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ผู้ที่ฝึกตน ดีแล้ว มีวัตรเรียบร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่ คำสัตย์ มีใจประกอบด้วย หิริ ละชาติ และมรณะ ได้ มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระ ลงแล้ว พ้นกิเลส ทำกิจ เสร็จแล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิทแล้วเพราะ ไม่ถือมั่น ย่อมจะเกิดได้ ในสัญชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสัญชาติเหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะมูลฝอย ในเขตที่ ปราศจากธุลี นั้นแล ทักษิณา(การทำบุญทำทาน) ย่อมมี ผลมาก

         ส่วนคนพาล ไม่รู้แจ้ง ทราม ปัญญา มิได้สดับตรับฟัง ย่อมพากันให้ทาน ในภายนอก ไม่เข้าไปหา สัตบุรุษ ก็ ศรัทธาของผู้ที่เข้าไปหาสัตบุรุษ ผู้มีปัญญา ยกย่องกันว่า เป็นปราชญ์ หยั่งรากลง ตั้งมั่น ในพระสุคต และเขาเหล่านั้น ย่อมพากันไป เทวโลก หรือมิฉะนั้น ก็เกิดในสกุล ในโลกนี้ บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพาน ได้โดยลำดับ


18)
(เปรียบเทียบสำนวนการแปล ฉบับหลวง กับ มหาจุฬาฯ)


(ฉบับมหาจุฬาฯ)

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก [ฉบับมหาจุฬาฯ] หน้าที่ ๒๒๑-๒๒๔.

๗. วัจฉโคตตสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าวัจฉโคตร

           [๕๘] ครั้งนั้น วัจฉโคตรปริพาชก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

           ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า“พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่ชนเหล่าอื่น พึงให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่สาวกของชนเหล่าอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้น จึงมีผลมากทานที่ให้แก่ชนเหล่าอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นจึงมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของชนเหล่าอื่นไม่มีผลมาก”

         ข้าแต่ท่านพระโคดม ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่าพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ ว่า
“พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่ชนเหล่าอื่น พึงให้ทานแก่สาวกของเรา เท่านั้น ไม่พึงให้ทานแก่สาวกของชนเหล่าอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นจึงมีผลมาก ทานที่ให้แก่ชนเหล่าอื่นไม่มีผลมากทาน ที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นจึงมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของชนเหล่าอื่นไม่มีผลมาก”

           ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตามที่ท่านพระโคดมตรัส ไม่กล่าวตู่ท่านพระโคดม ด้วยคำที่ไม่จริง และชื่อว่ากล่าวธรรมตามสมควรแก่ธรรม ก็การคล้อยตามคำพูด ที่ชอบธรรมบางอย่าง ย่อมไม่ถึงฐานะที่น่าติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพเจ้าทั้งหลาย ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่ท่านพระโคดม

           พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าวัจฉะ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่าพระสมณโคดม ตรัสอย่างนี้ว่า พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกของชนเหล่าอื่น ไม่มี ผลมาก ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด และชนเหล่านั้นชื่อว่ากล่าวตู่เรา ด้วยคำ ที่ไม่ดี ไม่เป็นจริง วัจฉะ ผู้ใดห้ามบุคคลอื่นที่ให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง

วัตถุ ๓ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ทำอันตรายแก่บุญของทายก (ผู้ให้)
๒. ทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก (ผู้รับ)
๓. ในเบื้องต้น ตัวเขาเองย่อมถูกกำจัดและถูกทำลาย

           วัจฉะ ผู้ใดห้ามบุคคลอื่นที่ให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง แต่เราเองกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ใดเทน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำ ล้างขันลงที่หมู่สัตว์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือที่บ่อโสโครกด้วยตั้งใจว่า หมู่สัตว์ ที่อาศัยอยู่ในที่นั้น จงเลี้ยงชีพ ด้วยน้ำล้างภาชนะเป็นต้นนั้น เรากล่าวกรรมที่มีการ เทน้ำ ล้างภาชนะ เป็นต้นเหตุว่าเป็นที่มาแห่งบุญ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงในหมู่มนุษย์

           อีกประการหนึ่ง เรากล่าวถึงทานที่ให้แก่ผู้มีศีลว่า มีผลมาก ทานที่ให้แก่ ผู้ทุศีล ย่อมไม่เป็นอย่างนั้น เพราะท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕
ท่านผู้มีศีลนั้นละองค์ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๒. พยาบาท (ความคิดร้าย)
๓. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
๕. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ นี้
ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. สีลขันธ์(กองศีล)ที่เป็นอเสขะ๑-
๒. สมาธิขันธ์(กองสมาธิ)ที่เป็นอเสขะ
๓. ปัญญาขันธ์(กองปัญญา)ที่เป็นอเสขะ
๔. วิมุตติขันธ์(กองวิมุตติ)ที่เป็นอเสขะ
๕. วิมุตติญาณทัสสนขันธ์๒- (กองวิมุตติญาณทัสสนะ) ที่เป็นอเสขะ

ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้
เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านผู้มีศีลที่ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมมีผลมาก ด้วยประการฉะนี้ โคผู้ที่ฝึกแล้วเป็นโคใช้งาน ที่สมบูรณ์ด้วยกำลังมีเชาว์ดี และ เป็นสัตว์ ที่ซื่อตรงจะเกิดในสีสันใดๆ คือ สีดำ สีขาว สีแดงสีเขียว สีด่าง สีตามธรรมชาติ ของตนสีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิราบก็ตาม ชนทั้งหลาย เทียมมันเข้าในแอก ไม่คำนึงถึงสีสันของมัน ฉันใด

            ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว มีความประพฤติดีงามตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่คำสัตย์มีใจประกอบด้วยหิริ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะเกิดในหมู่มนุษย์ชาติใดๆ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะก็ตาม ก็ละความเกิดและ ความตาย ได้มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระได้แล้วไม่ประกอบด้วยกิเลส ทำกิจ ที่ควรทำ เสร็จแล้วไม่มีอาสวะ รู้จบธรรม ทุกอย่าง ดับสนิท เพราะไม่ถือมั่นในเขต ที่ปราศจากธุลี เช่นนั้นแล

            ทักษิณาย่อมมี ผลมาก คนพาลไม่รู้แจ้ง ไม่มีปัญญา ไม่ได้สดับรับฟัง ย่อมให้ทานภายนอก ไม่เข้าไปหาสัตบุรุษส่วนเหล่าชนผู้มีศรัทธา หยั่งลงตั้งมั่น ในพระสุคต ย่อมเข้าไปหา สัตบุรุษผู้มีปัญญา ที่เขายกย่องกันว่าเป็น นักปราชญ์ ท่านเหล่านั้นผู้เป็นบัณฑิต ย่อมไปสู่เทวโลก หรือไม่ก็เกิดในตระกูล ดีในโลกนี้ และบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ

วัจฉโคตตสูตรที่ ๗ จบ


   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์