เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
วัจฉโคตร ปริพาชก
ค้นหาคำที่ต้องการ    

  ผู้มีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา    
1 พระโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) 8 พระอุบาลี (ยอดเยี่ยมด้านผู้ทรงวินัย) 15 ภารทวาชะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านบันลือสีหนาท)
2 พระเทวทัต (ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า) 9 อนาถบิณฑิกคหบดี (ผู้สร้างวิหารเชตวัน) 16 วักกลิ (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต)
3 นิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า) 10 พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ภิกษุณีรูปแรก) 17 คามณี (แปลว่านายบ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน)
4 พระมหากัปปินะ (นั่งคู้บังลังค์ ตั้งกายตรง) 11 พระราหุล (เอตทัคคะผู้ใคร่ต่อการศึกษา) 18 พระมหากัจจานะ (ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิต)
5 พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) 12 หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์พระพุทธเจ้า) 19 อัคคิเวสนะ (ชื่อตระกูลปริพาชก)
6 พระมหากัสสป (ผู้ทรงธุดงค์ อยู่ป่าเป็นวัตร) 13 ราธะ (ตรัสสอนเรื่อง"สัตว์" กับราธะ) 20 สุสิมะปริพาชก (คิดว่าผู้หลุดพ้นคือผู้มีฤทธิ์)
7 พระอนุรุทธะ (พระอรหันต์ผู้มีทิพย์จักษุ) 14 เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมด้านต่างๆ 74 ท่าน) 21 พระอุทายี (มีความเห็นแย้งกับพระสารีบุตร)
          More

 รวมพระสูตร เรื่องราวสำคัญของ วัจฉะปริพาชก (ไม่รวมอรรถกถา)
W 101
           ออกไปหน้าหลัก 1 of 4
  จากพระไตรปิฎก ที่เป็นคำสอนจากพระโอษฐ์ (ไม่รวมอรรถกถา)
  ปริพพาชกวรรค เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๔ - หน้าที่ ๑๘๗
  1) วัจฉะปริพาชกได้ฟังมาว่า ญาณทัศนะของพระตถาคตเสมอติดต่อกันไป (มีสติตื่นอยู่ตลอด)
  2) พยากรณ์วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสสติ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ)
  3) วัจฉะปริพาชกถามพระพุทธเจ้า ๕ คำถาม กรณีไปสวรรค์ กับกระทำที่สุดแห่งทุกข์
   
  อัคคิวัจฉโคตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘ - หน้าที่ ๑๙๒
  4) ทิฏฐิ ๑๐ อย่างของปริพาชก ที่ตถาคตปฏิเสธทั้งหมด
  5) ความเห็นของพระพุทธเจ้าเรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด
  6) ตถาคตกำจัดแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด
  7) ผู้หลุดพ้นจะไม่เกิดในที่ไหน คำว่าเกิดก็ไม่ควร (ถาม)
  8) วัจฉะงุนงงกับคำตอบของตถาคต อันเป็นธรรมที่ลุ่มลึก ยากที่จะรู้
  9) ทรงอุปมากับเปลวไฟ
  10) ตถาคตพ้นแล้วการขันธ์ ๕ ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป
  11) ปริพาชกวัจฉโคตรถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๔ - หน้าที่ ๑๘๗

ปริพพาชกวรรค
๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร


1)
เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร
วัจฉะปริพาชกฟังมาว่าญาณทัศนะของพระองค์เสมอติดต่อกันไป (มีสติตื่นอยู่ตลอด)

          [๒๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมือง เวสาลี.ก็สมัยนั้น ปริพาชกวัจฉโคตร อาศัยอยู่ในปริพาชการาม ซึ่งมีต้นมะม่วงขาว ต้นหนึ่ง. ครั้งนั้นแลเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งห่มแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังเมืองเวสาลี.

          ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า เราจะเที่ยวบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ก่อน ก็ยังเช้านัก ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาวัจฉโคตตปริพาชก ที่ปริพาชการาม อันมี ต้นมะม่วงขาวต้นหนึ่งเถิด.ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหา วัจฉโคตต ปริพาชก ถึงปริพาชการาม ซึ่งมีต้นมะม่วงขาวต้นหนึ่ง

          วัจฉโคตตปริพาชก ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้ กราบทูลว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิดพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค เสด็จมา ดีแล้ว กว่า จะเสด็จมาในที่นี้นานทีเดียว ขอเชิญพระผู้มีพระภาคประทับนั่ง นี้อาสนะ ที่ปูลาด ไว้แล้ว พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว แม้ วัจฉโคตตปริพาชก ก็ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

          [๒๔๑] วัจฉโคตตปริพาชกนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติ เห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัศนะ ไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัศนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป

          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาณทัสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป ดังนี้ เป็นอัน กล่าวตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำ ที่ไม่เป็นจริง และชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรมแลหรือ อนึ่ง วาทะและ อนุวาทะ อันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่างจะไม่มาถึงฐานะ ที่ผู้รู้จะพึงติเตียนแลหรือ?

          ดูกรวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรม ทั้งปวงทรงปฏิญญาญาณทัสนะ ไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับ ก็ดี ตื่นก็ดีญาณทัสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป ดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำ ที่เรา กล่าวแล้ว และชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง.



2)

พยากรณ์วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสสติ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ)

          [๒๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพยากรณ์อย่างไร จึงจะเป็นอันกล่าวตามพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่ชื่อว่าตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำไม่จริง เป็นอันพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม อนึ่ง วาทะและอนุวาทะ อันเป็นไป กับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้จะพึงติเตียนเล่า.

          ดูกรวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ(ได้วิชชา๓) ดังนี้แล เป็นอัน กล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ ถูกสมควรแก่ธรรมอนึ่ง วาทะและอนุวาทะ อันเป็นไปกับด้วยเหตุ บางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะที่ผู้รู้พึงติเตียนเลย

          ดูกรวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก(ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้างสามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมาก บ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมาก บ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น

          ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น(จุตูปปาตญาณ) แม้ในภพนั้นเราก็ได้ มีชื่อ อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้นมีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์ อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิด ในภพนี้ เราย่อม ระลึกถึง ชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

          ดูกรวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลัง อุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึง สุคติ โลก สวรรค์

          ดูกรวัจฉะ เราทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ (อาสวักขยญาณ) เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่

          ดูกรวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะเป็น อันกล่าว ตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง เป็นอันพยากรณ์ถูก สมควรแก่ธรรม อนึ่งวาทะและอนุวาทะอันเป็นไปกับด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มา ถึงฐานะที่ผู้รู้พึงติเตียน



3)

(วัจฉะปริพาชกถามพระพุทธเจ้า ๕ คำถาม)
ลัทธิเดียรถีย์ไปสวรรค์ไม่ได้

          [๒๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลถามว่า
         (1) ข้าแต่พระโคดม คฤหัสถ์บางคนยังละ สังโยชน์ของคฤหัสถ์* ไม่ได้ เมื่อตายไป ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้มีอยู่หรือ? ดูกรวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ยังละสังโยชน์ ของคฤหัสถ์ ไม่ได้แล้ว เมื่อตายไป จะทำที่สุดทุกข์ได้นั้น ไม่มีเลย

         (2) ข้าแต่พระโคดม ก็คฤหัสถ์บางคนยังละสังโยชน์ ของคฤหัสถ์ไม่ได้ เมื่อ ตายไป เข้าถึงโลกสวรรค์ได้ มีอยู่หรือ? ดูกรวัจฉะ คฤหัสถ์ที่ละสังโยชน์ ของคฤหัสถ์ ยังไม่ได้ เมื่อตายไป ได้ไป สวรรค์นั้นไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย เท่านั้น โดยที่แท้มีอยู่มากทีเดียว

         (3) ข้าแต่ท่านพระโคดม อาชีวกบางคน เมื่อตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้มีอยู่ บ้าง หรือ? ดูกรวัจฉะ อาชีวกบางคนเมื่อตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้(นิพพาน) นั้น ไม่มีเลย

         (4) ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็อาชีวกบางคน เมื่อตายไป จะไปสวรรค์ได้ มีอยู่ หรือ? ดูกรวัจฉะ แต่ภัทรกัปนี้ไปได้เก้าสิบเอ็ดกัป ที่เราระลึกได้ เราจักได้รู้จักอาชีวก บางคน ที่ไปสวรรค์หามิได้ นอกจากอาชีวกคนเดียว ที่เป็นกรรมวาที กิริยาวาที
(อาชีวกที่เชื่อเรื่องกรรมไปสวรรค์ได้ ไม่เชื่อเรื่องกรรมไปไม่ได้)

         (5) ข้าแต่ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนั้น ลัทธิของเดียรถีย์เป็นอันสูญ โดย ที่สุดจากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์น่ะซี อย่างนั้นวัจฉะ ลัทธิของเดียรถีย์นี้ เป็นอันสูญ โดยที่สุด แม้จากคุณเครื่องไปสู่สวรรค์.

          พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. วัจฉโคตตปริพาชกยินดี ชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

* (จาก ฉบับมหาจุฬาฯ : สังโยชน์ของคฤหัสถ์ ในที่นี้หมายถึง ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา ข้าทาส บริวาร และกามคุณ ๕ ประการ อันเป็นเหตุผูกพันและรักใคร่่)

จบ จูฬวัจฉโคตตสูตร ที่ ๑.



4)
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘๘ - หน้าที่ ๑๙๒

อัคคิวัจฉโคตตสูตร
เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

          [๒๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึก ถึงกัน ไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ทิฏฐิ ๑๐ อย่างของปริพาชก ที่ตถาคตปฏิเสธทั้งหมด

          [๒๔๕] วัจฉโคตตปริพาชก นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า (1) โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

         (2)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้น จริงสิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

        (3)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้น จริงสิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

        (4)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้น จริงสิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น
(ฉบับหลวง โปรแกรม E-ti ไม่มีเนื้อหาตอนที่ 4 คือ โลกไม่มีที่สุด ) คลิกดู

        (5)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

        (6)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

         (7) ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

        (8)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

         (9  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

         (10)  ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?
          ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

          [๒๔๖] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า
          ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดม ทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้ เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า
         ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็น อย่างนั้น. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า

         ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า
           ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็น อย่างนั้น
.

           ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการ ทั้งปวง เช่นนี้



5)
(ความเห็นของพระพุทธเจ้าเรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด)

          [๒๔๗] ดูกรวัจฉะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง ... โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ... สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ...สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หา มิได้ ดังนี้นั้น เป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็น ที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไป กับด้วยทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วย ความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทเพื่อสงบ ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

          ดูกรวัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวง เช่นนี้.

          ก็ความเห็นอะไรๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ?



6)
(ตถาคตกำจัดแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด)

          ดูกรวัจฉะ ก็คำว่าความเห็นดังนี้นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว
ดูกรวัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า
ดังนี้ รูป
ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป
ดังนี้ ความดับแห่งรูป

ดังนี้ เวทนา
ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา
ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา

ดังนี้ สัญญา
ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา
ดังนี้ความดับแห่งสัญญา

ดังนี้ สังขาร
ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร
ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร

ดังนี้ วิญญาณ
ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ
ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ

          เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะ คลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญ ทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเราว่าของเรา และความถือตัวอันนอน อยู่ในสันดานทั้งปวง



7)

ผู้หลุดพ้นจะไม่เกิดในที่ไหน คำว่าเกิดก็ไม่ควร (ถาม)
ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น

          [๒๔๘] ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดใน ที่ไหน? ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ?
          ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ?
          ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ?
          ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร

          [๒๔๙] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้น วิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า
         ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร



8)
วัจฉะงุนงงกับคำตอบของตถาคต อันเป็นธรรมที่ลุ่มลึก ยากที่จะรู้

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียง ความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรก ของท่าน พระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว

          [๒๕๐] ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่า ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรม ที่จะหยั่ง ถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มี ความเห็น เป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียร ในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่นรู้ได้โดยยาก



9)
ทรงอุปมากับเปลวไฟ

          ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึง พยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา

          ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้า ท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่

          ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้า เราแล้ว?

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า           ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว

          ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถาม อย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้า และ ไม้ จึงลุกแต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้น จึงถึงความนับ ว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.



10)

(ตถาคตพ้นแล้วจากการนับว่าขันธ์ ๕ ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป)
การละขันธ์ ๕

          [๒๕๑] ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ เพราะรูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับ ว่ารูปมีคุณ อันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก

          เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้. บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด ... เพราะสัญญาใด ... เพราะสังขารเหล่าใด ... เพราะวิญญาณใด ... วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก

          เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้



11)

(วัจฉโคตรถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)
ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์

          [๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชก ได้ทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือกสะเก็ด และกะพี้ ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุดร่วง กะเทาะไปเพราะ เป็นของไม่เที่ยง สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้นปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และ กะพี้แล้ว คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วนๆ ฉันใด พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือกสะเก็ด และกะพี้ คงเหลืออยู่แต่คำอันเป็นสาระล้วนๆ

          ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

          ข้าพระองค์นี้ ถึงท่านพระโคดม พระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่าน พระโคดม จงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ดังนี้แล


   



หนังสือพุทธวจน ออนไลน์
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์