เวทนาสังยุตต์
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๘
สมณพราหมณสูตรที่ ๑
[๔๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ ความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ยังไม่นับว่าเป็นสมณะในหมู่ สมณะ หรือเป็น พราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ใน ปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
ส่วนสมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ตามความเป็นจริง สมณะ หรือ พราหมณ์ เหล่านั้น นับว่าเป็นสมณะ ในหมู่สมณะ หรือเป็นพราหมณ์ ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของ ความเป็น สมณะ หรือของ ความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๙
สมณพราหมณสูตรที่ ๒
[๔๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ ความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือ ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๙
สมณพราหมณสูตรที่ ๓
[๔๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้เวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับแห่ง เวทนา ฯลฯ ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ ของความเป็นสมณะ หรือของความ เป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๙
สุทธิกสูตร
[๔๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้แล
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๖๙-๒๗๒
นิรามิสสูตร
[๔๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปีติมีอามิสมีอยู่ ปีติไม่มีอามิสมีอยู่
ปีติ ที่ไม่มีอามิสกว่าปีติ ที่ไม่มีอามิสมีอยู่
สุขมีอามิสมีอยู่ สุขไม่มีอามิสมีอยู่
สุขไม่มีอามิสกว่า สุขไม่มีอามิสมีอยู่
อุเบกขามีอามิสมีอยู่ อุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่
อุเบกขาไม่มีอามิสกว่า อุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่
วิโมกข์มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่
วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่า วิโมกข์ไม่มีอามิส มีอยู่
(ปิติมีอามิส-ปิติไม่มีอามิส)
[๔๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติมีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้แจ้งด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ปีติเกิดขึ้น เพราะอาศัย กามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า ปีติมีอามิส
[๔๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัด จากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่ วิเวกอยู่ เธอบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอก ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส
[๔๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิสเป็นไฉน ปีติ ที่เกิดขึ้น แก่ภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิต ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
สุขมีอามิส -สุขไม่มีอามิส
[๔๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขมีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ ใคร่ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ สุขโสมนัสเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่า สุขมีอามิส
[๔๕๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุข เกิดแต่ วิเวกอยู่ ฯลฯ เธอมีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติ สิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้เราเรียกว่า สุขไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิส
[๔๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิสเป็นไฉน สุขโสมนัส ที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิต ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่าสุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อุเบกขามีอามิส -อุเบกขาไม่มีอามิส
[๔๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขามีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ๕ เป็นไฉน คือรูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้ง ด้วยกายอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล อุเบกขาเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า อุเบกขามีอามิส
[๔๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาไม่มีอามิสเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เราเรียกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อุเบกขาไม่มีอามิส กว่าอุเบกขาไม่มีอามิส
[๔๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิส เป็นไฉน อุเบกขาเกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้วจาก ราคะ จาก โทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มี อามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิโมกข์มีอามิส-วิโมกข์ไม่มีอามิส
[๔๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์ มีอามิสเป็นไฉน วิโมกข์ที่ปฏิสังยุต ด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์มีอามิส วิโมกข์ที่ไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส
[๔๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์ ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไฉน วิโมกข์เกิดขึ้นแก่ภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิตซึ่งหลุดพ้นแล้ว จากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส
จบสูตรที่ ๑๑
|