ปฐมกสคาถวรรคที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๒๔
เคลัญญสูตรที่ ๑
[๓๗๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้า ไปยังศาลาคนไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้
ครั้นแล้ว ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็น ผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเราสั่งสอนพวกเธอ
[๓๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุ ย่อมเป็นผู้มีสติอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีปรกติ เห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติ เห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย
ย่อมเป็นผู้มีปรกติเห็น ธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสติ อย่างนี้แล
[๓๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว ในการก้าวไป ในการถอยกลับ
ย่อมเป็นผู้มีปรกติ ทำความรู้สึกในการแล ในการเหลียว ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว ในการคู้เข้าเหยียดออก ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัวในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้มีปรกติทำความรู้สึกตัว ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูดนิ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ รอกาลเวลา นี้เป็นคำเรา สั่งสอน พวกเธอ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
(สุขเวทนา อาศัยกาย ที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้น)
[๓๗๗] ถ้าเมื่อภิกษุนั้น มีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนานี้ บังเกิดขึ้นแล้ว แก่เราแล ก็แต่ว่าสุขเวทนานั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็สุขเวทนา อาศัยกาย อันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วจึงเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไปความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกาย และสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็น ความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับความสละคืนในกาย และสุขเวทนาอยู่ ย่อมละ ราคานุสัย ในกาย และในสุขเวทนาเสียได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
(ทุกขเวทนา อาศัยกาย ที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้น)
[๓๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้น มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อม รู้ชัด อย่างนี้ว่า ทุกขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้นอาศัย จึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกายนี้เอง ก็กายนี้แลไม่เที่ยง ปัจจัย ปรุงแต่ง ก็ทุกขเวทนา อาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึง บังเกิดขึ้น จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้
เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืน ในกายและในทุกขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไปความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกายและในทุกขเวทนาอยู่ ย่อมละปฏิฆานุสัยในกาย และในทุกขเวทนาเสียได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
(อทุกขมสุขเวทนา อาศัยกาย ที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้น)
[๓๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้น มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า อทุกขมสุข เวทนา นั้น อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัย กายนี้เอง ก็กายนี้แล ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น ก็อทุกขมสุขเวทนา อาศัยกายอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น แล้วจึงบังเกิดขึ้น จักเที่ยง แต่ที่ไหน ดังนี้
เธอย่อม พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมไป ความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกาย และในอทุกขมสุขเวทนาอยู่ เมื่อเธอพิจารณา เห็นความ ไม่เที่ยง ความเสื่อมไปความคลายไป ความดับ ความสละคืนในกาย และใน อทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมละอวิชชานุสัยในกาย และในอทุกขมสุขเวทนา เสียได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
(ไม่หมกมุ่น ไม่เพลิดเพลิน เห็นความไม่เที่ยง... ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส)
[๓๘๐] ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่า หมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุข เวทนา ก็รู้ชัดว่าอทุกขมสุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวย สุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอ เสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวย อทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ภิกษุนั้น
เมื่อเสวยเวทนา มีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกาย เป็นที่สุด
เมื่อเสวยเวทนา มีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิต เป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่าเมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ ทีเดียว
[๓๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อ พึงดับไป ฉันใด
ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด
ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวย เวทนามีกายเป็นที่สุด
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว
จบสูตรที่ ๗
|