เวทนาสังยุตต์
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๔๑
ภิกขุสูตร
[๔๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้
เมื่อเราแสดงธรรมโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่ เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นพึงหวังได้คือ ชนเหล่านั้น จักเกิดความบาดหมางกัน จักเกิดความทะเลาะกัน วิวาทกันจักทิ่มแทงกันและกัน ด้วยหอก คือปากอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเรา แสดงแล้ว โดยปริยายอย่างนี้มีอยู่ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่ เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้อันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือพวกเขาจักพร้อมเพรียงกัน จักชื่นบานต่อกัน จักไม่วิวาทกัน จักเป็นดุจน้ำเจือ ด้วยน้ำนม จักมองกันและกันด้วยจักษุ อันเปี่ยมด้วยความรักอยู่
[๔๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ ฯลฯ (เหมือนข้อ ๔๑๓ ถึงข้อ ๔๒๔) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่ปริพาชก อัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม กล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ใน ความสุข
ข้อนี้ นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า
ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนา บัญญัติ นิโรธนั้น ไว้ในความสุข บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใดๆ พระตถาคต ย่อมทรงบัญญัติ ฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง ดังนี้
(อ่าน วิภาคแห่งเวทนา P638)
|