ปฐมกสคาถวรรคที่ ๑
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๒๒๒
สัลลัตถสูตร
(ผู้ไม่ได้สดับ)
[๓๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนา บ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความ แปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐานฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้า โศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ
[๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้น ด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนา เพราะลูกศร ๒ อย่างคือ ทางกายและทางใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ
อนึ่ง เขาเป็นผู้มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัย เพราะ ทุกขเวทนา นั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อัน ทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข และ เมื่อเขา เพลิดเพลิน กามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้ เหตุ เกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัด ออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง
เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่อง สลัดออก แห่งเวทนา เหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุข เวทนา ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยสุข เวทนานั้น ย่อมเสวย ทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยอทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวย อทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วย ทุกข์
---------------------------------------------------------------------
(ผู้ได้สดับ)
[๓๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้อง แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อม เสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
[๓๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้น ด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนา เพราะลูกศรดอกเดียวดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกาย อย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ
อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัย เพราะทุกขเวทนา นั้น ย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เธอผู้อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวก ผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข
เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัย เพราะสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อม รู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออก แห่งเวทนา เหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบาย เป็นเครื่องสลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย เพราะ อทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุข เวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ ปราศจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่อง กระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้ สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
[๓๗๓] อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวย ทั้ง สุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความแปลกกัน ระหว่างธีรชนผู้ฉลาด กับปุถุชน ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น
ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูต เห็นแจ้งโลกนี้ และโลกหน้าอยู่ ท่านย่อม ไม่ถึงความขัดเคือง เพราะ อนิฏฐารมณ์ อนึ่งเวทนา เป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะ อริยสาวกนั้นไม่ยินดี และ ไม่ยินร้าย
อริยสาวก นั้น รู้ทางดำเนิน อันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ ถึงฝั่ง แห่งภพ รู้โดยชอบ
จบสูตรที่ ๖ |